เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 16
  พิมพ์  
อ่าน: 60640 ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 75  เมื่อ 30 ต.ค. 09, 19:56

อ้างถึง
สมัยรัตนโกสินทร์ มีเอกสารหลายชิ้นกล่าวถึงเมืองเชียงทอง  เช่น ในสมัยรัชกาลที่ ๒ เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้เตรียมการออกพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ ๑ เมืองเชียงเงิน เมืองเชียงทอง ได้รับเกณฑ์ให้ส่งขมิ้นสำหรับย้อมผ้าไตรถวายพระสงฆ์ด้วย  สมัยรัชกาลที่ ๓ นอกจากทำเนียบหัวเมืองที่จารึกไว้ที่วัดพระเชตุพนแล้ว ยังมีเอกสารรายงานราชการทัพเมืองเวียงจันทน์บางตอน ระบุว่า เจ้าเมืองเชียงทอง เจ้าเมืองตาก ต้องเกณฑ์ไปทัพรบกับพวกลาวเวียงจันทน์  ขยับมาอีกให้ใกล้ปัจจุบัน  อยากให้อ่านหนังสือสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จตรวจการณ์คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๕๕ - ๒๔๖๐ (ไปหาซื้อได้ที่มูลนิธิมหามกุฏฯ หน้าวัดบวรฯ ราคาเล่มละ ๑๒๐ บาท ๖๔๐ หน้า) ตอนที่ว่าด้วยระยะทางสมเด็จพระมหาสมณะ  เสด็จตรวจการณ์คณะสงฆ์ในมณฑลฝ่ายเหนือ พ.ศ.๒๔๕๖ มีรายงานเมื่อเสด็จไปตรวจการเมืองตาก ในการเสด็จครั้งนั้นได้เสด็จไปที่เมืองตาก ก่อนแล้วเสด็จลงมาทางใต้จนมาถึงบ้านเชียงทองบ้านเชียงเงิน


สรุปว่าเมืองเชียงทองของจริง ยังดำรงความเป็นหัวเมืองอยู่  ในรัชกาล ๑ ๒ และ ๓    แต่มาถึงรัชกาลที่ ๕  กลายเป็นบ้านเชียงทองไปแล้ว
กวีที่แต่งศึกเชียงทองก็น่าจะแต่งตอนนี้ไม่เกินรัชกาลที่ ๓

ส่วนการปักสดึงกรึงไหม เป็นงานสำคัญของสตรีในวัง สมัยรัชกาลที่ ๒   ถึงขั้นมีกองช่างสดึง     และหัวหน้าที่ควบคุมก็ไม่ใช่ระดับสตรีบรรดาศักดิ์ที่เป็นสามัญชนอย่างคุณท้าวท่านใดท่านหนึ่ง 
แต่เป็นถึงพระเจ้าลูกเธอ คือพระองค์เจ้าหญิงจงกลนี พระธิดาองค์ที่ ๒๒ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก 
แสดงว่างานฝีมือด้านนี้เป็นภารกิจสำคัญของชาววังทีเดียว
บันทึกการเข้า
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 76  เมื่อ 30 ต.ค. 09, 21:02

ขอเพิ่มเติมเรื่องค่ายปิหลั่น

ปิหลั่น มาจากภาษามลายูว่า apilan แปลว่า เกราะสำหรับป้องกันกระสุนปืนใหญ่
ใน พจนะภาษา ของอ.เปลื้อง ณ นคร ท่านอธิบายความหมายไว้ว่า
ปิหลั่น หมายถึง ป้อมปราการที่สามารถเคลื่อนย้ายเข้าหาข้าศึกได้  วิหลั่น ก็เรียก


ผมขอเพิ่มเติมข้อมูลด้วยอีกคนครับ  ยิงฟันยิ้ม

คือ ผมลองหาคำว่า apilan จากเว็บ "พจนานุกรมหลักภาษาอินโดนีเซีย" ( http://pusatbahasa.diknas.go.id/kbbi/index.php ) (คำนี้ หาตามเว็บแปล อินโดฯ - อังกฤษ ทั่วไป จะไม่เจอ) ได้คำแปลมาว่า

api·lan kl n papan tebal untuk dinding pd haluan kapal atau untuk menempatkan meriam

pd นี้ ผมไม่ทราบว่าย่อมาจากอะไร

เนื่องจาก ผมไม่มีความรู้ภาษาดังกล่าว จึงต้องพึ่งพาบริการของ translate.google.com กับ kamus.net (kamus แปลว่า พจนานุกรม) ก็ทำให้พบว่า ภาษามาเลย์-อินโดฯ นี้ เรียงคำเกือบๆ จะเหมือนกับภาษาไทยเลย ซึ่งคนไทยน่าจะเรียนรู้ได้เร็วกว่าทั้งภาษาจีน และอังกฤษ

