เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9 ... 16
  พิมพ์  
อ่าน: 60624 ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 90  เมื่อ 31 ต.ค. 09, 21:18

วิกปิดหนึ่งวัน    ลาวทองก็เข้าวังหลวงไปแล้ว

วันดีไปคลองถมดีกว่า
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 91  เมื่อ 01 พ.ย. 09, 07:52

เรื่อง "ลาว" กับ "ยวน" นั้น
ถ้าเป็นคนล้านนาจะเรียกตัวเองว่า "ยวน" ซึ่งมาจากโยนก
ส่วนคำว่า "ลาว" ที่หมายถึงชาวโยนกนั้นเป็นคำทีใช้กันมาแต่สมัยอยุธยา 
เรื่องนี้พระยาอมรฤทธิ์ธำรง (พร้อม  ณ ถลาง) อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่  ได้กล่าวไว้ว่า  เป็นคำเชิงดูหมิ่นพวกล้านนาที่รบกับพม่าไม่ทันไรก็เลิกรบ  ยอมแพ้เอาง่ายๆ  และตกเป็นเมืองขึ้นของพม่ามาแต่ก่อนเสียกรุงครั้งแรก
ต้อมาในรัชกาลที่ ๕ เมื่อมีการตกลงทำสัญญาเชียงใหม่กับอังกฤษแล้ว  จึงโปรดให้ขุนนางสยามขึ้นไปประจำรับราชการที่เชียงใหม่ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๑๗  ขุนนางสยามที่ขึ้นไปนั้นก็ตั้งที่ทำการอยู่ที่ริมแม่น้ำปิง  ตรงเชิงสะพานนวรัฐในปัจจุบัน  ฝ่ายพวกเชียงใหม่ก็คงอยู่กันแต่ในแนวกำแพงเมือง  มีการแบ่งกันเป็นไทยเป็นลาว  จนล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ เสด็จเลียบมณฑลพายัพใน พ.ศ. ๒๔๔๘  จึงมีพระบัณฑูรห้ามเรียกคนพื้นเมืองว่า "ลาว" อันเป็นการแบ่งแยกเชื้อชาติอีกต่อไป  จึงทไห้เกิดคำว่า "คนเมือง" ขึ้นนแทน

ในเมื่อชาวกรุงศรีอยุธยาเรียกคนล้านนาว่า "ลาว" มาตั้งแต่ก่อนเสียกรุงครั้งแรก  เรื่องขุนช้างขุนแผนก็น่าจะมีกำเนิดในยุตใกล้เคียงกันนั้น
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 92  เมื่อ 02 พ.ย. 09, 08:40

ขอเริ่มที่เรื่องเมืองเชียงทองก่อน  ตามที่ได้ค้นมาจากเอกสารที่พอจะหาได้และได้นำเสนอไปแล้วนั้น  ปรากฏว่ามีผู้เข้ามาอภิปรายกันมาก  ดีครับ  ในฐานะผู้นำเสนอข้อมูล  จริงๆ แล้วผมอาจจะตัดสินเรื่องที่ตั้งเมืองเชียงทองเร็วไป ทั้งที่เอกสารทั้งหลายก็ไม่ได้ระบุชัดเจน  จึงได้คิดต่อไปว่า  เป็นไปได้หรือไม่ว่า  เมืองเชียงทองซึ่งเป็นเมืองปลายแดนระหว่างล้านนากับอยุธยา  อาจจะเคยย้ายที่ตั้งเมืองมาก่อนที่จะตั้งอยู่ที่บ้านเชียงทองปัจจุบัน  จะเนื่องด้วยปัจจัยอะไรซึ่งไม่ทราบได้   

ส่วนเรื่องเมืองเชียงทองอยู่เหนือหรือใต้เมืองระแหงนั้น   ถ้าความคิดคนสมัยก่อน  การจะเดินทางไปเมืองอะไรไกลๆ สักเมืองคงเป็นเรื่องยากลำบากเอาการ เพราะต้องบุกป่าฝ่าดงไป ดีหน่อยก็ไปเรือ เท่าที่ดูจากสมุดภาพไตรภูมิก็ดี จากตำราพิไชยสงครามก็ดี  สมัยก่อนถ้าอยากจะรู้ว่าเมืองที่ไปนั้นไกลจากเมืองหลวงเท่าไร  เขาไม่บอกว่าไกลสักกี่โยชน์กี่เส้น แต่จะบอกว่าเมืองนั้นจะไปถึงต้องใช้เวลาเดินทางกี่วันจะไปถึง  และด้วยการเดินทางอย่างนี้  คนโบราณจึงกำหนดเอาที่ตั้งของเมืองจากการเดินทางจากเมืองหลวงเป็นหลัก  กรณีที่เดินทางไปเมืองใหญ่อย่างสุโขทัย พิษณุโลก นครราชสีมา คงจะกำหนดทิศทางง่ายกว่าทิศทางไปหัวเมืองเล็กปลายด่านแดน  การเดินทางไปหัวเมืองปลายแดนอาจจะต้องไปที่หัวเมืองใหญ่ที่อยู่ใกล้ก่อน แล้วค่อยถามเอาทิศทางจากคนในเมืองนั้นว่าจะไปถึงหัวเมืองนั้นต้องเดินทางอย่างไร ถ้ายังไม่ได้ความก็ถามเรื่อยไปจนกว่าจะถึง  บางทีก็เดินขึ้นเหนือลงใต้ หลีกภูเขาบ้างจนบางทีจับทิศทางของเมืองจุดหมายไม่ได้ว่ามันเหนือหรือมันใต้กว่าเมืองก่อน  คนสมัยก่อนไม่ได้มีแผนที่กางเดินสะดวกๆอย่างสมัยปัจจุบัน  ต้องอาศัยประสบการณ์เป็นหลัก 

