เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
อ่าน: 13141 ได้ลองไล่ลำดับกษัตริย์สุโขทัยดู จะเป็นที่ยอมรับได้บ้างหรือไม่ครับ
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


 เมื่อ 19 ต.ค. 09, 11:22

(ผมเคยตั้งกระทู้นี้ไว้ที่ http://www.pantip.com/cafe/library/topic/K8361445/K8361445.html)

ศรีสัชนาลัย (เชลียง เชียงชื่น สวรรคโลก) เป็นชุมชนยุคโลหะ (เหล็ก) ริมแม่น้ำยม มาตั้งแต่สมัยพุทธกาล มีแหล่งแร่ (บริเวณต้นน้ำแม่ลำพัน) ที่ดึงดูดผู้คนให้มาตั้งถิ่นฐาน
ทั้งยังตั้งอยู่บนเส้นทางคมนาคม (และพัฒนาเป็นเส้นทางการค้า) ระหว่างดินแดนสองฝั่งโขง (แถวหลวงพระบาง-เวียงจัน) ไปจนถึงลุ่มสาละวินออกอ่าวเมาะตะมะ
และพัฒนาขึ้นมาเรื่อยจนมีขนาดชุมชนใหญ่ขึ้นจนกระทั่งประมาณ พ.ศ.๑๑๐๐ ได้มีปฏิสัมพันธ์กับอารยธรรมทวารวดีในแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ช่วงหลัง พ.ศ.๑๕๐๐ ละโว้ได้แผ่อำนาจเข้ามาพร้อมกับอารยธรรมขอม ดินแดนแถบนี้ได้กลายเป็นเครือข่ายอำนาจทางการเมืองและการค้าของละโว้ บรรดาชนชั้นนำอันได้แก่พวกพวกเจ้าตระกูลใหญ่ในแถบนี้ล้วนมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับสองฝั่งโขงบริเวณที่ปัจจุบันคือ เชียงแสน หลวงพระบาง เวียงจัน และยังคงความสัมพันธ์กับละโว้อีกด้วย
ปัจจุบันมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์ อักษรให้ทราบประวัติศาสตร์สุโขทัยย้อนไปได้ถึงประมาณ พ.ศ.๑๗๐๐ รวมทั้งหลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ อีกมากมาย แต่ยังไม่เพียงพอที่จะสรุปประวัติศาสตร์สุโขทัยให้แน่ชัดลงไปได้ ทำให้มีข้อถกเถียงในประวัติศาสตร์สุโขทัยอยู่มาก

เลยได้ลองรวบรวมบท วิเคราะห์จากนักวิชาการหลายๆ ท่านมาสรุปให้เห็นถึงลำดับของเจ้าผู้ครองนครดู เนื่องจากมีความสับสนอยู่มาก อาจจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นบ้าง

และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ความรู้และข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์จากสมาชิกเรือนไทยที่ทรงความรู้ทางประวัติศาสตร์ เพื่อเพิ่มพูนความรู้รวมทั้งปรับปรุงและแก้ไขข้อผิดพลาดให้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น


บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 19 ต.ค. 09, 11:26

ลำดับกษัตริย์ที่เป็นที่นิยมกันครับ
อยู่บนแนวคิดประวัติศาสตร์กระแสหลักว่าอาณาจักสุโขทัยมีความเป็นปึกแผ่นพอสมควร และมีการสืบทอดอำนาจเป็นเส้นตรง

ลำดับกษัตริย์มักจะคล้ายคลึงกันโดยเรียงไปตามลำดับดังนี้

พระนาม                                         ครองราชย์             สิ้นสุดครองราชย์

***ราชวงศ์ศรีนาวนำถุม***
๑.พ่อขุนศรีนาวนำถม                               -                               -       
๒.ขอมสบาดโขลญลำพง *ชิงเมือง*              -                               -        (บางตำราไม่นับ)
๓.กมรเต็งอัญศรีอินทรบดินทราทิตย์               -                               -        (บางตำราไม่นับ)
  (พ่อขุนผาเมือง)

***วงศ์พระร่วง***
๔.พ่อขุนศรีอินทราทิตย์                             -                               -
๕.พ่อขุนบานเมือง                                   -                        พ.ศ.๑๘๒๒
๖.พ่อขุนรามราช (รามคำแหง)                 พ.ศ.๑๘๒๒                  พ.ศ.๑๘๔๑
๗.พระยาไสสงคราม                                -                               -             (บางตำราไม่นับ)
๘.พระยาเลอไท                                     -                               -
๙.พระยางั่วนำถุม                                    -                        พ.ศ.๑๘๙๐
๑๐.พระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไท)            พ.ศ.๑๘๙๐                พ.ศ.๑๙๑๑-๒๒     
๑๑.พระมหาธรรมราชาที่ ๒                   พ.ศ.๑๙๑๑-๒๒                    -
๑๒.พระมหาธรรมราชาที่ ๓ ไสลือไท              -                         พ.ศ.๑๙๖๒     
๑๓.พระมหาธรรมราชาที่ ๔ บรมปาล         พ.ศ.๑๙๖๒                   พ.ศ.๑๙๘๑

ส่วนศักราชนั้นยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แต่ที่พอจะยอมรับร่วมกันทุกฝ่ายคือ
พ่อขุนรามคำแหง ครองราชย์ พ.ศ.๑๘๒๒ อันเป็นปีที่ทรงปลูกต้นตาล ตามธรรมเนียมไทโบราณ (เทียบกับไทอาหม)
ส่วนปีสวรรคตคือ พ.ศ.๑๘๔๑ ตามจดหมายเหตุจีน

ส่วนนอกนั้นที่พอระบุได้ก็มีตามตารางด้านบนที่เป็นศักราชที่ได้รับการยอมรับกว้างขวาง ส่วนที่เว้นไว้คือยังถกเถียงกันอยู่
บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 19 ต.ค. 09, 11:31

