เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 16
  พิมพ์  
อ่าน: 60675 ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 30 ต.ค. 09, 09:47

ไม่ได้ไปดูค่ะ   เสียดายมาก
ถ้าคุณชอบละครค่ายนี้  รอดู น้ำใสใจจริง เดอะ มิวสิคัล  ในปีหน้านะคะ

หมดเรื่องแม่นางลาวทองก็จะถึงคิวเจ้าหญิงสร้อยฟ้าละค่ะ 
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 30 ต.ค. 09, 09:56

บ่ายนี้ถ้าไม่มีธุระอะไร จะขอแทรกเรื่องเมืองเชียงทองอีกสักหน่อย  

ส่วนนางลาวทอง ที่นั่งรอดื่มน้ำชากาแฟพุงกางอยู่หลังโรงนั้น  
ถ้าว่าบ่ายแก่ๆ วันนี้  ไม่มีอะไรมาขัดจังหวะ  อาจารย์ควรจะเชิญออกมาสูดอากาศจะยลโฉมก่อนหมดอาทิตย์นี้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 30 ต.ค. 09, 10:33

ถ้าลาวทองออกโรงเมื่อไร ก็จะกลายเป็นประเด็นใหม่ ว่าด้วยเรื่องภาษาและวัฒนธรรมลาว     เรื่องค่ายน็อคดาวน์ก็จะเสียจังหวะ  รวมทั้งเรื่องเชียงทองของคุณหลวงด้วย

ตอนนี้  ดิฉันอยากจะรอคุณ Navarat C.   ก่อน เผื่อเธอจะมาเล่าอะไรให้ฟังอีก    แต่ถ้าเธออยากยลโฉมลาวทอง   ก็ถือว่าเป็นมติพหุชน( คือมากกว่า ๑ เสียง)   อาจจะพาลาวทองแหวกม่านออกมาเจรจา เสียที
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 30 ต.ค. 09, 11:13

ขอประทานโทษครับ ถ้ารอผมอยู่

เรื่องค่ายทั้งหลายแหล่ ผมคิดว่าผมสรุปประเด็นของผมไปแล้วมั้งครับ
เพียงแต่รอท่านนักประวัติศาสตร์เอารูปจากสมุดข่อย(ถ้ามี)มายืนยันเท่านั้น

เชิญอาจารย์ต่อเลยครับ
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 30 ต.ค. 09, 11:27

ช่วงหยุดพักนี้ ขออนุญาตท่านอื่นด้วย ครับ

คุยนอกเรื่อง - ไม่ทราบ อาจารย์ทราบหรือยังว่า แม่นาค กลับมาแสดงอีกครั้งในวันศุกร์ - อาทิตย์
สองสุดสัปดาห์แรกของเดือนธันวาคมนี้ ครับ

ได้ยินข่าว น้ำใสใจจริง แล้วครับ เชื่อว่าค่ายนี้จะนำเสนอให้คนดูได้เห็นสิ่งใหม่ สิ่งที่ไม่เคยได้สัมผัสจากละครเรื่องนี้
(ที่เคยถูกนำมาสร้างทางทีวีสองครั้ง) มาก่อน

มีเรื่องอื่นอีกที่เหมาะสำหรับมิวสิคัล เช่น แต่ปางก่อน ซึ่งทำเป็นละครทีวีมาสองครั้ง (น้อยครั้งกว่าคู่กรรม ที่ยังไม่นับ
รวมสร้างเป็นหนังด้วย) ค่ายนี้สามารถที่จะทำให้ออกมา "ใหม่" ได้อย่างแน่นอน ครับ
หรือว่า ทางค่ายต้องการจะเปลี่ยนแนว จึงเลือก น้ำใสใจจริง
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 30 ต.ค. 09, 11:48

สมัยอยู่ถาปัด ทำหนังผีเรื่องนึงชื่อ"แม่นาคสามย่าน" ฮือฮาดีเหมือนกัน

ไม่มีสาระอะไรหรอกครับ

เอ้า...ผ่าน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 30 ต.ค. 09, 12:23

ขอเวลานอก  ตอนพักเที่ยงเช่นกัน 

๑)ยังจำชื่อ "แม่นาคสามย่าน" ได้ค่ะ  แต่จำเรื่องไม่ได้แล้ว
รู้แต่ว่าอะไรที่ถาปัดทำ  ฮากันยิ่งกว่าตลกอาชีพ