อนึ่งพลายแก้วเองก็ไม่ใช่คนเมืองบน  เป็นคนเมืองใต้ และเพิ่งจะถูกเกณฑ์ให้มาเป็นแม่ทัพรบที่เมืองบนครั้งแรกในชีวิต ไม่รู้จักภูมิประเทศที่ตั้งเมืองเชียงทองมาก่อน การที่พลายแก้วรบชนะทัพเชียงใหม่เอาเมืองเชียงทองคืนมาได้คงต้องอาศัยความรู้ความสามารถที่ร่ำเรียนมามาก  การรบครั้งนี้อาจจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้พลายงามกราบบังคมทูลสมเด็จพระพันวษาให้ปล่อยตัวขุนแผนเพื่อให้เดินทางไปรบเมืองเชียงใหม่ด้วยกัน  เพราะพลายงามเองก็เป็นอย่างพลายแก้วที่ไม่เคยเดินทางขึ้นเหนือมาล้านนามาก่อนจำต้องอาศัยพ่อที่เคยเดินทางมาในแถบนี้  แน้นจึงสังเกตได้ว่า การเดินทางขึ้นเหนือทั้งสองครั้ง คือ คราวพลายแก้วมารบที่เมืองเชียงทอง กับคราวพลายงาม ขุนแผน และเหล่านักโทษ ๓๕ คนมารบเมืองเชียงใหม่  เป็นเส้นทางการเดินทัพแบบเดียวกัน

ถ้าว่า พลายแก้ว พลายงาม มีแผนที่ มีอินเทอร์เน็ต สะดวกสบายอย่างคนปัจจุบันจะต้องเดินทัพให้ไกลไปไยกัน
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 93  เมื่อ 02 พ.ย. 09, 09:03

เรื่อง "ลาว" กับ "ยวน" นั้น
ถ้าเป็นคนล้านนาจะเรียกตัวเองว่า "ยวน" ซึ่งมาจากโยนก

จิตร ภูมิศักดิ์เขียนไว้ในหนังสือเล่มเดียวกับที่อ้างไว้ใน #๗๒ เกี่ยวกับยวน, โยน, โยนก และคนเมือง ดังนี้

คำว่า ยวน หรือ โยน นี้ชาวภาคเหนือไม่เรียกตัวเอง เขาเรียกตนเองว่า คนเมือง. คำว่า ยวน-โยน เป็นคำที่คนอื่นเรียก.

โยนก ในรูปศัพท์บาลี ก ท้ายคำนั้นแปลว่า ชาว, โยนก จึงหมายถึง ชาวโยน, พวกไตลื้อสิบสองปันนาเรียกชาวล้านนาว่า ไตโยน หรือ ไตยน, เช่น โยนเจงใหม่ (โยนเชียงใหม่), โยนละกอน (โยนลำปาง, ชื่อเก่าของเมืองลำปางว่า ละกอน) เป็นต้น. แต่สระโอของภาษาไทยพายัพและไตลื้อนั้น สำเนียงลาวและไทยกลางเป็น อัว, เช่น หมากโม่ง ไทยว่า มะม่วง ฯลฯ คำว่า โยน จึงเป็นไทยกลางและลาวว่า "ยวน"

ยวน เป็นคำไทยภาคกลางที่เรียกชาวล้านนามาแต่ดั้งเดิมก่อนคำอื่น. "ลิลิตยวนพ่าย" ซึ่งแต่งเมื่อสมัยอยุธยาตอนต้นเล่าถึงการรบกับเชียงใหม่, เรียกไทยล้านนาว่า ยวน. ยวนพ่าย หมายความว่า ไตโยนแพ้.