การปกครองของสุโขทัยยังไม่ได้พัฒนาเป็นระบบรวมศูนย์ แบบอาณาจักร (เช่น อยุธยาสมัยพระบรมไตรโลกนาถ (ในทางทฤษฎี ในทางปฏิบัติคือสมัยพระนเรศวร))

ดังนั้นความสัมพันธ์จึงเป็นลักษณะ นครรัฐระบบเครือญาติ ถ้ากษัตริย์สุโขทัยมีบารมีและพระปรีชาสามารถก็จะมีเมืองยอมอ่อนน้อม สวามิภักดิ์หรือเป็นพันธมิตรอยู่มาก

ภายหลังพ่อขุนรามคำแหงสวรรคต บ้านเมืองก็แตกแยกออกไป ไม่เข้มแข็งเท่าเดิม และคงเป็นลักษณะนี้ไปเรื่อยจนพระยาฦๅไทยทรงยกทัพจากนครศรีสัชนาลัยเข้ายึด เมืองสุโขทัย
และกรีฑาทัพเข้าตีนครต่างๆ ในบริเวณภาคกลางตอนบนกลับเข้ามาไว้ในอำนาจได้อีกครั้ง (ตก ถึง จ.ตาก เหนือ ถึง จ.แพร่ จ.น่าน ใต้ ถึง จ.นครสวรรค์)
แต่เมื่อบุกไปทางลุ่มน้ำป่าสักซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของอยุธยา ทำให้อยุธยาตอบโต้จนเข้ามายึดสองแควไว้ได้
และทำให้อยุธยาเข้ามามีบทบาทในสุโขทัยตั้งแต่นั้น กอปรกับความมิได้เป็นอันอันเดียวกันของหัวเมืองเหนือ
ดัง นั้นภายหลังการสวรรคตของพระยาฦๅไทย เมืองเหนือจึงเป็นจลาจลและมีการตั้งตนเป็นใหญ่กันหลายนคร จนเกิดความสับสนในแง่ประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก
เพราะขนาดเมื่อบ้านเมืองเป็นปึกแผ่น ยังหาหลักฐานที่จะลำดับเหตุการณ์ได้ยากยิ่งเลย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 19 ต.ค. 09, 11:44

ดิฉันก็เรียนมาตำราเดียวกับคุณละค่ะ     ยังไม่รู้มากกว่านี้  ขอเป็นฝ่ายฟังไปก่อน 
เผื่อจะมีท่านที่ตอบได้   แวะเข้ามาให้ความรู้บ้าง
คุณ Crazy HOrse ก็สนใจเรื่องสุโขทัยอยู่มาก  อาจตอบได้ดีกว่าดิฉัน
บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 19 ต.ค. 09, 11:49

*****ราชวงศ์ศรีนาวนำถุม*****
{พ.ศ.๑???-๑๗??}           -พ่อขุนศรีนาวนำถุม
                                           มีโอรสคือ พ่อขุนผาเมือง ซึ่งกษัตริย์ขอมให้นามว่า (กมรแดงอัญ) ศรีอินทรบดินทราทิตย์
                                            พร้อมทั้งขรรค์ชัยศรีและนางสุขรมหาเทวีพระธิดา
                                            ต่อมายกนามนี้ให้ พ่อขุนบางกลางหาว พระสหาย

                                            มีเชื้อวงศ์คือ พระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนี เป็นโอรส พระยาคำแหงพระราม เจ้าเมืองสระหลวงสองแคว
                                            พระมหาเถรมีศักดิ์เป็นหลานพ่อขุนผาเมือง โดยก่อนผนวชท่านเคยร่วมรบในกองทัพของพระยาเลอไทย
                                        

{พ.ศ.๑๗??-๑๗??}           *ขอมสบาดโขลญลำพง (ชิงเอาเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัย)
                                             สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นพระญาติจากละโว้ มาชิงเมืองเพราะสุโขทัยไปผูกมิตรกับมอญ (ทางออกทะเล)
                                             และรับเถรวาทแทนมหายาน-วัชรยาน

บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 19 ต.ค. 09, 11:52

*****ราชวงศ์พระร่วง*****
{พ.ศ.๑๗๙๒?-?ฮืม}        -พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (พ่อขุนบางกลางหาว)
                                             ร่วมกับพระสหายพ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราดชิงศรีสัชนาลัยสุโขทัยคืน พ่อขุนผาเมืองให้ครองเมืองพร้อมทั้งมอบนามให้
                                             สันนิษฐานกันว่าอาจจะเป็นพี่เขยหรือน้องเขยของพ่อขุนผาเมืองด้วย (มเหสีคือนางเสือง)
{พ.ศ.ฮืม?-๑๘๒๒}          -พ่อขุนบาลเมือง
                                              โอรสพ่อขุนศรีอินทราทิตย์
{พ.ศ.๑๘๒๒-๑๘๔๑}       -พ่อขุนรามราช (รามคำแหง)
                                              โอรสพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ อนุชาพ่อขุนบาลเมือง ได้รับการยกย่องมากที่สุดในราชวงศ์พระร่วง
          
            อาจมีผู้สำเร็จราชการคั่น ได้แก่ ไสส(รีณรงคส)งคราม ( (...)-สันนิษฐานเนื่องจากจารึกขาดหาย)                  
                     สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นโอรสพ่อขุนบาลเมืองกับเจ้าหญิงราชวงศ์ศรีนาวนำถุม (ไส แปลว่า ลูกชายคนที่สี่)