๒)ลูกสาวส่งข่าวมาบอกแม่ว่าแม่นาคจะกลับมาอีก  ให้พ่อแม่ไปจองตั๋วได้เลย   ก็ตั้งใจว่าจะไม่พลาดละค่ะ
น้ำใสใจจริง ประเดิมเป็นเรื่องแรกของค่ายนี้    ส่วนแต่ปางก่อน หรือเรื่องอะไรก็ตาม   ดิฉันก็ตั้งใจจะยกให้อาจารย์โจ้ทำอยู่แล้ว  เว้นแต่มาลัยสามชาย   ซึ่งคงจะต้องเก็บรอความเห็นของคุณบอยก่อน    ตามมารยาท

หมดเวลาเจรจา  คนดูมานั่งรอกันสลอนแถวหน้า จะยลโฉมแม่นางลาวทอง  
ดิฉันจะพาเธอออกโรงละค่ะ   ชักช้า  เมคอัพจะลบหมด ต้องแต่งหน้ากันใหม่อีก
*********************
พาลาวทองกลับออกมาหน้าม่านอีกครั้ง

เมื่อสำรวจชาติพันธุ์วรรณา "ลาว" ในขุนช้างขุนแผนตอนนี้  ก็เกิดสงสัยตะหงิดๆ  ว่า กวีผู้แต่ง(ซึ่งดิฉันเชื่อว่าเป็นชาวกรุง) มีพื้นความรู้เรื่อง "ลาว" และ"ล้านนา"มากน้อยแค่ไหน
เอามาปนกันหรือเปล่า

ดิฉันจึงจับสาวลาวทองมาสัมภาษณ์ด้านวัฒนธรรมและภาษา  เพื่อจะดูว่ากวีผู้สร้างเธอเป็นสาวลาวล้านนา ได้กำหนดวัฒนธรรม "ลาวล้านนา" ติดตัวเธอมาด้วยหรือเปล่า
เท่าที่อ่าน   ก็ยังไม่รู้สึกว่านางลาวทองมีวัฒนธรรมแตกต่างจากนางพิม สาวภาคกลางมากนัก     อย่างแรกคือเก่งเย็บปักถักร้อยพอๆกัน  
ซึ่งถ้ารู้จักทอผ้าพื้นเมือง  ก็น่าจะให้ภาพให้กลมกลืนกว่า  แต่ท่านก็ไม่เลือกข้อนี้   เอาเถอะ  พอสันนิษฐานว่า งานปักน่าจะเป็นงานฝีมือที่ "ฮอท" กันอยู่ในยุครัตนโกสินทร์ตอนนั้น
สาวลูกผู้ใหญ่บ้านเมืองจอมทอง   จึงเผยคุณสมบัติว่า

ฝีมือปักทำเราชำนาญ                           จะปักม่านไว้ให้เห็นประจักษ์ตา
ถวายไว้ในวัดเมืองลำพูน            ให้เป็นเค้ามูลไปเบื้องหน้า

ม่านเป็นผ้าขนาดใหญ่  ปักยากกว่าปักสไบหรือผ้าอะไรที่ผืนเล็กๆ    ซ้ำลวดลายที่ปักก็ยากมหาศาล คือปักเป็นพุทธประวัติตอนมารผจญ   ใครเคยไปวัดสุวรรณาราม ชมภาพผนังโบสถ์ฝีมือคงแป๊ะ คงนึกออกว่ายากขนาดไหน
ลายม่านยังมีเขาสัตตบริภัณฑ์และสระบัวอีกด้วย
แต่เธอปักหนึ่งวันกับหนึ่งคืนก็เสร็จ   น่าจะเร็วกว่าปักจักรเสียอีก
นางพิมหรือวันทองก็ปักม่านได้ฝีมือยอดเยี่ยม   ถึงมีเหตุการณ์ตอนขุนแผนฟันม่านไงล่ะคะ    

ลาวทองปักเสร็จแล้วถวายวัดลำพูน  เพราะจอมทองในตอนนั้นขึ้นอยู่กับลำพูน  ไม่ได้ขึ้นกับเชียงใหม่  จากนั้นก็ให้ช่างปั้นรูปตัวเองถวายวัดไว้  ให้พ่อแม่ดูต่างหน้า

ดิฉันไม่มีความรู้ว่าวัฒนธรรมปักม่านและปั้นรูป  เป็นวัฒนธรรมของล้านนาหรือเปล่า    ถ้าใครทราบช่วยอธิบายด้วยนะคะ
แต่ลาวทองมีฝีมือปัก เป็นคุณสมบัติที่กวียืนยันให้เป็นฝีมือประจำตัว  เพราะเมื่อถูกพรากจากขุนแผนเข้าไปรับโทษในวัง  เธอก็ไปเป็นช่างปักสะดึงกรึงไหมอยู่ในนั้นเสียหลายปี    
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 30 ต.ค. 09, 12:27

