เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 16
  พิมพ์  
อ่าน: 60635 ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 22 ต.ค. 09, 17:50

พยายามทำความเข้าใจที่คุณเทาชมพูอธิบายค่ะ  ว่าเป็นงานระดับเทพ
เลยอ่านออกเสียง
น่าจะใช้เวลาอีกสามคืนจึงจะพอเข้าใจ


พรม  มีอีกชื่อว่า หนามพรม   หรือขี้แฮด(พายัพ)
ชื่อพฤกษศาสตร์             Carissa spinarum L. (syn. C. cochinchinensis Pit.)
วงศ์                           Apocynaceae

ลักษณะ เป็นไม้ยืนต้นขนาดย่อม  ใบเล็กกลม  ตามต้นและกิ่งมีหนามแข็งยาวและแหลมคม(หาได้ง่ายในสระบุรี)

ประโยชน์  สรรพคุณทางสมุนไพร  แก่นมีรสเฝื่อน  มัน  ขม  ฝาดเล็กน้อย
บำรุงไขมันในร่างกาย  บำรุงกำลัง  ทำให้ร่างกายแข็งแรง  อดทน

การขยายพันธุ์  ด้วยการเพาะเม็ด



จัน, จันขาว, จันลูกหอม, จันอิน, จันโอ, อิน (ลูกจันทน์)
ชื่อพฤกศาสตร์      Diospyros decandra Lour. (syn. D. packmannii C.B. Clark)
วงศ์                  Ebenaceae



ต้นนี้เราคงคุ้นกันนะคะ


นมสวรรค์   Pagoda Flower
ชื่อพฤกศาสตร์       Clerodendrum paniculatum L. var. paniculatum
วงศ์                   Labiatae

ไม้พุ่มขนาดกลาง  สูง ๖ - ๗ ฟุต    ใบโตกลมคล้ายนางแย้ม
แต่มีแฉกเล็ก ๆ ออกดอกเป็นช่อสีแดง เป็นชั้น ๆ คล้ายฉัตร  ดอกเล็กๆ แต่ละดอกคล้ายดอกเข็ม  ออกดอกตลอดปี



จันทน์คณา  จันทนา  จันทน์ขาว   จันทน์ใบเล็ก   จันทน์หอม
ชื่อพฤกษศาสตร์    Tarenna hoaensis Pit.
วงศ์                  Rubiaceae

เป็นต้นไม้ยืนต้นขนาดกลาง   ใบเล็กคล้ายใบไกร  เป็นพุ่มแจ้
สรรพคุณทางสมุนไพร มีรสขมเย็นระคนกัน
มีที่ประจวบและระยอง
แก้ไข้ที่เกิดในตับและดี   บำรุงเลือดลม  ทำให้เกิดปัญญาและราศี (ฮ้า....)


(เทศบาลนครกรุงเทพ พิมพ์ ต้นไม้ในวรรณคดี โดยได้รับความกรุณาจากคุณหลวง บุเรศบำรุงการ  ๒๕๑๔)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 24 ต.ค. 09, 23:51 โดย Hotacunus » บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 22 ต.ค. 09, 17:59

ชมพู่เทศ    
ชมพู่ขาว  ชมพู่เขียว  ชมพู่สาแหรก  ชมพู่มะเหมี่ยว   เป็นชมพู่เทศ

ชื่อพฤกษศาสตร์          Syzygium samarangense  Merr. & L.M.Perry (syn. Syzygium javanicum, Eugenia javanica)
วงศ์                       Myrtaceae

รับประทานเป็นผลไม้
ปรุงเป็นยาหอมชูกำลัง  ทำให้ใจเบิกบาน
คนที่เป็นไข้เรื้อรังรับประทานได้
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 24 ต.ค. 09, 23:50 โดย Hotacunus » บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 22 ต.ค. 09, 19:09