{พ.ศ.๑๘๔๑-๑๘๘๓?}      -พระยาเลอไทย
                                              โอรสพ่อขุนรามราช (อาจจะสละราชสมบัติไปผนวช)
{พ.ศ.๑๘๘๓?-๑๘๙๐}      -พระยางั่วนำถม
                                              สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นโอรสพ่อขุนบาลเมืองกับเจ้าหญิงราชวงศ์ศรีนาวนำถุม
                                              (งั่ว แปลว่า ลูกชายคนที่ห้า นำถุม แปลว่าน้ำท่วม)
                                              พระองค์น่าจะเป็นอนุชาของ ท่านไสส(รีณรงคส)งคราม
                                              และอาจเป็นองค์เดียวกับ พระเจ้าอุทกโชตถตะ รวมทั้งเจ้าของตำนานพระร่วงจมน้ำ

(มีจารึกกล่าวถึง พ่อขุนรามพล มีการสันนิษฐานว่าอาจเป็นช่วงรัชกาลนี้ โดยเป็นพระอนุชาของพระยาฦๅไทย)

{พ.ศ.๑๘๙๐-๑๙๑๓?(-๑๗?)}  -พระยาศรีสูรยพงศราม มหาธรรมราชาธิราช (พระยาฦๅไทย (ลือไทย) หรือ ลิไทย (มาจากภาษาบาลี ลิเทยฺย))
                                           น่าจะเสวยราชย์ศรีสัชนาลัยตั้งแต่ พ.ศ.๑๘๘๓
                                           ยกทัพเข้ายึดสุโขทัยและปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ พ.ศ.๑๘๙๐
                                          ไปประทับที่สองแคว (ต่อมาคือพิษณุโลก) ระหว่าง พ.ศ.๑๙๐๕-๑๙๑๒

********************************************

บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 19 ต.ค. 09, 11:55

*****ช่วงสับสนทางประวัติศาสตร์เนื่องจากการแทรกแซงของอยุธยา และความแตกแยกภายใน*****

*พระมหาเทวี พระขนิษฐาพระยาฦๅไทย
    ครองสุโขทัยระหว่าง พ.ศ.๑๙๐๕-๑๙๑๒ ช่วงที่พระยาฦๅไทยไปครองสองแคว
    และอาจได้ครองสุโขทัยหลังพระยาฦๅไทยสวรรคตจนถึงก่อน พ.ศ.๑๙๒๒*

*พระยาศรีเทพาหูราช (...บุญพี่อ้ายท่านพระศรีราชเอารสเจ้าเมืองสุโขทัยนี้...)
    มีการสันนิษฐานว่าเป็นพระโอรสของพระขนิษฐาพระยาฦๅไทย โดยอาจจะมีขุนหลวงพ่องั่วเป็นพระราชบิดาก็เป็นได้
    อาจเป็นพระบิดาของเจ้านครอินทร์ (พระร่วงไปจีน) ซึ่งได้ครองราชย์อยุธยา พ.ศ.๑๙๕๒-๑๙๖๗ (บางท่านเสนอว่าเป็นเจ้านครอินทร์เองเลยทีเดียว)
    น่าจะได้ครองสุโขทัยต่อจากพระมารดา ระหว่าง ก่อน พ.ศ.๑๙๒๒-๑๙๓๑ โดยอาจจะได้ไปครองเมืองกำแพงเพชรแทน (เมืองใหม่ตรงข้ามนคร(พระ)ชุมของสุโขทัย)*

*มหาธรรมราชาผู้ลูก (ลูกของพระยาฦๅไทย) ครองสุโขทัย
    พระมารดาชื่อ ศรีธรรมราชมาดา พระมเหสีชื่อ ศรีจุฬาลักษณ (น่าจะเป็นวงศ์สุพรรณภูมิ)
   โอรสชื่อ รามราชา (อาจเป็น มหาธรรมราชาผู้หลาน อีกองค์หนึ่ง) และ อโศก (ศรีธรรมาโศกราช)*
     น่าจะประสูติ พ.ศ.๑๙๐๑?
     จารึกว่าได้เสวยราชย์เมื่ออายุ ๑๖
      ออกรบได้ดินแดนกว้างขวางเมื่ออายุ ๓๘
      สวรรคต พ.ศ.๑๙๕๒ (น่าจะผนวชในปลายพระชนม์ชีพ)

*น่าจะมีมหาธรรมราชผู้ลูกองค์อื่นอีก*

*มหาธรรมราชาผู้หลาน (หลานของพระยาฦๅไทย) คือ พระยาไสฦๅไทย (ไสลือไทย) 
    พระมารดาอาจชื่อ ศรีธรรมราชมาดา พระบิดาชื่อ พ่องำเมือง หรือ พ่อเลอไทย (คนหนึ่งเป็นพ่อ อีกคนเป็นอาหรือลุง แต่จารึกใช้พ่อหมด)
    พระมารดาและพระอัยยิกา (ยาย) น่าจะมีเชื้อวงศ์กาวน่าน (น่าน)
    ในปี พ.ศ.๑๙๓๕ ทรงทำสนธิสัญญาพันธมิตรกับกษัตริย์น่าน
    ในปี พ.ศ.๑๙๔๕ ไปช่วยท้าวยี่กุมกามรบกับเชียงใหม่*
   

*อาจจะมีมหาธรรมราชผู้หลานองค์อื่นอีก*

*มหาธรรมราชาเมืองชากังราว (ชากังราวไม่ใช่กำแพงเพชร แต่อยู่ลุ่มน้ำน่านแถวอุตรดิตถ์) น่าจะมีเชื้อวงศ์กาวน่าน
    อาจจะเป็นพระยาคำแหงที่รบกับขุนหลวงพ่องั่ว และเป็นมหาธรรมราชาที่ออกถวายบังคมขุนหลวงพ่องั่วเมื่อ พ.ศ.๑๙๒๑
    เชื้อสายของท่านอาจจะได้แก่ พระยาไสฦๅไทย*