ขออภัยคนดู

ดิฉันเพิ่งนึกได้ว่าพาลาวทองออกมาผิดคิวเสียแล้ว    ยังไม่ถึงเวลาคุณหลวงจะมาเล่าเรื่องเชียงทอง     เห็นว่าจะรอบ่ายแก่ๆ
เอาเป็นว่าผิดแล้วผิดเลยก็แล้วกัน   ไหนๆพานางออกมาหน้าม่านแล้ว  จะรีบรุนหลังกลับเข้าโรงก็เสียจังหวะ
คุณหลวงขึ้นบันไดเรือนมาเมื่อไร ก็เล่าเรื่องเชียงทองตามตั้งใจไว้  ได้เลยค่ะ

ต่อ

วัฒนธรรมอย่างที่สองคือวัฒนธรรมภาษา     ดิฉันพยายามแกะรอยว่า แม่สาวลาวทอง เธอพูดภาษาถิ่นเหนือมากน้อยแค่ไหน
ก็พบว่าส่วนใหญ่กวีถอดคำพูดครอบครัวของลาวทองออกมาเป็นไทยภาคกลาง   มีศัพท์ท้องถิ่นปนอยู่บ้างพอได้กลิ่นอาย

ว่าพลางยกมือขึ้นไหว้วอน                               น้องห่อนที่จะเว้าเจ้านายเป็น
เลี้ยงน้องมาจนน้องเป็นสาว                             บ่าวใดก็มิได้มาเบิ่งเห็น
พ่อแม่ป้อนข้าวทุกเช้าเย็น                               กลางเวนกลางค่ำบ่เคยใคร
จะให้น้องไปเว้าเจ้านายทัพ                จะขอรองขอรับเป็นสังไหน
บ่ฮู้บ่หันประการใด                             น้องไปบ่ฮอดพี่นางวัน

อีกตอนคือ
ตัวข้อยจะประนอมยอมเป็นข้า               หมายว่าจะเมื้อถึงเมืองใต้

อีกตอนหนึ่ง
จากอกสองเฒ่ามาเว้าผัว                      ระวังตัวกลัวจะปะปิสังหั้น
เมื่อใหม่ใหม่ก็พิไรว่ารักกัน                                ครั้นถึงเวียงใต้ข้อยคิดกลัว
   
ดิฉันไม่รู้ภาษาถิ่นทั้งเหนือ ใต้และอีสาน  ก็เลยโทรไปหาสาวอีสานคนหนึ่งที่เรียนจบจากเมืองหลวง   อ่านให้ฟัง เธอก็บอกว่าหลายคำที่ขีดเส้นใต้ข้างบนนี้เป็นภาษาอีสาน   แต่เธอก็แถมท้ายว่าภาษาถิ่นเหนือและอีสาน มีอะไรเหมือนๆกันหลายอย่าง   อาจเป็นภาษาเหนือด้วยก็ได้
คำถามต่อไปที่ยังหาคำตอบไม่ได้  คือภาษาเหนือเมื่อสองร้อยปีก่อน เขาพูดกันอย่างนี้หรือเปล่า

เปิดกว้างไว้สำหรับผู้รู้มาขยายความกันตามสะดวกค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 30 ต.ค. 09, 13:21

เมื่อยังไม่มีใครมาผสมโรง      ดิฉันก็คุยต่อไปเรื่อยๆก่อน

วัฒนธรรมของล้านนาที่ติดมากับลาวทอง ดูเหมือนจะเห็นแค่นี้เอง   เพราะเมื่อเธอติดตามพลายแก้วลงมาทางใต้ ก็เป็นอันจบฉากบ้านเดิมที่จอมทองไว้แค่นั้น    ในฉบับหอพระสมุดก็ไม่เห็นว่าเธอกลับไปอีก

บทบาทของลาวทองเข้มข้นที่สุดก็เมื่อเปิดฉากศึกเมียหลวงเมียน้อย   เมื่อตามสามีกลับมาที่เรือนหอเดิมของสามี    ประจัญหน้ากับเมียหลวง
เป็นฉากหึงกันที่ขึ้นถึงอารมณ์สูงสุด   พลิกผันชีวิตของนางพิมหรือวันทองให้กลายเป็นวันทองสองใจ ก็มีจุดเริ่มแรกที่เหตุการณ์นี้แหละ    
นางวันทองอุตส่าห์รักษาตัวคอยสามี   ถูกแม่บังคับยังไงก็ไม่ยอมเข้าหอกับขุนช้าง     รอจนพลายแก้วกลับมาจากศึกพร้อมเกียรติยศหน้าตา      
พร้อมกับเกียรติยศ  มีเมียน้อยตามมาเป็นของแถมด้วย     แถมเป็นเมียน้อยที่ไม่สงบเสงี่ยมเจียมตัว  กล้าแหวกม่านออกมาห้ามสามีมิให้วู่วาม    ทั้งๆเมียหลวงก็เพิ่งฟ้องเขาอยู่หยกๆว่าถูกเพื่อนเก่าทรยศจะรวบหัวรวบหางเธอ

