เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 8 9 [10] 11 12 ... 16
  พิมพ์  
อ่าน: 60686 ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 135  เมื่อ 05 พ.ย. 09, 15:31

สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์เกี่ยวกับเรื่องพระราชปฏิสันถารกับทูตต่างประเทศไว้ในเรื่อง อธิบายเรื่องราชทูตไทยไปยุโรป

ลักษณพระราชปฏิสัณฐารทูตก็มีแบบโบราณว่าทรงปฏิสัณฐาร ๓ นัดเปนธรรมเนียม แลเปนธรรมเนียมลงไปจนถึงข้อความของพระราชปฏิสัณฐาร คือดำรัสถามว่า พระเจ้าแผ่นดินฝ่ายโน้น กับทั้งพระราชวงศ์ทรงสบายดีอยู่หรือนัด ๑ ว่าทูตานุทูตเดินทางมาสดวกดีอยู่หรือเดินทางมาช้านานเท่าใดจึงมาถึงนัด ๑ ว่าประเทศโน้นฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล บ้านเมืองมีความสุขสมบูรณ์ ไพร่บ้านพลเมืองมีความสุขอยู่หรือนัด ๑ แบบพระราชปฏิสัณฐารอย่างนี้เข้าใจกันซึมทราบมาแต่ก่อนจนอาจจะแต่งลงเปนบทเสภา เมื่อสมเด็จพระพันวะษาเสด็จออกรับทูตล้านช้างได้ดังนี้

 ๏ ครานั้นพระองค์ผู้ทรงเดช      ชำเลืองพระเนตรผายผัน  
เห็นราชทูตมาถวายบังคมคัล      กับทั้งเครื่องสุวรรณบรรณา  
จึงตรัสประภาษปราไส            มาในป่าไม้ใบหนา  
กี่วันจึงถึงพระภารา                มรรคายากง่ายประการใด  
อนึ่งกรุงนาคบุรี                   เข้ากล้านาดีหรือไฉน  
หรือฝนแล้งเข้าแพงมีภัย          ศึกเสือเหนือใต้สงบดี  
ทั้งองค์พระเจ้าเวียงจันท์          ทรงธรรม์เปนสุขเกษมศรี  
ไม่มีโรคายายี                    อยู่ดีหรืออย่างไรในเวียงจันท์ ฯ

                
แบบแผนทางเมืองพม่ายิ่งหนักมือไป ถึงพระเจ้าแผ่นดินไม่ต้องมีรับสั่งว่ากะไร เพียงพยักพระพักตร์เท่านั้น ผู้สนองพระโอฐก็รับสั่งมาแจ้งพระราชปฏิสัณฐารแก่ทูตตามข้อความที่กล่าวมา

เมื่อมีพระราชปฏิสัณฐารนัด ๑ โกษาธิบดีก็รับพระราชโองการมาบอกแก่กรมท่าขวาหรือซ้าย อันเปนเจ้าหน้าที่ ๆ บอกล่าม ๆ แปลบอกทูต ทูตจะกราบทูลว่ากะไรก็ต้องย้อนกลับโดยนัยอันเดียวกัน แล้วมีพระราชปฏิสัณฐารนัดที่ ๒ ที่ ๓ ต่อไป ครั้นมีพระราชปฏิสัณฐารแล้ว เจ้าพนักงานจึงยกพานหมากกับเสื้อผ้ามาตั้งพระราชทานทูตานุทูต เปนสัญญาว่าเสร็จการเฝ้า พอตั้งพานหมากแล้วไม่ช้าก็ปิดบานพระบัญชรเสด็จขึ้นมีประโคม แลข้าราชการกับทูตานุทูตถวายบังคมอิก ๓ ครั้งแล้วทูตจึงออกจากท้องพระโรง เมื่อทูตออกมาจากเฝ้าแล้ว เจ้าพนักงานพาไปดูสิ่งสำคัญในพระราชวัง คือพระยาช้างเผือกเปนต้น ปรากฎเหมือนกันทั้งคราวราชทูตฝรั่งเศสแลราชทูตลังกา แล้วจึงพาทูตกลับไปพัก เมืองพม่าก็เหมือนกันอย่างนี้



บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 136  เมื่อ 05 พ.ย. 09, 15:41

ส่วนเส้นทางยกทัพจากอยุธยาขึ้นไปตีเชียงใหม่   เริ่มต้นจากเคลื่อนทัพที่วัดใหม่ชัยชุมพล   ค่ำลงพักที่"พิตเพียน"  เช้าเดินทางต่อไปที่ "บ้านดาบก่งธนู"  ขุนแผนไปขุดเอาดาบฟ้าฟื้นที่ฝังไว้ขึ้นมา

