เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3]
  พิมพ์  
อ่าน: 13139 ได้ลองไล่ลำดับกษัตริย์สุโขทัยดู จะเป็นที่ยอมรับได้บ้างหรือไม่ครับ
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 20 ต.ค. 09, 22:45

เรื่องเมืองชากังราว ชื่อเมืองนี้ มีในจารึกวัดเขาสุมนกูฏ (พ.ศ. 1912) ครับ ซึ่งถ้าพิจารณาตามลำดับเมืองไล่เรียกชื่อแล้ว ดูเหมือนว่า เมืองชากังราว น่าจะอยู่ทางใต้สุโขทัยมากกว่า
ข้อความมีดังนี้ครับ

... อยู่ในสองแควได้เจ็ดข้าว จึงนำพลมา มีทั้งชาวสระหลวง สองแคว ปากยม พระบาง ชากังราว สุพรรณภาว นครพระชุม
เบื้องใ .. เมืองพาน เมือง ..  เมืองราด เมืองสะค้า เมืองลุมบาจาย


สระหลวง-สองแคว (พิษณุโลก) => ปากยม (พิจิตร) => พระบาง (นครสวรรค์) => ชากังราว (กำแพงเพชร ฝั่งตะวันออก ?) => สุพรรณภาว (สุพรรณบุรี) => นครพระชุม (กำแพงเพชรฝั่งตะวันตก)

จะเห็นว่า ผู้จารึกไล่ชื่อเมืองตามเข็มนาฬิกาครับ แต่ผมก็ยังสงสัยอยู่เหมือนกันว่า ทำไมผู้แต่ง จึงลำดับเอาเมืองสุพรรณภาว มาอยู่ระหว่าง ชากังราว กับ นครพระชุม  ฮืม

หรือไม่เช่นนั้น ชากังราว ต้องอยู่ระหว่าง นครสวรรค์ กับ สุพรรณบุรี

จากจารึกวัดเขาสุมนกูฏนะครับ

๔.  อ๐ อ่ยูในสองแฅ
๕.  วไดเจดเขาจิงนำ
๖.  พลมา ๐ มีทังชาวส
๗.  รลวงสองแฅวปา
๘.  กยํพระบางชากน
๙.  ราวสูพรรณภาวน
๑๐. ครพระชุํเบีองใ ..
๑๑. เมีองพานเมีอง ..
๑๒. เมีองราดเมีอง (ส)
๑๓. ค๋าเมีองลุํบาจา (ย)
๑๔. เปนบริพารจิ (งฃิ)
๑๕. นมานบพระบา (ท)

แปลเป็นภาษาสมัยใหม่

๔.  อ ๐ อยู่ในสองแค -
๕.  ว ได้เจ็ดข้าว จึงนำ
๖.  พลมา ๐ มีทั้งชาวส -
๗.  ระหลวงสองแคว ปา -
๘.  กยม พระบาง ชากัง
๙.  ราว สุพรรณภาว น -
๑๐. ครพระชุม เบื้องใ ..
๑๑. เมืองพาน เมือง ..
๑๒. เมืองราด เมืองสะ
๑๓. ค้า เมืองลุมบาจาย
๑๔. เป็นบริพาร จึงขึ้ -
๑๕. นมานบพระบาท

ถ้าอ่านดีๆจะเห็นว่ามีสองส่วนนะครับ

ส่วนแรก มีทั้งชาวสระหลวงสองแคว ปากยม พระบาง ชากังราว สุพรรณภาว นครพระชุม

ส่วนที่สอง เบื้องใ .. เมืองพาน เมือง .. เมืองราด เมืองสะค้า เมืองลุมบาจาย

เห็นได้ว่าส่วนแรกนั้นคือไพร่พลที่นำมาว่ามีชาวอะไรบ้าง (ชาวสระหลวงสองแคว ชาวปากยม ชาวพระบาง ชาวชากังราว ชาวสุพรรณภาว ชาวนครพระชุม)
อีกทั้งข้อความว่า อยู่ในสองแควได้เจ็ดข้าว(ปี) จึงนำพลมา
จะหมายความว่าชาวไพร่พลทั้งหลายที่พามานั้น เป็นคนที่ไปอาศัยอยู่ในเมืองสองแคว หรือเดินทางมาจากเมืองของตนเองโดยตรงกันแน่ (พาชาวนครพระชุมมาเมืองนครพระชุม???)
อีกทั้งยังขาดคนอีกหลายเมือง เช่น ชาวศรีสัชนาลัยสุโขทัย ชาวนครไท เป็นต้น
ก็ในเมื่อไม่ได้กล่าวถึงทุกเมืองสำคัญในแคว้นสุโขทัย ก็ไม่ควรด่วนสรุปว่าเป็นการไล่เมืองไปตามเข็มนาฬิกา (แม้จะเป็นข้อสันนิษฐานที่เข้าท่าแต่ก็ใช่ว่าจะถูกต้องแน่นอน)

นอกจากนั้นในส่วนที่สอง เบื้องใ ..(น่าเสียดายจารึกขาดหาย) เป็นการกล่าวถึงเมือง ไม่ใช่คน(ชาว) ดังนั้นก็ไม่ควรนำลำดับเมืองมาต่อกัน


แหะๆ เป็นแค่การ "เดา" ของผมนะครับ ถ้าผิดพลาดประการใดต้องขออภัยอย่างสูง
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 20 ต.ค. 09, 23:01

ว่ากันตามทฤษฎีสร้างเมืองประกบตรงข้ามฟากแม่น้ำของอ.พิเศษ ปากยมคือเมืองที่ฝ่ายอยุธยาสร้างประกบย่านยาวของพวกสุโขทัยครับ

พิจารณาจากตำแหน่ง ดูแล้วไม่น่าจะเป็นอ.ย่านยาวในปัจจุบันเสียแล้ว

อันที่จริง ย่านยาว เป็นเพียงชื่อที่แสดงช่วงของแม่น้ำที่ไหลตรงยาว ซึ่งก็ปรากฏอยู่หลายแห่ง น่าสนใจว่า ที่เมืองเก่าพิจิตรเอง ก็มีลักษณะเป็นย่านยาวเช่นเดียวกันครับ



ส่วนเรื่องชากังราว ผมคิดว่าสมมติฐานของอ.พิเศษ ค้างเติ่มฃงอยู่ตรงนี้ ด้วยเหตุผลง่ายๆว่า ยังไม่มีหลักฐานยืนยันเป็นมั่นเหมาะครับ