ขอบคุณมากค่ะ  คุณวันดีเข้ามาอธิบายเรื่องต้นไม้ได้ทันใจจริงๆ

ฝีมือของกวี ดูว่าขั้นไหน  ถ้าเทียบง่ายๆ  ก็คือภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว 
ถ้าวาดภาพนิ่ง ง่ายกว่า   เช่นวาดใบไม้หนึ่งใบหล่นอยู่บนพื้นดิน
แต่ถ้าวาดภาพใบไม้ทั้งต้นกำลังพลิกพลิ้วตามลมอย่างมีชีวิตชีวา    มองแล้วสัมผัสสายลมแรง พัดออกมาจากภาพได้เลย
เราจะรู้ว่าฝีมือคนวาดได้ขนาดนี้   ต้องจัดเจนด้านฝีมือ  ต้องแม่นยำทางสายตา  ต้องมีวรรณศิลป์สูงมาก
เก่งกว่าคนวาดใบไม้แน่นิ่งบนพื้นดิน

มาดูภาษาของกวีคนนี้นะคะ  บรรยายป่าสมัยสองร้อยกว่าปีก่อน  ต่อจากกลอนในค.ห.ก่อน

ลางต้นล้มตั้งตละปัก                    รากหักขึ้นแทงระแหงหงาย
กระตุ้มกระติ้มเกะเกะปะกันตาย      ยอดหวายพันคลุมอยู่ซุ้มเซิง
เป็นน้ำกรังรังเรอะอยู่เฉอะแฉะ       เขยอะแขยะขยุกขยุยดูยุ่ยเหยิง
รุงรังรุกรุยเป็นปุยเซิง                   กะพะกะเพิงพันผูกลูกหวายไป

ท่านบรรยายไม้ยืนต้นตายซาก  มีไม้คลุมอยู่เป็นกระเซิง      กวีที่ไม่แน่ใจฝีมือตัวเองจะไม่กล้าลงท้ายบทด้วยคำยาก  เพราะหาคำมาสัมผัสยากหนักเข้าไปอีก   ดีไม่ดี  กลอนจะเข้ารกเข้าพงไป
แต่รายนี้ ลงท้ายด้วย "เซิง"  ท่านก็หาของท่านมาต่อไปได้จนจบ   เสียงของคำในนี้มองเห็นภาพหวายคลุมไม้ตายซากได้เป็นซุ้มยุ่งเหยิง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 22 ต.ค. 09, 19:12

ขอย้อนกลับไปตอนรำพึงรำพันอีกนิดค่ะ

เห็นกระทุ่มพุ่มชัฏระบัดตั้ง     เหมือนผมพิมเจ้าสะพรั่งเพราไสว
เปล่าจิตคิดเย็นยะเยือกใจ     สักเมื่อไรจะได้พบเจ้าพี่อา

เห็นกระทุ่มแล้วคิดถึงผมนางพิม     สะท้อนทรงผมสมัยต้นรัตนโกสินทร์แน่นอน    ผมตัดสั้นของสตรีไทย เรียกว่าทรงดอกกระทุ่ม     ถ้าหากว่าเป็นสาวอยุธยาก่อนกรุงแตก  ผมถึงจะยาวประบ่า
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 24 ต.ค. 09, 23:07

พลายแก้วยกทัพจากอยุธยา ไปตีเชียงทอง ในเรื่องบอกเส้นทางเดินทัพไว้สั้นๆว่า  จากอยุธยาไปทุ่งโสภา   ไปบ้านกระทง ตรงไปท่าโพธิ์   ถึงโพธิ์สามต้นก็ค่ำพอดีจึงหยุดทัพเสียคืนหนึ่ง   เช้าก็ตรงขึ้นไปนครสวรรค์ แต่ไปทางบก เป็นทางลัดฝ่าดงไป  ไม่ล่องไปตามลำน้ำ
จากนครสวรรค์ไปกำแพงเพชร  ระแหง และเถินตามลำดับ  ก็ระดมพลจากทั้งสามเมือง ไปตีเชียงทอง งั้นเชียงทองก็อยู่เหนือเถินขึ้นไป

ถ้าใครนึกเส้นทางนี้ออก  ช่วยอธิบายต่อให้ด้วยได้ไหมคะ

ถ้าเป็นเชียงทองที่ว่าไว้ในจารึกสุโขทัย น่าจะอยู่ระหว่างกำแพงเพชรกับระแหงครับ

เป็นไปได้สองอย่างคือ
- เป็นคนละเชียงทองกัน
- ผู้แต่งขุนช้างขุนแผนตอนนี้ไม่รู้แล้วว่าเชียงทองคือเมืองอะไร อยู่ที่ไหน ปัจจุบันนี้เราก็เดาเอาเหมือนกันครับ อ.เชียงทองที่จังหวัดตาก ถ้าผมจำไม่ผิดน่าจะเป็นเพราะ ร.๖ ท่านทรงให้สืบหาครั้งเสด็จสุโขทัยครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 26 ต.ค. 09, 12:15