ค่ำแวะพักที่ลพบุรี   เช้าเดินทัพตัดบางขาม ข้ามบ้านด่านโพธิ์ชัย   ไปถึงแขวงอู่ตะเภา  ตรงไปหัวแดนภูเขาทอง หนองบัว ห้วยเฉียง   เลี่ยงชายเขาตรงไปทุ่งหลวง  พักคืนหนึ่งแล้วก็เดินทัพต่อไปถึงเมืองพิจิตร

จากพิจิตร ทัพยกผ่านป่าไปถึงพิษณุโลก      สังเกตว่าเส้นทางเดินทัพ ไม่ได้ไปตามแม่น้ำ  บุกป่าฝ่าดง   บรรยายป่ามาตลอดทาง
ออกจากพิษณุโลก  ไปเมืองพิชัย  แล้วไปบ้านไกร ป่าแฝก  ถึงศรีสัชนาลัย  สวรรคโลก   ตัดข้ามเขตระแหง  ถึงเถิน แล้วหยุดทัพที่หนองโคกเต่า นอกเชียงใหม่ ไม่ยกทัพเข้าเมือง

ผมคิดว่าเส้นทางนี้สมเหตุสมผลพอสมควรทีเดียวครับ หากคิดว่าทัพที่ยกกันขึ้นไปเป็นทัพขนาดใหญ่ ไม่ใช่มีแต่คนขี้คุกไม่กี่สิบคนอย่างนี้ ถ้ามีแค่นี้ ใช้เรือขึ้นไปตามแม่น้ำปิงคงสบายกว่าเยอะ

สงครามในสมัยโบราณ จำเป็นต้องใช้พลเดินเท้า เพราะการลำเลียงพลจำนวนมากทางเรือมีต้นทุนสูงเกินไป ผู้เขียนเสภาตอนนี้ น่าจะรู้จักเส้นทางนี้ดีพอสมควร

- วัดใหม่ชัยชุมพล เข้าใจว่าหมายถึงวัดใหม่ประชุมพล ตรงข้ามปราสาทนครหลวง ริมน้ำป่าสัก
- พิตเพียนก็เป็นชื่อตำบลที่ยังปรากฏในปัจจุบัน อยู่ในเขตอำเภอมหาราช พระนครศรีอยุธยา
- บ้านดาบก่งธนูก็น่าจะอยู่ริมน้ำป่าสักระหว่างพิตเพียนกับตัวเมืองลพบุรีนี้เอง

จากลพบุรีเลาะลำน้ำบางขาม ผ่านบางขาม แล้วไปตามลำแม่น้ำสายเก่า ผ่านโพธิ์ชัย อู่ตะเภา ข้อนี้น่าสนใจ เพราะลำน้ำสายนี้กลายเป็นคลองไปนาน ตั้งแต่สมัยไหนก็ไม่ทราบ

จากอู่ตะเภาเดินขึ้นเหนือตรงไปเขาทอง (ภูเขาทอง) เหนือไปจากนี้จะเจอบึงบอระเพ็ดขวางกั้นอยู่ ทัพขุนแผนน่าจะเดินเลียบออกไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านหนองบัว ส่วนห้วยเฉียงนั้นอยู่ไหนไม่ทราบ แต่คงอยู่ระหว่างหนองบัวกับพิจิตรนี่เอง

จากพิจิตร ขึ้นไปพิษณุโลก พิชัย พิชัยนี้เป็นเมืองพิชัยเก่าที่อยู่ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน หมุดในแผนที่ที่คุณ Navarat.C ได้กรุณาทำมาให้ดูต้องขยับออกไปทางตะวันออกนิดนึงครับ

ถึงตรงนี้ เส้นทางดูคล้ายจะสับสน ผมขอยกกลอนมาดูเลยดีกว่า

พอพักไพร่หายเหนื่อยเลื่อยล้า    ก็ยกพลต่อมาเมืองพิชัย
ผู้รั้งกรมการด้านทาง              ต่างเมืองต้อนรับไม่นิ่งได้
ยกฟากข้ามจากเมืองพิชัยไป      ถึงบ้านไกรป่าแฝกแล้วแยกมา
วันหนึ่งถึงเมืองสัชนาลัย           กรมการผู้ใหญ่ก็พร้อมหน้า      
เลี้ยงดูรับรองตามท้องตรา        พักอยู่สามเวลาในธานี ฯ

