เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 14 15 [16]
  พิมพ์  
อ่าน: 60499 ชาติพันธุ์วรรณา ในขุนช้างขุนแผน (๒)
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 225  เมื่อ 18 พ.ย. 09, 09:22

      วันก่อนค้นแฟ้มเก่า พบบทความนี้ คิดว่าน่าจะมีประโยชน์สำหรับกระทู้นี้บ้าง ครับ
บทความความสัมพันธ์ไทย ลาว จากนสพ. กรุงเทพธุรกิจ  ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๐ 

              'ลาว' ในสังคมไทยสมัยอยุธยา-รัตนโกสินทร์ตอนต้น

อริญชย์ วรรณชาติ
 
             คำนี้นอกจากจะเป็นการใช้เรียกกลุ่มชาติพันธุ์แล้ว ยังมีนัยแห่งความหมายที่สะท้อนให้เห็นถึง
ความรู้สึกในการแบ่งกลุ่ม ซึ่งได้ปรากฏและสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

            ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานและข้อมูลใดเพียงพอที่จะสามารถยืนยันได้อย่างแน่ชัดว่า เพราะเหตุใด
ผู้คนในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจึงเรียกคนแถบล้านนาและล้านช้างว่า 'ลาว' ซึ่งปรากฏคำเรียกขาน
ดังกล่าวมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 21 เป็นอย่างน้อย
           จากตำนานบ้านเมืองในลุ่มน้ำกกและแม่น้ำโขง แถบเชียงราย-เชียงแสน ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 14
อ้างว่าผู้ปกครองของเมืองเชียงลาว หรือเมืองเงินยางเชียงแสนสืบราชวงศ์มาจากลวจักราช โดยผู้ปกครองต่อๆ มา
ล้วนมีคำนำหน้าว่า "ลาว" 

            จิตร ภูมิศักดิ์ และมหาสิลา วีรวงศ์ ผู้เขียนประวัติศาสตร์ลาว รวมทั้งนักปราชญ์อีกหลายคนต่างให้
ความหมายไปในทิศทางเดียวกันว่า

              ลาวหมายถึงความสูงส่งแห่งฐานันดร และความเป็นผู้เจริญ ซึ่งความหมายเหล่านั้นไม่ตรงและสอดคล้อง
กับความหมายในการรับรู้ของคนไทยในสังคมปัจจุบัน
            จึงนำมาสู่คำถามที่ว่า เพราะเหตุใดลาวที่เคยมีความหมายว่าผู้ยิ่งใหญ่ ผู้เจริญ กลับกลายเป็นคำที่มี
ความหมายไปในทำนองว่าเป็นคนบ้านนอกล้าหลังตามความคิดของคนไทย

            การรับรู้เกี่ยวกับลาวในสังคมไทย ตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้นน่าจะเกิดขึ้นภายใต้
กรอบความคิดตามช่วงระยะเวลาที่ต่างกัน
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 226  เมื่อ 18 พ.ย. 09, 09:24

กรอบความคิดแรก        
                  เป็นการรับรู้ในลักษณะของพื้นที่ หรือความเป็นกลุ่มชน โดยคนสยามในอดีตมักจะเรียกดินแดน
และผู้คนบริเวณแม่น้ำโขงว่า ลาว  ซึ่งหมายถึงดินแดนและผู้คนแถบล้านนา ล้านช้าง และภาคอีสานในปัจจุบัน
การรับรู้ในลักษณะเช่นนี้เป็นการรับรู้ในเชิงพื้นที่เท่านั้น ยังไม่ปรากฏความรู้สึกของความเป็นชาติเข้ามาร่วม

กรอบความคิดที่สอง      
                  คือการรับรู้ผ่านความสัมพันธ์ทางการเมือง ระหว่างผู้ปกครองแคว้นและอาณาจักร เช่น กรณีที่
พระเจ้าอู่ทอง(อยุธยา) และพระเจ้าฟ้างุ้ม(ล้านช้าง) ทรงสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างกันด้วยการแบ่งปันเขตแดน
อาณาจักร ดังข้อความในพระราชสาสน์ที่ปรากฏในพงศาวดารลาวว่า

             ...เฮาหากแม่นพี่น้องมาแต่ขุนบุลม(ขุนบรม)พู้น เจ้าอยากได้เมืองให้เอาแค่เขตแดนดงสามเส้า
(ดงพระยาไฟ) ไปจดภูพระยาพ่อและแดนเมืองนครไทยเถิด...

กรอบความคิดที่สาม      
                 คือการรับรู้ผ่านความสัมพันธ์ทางเครือญาติโดยการแต่งงาน เมื่อลาวเข้ามามีความสัมพันธ์ทางเครือญาติ
กับไทย ย่อมทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์กันทางสังคมขึ้นระหว่างคนทั้งสองกลุ่ม ส่งผลให้เกิดการรับรู้เกี่ยวกับลาวขึ้นใน
สังคมไทย เช่น
                 การที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงมีเจ้าจอมองค์หนึ่งเป็นชาวเวียงจันทน์
นาม 'แว่น' หรือเรียกอีกชื่อว่า 'ท่านเสือ'ซึ่งทรงได้รับความไว้วางพระทัยให้ดูแลกิจการภายในแทน
สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี (ท่านนาก) และต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นถึงพระสนมเอก
             นักประวัติศาสตร์บางคนเชื่อว่าอิทธิพลของพระสนมพระองค์นี้น่าจะมีผลต่อการควบคุมและดำเนิน
นโยบายระหว่างกรุงเทพฯ กับเวียงจันทน์อยู่ไม่น้อย  
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 227  เมื่อ 18 พ.ย. 09, 09:27