หากพิจารณาเรื่องที่ตั้งของชากังราวทั้ง ๒ สมมติฐาน จะพบว่า
- สายหลัก ยืนพิงอยู่กับสมมติฐานที่ว่าจารึกเขาสุมนกูฎระบุชื่อเมืองเรียงตามเข็มนาฬิกา (ซึ่งก็ยังมีปัญหาอย่างที่คุณ Ho ว่าสุพรรณภาวมาอยู่ผิดที่ผิดทางเสียอย่างนั้น ไฉนชากังราวไม่อยู่ด้วยกันกับนครพระชุมหนอ?)
- สมมติฐานของ อ.พิเศษ นั้นอิงอยู่บนสมมติฐานว่า เหตุการณ์เอาเมืองเหนือทั้งปวงนั้นหมายถึงกลุ่มนครรัฐสุโขทัยทั้งหมด และเชื่อมั่นว่าเหตุการณ์เรื่องพญาผากองมาช่วยป้องกันชากังราวนั้นไม่ผิดพลาด (โดยที่พญาผากองนี้ต้องเป็นคนเดียวกับเจ้าครองนครน่านด้วย)

ผมว่าคงจะมีใครผิดอย่างน้อยก็สักข้างหนึ่งแหละครับ

 ยิงฟันยิ้ม

ส่วนตัวผมเอนไปข้างอ.พิเศษครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 21 ต.ค. 09, 05:10

คือว่า รายชื่อมันไล่ตามเข็มนาฬิกาครับ ผมก็ว่าไปตามเนื้อผ้า เรื่องการไล่ชื่อเช่นนี้ ทาง ศ.ดร. ประเสริฐ ณ นคร ท่านก็เคยตั้งความเห็นไว้เช่นกัน

ผมกลับมองมุมกลับกับคุณ Bhanumet ว่า ถ้าเราไม่เอาภูมิศาสตร์เป็นที่ตั้งแล้ว การตีความเมืองบางเมืองก็จะไม่เป็นเหตุเป็นผลครับ

================

"จะหมายความว่าชาวไพร่พลทั้งหลายที่พามานั้น เป็นคนที่ไปอาศัยอยู่ในเมืองสองแคว หรือเดินทางมาจากเมืองของตนเองโดยตรงกันแน่"

ตรงนี้ ผมอ่านแล้วเข้าใจว่า หมายถึง ผู้คนมาจากหลายเมืองครับ เพราะมันไม่ค่อยมีน้ำหนักนัก ที่จะตีความว่า เป็นชาวเมืองเหล่านั้น ที่อาศัยอยู่ในสองแคว

การที่ผู้แต่งจารึกกล่าวถึงคนที่มาจากเมืองต่างๆ เป็นการแสดงถึงอานุภาพของราชา และของพระพุทธศาสนา ที่เป็นที่ยอมรับไปในหลายเมือง

"นำพลมา" น่าจะหมายถึง การส่งคนออกไปบอกบุญตามเมืองต่างๆ เพื่อร่วมเดินทางไปไหว้พระบาทครับ

=================

"นอกจากนั้นในส่วนที่สอง เบื้องใ ..(น่าเสียดายจารึกขาดหาย) เป็นการกล่าวถึงเมือง ไม่ใช่คน(ชาว) ดังนั้นก็ไม่ควรนำลำดับเมืองมาต่อกัน"

ส่วนที่สองดังกล่าว ที่ผมนำมาเพราะเป็นความต่อกันครับ ผมไม่ได้บอกว่าเมืองเหล่านี้ อยู่ใน "สูตรตามเข็มนาฬิกา"

ถ้า คุณ Bhanumet ได้อ่านตอนท้ายของด้านที่ 3 ของจารึกหลักนี้ ก็จะพบว่า ผู้แต่งไล่เมืองตามทิศทางเป็นกลุ่มๆ ไปครับ ไม่มีโดดไปมาระหว่างเหนือใต้

เมืองในส่วนที่สองดังกล่าว คือ
๑๐. ครพระชุม เบื้องใ ..
๑๑. เมืองพาน เมือง ..
๑๒. เมืองราด เมืองสะ
๑๓. ค้า เมืองลุมบาจาย
๑๔. เป็นบริพาร จึงขึ้ -
๑๕. นมานบพระบาท


เมืองพาน ผมไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน ผมไม่เชื่อว่าหมายถึงเมืองพานในเชียงราย เพราะภูมิศาสตร์ไกลเกินไป และยังข้ามเชียงใหม่ไปอีก

ส่วนเมืองราด สะค้า ลุมบาจาย หลายท่านสันนิษฐานว่าอยู่ในลุ่มน้ำป่าสัก ส่วนจะลำดับตำแหน่งเมืองอย่างไร ตามเข็มหรือไม่ อันนี้ ไม่ทราบครับ เพราะยังตีความกันไม่ได้ว่าหมายถึงเมืองใด (มีหลายท่านเสนอไว้บ้างแล้ว)

ถ้าพิจารณาเนื้อความของจารึก จะเห็นว่า ถึงแม้จะใช้ชื่อว่า "เมือง" แต่บริบทที่เล่าก็ยังคงหมายถึง "ชาวเมือง" ครับ โดยทราบได้จาก "จึงขึ้นมานบพระบาท"

แสดงว่า คนจากเมืองเหล่านั้น เดินทางมาไหว้พระบาทครับ และมีการใช้คำว่า "ขึ้นมา" ก็เป็นนัยว่า เมืองตั้งแต่บรรทัดที่ ๗ (ปากยม....) ควรจะอยู่ลงไปทางใต้ สุโขทัยครับ

อย่างไรก็ตาม จะตีความว่า "ขึ้นเขามานบพระบาท" ก็พอฟังได้เช่นกัน  ลังเล

พระบาทนี้ อยู่ที่สุโขทัย ดังนั้น ถึงพิจารณาคำว่า "ขึ้นมานบ" เป็นการเดินทางมาจากเมืองที่อยู่ใต้สุโขทัย หรือ อยู่ในระนาบเดียวกัน ดังนั้น ชาวกังราว จะไปอยู่ที่น้ำน่านไม่ได้เด็ดขาด

บริบททางการสงครามเช่นกัน ดังที่ผมได้กล่าวไปแล้ว มันไม่เป็นเหตุผล ที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ จะขึ้นไปตีเมืองในลุ่มน้ำน่าน โดยที่ยังปล่อยให้พิษณุโลก และสุโขทัยไม่ขึ้นกับตน เพราะมิเช่น ถ้าสองเมืองนี้ รวบพลตีตลบหลัง หรือ ตีอยุธยา ก็แย่สิครับ

ตรงนี้ฝากไว้ให้พิจารณาครับ

=======================================

"อีกทั้งยังขาดคนอีกหลายเมือง เช่น ชาวศรีสัชนาลัยสุโขทัย ชาวนครไท เป็นต้น"

เรื่องนบพระบาทนี้ เป็นเรื่องของชาวเมืองศรีสัชนาลัย-สุโขทัย เป็นเจ้าภาพ ผมเข้าใจว่า ผู้แต่งจารึกละไว้ในฐานที่เข้าใจครับ

ส่วนทำไมไม่มีชาวนครไท หรือ เมืองที่อยู่เหนือสุโขทัยขึ้นไปนั้น ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน แต่ประเด็นเป็นหลักฐานทางอ้อมที่สนับสนุนว่า

"ขึ้นมานบพระบาท" น่าจะหมายถึงเมืองที่อยู่ใต้สุโขทัยลงไปครับ

=======================================
บันทึกการเข้า
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 21 ต.ค. 09, 07:06