ท่านใดแปลภาษานี้ได้เนียนๆ ก็ช่วยแปลด้วยนะครับ
คำแปลที่ได้มาจาก google และ kamus.net มีดังนี้ครับ

papan........tebal.. untuk... dinding ..........pd ... haluan kapal .... atau.. untuk ... menempatkan .. meriam
แผ่นกระดาน...หนา.... สำหรับ... กำแพง (เชิงเทิน) .... ... หัวเรือ ......... .... หรือ.... สำหรับ ... วาง (ติดตั้ง) ........ ปืนใหญ่
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 77  เมื่อ 30 ต.ค. 09, 21:45

เส้นทางที่จะไปเมืองเชียงทองยังไม่ค่อยลงตัวเท่าไรครับ

จากหลักฐานที่ปรากฏในปัจจุบัน การเดินทางในสมัยโบราณหากใช้แม่น้ำเจ้าพระยามาขึ้นที่พิษณุโลก แล้วเดินทางบกมุ่งทิศตะวันตก ผ่านสุโขทัย มาตามที่ราบ จะมาถึงอำเภอเมืองตากปัจจุบันที่ตำบลเชียงเงินนะครับ เชียงเงินนี้อยู่ทางทิศเหนือของระแหงห่างกันสักกิโลเมตรเดียว ปัจจุบันระแหงก็เป็นตำบลหนึ่งในอำเภอเมืองตากเหมือนกัน ตามประวัติไม่นานมานี้ เชียงทองแม้จะอยู่ทางใต้ของระแหงไปตั้งยี่สิบกว่ากิโลเมตร ก็เป็นตำบลหนึ่งของอำเภอเมืองตากด้วย แต่เพิ่งจะแยกไปขึ้นกับอำเภอวังเจ้าเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้

ก็เลยงงๆกับบันทึกของคนโบราณ ถ้าเริ่มต้นการเดินทางโดยทางบกที่พิษณุโลก ก็คงไม่ย้อนไปกำแพงเพชรแน่ แต่จะตรงผ่านสุโขทัยมาดังกล่าวแล้ว ก็จะเจอเชียงเงินและระแหง แล้วจึงย้อนมาเชียงทอง

แต่ถ้าขึ้นเรือที่พิจิตร ก็จะตัดตรงเข้ากำแพงเพชร แล้วมาถึงเชียงทอง ก่อนจะถึงระแหง และเชียงเงินตามลำดับ

อ้อ  แล้วเมืองตากโบราณนั้นอยู่ที่ไหน อยู่ที่ระแหง หรืออยู่ที่อำเภอบ้านตากในปัจจุบัน ซึ่งอยู่เหนือระแหงออกไปสิบกว่ากิโลเมตร  แต่ถึงเมืองตากตอนโน้นจะอยู่ที่อำเภอบ้านตาก คนเดินทางจากสุโขทัยมาก็ต้องมาที่เชียงเงินก่อนอยู่ดีเพราะเป็นทางราบ แล้วจึงเปลี่ยนทิศขึ้นไปตากและเถินตามลำดับ เพราะทางจะลาดชันน้อยกว่า ทางอื่นต้องผ่านภูเขาสูงทั้งนั้น


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 78  เมื่อ 30 ต.ค. 09, 22:08

อ้างถึง
พลายแก้วยกทัพจากอยุธยา ไปตีเชียงทอง ในเรื่องบอกเส้นทางเดินทัพไว้สั้นๆว่า  จากอยุธยาไปทุ่งโสภา   ไปบ้านกระทง ตรงไปท่าโพธิ์   ถึงโพธิ์สามต้นก็ค่ำพอดีจึงหยุดทัพเสียคืนหนึ่ง   เช้าก็ตรงขึ้นไปนครสวรรค์ แต่ไปทางบก เป็นทางลัดฝ่าดงไป  ไม่ล่องไปตามลำน้ำ
จากนครสวรรค์ไปกำแพงเพชร  ระแหง และเถินตามลำดับ  ก็ระดมพลจากทั้งสามเมือง ไปตีเชียงทอง งั้นเชียงทองก็อยู่เหนือเถินขึ้นไป

