เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 16
  พิมพ์  
อ่าน: 60630 ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 13 ต.ค. 09, 17:08

ต่อจากกระทู้นี้
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2935.msg55615;topicseen#msg55615

มาเกริ่นไว้ก่อน ว่าชาติพันธุ์ที่สอง ในขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุด  คือลาว
ในเรื่องนี้แบ่งได้เป็น ๒ เชื้อชาติ   เรียกว่าลาวเหมือนกัน แต่ในภูมิหลังเป็นคนละอาณาจักรกัน
คือ  ลาวล้านนา (ในเรื่องเรียกว่า ลานนา)   
และ ลาวล้านช้าง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 13 ต.ค. 09, 17:21

ตั้งข้อสังเกตโดยไม่มีคำตอบ ไว้ข้อหนึ่งว่า ทั้งๆที่ไทยเป็นคู่รบกับพม่ามายาวนานหลายร้อยปี   แต่ในขุนช้างขุนแผน  ไม่มีการเอ่ยถึงพม่าในฐานะข้าศึกให้ขุนแผนได้โชว์ฝีมือรบเลยสักครั้ง
มีแต่การรบกับทางเหนือ คือเชียงใหม่  ซึ่งแยกเป็นอาณาจักรอิสระ  ไม่ได้ขึ้นกับอยุธยา

เชียงใหม่ในยุคของขุนช้างขุนแผน มีกษัตริย์คือพระเจ้าเชียงอินทร์ครองอยู่     ในเรื่องตอน"พลายแก้วถูกเกณฑ์ทัพ"  เรียกเชียงใหม่ว่า "ลาว"  เต็มปาก  ถือว่าเป็นคนละชาติพันธุ์กับ "ไทย" หรือ "ใต้"  ซึ่งในเรื่องหมายถึงอาณาจักรอยุธยา

วันหนึ่งเสด็จออกขุนนางแน่น                            พร้อมท้าวแสนเพี้ยลาวเหล่าทหาร
หมอบราบกราบเต็มหน้าพระลาน                       เกษมศานติ์ด้วยมุขมาตยา
พอสองลาวนำข่าวหนังสือบอก              ว่าเชียงทองกลับกลอกนอกหน้า
ไปขึ้นบุรีศรีอยุธยา                                          ไม่เกรงเดชาบารมี
นำเครื่องบรรณาการไปเวียงใต้            กรุงไทยส่งเสริมเพิ่มศักดิ์ศรี
ดูกำเริบเอิบใจใช่พอดี                                      จะนำไทยมาตีบุรีเรา
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 13 ต.ค. 09, 21:49

ทีแรก สงสัยว่าเชียงทอง คือเมืองอะไร     ไปค้นดู   หมายถึงหลวงพระบาง
ถ้าเข้าใจผิด  ท่านที่ทราบ ช่วยแก้ไขให้ด้วยนะคะ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 13 ต.ค. 09, 22:56

เชียงทองนี้เป็นเมืองต่อแดนกรุงศรีอยุธยา(?)กับล้านนา ไม่ใช่หลวงพระบางครับ

ชื่อนี้ปรากฏในจารึกวัดป่ามะม่วง

เมื่อเวลาที่นำสมเด็จพระมหาเถระกับพระภิกษุสงฆ์ทั้งปวงมา พระบาทกัมรเดงอัญ ทรงใช้ให้จัดหมาก ข้าวตอก เทียน ธูป ดอกไม้ กัลปพฤกษ์ ปลูกสร้าง…ทำการบูชาตลอดหนทาง ใช้ให้อำมาตย์มนตรีราชสกุลทั้งหลายไปต้อนรับ บูชาสักการะจากเมืองฉอดมาถึงเมืองเชียงทองถึงเมืองบางจันทร์บางพารแล้วถึงเมืองสุโขทัยนี้

ดูในแนวเส้นทาง เชียงทองในจารึกนี้ควรอยู่ในเขตจังหวัดตากครับ

ถ้าพิจารณาเมืองเชียงทองในขุนช้างขุนแผนว่าเป็นเมืองต่อแดนอยุธยา-ล้านนา โดยทางภูมิศาสตร์ก็เป็นไปได้ว่าจะหมายถึงเมืองเชียงทองในจารึกนี้ครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 14 ต.ค. 09, 04:02