๏ ยกออกนอกเมืองสวรรคโลก      ข้ามโคกเข้าป่าพนาศรี


บ้านไกร ป่าแฝก อยู่ในเขตจังหวัดสุโขทัย เรียกได้ว่าอยู่ระหว่างพิษณุโลกกับสวรรคโลก ในขณะที่พิชัยนั้นในจากพิษณุโลกขึ้นไป ระดับเดียวกับสวรรคโลก ถ้าออกจากพิษณุโลก ไปทางพิชัยแล้วข้ามน้ำ เดินตรงไปทางตะวันตกก็ถึงสวรรคโลก หรือไม่อย่างนั้น จากพิษณุโลกข้ามน้ำแล้วเดินตัดขึ้นไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ ผ่านบ้านไกร ป่าแฝก ก็จะไปถึงสวรรคโลกได้โดยตรง

เส้นทางในกลอนที่ว่าข้ามน้ำจากพิชัยแล้วไปบ้านไกร ป่าแฝก นี่ต้องเดินกลับลงใต้มาร่วม ๓๐ กม. แล้วเดินกลับขึ้นไประยะทางเท่าๆกัน อ้อมไปถึง ๖๐ กม.ครับ ขอฝากไว้ก่อน เพราะหาคำอธิบายที่สมเหตุสมผลไม่ได้

ข้อถัดมา เรื่องศรีสัชนาลัยกับสวรรคโลก  ตามบทกลอนนั้นยกเข้าสัชนาลัยพักสามวัน แต่ออกจากสวรรคโลก ดูชอบกล ผู้แต่งเสภาเห็นจะรวบสองเมืองนี้เข้าเป็นเมืองเดียวกัน


ตัดข้ามเขตระแหงแขวงเถิน      เดินเลยหาเยื้องเข้าเมืองไม่
สิบสี่วันดั้นเดินตามเนินไพร      เกือบจะถึงเชียงใหม่อีกสองวัน
หยุดหนองโคกเต่าไม่เข้าบ้าน      พักทหารตั้งกองริมหนองนั่น
ชักหนามวงรอบเป็นขอบคัน      กำชับกันมิให้ใครเที่ยวไปมา ฯ


จากสวรรคโลก เดินทัพเข้าป่าไปออกระแหง เส้นทางนี้สมเหตุสมผลนะครับ จากลุ่มแน่น้ำยม-น่าน จะข้ามไปลุ่มแม่น้ำปิง มีเทือกเขากันเป็นแนวยาวลงมา ถ้าจะอ้อมลงไปทางใต้ ก็ต้องลงไปถึงกำแพงเพชรแล้วตัดขึ้นมา ในขณะที่มีช่องเขาอยู่แห่งหนึ่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของสวรรคโลก บริเวณบ้านด่าน-ลานหอย(ใกล้เมืองเก่าสุโขทัย) มีช่องทางด่านไปออกระแหง

นี่คือเส้นทางสำคัญ น่าจะเป็นเส้นทางที่นำความเจริญมาสู่สุโขทัย แม้ปัจจุบันนี้ก็มีทางหลวงตัดผ่านช่องเขานี้ครับ

จากระแหงก็ยึดแนวลำนับปิงขึ้นไปถึงเถิน

ถ้าถามว่า จากสวรรคโลกทำไมไม่ตัดขึ้นไปที่เถินโดยตรง?
ดูจากภาพถ่ายดาวเทียมแล้วตอบได้ว่าเหนือสวรรคโลกศรีสัชนาลัยขึ้นไป มีเทือกเขาสลับซับซ้อน ไม่มีเส้นทางไปถึงได้ครับ ต้องอ้อมลงมาออกระแหงนี่แหละถูกต้องแล้ว

ผมทำไฟล์หมุด Google Earth ไว้ เชิญดาวน์โหลดได้เลยครับ

* khunphaen.kmz (2.55 KB - ดาวน์โหลด 362 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 137  เมื่อ 05 พ.ย. 09, 18:02

คุณม้าครับ

ส่วนใหญ่ผมก็เห็นด้วยกับคุณทั้งสิ้น แต่..ด้วยความเคารพ ผมอยากทราบเหตุผลว่าทำไมไม่เดินทัพจากพิษณุโลก ผ่านบ้านไกร และป่าแฝก เข้าสุโขทัยแล้วไประแหงทีเดียว
ทางโบราณสมัยท่านพ่อขุนทั้งหลายก็คงยังอยู่ เดินทางสบายๆ
ทำไมต้องเดินอ้อมเล่นเป็นร้อยกิโลขนาดนั้น