ที่จริงแล้ว ชาวไทยล้านนาถือว่าตัวเองเป็น ไต, ไม่ได้เรียกตนเองว่า ลาว เลย. เขาเรียกตนเองว่า คนเมือง ประวัติความเป็นมาของชื่อ คนเมือง นั้น ทางหนึ่งกล่าวว่าเป็นชื่อที่เรียกเพื่อยืนยันว่าตนเป็นชาวเมืองมิใช่ชาวป่า - คนเมืองมิใช่คนป่า, อีกทางหนึ่งกล่าวว่าเกิดขึ้นในสมัยที่พม่าปกครองล้านนาเป็นเมืองขึ้น (จากราว พ.ศ. ๒๑๐๐ ลงมาถึงเกือบสองร้อยปี) ชาวไทยภาคเหนือเรียกชาวพม่าว่า คนม่าน และเพื่อแยกตัวให้ชัดว่ามิใช่คนม่านจึงได้เรียกตัวเองขึ้นว่า คนเมือง. แต่ผู้อธิบาย (สงวน สุขโชติรัตน์, ไทยยวนหรือคนเมือง, วารสารวัฒนธรรมไทย ฉบับประจำเดือนธันวาคม ๒๕๐๗.) ก็มิได้อธิบายแถลงว่าทำไมจึงเลือกเอาคำ คนเมือง มาใช้สำหรับตนเอง. และก็แปลกที่ทำไมจึงไม่ใช้คำว่า คนไต เสียตรง ๆ จะได้ตรงข้ามกับ คนม่าน; หรือว่าจะมุ่งแปลคำคนเมืองว่า คนพื้นเมือง, ซึ่งนี่เห็นจะไม่ใช่.



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 94  เมื่อ 02 พ.ย. 09, 10:09

เปิดวิก เช้าวันจันทร์
ยินดีที่มีผู้เข้ามาร่วมวงสนทนาเพิ่มค่ะ   แต่ละท่านก็หอบความรู้มาเต็มกระเป๋า เอามาเผื่อแผ่กัน
เป็นโอกาสให้เปิดกระทู้ (๓) ต่อไปในอนาคตอันใกล้

เรื่องภาษาของลาวทอง  ยังไม่มีใครมาไขข้อข้องใจว่าเป็นภาษาอีสาน หรือเหนือกันแน่  ขอคิดไปก่อนว่าเป็นอีสาน

อ้างถึง
ว่าพลางยกมือขึ้นไหว้วอน                               น้องห่อนที่จะเว้าเจ้านายเป็น
เลี้ยงน้องมาจนน้องเป็นสาว                             บ่าวใดก็มิได้มาเบิ่งเห็น
พ่อแม่ป้อนข้าวทุกเช้าเย็น                               กลางเวนกลางค่ำบ่เคยใคร
จะให้น้องไปเว้าเจ้านายทัพ                จะขอรองขอรับเป็นสังไหน
บ่ฮู้บ่หันประการใด                             น้องไปบ่ฮอดพี่นางวัน

อีกตอนคือ
ตัวข้อยจะประนอมยอมเป็นข้า               หมายว่าจะเมื้อถึงเมืองใต้

อีกตอนหนึ่ง
จากอกสองเฒ่ามาเว้าผัว                      ระวังตัวกลัวจะปะปิสังหั้น
เมื่อใหม่ใหม่ก็พิไรว่ารักกัน                     ครั้นถึงเวียงใต้ข้อยคิดกลัว

ก่อนอื่น  มาทำการบ้านที่คุณวันดีทิ้งไว้ให้  ที่ถามว่า
อ้างถึง
ห้ามเจ้าเจ้าก็ตามทรามถวิล                             ประมาทหมิ่นอาคมคารมเหลิง

อ่านในฉบับหอพระสมุด  เห็นพอเข้าเค้าตอนหนึ่ง ที่วันทองหาว่า พลายแก้วถูกเมียน้อยทำเสน่ห์

เห็นเราอะไรชังดังเห็นเสือ                    ถูกยาเบื่อแล้วหรือหม่อมเจ้าจอมผ้ว
มันแขวะควักออกให้กินจนสิ้นตัว             ซาบทั่วขนเข้ากระดูกดำ
สีหน้าฝ้าขลับจับจมูก                           ป้ายถูกริมฝีปากถลากถลำ
นานไปก็จะซานคลานระยำ                   มันจะซ้ำขี่คอเล่นต่างวัว

พลายแก้วเป็นคนมีอาคม   เมื่อถูกสบประมาทว่าถูกทำเสน่ห์(ซึ่งถือเป็นเรื่องต่ำ)  ก็โกรธพลุ่งพล่านขึ้นมา  กลายเป็นจุดแตกหักกัน
นึกคำตอบได้แค่นี้   ใครมองเห็นมากกว่านี้   ช่วยอธิบายต่อด้วยค่ะ
 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 95  เมื่อ 02 พ.ย. 09, 10:17

จะว่าไปบทบาทของลาวทองก็สำคัญไม่เบาเลยในตอนต้น    เรามักจะนึกถึงรักสามเส้า ระหว่างขุนช้าง ขุนแผนและวันทอง
แต่ไม่ค่อยมีใครนึกถึงสามเส้าอีกชุด คือขุนแผน วันทองและลาวทอง 
ที่จริงจุดแตกหักระหว่างขุนแผนกับวันทอง  มีตัวแปรสำคัญคือลาวทอง  ไม่ใช่ขุนช้าง
ถ้ามีแต่ขุนช้าง   ลาวทองไม่ได้แหวกม่านเรือออกมาเป็นเชื้อไฟให้วันทองหึงจนทะเลาะกับสามี     ขุนแผนก็คงเล่นงานขุนช้างที่จ้องตีท้ายครัวแต่ไม่สำเร็จจนแล้วจนรอด     พาวันทองกลับไปอยู่ด้วยกัน  แฮปปี้เอนดิ้งกันแค่นั้น