ถ้าเป็นเมืองหลวงพระบาง มักเรียกกันเป็นคู่ครับ คือ เชียงดง-เชียงทอง

เชียงทองในบทกลอน น่าจะเป็นตามที่คุณ CrazyHOrse ว่าไว้ครับ

ผม ไม่แน่ใจว่า ตำแหน่งของเมืองนี้ ปัจจุบันตรงกับแห่งหนตำบลใด แต่ว่าในจังหวัดตากมี ต.เชียงทอง อยู่ใน อ.วังเจ้า ครับ

ถ้าผมจำไม่ผิด แผนที่อยุธยา ในสมุดภาพไตรภูมิ จะมีตำแหน่งของเมืองเชียงทองอยู่ด้วย คุ้นๆ ว่าอยู่ไปทางชายแดนพม่านี่แหละครับ

เสียดาย หนังสือไม่ได้อยู่กับตัว เลยไม่สามารถนำภาพมาให้ดูได้

จากข้อสังเกตของอาจารย์เกี่ยวกับคู่สงครามของขุนแผนไม่ใช่พม่า ก็อาจใช้เป็นการกำหนดอายุฉากในเรื่องขุนแผนได้ว่า ต้องเป็นก่อนเสียกรุงครั้งที่ ๑ ส่วนจะตรงกับสมัยกษัตริย์องค์ใดนั้น ผมจำไม่ได้เสียแล้ว ทราบแต่ว่า มีผู้ศึกษาไว้แล้ว (ท่านใดทราบ ก็เล่าต่อได้เลยครับ อิอิ ผมจำได้เลาๆ ว่าเป็นการวิเคราะห์จากฉากลักพาตัว ... ไม่แน่ใจครับ)

เรื่องอยุธยารุกขึ้นเหนือนี้ น่าจะเด่นชัดตั้งแต่รัชสมัยของสมเด็จพระบรมราชาธิราช เป็นต้นมา (สมัยสมเด็จพระรามาธิบดี ก็เริ่มรุกสุโขทัย) อยุธยาดำเนินนโยบายขยายอำนาจขึ้นไปทางเหนืออย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ได้สุโขทัย ขยับขึ้นไปเรื่อยๆ

ประเด็นนี้ อีกมุมหนึ่งก็มองได้ว่า อยุธยาได้ดินแดนรอบข้างมาไว้ในปกครองหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นนครศรีธรรมราช นครราชสีมา พระนครหลวง (คือ กรุงกัมพูชา) ดังนั้นจึงดำเนินยโนบายรวมภาคเหนือได้อย่างต่อเนื่อง

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 14 ต.ค. 09, 09:51

แวดล้อมอยู่ด้วยผู้รู้ก็ดีอย่างนี้เอง  ขอบคุณที่มาช่วยอธิบายค่ะ

ค่ะ มี ต.เชียงทองอยู่ในจังหวัดตาก      เป็นไปได้ว่ากวีผู้แต่งน่าจะหมายถึงเมืองนี้   เพราะอยู่ในเส้นทาง ที่อยุธยาจะแผ่อำนาจขึ้นไปถึง  ส่วนเชียงใหม่ก็แผ่อำนาจลงมาปกครองอยู่เช่นกัน

สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าไว้ใน "ตำนานเสภา"   ทรงอ้างอิงใน" คำให้การของชาวกรุงเก่า"   กล่าวว่าพระพันวษาเป็นพระราชบิดาของพระบรมกุมาร    พระบรมกุมารเมื่อขึ้นครองราชย์ มีมเหสีชื่อศรีสุดาจันทร์
ดังนั้น พระพันวษาคือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 
จึงทรงประมาณว่า ขุนแผนมีตัวตนอยู่ระหว่างจุลศักราช ๘๕๓ -๘๙๑  (พ.ศ. ๒๐๓๔- ๒๐๗๒)
มีเนื้อความในพงศาวดารเชียงใหม่ว่า พระเมืองแก้วเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ ทำศึกกับอยุธยาอยู่หลายคราว