แต่ตามพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ ขุนหลวงพ่องั่วได้หัวเมืองเหนือทั้งปวงในปี พ.ศ.๑๙๑๔ นั้น มันสอดคล้องกับหลักฐานฝ่ายล้านนาที่ว่า วัตติเดชอำมาตย์ (ขุนหลวงพ่องั่ว) ตีได้เมืองสุโขทัยหลังพญาลิไทสวรรคต

ดังนั้น เมืองเหนือทั้งปวง ก็ควรจะเป็น แคว้นสุโขทัย นะครับ

และหลังจากที่ได้แคว้นสุโขทัยแล้ว กลุ่มอำนาจฝ่ายลุ่มน้ำน่านยังแข็งข้ออยู่จึงต้องขึ้นไปตีทางสองแคว ชากังราว อีก (อันนี้เป็นการสันนิษฐานนะครับ)

สิ่งที่ผมคาใจเรื่อง "เมืองเหนือทั้งปวง" คือ ทำไมหลังได้แล้ว ยังจะต้องทำสงครามต่ออีก จนสุดท้าย มหาธรรมราชาออกมาถวายบังคม จึงจะผ่านไปตีเชียงใหม่ได้

ส่วนหลักฐานฝ่ายล้านนาที่คุณ Bhanumet อ้างถึง คือ "ตำนานมูลศาสนา" หรือเปล่าครับ ?

ถ้าใช่ผมจำได้เลาๆ ว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ สร้างเงื่อนไขพิพาทกับสุโขทัยเรื่องค้าข้าว โดยใช้เมืองชัยนาท (มั้ง) ครับ

เท่าที่ผมจำได้ เห็นจะไม่มียึดเมืองสุโขทัยนะครับ แต่ดูเหมือนจะยอมอะไรบางอย่างกับอยุธยา

ขออภัยด้วยครับ อ่านมา หก-เจ็ดปีแล้ว จำได้ลางๆ ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้ ยังอยู่ในรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑

ถ้าคุณ Bhanumet มีตำนานมูลศาสนา (หรือ ท่านใดก็ได้) รบกวน นำเนื้อความตอนนี้มาลงไว้ก็ดีครับ เป็นประโยชน์มากที่เดียว

===============================

และหลังจากที่ได้แคว้นสุโขทัยแล้ว กลุ่มอำนาจฝ่ายลุ่มน้ำน่านยังแข็งข้ออยู่จึงต้องขึ้นไปตีทางสองแคว ชากังราว อีก (อันนี้เป็นการสันนิษฐานนะครับ)


ความใน พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์

ศักราช ๗๓๓ กุนศก (พ.ศ. ๑๙๑๔) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า เสด็จไปเอาเมืองเหนือ และได้เมืองเหนือทั้งปวง

ศักราช ๗๓๔ ชวดศก (พ.ศ. ๑๙๑๕) เสด็จไปเอาเมืองนครพังค่า และเมืองแสงเชรา ได้เมือง

ศักราช ๗๓๕ ฉลูศก (พ.ศ. ๑๙๑๖) เสด็จไปเมืองชากัง (ราวและพระยา) ใสแก้วและพระยาคำแหง เจ้าเมืองชากังราวออกต่อรบท่าน ๆ (ได้ฆ่าพระยา) ใสแก้วตาย และพระยาคำแหงและพลทั้งปวงหนีเข้าเมืองได้ และทัพ (หลวง) เสด็จกลับคืนมา

ศักราช ๗๓๖ ขาลศก (พ.ศ. ๑๙๑๗) สมเด็จพระบรมราชา(ธิราช) เจ้า และพระมหาเถรธรรมากัลญาณ แรกสถาปนาพระศรีรัตนมหาธาตุ ฝ่ายบูรพทิศหน้าพระบั้นชั้นสิงห์ สูงเส้น ๓ วา

ศักราช ๗๓๗ เถาะศก (พ.ศ. ๑๙๑๘) เสด็จไปเอาเมืองพิษณุโลก และได้ตัวขุนสามแก้วเจ้าเมืองและครัว (อพ) ยพมาครั้งนั้นมาก

ศักราช ๗๓๘ มะโรงศก (พ.ศ. ๑๙๑๙) เสด็จไปเอาเมือง (ชากังราว) เล่า ครั้งนั้นพระยาคำแหงและท้าวผ่าคอง คิดด้วยกันว่าจะยอทัพ (หลวง และจะ) ทำมิได้ และท้าวผ่าคองเลิกทัพหนี และจึงเสด็จทัพหลวงตาม และท้าวผ่าคองนั้นแตก และจับได้ตัวท้าวพระยาและกสนาขุนหมื่นครั้งนั้นมาก และทัพหลวงเสด็จกลับคืน

ศักราช (๗๔๐) มะเมียศก (พ.ศ. ๑๙๒๑) เสด็จไปเอาเมืองชากังราวเล่า ครั้งนั้นมหาธรรมราชาออกรบทัพหลวงเป็นสามารถ และเห็นว่าจะต่อด้วยทัพหลวงมิได้ จึงมหาธรรมราชาออกถวายบังคม

ศักราช ๗๔๘ ขาลศก (พ.ศ. ๑๙๒๙) เสด็จไปเอาเมืองเชียงใหม่ และให้เข้าปล้นเมืองนครลำภางมิได้ จึงแต่งหนังสือให้เข้าไปแก่หมื่นนครเจ้าเมืองนครลำภาง ๆ นั้นจึงออกมาถวายบังคม และทัพหลวงเสด็จกลับคืน

ศักราชได้ ๗๕๐ มะโรงศก (พ.ศ. ๑๙๓๑) เสด็จไปเอาเมืองชากังราวเล่า ครั้งนั้นสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าทรงพระประชวรหนัก และเสด็จกลับคืน ครั้นเถิงกลางทาง สมเด็จพระบรมราชาเจ้านฤพานและจึงเจ้าทองลันพระราชกุมาร ท่านได้เสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยาได้ ๗ วัน จึงสมเด็จพระราเมศวรยกพลมาแต่เมืองลพบุรี ขึ้นเสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยา และท่านจึงให้พิฆาตเจ้าทองลันเสีย


ถ้าพิจารณาว่า ได้เมืองเหนือทั้งปวง คือ แคว้นสุโขทัย (รวมทั้งกำแพงเพชร และ พิษณุโลก) ในปี พ.ศ. ๑๙๑๔

ตามแนวน้ำน่าน: แสดงว่า ทรงดำเนินนโยบายทำสงครามต่อไปทางเหนือของสุโขทัย โดยไปตี ชากังราว ที่น้ำน่านในปี พ.ศ. ๑๙๑๖
ตามกำแพงเพชร: แสดงว่า สองปีต่อมา สุโขทัยแข็งข้อ กับอยุธยาในปี พ.ศ. ๑๙๑๖