กรอบความคิดที่สี่         
                  คือการรับรู้ผ่านการทำสงคราม กล่าวคือเมื่อยามเกิดศึกสงครามระหว่างสยามกับลาวย่อมจะมี
การเกณฑ์แรงงานไพร่เพื่อออกไปรบ ตลอดจนการรวบรวมเสบียงอาหารในกองทัพ การเตรียมการศึกใน
แต่ละครั้งสร้างการรับรู้เกี่ยวกับลาวแก่สังคมไทย
                นอกจากนั้นผลพวงจากการทำสงคราม เช่น การกวาดต้อนเทครัวชาวลาวเมืองเวียงจันทน์ลงไปไว้ที่
เมืองสระบุรีหลายหมื่นคน อีกส่วนหนึ่งส่งไปไว้ที่ลพบุรี จันทบุรี ส่วนลาวซ่งดำ หรือลาวโซ่งให้ไปอยู่ที่เพชรบุรี
สุพรรณบุรี และราชบุรี ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ก็ทำให้ลาวเหล่านั้นเข้ามาเกี่ยวข้องและมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมไทย

กรอบความคิดสุดท้าย       
                    คือการรับรู้ผ่านการเป็นพลเมืองของประเทศ เมื่อชาวลาวเข้ามาตั้งถิ่นฐานในสังคมไทยย่อมทำให้
เกิดความสัมพันธ์กับคนในสังคมไทยด้วย คนลาวที่อาศัยในไทยได้รับการขนานนามว่า 'ลาวสยาม' เพราะชาวสยาม
ตีดินแดนนี้ได้จากลาวซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของตน การเป็นลาวสยามนั้นแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของลาวที่มีต่อสังคมไทย
ในลักษณะการเป็นพลเมืองของประเทศ

                 ในสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ความคิดเกี่ยวกับลาวแสดงให้เห็นความสัมพันธ์
อันดีที่มีต่อกันอันเนื่องมาจากเป็นช่วงที่เจ้านายเชื้อสายลาวเป็นที่นิยมชมชอบและมีบทบาทอยู่ในราชสำนักสยาม
ดังเช่น กรณีท่านเสือพระสนมเอก หรือ กรณีการสถาปนาพระองค์เจ้าหญิงจันทบุรี พระราชธิดาในรัชกาลที่ 1
ซึ่งประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเจ้าทองสุก(พระราชธิดาในเจ้าผู้ครองนครเวียงจันทน์) ขึ้นเป็น 'สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ
เจ้าฟ้ากุลฑลทิพยวดี' และต่อมาก็ได้ทรงอภิเษกเป็นพระชายาในรัชกาลที่ 2
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 228  เมื่อ 18 พ.ย. 09, 09:34

              ทว่าทัศนะและมุมมองกลับเปลี่ยนไปในทางเกลียดชังซึ่งปรากฏชัดเจนในสมัยรัชกาลที่ 3 หลังจากกรณี
ความขัดแย้งระหว่างเจ้าอนุวงศ์กับราชสำนักไทย ความเกลียดชังถูกถ่ายทอดผ่านประวัติศาสตร์กรณีการตั้งแข็งเมือง
ของเจ้าอนุวงศ์ จนทางการไทยต้องส่งกำลังไปปราบ และได้จับเจ้าอนุวงศ์ พระชายา พระโอรส และพระธิดาจองจำ
ในกรงเหล็ก ลำเลียงเข้ามายังกรุงเทพฯ แล้วนำไปประจานไว้ที่สนามหลวงจนเจ้าอนุวงศ์ถึงแก่พิราลัย และยังนำพระศพ
เจ้าอนุวงศ์เสียบประจานไว้ที่สำเหร่ 

           กรณีดังกล่าวเป็นการถ่ายทอดทัศนะแห่งความเกลียดชังให้เกิดขึ้นในสังคมไทย เป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่ทัศนะ
และมุมมองแห่งความไม่เข้าใจกันของทั้งสองชาติ

          ปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวกำหนดทัศนะของสังคมไทยต่อลาวตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น คือ
ความสัมพันธ์ทางการเมือง หากความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นไปในลักษณะที่ดี ทัศนะของชาวไทยมีต่อลาวก็ย่อมจะเป็นไป
ในทางที่ดีด้วย ในทางกลับกันเมื่อความสัมพันธ์ทางการเมืองเสื่อมทรามก็นำไปสู่การสร้างความเกลียดชัง ชนชั้นปกครอง
จึงมีส่วนสำคัญในการสร้างภาพและขยายมุมมองทางทัศนะที่มีต่อลาวไปสู่คนกลุ่มอื่นๆ ในสังคม

          การรับรู้ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นปัญหาที่มีความซับซ้อนในทางประวัติศาสตร์ เป็นบทเรียนที่ดีให้คนยุคปัจจุบัน
ตระหนักและเรียนรู้เพื่อแสวงหาหนทางที่จะสร้างความเข้าใจ และความเคารพในความเสมอภาค...ไม่ว่าจะมาจาก
ชาติพันธุ์ใดก็ตาม