เป็นอันว่าแม่สาวลาวของเรา จุดชนวนระเบิดได้ผล
แต่หลังจากนั้นบทบาทของลาวทองก็เฟดเอาท์ออกไปจากเรื่อง     ถูกลงโทษส่งเข้าไปปักสดึงอยู่ในวังนมนานกาเล  ไม่มีบทบาทอะไรอีก    พ้นโทษออกมาก็มาอยู่เงียบๆในบ้าน
ไม่มีลูกกับขุนแผนเสียด้วย   ก็เลยไม่มีบทให้ต่อความยาว   จบชาติพันธุ์วรรณาลาวรุ่นใหญ่เพียงแค่นี้    ก่อนที่กวีจะยังติดใจศึกเชียงใหม่ แล้วสร้างตัวละครเอกมาอีก ๒ ตัว ให้มีบทยาวเหยียดในรุ่นลูก
คือเจ้าหญิงสร้อยฟ้า และเถรขวาด
คนหลังนี้  คนอ่านขุนช้างขุนแผนเห็นเป็นตัวผู้ร้าย  เป็นสมี เป็นพระทุศีล  แต่ดิฉันชอบการสร้าง character ของแก  เห็นว่ากวีสร้างได้น่าเอ็นดู แม้น่าเกลียดก็ไม่น่าชัง

ระหว่างนี้  intermission   รอความเห็นพ่อยกแม่ยกก่อนค่ะ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 96  เมื่อ 02 พ.ย. 09, 12:44

ในเสภา ขุนช้างขุนแผน ภาคปลาย  กรมศิลปากรตรวจชำระใหม่
แพร่พิทยาพิมพ์ ๒๕๑๓



หน้า ๑๐๖    ศรีมาลา เล่าให้ พลายเพชรพลายบัว  ว่า

...อาชื่อว่าหลวงต่างใจ                          เป็นนายใหญ่อยู่บ้านจอมทองนั่น
เป็นลูกหม่อมแม่ลาวทองนั้น                     รูปพรรณคล้ายกันกับบิดา
ขาวขาวสูงสูงดูคมสัน                            ไผนั้นมีที่ปลายท้ายคิ้วขวา
จงไปสืบให้ประสบพบกับอา                     จะได้พากันยกไปชิงชัย ฯ


หน้า ๑๑๑
     จะกล่าวถึงพลายณรงค์บุตรหลวงแผน                ลือแดนขามเดชทุกเขตขัณฑ์
เป็นบุตรของลาวทองผู้งามครัน                            อายุนั้นอ่อนกว่าพลายชุมพล
เมื่อครั้งหลวงนายกับพลายงาม                            ถึงความม้วยมุดสุดนุสนธิ์
พลายณรงค์ทรงฤทธิฺยิ่งกว่าคน                            เลิศล้นปราบศึกไม่นึกพรั่น
ได้ประทานนามตั้งหลวงต่างใจ                            ให้เป็นใหญ่ในบ้านจอมทองนั่น
ออกนามขามเดชทุกเขตคัน                                วันนั้นแสนคะนึงถึงพระไวย


หลวงต่างใจ แต่ง กับนางบัวคำ   มีลูกสาวชื่อ แว่นแก้ว  ต่อมา พลายบัวบุกเข้าไปในบ้านพาตัวมา
หลวงต่างใจขี้โมโห   ตามมา    ด่าลูกสาวเสียยับ  นึกว่าหนีตามผู้ชายมา   ฆ่าเสียดีกว่าขายหน้าพ่อ
คนจะได้ไม่กล้าหยาม

พลายเพชรตามมา  แค้นน้องชายมาก  ชมซะอ่วม

ลูกเขาเขารักดังแก้วตา                                      ช่างด้านหน้าไปลักมารักใคร่
กูจะเฆี่ยนเสียให้ยับนับร้อยไป                               ทำเจ็บไข้ไอ้ขี้เค้าเจ้ามารยา
มึงไม่เจียมตัวว่าต่ำศักดิ์                                     ไปลอบรักลูกผู้ดีให้เกินหน้า
เขาจะให้เขาก็อายแก่หน้าตา                                มันคงเกิดเข่นฆ่ากันร่ำไป



พลายบัวยอมรับผิดแบบนิด ๆ

ด้วยใจหนุ่มมันให้กลุ้มด้วยความรัก                         อกจะหักมอดม้วยด้วยผู้หญิง

แถมอ้างบรรพบุรุษว่าทีพระไวยกับหลวงแผนแสนศักดา  มาตีเมือง คืนเดียวได้
ม้าก็มีแล้วเหมือนสีหมอก   ดาบก็เปรียบเท่าฟ้าฟื้น

ก็เลยถามชื่อแซ่นับญาติกันได้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 97  เมื่อ 02 พ.ย. 09, 12:57