ถ้าตามแนวกำแพงเพชร จะเห็นได้ว่า สุโขทัย ในปี พ.ศ.๑๙๑๖ ไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้อำนาจอยุธยาก็ได้ คำว่า ได้เมืองเหนือทั้งปวง ในปี พ.ศ.๑๙๑๔ นั้น น่าจะมีเงื่อนงำทางการเมืองบางอย่าง เพราะเป็นช่วงพลัดเปลี่ยนรัชกาลของกษัตริย์สุโขทัย ซึ่งนับว่าเป็นจุดอ่อนทางการเมือง อยุธยาต้องการสุโขทัยมานานแล้ว จึงน่าจะใช้นโยบายอะไรบางอย่างที่ทำให้สุโขทัยยอมเป็นประเทศราชโดยไม่เสียเลือดเนื้อ น่าเสียดายที่พงศาวดารไม่ได้บันทึกอะไรไว้มากกว่านี้

แต่สองปีต่อมาพระมหาธรรมราชาที่ ๒ น่าจะได้ "back up" ชั้นดี มียุให้แข็งเมือง ซึ่ง back up นั้นก็เห็นอยู่เลาๆ ว่าคือ ท้าวผาคอง ในเนื้อความ

ผมเอนไปทางชากังราว คือ กำแพงเพชรครับ เนื่องจาก เนื้อความต่อมา เป็นเรื่องของการตีเมืองหน้าด่านของสุโขทัย คือ ชากังราว (กำแพงเพชร) กับ พิษณุโลก ก่อนที่พระมหาธรรมราชาจะยอมแพ้ (พ.ศ. ๑๙๒๑) ซึ่งนับได้ว่า ณ จุดนี้ สุโขทัย "กลับ" มาเป็นประเทศราชเหมือนเดิม

เพราะจะเห็นได้ว่า ถ้ายังไม่ผ่านสุโขทัย ก็รุกไปเชียงใหม่ไม่ได้


ถ้าตามแนวน้ำน่าน จะสัญนิษฐานโดยพื้นฐานที่ว่า สุโขทัยเป็นส่วนหนึ่งของอยุธยา ดังนั้น ชากังราว จึงควรอยู่เหนือขึ้นไป
ตรงนี้จะอธิบาย ลำดับเวลานี้ยังไงครับ ?

ศักราช ๗๓๕ ฉลูศก (พ.ศ. ๑๙๑๖) เสด็จไปเมืองชากังราว (ไสแก้ว) (ในลุ่มน้ำน่าน) ไม่ได้เมือง => แสดงว่า ได้พิษณุโลกแล้ว จึงผ่านขึ้นมาได้ ?
ศักราช ๗๓๗ เถาะศก (พ.ศ. ๑๙๑๘) เสด็จไปเอาเมืองพิษณุโลก (สามแก้ว) ได้เมือง => แสดงว่า พิษณุโลกแข็งเมือง ? ถ้าพิษณุโลกแข็งเมือง แสดงว่า สุโขทัยแข็งเมืองด้วย แต่ทำไม ไม่ทรงไปปราบสุโขทัยก่อน จะเข้าไปตีอีกครั้ง ?

ปีต่อๆ มาก็เน้นตีชากังราว สุดท้าย มหาธรรมราชา ก็ออกมาถวายบังคม ตามเนื้อความ มหาธรรมราชาในที่นี่ ควรเป็นกษัตริย์สุโขทัยครับ ไม่ใช่กษัตริย์เมืองชากังราว เพราะพระนามนี้ เป็นนามตามประเพณีกษัตริย์เมืองสุโขทัย => ทำไมสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ไม่ทรงไปตีสุโขทัยเลย ? เพราะเป็นทางผ่านอยู่แล้ว และมหาธรรมราชาก็ไม่จำเป็นต้องยอมแพ้ เพราะอยุธยาตีเืมืองในลุ่มน้ำน่าน ยังทรงมีโอกาสมาตั้งมั่นในเมืองสุโขทัยได้อีก ?

คำถามเหล่านี้แหละครับ ที่ทำให้ผมยังไม่เชื่อว่า ชากังราว อยู่ในลุ่มน้ำน่าน

อีกประการหนึ่ง เรื่องลำดับชื่อคือ
มหาธรรมราชา - พี่คนโต
คำแหงพระราม - คนที่ ๒ (ชื่อราม เป็นธรรมเนียมตั้งชื่อลูกคนที่สอง)
สามแก้ว - คนที่ ๓
ไสแก้ว - คนที่ ๔

ดังนั้น จะเห็นเครือข่ายดังนี้
มหาธรรมราชา ครองสุโขทัย
คำแหงพระราม - "น่าจะ" ครองศรีสัชนาลัย (ความในเรื่องไม่ได้บอกไว้)
สามแก้ว - ครองพิษณุโลก เมืองสำคัญอันดับสามของแคว้นสุโขทัย
ไสแก้ว - ครองชากังราว ซึ่ง "น่าจะหมายถึง" กำแพงเพชร เมืองสำคัญอันดับสี่ของแคว้นสุโขทัย

อันนี้ก็ฝากไว้ให้พิจารณาเช่นกันครับ  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 21 ต.ค. 09, 07:22

ส่วน "เมืองพาน" นั้น คิดไปคิดมา อาจหมายถึง "เมืองพัน" ในพม่า ก็เป็นได้ครับ

คือคงส่งคนไปอันเชิญพระสงฆ์ และฆรวาสมาร่วมงานบุญ

สุโขทัยกับเมืองมอญ ติดต่อกันมานานแล้วครับ เส้นทางจากเมืองพันนี้ ก็สามารถใช้เดินทางต่อไปยังอินเดียได้ด้วยครับ
บันทึกการเข้า
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 21 ต.ค. 09, 07:43

ผมลองไปตรวจกับ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) มีข้อน่าสังเกตนิดหน่อยครับ

ก. = พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์

ข. = พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)

ก. ศักราช (๗๔๐) มะเมียศก (พ.ศ. ๑๙๒๑) เสด็จไปเอาเมืองชากังราวเล่า ครั้งนั้น มหาธรรมราชาออกรบทัพหลวงเป็นสามารถ และเห็นว่าจะต่อด้วยทัพหลวงมิได้ จึงมหาธรรมราชาออกถวายบังคม

ข. ศักราช ๗๔๐ ปีมะเมียสัมฤทธิศก (พ.ศ. ๑๙๒๑) ไปเอาเมืองช้ากังราวเล่า ครั้งนั้น มหาธรรมราชาออกมาถวายบังคม

=============================

ก. ศักราช ๗๔๘ ขาลศก (พ.ศ. ๑๙๒๙) เสด็จไปเอาเมืองเชียงใหม่ และให้เข้าปล้นเมืองนครลำภางมิได้ จึงแต่งหนังสือให้เข้าไปแก่หมื่นนครเจ้าเมืองนครลำภาง ๆ นั้นจึงออกมาถวายบังคม และทัพหลวงเสด็จกลับคืน