บทนางวันทองขาดสติ  ด่าว่าลาวทอง  มีตอนหนึ่งประณามว่า

" นี่อีลาวชาวดอนค่อนเจรจา                     อีกินกิ้งก่าจะตบมัน"

กวีเอาวัฒนธรรมล้านนาไปสลับกับอีสานเสียแล้วละมังคะ?
รอความเห็นค่ะ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 30 ต.ค. 09, 13:55

เรื่องปักม่าน  ดิฉันสงสัยมาตั้งนานแล้วค่ะ  


มารประจญน่ะ มีช้างศึกที่ทรงเครื่อง มีกล้่ามเนื้อที่เคลื่อนไหวทรงพลัง  
มีเสนามารถืออาวุธต่างๆกัน
มีศร  มีพระขรรค์  มีจักรแก้ว  มี ตรีศูล เกาฑัณฑ์ กั้นหยั่น โล่ เขน
มีม้า  มีโค   เครื่องแต่งโค กับม้า  ก็ไม่เหมือนกัน

มีพระอาทิตย์(ไม่น่าจะปักยาก)  มีเมฆเกลื่อน(โอ้โฮ...เมฆปักยากมากถ้าจะให้ดูว่าลอยลิบหรือโดนลม)

เขาสัตตภัณฑ์  

มีแนวสมุทร  คงคาใสสุดแลสลอน  เป็นละลอกกระฉอกชโลธร      (วันดีคงปักเมฆดูเหมือนคงคานทีแน่)


ซื้อผ้าแล้วก็นำมาย้อม  ผ้าแกมไหมย้อมยาก  กว่าจะแห้งอีกครึ่งวัน
ขนาดกว่าจะต้มย้อมอีก
เจ็ดวันเจ็ดคืนก็ปักไม่เสร็จ

นางวันนางเวียงไม่ใช่เด็ก ๆ ที่จะคอยส่งเข็มจากใต้สะดึงตามวิธีปักไหมแบบโบราณ
ขืนนางวันมัวร้อยไหมอยู่  นางเวียงก็คงอาสาช่วยราชการไปนวดท่านแม่ทัพแก้วแล้วแน่ๆ
(ในเสภาฉบับไหนไม่แน่ใจ  ขุนแผนเลือกนางคนใดคนหนึ่ง)


ท่านผู้ว่าเสภาคงสรรเสริญงานฝีมือของกุลสตรีแบบบรรยายนางในฝัน


ไหมที่ใช้ปักในสมัยนั้นเป็นของฟุ่มเฟือย  มิใช่จะซื้อหาโดยง่าย  และ...เป็นของมาจากเมืองจีนค่ะ



มีข้อมูลว่า  พระองค์เจ้าหญิงจงกลนี พระธิดาองค์ที่ ๒๒ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
เจ้าจอมมารดาตานีพระสนมเอก  เป็นธิดา พระยาอุไทยธรรม(บุนนาก)กับ คุณลิ้ม
เป็นอธิบดี(แปลว่าผู้เป็นใหญ่ควบคุม)แม่กองช่างสดึง  ปักร้อยกรองสิ่งของต่าง ๆ มีผ้าแพรเป็นต้น ใน รัชกาลที่ ๒  กรุงเทพมหานคร)
(อ้างอิง  มหามุขมาตยานุกูลวงศ์  เล่ม ๑   )
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 30 ต.ค. 09, 14:17

ไม่เป็นไรครับอาจารย์ ลาวทองออกมาก็ดีแล้ว  เพราะถ้าลาวทองเกิดอิ่มข้าวเหนียวมื้อกลางวันแล้วนั่งรอนานจนถึงบ่ายแก่  ลาวทองอาจจะง่วงเหงาหาวนอนได้

เรื่องเมืองเชียงทอง  เท่าที่ไปดูตามเอกสารต่างๆ ตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พอจะประมวลมาให้ดูได้ดังนี้