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 79  เมื่อ 30 ต.ค. 09, 23:10

นั่นนะซีครับ แล้วตำบลเชียงทองปัจจุบันมาอยู่ทางใต้ได้อย่างไร มันใช่หรือเปล่าที่เคยมีเมืองเชียงทองอยู่ที่นี่ ถ้าเคยอยู่จริงและเป็นเมืองใหญ่ขนาดต้องเกณฑ์คนทั้ง3เมืองมาตี ทำไมข้อมูลของอ.บ.ต.จึงไม่เอ่ยถึงทรากโบราณสถาน หรือประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอะไรสักนิด แม้แต่วัด ก็มีเพียงหมู่บ้านละวัด และไม่ใช่วัดเก่าแก่อะไร

จะอ้างที่คุณหลวงเล็กเอามาลงว่า หลักฐานจากประวัติเมืองตาก ที่ขุนวัชรพุกก์ศึกษากร (แปลก วัชรพุกก์) แต่งไว้ว่า ในสมัยโบราณเรียกเมืองเชียงทองว่าด่านช่องกุฎิ์ มีโบราณสถานเป็นวัด เจดีย์เก่าแก่ และบ่อน้ำ  ครั้นภายหลังชาวบ้าน ได้ไปขุดค้นเจดีย์หาของมีค่าจนเจดีย์พังทลาย บ่อน้ำก็ถูกถมดินเสียหมด จนไม่เหลือหลักฐานชุมชนเมืองเก่าให้คนรุ่นหลังได้เห็น  ท่านก็มิได้แจ้งด้วยว่า แล้วด่านช่องกุฏิ์นั่นน่ะอยู่ที่ไหน หนังสือโบราณใดกันเล่าที่ไม่เรียกเมืองนี้ว่าเชียงทองแต่ไปเรียกว่าช่องกุฏิ์ เห็นมีแต่เรียกเชียงทองๆทั้งนั้น

ยิ่งบันทึกที่ว่าสมเด็จพระมหาสมณะ  เสด็จตรวจการณ์คณะสงฆ์ในมณฑลฝ่ายเหนือ พ.ศ.๒๔๕๖ มีรายงานเมื่อเสด็จไปตรวจการเมืองตาก ในการเสด็จครั้งนั้นได้เสด็จไปที่เมืองตากก่อน แล้วเสด็จลงมาทางใต้จนมาถึงบ้านเชียงทองบ้านเชียงเงิน ก็ยิ่งงงหนักขึ้น ไม่แจ้งเหมือนกันว่าท่านเสด็จผ่านมาจากเมืองใด

ท้ายสุดที่คุณหลวงเล็กสรุปว่า การเดินทางไปทางเหนือสมัยก่อนคงใช้ทางเดียวกับทางเดินทัพของพลายแก้ว  มิได้เดินตรงขึ้นจากกรุงศรีอยุธยาไปเชียงทองทีเดียวตามความเข้าใจของคนปัจจุบัน  แต่ต้องเดินขึ้นไปถึงพิษณุโลกหรือสุโขทัยก่อนแล้วค่อยเดินตัดไปทางตะวันตก เข้ากำแพงเพชร ไประแหง ถึงตากแล้ววกลงมาที่เชียงทอง  ถ้าจะขึ้นเชียงใหม่ พอถึงระแหง เถิน ก็ขึ้นไปตามลำน้ำพิงก็ถึงเชียงใหม่  ผมก็เลยบอกมั่งว่า ถ้าการเดินทางไปทางเหนือเริ่มต้นจากพิษณุโลก(เพราะไปทางเรือแสนสะดวก แล้วไปขึ้นบกที่นั่น)ก็ต้องเดินบกเข้าสุโขทัย ไปที่ระแหง(หรือเชียงเงินที่อยู่ใกล้กันนิดเดียว) ถ้าจะเลือกผ่านกำแพงเพชรก็ต้องขึ้นจากเรือที่พิจิตร แล้วเดินบกมา แต่จะต้องผ่านเชียงทอง(ตำบลเชียงทอง)ก่อนจะถึงระแหง และตาก(ที่บ้านตาก)ตามลำดับ