พระธาตุศรีสองรัก จังหวัดเลย พระธาตุที่แสดงถึงมิตรไมตรีระหว่างอยุธยากับล้านช้าง


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 229  เมื่อ 18 พ.ย. 09, 10:22

พอดีเห็นเรื่องนี้เมื่อเช้า เห็นเข้ากันดีกับประเด็นที่คุณSilaเสนออยู่ ขออนุญาตคุณยอดเยี่ยม เทพทรานนท์เจ้าของข้อเขียนนี้ นำมาให้อ่านกันที่นี่ด้วย


น้ำตาศิษย์ลาวที่เมืองอุบลฯ


เมื่อวานนี้ผมไปสอนหนังสือที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อุบลราชธานี สอนตั้งแต่ ๘.๓๐ น. ยันเครื่องบินออกตอนค่ำตามเคย สนุกดี และมีบรรยากาศดี แม้จะสอนปีละเพียงวันเดียว แต่ก็มีความเป็นกันเองเหมือนกับสอนกันมาทั้งปี

ใน Class ที่สอน มีนักเรียนทุน ป.โท จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวมาเรียนด้วย เป็นอาจารย์อยู่ที่ลาวครับ  เป็นหญิงหนึ่งคนและชายหนึ่งคน ตั้งใจเรียนเหมือนนักเรียนที่ต้องมาเรียนต่างถิ่นเป็นธรรมดา การสอนวันนั้นไม่เน้นทางวิชาการ แต่เน้นวิธีคิด ในตอนหนึ่งของการสอนขั้นตอนการตัดสินใจ Engineering Critical Thinking “การจัดระบบความคิดให้เป็นระเบียบ” เพื่อให้นักเรียนสามารถ “ผลิตงานภายใต้แรงกดดัน” ให้ได้ (Productive Under Pressure) จึงเชิญนักศึกษาไทย ๒ คน และนักศึกษาลาว ๑ คน มายืนหน้าห้อง

ผมเริ่มถามนักเรียนไทยว่า... “เมืองไทยนั้นเป็นเมืองที่คนทั่วโลกบอกว่าเป็นสยามเมืองยิ้ม เป็นเมืองที่ฝรั่งมังค่าบอกว่าเป็นเมืองแห่งความเป็นมิตร ช่วยเหลือและโอบอ้อมอารี.... แต่เคยคิดไหมว่าทำไม ประเทศไทยเราเป็นประเทศที่มีแต่ศัตรูรอบด้าน เพื่อนบ้านของเรา ไม่ว่าจะเป็นพม่า มาเลเซีย ลาว เขมร เวียดนาม ต่างก็เกลียดเมืองไทยกันหมดเลย.... มันเกิดอะไรขึ้นหรือครับ”

นักเรียนไทย.... นิ่ง

ผมพูดต่อว่า.... “ทุกอย่างในโลกนี้ล้วนเกิดจากเหตุและปัจจัย เราต้องหาเหตุและปัจจัยให้ได้”

นักเรียนไทยคนหนึ่งตอบว่า.... “เขาคงอิจฉาเรา เพราะเราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นใคร”

ถามนักเรียนไทยต่อว่า... “รู้สึกไหมว่าในภูมิภาคนี้ ไม่มีประเทศไหนเลยที่จะทำลายทรัพยากรของประเทศเพื่อนบ้านเหมือนพวกคนไทยเรา เราไม่เคยได้ยินว่า ลาวมาตัดป่าเมืองไทย หรือพม่ามาขุดแร่เมืองไทย.. เราเคยแต่ได้ยินว่าคนไทยเราไปตัดป่า ขุดแร่ในลาว ในเขมร ในพม่า.. มันเกิดอะไรขึ้นหรือ”

นักเรียนไทย.... นิ่ง

ผมพูดต่อว่า.... “การนิ่ง ไม่ได้แก้ปัญหา”

นักเรียนไทยตอบว่า.... “อาจจะเพราะว่าเราเจริญกว่า และเราค้าขายเก่งกว่า”

ผมถามนักเรียนไทยต่อว่า.... “ประเทศแถวๆเรานี้ ล้วนเป็นประเทศที่มีศิลปวัฒนธรรมมายาวนาน หลายแห่งเป็นมรดกโลก... แต่รู้สึกไหมว่า ไม่มีประเทศไหนเขามาเอาศิลปวัฒถุของเราไปเลยในยามที่ทั้งสองฝ่ายสงบไม่รบกัน ข่าวว่ามีแต่เราที่เข้าไปตัด เข้าไปขโมย เข้าไปขนศิลปะของเขามาวางขายในบ้านเรา ทั้งเทวรูปหิน หน้าบันไม้ ต่างๆนานา แถมส่งไปขายให้ต่างประเทศอีกด้วย ... มันเกิดอะไรขึ้นหรือครับ”

นักเรียนไทย.... นิ่ง (อาจจะเริ่มรู้สึกตัวว่ากำลังถูกวางยาอะไรสักอย่าง)

ผมถามต่อว่า.... “กลับมาถึงคำถามแรกดีกว่า.... ทำไมเพื่อนบ้านเราเขาถึงเกลียดเรา”

นักเรียนไทย.... นิ่ง

ถามต่อว่า.... “เพราะอะไรหรือครับ”