1.ในสมัยสุโขทัย  มีจารึกทั้งหมด ๔ หลัก ที่กล่าวถึงเมืองเชียงทอง คือ จารึกนครชุมด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๒๐ ซึ่งจารึกด้านนี้ข้ความชำรุด อ่านแล้วความไม่ติดต่อกัน ข้อความนั้นว่า เมิองชยงทองหาเปนฃุนนิง......  ข้อความนี้ตีความจากจารึกได้ว่า ในช่วงหนึ่งของสมัยสุโขทัย เมืองต่างๆ ในอาณาจักรสุโขทัย ประกาศตัวเป็นอิสระไม่ขึ้นกับสุโขทัย เหตุเพราะหัวเมืองต่างๆ ไม่ยอมรับพระราชอำนาจกษัตริย์กรุงสุโขทัย  เมืองเชียงทองเองก็ตั้งตัวเป็นอิสระด้วยเมืองหนึ่ง  จารึกหลักยังไม่ให้ความกระจ่างได้ว่าเมืองเชียงทองอยู่ที่ไหนแน่  จารึกหลักต่อมา คือจารึกวัดป่ามะม่วง ภาษาเขมร ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๒๑ " กฺการ  อํวิ สฺรุก โฉด โมก ลฺวะ ชฺยงโทง ดล สฺรุก บางจนฺร " ข้อความในจารึกหลักนี้ที่เกี่ยวกับเมืองเชียงทองมีว่า พระบาทกมรเตงอัญศรีสูรยพงศ์รามมหาธรรมราชาธิราช หรือสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ ๑  (ลิไทย) ได้โปรดเกล้าฯ ให้ราชบัณฑิตไปอาราธนาพระมหาสามีสังฆราชจากลังกามายังกรุงสุโขทัย เมื่อพระมหาสามีสังฆราชเดินทางมาถึงท่าเมืองมอญเดินทางเข้าสู่เขตสุโขทัย  ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้อมาตย์มนตรีและราชสกุลไปรับพระมหาสามีสังฆราชจากเมืองฉอดมาถึงเมืองเชียงทอง ถึงเมืองบางจันทร์ เมืองบางพาร สุดท้ายการเดินทางที่กรุงสุโขทัย  (ขอให้สังเกตว่า ในภาษาเขมรโบราณที่ไทยใช้นั้น ใช้สระโอแทนเสียงสระออ  ตรงนี้อธิบายได้ว่า ในบางถิ่นของเขมรเองก็ออกเสียงสระโอเป็นออเหมือนกัน ลักษณะเช่นนี้ปรากฏในเอกสารกัลปนาเมืองพัทลุงและเอกสารภาษาเขมรในไทยอีกหลายชิ้น แม้แต่อักษรไทยบางทีก็ใช้โอแทนออก็มี)  แสดงว่า เมืองเชียงน่าจะอยู่ทางตะวันตกของสุโขทัย และอยู่ในเส้นทางผ่านจากเมืองมอญมากรุงสุโขทัยด้วย (สฺรุก นอกจากแปลว่า เมือง แล้ว ยังแปลว่า บ้าน หรือ หมู่บ้าน ก็ได้) จารึกอีกสองหลักต่อมาที่สำคัญต่อการชี้ทิศทางที่ตั้งของเมืองเชียงทองในสมัยสุโขทัย คือ จารึกวัดอโสการาม ด้านที่ ๒ ที่เป็นภาษาบาลี บรรทัดที่ ๑๗ กับจารึกวัดบูรพาราม ด้านที่ ๒ ที่เป็นภาษาบาลี บรรทัดที่ ๑๓ จารึกทั้ง ๒ หลักระบุชัดว่า เมืองเหมปูระ หรือเมืองเชียงทอง อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ แสดงว่าสมัยสุโขทัยเมืองเชียงทองอยู่ในอาณาเขตของสุโขทัยด้วย เมืองเชียงทองสมัยสุโขทัยนี้ มีนักวิชาการตีความสับสนกับเมืองเชียงทองในลานช้าง  เพราะชื่อเหมือนกันนั่นเอง

2.ในสมัยอยุธยา  มีหลักฐานที่กล่าวถึงเมืองเชียงทองไม่มาก มีสมุดภาพไตรภูมิสมัยอยุธยา ที่ระบุที่ตั้งเมืองเชียงทองว่าอยู่เหนือเมืองกำแพงเพชรและใต้เมืองตาก  นอกจากนี้ ก็มีเอกสารพระไอยการเก่าตำแหน่งนาหัวเมือง เอกสารชิ้นนี้เคยลงพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือเทศาภิบาลเมื่อ ปี ๒๔๕๙ (ไม่ใช่เทศาภิบาล พระนิพนธ์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ) เมื่อไม่นานมานี้ได้มีผู้นำมาพิมพ์อีกในหนังสือศรีชไมยาจารย์ เมื่อปี ๒๕๔๖   ในพระไอยการนี้ ระบุว่า เมืองเชียงเงิน เมืองเชียงทอง เป็นเมืองขึ้นแก่เมืองกำแพงเพชร  และในสมัยนั้น เมืองตากก็ขึ้นแก่เมืองกำแพงเพชรด้วย  และเมื่อนำไปเทียบกับทำเนียบหัวเมืองครั้งรัชกาลที่ ๓ ที่จารึกไว้ที่วัดพระเชตุพน  ปรากฏว่า เมืองเชียงเงิน เมืองเชียงทอง บนฝั่งขวาของลำน้ำพิง (หันหน้าขึ้นเหนือ) ย้ายไปขึ้นกับเมืองตากแทนแล้ว  เป็นอันว่า สมัยอยุธยาเมืองเชียงทองก็ยังอยู่ไม่หายไปไหน