ขอบคุณคุณวันดี มาช่วยเติมให้สมบูรณ์ค่ะ

ดิฉันไม่มีขุนช้างขุนแผนฉบับหลังฉบับหอพระสมุด     เคยอ่านในตู้หนังสือของภาควิชา   ว่าขุนแผนตายไปแล้วกลายเป็น "นายผี" (คนละคนกับอัศนี พลจันทร์)
จำได้รางๆ แต่ละครกรมศิลป์ตอนพลายเพชรพลายบัวออกศึก   
บทบาทของหลวงต่างใจคงถูกเติมขึ้นทีหลัง    กวีสร้างว่าเป็นลูกชายของลาวทอง ซึ่งในฉบับหอพระสมุด   ไม่เอ่ยถึงลาวทอง  ไม่บอกว่ามีลูกกันเลยกับขุนแผน
จนพลายชุมพลโตเป็นหนุ่ม ชนะเถรขวาด  ได้เป็นหลวงนายฤทธิ์    ก็ไม่เห็นมีวี่แววว่าขุนแผนมีลูกชายคนเล็กอีกหนึ่งคน

แต่เอาเถอะ   เป็นอันว่ามีก็มี     พระไวยกับพลายชุมพลอายุสั้นไปหน่อย     ส่วนหลวงต่างใจคงจะกลับไปอยู่กับญาติทางฝ่ายแม่   เลยรับราชการอยู่จอมทอง
ในภาคปลาย  ลาวทองตายไปแล้วใช่ไหมคะ
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 98  เมื่อ 02 พ.ย. 09, 13:56

ขอฟื้นประเด็นเรื่องคำด่าลาวทองที่ว่ากินกบกินเขียดสักหน่อย  ซึ่งมีความเห็นหนึ่งเสนอว่า สงสัยคนแต่งเสภาจะเข้าใจผิดเอาวัฒนธรรมการกินของคนลาวอีสานไปให้คนลาวล้านนา    น่าพิจารณาอยู่ว่า ผู้แต่งจะสับสนขนาดนั้นเชียวหรือ

เป็นไปได้หรือไม่ว่า  คนอีสานหรือคนล้านนาสมัยก่อนมีวัฒนธรรมการกินไม่ต่างกัน  ที่วันทองด่านางลาวทองเช่นนั้น  เข้าใจว่า คนในราบลุ่มแม่น้ำภาคกลาง มีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ หาง่าย โดยเฉพาะพืชผัก ปลา เพราะอยู่ใกล้แม่น้ำ มีบันทึกชาวต่างชาติที่เข้ามาที่กรุงศรีอยุธยา กล่าวไว้ตรงกันว่าคนสมัยอยุธยากินข้าวกับกับข้าวที่มีผักและปลาเป็นหลัก วัฒนธรรมการกินของคนภาคกลางจึงไม่มีลักษณะต้องดิ้นรนหาเท่ากับคนภาคเหนือและภาคอีสาน  คนภาคเหนือ ภาคอีสาน อยู่เขตที่ราบสูง เขตภูเขา อยู่ห่างไกลทะเล พื้นที่ไม่อุดมเท่าภาคกลาง  อาหารการกินจึงหายากกว่า  ฉะนั้นจึงกินอะไรก็ตามที่พอจะเป็นอาหารได้    ซึ่งลักษณะอย่างนี้เนการการกินเพื่ออยู่รอดก่อนแล้วจึงกลายมาเป็นวัฒนธรรมการกินประจำท้องถิ่นต่อมา  เมื่คนต่างถิ่นมาพบเห็นการกินอาหารบางอย่างซึ่งคนอีกถิ่นไม่นิยมกิน ย่อมตั้งข้อรังเกียจเป็นธรรมดา  และกลายมาเป็นคำที่เอามาบริภาษกัน  เช่น วันทองว่าลาวทองว่า เป็นคนกินกบกินเขียด.

หรืออาจจะคิดได้อีกทางหนึ่งว่า   ปกติคนภาคไหนๆ ก็กินกบกินเขียด  ที่อย่างนี้ เพราะมีบันทึกของฝรั่งสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเดินทางจากกรุงเทพฯ ขึ้นไปสำรวจทำแผนที่ทางเหนือของไทย หลวงพระบาง ลงมาตามแม่นำโขง ได้ระบุไว้ว่า คนไทยและคนลาวต่างก็นิยมกินกบกัน  ข้อนี้ถ้าพิจารณาว่า ปกติคนภาคกลางที่กินกบมักเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง  แต่คนภาคอื่น ๆ ทั้งผู้ชายและผู้หญิงต่างนิยมกินกบเหมือนกัน  วันทองหรือแม้แต่ขุนแผนจึงตั้งข้อรังเกียจลาวทอง ดังในบทละครเรื่องขุนช้างขุนแผน พระนิพนธ์สมเจกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ ความว่า