ไม่ทราบว่าเพราะไปกันเพียงสามสิบกว่าคน เลยต้องไปเที่ยวเกณฑ์ผู้คนมาเข้าทัพหรือ?
ถ้าใช่ก็เอาเถอะ มันป็นนิยาย

แต่ถ้าจะบอกว่าคนโบราณเขาใช้เส้นทางนี้เดินทัพจริงๆตามประวัติศาสตร์
ก็คงจะหาหลักฐานรองรับได้นะครับ ผมว่า


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 138  เมื่อ 05 พ.ย. 09, 18:39

หลีกทางให้คุณ N.C. กับคุณม้าสำรวจทางกันไปก่อน
และหลีกทางให้คุณหลวงเล็ก  กับคุณเพ็ญชมพู   อธิบายเรื่องประเพณีรับทูต  
ดิฉันก็จะไม่กล่าวถึงซ้ำอีก   แต่จะเล่าถึงโอวาทสำคัญที่พระนางเกสร มเหสีล้านช้าง ประทานให้นางสร้อยทอง พระธิดา

ขอเกริ่นว่า  ก่อนจะมาถึงข้อนี้    พยายามมองหาวัฒนธรรมของลาวล้านช้างว่ามีอะไรเฉพาะตัวบ้างไหม  แต่ก็ยังมองไม่เห็น   ถ้าใครเห็นช่วยมาเสริมให้ด้วย  จะขอบคุณมาก
ที่ว่ามองไม่เห็น คือรู้สึกว่า ต่อให้อาณาจักรนี้ไม่ใช่ล้านช้าง แต่เป็นอาณาจักรสมมุติอะไรอีกสักแห่ง แม้แต่อาณาจักรบนแหลมทอง สักแห่ง  ก็น่าจะสวมแทนกันได้
เพราะนอกจากชื่อขุนนางที่ฟังออกสำเนียงลาว  และภาษาลาวอยู่ไม่กี่คำแล้ว  ดิฉันไม่รู้สึกว่าครอบครัวของพระเจ้าล้านช้าง มีลักษณะเฉพาะตัวแตกต่างจากไทย
มีบทออกขุนนาง ณ ท้องพระโรง      มีลูกสาวพอโตเป็นสาว ก็ถูกส่งไปเพื่อเสริมสัมพันธไมตรีกับอาณาจักรใกล้เคียง     เราเห็นกันมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย

อ่านมาถึงตอนนี้    นึกถึงพระเทพกษัตรี   พระธิดาพระมหาจักรพรรดิ  ที่ถูกส่งตัวไปเป็นพระมเหสีพระไชยเชษฐาธิราชแห่งล้านช้าง  แต่ถูกบุเรงนองส่งกองทหารมาดักชิงตัวไปกลางทางเสียก่อน  หลังจากนั้นก็ไม่รู้ข่าวคราวของท่านอีก  


 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 139  เมื่อ 05 พ.ย. 09, 19:15

คำสั่งสอนที่พระนางเกสร ประทานให้เจ้าหญิงสร้อยทอง    กวีผู้แต่งตอนนี้  น่าจะรู้จักขนบธรรมเนียมในราชสำนักฝ่ายในดี  จึงเขียนได้ถูกต้องตามระเบียบแบบแผน
ว่าผู้หญิงที่จะเข้าไปเป็นบาทบริจาริกาของพระมหากษัตริย์ ควรวางตัวอย่างไร  จึงจะงดงามเหมาะสม  เจาะจงให้เห็นทีละข้อ  ไม่ใช่กล่าวกว้างๆ
เน้นที่กิริยา มารยาท  อัชฌาศัย รู้จักวางตัวกับสตรีฝ่ายในอื่นๆ ไม่ว่าจะเจ้านายหรือสามัญชน
เป็นคำอบรมสั่งสอนที่ชัดเจน    เลือกตัวละครได้เหมาะ คือให้แม่ที่เป็นนางกษัตริย์ สั่งสอนลูกสาวที่จะไปเป็นเจ้านายฝ่ายใน    ถ้อยคำที่ใช้ สุภาพ และสง่างามสมบทบาท
จำแนกละเอียดเป็นข้อๆเลย ว่า
๑)  การวางตัวกับสตรีฝ่ายในด้วยกัน