๓.สมัยธนบุรี ยังไม่พบเอกสารที่กล่าวถึงเมืองเชียงทอง  

๔.สมัยรัตนโกสินทร์ มีเอกสารหลายชิ้นกล่าวถึงเมืองเชียงทอง  เช่น ในสมัยรัชกาลที่ ๒ เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้เตรียมการออกพระเมรุมาศถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ ๑ เมืองเชียงเงิน เมืองเชียงทอง ได้รับเกณฑ์ให้ส่งขมิ้นสำหรับย้อมผ้าไตรถวายพระสงฆ์ด้วย  สมัยรัชกาลที่ ๓ นอกจากทำเนียบหัวเมืองที่จารึกไว้ที่วัดพระเชตุพนแล้ว ยังมีเอกสารรายงานราชการทัพเมืองเวียงจันทน์บางตอน ระบุว่า เจ้าเมืองเชียงทอง เจ้าเมืองตาก ต้องเกณฑ์ไปทัพรบกับพวกลาวเวียงจันทน์  ขยับมาอีกให้ใกล้ปัจจุบัน  อยากให้อ่านหนังสือสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จตรวจการณ์คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๕๕ - ๒๔๖๐ (ไปหาซื้อได้ที่มูลนิธิมหามกุฏฯ หน้าวัดบวรฯ ราคาเล่มละ ๑๒๐ บาท ๖๔๐ หน้า) ตอนที่ว่าด้วยระยะทางสมเด็จพระมหาสมณะ  เสด็จตรวจการณ์คณะสงฆ์ในมณฑลฝ่ายเหนือ พ.ศ.๒๔๕๖ มีรายงานเมื่อเสด็จไปตรวจการเมืองตาก ในการเสด็จครั้งนั้นได้เสด็จไปที่เมืองตาก ก่อนแล้วเสด็จลงมาทางใต้จนมาถึงบ้านเชียงทองบ้านเชียงเงิน ที่นี่มีดอยเชียงทอง และวัดเชียงทองล่าง วัดดอยเชียงทอง ซึ่งในขณะนั้นเมืองเชียงทองในอดีตคงลดฐานะเป็นเพียงหมู่บ้านแล้ว  หลักฐานทางโบราณคดีคงจะสูญไปมากตามกาลเวลา  เพราะมีหลักฐานจากประวัติเมืองตาก ที่ขุนวัชรพุกก์ศึกษากร (แปลก วัชรพุกก์) แต่งไว้ พิมฑ์ในงานพระราชทานเพลิงศฑท่านเองเมื่อ ๒๕๐๘ ว่า ในสมัยโบราณเรียกเมืองเชียงทองว่าด่านช่องกุฎิ์ มีโบราณสถานเป็นวัด เจดีย์เก่าแก่ และบ่อน้ำ  ครั้นภายหลังชาวบ้าน ได้ไปขุดค้นเจดีย์หาของมีค่าจนเจดีย์พังทลาย บ่อน้ำก็ถูกถมดินเสียหมด จนไม่เหลือหลักฐานชุมชนเมืองเก่าให้คนรุ่นหลังได้เห็น  

คะเนว่า เมืองเชียงทองในเขตจังหวัดตาก อาจจะไม่ใช่เมืองในความหมายว่าต้องมีคูน้ำคันดินล้อมรอบเมือง อย่างเมืองโบราณใหญ่ๆ ทั้งหลาย คงเป็นชุมชนที่พัฒนามาจากหมู่บ้านที่อยู่ในเส้นทางผ่าน   และเข้าใจว่า การเดินทางไปทางเหนือสมัยก่อนคงใช้ทางเดียวกับทางเดินทัพของพลายแก้ว  มิได้เดินตรงขึ้นจากกรุงศรีอยุธยาไปเชียงทองทีเดียวตามความเข้าใจของคนปัจจุบัน  แต่ต้องเดินขึ้นไปถึงพิษณุโลกหรือสุโขทัยก่อนแล้วค่อยเดินตัดไปทางตะวันตก เข้ากำแพงเพชร ไประแหง ถึงตากแล้ววกลงมาที่เชียงทอง  ถ้าจะขึ้นเชียงใหม่ พอถึงระแหง เถิน ก็ขึ้นไปตามลำน้ำพิงก็ถึงเชียงใหม่  