ส่วนในกรณีย์ของพลายแก้ว ใช้การเดินบกตลอดก็ถูกแล้วที่มาตามเส้นทางผ่านนครสวรรค์ไปกำแพงเพชรเลย เพราะลัดสั้นและตรงไปตรงมา แต่สะดุดตรงที่ไปอ้อมหนีเมืองเชียงทองทำไม ต้องไประดมพลถึงระแหงและเถินโน่นจึงย้อนกลับมา อย่างนั้นเชียวรึ

หรือจะเป็นอย่างที่อาจารย์ว่า คือเชียงทองอยู่เหนือเถินขึ้นไป

สรุปก็คือ มีรายการมั่วนิ่มแน่นอน คำถามก็คือ รายการไหนชัวร์ รายการไหนมั่วนิ่มครับ



บันทึกการเข้า
TIRAV
อสุรผัด
*
ตอบ: 22



ความคิดเห็นที่ 80  เมื่อ 30 ต.ค. 09, 23:17

ตามมาอ่านอย่างเงียบๆครับ  อายจัง
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 81  เมื่อ 30 ต.ค. 09, 23:47

พลายแก้วยกทัพผ่าน นครสวรรค์ กำแพงเพชร ระแหง เถิน แล้วจึงเชียงทอง ลองอ่านต่อไป พบว่าไปตีลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่
เรียกได้ว่า ใช้แนวแม่น้ำปิงจากนครสวรรค์ขึ้นมา พอถึงตากก็แยกเข้าแควแม่น้ำวัง ขึ้นไปทางเถิน เชียงทอง และลำปาง หลังจากนั้นคงเดินผ่านช่องเขาเข้าไปยังเมืองในลุ่มน้ำปิง คือ ลำพูนและเชียงใหม่

ซึ่งถ้าพิจารณาตามนี้ "เชียงทอง" ในที่นี้ เห็นจะต้องอยู่ระหว่าง เถิน กับ ลำปาง ริมฝั่งแม่วังนี่แหละครับ

และไม่สอดคล้องกับตำแหน่งของเชียงทองในจังหวัดตากแต่อย่างใด
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 82  เมื่อ 31 ต.ค. 09, 08:23

ได้ข้อคิดมา ๒  ข้อจากการอ่านค.ห.คุณหลวง คุณ  N.C.   และคุณม้า
๑   กวีไม่แม่นเรื่องแผนที่เส้นทาง   ไม่รู้ว่าเชียงทองอยู่ตรงไหนกันแน่    พลายแก้วเลยยกทัพอ้อมไปอ้อมมา  ขึ้นไประดมพลถึงระแหงและเถินก่อนวกลงมาเชียงทอง
๒  เชียงทองในขุนช้างขุนแผน  ไม่มีจริง  กวีสมมุติชื่อเมืองซ้ำกับเมืองจริงเท่านั้น

เชียงทองของจริง  ก็อยู่ตามที่ปรากฏในเอกสารข้อเท็จจริงทั้งหลายที่คุณหลวงอุตสาหะไปค้นมาให้     แต่มิได้เกี่ยวกับเชียงทองในวรรณคดี  นอกจากว่าจะอยู่ทางเหนือเหมือนกัน
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 83  เมื่อ 31 ต.ค. 09, 09:52

ได้ร่องรอยมาเพิ่มครับ

ในจังหวัดตากนั้น ปรากฎว่ามีวัด2วัด ชื่อว่าวัดเชียงทอง(บน) ตั้งอยู่ที่ ตำบลเชียงเงิน และวัดเชียงทอง(ล่าง) ตั้งอยู่ ตำบลระแหง อำเภอเมือง เช่นกัน ปัจจุบันวัดเชียงทองทั้ง2 ได้รับการพัฒนาดังรูป  มีการปรับปรุงอุโบสถ และศาลาการเปรียญ และหอไตรต่าง ๆ เพิ่มขึ้นจนแทบจะดูไม่ได้ว่าเป็นวัดโบราณ แต่ยังมีพระพุทธรูปสำคัญ ๆของจังหวัด อีกหลายองค์