ข. ศักราช ๗๔๒ ปีวอกโทศก (พ.ศ. ๑๙๒๓) เสด็จไปเอาเมืองเชียงใหม่ และให้เข้าปล้นเมืองนครลำปางมิได้ จึงแต่งหนังสือให้เข้าไปแก่หมื่นนคร ให้เจ้าเมืองนครลำปางออกมาถวายบังคม และทัพหลวงเสด็จกลับคืน

=============================

ก. ศักราชได้ ๗๕๐ มะโรงศก (พ.ศ. ๑๙๓๑) เสด็จไปเอาเมืองชากังราวเล่า ครั้งนั้น สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าทรงพระประชวรหนัก และเสด็จกลับคืน ครั้นเถิงกลางทาง สมเด็จพระบรมราชาเจ้านฤพาน

ข. ศักราช ๗๔๔ ปีจอจัตวาศก (๒) ( พ.ศ. ๑๙๒๕ ) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าเสด็จสวรรคต อยู่ในราชสมบัติ ๑๓ ปี


ประเด็นแรก คือ เรื่องศักราชเริ่มเพี้ยน ท่านที่ตามอ่านพงศาวดารคงทราบกันดี โดยเริ่มเพี้ยนกันตั้งแต่หลังได้สุโขทัยแล้ว คือ มหาธรรมราชาออกถวายบังคม

ประเด็นที่สอง ความในฉบับ ก. พิมพ์เกิน หรือ เขียนเกินมาหรือไม่ ? จากประโยคที่ว่า "เสด็จไปเอาเมืองชากังราวเล่า" ซึ่งเป็นข้อความที่ซ้ำกับ ปี พ.ศ.๑๙๒๑
เป็นไปได้ว่า ฉบับ ก. เขียนเกินมา เพราะฉบับ ข. ไม่กล่าวถึงการตีชากังราวอีกเลย หลังที่มหาธรรมราชาถวายบังคมแล้ว

ประเด็นที่สาม (ไม่ได้นำมาลง) ฉบับ ก. ไม่ได้เล่าเรื่องสมเด็จพระรามเมศวรตีเชียงใหม่เลย ในขณะที่ ฉบับ ข. เล่าไว้อย่างละเอียด
บันทึกการเข้า
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 21 ต.ค. 09, 08:22

ในฉบับ ก. มีชื่อเมืองชากังราว ปรากฎขึ้นอีกครั้ง ในแผ่นดินของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ จากนั้นก็ไม่กล่าวถึงอีกเลย แต่มากล่าวถึงด้วยชื่อ "กำแพงเพชร" แทน

ส่วนฉบับ ข. นั้น เริ่มเรื่องมาก็กล่าวถึงเมืองประเทศราช ๑๖ เมือง เลย มีเมืองกำแพงเพชร อยู่ในนั้นด้วย คือ

ครั้งนั้น พระยาประเทศราชขึ้น ๑๖ เมือง คือ เมืองมะละกาเมืองชะวา เมืองตะนาวศรี เมืองนครศรีธรรมราช เมืองทะวาย เมืองเมาะตะมะ เมืองเมาะลำเลิง เมืองสงขลา เมืองจันทบูร เมืองพิษณุโลก เมืองสุโขทัย เมืองพิชัย เมืองสวรรคโลก เมืองพิจตร เมืองกำแพงเพ็ชร เมืองนครสวรรค์

ส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่า ความตรงนี้ อาจเติมขึ้นภายหลังครับ

การเปรียบเทียบเนื้อความระหว่างพงศาวดารทั้งสองเรื่องนี้ ก็ทำให้กระจ่างขึ้นครับว่า ชากังราวนั้น อยู่ในบริบทระหว่างสุโขทัย กับ พิษณุโลกโดยตลอด ดังนั้น จึงไม่น่าจะหลุดไปอยู่ในแถบลุ่มน้ำน่านครับ

เปรียบเทียบพงศาวดารทั้งสอง เหตุการณ์ตั้งแต่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสวยราชสมบัติ ถึงทรงออกผนวช ณ วัดจุฬามณี (และเป็นกล่าวถึงชื่อชากังราวเป็นครั้งสุดท้ายใน ฉบับ ก. ส่วนฉบับ ข. นั้นไม่กล่าวถึงอีกเลยนับตั้งแต่ มหาธรรมราชาออกถวายบังคมสมเด็จพระบรมราชธิราชที่ ๑)

ก. ศักราช ๘๑๐ มะโรงศก (พ.ศ. ๑๙๙๑) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้านฤพาน จึงพระราชกุมารท่าน สมเด็จพระราเมศวรเจ้าเสวยสมบัติ ทรงพระนามสมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้า
ข. ศักราช ๗๙๖ ปีขาลฉอศก (พ.ศ. ๑๙๗๗ ) สมเด็จ พระบรมราชาธิราชเจ้าเสด็จสวรรคต อยู่ในสมบัติ ๑๖ ปี สมเด็จพรราเมศวรเจ้า ผู้เป็นพระราชกุมารขึ้นเสวยราชสมบัติ ทรงพระนามชื่อพระบรมไตรโลกนาถ

ก. (ไม่มีกล่าวถึง)
ข. ยกวังทำเป็นวัดพระศรีสรรเพชญ์เสด็จมาอยู่ริมน้ำ จึงให้สร้างพระที่นั่งเบญจรัตนมหาปราสาททององค์หนึ่งแล้วพระราชทานชื่อขุนนางตามตำแหน่งนา ให้เอาทหารเป็นสมุหพระกลาโหม เอาพลเรือนเป็นสมุหนายก เอาขุนเมืองเป็นพระนครบาลเมือง เอาขุนวังเป็นพระธารมาธิกรณ์ เอาขุนนาเป็นเกษตร์ เอาขุนคลังเป็นโกษาธิบดี (เรื่องจัดระบบบริหารใหม่นี้ สอดคล้องกับ กฎหมายตราสามดวง) ให้ถือศักดินาหมื่น และที่ถวายพระเพลิงสมเด็จพระรามาธิบดี ที่พระองค์สร้างกรุงนั้น ให้สถาปนาพระมหาธาตุและพระวิหารเป็นพระราม

ก. ศักราช ๘๑๖ จอศก (พ.ศ. ๑๙๙๗) ครั้งนั้นคนทั้งปวงเกิดทรพิษตายมากนัก
ข. ศักราช ๘๐๒ ปีวอกโทศก (พ.ศ. ๑๙๘๓ ) ครั้งนั้นคนออกทรพิษตายมากนัก

ก. ศักราช ๘๑๓ มะแมศก (พ.ศ. ๑๙๙๔) ครั้งนั้นมหาราชมาเอาเมืองชากังราวได้ แล้วจึงมาเอาเมืองสุโขทัย เข้าปล้นเมืองมิได้ ก็เลิกทัพกลับคืน
ข. (ไม่มีกล่าวถึง)

ก. ศักราช ๘๑๗ กุนศก (พ.ศ. ๑๙๙๘) แต่งทัพให้ไปเอาเมืองมะลากา
ข. ศักราช ๘๐๓ ปีระกาตรีศก (พ.ศ. ๑๙๘๔ ) แต่งทัพ ไปเอาเมืองมะละกา