********************************************
บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 19 ต.ค. 09, 11:59

{พ.ศ.๑๙๖๒-๑๙๘๑?}        -พระยาศรีสุริยวงศบรมปาล มหาธรรมราชาธิราช (พระยาบาล) เสวยราชย์ ณ เมืองสองแคว
                                           พระยาบาลน่าจะเป็นโอรสของ มหาธรรมราชาผู้ลูกหรือผู้หลานองค์ใดองค์หนึ่งซึ่งน่าจะเป็นผู้ครองสองแคว
                                           พระมารดาคือ พระศรีธรรมราชมาดา (แม่นางษาขา)
                                           มีพระพี่หรือน้องนางเป็นชายาของเจ้าสามพญา (พระมารดาพระบรมไตรโลกนาถ)
                                           พระยาบาลประสูติเมื่อ พ.ศ.๑๙๓๔

                                        *ในรัชสมัยนี้มีหลักฐานอยุธยาว่าแบ่งเมืองออกเป็น ๔ ขึ้นต่ออยุธยา
                                              คือ สองแคว (พระยาบาล)
                                                   สุโขทัย (พระยาราม อาจเป็นอนุชา พระยาบาล หรือคือ รามราชา โอรส มหาธรรมราชาผู้ลูก ที่มีอนุชาคือ อโศก
                                                    ทั้งยังอาจเป็นทั้งสองประการเลยก็ได้)
                                                   เชลียง(ศรีสัชนาลัย) (พระยาเชลียง และ พระยาศรียศราช โอรสได้ครองสืบต่อ))
                                                   กำแพงเพชร (พระยาแสนสอยดาว ใกล้ชิดกับอยุธยามากที่สุด)

***รัชสมัยสมเด็จพระนครินทราธิราช (เจ้านครอินทร์)***
พระองค์ คือพระร่วงไปจีน เพราะน่าจะมีพระราชมารดาเป็นวงศ์พระร่วง และอาจเป็นพระโอรสของ พระศรีเทพาหูราช หรือเป็นองค์เดียวกับพระศรีเทพาหูราชก็เป็นได้

{พ.ศ.๑๙๖๒?-๑๙๖๗}  -เจ้าสามพญาโอรสเจ้านครอินทร์ โดยพระมารดาน่าจะเป็นวงศ์พระร่วง ไปครองชัยนาถ (เมืองพิษณุโลกฝั่งวังจันทร์)
                                โดยมีพระยาบาล (พี่หรือน้องของพระชายาเจ้าสามพญา) เป็นมหาธรรมราชาครองสองแคว (พิษณุโลกฝั่งพระมหาธาตุ)

***รัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพญา)***

{พ.ศ.๑๙๗๔}            -พระราชเทวีในเจ้าสามพญา(ผู้เป็นพระพี่หรือน้องนางของพระยาบาล)ประสูติพระ ราเมศวร(พระบรมไตรโลกนาถ)ที่ทุ่งพระอุทัย(หันตรา)
                                ขณะไปส่งเสด็จเจ้าสามพญายกทัพไปตีพระนคร (ขอม)
{พ.ศ.๑๙๘๑ ?-๑๙๙๑}  -พระราเมศวร (พระบรมไตรโลกนาถ) และพระราชมารดาอาจจะได้ไปครองชัยนาถ (เมืองคู่แฝดของสองแควก่อนรวมเป็นพิษณุโลก)        
                                โดยอาจมีพระยายุธิษฐิระครองเมืองอยู่ฝั่งสองแคว
                                ตามเอกสารล้านนากล่าวว่าพระบรมไตรโลกนาถสัญญากับพระยายุธิษฐิระว่าเมื่อได้ครองอยุธยา จะตั้งพระยายุธิษฐิระเป็นพระมหาอุปราชครองเมืองเหนือ
                                 แต่ในความเป็นจริงมิได้ทรงทำตามสัญญา พระยายุธิษฐิระจึง "ย่างยาว" (แปรพักตร์ไปเข้ากับเชียงใหม่)
บันทึกการเข้า
manit peuksakondh
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 19 ต.ค. 09, 12:02

เป็นข้อมูลที่น่าสนใจครับ ขอรอฟังผลสรุปจากบรรดาท่านผู้ทำงานทางด้านนี้ก่อนนะครับ แล้วจะเก็บไว้เป็นข้อมูลอ้างอิงครับ
มานิต
บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 19 ต.ค. 09, 12:03

**************ถูกอยุธยาผนวก**************

{พ.ศ.๑๙๘๑?-๑๙๙๔}     -พระยายุธิษฐิระ (ถูกเรียกว่า "พระร่วง" เป็นองค์สุดท้าย) เป็นเจ้าเมืองสองแคว
                                    น่าจะเป็นพระโอรสของพระยาบาล ไม่ก็อาจเป็นพระโอรสของพระยารามก็ได้
{พ.ศ.๑๙๙๑-๑๙๙๔}      -พระราชมารดาในพระบรมไตรโลกนาถอาจจะครองฝั่งชัยนาถ ขณะที่พระยายุธิษฐิระครองฝั่งสองแคว
{พ.ศ.๑๙๙๔}                -พระยายุธิษฐิระ หนีไปเข้ากับพระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ ในฐานะ "ลูกพระเปนเจ้า" (โอรสบุญธรรม)
                                  ได้เป็น เจ้าสี่หมื่น ครองเมืองพะเยา (ต่อมาได้ครองเมือง แพร่ งาว กาวน่าน (น่าน) เพิ่มด้วย)
{พ.ศ.๒๐๐๔}                 -พระยาเชลียงเอาเมืองไปสวามิภักดิ์กับเชียงใหม่
{พ.ศ.๒๐๐๕}                 -เมืองนครไทยเอาครัวหนีไปน่าน (พระยายุธิษฐิระครองอยู่) แต่อยุธยาให้พระกลาโหมมาตามกลับไปได้
{พ.ศ.๒๐๑๙?(-๒๖?)}       -พระยายุธิษฐิระ รามราชิสสรบรมสูรวงศ คงได้สถาปนาตนเองเป็น สมเด็จพระราชาอโสกราช
                                   ซึ่งน่าจะทำให้พระติโลกราชไม่พอใจจึงถูกปลดและไปอยู่เชียงใหม่ในฐานะ ลูกพระเป็นเจ้า
                                       พระองค์มีเชื้อสายต่อมาได้แก่ หมื่นหน่อเทพครู