อันขนบธรรมเนียมของเมืองใต้                      ต้องเพียรเอาใจใส่ให้รู้จัก
อันบรรดานารีที่พบพักตร์                             เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่ในวัง
ที่ใครควรเคารพก็นบนอบ                            ที่ควรชิดควรชอบอย่าผินหลัง
อย่าโหดไร้ให้เขาพากันชิงชัง                       แต่อย่าพลั้งเผลอคบคนเสเพล
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 140  เมื่อ 05 พ.ย. 09, 20:17

๒) การวางตัว  เป็นส่วนตัว
ข้อนี้กำหนดคุณค่าสตรีในราชตระกูลไว้สูงมาก   ว่าเป็นผู้หญิงที่ได้รับการอบรมต่อเนื่องกันมาตามสายตระกูล  ย่อมจะถูกผู้ใหญ่กวดขันให้อยู่ในระเบียบแบบแผนที่ดีคล้ายๆกัน     ไม่ค่อยจะมีผ่าเหล่าผ่ากอ

นางกษัตริย์เขาจัดว่าล้ำเลิศ                       ประเสริฐด้วยสุริย์วงศ์พงศา
ถือมั่นสัตย์ธรรม์จรรยา                              ทั้งวาจามารยาทสะอาดดี
เพราะว่าเป็นวิสัยในพงศ์พันธุ์                     ฝึกสอนสืบกันมาตามที่
ซึ่งจะผ่าเหล่าไปมิใคร่มี                            เหตุนี้จึงนิยมชมทั่วไป

ที่สำคัญคือสตรีในราชตระกูล    แม้ว่าต่างราชตระกูลกัน ก็ไม่ได้ต่างด้านประพฤติปฏิบัติวางตัว   เพราะ

กษัตริย์ถึงต่างทิศผิดภาษา                       อันจะต่างจรรยานั้นหาไม่

อ่านขุนช้างขุนแผนมาถึงตอนนี้  นึกถึงพระดำรัสของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ   ที่ยกย่องเจ้าดารารัศมีอย่างสูง  เคยตรัสกับพระธิดาว่า
" กราบเจ้าป้าลงกับพื้นเถิดลูก   เพราะไม่มีสิ่งใดที่ควรจะรังเกียจ    แม้กำเนิด  ท่านก็เกิดมาในเศวตฉัตรเหมือนกัน"
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 141  เมื่อ 05 พ.ย. 09, 21:07

คุณ Navarat.C ชี้แนะมาอย่างนี้ ผมได้สมมติฐานใหม่ว่า เส้นทางช่วงนี้อาจจะเป็นเส้นทางสองเส้นทางที่ถูกจับมามัดไว้รวมกัน
- พิษณุโลก -> พิชัย -> สวรรคโลก -> บ้านด่าน
- พิษณุโลก -> บ้านไกร  -> ป่าแฝก -> บ้านด่าน

ดูจากกลอน ไปพักอยู่ที่สัชนาลัย-สวรรคโลกถึงสามวัน ถือว่าให้ความสำคัญไม่น้อย ถ้าลอกเส้นทางนี้มาจากเส้นทางทัพจริง ก็อาจจะมีราชการหรือแม้แต่เกณฑ์ไพร่พลจากที่นี่ไปด้วยกันครับ

น่าสังเกตว่าไม่พูดถึงสุโขทัยเลยนะครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 142  เมื่อ 05 พ.ย. 09, 21:37

นั่นน่ะซีครับคุณม้า


สุโขทัยไม่ใช่เมืองกระจอกงอกง่อย ผ่านข้ามไปได้อย่างไรไม่พูดถึงเลย
ผมออกจะเชื่อไปในทางว่า คนที่แต่งตอนนี้ไม่สู้จะรู้จริงเรื่องเส้นทางเดินทัพขึ้นเหนือเท่าไร

เราจะเอานิยายมาอ้างอิงมันกระไรอยู่ บังเอิญเนื้อหาตรงนี้มันไม่เนียนเสียด้วย
ถ้าจะเอาให้ชัดๆ คงต้องหาพวกจดหมายเหตุโบราณมาแสดงจะน่าเชื่อถือกว่านะครับ

บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 143  เมื่อ 06 พ.ย. 09, 08:29