อ่านขุนช้างขุนแผนตอนนี้   ดูภูมิศาสตร์ของเมืองต่างๆ  พอสรุปได้ว่าเชียงทองอยู่เหนือกำแพงเพชร  ระแหง และเถินขึ้นไป
แต่ไม่ไกลกันนัก
เพราะระบุไว้ว่า พระยากำแพงเพชรและพระยาระแหง เป็นคนส่งข่าวมาบอกอยุธยา ว่าเชียงทองแพ้ทัพเชียงใหม่  ก็แสดงว่าอยู่ไม่ไกลกัน  รู้ข่าวกันเร็ว

แต่เชียงทองอยู่ใต้ลำปางและลำพูน  เพราะว่าทัพเชียงใหม่แตกหนี ถอยร่นขึ้นไปทางนั้น  ทัพไทยก็ไล่ตามไป

ตั้งข้อสังเกตอีกอย่างว่า ในเรื่อง เรียกเจ้าเมืองกำแพงเพชรว่า พระยากำแพงเพชร  คนนี้ไปร่วมรบกับอยุธยา  รบกับฟ้าลั่นแม่ทัพของเชียงใหม่  ถูกฟันตกม้า แต่คงจะหนังเหนียว  ฟันไม่เข้าเลยรอดตายไปได้
เคยอ่านพบว่า เจ้าเมืองกำแพงเพชร มีราชทินนามว่า พระยารามณรงค์  ในสมัยอยุธยาตอนปลาย

การรบระหว่างไทยกับลาวเชียงใหม่ คึกคักโกลาหลมาก  ถ้าเป็นวิดีโอก็ภาพเคลื่อนไหวเร็วและแรงทีเดียว  มีปืนไฟใช้ในการรบเป็นของธรรมดา ควบคู่ไปกับดาบและทวนของไทย
มีอยู่คำหนึ่งน่าสนใจ  ไม่ทราบว่า ปิหลั่น แปลว่าอะไร

พวกเชียงทองมีค่ายปิหลั่นรับ                       ลูกปืนปับแบนเปล่าหาเข้าไม่
รบกันป่วนลั่นสนั่นไพร                                 ยังไม่มีชัยชนะกัน
บันทึกการเข้า
เงินปุ่นสี
อสุรผัด
*
ตอบ: 47


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 26 ต.ค. 09, 15:18

ชื่อเมืองเชียงทองนั้น ยังปรากฎอยู่ในการแต่งตั้งขุนนางในสมัยรัชกาลที่ ๕
โดยเป็นเมืองขึ้นของเมืองตาก ตามนี้ครับ

"ให้พระสุนทรบริรักษ์ ผู้ช่วยราชการเมืองตาก เปนพระสุวรรณราชธานี ผู้สำเร็จราชการเมืองเชียงทองขึ้นแก่เมืองตาก
ถือศักดินา ๘๐๐ ตั้งแต่ ณ วัน ๒ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๑ ปีมโรง สัมฤทธิศก จ.ศ.๑๒๓๐"


ดังนั้นเมืองเชียงทองในสมัยนี้น่าจะอยู่ไม่ไกลจากเมืองตากเท่าใดนัก
และเข้าใจว่าทั้งเมืองเชียงเงินและเมืองเชียงทองทั้งคู่ต่างก็เป็นเมืองขึ้นของเมืองตากเมืองหน้าด่านที่สำคัญ

บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 26 ต.ค. 09, 16:24

คำว่า ปิหลั่น  อาจจะมาจากคำภาษามลายูว่า apilan แปลว่า เกราะหรือเสื้อเกราะ  คำนี้ปรากฏในกลอนบทละครบ่อยๆ ครับ 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 26 ต.ค. 09, 16:40

ขอบคุณค่ะ คุณหลวงเล็ก
เอาแผนที่มาให้ดูกัน
ปัจจุบัน ต.เชียงทองอยู่ในกิ่งอ. วังเจ้า จ.ตาก   ถ้าดูเส้นทางที่บอกไว้ในขุนช้างขุนแผน ก็จะเห็นว่าอยู่เหนือกำแพงเพชรขึ้นมา  แต่อยู่ใต้ลำปาง ลำพูน