*****วงศ์สุพรรณภูมิเข้าปกครอง*****
{พ.ศ.๑๙๙๔?-๒๐๐๖}      -พระราชมารดาพระบรมไตรโลกนาถครองสองแควจนสวรรคต พระนางเป็นพระพี่หรือพระน้องนางของ พระยาบาล
{พ.ศ.๒๐๐๖-๒๐๓๑)}       พระบรมไตรโลกนาถขึ้นมาครองสองแคว
                                   ทรงรวมฝั่งสองแคว (มีพระมหาธาตุ) และฝั่งชัยนาถ (มีวังจันทร์) เข้าเป็นเมืองพิษณุโลก
{พ.ศ.๒๐๓๑-๒๐๓๔}       -สมเด็จพระมหาอุปราช พระเชษฐาธิราช ครองพิษณุโลกปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือ
                                   ทรงเป็นพระโอรสพระบรมไตรโลกนาถ พระมารดาน่าจะเป็นวงศ์พระร่วง
                                   ได้ครองอยุธยาต่อจากพระบรมราชาธิราช (ที่ ๓) ซึ่งเป็นพระเชษฐาในปี พ.ศ.๒๐๓๔ พระนามสมเด็จพระรามาธิบดี (ที่ ๒)
{พ.ศ.๒๐๖๘-๒๐๗๒}       -หน่อพุทธางกูร พระอาทิตย ได้เป็นมหาอุปราชครองพิษณุโลก
                                    น่าจะทรงเป็นพระราชโอรสในพระบรมราชาธิราช (ที่ ๓) ไม่ก็พระรามาธิบดี (ที่ ๒)
                                    เสวยราชย์อยุธยาต่อจากพระราชบิดา ทรงพระนาม สมเด็จบรมราชาหน่อพุทธางกูร
{พ.ศ.๒๐๗๒-๒๐๗๗}       -พระไชยราชาธิราช น่าจะได้เป็นพระมหาอุปราชครองพิษณุโลก และน่าจะเป็นพระราชโอรสในพระรามาธิบดี (ที่ ๒)
                                    ทรงยกทัพมาเอาราชสมบัติอยุธยาจากพระโอรสของหน่อพุทธางกูร พ.ศ.๒๐๗๗
{พ.ศ.๒๐๘๑}                -ประหารชีวิตพระยานารายณ์เจ้าเมืองกำแพงเพชร โทษฐานกบฏ
{พ.ศ.๒๐๗๗-๒๐๙๑}        -ขุนพิเรนทรเทพ บิดาเป็นเชื้อวงศ์พระร่วง มารดาเป็นเชื้อวงศ์พระไชยราชาธิราช (สุพรรณภูมิ)
                                     ท่านอาจได้เป็นพระยาพิษณุโลกในระหว่างนี้
{พ.ศ.๒๐๘๘-๘๙}           -พระยาพิษณุโลก (อาจจะเป็น ขุนพิเรนทรเทพ) เป็นแม่ทัพหน้าในการยกทัพขึ้นไปตีเชียงใหม่ทั้งสองครั้ง

*****ราชวงศ์พระร่วงเจ้ารุ่งโรจน์อีกครา*****
{พ.ศ.๒๐๙๑-๒๑๑๒}
{พ.ศ.๒๐๙๑}                  -ขุนชินราช (วรวงศาธิราช) จะให้เจ้าหัวเมืองเหนือทั้ง ๗ ลงมาผลัดเปลี่ยนกับขุนนางกรุงเพราะเห็นว่ากระด้างกระเดื่อง
                                    ขุนพิเรนทรเทพ กบฏฆ่าขุนชินราช
                                     อัญเชิญพระเทียรราชา (น่าจะเป็นโอรสพระรามาธิบดี (ที่ ๒)) ขึ้นครองอยุธยาพระนาม สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
                                    โดยได้รับบำเหน็จสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์ที่ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ครองเมืองพิษณุโลก
                                    อีกทั้งได้รับพระราชทานพระราชธิดา พระสวัสดิราช เป็นอัครมเหสีเมืองพิษณุโลกทรงพระนาม พระวิสุทธิกษัตริย์
                                    พระมหาธรรมราชาไปเข้ากับพระเจ้าชนะสิบทิศกรุงหงสาวดี โดยยอมอ่อนน้อมในสงครามช้างเผือก พ.ศ.๒๑๐๖
                                    และได้ไปครองอยุธยาแทนวงศ์สุพรรณภูมิในคราวเสียกรุง พ.ศ.๒๑๑๒
{พ.ศ.๒๑๑๔-๒๑๒๗}         พระนเรศ (นเรศวร) ไปเสวยราชย์เมืองพิษณุโลก
{พ.ศ.๒๑๒๗}                   ให้เทครัวหัวเมืองเหนือทั้ง ๗ มายังแถบอยุธยาเพื่อเป็นกำลังรับศึก และไม่ให้พม่าได้ประโยชน์จากเมืองเหนือ
{พ.ศ.๒๑๓๕}                   ให้ฟื้นหัวเมืองเหนือขึ้นอีกครั้ง แต่ไม่ได้เป็นแคว้นกษัตริย์ หรือเมืองพระมหาอุปราชอีกต่อไป
บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 19 ต.ค. 09, 12:05