ก. ศักราช ๘๑๘ ชวดศก (พ.ศ. ๑๙๙๙) แต่งทัพให้ไปเอาเมืองลิสบทิน ครั้งนั้นเสด็จหนุนทัพขึ้นไปตั้งทัพหลวงตำบลโคน (อยู่ในเขตเมืองกำแพงเพชร)
ข. ศักราช ๘๐๔ ปีจอจัตวาศก (พ.ศ. ๑๙๘๕ ) แต่งทัพไป เอาเมืองศรีสพ ครั้งนั้นเสด็จหนุนทัพขึ้นไปตั้งทัพหลวงตำบลบ้านโคน

ก. ศักราช ๘๑๙ ฉลูศก (พ.ศ. ๒๐๐๐) ครั้งนั้นข้าวแพงเป็นทะนานแล ๘๐๐ เบี้ย เมื่อคิดเสมอเบี้ยเฟื้องแล ๘๐๐ นั้น เกวียนหนึ่งเป็นเงินสามชั่งสิบบาท
ข. ศักราช ๘๐๕ ปีกุรเบญจศก (พ.ศ. ๑๙๘๖ ) ข้าวเปลือกแพงเป็นทะนานละ ๘๐๐ เบี้ย เบี้ย ๘๐๐ ต่อเอง เกวียนหนึ่ง เป็นเงิน ๓ ชั่งกับ ๑๐ บาท

ก. ศักราช ๘๒๐ ขาลศก (พ.ศ. ๒๐๐๑) ครั้งนั้นให้บุณพระศาสนาบริบูรณ์ และหล่อรูปพระโพธิสัตว์ ๕๐๐ ชาติ
ข. ศักราช ๘๐๖ ปีชวดฉอศก (พ.ศ. ๑๙๘๗ ) ให้บำรุง พระพุทธศาสนาบริบูรณ์ และหล่อรูปพระโพธิสัตว์ ๕๕๐ พระชาติ

ก. ศักราช ๘๒๒ มะโรงศก (พ.ศ. ๒๐๐๓) เล่นการมหรสพฉลองพระ และพระราชทานแก่สงฆ์และพราหมณ์และวณิพกทั้งปวง ครั้งนั้น พระยาเชลียงคิดเป็นขบถ พาเอาครัวทั้งปวงไปออกแต่มหาราช
ข. ศักราช ๘๐๘ ปีขาลอัฐศก (พ.ศ. ๑๙๘๙ ) เล่นการมหรศพฉลองพระ และพระราชทานสมณชีพราหมณ์และวัณริพกทั้งปวง ครั้งนั้น พระยาเชลียงคิดขบถ พาเอาครัวทั้งปวงไปมหาราช

ก. ศักราช ๘๒๓ มะเส็งศก (พ.ศ. ๒๐๐๔) พระยาเชลียงนำมหาราชมาจะเอาเมืองพิษณุโลก เข้าปล้นเมืองเป็นสามารถ มิได้เมืองและจึ่งยกทัพเปร่อไปเอาเมืองกำแพงเพชร และเข้าปล้นเมืองเถิงเจ็ดวันมิได้เมือง และมหาราชก็เลิกทัพคืนไปเชียงใหม่
ข. ศักราช ๘๐๙ ปีเถาะนพศก (พ.ศ. ๑๙๙๐ ) พระยา เชลียงนำมหาราชมาเอาเมืองพิษณุโลก เข้าปล้นเอาเมืองสามารถ มิได้จึงยกทัพแปรไปเอาเมืองกำแพงเพ็ชร เข้าปล้นเมือง ๗ วันมิได้

ก. ศักราช ๘๒๔ มะเมียศก (พ.ศ. ๒๐๐๕) เมืองนครไทย พาเอาครัวอพยพหนีไปน่าน และให้พระกลาโหม ไปตามได้คืนมาแล้วพระกลาโหมยกพลไปเอาเมืองสุโขทัย ได้เมืองคืนดุจเก่า
ข. (ไม่มีกล่าวถึง)

ก. ศักราช ๘๒๕ มะแมศก (พ.ศ. ๒๐๐๖) สมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้า ไปเสวยราชสมบัติเมืองพิษณุโลก และตรัสให้พระเจ้าแผ่นดิน เสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยา ทรงพระนามสมเด็จพระบรมราชา ครั้งนั้นมหาราชท้าวลูก ยกพลมาเอาเมืองสุโขทัย
ข. (ไม่มีกล่าวถึง)

ก. จึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้า และสมเด็จพระอินทราชาเสด็จไปกันเมือง (= กำแพงเพชร ถ้าเทียบกับฉบับ ข.) และสมเด็จพระราชาเจ้าตีทัพพระยาเถียรแตก และทัพท่านมาประทัพหมื่นนคร และท่านได้ชนช้างด้วยหมื่นนคร และครั้งนั้นเป็นโกลาหลใหญ่ และข้าเศิกลาวทั้งสี่ช้างเข้ารุมเอาช้างพระที่นั่งช้างเดียวนั้น ครั้งนั้นสมเด็จพระอินทราชาเจ้าต้องเป็น ณ พระพักตร์ และทัพมหาราชนั้นเลิกกลับคืนไป
ข. สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเจ้า และสมเด็จพระอินทราชา เสด็จขึ้นไปช่วยเมืองกำแพงเพ็ชรทัน และสมเด็จพระอินทราชาเจ้าตีทัพพระยาเกียรติ์แตก ทัพท่านมาปะทัพหมื่นนคร ได้ชนช้างด้วยหมื่นนคร และข้าศึกลาวทั้งสี่ช้างเข้ารมเอาช้างพระที่ นั่งช้างเดียว ครั้งนัน พระอินทราชาเจ้าต้องปืนพระพักต์ ทัพมหาราชนั้น เลิกกลับคืนไป

ก. ศักราช ๘๒๖ วอกศก (พ.ศ. ๒๐๐๗) สมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้า สร้างพระวิหารวัดจุฬามณี
ข. ศักราช ๘๑๐ ปีมะโรงสัมฤทธิศก (พ.ศ. ๑๙๙๑ ) สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเจ้าสร้างพระวิหารวัดจุฬามณี

ก. ศักราช ๘๒๗ ระกาศก (พ.ศ. ๒๐๐๘) สมเด็จพระบรมไตรโลกเจ้า ทรงพระผนวช ณ วัดจุฬามณีได้ ๘ เดือน แล้วลาพระผนวช
ข. ศักราช ๘๑๑ ปีมะเส็งเอกศก (พ.ศ. ๑๙๙๒ ) สมเด็จ พระบรมไตรโลกนาถเจ้า ทรงพระผนวชวัดจุฬามณีได้ ๘ เดือน แล้วลาผนวช


บันทึกการเข้า
manit peuksakondh
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 21 ต.ค. 09, 09:13