รายรอบวัดทั้ง2นั้น มีชุมชนที่เทศบาลเมืองตากเรียกอย่างเป็นทางการว่าชุมชนเชียงทองบน และชุมชนเชียงทองล่าง อยู่ในอำเภอเมืองตากด้วย

การวิจัยของทางราชการชิ้นหนึ่งสรุปว่า ชุมชนเชียงทอง มีทรัพยากรทางศิลปวัตถุ ประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่สำคัญมากมาย มีศักยภาพในการส่งเสริมพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปและวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี  ประชาชนส่วนใหญ่ยังสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม ในความเชื่อ พิธีกรรมต่าง ๆ แบบประเพณีชาวเมืองเหนือไว้อย่างเหนียวแน่น มีภาษาพูดแบบคำเมือง สำเนียงที่เป็นเอกลักษ์เฉพาะถิ่น

จึงเป็นไปได้เหมือนกันว่า เดิมเมืองเชียงทองก็อยู่ติดๆกับระแหงเหมือนเชียงเงินนั้นแหละ พอบ้านเมืองเจริญขึ้นอะไรๆก็เปลี่ยนไป ส่วนตำบลเชียงทองในปัจจุบันนั้น ผมอยากจะเชื่อว่าเป็นฝีมือการตั้งชื่อของกระทรวงมหาดไทยครั้งที่แบ่งเขตการปกครองให้เหมาะกับสภาพภูมิศาสตร์ในช่วงหลังๆนี่ แล้วเอาชื่อเชียงทองมาตั้งตำบลนี้ให้เป็นที่ระลึกแก่เมืองในประวัติศาสตร์ที่สูญหายไปแล้ว

ผมคิดอย่างที่อาจารย์เทาชมพูว่า คือกวีที่แต่งเรื่องขุนช้างขุนแผนคงไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในทุกเรื่องที่ตนเขียน โดยเฉพาะความรู้ที่ไกลตัวออกไป สมัยก่อนอีบุ๊กค์ก็ไม่มี ไอ้บุ๊กค์ก็หาค้นยาก ต้องฟังเขาเล่าว่าอีกทีหนึ่ง ผมหมดประเด็นเรื่องนี้แล้วเหมือนกันครับ อาจารย์จะนำนางลาวทองออกมารำต่อก็เชิญดีกว่า เดี๋ยวเธอจะงอนกลับเชียงใหม่ไป


บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 84  เมื่อ 31 ต.ค. 09, 09:55

ขุนแผนรักนางลาวทองมากนะคะ

ขนาดจากไปปีกว่ายังเปิดมุ้งมองหา   ได้ยินเสียงนกร้องก็นึกว่านางขึ้นมาบนหอ


ขุนแผนเป็นคนที่ถือตัวอยู่เหมือนกัน เพราะไม่เรียก

ข้าใช้ไทยลาวสาวสาวมี  ไม่ยินดีด้วยใครอาลัยนาง



ขออนุญาตคุณเทาชมพู  นำความบางตอนมาจาก  เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน  ความเก่า  สำนวนที่ ๒

บำราสร้างห่างโฉมเจ้าลาวทอง                         ให้ตริตรองตรึกตรมอารมณ์รอน
ยามนอนก่ายกรเกยนลาต                               เสียวสวาทลาวทองฤทัยถอน
โอ้ทำไฉนจึงจะได้มาแนบนอน                           แต่อาวรณ์วิเวกวังเวงทรวง



มีความอยู่นิดหนึ่ง  ไม่เคยเห็นที่ไหน  อธิบายความว่า ทำไมขุนแผนจึงโมโหทิ้งวันทองไว้   (เสภาความเก่า  สำนวนที่ ๒)

โอ้โอ๋วันทองของพี่เอ๋ย                                    ไม่ควรเลยอนิจจามาตกปลัก
โมโหหึงส์ดึงดันจนเด็ดรัก                                เพราะหาญหักหุนหวลจึงชวนเชิง
ห้ามเจ้าเจ้าก็ตามทรามถวิล                             ประมาทหมิ่นอาคมคารมเหลิง
คิดถึงวันจากให้อาไลยละเลิง                            เพราะกระเกริงจึงต้องกรากอยู่กรุงกรัง