*****ท่าน ไสส......งคราม จารึกขาดหาย จึงมักเติมกันไว้เพียง ไสส(ส)งคราม*****

แต่ ศ.ประเสริฐ ณ นคร เคยเสนอไว้ว่า ดูช่องว่างที่ขาดหายแล้วอาจเป็น ไสส(รีณรงคส)งคราม ก็ได้
โดยเทียบกับ พระยาศรีไสยณรงค์ เนื่องจากอยุธยาริบเอาราชทินนามสุโขทัยไปใช้อยู่หลายชื่อ (หรืออาจซ้ำกันโดยมิเจตนาก็ได้) เช่น ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ (ตำแหน่งนี้คงริบจากสุโขทัยแน่นอน) พระรามคำแหง พระ(ขุน)อินทราทิตย์
และราชทินนามของเจ้าเมืองในอยุธยามักลงท้ายด้วยสงคราม

เรื่องเมืองชากังราวนั้น คนทั่วไปเข้าใจกันว่าคือกำแพงเพชร
แต่อาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์เสนอว่าอยู่แถวลุ่มน้ำน่าน ซึ่งเหตุผลนั้นน่าเชื่อถือมากทีเดียว
สุดท้ายก็เป็นไปตามสไตล์ไทยๆ ไม่มีการสานต่องาน บทสรุปมันก็ค้างเติ่งกันต่อไป ๕๕๕
บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 19 ต.ค. 09, 12:09

ถ้าศึกษาดูจากจารึกและพงศาวดาร รวมถึงคัมภีร์ทางศาสนาและตำนานต่างๆ จะสังเกตได้ว่าหลังการสวรรคตของ พระยาฦๅไทย ซึ่งต่อไปนี้ขอใช้ ลิไทย เพราะเป็นที่รู้จักมากกว่า
บรรดาหัวเมืองต่างๆ น่าจะมีการตั้งตนเป็นใหญ่ตามธรรมเนียมนครรัฐโบราณ อีกทั้งยังมีการแทรกแซงจากฝ่ายอยุธยาเมืองใต้อีกด้วย โดยตามหลักฐานจะมีการกล่าวถึงผู้อ้างความเป็นใหญ่หลายคน
กอปรกับหลักฐานไม่มีความชัดเจนทำให้การตีความและประมวลผลเป็นไปด้วนความยากลำบาก ซึ่งได้สรุปไว้ใน คคห.ในหัวข้อกระทู้ของผมแล้ว แต่จะลงรายละเอียดเพิ่มขึ้นอีกสักหน่อย

พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ
" ศักราช ๗๓๓ กุนศก (พ.ศ. ๑๙๑๔) สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า เสด็จไปเอาเมืองเหนือ และได้เมืองเหนือทั้งปวง

ศักราช ๗๓๔ ชวดศก (พ.ศ. ๑๙๑๕) เสด็จไปเอาเมืองนครพังค่า และเมืองแสงเชรา ได้เมือง

ศักราช ๗๓๕ ฉลูศก (พ.ศ. ๑๙๑๖) เสด็จไปเมืองชากัง(ราวและพระยา)ใสแก้วและพระยาคำแหง เจ้าเมืองชากังราวออกต่อรบท่าน ๆ (ได้ฆ่าพระยา)ใสแก้วตาย และพระยาคำแหงและพลทั้งปวงหนีเข้าเมืองได้ และทัพ(หลวง)เสด็จกลับคืนมา

ศักราช ๗๓๗ เถาะศก (พ.ศ. ๑๙๑๘) เสด็จไปเอาเมืองพิษณุโลก และได้ตัวขุนสามแก้วเจ้าเมืองและครัว(อพ)ยพมาครั้งนั้นมาก

ศักราช ๗๓๘ มะโรงศก (พ.ศ. ๑๙๑๙) เสด็จไปเอาเมือง(ชากังราว)เล่า ครั้งนั้นพระยาคำแหงและท้าวผ่าคอง คิดด้วยกันว่าจะยอทัพ(หลวง และจะ)ทำมิได้ และท้าวผ่าคองเลิกทัพหนี และจึงเสด็จทัพหลวงตาม และท้าวผ่าคองนั้นแตก และจับได้ตัวท้าวพระยาและกสนาขุนหมื่นครั้งนั้นมาก และทัพหลวงเสด็จกลับคืน

ศักราช (๗๔๐) มะเมียศก (พ.ศ. ๑๙๒๑) เสด็จไปเอาเมืองชากังราวเล่า ครั้งนั้นมหาธรรมราชาออกรบทัพหลวงเป็นสามารถ และเห็นว่าจะต่อด้วยทัพหลวงมิได้ จึงมหาธรรมราชาออกถวายบังคม

ศักราช ได้ ๗๕๐ มะโรงศก (พ.ศ. ๑๙๓๑) เสด็จไปเอาเมืองชากังราวเล่า ครั้งนั้นสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าทรงพระประชวรหนัก และเสด็จกลับคืน ครั้นเถิงกลางทาง สมเด็จพระบรมราชาเจ้านฤพาน... "

ในแนวรบด้านนี้ มีการออกนาม พระยาสามแก้ว พระยาไสแก้ว ซึ่งคงเป็นพี่น้องกัน (สาม ไส(แปลว่า สี่)) คนพี่ถูกจับ คนน้องตาย เหลือแต่พระยาคำแหงที่ไปตั้งมั่นอยู่ที่ชากังราว
และคงได้สถาปนาตัวเอง เป็น "มหาธรรมราชา" ที่เมืองชากังราวนี้ โดยน่าจะมีญาติฝ่ายหญิงเป็นราชวงศ์กาวน่าน (น่าน) เพราะได้พระยาผากอง (ครองราชย์ ๑๙๐๔-๑๙๒๙) เจ้าเมืองน่านยกทัพมาช่วยโดยตลอด