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 26 ต.ค. 09, 16:47

ขยายส่วนกิ่งอ.วังเจ้า ให้ดู   เชียงทองอยู่แถวนี้


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 26 ต.ค. 09, 21:38

ภาพถ่ายทางดาวเทียมจาก Point Asia ครับ
ตำบลเชียงทองอยู่ในกิ่งอำเภอวังเจ้า จังหวัดตาก


บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 26 ต.ค. 09, 22:18

ระแหง อยู่ที่ อ.เมืองตาก เหนือเชียงทองขึ้นไปครับ เห็นว่าตำแหน่งจะสลับกับที่ปรากฏในขุนช้างขุนแผนนิดหน่อย ข้อนี้อาจเป็นเพราะ ในสำนึกของคนยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น เห็นว่าตากเป็นพื้นที่ของอยุธยา ดังนั้นรอยต่อแดน อยุธยา-ล้านนา น่าจะอยู่เหนือตากขึ้นไป

แต่ข้อนี้ คงต้องประกอบกับสมมติฐานว่า คนในยุคนั้นไม่รู้ว่าเชียงทองอยู่ที่ไหนเสียแล้ว

เห็นได้ว่าข้อนี้ขัดกับข้อมูลที่คุณเงินปุ่นสีให้ไว้ว่า
ชื่อเมืองเชียงทองนั้น ยังปรากฎอยู่ในการแต่งตั้งขุนนางในสมัยรัชกาลที่ ๕
โดยเป็นเมืองขึ้นของเมืองตาก ตามนี้ครับ

"ให้พระสุนทรบริรักษ์ ผู้ช่วยราชการเมืองตาก เปนพระสุวรรณราชธานี ผู้สำเร็จราชการเมืองเชียงทองขึ้นแก่เมืองตาก
ถือศักดินา ๘๐๐ ตั้งแต่ ณ วัน ๒ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๑ ปีมโรง สัมฤทธิศก จ.ศ.๑๒๓๐"


ดังนั้นเมืองเชียงทองในสมัยนี้น่าจะอยู่ไม่ไกลจากเมืองตากเท่าใดนัก
และเข้าใจว่าทั้งเมืองเชียงเงินและเมืองเชียงทองทั้งคู่ต่างก็เป็นเมืองขึ้นของเมืองตากเมืองหน้าด่านที่สำคัญ


ที่น่าแปลกใจคือในพระราชนิพนธ์เรื่องเที่ยวเมืองพระร่วง ให้ข้อมูลที่ดูเหมือนว่าในสมัยรัชกาลที่ ๖ เชียงทองเป็นเมืองที่ไม่มีใครรู้จักเสียแล้ว