ฉากในเรื่องน่าจะย้อนยุคไปถึงก่อนอยุธยาทำสงครามกับพม่า อย่างคุณ Ho ว่า   แต่รายละเอียดบางตอน กวีผู้แต่งก็แทรกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยร่วมสมัยที่แต่งเข้าไปด้วย
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 14 ต.ค. 09, 10:18

ขอแทรกถามอาจารย์ และท่านอื่นครับ ว่า

         แต่เดิมอยุธยาและชาติใกล้เคียงก็เรียกล้านนาว่า ยวน แล้วทำไมจึงกลายไปเป็น ลาว
ทุกวันนี้แทบไม่ได้ยินคำว่า ยวน กันแล้ว

         คืนวันอาทิตย์ มีรายการพาไปชมตลาดยวนเสาไห้ จ.สระบุรี ที่ซึ่งชาวยวนถูกกวาดต้อนมาอาศัยอยู่
กว่า ๒๐๐ ปี แต่ยังคงสืบต่อรักษาภาษาพูด และวัฒนธรรมไว้ได้อย่างน่าชื่นชม
         
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 14 ต.ค. 09, 10:21

คุ้นๆอยู่ว่าเรื่องนี้มีในพระราชนิพนธ์เรื่องเที่ยวเมืองพระร่วง ค้นดูก็เจอจริงๆ ดู ที่นี่ นะครับ

ผมเข้าใจว่าเมืองเชียงทองคงจะร้างไปนาน ชื่อนี้ถูกลืมเลือนไป และเมื่อ ร.๖ เสด็จในคราวนั้น ท่านทรงสันนิษฐานว่าเมืองกองทองคือเมืองเชียงทอง ชื่อเชียงทองที่เห็นในปัจจุบัน น่าจะถูกตั้งขึ้นในคราวนั้นเอง ถ้าคุณ V_mee ผ่านมา คงจะให้ความชัดเชนในข้อนี้ได้ครับ

นอกจากขุนช้างขุนแผนจะไม่ใหม่ไปกว่าเสียกรุงครั้งที่ ๑ ก็ต้องเรียกได้ว่าไม่เก่าไปกว่าตอนที่อยุธยาผนวกเอาสุโขทัยไว้ได้อย่างแนบแน่นแล้วด้วยครับ น่าจะหลังสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถขึ้นมาครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 14 ต.ค. 09, 19:01

คำว่ายวน  จำได้รางๆว่าเป็นคำเดียวกับโยนก     ข้อนี้ต้องถามคุณ Ho  ว่ายวนหายไปตั้งแต่เมื่อไร   กลายเป็นลาวเข้ามาแทนที่

เห็นด้วยกับคุณม้าเรื่องฉากยุคสมัยของขุนช้างขุนแผน  เป็นยุคหลังพระบรมไตรฯ    เพราะในเรื่อง มีบทบาทพระยาสุโขทัย เป็นเจ้าเมือง   ขึ้นตรงกับอาณาจักรอยุธยาไปแล้ว
บันทึกการเข้า
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 15 ต.ค. 09, 04:58

ถ้าตามที่ผมเข้้าใจนะครับ ชื่อ โยนก หรือ ยวน (บาลี อ่าน ยะวะนะ ; ไทย อ่าน ยวน) ล้วนมาจากชื่อ โยน ซึ่งเป็นชื่อเดิมของเผ่าไท ที่ลงมาตั้งถิ่นฐานแถบทางเหนือของประเทศไทย

สมัยก่อน การแต่งตำนาน มักจะเอาเรื่องของท้องถิ่นไปผูกเข้ากับเรื่องราวทางพุทธศาสนา ดังนั้น ชื่อเมืองท้องถิ่นจึงถูกแปลงให้เป็น "สำเนียงบาลี"