นักเรียนไทย.... นิ่ง

ผมหันไปถามนักเรียนทุนจาก สปป.ลาว ว่า... “คนลาวรู้สึกอย่างไรกับคนไทยบ้างครับ ขอให้ตอบตามจริงอย่างสุภาพ ไม่มีอารมณ์ แต่ขอให้พูดความจริง เพราะในนี้คือห้องเรียน และการพูดของท่าน อาจจะเป็นจุดเล็กๆในการแก้ปัญหาให้ลูกหลานไทย-ลาว เพื่อให้เราอยู่กันอย่างมีความสุขขึ้น”

นักศึกษาลาว.... นิ่ง (สงสัยว่ายังงงๆอยู่ หรืออาจจะกำลังติดตามคำตอบของนักเรียนไทยอย่างจดจ่ออยู่)

ผมพูดต่อว่า....  “ความน่าสนใจก็คือ ตอนนี้มีคนเวียดนามเข้ามาในลาวมาก รู้สึกอย่างไรกับเพื่อนบ้านจากแดนซ้าย กับเพื่อนบ้านจากแดนขวา”

นักศึกษาลาวตอบว่า... “พูดจริงๆนะคะ คนลาวรู้สึกว่าคนไทยดูถูกและเอาเปรียบคนลาว”

ข้าพเจ้า... นิ่ง (ไป ๒ อึดใจ)  และพูดต่อเพื่อขอเวลาคิดบ้างว่า.... “เป็นความรู้สึกของตนเองหรือของคนลาวโดยรวม”

นักศึกษาลาวตอบว่า... “เป็นภาพรวมๆทั่วประเทศค่ะ”

กระผม... นิ่ง (ไปอีก ๑ อึดใจ) และหันหน้ามาบอกนักเรียนไทยอีก ๖๐ ชีวิตใน Class ว่า.. “นี่คือคำตอบจากความจริงใจของเพื่อนชาวลาว ต้องขอบคุณเขาที่เขากรุณาบอกความจริงให้เรา และนับแต่นี้เป็นต้นไป เราคงต้องคิดและคิดแล้วครับว่า เราจะทำอย่างไรต่อไป”

ผมพูดต่อว่า.... “การกระทำใดต่อไป จะต้องเกิดจากข้อมูลและความเข้าใจ ต้องใจกว้าง และเริ่มปฏิบัติการแก้ปัญหาแห่งความรู้สึกนั้น เริ่มทำตั้งแต่วันนี้ ปัญหาอาจจะไม่สามารถแก้ได้ในวันเดียว คงต้องอาศัยเวลา วันหนึ่งความรักก็จะกลับมาหาพวกเราทุกคนในภูมิภาคนี้อีกครั้งหนึ่ง... คิดและเริ่มทำ ได้แล้วกระมังครับ"

ผมหันกลับมาที่ศิษย์ลาวแล้วพูดว่า..... “รู้จักสมเด็จพระเทพรัตนฯ หรือไม่”

นักศึกษาลาวตอบว่า... “รู้จักดีค่ะ”

ผมถามต่อว่า.... “วิจารณ์หรือแสดงความรู้สึกต่อพระองค์ท่านสักนิดซิครับ”

นักศึกษาลาวตอบว่า..... “ท่านเป็นคนดีที่สุดในโลก”

นักศึกษาลาวพูดต่อว่า.... “พระเทพเป็นคนดีที่สุด พระเทพรักคนลาว เป็นห่วงคนลาว เข้าใจคนลาว  ช่วยเหลือคนลาว ไม่เคยดูถูกคนลาว ท่านเป็นคนที่ดีมากๆๆ”

ผมถามนักศึกษาลาวต่อว่า... “คนลาวรู้สึกอย่างไรต่อพระองค์ในภาพรวม”

นักศึกษาลาวพูดเสียงเครือๆว่า... “คนลาวรักสมเด็จพระเทพมากๆ มีบ้านพระเทพอยู่ที่เขื่อนน้ำงึมด้วย เรารู้สึกว่าพระเทพเป็นคนที่ดีที่สุด เป็นห่วงและทำให้เมืองลาวมากๆ..... ฯลฯ...”

ผมพูดต่อไปว่า... “มีอะไรจะพูดอีกไหมครับ”

นักศึกษาลาว.... เงียบ และยกมือขึ้นปาดน้ำตา

ยอดเยี่ยม... อึ้ง และ เงียบไปเหมือนกัน


ผมหันกลับมาหาลูกศิษย์ไทยอีก ๖๐ ชีวิตว่า....


“นี่คือทองคำที่อยู่บนหัวนอนเรา เราอาจจะรู้ว่าเรามีทองคำอยู่ แต่ด้วยความเคยชิน เราจึงไม่ค่อยได้เช็ดถูรักษาทองคำของเรา แต่เราก็จะไม่ยอมให้ใครมาเอาทองคำของเราไป.... เป็นความรู้สึกที่เราต้องรู้สึก และเป็นความรู้สึกที่วิศวกรอย่างเราต้องแสดงออกมาเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ นี่คือความรู้สึกของเรา”

หลังจากนั้นผมพูดอีกหลายประการ แต่ขออนุญาตไม่บันทึกไว้ที่นี้ เพราะเกรงว่าจะไม่สมควรที่จะบันทึกเป็นตัวหนังสือออกมาครับ

ผมรักประเทศไทย.... ผมรักและเทิดทูนสมเด็จพระเทพรัตนฯ ครับ


ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์
๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 230  เมื่อ 18 พ.ย. 09, 11:46