ชอบการ"ถก" ทางวิชาการ แบบนักวิขาการ ทำนองนี้มากครับ ได้ความรู้แตกฉานดี(กว่าไปห้องสมุดเยอะ)ครับ ขอบพระคุณสำหรับทุกข้อความครับ
มานิต
บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 22 ต.ค. 09, 09:34

ครับ ขอบพระคุณมากครับ

ขออภัยเรื่องรอยพระบาทเขาสุมนกูฏ ผมจำพลาดไปว่าอยู่นครชุม ที่จริงต้องสุโขทัย ขออภัยอย่างยิ่งครับ

ส่วนเรื่องเมืองชากังราว ก็ต้องขอบคุณสำหรับการวิเคราะห์ หลักฐาน และข้อมูล มีเหตุผลอย่างยิ่ง
แต่อย่างไรเสียต้องให้อภัยผู้น้อยอย่างผมด้วยนะครับ เพราะผมยังเอนเอียงไปทาง อ.พิเศษ ว่าเมืองชากังราวอยู่ลำน้ำน่านอยู่
ถือซะว่ามองต่างมุมแล้วกันนะครับ



เรื่องต่อไป
เนื่องจากตามทฤษฎีของผมที่ได้ยกมาในความคิดเห็นก่อนๆ
ผมเชื่อว่าสุโขทัยหลังสมัยพญาลิไทแบ่งออกเป็นสองฝ่ายคือ สายพระร่วง-สุพรรณภูมิ ที่มีอิทธิพลอยู่ทางสุโขทัยศรีสัชนาลัย โดยมีเมืองกำแพงเพชรซึ่งน่าจะอยู่ในอิทธิพลของอยุธยาเป็นฐานสนับสนุน
สายนี้ไม่กบฏต่ออยุธยา จึงเป็นฐานให้ขุนหลวงพ่องั่วในการไปตีล้านนา และเมืองอื่นๆได้

สายที่สองเปนสาย พระร่วง-กาวน่าน มีอิทธิพลอยู่แถวลุ่มน้ำน่าน (เช่น ชากังราว-ตามการ "เดา" ของผม) สายนี้เป็นสายที่ขุนหลวงพ่องั่วพยายามปราบปราม

ดังนั้นบนพื้นฐานการสันนิษฐานว่า ชากังราวไม่ใช่กำแพงเพชร และสุโขทัยศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร อยู่ฝ่ายอยุธยา (ไม่ว่าในฐานะเมืองออกหรือเมืองเครือญาติ) ผมจึงเห็นว่าขุนหลวงพ่องั่วมีฐานกำลังที่จะไปตีล้านนาครับ

อนึ่ง แนวคิดการเรียกชื่อราชวงศ์เป็นแนวคิดในสมัยหลัง ผมใช้เพื่อให้สะดวกในการทำความเข้าใจ ในสมัยโบราณอาจไม่ได้ยึดแนวคิด "รักษาหรือฟื้นฟูราชวงศ์" (อย่างในหนังสุริโยไท) น่าจะเป็นการแสวงอำนาจากกว่าเฉพาะตนมากกว่า
เพราะราชวงศ์โบราณก็เป็นเครือญาติกันหมด เป็นวงศ์เดียวกันคือสุริยวงศ์ (วงศ์กษัตริย์) เพียงแต่ต้องมีจิตสำนึกเรื่อง "ญาติใกล้ชิด" กับ "ญาติห่างๆ" แน่นอน (โดยเฉพาะสังคมไทยที่ยังเหลือหลักแม่เป็นใหญ่อยู่ ญาติข้างแม่ย่อมสำคัญมาก)



เรื่องหลักฐานฝ่ายล้านนา
ครับเอามาจากชินกาลมาลีปกรณ์ครับ
สรุปความว่าพระเจ้ารามาธิบดี (อู่ทอง) ใช้อุบายทำทีเอาข้าวมาขายให้ชัยนาท (สองแคว) ที่ประสบทุพพิกขภัย แล้วยึดสองแควได้ ให้วัตติเดชอำมาตย์ (พ่องั่ว) ครองสองแคว
-เหตุการณ์นี้น่าจะเกิดก่อน พ.ศ.๑๙๐๕ ที่พญาลิไทไปครองสองแคว-

พระเจ้าธรรมราชา (พญาลิไท) ส่งบรรณาการถวายพระเจ้ารามาธิบดีเพื่อไถ่เมืองคืนสำเร็จ วัตติเดชอำมาตย์กลับไปเมืองสุวรรณภูมิ (สุพรรณบุรี) พระเจ้าธรรมราชาไปเมืองชัยนาท ตั้งพระกนิษฐาครองสุโขทัย
-พ.ศ.๑๙๐๕-

ต่อมาเมื่อพระเจ้ารามาธิบดีผู้เป็นใหญ่แก่แคว้นกัมโพชและอโยชฌปุระ (อโยธยา) สวรรคตแล้ว
-คือ พ.ศ.๑๙๑๒-

วัตติเดชอำมาตย์มาจากเมืองสุวรรณภูมิยึดแคว้นกัมโพชได้
-พ.ศ.๑๙๑๓ ขุนหลวงพ่องั่วยึดอโยธยาจากพระราเมศวร-

ครั้นพระเจ้าธรรมราชาเมืองชัยนาท (พญาลิไท ณ เมืองสองแคว) สวรรคตแล้ว
วัตติเดชอำมาตย์มาจากเมืองอโยชฌปุระยึดเมืองชัยนาท... และมหาอำมาตย์ชื่อพรหมไชยก็ยึดเมืองสุโขทัยได้ (น่าจะเป็นฝ่ายอยุธยา???)
-น่าจะเป็น พ.ศ.๑๙๑๔ ที่ขุนหลวงพ่องั่ว "ได้เมืองเหนือทั้งปวง"-




สุดท้ายขอเรื่องเมืองชากังราวอีกนิดครับ

ศักราช ๘๑๓ มะแมศก (พ.ศ. ๑๙๙๔) ครั้งนั้นมหาราชมาเอาเมืองชากังราวได้ แล้วจึงมาเอาเมืองสุโขทัย เข้าปล้นเมืองมิได้ ก็เลิกทัพกลับคืน

.............................

ศักราช ๘๒๒ มะโรงศก (พ.ศ. ๒๐๐๓) เล่นการมหรสพฉลองพระ และพระราชทานแก่สงฆ์และพราหมณ์และวณิพกทั้งปวง ครั้งนั้นพระยาเชลียงคิดเป็นขบถ พาเอาครัวทั้งปวงไปออกแต่มหาราช

ศักราช ๘๒๓ มะเส็งศก (พ.ศ. ๒๐๐๔) พระยาเชลียงนำมหาราชมาจะเอาเมืองพิษณุโลก เข้าปล้นเมืองเป็นสามารถ มิได้เมืองและจึ่งยกทัพเปร่อไปเอาเมืองกำแพงเพชร และเข้าปล้นเมืองเถิงเจ็ดวันมิได้เมือง และมหาราชก็เลิกทัพคืนไปเชียงใหม่


ศักราช ๘๒๔ มะเมียศก (พ.ศ. ๒๐๐๕) เมืองนครไทย พาเอาครัวอพยพหนีไปน่าน และให้พระกลาโหมไปตามได้คืนมาแล้วพระกลาโหมยกพลไปเอาเมืองสุโขทัย ได้เมืองคืนดุจเก่า

..............................