ดังนั้นมหาธรรมราชาเมืองชากังราวนี้น่าจะเป็นบรรพบุรุษหรือญาติสนิทของ พระยาไสลือไทย เพราะตามศิลาจารึกหลักที่ ๔๕ ในปี พ.ศ.๑๙๓๕ พระยาไสลือไทยทำการสบถเป็นพันธมิตรกับเจ้าเมืองน่าน
โดยพระยาไสลือไทยเรียกพระยาคำตันเจ้าเมืองน่านว่าปู่ และพระยาไสยลือไทยเป็นหลาน พระยาคำตันนี้เป็นลูกพระยาผากอง ครองราชย์ ๑๙๒๙-๑๙๓๙

นอกจากสายน่านแล้ว ยังมีสัมพันธ์กับฝ่ายเชียงใหม่ด้วย โดยพระยากือนาเคยให้พระยาอ้ายออนเจ้าเมืองเชียงตุงมาช่วยรบประมาณ พ.ศ.๑๙๑๖

น่าจะประมาณปี ๑๙๓๑ ที่อยุธยาขึ้นไปตีชากังราวนั้น ฝ่ายล้านนากล่าวว่าเจ้าเมืองสุโขทัยมาขอขึ้นกับเชียงใหม่ ขอทัพพระยาแสนเมืองมาไปช่วย
แต่เนื่องจากพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพ่องั่ว) สวรรคตเสียก่อน ทัพสุโขทัยจึงกลับใจเข้าตีทัพเชียงใหม่จนแตกพ่าย

ต่อมาพระยาแสนเมืองมาสิ้น พ.ศ.๑๙๔๔ เจ้าสามฝั่งแกนได้ครองเชียงใหม่ ท้ายยี่กุมกามพี่ต่างมารดาไม่พอใจยกจากเชียงรายมาตีแต่ไม่สำเร็จต้องหนีไป พึ่งพระยาไส้ลือ (ไสลือไทย) ที่เมืองสุโขทัย
ปี ๑๙๔๕ พระยาไสลือไทยยกทัพไปตีเชียงใหม่ให้ท้าวยี่กุมกามแต่ไม่สำเร็จ

ที่เสนอใน คคห.นี้คือวงศ์พระร่วงสายน่านอันได้แก่ พระยาสามแก้ว ไสแก้ว พระยาคำแหง (มหาธรรมราชาเมืองชากังราว?) และ มหาธรรมราชาผู้หลาน (ไสลือไทย)
บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 19 ต.ค. 09, 12:10

ส่วนฝ่ายพระมหาเทวี พระขนิษฐาของพระยาลิไทยก็ได้หลักฐานมาจากฝ่ายล้านนา
ว่าได้ครองสุโขทัยแทนพระเชษฐา ระหว่าง ๑๙๐๕-๑๙๑๒
และมีการสันนิษฐานว่าพระมหาเทวีในจารึก (ซึ่งความไม่สมบูรณ์นัก) อาจแสดงว่าพระนางได้ครองสุโขทัยต่อหลังพระยาลิไทยสวรรคต

โดยนำไปเชื่อมกับเรื่องพระยาญาณดิศนำมารดาไปถวายแด่ขุนหลวงพะงั่ว โดยเสนอว่าพระมารดาคือพระขนิษฐาพระยาลิไทย และโยงว่าพระยาญาณดิศนั้นคือ
พระยาศรีเทพาหูราช ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นโอรสของขุนหลวงพะงั่วกับพระมหาเทวี??? โดยพยายามโยงจารึกและเอกสารฝ่ายล้านนามาอธิบาย
แต่ยังเป็นเพียงข้อสันนิษฐาน

***ส่วนที่มีหลักฐานคือ พระยาศรีเทพาหูราชได้เป็นเจ้าเมืองสุโขทัยประมาณ พ.ศ.๑๙๒๗ โดยขอให้ พ่อนมไสดำ สามี แม่นมเทด สึกออกมาช่วยราชการ แสดงว่าสถานการณ์บ้านเมืองคงวุ่นวายนัก***

มีการวิเคราะห์ว่าพระองค์ได้สละสุโขทัยแล้วไปครองกำแพงเพชรหลังขุนหลวงพ่องั่วสวรรคต เพื่อเสริมสร้างพันธมิตรให้เข้มแข็ง
เนื่องจากเจ้าทองลันโอรสพ่องั่วได้ครองอยุธยาเพียง ๗ วัน ก็ถูกพระราเมศวรยกทัพจากลพบุรีมาชิงเมืองได้

แนวคิดนี้ยังขาดหลักฐานอยู่มาก ไม่ค่อยแพร่หลายนักครับ
บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 19 ต.ค. 09, 12:12

สุดท้ายมหาธรรมราชาผู้ลูก หรือที่ประวัตืศาสตร์กระแสหลักมักเรียกว่า มหาธรรมราชาที่ ๒

ทรงเป็นพระราชโอรสของพระยาลิไทย กับ สมเด็จพระศรีมหาธรรมราชมาดา (เป็นตำแหน่งพระชนนีของสมเด็จมหาธรรมราชาธิราช)

จารึกวัดบูรพารามและวัดอโสการามได้พรรณนาเรื่องราวของพระองค์ไว้

อายุได้ ๑๖ ปี "ทรงต่อรูปโฉมพรรณาภา จบสรรพกลาศาสตร์ ปราชญ์แกล้วหาญชาญในมูรฒรณรงค์"
แล้วได้ขึ้นเสวยราชย์เป็นพระยาเมื่ออายุ ๑๖ นั้นเอง

ปัญหาอยู่ตรงนี้แหละ จารึกว่าประสูติ พ.ศ.๑๙๑๑
และเมื่อท่านอายุได้ ๓๘ ได้ยกทัพตีหัวเมืองทั้งหลายกลับมาได้หมด