ขอย้อนไปที่เรื่องช่องเขาศาลหรือช่องเข้าสารหรือด่านเขาสาร นิดหนึ่ง  เพราะเพิ่งได้อ่าน 
ในนิราศทัพเวียงจันท์ ที่มติชน พิมพ์ ในนิราศทัพเวียงจันท์ พิมพ์ว่า เข้าสาร ทั้งหมด  รวมไปถึงในระยะทางเสด็จพระราชดำเนินกองทัพตั้งแต่กรุงเทพฯ ถึงเมืองเวียงจันท์ ปีจอ อัฐศก ๑๑๘๘ ฉะบับนายพลพัน หุ้มแพร ถวาย ซึ่งพิมพ์รวมอยู่ท้ายเล่มหนังสือเดียวกัน  ก็เป็น เข้าสาร ทุกแห่ง แม้กระทั่งแผนที่ที่ประกอบก็เขียนอย่างเดียวกัน

ได้ลองเทียบชื่อดูในหนังสือจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๓ เล่ม ๒ เล่ม ๓ ซึ่งเนเอกสารที่พิมพ์ตามต้นฉบับเอกสารตัวเขียน
ในเล่ม ๒ มีเอกสาร ชื่อ ระยะทางเสด็จพระดำเนินกรีฑาทัพ จ.ศ. ๑๑๘๘ ซึ่งก็คือ เอกสารต้นฉบับที่ภายหลังนำมาพิมพ์เป็นระยะทางเสด็จพระราชดำเนินกองทัพตั้งแต่กรุงเทพฯ ถึงเมืองเวียงจันท์ ปีจอ อัฐศก ๑๑๘๘ ฉะบับนายพลพัน หุ้มแพร ถวาย นั่นเอง  ตรงคำว่า เข้าสาร ที่ปรากฏในหนังสือที่มติชนพิมพ์ นั้น  ต้นฉบับเดิมในจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๓ เขียนเป็น เขาสาร เหมือนกันทุกแห่ง

ในเล่ม ๓ เป็นเอกสาร ว่าด้วย ราชการทัพเมืองเวียงจันทน์ ฉบับ ๑ - ๑๔ กลับเขียนเป็น เข้าสาร เข้าสาน ทั้งนั้น ไม่มีแห่งใดเขียนว่า เขาสาร เลย  แต่ได้ลองเทียบระยะทางเสด็จฯ กับจดหมายเหตุว่าด้วยราชการทัพฯ แล้ว จะ เขาสาร หรือ เข้าสาร ก็น่าจะเป็นชื่อสถานที่แห่งเดียวกัน (มีทั้งเป็นชื่อบ้าน ชื่อช่องเขา และชื่อด่าน ) เพียงแต่คนจดคงจดลงตามความเข้าใจ ชื่อที่ได้ยิน และอักขรวิธีตามสะดวกของแต่ละคน  เลยทำให้เขียนชื่อออกมาไม่เหมือนกัน 
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 144  เมื่อ 06 พ.ย. 09, 09:04

มีคำบางคำที่สงสัยอยู่ อยู่ในตอนที่เกี่ยวกับลาว หากใครมีความรู้ช่วยอธิบายให้เข้าใจหน่อยครับ

ขุนแผนฟังบ่าวบอกข่าวน้อง  ประหวั่นถึงลาวทองที่เป็นไข้
แล้วนิ่งระงับดับใจ               ดูฤกษ์ในยามตามนาที
วันเสาร์ข้างเช้าเป็นยามจันทร์  ไข้นั้นหนักเจียนจะเป็นผี
แต่ยามจันทร์ท่านทายว่าคลายดี   ผู้มาบอกนั่งที่ก็ไม่ร้าย
ผิดทั้งหลาวเหล็กราหูจร          อยู่ข้างต้นศรว่าพลันหาย
ฤกษ์ยามตามตำราว่าไม่ตาย    แต่แก้วตาจะกระวายกระวนใจ

คำศัพท์ตัวหนาข้างต้น เป็นสัพท์ทางโหราศาสตร์ อยากทราบรายละเอียดศัพท์แต่ละคำ ถ้าอธิบายได้ละเอียดก็ขอบคุณมาก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 145  เมื่อ 06 พ.ย. 09, 09:21

เป็นอันว่า ด่าน"เข้าสาร"  กลายเป็น "เขาศาล" เปลี่ยนทั้งรูปคำและความหมาย   

ดิฉันเคยอ่านพบศัพท์ที่คุณหลวงเล็กถาม   ในตำราพรหมชาติ    รู้คร่าวๆว่าโหรเขากำหนดยามต่างๆในแต่ละวัน  ว่าเหมาะหรือไม่เหมาะจะทำการอะไรบ้าง  ยามไหนดี  ยามไหนร้าย    
นอกจากยามก็มีทิศเช่นกัน   หลาวเหล็ก หมายถึงทิศที่ร้ายในวันนั้นๆ
รอท่านผู้รู้มาอธิบายค่ะ  ถ้าผ่านไปหลายวันไม่มีใครเข้ามาอธิบาย  จะไปถามเพื่อนที่เรียนโหราศาสตร์ให้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 146  เมื่อ 06 พ.ย. 09, 09:44