ขอเสนอข้อมูลเมืองเชียงทองเท่าที่ค้นมาได้ อาจจะมีเอกสารอื่นๆ อีกแต่เนื่องจากเวลาจำกัดจึงขอเสนอแต่เท่านี้ครับ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 30 ต.ค. 09, 14:18

นางวันทองนั้นทรุดตัวลงกอดเท้าขุนแผนด้วยความระทม
เรือนั้นเป็นเรือยาวหลังคากระแชง    บริเวณหน้าเรือกว้างขวาง  ภายในเรือกั้นม่านมีฟูกหมอนผิดสังเกต

ลาวทองออกมากั้นขุนแผนไว้เตือนว่ามีตื้นลึกหนาบาง
เป็นการเหน็บแนม


นางวันทองคิดว่าเป็นการสำออยลอยนวล  ไม่ต้องมาไหว้ให้เสียมือ
รับไหว้เมื่อไหร่ก็เท่ากับเลื่อนฐานะตนเองเป็นเมียหลวงทันที


นางลาวทองเก่งกาจมากทีเดียวถึงกับประชดว่าไม่รู้ว่ามีเมียหลวงอยู่จะได้ขนของแพง ๆเช่นไม้กฤษณางาช้างมาให้


การด่าทอเปรียบเปรยเป็นไปอย่างดุเดือดด้วยความหึงหวง
นางลาวทองลอยหน้าชมว่านางวันทองคงขับขี่ช้างทุกเวลา  ถึงกับจะเผื่อให้ไปรับ


ถึงตอนนี้วันทองก็เรียกสายทองและสาวใช้อีกสองคนมาช่วยตบ

สายทองคงร่วมมือเต็มที่เพราะเห็นว่าอัตราแบ่งส่วนลดลงแน่ๆ
พูดแล้วเห็นใจสายทอง

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 72  เมื่อ 30 ต.ค. 09, 14:19

คนกรุงเทพฯตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ขึ้นไปเรียกคนล้านนาว่าเป็น "ลาว" แม้แต่คนในรั้วในวังยังไม่ทราบว่าคนล้านนารับประทานอะไรบ้าง คิดว่ารับประทานปลาร้าเช่นเดียวกับลาวล้านช้าง

ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง เล่าไว้ในหนังสือ เพ็ชรลานนา, เชียงใหม่ ๒๕๐๗, น. ๒๖-๒๗ เรื่องที่พระราชชายาเจ้าดารารัศมีถูกดูถูกเหยียดหยามโดยชาววังคนกรุงเทพว่า

บางทีพระองค์ทรงได้ยินเสียงตะโกนลั่นผ่านหน้าห้องบรรทมว่า "เหม็นปลาร้า" บ่อยครั้งที่พระกระยาหารบรรจุวางบนถาดเงินก็ถูกกีดกันมิให้ผ่านเข้าออกทวาร ยิ่งกว่านั้นเครื่องเพชรอันหาค่าบ่มิได้ของในหลวงก็มาปรากฎวางทิ้งอยู่ในพระตำหนักของพระราชชายา ผู้ที่ปรนนิบัติรับใช้พระองค์ก็พลอยถูกจงเกลียดจงชัง มีคนเอาปลาทูใส่กะลามะพร้าวไปวางไว้บนสำรับกับข้าว.....

จิตร ภูมิศักดิ์ เขียนไว้ในหนังสือ "ความเป็นมาของคำสยาม, ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ" ถึงปรากฎการณ์การดูถูกไทยล้านนาของคนไทยภาคกลาง ในสมัยต้นรัชกาลที่ ๕ ขึ้นไป ว่า

ประวัติศาสตร์ของไทยล้านนานับตั้งแต่ต้นสมัยรัชกาลที่ ๕ ขึ้นไป เป็นประวัติศาสตร์ของการเป็นเมืองขึ้นของไทยภาคกลางและพม่าสับเปลี่ยนกันหลายร้อยปี. ก่อนสมัยรัชกาลที่ ๕ ขึ้นไป ล้านนาเป็นประเทศราชของกรุงรัตนโกสินทร์ มีเจ้าครองรัฐอยู่หลายนครรัฐ โดยมีเชียงใหม่เป็นรัฐประธานของสหพันธนครรัฐพี่น้อง. ยุคนั้นชาวกรุงเทพมหานครถือชาวล้านนาเป็นเมืองขึ้น เป็นประชาชนชั้นสอง มักเรียกขานอย่างดูถูกเหยียดหยามว่าเป็น "ลาว" เป็นพวก "นุ่งผ้าซิ่น กินกิ้งกือ" หรืออย่างในเสภาขุนช้างขุนแผน ตอนนางวันทองหึงนางลาวทองซึ่งมาจากเมืองเหนือ มีคำด่าเปรียบเปรยนางลาวทองว่า