ขอบคุณสำหรับบทความนี้ค่ะ คุณ N.C.   อ่านแล้ว ตื้นตันใจ

ทีแรกว่าจะมาเล่าถึงลาว(ล้านนา)พ่อลูกสองคนที่เป็นตัวประกอบในตอนศึกเชียงใหม่       คุณวันดีเคยเกริ่นไว้   แต่ยังไม่ได้ลงรายละเอียด
แต่ไม่อยากเล่าในตอนนี้ให้เสียบรรยากาศดีๆจากบทความ   เลยหยุดไว้ก่อน
เผื่อใครมาเล่าเรื่องอื่นคั่นโปรแกรมอีกบ้าง

ภาพที่นำมาลง มาจากเว็บนี้
http://kanchanapisek.or.th/kp14/news/works/49/feb/240206/240206.html

๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชวโรกาสให้ คณะบุคลากรทางการแพทย์จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จำนวน ๓๑ คน ที่เข้าร่วม   
“  โครงการฝึกอบรมเทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณสุขสำหรับบุคลากรทางการแพทย์จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตามพระราชดำริ  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พ.ศ. ๒๕๔๙ ”รวมทั้งคณะวิทยากร  และผู้ร่วมดำเนินงานโครงการ  ประกอบด้วย   อัครราชทูตที่ปรึกษาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประจำประเทศไทย รองผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ  อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล  คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์  คณบดีคณะเภสัชศาสตร์   คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์    คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์   คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี  คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน  มหาวิทยาลัยมหิดล  ผู้บริหารโรงพยาบาลขอนแก่น  ผู้บริหารโรงพยาบาลน้ำพอง  จังหวัดขอนแก่น   ผู้บริหารโรงพยาบาลค่ายประจักษ์ศิลปาคม  จังหวัดอุดรธานี  และผู้บริหารโรงพยาบาลเสาไห้  จังหวัดสระบุรี  เฝ้าทูลละอองพระบาท  ณ  อาคารชัยพัฒนา  สวนจิตรลดา  กรุงเทพฯ 


บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 231  เมื่อ 18 พ.ย. 09, 15:21

รู้สึกดีครับ ได้อ่านบทความที่เอามาลงแล้วสบายใจและดีใจเหลือประมาณ ยิ้ม
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 232  เมื่อ 24 ธ.ค. 09, 14:46

       วันนี้ นสพ.มติชน คอลัมน์ สุวรรณภูมิ สังคมวัฒนธรรม มีบทความน่าสนใจเกี่ยวกับ ล้านนา - ลาว
จึงคัดลอกมาลงในกระทู้นี้ ครับ

         ล้านนาโบราณเป็นลาว (แปลว่า ผู้เป็นใหญ่, ผู้เป็นนาย) เพิ่งเปลี่ยนเป็นไทยเมื่อมีชื่อ ประเทศไทย

คัดบางตอนจาก ภูมิสังคมวัฒนธรรม เรื่อง ชื่อบ้านนามเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ


            คนกรุงเทพยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ รู้จักเมืองเชียงใหม่  และเมืองอื่นๆ ในล้านนา ในนาม ลาวพุงดำ บ้าง
ลาวเฉียงบ้าง
            นอกจากรู้ด้วยตนเองแล้ว ยังรู้ผ่านวรรณคดีและการแสดง เช่น พระลอ ขุนช้างขุนแผน ฯลฯ


ลาวเชียงใหม่

         เมืองเชียงใหม่กกลายเป็น "เมืองในอุดมคติ" เมื่อทางรถไฟจากกรุงเทพฯ ตัดเชื่อมถึงเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔
ขณะนั้นชาวล้านนาเรียกตัวเองว่า ลาว คนอื่นก็เรียกชาวล้านนาและเชียงใหม่ว่า ลาว

         เมื่อปฏิรูปการปกครองราว พ.ศ. ๒๔๓๕ สมัยรัชกาลที่ ๕ บริเวณล้านนาได้ชื่อเป็นลาวว่า มณฑลลาวเฉียง

         ครั้น พ.ศ. ๒๔๔๒ มีปัญหาทางการเมืองกับเจ้าอาณานิคมจึงให้ยกเลิกคำว่าลาว แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น มณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ

         แต่สำนึกของคนทั่วไปในภาคกลาง เช่น กรุงเทพฯ ยังเรียกคนเชียงใหม่และบริเวณล้านนาทั้งหมดว่าเป็นลาว
ดังมีพยานในความนิยมละครเรื่องพระลอ สาวเครือฟ้า ฯลฯ ที่มีเพลงประกอบสำเนียงลาว (ล้านนา) รวมทั้งขุนช้างขุนแผน
(แต่งขึ้นหลังรัชกาลที่ ๒) บอกว่านางวันทองเรียกนางลาวทอง (จากเมืองเชียงทอง ใกล้ๆ เมืองเชียงใหม่และลำพูน) ว่า

         อีลาวชาวดอนค่อนเจรจา    กินกิ้งก่ากิ้งกบกูจะตบมึง

         แต่เมืองเชียงใหม่และล้านนาทั้งหมดก็ไม่ได้มีแต่ลาวพวกเดียว หากมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ อีกมาก
 