           เมื่อนั้น                    ขุนแผนป่วนจิตคิดสับสน
เปลี่ยนใจนึกไขว่อลวน           เหลียวมายลดูบ้านรำคาญครัน
พิศดูเมียใหม่ที่ได้มา              ทรวดทรงขนงหน้าดูคมสัน
ปรนนิบัติอื่นอื่นดีทั้งนั้น           แต่สำคัญทรลักษณ์ด้วยการกิน
อึ่งตะกวดตุ๊ดตู่งูเงี้ยว              ช่างกระไรเลยเคี้ยวกินเสียสิ้น
อาหารหยาบคายเป็นอาจิณ      มลทินรังเกียจเกลียดระอา
พิมเอ๋ยพี่ยังอาลัยอยู่               การกินรู้สารพัดจัดหา
ไม่เปื้อนเปรอะเหมือนลาวชาวพนา    น้ำมือโอชาอร่อยรส

จะเพราพริ้งก็ไม่ยิ่งหย่อนแก่กัน   สิ่งสำคัญลับลี้ล้วนดีหมด
ไทยงอนลาวอ่อนระทวยทด       กัลเม็ดปรากฏทั้งสองนาง
บุณาณว่าอย่าให้มีเมียสอง        ทีนี้ต้องตำราไขว่ใจหมาง
แสนคำนึงรำพึงมาตามทาง        หน้าเผือดเลือดจางพลางถอนใจฯ

ถ้าว่ารุปลักษณ์ภายนอกของวันทองกับลาวทองที่ผู้แต่งบรรยายไว้ในเสภา ลาวทองรูปร่างก็แม้นกันกับวันทอง ความสามารถทางงานฝีมือก็เทียบกันได้ คนที่ยืนยันเรื่องนี้ได้ คือขุนแผน เพราะตอนที่ได้ลาวทองมาพร้อมกับเดินทางกลับจากเมืองเชียงทอง ขุนแผนเรียกลาวทองสับสนเป็นนางพิมหลายครั้ง  ถ้าไม่เหมือนกันมาก คงไม่เพ้อหลงเรียกชื่อผิดกันได้   แต่เพราะเรื่องการกินนี่เอง ที่ทำให้ลาวทองต่างจากวันทอง   สงสัยระหว่างทางที่ลาวทองเดินทางลงมากับพลายแก้ว  ลาวทองกับบ่าวจะได้กินกบเขียดให้พลายแก้วเห็นหรือเปล่า  ตรงนี้กวีไม่ได้เล่าไว้   ถ้าไม่เช่นนั้นก็คงเป็นมายาคติที่พลายแก้วหรือคนภาคกลางมีต่อคนล้านนาคนอีสานเรื่องการกิน  ซึ่งไม่ได้มีกล่าวแต่ตอนนี้เสภาตอนเดียว  ในตอนทัพไทยต้อนคนลาวเชียงใหม่ลงมา หลังจากที่พระเจ้าเชียงใหม่ยอมแพ้  ก็มีบทแอ่วลาวที่กล่าวถึงคนลาวถูกต้อนลงมาจับอึ่งจับกบจับเขียดกินมาระหว่างทาง เท่านั้นยังไม่พอ ในบทละครนอกเรื่องไกรทอง พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒ ก็ความตอนหนึ่งว่า

แกงหมูปูทะเลเทเสียสิ้น      มางมกินกบเขียดไม่เกลียดหรือ
ช่างไม่อายพวกลาวชาวอัตปือ   ตบมือหัวเราะเฮฮา
 
ลาวอัตปือ คือ ลาวแถบเมืองจำปาศักดิ์  จะว่าคนสมัยต้นรัตนโกสินทร์ไม่รู้จักคนล้านนาคนอีสานเลยก็ไม่น่าจะใช่  เพราะสมัยนั้นการยกทัพไปรบแถบหัวเมืองลาวก็มีอยู่บ่อยๆ การกวาดต้อนคนลาวมาอยู่หัวเมืองชั้นในก็มีมาก  

อย่างไรก็ตาม  ลาวทองคงจะได้เรียนรู้ชีวิตความเป็นอยู่ เรียนรู้และปรับเปลี่ยนการกินอย่างคนภาคกลางอย่างชาววังในกาลต่อมา   เพราะสมเด็จพระพันวษามีรับสั่งให้นำตัวลาวทองเข้าไปประจำฝ่ายในอยู่เวลานานเป็นสิบปี  กว่าจะได้ออกมาอยู่นอกวัง
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 99  เมื่อ 02 พ.ย. 09, 14:02

หน้า ๖๐

หลวงแผนนั้นก็แก่ชราภาพ                              ตั้งแต่ปราบศัตรูหมู่ทหาร
ถึงกองกรรมที่แกทำมากประมาณ                      กำหนดการแกก็ล่วงพิราลัย
ทั้งนางแก้วกิริยานางลาวทอง                           เมียทั้งสองก็ถึงตักษัย
ก็ตายสิ้นตามกันเพราะนานไป                          พ่อแม่ใครลูกได้เผาตามเหล่ามา
พระไวยที่ชื่อพลายงามนั้น                               ก็ชีพลับดับขันธ์สิ้นสังขาร์


พลายชุมพลมีทายาทคงติดท้องนางสร้อยระย้า ชื่อ พลายมณีนาถค่ะ  
เมียพลายชุมพลชื่อนางสร้อยระย้า  อยู่เมืองพิมาย  ย้ายกลับบ้านเดิมค่ะ