จากโยน ก็เทียบเสียงกับแคว้น โยนก หรือ ยวน ที่มีอยู่แล้วในตำนานทางพุทธศาสนา อันหมายถึงดินแดนแคว้นแบคเตรียในอัฟกานิสถาน-อุซเบกีสถาน
ชื่อ ยวน (Yavana) เป็นสำเนียงแขกที่เรียกกรีกครับ โดยมุ่งเรียกขานกรีกเผ่าไอ-ออน (Ion)

ส่วนทางอยุธยาจะเรียกล้านนาว่าลาวตั้งแต่เมื่อไหร่นั้น ผมไม่ทราบเหมือนกันครับ แต่คิดว่าคงตั้งแต่สมัยพระเจ้าไชยเชฏฐาธิราช ที่ครองหลวงพระบาง-เชียงใหม่ มั้งครับ เป็นเพราะสมัยที่กษัตริย์ลาวได้มาครองเชียงใหม่ โดยการเกี่ยวดองกันทางเครือญาติ

เคยอ่านจากไหนจำไม่ได้เสียแล้ว เห็นว่า คนล้านนาเอง ก็ไม่ได้เรียกตัวเองว่าลาว และในทางตำนานก็เรียกตัวเองว่า ยวน หรือ โยนก

ถ้าจำไม่ผิด สมัยรัชกาลที่ ๕ กรุงเทพฯ ก็ยัง เรียกคนภาคเหนือว่า ลาว .... อันนี้ไม่แน่ใจนะครับ ร้างเรื่องประวัิติศาสตร์ไปหลายปี ชักเลือนๆ แต่ยังไม่เลอะเลือน อิอิ  ยิงฟันยิ้ม

นึกได้อีกว่า กษัตริย์ในตำนานของเชียงใหม่ มีพระนามนำหน้าว่า "ลาว" อยู่ไม่น้อย

ต้นวงศ์ของพญามังราย ก็มีคำว่า ลาว อยู่ในพระนาม คือ ปู่เจ้าลาวจก
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 16 ต.ค. 09, 13:47

ผมไปเปิดสมุดภาพไตรภูมิสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี เล่ม ๑ เล่ม ๒ ดู ปรากฏตำแหน่งเมืองเชียงทอง อยู่เหนือเมืองกำแพงเพชรขึ้นไปในฝั่งแม่น้ำเดียวกัน และอยู่ก่อนถึงเมืองแม่ตางหรือแม่ตาก สงสัยว่าคือเมืองตากกระมัง ดังนั้น ที่ว่ามี ต.เชียงทองอยู่ในจังหวัดตาก เป็นไปได้ว่ากวีผู้แต่งน่าจะหมายถึงเมืองนี้   เพราะอยู่ในเส้นทาง ที่อยุธยาจะแผ่อำนาจขึ้นไปถึง  ส่วนเชียงใหม่ก็แผ่อำนาจลงมาปกครองอยู่  ก็น่าจะถูกต้อง

ส่วนเรื่อง โยนก หรือ ยวน ที่ใช้เรียกหัวเมืองล้านนานั้น  เป็นชื่อที่ปรากฏในตำนานที่แต่งเป็นภาษาบาลี  คนแต่งตำนานคงเทียบชื่อบ้านเมืองในสุวรรณภูมิกับดินแดนชมพูทวีปโดยยึดเอาทิศทางเป็นเกณฑ์ 

ฉากที่เกี่ยวกับล้านนาในเสภาขุนช้างขุนแผน  แน่นอนว่าต้องเป็นหลังสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ  ต้องข้อสังเกตต่อไปว่า  ในฉากของเหตุการณ์ตัวละครเป็นเรื่องที่น่าจะเกิดสมัยอยุธยาตามการรับรู้ผ่านคำบอกเล่าหรือตำนานหรือเอกสารที่จดบันทึก  แต่สิ่งที่ผู้แต่งเสภานำมาเขียนเกี่ยวกับล้านนาอาจจะเป็นการรับรู้เรื่องราวล้านนาในสมัยกรุงธนบุรีเรื่อยมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นก็เป็นได้  เนื่องจากล้านนาเพิ่งฟื้นม่านและเข้ามาสวามิภักดิ์กับทางบางกอก  และต้องไม่ลืมว่า ก่อนหน้านั้นล้านนาเองตกอยู่ในการปกครองของพม่าประมาณ ๒๐๐ ปี แล้วจึงจะมาอยู่ในฐานะประเทศราชของสยาม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 19 ต.ค. 09, 21:42

ในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ  อยุธยาเรียกล้านนาว่า "ยวน" เห็นได้จาก "ลิลิตยวนพ่าย"  แต่กวีที่แต่งขุนช้างขุนแผน ไม่ใช้คำนี้เลย  แสดงว่า กว่าจะมาถึงยุครัตนโกสินทร์  คำว่า "ยวน" หายไปจนจำกันไม่ได้แล้ว

พระเจ้าเชียงอินทร์ คู่สงครามของพระพันวษา   ครองราชย์ยาวนานเอาการ   เพราะเมื่อเริ่มศึกกับเชียงทอง  พลายแก้วเป็นหนุ่มเพิ่งแต่งงาน 
พระองค์ก็ครองราชย์มาจนกระทั่งพลายแก้วกลายเป็นขุนแผน ติดคุกจนลูกชายโตเป็นหนุ่ม  ก็เกิดศึกกันอีกครั้ง    เชียงใหม่เป็นฝ่ายแพ้   
พระเจ้าเชียงใหม่กลายเป็นพ่อตาของพลายงามไปในที่สุด

ศึกเชียงใหม่ในตอนแรก     กวีผู้แต่งตอนนี้ คงเป็นชาวภาคกลาง อาจจะคนกรุงเทพนี่เอง    การบรรยายจึงออกมาเป็นภาษาไทยกรุงเทพล้วนๆ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 20 ต.ค. 09, 09:35

น่าสังเกตว่าในยวนพ่าย ใช้ ยวน และ ลาว ปะปนกันครับ

อาจจะต้องไปค้นดูว่าวรรรคดีสมัยพระนารายณ์มีส่วนที่กล่าวถึง ยวน บ้างหรือไม่นะครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 22 ต.ค. 09, 15:56

พลายแก้วยกทัพจากอยุธยา ไปตีเชียงทอง ในเรื่องบอกเส้นทางเดินทัพไว้สั้นๆว่า  จากอยุธยาไปทุ่งโสภา   ไปบ้านกระทง ตรงไปท่าโพธิ์   ถึงโพธิ์สามต้นก็ค่ำพอดีจึงหยุดทัพเสียคืนหนึ่ง   เช้าก็ตรงขึ้นไปนครสวรรค์ แต่ไปทางบก เป็นทางลัดฝ่าดงไป  ไม่ล่องไปตามลำน้ำ
จากนครสวรรค์ไปกำแพงเพชร  ระแหง และเถินตามลำดับ  ก็ระดมพลจากทั้งสามเมือง ไปตีเชียงทอง งั้นเชียงทองก็อยู่เหนือเถินขึ้นไป

ถ้าใครนึกเส้นทางนี้ออก  ช่วยอธิบายต่อให้ด้วยได้ไหมคะ

ในตอนนี้มีบทชมไพรบทหนึ่งแทรกอยู่      ฝีมือกวีระดับเทพ   จนต้องเดินออกซอยแยก เล่าสู่กันฟังเสียหน่อย   ขอวางมือจากเรื่องลาวชั่วคราว
บทชมไพร สำนวนเหมือนอิเหนา ในรัชกาลที่ ๒ มาก  เพราะบทชมนกชมไม้  คล้ายคลึงกันคือนิยมเล่นเสียงให้ชื่อนกกับชื่อต้นไม้สอดคล้องกัน        แต่กลอนในอิเหนามีลักษณะเป็นระเบียบตายตัว  คือนกยูงจับอยู่บนต้นยูง  นกยางก็ต้องจับบนต้นยาง    ผิดกับเสภาที่ยืดหยุ่นให้สมจริงมากกว่า   เห็นขนบข้อนี้เฉพาะบางวรรค