          ขอให้สังเกตด้วยว่าขุนช้างขุนแผนตั้งแต่ต้นจนจบ (สำนวนเก่า) แม้แต่งเพิ่มเติม (สำนวนใหม่) ในสมัยหลังๆ
ล้วนมีโครงเรื่องหลักเหตุการณ์เดียวทั้งหมด คือสงครามระหว่างอยุธยาและเชียงใหม่
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 233  เมื่อ 24 ธ.ค. 09, 14:50

ล้านนาเป็นลาว

        ความเป็นล้านนา เกิดขึ้นแท้จริงเมื่อเรือนพ.ศ.๒๐๐๐ ในแผ่นดินพระเจ้าติโลกราช ทรงได้รับยกย่องเป็น
มหาราชล้านนา

         ชาวล้านนาเรียกตัวเองว่า ลาว และไม่เคยเรียกอย่างอื่นนอกจาก ลาว แปลว่า ผู้เป็นใหญ่,ผู้เป็นนาย ฯลฯ
มีฐานะเทียบคำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลางว่า ขุน และกษัตริย์ ดังเห็นทั่วไปในคำนำหน้านามเจ้านายเชื้อวงศ์
ปกครองบ้านเมืองเก่าแก่ในตำนาน พงศาวดาร เช่น ลาวเจือง (คือท้าวเจือง ท้าวฮุ่ง) ลาวเมง (คือบิดาพระยามังราย) ฯลฯ
แต่ก็มีชาติพันธุ์อื่นๆ อยู่ด้วย เช่น มอญ(เมง) พม่า(ม่าน) ไทยใหญ่(เงี้ยว) ฯลฯ
ดังโคลงนิราศหริภุญชัยบทหนึ่งว่า
 
     สุญารามหนึ่งหั้น         บุญเลง
ที่รูปไททังเมง                 ม่านเงี้ยว
ถือลาดาบกับเกวง             สกรรจ์แก่น   คนแฮ
ช้างฉวาดพันเกล้าเกลี้ยว      แกว่นสู้สงคราม ฯ

    โคลงบาทที่สองว่า - ไททังเมง     ม่านเงี้ยว -  มีคำว่าไท ไม่ได้หมายถึงคนไทยอย่างทุกวันนี้
หากเป็นศัพท์แปลว่า คน (เฉยๆ) ข้อความนี้หมายว่า มีคน ทั้งเมง ม่านและเงี้ยว (ไม่ได้หมายถึงคนไทย)

       คำเรียกตัวเองว่า คนเมือง เพิ่งมีขึ้นหลังพ.ศ. ๒๔๐๐ ช่วงแผ่นดินรัชกาลที่ ๕ ปฏิรูปการปกครอง

         --- อ. อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว ผู้เชี่ยวชาญภาษาล้านนา อ้างว่า ไม่พบคำว่า "คนเมือง" ในเอกสารโบราณ
ของล้านนา และอาจารย์สรัสวดี อ๋องสกุล ผู้เขียนประวัติล้านนาปัจจุบันก็ยังได้ยืนยันคำว่า "คนเมือง" เพิ่งจะปรากฏครั้งแรก
ในรายงานยของกรมหมื่นพิชิตปรีชากร ข้าหลวงพิเศษฝ่ายลาวเฉียง (ดูแลเมืองเชียงใหม่ ลำพูนและลำปางระหว่างพ.ศ. ๒๔๒๗-๒๘)

      จึงอาจกล่าวได้ว่า คำว่า "คนเมือง" คงเป็นคำที่เพิ่งเกิดในสมัยหลังการปฏิรูปการปกครอง รัชกาลที่ ๕ นี่เอง ----

ภาพประตูเชียงใหม่ในอดีต ถ่ายไว้เมื่อ พ.ศ. 2442
จาก หนังสือพระบารมีปกเกล้าฯ ยุพราชวิทยาลัย 100 ปี นามพระราชทาน


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 234  เมื่อ 24 ธ.ค. 09, 14:53

คนไทย

         หลังเปลี่ยนชื่อประเทสสยาม เป็น ประเทศไทย เมื่อพ.ศ. ๒๔๘๒ คนเชียงใหม่และคนล้านนาทั้งหมด
ก็ถูกบังคับให้เป็น คนไทย ตามชื่อประเทศที่เปลี่ยนไปสืบจนปัจจุบัน


    ---- เชียงใหม่,ล้านนา มาจากไหน

    ๕๐๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว       แรกพบหลักฐานบรรพชนคนล้านนาที่ลำปาง

    ๑๐,๐๐๐ ปีมาแล้ว          บรรพชนคนล้านนาอยู่เพิงผาในหุบเขาที่แม่ฮ่องสอน  

    ๕,๐๐๐  ปีมาแล้ว         เริ่มปลูกข้างเหนียว กินข้าวนึ่ง  พบที่ถ้ำปุงฮุง แม่อ่องสอน

    ๔,๐๐๐ ปี    แรกมีชุมชนหมู่บ้านในล้านนา พบที่ปางมะผ้า แม่ฮ่องสอน

    ๓,๐๐๐ ปี   มีชุมชนหมู่บ้านอยู่ริมน้ำปิง วัง ที่เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง

    หลัง พ.ศ. ๑    แรกมีชุมชนบ้านเมืองราว ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว อยุ่ทางลุ่มน้ำปิง ที่ลำพูน

    หลัง พ.ศ. ๕๐๐  ศาสนาจากอินเดียถึงสุวรรณภูมที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ยังไม่ถึงล้านนา