"ทุดอีลาวดอนค่อนเจรจา  อีกินกิ้งก่ากบจะตบมัน"
(พระราชนิพนธ์รัชกาลที่๒)



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 73  เมื่อ 30 ต.ค. 09, 15:09

เคยได้ยินเรื่องอคติเหล่านี้มาบ้างเล็กน้อยค่ะ ไม่รู้รายละเอียด   รู้อีกอย่างว่าพระราชชายา หรือ"เจ้าน้อย" ที่ชาววังเรียก   ท่านดำรงพระองค์ด้วยขันติ มาก ระหว่างทรงอยู่ในวังหลวง

ลองพิจารณาน้ำเสียงของกวีผู้สร้างลาวทองขึ้นมาว่า ท่านเหยียดหยามตัวละครตัวนี้ไหม   ก็ไม่เห็นอะไรในทางลบ
เพราะท่านสร้างคุณสมบัติให้ลาวทอง ให้มีคุณสมบัติไม่น้อยกว่านางวันทอง  มีฝีมือกุลสตรี ช่างคิด   แหลมคม ไม่ใช่ผู้หญิงจืดๆโง่ๆ
อันที่จริงบรรดาตัวนางในขุนช้างขุนแผน ก็ไม่เห็นใครจืดสักคน   ถ้าเป็นอาหารก็รสชาติเป็นส้มตำปูเค็มใส่พริกกันเป็นส่วนใหญ่   ที่สุภาพที่สุดเห็นจะเป็นลูกสาวเจ้าเมืองที่ชื่อแก้วกิริยา 
ศรีมาลาถึงสวยเสงี่ยมมีราศีผู้ดี แต่ความคิดความอ่านก็ไม่เรียบร้อยนักหรอก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 74  เมื่อ 30 ต.ค. 09, 17:52

คุณวันดีเอ่ยถึงม่านฝีมือลาวทอง   ปักลายพุทธประวัติตอนมารผจญ
กวีท่านพรรณนาไว้ได้งามมาก

ปักเป็นเรื่องพระยามารา                           ยกพลโยธากองทัพชัย
มาประจญใต้ต้นมหาโพธิ                          กริ้วโกรธกระทืบช้างที่นั่งไล่
พวกพลแปรร่างต่างต่างไป                        บ้างสวมใส่เสนาะเกราะพราย
บ้างแบกตระบองตะแบงมาน                      ขี่สารสูงสุดพระเมรุหมาย
กำซาบศรขรรค์พรรณราย                          จักรแก้วแพรวพรายคทาธร
ตรีศูลเสน่าเกาทัณฑ์                                กั้นหยั่นโล่เขนแลสลอน
ขี่คชสารกล้างางอน                                 สิงหราชฤทธิรอนระเหิดตาม
มิ่งม้าแม้นม้าพลาหก                                ผจงยกย่ำย่างกลางสนาม
ล้วนประดับประดาเครื่องม้างาม                  บ้างขี่โคโตหลามกระบวนทัพ
ปักเป็นธงหน้าคลาเคลื่อน                         เมฆเกลื่อนอาทิตย์ก็มิดดับ
เทพทุกราศีก็หนีลับ                                 ระยับด้วยทองถมทุกแห่งไป

ยกมาแค่ลายมารผจญก่อนค่ะ  ยังมีภาพเขาสัตตบริภัณฑ์และสระบัวอีก     อดคิดไม่ได้ว่ากวีท่านพรรณนาตามจิตรกรรมฝาผนัง ในวัดใดวันหนึ่งที่ท่านเคยเห็นมาก่อนหรือเปล่า
ไม่น่าจะมาจากจินตนาการล้วนๆ   น่าจะมีแบบอยู่ที่ไหนให้ท่านเขียนคำบรรยายตาม

น่าเสียดายม่านผืนนี้มีอยู่ตอนเดียว    พอลาวทองถวายวัดก็หมดบทบาทไป     ทั้งๆฝีมือบรรยายนั้น เห็นความเฉิดฉายไม่แพ้ม่านนางวันทองเลยเชียว
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 16
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.083 วินาที กับ 19 คำสั่ง