อายุ ๓๘ ก็ต้อง พ.ศ.๑๙๔๙ แต่จารึกกลับเป็น พ.ศ.๑๙๓๙
โดยจารึกนั้นเป็นจุลศักราช นี่เทียบมาให้แล้ว ซึ่งอาจจารึกผิด
แต่ก็ไม่น่าใช่เพราะมีจารึกทั้งภาษาไทยและบาลี เนื้อความและปีตรงกันเด๊ะ

อันนี้ก็มึนกันต่อไป ว่าพระองค์จะประสูติ ๑๙๐๑ หรือ ๑๙๑๑     
ครองราชย์ ๑๙๑๗ หรือ ๑๙๒๗     
พิชิตดินแดน ๑๙๓๙ หรือ ๑๙๔๙

บางท่านก็บอกว่าจารึกไม่ผิด แต่คนตีความผิดเอง ซึ่งความคิดนี้มันดันเข้าเค้าที่สุดซะด้วย
โดยแหวกแนวตีความว่าครองราชย์ ๑๙๑๑ คือให้อายุ ๑๖ ปี ๑๙๑๑
อายุ ๓๘ ปี ๑๙๓๓ เริ่มออกตีบ้านเมือง
พอปี ๑๙๓๙ ตามจารึก ก็พิชิตได้ราบคาบ
ซึ่งจากบริบทของจารึกมันตีความอย่างนี้ได้ด้วยน่ะสิ

อย่างไรก็ตามพระองค์สวรรคตเมื่อ พ.ศ.๑๙๕๒ โดยน่าจะทรงผนวชในปลายพระชนม์ชีพ จารึกว่า "พ่ออยู่หัวเสด็จเสวยพระผนวชบวช"

สมเด็จมหาธรรมราชาธิราช มีพระมเหสีคือ ราชเทวีศรีจุฬาลักษณ์ มีพระโอรส ๒ องค์ คือ พระยารามราชาธิราช (ราม) กับ ศรีธรรมาโศก (อโสก)
โดยจารึกว่า พระยาราม นี้ได้ครองกรุงสุโขทัยและมีจารึกบางหลักออกนามพระองค์ว่า มหาธรรมราชา
ดังนั้น พระยาราม นี้อาจเป็น มหาธรรมราชาผู้หลาน ท่านหนึ่ง รวมทั้งอาจเป็นพระยารามที่ได้ครองสุโขทัย ขณะที่ พระยาบาล (มหาธรรมราชาบรมปาล) ได้ครองสองแคว
บันทึกการเข้า
Bhanumet
ชมพูพาน
***
ตอบ: 199


Sleeping Red Lion


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 19 ต.ค. 09, 12:19

"...ศักราช ๗๖๒ (พ.ศ.๑๙๔๓) นาคนักษัตรปีมะโรง
สมเด็จพระราชชนนีศรีธรรมราชมาดา
มหาดิลกรัตนราชนาถกรรโลงแม่
และสมเด็จมหาธรรมราชาธิบดีศรีสุริยวงศ์(โอรส)ราช
อำนาจน้าวห้าวหาญนำพ(ล)รบรา
คลาธรณีดลสกลกษัตริย์
(หากขึ้นเสวยใน)มหามไหสวริยอัครราช
เป็นท้าวพระยามหากษัตริย์(นครศรีสัชนาลัย) สุโขทัย
แกวกลอยผลาญปรปักษ์ศัตรูนูพระราชสีมา..."

นี่ก็เป็นปัญหาครับว่าจะหมายถึงมหาธรรมราชผู้ลูก (มหาธรรมราชาที่ ๒) เพราะพระองค์สวรรคต พ.ศ.๑๙๕๒ และเมื่อก่อนหน้าจารึกนี้ ๔ ปี พระองค์ก็พึ่งออกไปพิชิตดินแดนมา (ดู คคห.๑๓)

หรือจะเป็น มหาธรรมราชาผู้หลาน (มหาธรรมราชาที่ ๓) หรือพระยาไสลือไทย เพราะพระองค์พึ่งไปสบถสาบานเป็นพันธมิตรกับน่านเมื่อ พ.ศ.๑๙๓๕ และอีกสองปีหลังจากจารึกนี้พระองค์ต้องไปตีเชียงใหม่ (ดู คคห.๑๑)

อีกทั้งในปี ๑๙๔๙ จะมี มหาธรรมราชาผู้หลาน กับ ศรีธรรมราชมาดา (ราชทินนามพระชนนี) มาระงับอธิกรณ์สงฆ์ที่ศรีสัชนาลัย
(ถ้าตีความจารึกวัดบูรพารามและวัดอโสการามว่า มหาธรรมราชาผู้ลูก ประสูติ ๑๙๑๑ พระองค์จะมีพระชนมายุ ๓๘ ในปี ๑๙๔๙ ซึ่งพระองค์น่าจะผนวชในปีนี้ เพราะโอรสคือพระยารามได้เป็น มหาธรรมราชาผู้หลานแล้ว จารึกว่าอายุ ๓๘ กระทำปรารถนาให้สมบูรณ์แล้ว จะแปลว่าตัดทางโลกเพื่อออกบวชได้หรือไม่?)

และปี ๑๙๕๕ จะมีชื่อขุนนางแบบอยุธยาคือ นายอินทสรศักดิ์ เรียกเจ้าเมืองสุโขทัยว่า
พ่ออยู่หัวเจ้า ธ ออกญาธรรมราชา ซึ่งเป็นการเรียกแบบขุนนางอยุธยา

เท่าที่รวบรวมแนวคิดของนักประวัติศาสตร์หลายท่าน ผมได้เกิดแนวคิดประหลาดๆ ของตัวเองขึ้นดังนี้
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.078 วินาที กับ 19 คำสั่ง