ศรีมาลาหนังเหนียวค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 100  เมื่อ 02 พ.ย. 09, 14:08

จนปัญญาจริงๆเรื่องอาหารการกินของชาวล้านนาเมื่อสองร้อยปีก่อน    ต้องขอความรู้เพิ่มเติมจากสมาชิก

จำได้แค่ข้าวเหนียว น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกอ่องและแคบหมู  ซึ่งนักท่องเที่ยวไปแอ่วเชียงใหม่ คงได้กินกันทุกคน
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 101  เมื่อ 02 พ.ย. 09, 14:33

เสภาขุนช้างขุนแผนภาคปลายที่กรมศิลปากรชำระต่อจากเสภาขุนช้างขุนแผนฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ อ่านดูก็สนุกดี  แม้จะอภินิหารเยอะไปบ้าง  แต่ที่สำคัญและควรสังเกต คือ ฉากของเรื่องไม่ใช่ เมืองกาญจน์ สุพรรณ และอยุธยา  แต่จะเปลี่ยนไปเป็นฉากล้านนาเกือบ ๑๐๐ %  เห็นทีกระทู้ลาวล้านนาต้องยาวอีกมาก  เพราะถ้าเอาเสภาขุนช้างขุนแผนตอนปลายด้วย  คงต้องอภิปรายกันยาว  จะเสียดายก็แต่เสภาตอนปลายนี้มีคนอ่านกันน้อย  ไม่รู้เป็นเพราะคำบอกเล่าที่ว่า เสภาขุนช้างขุนแผนตอนปลายเนื้อเรื่องเลอะเทอะ หรือเปล่า เลยทำให้คนไม่อ่าน และไม่รู้จัก 

ทางที่ดี อยากขความกรุณาให้คุณวันดีช่วยเล่าเรื่องย่อๆ ของเสภาขุนช้างขุนแผนตอนปลายให้คนที่ไม่เคยอ่านได้พอทราบเนื้อเรื่อง และสามารถไปตามอ่านต่อภายหลังได้ น่าจะเป็นวิทยาทานที่ดีทีเดียว
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 102  เมื่อ 02 พ.ย. 09, 19:19

การเดินทางขึ้นไปสู่เชียงใหม่ในสมัยก่อนนั้นมีเส้นทางหลักอยู่ ๒ เส้นทางคือ ไปทางลำน้ำเจ้าพระยาถึงปากน้ำโพ  แล้วแยกเข้าลำน้ำปิงไปถ่ายเรือที่เมืองระแหงหรือเมืองตาก  ซึ่งเป็นประตูสู่ล้านนานและเมืองมะระแหม่งของพม่า  แล้วจึงเดินทางต่อไปตามลำน้ำปิงถึงเมืองลำพูนและเชียงใหม่  กับอีกเส้นทางหนึ่งคือ จากปากน้ำโพ แยกเข้าลำน้ำน่าน  ไปขึ้นบกที่ท่าอิฐหรืออุตรดิตถ์  แล้วเดินทางบกข้ามเขาพรึงไปเมืองแพร่  ไปเมืองลำปาง  ลำพูนและเชียงใหม่ตามลำดับ  จากท่าอิฐยังแยกไปท่าปลาออกสู่ลำน้ำโขงไปเมืองหลวงพระบางได้ด้วย  แต่ที่คุณหลวงเล็กกล่าวถึงเมืองเชียงทองว่าเป็นเมืองชายแดนพระราชอาณาจักรสยามแล้ว  ก็น่าจะเป็นเมืองเชียงทองในพระราชนิพนธ์เที่ยวเมืองพระร่วง  ที่น่าจะอยู่ในเส้นทางระหว่างเมืองตากกับศรีสัชนาลัย  เพราะจากศรีสัชนาลัยสามารถข้ามไปยังเด่นชัยแล้วตัดไปเมืองแพร่หรือลำปางได้อีกทางหนึ่ง  แต่หนทางค่อนข้างกันดารกว่า
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 103  เมื่อ 02 พ.ย. 09, 23:03

สิ่งที่น่าสงสัย คือ ทำไมในเรื่องขุนช้างขุนแผน ขุนแผนถึงใช้เส้นทางขึ้นไปทางเหนืออย่างเดียวกันทั้งสองครั้ง ทั้งที่เป็นที่เป็นระยะเวลาห่างกันหลายปี  ถ้าว่าเป็นทางทุรกันดารมากอย่างคุณ V_Mee ว่าไว้  แค่เดินผ่านไปครั้งแรกก็น่าจะรู้แล้วว่ายากลำบากเพียงใด  ความรู้เรื่องเส้นทางไปหัวเมืองต่างๆ สมัยก่อนนั้น  อาจจะมีมากกว่าที่เรารู้กันในปัจจุบันก็ได้  เพราะท่านเดินด้วยเท้า  ไม่มีแผนที่ที่มีมาตราส่วนอย่างปัจจุบัน  เข็มทิศก็ไม่มีใช้  เสภาเรื่องนี้อาจจะเป็นร่องรอยว่าเคยมีเส้นทางนี้อยู่  สมัยหลังอาจจะจะไม่ได้ใช้เส้นทางนี้ก็ได้  เพราะว่ามันทุรกันดารนัก   จึงไม่เป็นทางที่นิยม   แต่ก่อนการจะเดินเรือลงไปปักษ์ใต้ในนิราศบางเรื่อง  ท่านจะเอาเรือออกไปทางเกาะสีชังก่อน แล้วค่อยแล่นเรือตัดข้ามทะเลอ่าวไทยไปที่เขาสามร้อยยอดแล้วเลียบฝั่งลงใต้ไป สมัยต่อมาเมื่อการเดินเรือสะดวกขึ้น  การเดินเรืออย่างนี้ก็หมดความนิยมไปเช่นกัน  
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 03 พ.ย. 09, 15:59 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 104  เมื่อ 03 พ.ย. 09, 15:35