ต่อมาเมื่อได้ทราบกระแสพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวในเรื่องเมืองเก่า จึงได้กลับความคิดเห็นว่าพระแก้วมรกตคงจะได้มาประดิษฐานไว้ที่ในวัดหนึ่งใน เมืองนครปุ คือเมื่อพระแก้วมรกตมาอยู่กำแพงเพชรนั้น เมืองกำแพงเพชรใหม่ยังไม่ได้สร้างขึ้น ครั้นได้ตรวจหนังสือในหลักศิลาจารึกว่าด้วยสุโขทัยมีปรากฏอยู่ว่า เมืองกำแพงเพชรเวลานั้นยังเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ห่างลำน้ำแควน้อยจึงได้ไป ขึ้นเรือที่เชียงทอง ซึ่งเข้าใจอยู่ว่าอยู่เหนือกำแพงเพชรขึ้นไป
.
.
.
ยังมีสิ่งที่ทำให้น่าเชื่อมากขึ้นคือ ถนนระหว่างกำแพงเพชรกับสุโขทัยนั้นได้ผ่านไปใกล้เมืองย่อมๆ ๓ เมือง ตรงตามความในหลักศิลา แต่เมื่อข้าพเจ้าเดินตามถนนนั้นได้เห็นปลายถนนทางด้านตะวันตก ไปหมดอยู่เพียงขอบบึงใหญ่อันหนึ่ง ห่างจากเมืองกำแพงเพชรกว่า ๑๐๐ เส้น พระวิเชียรปราการแสดงความเห็นว่าน่าจะทำข้ามบึงไป แต่น้ำได้พัดทำลายไปเสียหมดแล้ว ข้อนี้ก็อาจจะเป็นได้ แต่ข้าพเจ้ายังไม่สู้จะเชื่อนัก ยังนึกสงสัยอยู่ว่าคงจะมีต่อไปจนถึงเมืองเชียงทอง ซึ่งเป็นเมืองท่าเรือ ถามถึงเมืองเชียงทองแต่เมื่ออยู่เมืองกำแพงเพชรก็ยังไม่ได้ความ ครั้นจะอยู่รอค้นหาต่อไปก็ไม่มีเวลาพอ จึงได้ขอให้พระวิเชียรปราการจัดหาคนที่รู้จักภูมิประเทศ เที่ยวตรวจค้นดูทางเหนือเมืองกำแพงเพชรขึ้นไป ว่าจะหาที่อะไรที่พอจะสันนิษฐานว่าเป็นเมืองได้บ้างหรือไม่ แล้วก็ออกเดินทางต่อไป
.
.
.
ฝ่ายพระวิเชียรปราการได้ไปด้วย ถึงที่บ้านพรานกระต่ายพบสนทนากับขุนภักดีนายอำเภอ ตกลงสั่งให้ขุนภักดีไปตรวจค้นหาเมืองตามที่ข้าพเจ้าแนะนำ ขุนภักดีได้ไปเที่ยวตรวจค้นจนพบ แล้วรีบตามไปที่สวรรคโลก บอกว่าได้พบเมืองโบราณเมืองหนึ่งอยู่เหนือเมืองกำแพงเพชรขึ้นไปประมาณ ๒๐๐ เส้นเศษ เป็นเมืองย่อมๆเป็นคูและเทินดิน ราษฎรตามแถบนั้นเรียกว่าเมืองเทินทอง หรือชุมนุมกองทอง เมืองนั้นตั้งอยู่ริมลำน้ำเรียกว่าคลองเรือ ปากคลองทะลุลำน้ำแควน้อย และมีถนนจากเมืองนั้นไปทางตะวันออกเฉียงใต้ แต่มาขาดเสียกลางทาง นี่เป็นพยานอยู่ว่า การที่สันนิษฐานไว้นั้นถูกต้องแล้ว และถนนคงจะได้มีมาจนต่อกับที่ขาดอยู่ที่บึงอยู่นั้น ส่วนเมืองกองทองหรือเนินทองนั้นข้าพเจ้าเชื่อว่าคือเมืองเชียงทองที่กล่าว ถึงในหลักศิลานั้นเอง เพราะฟังดูภูมิฐานที่ตั้งก็ดูเหมาะกับที่จะเป็นเมืองท่าเรือทะเล และที่นี้เองน่าจะเป็นเมืองเชียงทองที่กล่าวถึงอยู่หลายแห่งในพระราช พงศาวดารกรุงทวาราวดี และน่าจะเป็นเมืองนี้เองที่กล่าวถึงในเรื่องขุนช้างขุนแผน
.
.
.
แต่ต้องขอแก้ตัวไว้ในที่นี้ว่าบางทีจะมีบกพร่องอยู่มาก เพราะประการหนึ่งเวลามีน้อยอยู่สักหน่อย เพราะฉะนั้นบางทีมาได้ข่าวถึงสถานที่สำคัญๆเมื่อเดินพ้นมาเสียแล้ว จะย้อนกลับไปก็ไม่มีเวลาเช่น เมืองเชียงทองพึ่งมาได้ข่าวมีเมื่อมาอยู่ที่สวรรคโลกแล้ว และถ้ำพระรามใกล้สุโขทัยซึ่งกล่าวถึงอยู่ในศิลาจารึก และซึ่งข้าพเจ้าตั้งใจไว้ว่าจะไปแต่หาไม่พบ จนเมื่อมาอยู่ที่พิษณุโลกแล้วจึงได้ข่าวว่ามีดังนี้เป็นตัวอย่าง อีกประการหนึ่ง ตามสถานที่เหล่านี้ไม่ใคร่มีใครไป จึงเป็นการลำบากในการค้นหาเป็นอันมาก บางแห่งต้องหักร้างถางพงเข้าไป ไปกว่าจะถึงก็ยากนัก ซึ่งทำให้สงสัยอยู่ว่าตามในที่รกๆซึ่งยังเข้าไปไม่ถึงนั้นน่าจะมีสิ่งที่ควร ดูอยู่อีกบ้าง