    หลัง พ.ศ. ๑,๐๐๐  แรกมีรัฐหริภุญชัยที่ลำพูนรับศาสนาจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา

    หลัง พ.ศ. ๑,๕๐๐   รัฐหริภุญชัยเป็นศูนย์กลางการค้าข้ามภูมิภาค โขง-สาละวิน

    หลัง พ.ศ. ๑,๖๐๐  ตระกูลลาวบริเวณโยนก ควบคุมเส้นทางการค้า โขง สาละวิน

    หลัง พ.ศ. ๑,๗๐๐   เครือญาติลาวขยายอำนาจร่วมกับเครือข่ายมังราย คุมสองฝั่งโขง

    หลัง พ.ศ. ๑,๘๐๐  มังรายร่วมกับตระกูลลาว ยึดหริภุญชัย สร้างเมืองเชียงใหม่

    หลัง พ.ศ. ๑,๙๐๐   เมืองเชียงใหม่วุ่นวาย  การเมืองภายใน-ภายนอกคุกคาม
                                     แรกมีพระแก้วมรกตที่เชียงราย

    หลัง พ.ศ. ๒,๐๐๐  เมืองเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางอำนาจ "รัฐล้านนา" ครั้งแรก
                                   พระแก้วมรกต ประดิษฐานเมืองเชียงใหม่ระหว่าง พ.ศ. ๒๐๑๑-๒๐๙๖

    หลัง พ.ศ. ๒,๑๐๐   บุเรงนองยึดล้านนา แล้วปกครองถึงกษัตริย์มังระราว ๒๐๐ ปี

    หลัง พ.ศ. ๒,๓๐๐  เมืองเชียงใหม่ร้างหนีศึกพระเจ้ากาวิละฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่    

    หลัง พ.ศ. ๒,๔๐๐   ลาวเชียงใหม่ เป็นคนเมือง แล้วเปลี่ยนเป็น คนไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 235  เมื่อ 24 ธ.ค. 09, 14:55

โยนก ล้านนา มาจากไหน

    บ้านเมืองในดินแดนภาคเหนือของไทย ตั้งอยู่บนพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำระหว่างหุบเขาอันอุดมสมบูรณ์
มีขนาดเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง

    ที่เป็นขนาดใหญ่มี ๒ บริเวณ คือ  บริเวณที่ราบลุ่มเชียงใหม่-ลำพูน  กับบริเวณที่ราบลุ่มเชียงราย-พะเยา

    สภาพภูมิประเทศที่มีเทือกเขาขวางกั้นพื้นที่ราบให้แยกจากกัน แต่มีช่องเขาเล็กๆ ติดต่อกับแหล่งอื่นๆ
ทำให้บ้านเมืองเหล่านี้มีพัฒนาการเติบโตไม่พร้อมกัน

     บ้านเมืองที่เติบโตเป็นรัฐ (หรือ แคว้น) เก่าแก่ที่สุดอยู่ที่ราบลุ่มเชียงใหม่-ลำพูน มีเมืองหริภุญชัย
(ลำพูน) เป็นเมืองสำคัญ ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง มีพัฒนาการเป็นบ้านเมืองตั้งแต่ราวหลัง พ.ศ. ๑,๒๐๐
อันเนื่องมาจากการขยายอิทธิพลของแคว้นละโว้ (ลพบุรี) ที่เป็นบ้านเมืองหรือรัฐขนาดใหญ่บริเวณที่ราบลุ่ม
แม่น้ำเจ้าพระยา

     ต่อมาเมืองหริภุญชัย ขยายขอบเขตไปยังเมืองเขลางค์ (ลำปาง) บนที่ราบลุ่มแม่น้ำวัง

     ส่วนบริเวณอื่นๆ มีชุมชนเล็กๆ กระจัดกระจายอยู่ตามที่สูงกับที่ราบ ยังไม่รวมตัวเป็นบ้านเมืองใหญ่ มีเรื่องราว
ความเป็นมาในลักษณะของคำบอกเล่าหรือนิทานปรัมปรา เช่น บริเวณที่ราบลุ่มเชียงราย-พะเยา
มีคำบอกเล่าเรียกว่า โยนก

     ต่อมาภายหลังเมื่อรวบรวมบ้านเมืองบริเวณที่ราบลุ่มเชียงใหม่-ลำพูน กับบริเวณเชียงราย-พะเยา และบริเวณ
ใกล้เคียงเข้าด้สยกัน จึงเรียกรวมทั้งหมดว่า ล้านนา

      ผู้คนในล้านนามีหลายเผ่าพันธุ์ หลายตระกูล เช่น มอญ-เขมร, ม้ง-เย้า, จีน-ทิเบต ฯลฯ แต่คนกรุงศรีอยุธยา
(สมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ระหว่าง พ.ศ. ๒๑๙๙- ๒๒๓๑) เรียกคนในตระกูลไทย-ลาว ชาวล้านนา
ว่า ไทยใหญ่ แล้วเรียกคนทางล้านช้างว่า ไทยน้อย ส่วนคนทางลุ่มน้ำเจ้าพระยาภาคกลาง คือ ไทยสยาม
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 236  เมื่อ 24 ธ.ค. 09, 15:05