เรียนถามทุกท่านที่อ่านฉบับหอพระสมุดว่า

ที่ประมาทอาคมนั้น คือการที่ วันทองพูดว่า
"จะตักน้ำล้างบ้านเอาตีนสี"  
หรือที่ ด่าว่า  "คนเท็จ"
หรือ ที่ว่า "สิ้นบุญสิ้นกรรม"
หรือที่ว่า "อีลาวมันจะสับยับระยำ"

ที่เหลือคิดว่าอ่านออกสอบได้ค่ะ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 85  เมื่อ 31 ต.ค. 09, 10:08

รัชกาลที่ ๖ ทรงเสด็จและพระราชนิพนธ์ "เที่ยวเมืองพระร่วง" เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๑ ก่อนพระองค์ขึ้นครองราชย์ในอีกสองปีต่อมา

ผมลองค้นหาชื่อเมืองเชียงทองในพระราชกิจจานุเบกษา ( http://www.ratchakitcha.soc.go.th/RKJ/announce/search.jsp ) พบว่ามีการเอ่ยถึงเรื่องการปรับปรุงถนนที่เชียงทอง พ.ศ.๒๔๕๒

สงสัยว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับการเสด็จของ ร.๖ ทางใดทางหนึ่งครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 86  เมื่อ 31 ต.ค. 09, 13:25

นางลาวทองออกมารำแปร๊บเดียว คุณม้าก็ออกมาสลับฉากอีกแล้ว ผมรอๆอยู่สงสัยนางลาวทองจะได้เวลาไปทานข้าวเหนียวน้ำพริกอ่องกับแคบหมู ขอผมสลับฉากกับคุณม้าหน่อยก็แล้วกัน

หนังสือนี้  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสมัยดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช   ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องเที่ยวเมืองพระร่วง  ความตอนหนึ่งว่า

“… ยังมีสิ่งที่ทำให้น่าเชื่อมากขึ้นคือ  ถนนระหว่างกำแพงเพชรกับสุโขทัยนั้นได้ผ่านไปใกล้เมืองย่อมๆ ๓ เมือง  ตรงตามความในหลักศิลา  แต่เมื่อข้าพเจ้าเดินตามถนนนั้นได้เห็นปลายถนนทางด้านตะวันตก  ไปหมดอยู่เพียงขอบบึงใหญ่อันหนึ่ง  ห่างจากเมืองกำแพงเพชรกว่า ๑๐๐ เส้น  พระวิเชียรปราการแสดงความเห็นว่าน่าจะทำข้ามบึงไป  แต่น้ำได้พัดทำลายไปเสียหมดแล้ว  ข้อนี้ก็อาจจะเป็นได้  แต่ข้าพเจ้ายังไม่สู้จะเชื่อนัก  ยังนึกสงสัยอยู่ว่าคงจะมีต่อไปจนถึงเมืองเชียงทอง  ซึ่งเป็นเมืองท่าเรือ  ถามถึงเมืองเชียงทองแต่เมื่ออยู่เมืองกำแพงเพชรก็ยังไม่ได้ความ  ครั้นจะอยู่รอค้นหาต่อไปก็ไม่มีเวลาพอ  จึงได้ขอให้พระวิเชียรปราการจัดหาคนที่รู้จักภูมิประเทศ  เที่ยวตรวจค้นดูทางเหนือเมืองกำแพงเพชรขึ้นไป  ว่าจะหาที่อะไรที่พอจะสันนิษฐานว่าเป็นเมืองได้บ้างหรือไม่  แล้วก็ออกเดินทางต่อไป