คัดมาจาก บล็อกของคุณกัมม์
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 27 ต.ค. 09, 13:39

ขอเพิ่มเติมเรื่องค่ายปิหลั่น

ปิหลั่น มาจากภาษามลายูว่า apilan แปลว่า เกราะสำหรับป้องกันกระสุนปืนใหญ่
ใน พจนะภาษา ของอ.เปลื้อง ณ นคร ท่านอธิบายความหมายไว้ว่า
ปิหลั่น หมายถึง ป้อมปราการที่สามารถเคลื่อนย้ายเข้าหาข้าศึกได้  วิหลั่น ก็เรียก
ถ้าอ่านตามนี้  ก็ยังไม่เห็นว่า ปิหลั่น มีลักษณะอย่างไร  เลยลองไปค้นในหนังสือเล่มอื่น พอได้ความจากบทละครในเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ ตอนท้าวกะหมังกุหนิงยกทัพตีเมืองบุหราหงัน ว่า

บัดนั้น                            พวกทัพหน้าทัพหนุนแน่นเนือง
ขุดดินค่ายตับขยับเยื้อง       ถึงมุมเมืองคูคั่นชั้นใน
ทำหอรบเสร็จสรรพ์วิหลั่นบังยกตั้งประชิดเข้าไปใกล้
เกณฑ์ขึ้นคอยประจำไว้        ปืนใหญ่ยิงตอบกันไปมา

บัดนั้น                             ชาวเมืองซึ่งประจำหน้าที่
สอดแทงแย้งยิงไพรี            ไม่ท้อถอยคอยทีต้านทาน
วางปืนตับตอบรอบค่าย        คนรายรักษาหน้าด้าน
ชักปีกกากั้นประจัญบาน        ยกกระดานขึ้นตั้งบังตน
บนหอรบเรียงปืนใหญ่ยิง       บ้างทุ่มทิ้งหินผาดังห่าฝน
ตัวนายรายกำกับพวกพล       ต่างคนคอยรบรับไว้ ฯ

บัดนั้น                              ท้าวพระยาสามนต์น้อยใหญ่
ฟังกำหนดพจนารถภูวไนย     ก็ตรวจตราหาไพร่ให้พรั่งพร้อม
เร่งตั้งค่ายรายรอบกำแพงเมือง  ยักเยื้องมิให้บังหน้าป้อม
ชักปีกกาถึงกันเป้นหลั่นล้อม   วงอ้อมโอบรอบขอบคู
ยกหอรบหอคอยลอยตระหง่าน  สับกระดานต้านตั้งบังอยู่
รั้วขวากชั้นในไว้ประตู           เสากระทู้เขื่อนขัณฑ์มั่นคง
ทุกหน้าค่ายภายนอกออกไป   ก็โค่นไม้ขุดตอไม่หลอหลง
ฉายจอมปลวกปราบราบลง    ให้เตียนตรงป้อมปืนในพารา
สนามเพลาะในค่ายรายปืนน้อย  วางคนประจำคอยอยู่รักษา
แล้วนายกองรีบรัดจัดโยธา      เป็นหมู่หมวดตรวจตราทุกราตรี ฯ

บัดนั้น                                ดะหมังรับสั่งใส่เกศา
ออกมาเกณฑ์กันดังบัญชา       ให้โยธาถางที่นี่นัน
ทำค่ายหน้าค่ายหลังตั้งบรรจบ   ยกหอรบขึ้นปรับสับวิหลั่น
ชักปีกกาขึงไปถึงกัน               ผูกราวสามชั้นขันชะเนาะ
หว่างปอมเป็นจังหวะระยะแย่ง   ใส่บังตางาแซงมั่นเหมาะ
พูรดินเต็มตามสนามเพลาะ      ไม้ไผ่เจาะรวงปล้องเป็นช่องปืน
บ้างปลูกโรงรถคชา                ทั้งที่ผูกช้างม้ามิให้ตื่น
เสาตะลุงหลักแหล่งแปลงปืน     พ่างพื้นปราบเลี่ยนเตียนตา
บ้างเร่งทำตำหนักน้อยใหญ่       เพิงรายรอบในซ้ายขวา
ข้างนอกค่ายปักขวากดาษดา     ชักเขื่อนเข้าหาประจบมุม
บ้างจัดคนลำลองทุกกองเกณฑ์  ออกตระเวนนั่งทางวางหลุม
คอยเล็ดลอดสอดแนมจับกุม      ชั้นในให้ประชุมจตุรงค์ ฯ