        --------- ล้านนา หมายถึง ดินแดนกว้างใหญ่ไพศาลบริเวณที่เป็นภาคเหนือของไทยทุกวันนี้
โดยมีเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางมาแต่สมัยแรกๆ และเป็นชื่อที่มีอยู่คู่กันมากับ ล้านช้าง ที่หมายถึงดินแดนตอนเหนือ
ของลาว มีหลวงพระบางเป็นศูนย์กลาง
           เนื่องจากภาษาถิ่นภาคเหนือ ไม่นิยมเขียนรูปวรรณยุกต์ในใบลานสมัยโบราณ ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน
ไปว่าดินแดนภาคเหนือสมัยโบราณมีชื่อเรียกว่า ลานนา แล้วภายหลังเรียกว่า ลานนาไทย
        แท้จริงแล้วในภาคเหนือมักไม่ใช้ว่า  ลาน ในความหมายว่า บริเวณที่ว่าง แต่ใช้คำว่า ข่วง เช่น ข่วงเมรุ ข่วงวัด
วัดหัวข่วง

          ---------- โยนก  ในภาษาตระกูลไทย-ลาว หมายถึง ดินแดนและ/หรือผู้คนในภาคเหนือสมัยโบราณ
อาจแทนคำว่าล้านนาได้
           แรกเริ่มเดิมที ชื่อ โยนก หมายถึงดินแดนและประชากรบริเวณที่ทุกวันนี้เรียกว่าที่ราบลุ่มจังหวัดเชียงรายกับพะเยา
และต่อเนื่องเข้าไปถึงบางส่วนของพม่าและลาวดดยมีลำน้ำแม่กกเชื่อมแม่น้ำโขงเป็นแกน
          คำ โยนก กับ ยวน เป็นคำเดียวกันที่ไม่ใช่ตระกูลภาษาไทย-ลาว แต่มีรากจากภาษาพม่า หมายถึง ขี้ข้า หรือ ทาส
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 237  เมื่อ 24 ธ.ค. 09, 15:21

เอา #๙๓ มาลงอีกที

จิตร ภูมิศักดิ์เขียนไว้ในหนังสือเล่มเดียวกับที่อ้างไว้ใน #๗๒ เกี่ยวกับยวน, โยน, โยนก และคนเมือง ดังนี้

คำว่า ยวน หรือ โยน นี้ชาวภาคเหนือไม่เรียกตัวเอง เขาเรียกตนเองว่า คนเมือง. คำว่า ยวน-โยน เป็นคำที่คนอื่นเรียก.

โยนก ในรูปศัพท์บาลี ก ท้ายคำนั้นแปลว่า ชาว, โยนก จึงหมายถึง ชาวโยน, พวกไตลื้อสิบสองปันนาเรียกชาวล้านนาว่า ไตโยน หรือ ไตยน, เช่น โยนเจงใหม่ (โยนเชียงใหม่), โยนละกอน (โยนลำปาง, ชื่อเก่าของเมืองลำปางว่า ละกอน) เป็นต้น. แต่สระโอของภาษาไทยพายัพและไตลื้อนั้น สำเนียงลาวและไทยกลางเป็น อัว, เช่น หมากโม่ง ไทยว่า มะม่วง ฯลฯ คำว่า โยน จึงเป็นไทยกลางและลาวว่า "ยวน"

ยวน เป็นคำไทยภาคกลางที่เรียกชาวล้านนามาแต่ดั้งเดิมก่อนคำอื่น. "ลิลิตยวนพ่าย" ซึ่งแต่งเมื่อสมัยอยุธยาตอนต้นเล่าถึงการรบกับเชียงใหม่, เรียกไทยล้านนาว่า ยวน. ยวนพ่าย หมายความว่า ไตโยนแพ้.

ที่จริงแล้ว ชาวไทยล้านนาถือว่าตัวเองเป็น ไต, ไม่ได้เรียกตนเองว่า ลาว เลย. เขาเรียกตนเองว่า คนเมือง ประวัติความเป็นมาของชื่อ คนเมือง นั้น ทางหนึ่งกล่าวว่าเป็นชื่อที่เรียกเพื่อยืนยันว่าตนเป็นชาวเมืองมิใช่ชาวป่า - คนเมืองมิใช่คนป่า, อีกทางหนึ่งกล่าวว่าเกิดขึ้นในสมัยที่พม่าปกครองล้านนาเป็นเมืองขึ้น (จากราว พ.ศ. ๒๑๐๐ ลงมาถึงเกือบสองร้อยปี) ชาวไทยภาคเหนือเรียกชาวพม่าว่า คนม่าน และเพื่อแยกตัวให้ชัดว่ามิใช่คนม่านจึงได้เรียกตัวเองขึ้นว่า คนเมือง. แต่ผู้อธิบาย (สงวน สุขโชติรัตน์, ไทยยวนหรือคนเมือง, วารสารวัฒนธรรมไทย ฉบับประจำเดือนธันวาคม ๒๕๐๗.) ก็มิได้อธิบายแถลงว่าทำไมจึงเลือกเอาคำ คนเมือง มาใช้สำหรับตนเอง. และก็แปลกที่ทำไมจึงไม่ใช้คำว่า คนไต เสียตรง ๆ จะได้ตรงข้ามกับ คนม่าน; หรือว่าจะมุ่งแปลคำคนเมืองว่า คนพื้นเมือง, ซึ่งนี่เห็นจะไม่ใช่.




บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 14 15 [16]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.121 วินาที กับ 19 คำสั่ง