         ฝ่ายพระวิเชียรปราการได้ไปด้วย  ถึงที่บ้านพรานกระต่ายพบสนทนากับขุนภักดีนายอำเภอ  ตกลงสั่งให้ขุนภักดีไปตรวจค้นหาเมืองตามที่ข้าพเจ้าแนะนำ  ขุนภักดีได้ไปเที่ยวตรวจค้นจนพบ  แล้วรีบตามไปทีสวรรคโสลก  บอกว่าได้พบเมืองโบราณเมืองหนึ่งอยู่เหนือเมืองกำแพงเพชรขึ้นไปประมาณ ๒๐๐ เส้นเศษ  เป็นเมืองย่อมๆเป็นคูและเทินดิน  ราษฎรตามแถบนั้นเรียกว่าเมืองเทินทอง  หรือชุมนุมกองทอง  เมืองนั้นตั้งอยู่ริมลำน้ำเรียกว่าคลองเรือ  ปากคลองทะลุลำน้ำแควน้อย  และมีถนนจากเมืองนั้นไปทางตะวันออกเฉียงใต้  แต่มาขาดเสียกลางทาง  นี่เป็นพยานอยู่ว่า  การที่สันนิษฐานไว้นั้นถูกต้องแล้ว  และถนนคงจะได้มีมาจนต่อกับที่ขาดอยู่ที่บึงอยู่นั้น  ส่วนเมืองกองทองหรือเนินทองนั้นข้าพเจ้าเชื่อว่าคือเมืองเชียงทองที่กล่าวถึงในหลักศิลานั้นเอง  เพราะฟังดูภูมิฐานที่ตั้งก็ดูเหมาะกับที่จะเป็นเมืองท่าเรือทะเล  และที่นี้เองน่าจะเป็นเมืองเชียงทองที่กล่าวถึงอยู่หลายแห่งในพระราชพงศาวดารกรุงทวาราวดี  และน่าจะเป็นเมืองนี้เองที่กล่าวถึงในเรื่องขุนช้างขุนแผน….”

ผมใช้วิธีการปัจจุบันนั่งส่องหาเมืองที่ว่านี้อยู่กับบ้าน ระยะทาง200เส้นก็เท่ากับ8กิโลเมตรโดยประมาณ จากกำแพงเมืองกำแพงเพชรกวาดขึ้นไปทางเหนือ แถวๆลำน้ำแม่ปิง มาเจอจุดที่น่าสงสัยนี้


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 87  เมื่อ 31 ต.ค. 09, 13:42

ตำแหน่งนี้ ดูท่าจะเข้าลักษณะที่เคยเป็นชุมชนมาก่อน อยู่ติดคลองที่ตื้นเขินไปแล้วหลายส่วนแต่ร่องรอยยังชัดอยู่มาก แม้จะมองไม่เห็นคันกำแพงดินของเมือง แต่ก็เห็นแนวถนนตรอกซอกซอยอยู่

ก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งของสถานที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นเมืองเชียงทองตามพระราชนิพนธ์
แต่หากเป็นเช่นนั้น เมืองนี้ก็ห่างจากระแหง จากเถินมากทีเดียว

มีเท่านี้ครับ





บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 88  เมื่อ 31 ต.ค. 09, 17:34

ขอผัดการบ้านของคุณวันดีไปก่อน    เพราะที่ยกมา  ว่า
จะตักน้ำล้างบ้านเอาตีนสี"   
หรือที่ ด่าว่า  "คนเท็จ"
หรือ ที่ว่า "สิ้นบุญสิ้นกรรม"
หรือที่ว่า "อีลาวมันจะสับยับระยำ

ยังนึกไม่ออกว่าไปลบหลู่อาคมหรือไม่  ข้อสองกับสาม ไม่น่าจะใช่   ข้อหนึ่ง ก็ไม่น่าใช่   กำลังสงสัยข้อสี่อยู่ค่ะ 

ส่วนพ่อยกที่รอจะคล้องมาลัยติดแบ๊งค์พัน    สาวลาวทองฝากบอกขออภัย

ลาวทองเกรงกลัวยอบตัวไหว้                ขอหม่อมอย่าได้นึกเคืองขุ่น
นี่เวลาวีคเอนด์ไม่เป็นคุณ                     ข้าเจ้ามีงานบุญต้องจำจร
จะกลับมาพบกันวันจันทร์เช้า                แต่บัดนาว จำใจลาไปก่อน
เฮ็ดการบ้านเล่มใหญ่ไม่ได้นอน             หม่อมโปรดอย่าใจร้อน วอนเห็นใจ 
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 89  เมื่อ 31 ต.ค. 09, 21:07

                             บัดนั้น        เหล่าลูกหาบยินดีจะมีไหน
   แม่ลาวทองจรแล้วจะช้าใย        รีบอินเตอร์มิชชั่นทันใดไปเถิดเรา
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 16
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.085 วินาที กับ 19 คำสั่ง