นกเขาจับข่อยอยู่เคียงคู่                  ผัวมาอยู่ไกลพิมเจ้าเหลือแหล่
คับแคทำรังบนต้นแค                      พี่ห่างแหหอเหินมาเดินไพร
กระลุมพูจิกพวงชมพูเทศ       สังเกตเหมือนผ้าชมพูพิสมัย
พะยอมหอมหวนมายวนใจ      เหมือนกลิ่นสไบเจ้ายังติดมา
หอมกลิ่นบุปผชาติดาษลง      เหมือนกลิ่นแก้มพี่หลงตะลึงหา
นกแก้วจับแก้วแจ้วเจรจา     เวทนาน้องจะพูดกับผู้ใด
นกขมิ้นบินจับต้นมะเดื่อ                   โอ้ว่าเนื้อเจ้าจะหมองไม่ผ่องใส
จะเมินหมางขมิ้นทาระอาใจ     โอ้เจ้าพิมพิลาไลยของผัวอา
พิศพรรณพฤกษามาตามทาง     มะปรางเปรียบแก้มนางทั้งซ้ายขวา
อินพรมนมสวรรค์จันทน์คณา     พี่จนกระแจะจันทน์ทาทุกอย่างไป
เห็นกระทุ่มพุ่มชัฏระบัดตั้ง   เหมือนผมพิมเจ้าสะพรั่งเพราไสว
เปล่าจิตคิดเย็นยะเยือกใจ   สักเมื่อไรจะได้พบเจ้าพี่อา
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 22 ต.ค. 09, 16:38

มีข้อสังเกตเรื่องการใช้คำ
คือ  "อินพรมนมสวรรค์จันทน์คณา"   ในตอนชมไพรข้างบน  ทำให้นึกถึงตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง   ที่ว่า "แทงทวยทอดอินพรมนมสวรรค์"
รู้ว่า "อิน" เป็นต้นไม้ชนิดหนึ่ง   และ"นมสวรรค์"  ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง   แต่ พรม หรือพรหม ไม่รู้ว่าต้นอะไร
อย่างไรก็ตาม สังเกตว่า กวีที่ใช้ อินพรมนมสวรรค์ น่าจะใช้ศัพท์ด้วยความคุ้นเคยในตอนหนึ่ง  และมาใช้ด้วยความคุ้นเคยในอีกตอนหนึ่ง
ขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง ว่ากันว่าเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒    ถ้าอย่างนั้น ตอนพลายแก้วไปทัพ  จะเป็นพระราชนิพนธ์เช่นกันได้หรือไม่    ฝากคำถามแรกไว้ก่อนค่ะ
แล้วจะมาต่อว่า  ทำไมถึงสงสัย   นอกเหนือจากศัพท์แค่วรรคเดียว       เหตุผลคือฝีมือของกวีที่แต่งตอนนี้  เชี่ยวชาญทางศัพท์และภาษาอย่างหาตัวจับยาก
ขอพิมพ์ตัวอย่างมาให้อ่าน เป็นยิงทีเซอร์ก่อนนะคะ

ยางยูงสูงโยนโอนสะบัด                         พระพายพัดเอนลู่ดูสะพรั่ง
ลมกระแทกแตกลั่นสนั่นดัง                      ถูกรังหนูพุกยุ่งสยุมพู
ปลายทอดยอดแยะตลอดไส้                   เป็นตะไคร่คราบเคอะออกเยอะอยู่
กระแตตามกระรอกมาเข้าคารู                  งูเขี้ยวเลี้ยวไล่ตลอดปลาย

กวีไทยไม่กี่คน ที่บรรยายกลอนออกมาเห็นภาพเคลื่อนไหวและสรรพเสียงออกมาได้แจ่มชัดขนาดนี้   ใช้คำแค่ ๒ บทเท่านั้นเอง
พูดอย่างไม่เกรงใจว่า กวีคนนี้จะเป็นใครก็ตาม  มือเหนือชั้นกว่าสุนทรภู่เสียอีก
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 16
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.071 วินาที กับ 19 คำสั่ง