๓) การวางตัวต่อพระสวามี
พระนางเกสร สอนนางสร้อยทองเรื่องการวางตัวต่อพระพันวษา เมื่อไปเป็น "ฝ่ายใน" แล้ว   คำสอนการวางตัวของภรรยา ก็เอามาจากพุทธศาสนานั่นเอง  ไม่ได้มีอะไรผิดแปลกไปจากที่โบราณสอนกันมา  คือรู้จักรับใช้ดูแล  ซื่อสัตย์ ร่วมทุกข์สุขกัน เคารพนบนอบสามี

แต่ย้ำเพิ่มไปอีกว่า ในเมื่อสามีไม่ใช่คนธรรมดา แต่เป็นเจ้าแผ่นดิน ก็ต้องเคารพยำเกรงในฐานะข้าฝ่าธุลีด้วย

แต่บริจามหากษัตริย์นั้น                      ผิดกับหญิงสามัญที่มีผัว
ต้องจงรักภักดีแล้วเกรงกลัว                 เหมือนอย่างตัวเป็นข้าฝ่าธุลี
ตั้งใจสนองรองบาทา                         ให้ทรงพระกรุณาเป็นราศี
ถึงขัดข้องหมองใจในบางที                 ไม่ควรที่ให้เคืองเบื้องบทมาลย์

อ่านตั้งแต่ต้นจนจบ   พระนางเกสรสอนพระธิดาเหมือนจะไปปฏิบัติราชการ เสียมากกว่าจะไปครองเรือน     แสดงว่า "หน้าที่" เป็นสิ่งสำคัญที่สุด    และน่าจะสำคัญประการเดียวสำหรับผู้หญิงระดับพระธิดา
ส่วนความสัมพันธ์ส่วนตัว เช่นสร้างสายใยเสน่หาระหว่างสามีภรรยา จะทำยังไง  พระนางไม่สอนลูกสาวเลย  เหมือนเป็นสิ่งไม่ต้องคำนึงถึงก็ได้     
เหตุผลคือกวีอาจจะเห็นว่าไม่เหมาะสม หรือเห็นว่าไม่ใช่ "จรรยา" ของนางกษัตริย์

ในเรื่องนี้   แม่สอนลูกสาวเรื่องครองเรือน มี ๓ คู่ด้วยกัน   และสอนแตกต่างกันไป       จะทยอยมาเล่าให้ฟังพร้อมวิเคราะห์ไปด้วย   
ใครเห็นแตกต่าง ก็เชิญออกความเห็นได้เลยค่ะ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 147  เมื่อ 06 พ.ย. 09, 11:34

มีข้อมูลเรื่องการย้ายที่ตั้งเมืองสวรรคโลกอยู่ใน wiki http://th.wikipedia.org/wiki/อำเภอสวรรคโลก

เดิมเมืองสวรรคโลกตั้งอยู่ที่เมืองศรีสัชนาลัยเดิม ย้ายลงมาท่าชัย(ใต้เมืองเดิมลงมาราว 3 กม.)ในราวสมัยกรุงธรบุรีหรือต้นรัตนโกสินทร์ แล้วย้ายลงมาที่เมืองสวรรคโลกปัจจุบัน(ใต้ลงมาอีกสิบกว่ากิโลเมตร)ในปี ๒๓๗๙

อ่านจากกลอนตอนนี้ น่าจะต้องก่อนย้ายลงมาที่ตั้งปัจจุบันแน่นอน แต่จะก่อนย้ายลงมาท่าชัยหรือไม่นั้นอาจจะยังชี้ชัดไม่ได้ครับ