ขุนช้างขุนแผนเป็นเพียงนิยาย ถ้าคนแต่งตอนขุนแผนเดินทัพมีความเข้าใจเส้นทางว่าไปอย่างไรมาอย่างไร จะให้เดินอีกสัก10เที่ยวก็คงซ้ำอยู่ทางนั้นแหละครับ มันไม่ใช่จดหมายเหตุทางประวัติศาสตร์เหมือนพระราชนิพนธ์เที่ยวเมืองพระร่วงจะได้บันทึกตามที่คนเขียนไปเห็นมาจริง เส้นทางอาจจะไม่ซ้ำกันเลยก็ได้

อนึ่ง ถนนหลักส่วนใหญ่ก็สร้างทับลงไปบนเส้นทางเกวียนที่เคยมีมาแต่โบราณนั่นเอง สมัยเมื่อ50ปีก่อน ทางหลวงแผ่นดินบ้านเราก็ยังแคบๆ อ้อมไปอ้อมมาหาทางสะดวกไม่ต้องไต่เขาสูงชัน แต่ผ่านใจกลางชุมชนหมู่บ้านไปตลอดทาง หลังๆนี้เองที่รู้จักทำถนนเลี่ยงเมืองบ้าง ทำ cut and fill หรือทำอุโมงค์บ้าง ถนนที่เรียกว่าhighwayจึงลัดสั้นลงไปอีกมาก เส้นทางเดิมๆที่ใช้มาแต่โบราณก็ยังใช้อยู่แต่เป็นsecondary roadไป เส้นทางที่คุณวีหมีว่าไว้ เป็นเส้นทางที่มีอยู่จริง แต่เมืองเชียงทองที่ล้นเกล้าฯทรงสันนิฐานคงจะไม่ได้อยู่ในแนวเมืองตากกับศรีสัชนาลัย เพราะอยู่ไกลจากที่พระราชนิพนธ์มาก

เรื่องการเดินทางทางเรือของคุณหลวงเล็กน่ะจริงเฉพาะเวลาช่วงน้ำลง เพื่อให้อยู่ในแนวร่องน้ำปากเจ้าพระยาก็เล็งเกาะสีชังไว้ก่อน เพราะเป็นlandmarkที่มองเห็นชัด หลังจากที่ออกลึกแล้วหรือช่วงน้ำขึ้น ก็ไม่จำเป็นต้องวิ่งไปจนถึงเกาะสีชังแล้วขวาหันแล้ววิ่งแนวฉากไป ก็จะไปทำไมเล่ามันเสียเวลาเสียค่าใช้จ่าย เมื่อเห็นว่าปลอดภัยเมื่อใดก็เล็งเขาสามร้อยยอดซึ่งสังเกตง่ายเพราะสูงกว่าเขาเพื่อนและอยู่ติดทะเลที่สุด แล้วมุ่งตรงไปได้เลย พอใกล้แล้วก็จึงเบนหัวเรือเข้าปากน้ำปราณ เติมเสบียงเสียทีนึงก่อนจะมุ่งใต้จริงๆ  หรือขึ้นบกเดินลัดไปช่องสิงขรสู่ตะนาวศรีได้

มนุษย์เป็นสัตว์แสนรู้ที่สุดในเรื่องหาแนวทางลัดสั้น ลองสังเกตุดูเถิดครับ ในสวนสาธารณะใหญ่ๆบางทีเขาทำทางเท้าไว้ให้เดินโค้งไปโค้งมาสวยงาม ท่านก็ไม่เดินกัน ไปเดินตัดสนามหญ้าเขาเป็นรอยไปหมด รอยทางเท้าก็ไม่ใช่ลัดเป๊ะดังกล้องส่องนะครับ มีงอๆโค้งๆไปตามเหตุตามปัจจัยของมัน

ทางใหญ่ที่เชื่อมเมืองต่อเมืองก็เหมือนกันแหละ คงใช้เวลาหน่อย อาจเป็นปีๆกว่าจะลงตัว ถึงไม่มีกล้อง ก็เป็นทางลัดสั้นที่สะดวกที่สุดสมัยนั้นได้นะครับ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 03 พ.ย. 09, 15:57 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9 ... 16
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.085 วินาที กับ 19 คำสั่ง