ศักราช ๘๓๙ ระกาศก (พ.ศ. ๒๐๒๐) แรกตั้งเมืองนครไทย


...............................

ศักราช ๘๕๒ จอศก (พ.ศ. ๒๐๓๓) แรกให้ก่อกำแพงเมืองพิชัย


พ.ศ.๒๐๐๕ เมืองนครไทยหนีไปน่านแต่ตามกลับได้
พ.ศ.๒๐๒๐ แรกตั้งเมืองนครไทย
น่าจะเป็นเพราะสงคราม "ยวนพ่าย" นั้นใหญ่หลวงนัก เมืองใดรักษาไว้ไม่ได้ (หรือรักษายาก) ก็คงปล่อยเป็นเมืองร้างและกวาดต้อนผู้คนไปเมืองอื่น (ตามธรรมเนียมสงครามโบราณในอุษาคเนย์ สมัยพระนเรศวร พระเจ้าตากก็ใช้วิธีนี้)

พ.ศ.๑๙๙๔ พระเจ้าติโลกราชมาเอาชากังราวได้.... แล้วยกทัพกลับ
พ.ศ.๒๐๓๓ แรกให้ก่อกำแพงเมืองพิชัย
เมืองชากังราวคงยากที่จะรักษาเพราะอยู่ลุ่มน้ำน่านใกล้เขตอิทธิพลแคว้นน่านที่พญายุธิษฐิระปกครอง
จึงปล่อยเป็นเมืองร้างเสีย แล้วค่อยมาฟื้นเมืองใหม่สมัยพระบรมราชาธิราช ที่ ๓ (แรกให้ก่อกำแพงเมืองพิชัย)
-อันนี้ลองยึดตามข้อสันนิษฐานของ อ.พิเศษว่าชากังราวคือเมืองพิชัย-
ดังนั้นจึงไม่กล่าวถึงชากังราวอีกเลยเพราะกลายเป็นเมืองพิชัย

พ.ศ.๒๐๐๔ ทัพล้านนาสามารถมาตีกำแพงเพชรได้ทั้งๆที่อยู่ลุ่มน้ำปิง (นอกเส้นทางลุ่มน้ำน่านที่เป็นเส้นทางหลัก) ก็เพราะพญาเชลียงเป็นกบฏเอาเมืองไปออกแก่พระเจ้าติโลกราช ทัพล้านนาจึงใช้เชลียงเป็นฐานได้
-ดังนั้นชากังราวที่ล้านนามาตีเป็นเมืองแรกในปี ๑๙๙๔ จึงควรอยู่ลุ่มน้ำน่านที่เป็นเขตอิทธิพลของพญายุธิษฐิระ และเป็นเส้นทางที่ล้านนายกมาในตอนต้นของสงคราม ส่วนอยุธยาใช้กำแพงเพชรเป็นฐานไปทางแม่ปิงในปี ๑๙๙๙-



ขอเสนอแนวคิดด้วยความเคารพครับ และขอบพระคุณคุณ Hotacunus และท่านอื่นๆที่เข้ามาร่วมถกสร้างสีสันให้กระทู้และเพิ่มความรู้ครับ



ป.ล. เมืองพาน น่าจะเป็น เมืองบางพาน ที่อยู่ระหว่างกำแพงเพชรกับสุโขทัยนะครับ
บันทึกการเข้า
manit peuksakondh
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 22 ต.ค. 09, 10:11

รออ่านต่ออยู่ ด้วยความสนใจยิ่ง นะครับ
มานิต
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 22 ต.ค. 09, 14:23

๔.  อ ๐ อยู่ในสองแค -
๕.  ว ได้เจ็ดข้าว จึงนำ
๖.  พลมา ๐ มีทั้งชาวส -
๗.  ระหลวงสองแคว ปา -
๘.  กยม พระบาง ชากัง
๙.  ราว สุพรรณภาว น -
๑๐. ครพระชุม เบื้องใ ..
๑๑. เมืองพาน เมือง ..
๑๒. เมืองราด เมืองสะ
๑๓. ค้า เมืองลุมบาจาย
๑๔. เป็นบริพาร จึงขึ้ -
๑๕. นมานบพระบาท

บรรทัดที่ ๑๐ "เบื้องใ" อาจจะเป็น "เมืองใ" นะครับ ดังนั้นเป็นชื่อเมืองที่เรียงอยู่ต่อกันทั้งหมด (จารึกไม่กำกับวรรณยุกต์ตรงคำนี้ และ บ กับ ม ก็คล้ายกัน)
ดูจารึก http://www4.sac.or.th/jaruk2008/img_large.php?f=/144_4.jpg

น่าคิดว่าชื่อเมืองแรกๆเป็นชื่อที่เรารู้ตำแหน่งอยู่สามสี่ชื่อ สรลวงสองแฅว ปากยํ พระบาง ... นครพระชุํ
น่าสนใจว่าชื่อเหล่านี้เรียงไล่ตามเข็มนาฬิกาพอดี โดยเริ่มจากทางทิศตะวันออก

ดูชื่อเมืองที่เหลือ
- ชากนราว (กำแพงเพชร?)
- สุพรรณภาว คือสุพรรณบุรีจริงหรือ? ทำไมถึงมาอยู่ระหว่างเมืองแฝด นครพระชุม กับ กำแพงเพชร
- เมืองพาน ถ้าเป็นบางพาน ก็น่าจะถูกลำดับอยู่ก่อน ชากังราว สุพรรณภาว และ นครพระชุม ถ้าเป็นเมืองพัน (มะตะบัน-เมาะตะมะ) ก็ดูจะไกลไปสักหน่อย
- เมืองราด สะค้า ลุมบาจาย ผมเข้าใจว่ามีสองทฤษฎี คือลุมน้ำน่าน กับลุ่มน้ำป่าสัก อ.ประเสริฐ โยงชื่อ บาจาย โอรสกษัตริย์เมืองน่านเข้ากับชื่อเมืองลุมบาจาย และยังตั้งข้อสังเกตเรื่องชื่อ ผาเมือง เข้ากับผากอง กษัตริย์น่าน เป็นการโยงเมืองราดเข้ากับลุ่มแม่น้ำน่านด้วย ดูจากระยะทางและทิศทางจากสุโขทัย ก็เข้ากันได้ดีครับ

ผมว่าชากนราวอาจเป็นกำแพงเพชรได้โดยดูจากบริบทอื่นๆ แต่ทฤษฎีตามเข็มนาฬิกาน่าจะใช้ไม่ได้ครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
หน้า: 1 2 [3]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.08 วินาที กับ 19 คำสั่ง