จากกลอนข้างต้นที่ยกมา  พอสรุปได้ว่า ปิหลั่น หรือ วิหลั่น คงมีลักษณะเป็นไม้กระดานยกเคลื่อนที่ได้ ใช้ทำเป็นป้อมล้อมรอบหอรบ ป้องกันกระสุนปืนใหญ่ได้  เข้าใจว่าคงจะเป็นไม้กระดานขนาดใหญ่ยาวหนาและหนักมากพอสมควร  นับว่าเป็นยุทโปกรณ์สมัยโบราณที่คนสมัยก่อนเข้าใจคิดทำขึ้น  ปิหลั่นที่ว่ามานี้คงจะใช้มาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น  เสียดายว่าไม่มีรูปให้ดู  เลยได้แต่คาดคะเนรูปร่างปิหลั่นไปตามจินตนาการเท่านั้น.
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 27 ต.ค. 09, 16:12

เมื่อกี้พิมพ์ยาว  พอส่งเว็บก็ขัดข้องพอดี  เรียกคืนไม่ได้ด้วย  ต้องก้มหน้าก้มตาพิมพ์ใหม่
คำอธิบายของคุณหลวงเล็ก น่าทึ่งมาก ขอบคุณที่ไปค้นคว้ามาให้     ดิฉันอยากเห็นรูปปิหลั่นจริงๆ  ไม่รู้ว่ามีอยู่ในภาพผนังโบสถ์รามเกียรติ์หรือเปล่า    ในเมื่อเป็นเรื่องรบกันตลอด  น่าจะมีปิหลั่นแทรกอยู่บ้างก็ได้

ข้อสังเกตของคุณม้าน่าสนใจมาก   เพราะจากข้อมูลของคุณเงินปุ่นสี   เชียงทองเหมือนจะเป็นเมืองที่มหาดไทยในรัชกาลที่ ๕ รู้จักดี
ผู้สำเร็จราชการ เป็นพระสุวรรณราชธานี  ยศและศักดินาประมาณเจ้าเมืองของหัวเมืองชั้นโท   สะดุดตาว่าเมืองนี้น่าจะสำคัญมาก่อน  เพราะราชทินนามคือ "สุวรรณราชธานี"   ถ้าไม่สำคัญ  คงเป็น "สุวรรณธานี" เท่านั้น
แต่ทำไมมาถึงรัชกาลที่ ๖  สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ไม่ทรงรู้จัก    คุณพระสุวรรณฯ คนเดิมอาจตายไปแล้ว แต่คุณพระสุวรรณฯคนใหม่ล่ะคะ ไปไหน
หรือว่าเป็นคนละเมืองกัน?
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 27 ต.ค. 09, 17:24

จากศึกเชียงทองนี้เอง    ตัวละครนำฝ่ายหญิงอีกคนก็เปิดตัวขึ้นมา  เป็นสาวเหนือชาวเมืองจอมทอง
ชื่อเธอก็ประกาศความเป็น "ลาว" เต็มตัว   คือกวีตั้งชื่อให้ว่า "ลาวทอง"
อ่านมาถึงตอนนี้ก็สงสัยขึ้นมาอีกแล้วว่า ชื่อ "ลาวทอง " เป็นชื่อที่กวีไทยชาวกรุงเทพตั้งให้สาวชาวล้านนา  เพื่อบ่งบอกชาติพันธุ์วรรณาของเธอ  หรือไม่  เพราะชื่อนี้ ไม่น่าจะเป็นชื่อท้องถิ่นของล้านนา
ผิดกับชื่อพ่อ   คือแสนคำแมน   ส่วนแม่ชื่อศรีเงินยวง ฟังเป็นภาษาไทยกลาง
พี่เลี้ยงชื่อนางวันกับนางเวียง   มีกลิ่นอายของทางเหนืออยู่บ้าง

จอมทองที่เป็นถิ่นเกิดของลาวทอง  ก็น่าจะเป็นอ.จอมทอง ในจ.เชียงใหม่
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 16
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.075 วินาที กับ 20 คำสั่ง