เรื่องความน่าเชื่อถือของเสภาขุนช้างขุนแผน ก็ต้องยอมรับความจริงว่านี่เป็นเรื่องแต่งเล่น จะถือเป็นจริงจังทั้งหมดคงไม่ได้ แต่ในความเป็นจริง เสภาขุนช้างขุนแผนเป็นเรื่องเก่าสมัยอยุธยา เก่าขนาดไหนนั้นก็ยังไม่รู้ แต่มีการแต่งต่อเติมกันอยู่เรื่อยๆ แม้ในสมัยรัตนโกสินทร์ก็มีการแต่งเติมมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ และมาแต่งทำกันใหญ่โตในสมัยรัชกาลที่ ๒ โดยมีพระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นบรรณาธิการด้วยพระองค์เอง กวีที่ร่วมแต่งแม้ไม่ทราบชัดว่ามีใครบ้าง แต่เห็นได้ว่าส่วนใหญ่ก็เป็นเจ้านายและขุนนาง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เคยรบทัพจับศึกมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ ด้วยกันทั้งนั้นครับ

แน่นอนว่าจะให้กวีเหล่านี้รู้จักเส้นทางทั้งหมดก็คงเป็นไปไม่ได้ แต่เราได้เห็นตัวอย่างจากเส้นทางพวกเชียงใหม่ดักชิงเจ้าหญิงล้านช้าง ชนิดที่ว่าโผล่ออกจากเชียงใหม่แล้วมาโผล่ที่ภูเวียงเลย ระยะห่างกันกว่า ๓๐๐ กม. เห็นได้ว่าไม่รู้จักเส้นทางนี้ และไม่รู้จะบรรยายเส้นทางอย่างไร จึงได้ข้ามไปเสียดื้อๆ

ข้อมูลเส้นทางเดินทัพที่เห็นในช่วงนี้ อาจจะมีข้อผิดพลาดบ้าง แต่ก็ทำให้เราได้เรียนรู้เส้นทางการเดินทางขึ้นเหนืออีกเส้นทางหนึ่งนอกเหนือจากเส้นทางแม่น้ำปิงที่รู้จักกันดีนะครับ

แม้แต่เรื่องการที่ไม่เอ่ยถึงสุโขทัย ก็อาจจะมีอะไรแฝงอยู่ เพราะเมืองเก่านั้นร้างไปนาน จะนานเท่าใดก็ไม่ทราบ เมืองใหม่ที่ริมแม่น้ำยมปัจจุบันนี้ตั้งมาเมื่อไหร่ จะมีความสำคัญขึ้นมาตั้งแต่เมื่อใดก็ไม่รู้อีกเหมือนกัน มันมีช่องว่างให้พิจารณาอยู่นะครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 148  เมื่อ 06 พ.ย. 09, 12:01

เมืองใหม่ที่ริมแม่น้ำยมปัจจุบันนี้ตั้งมาเมื่อไหร่ จะมีความสำคัญขึ้นมาตั้งแต่เมื่อใดก็ไม่รู้อีกเหมือนกัน

ตัวเมืองสุโขทัยในปัจจุบันนี้มิใช่กรุงสุโขทัยอันเป็นราชธานีเดิม รัชกาลที่ ๑ ทรงย้ายผู้คนทั้งหมดจากสุโขทัย มาตั้งเมืองใหม่ทางฝั่งตะวันออกของลำน้ำยมเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๖ โดยห่างจากตัวเมืองสุโขทัยที่เคยเป็นราชธานี ๑๒ กิโลเมตร

ข้อมูลจาก หนังสือประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาคจังหวัดสุโขทัย , ๒๕๔๑

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 149  เมื่อ 06 พ.ย. 09, 12:01

นางเกสรเลี้ยงดูนางสร้อยทองอย่างใกล้ชิด  
คำสั่งสอนสุดท้ายของแม่  นางสร้อยทองก็จำไว้
ความทุกข์ของนางเมื่อตกไปอยู่เชียงใหม่ถึงกึ่งปีคงทำให้นางเสงี่ยมงาม

พระพันวษาทรงพอพระทัยในความงามและกิริยามารยาท


พินิจทรงสร้อยทองละอองพักตร์                               นรลักษณ์งามเลิศเฉิดฉัน
ละมุนละม่อมพร้อมพริ้งทุกสิ่งอัน                              สมเป็นขวัญของประเทศเขตลาวกาว
ดูสงบเสงี่ยมงามทรามสวาท                                  มารยาทสนิทสนมสมเป็นสาว
กระนี้หรือจะมิลือในแดนลาว                                  จนเชียงใหม่ได้ข่าวเข้าช่วงชิง


คุณท้าววรจันทร์เห็นตามพระอัชฌาสัยอยู่แล้ว

นางสร้อยทองต้องลักษณะนัก                                นรลักษณ์งามดีถี่ถ้วน
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 8 9 [10] 11 12 ... 16
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.08 วินาที กับ 20 คำสั่ง