เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 4
  พิมพ์  
อ่าน: 14312 อยากทราบตำแหน่ง "หมื่นพำนักนิกรชน" ในสมัยร.5 ว่าทำคุณงามความดีด้านใด
propaganda
อสุรผัด
*
ตอบ: 27


 เมื่อ 27 ก.ย. 09, 20:33

เท่าที่ทราบผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นขุนนางจะต้องมีความสามารถในหน้าที่การงานที่ได้ถวายการรับใช้เบื้องพระยุคลบาทเป็นอย่างดี ถึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นขุนนาง จึงอยากทราบหมื่นพำนักนิกรชนท่านนี้ ได้ทำงานถวายการรับใช้เบื้องพระยุคลบาทในด้านไหนถึงได้รับแต่งตั้งในตำแหน่งนี้ อย่างไรก็ดีข้อมูลเบื้องต้นที่พอทราบคือ ท่านหมื่นผู้นี้เป็นคนจีนแท้ๆ แต่ได้แต่งงานกับคนไทย คาดว่าน่าจะมีอายุอยู่ในช่วงรัชกาลที่ 5 แต่ที่สงสัยอีกประการคือ เป็นคนจีนแท้ๆแบบ ไว้ผมเปียยาวด้านหลังแต่โกนศีรษะครึ่งศีรษะด้านหน้าแล้วได้เข้ามาทำงานรับใช้ราชสำนักไทยได้อย่างไร มีเหตุการณ์ที่มาที่ไปอย่างไร ที่คนจีนแท้ๆแต่เข้ามาทำงานภายใต้พระบรมโพธิสมภารจนได้ดิบได้ดีเป็นขุนนาง และที่อยากทราบอีกประการหนึ่งคือการที่หมื่นพำนักนิกรชนนี้ ได้ตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่จังหวัดอุทัยธานีในปัจจุบัน เลยอยากทราบว่าจะเป็นไปได้ไหมที่ท่านเข้ามาทำงานในราชสำนักไทยเริ่มต้นจากที่พระนครแล้วโดนย้ายมาดูแลงานในแถบภูมิภาคนี้เหมือนพวกเจ้าเมืองต่างๆในสมัยก่อนที่มีการหมุนเวียนเปลี่ยนไปดูแลปกครองหรือเป็นการที่หมื่นพำนักนิกรชนได้เข้ามาตั้งรกรากอยู่ในภูมิภาคแถบจ.อุทัยธานีแต่เดิมแล้ว มีจังหวะได้ทำงานรับราชการจนได้ตำแหน่งเป็นท่านหมื่น

พอดีอยากทราบข้อมูลมาก เคยพยายามหาข้อมูลแล้วไม่เจอเลย เลยไม่ทราบข้อมูลมาจนถึงปัจจุบัน ท่านใดพอช่วยแนะนำเรื่องข้อมูลได้ก็ขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ด้วย

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 27 ก.ย. 09, 22:38

ขอเรียนเชิญ  คุณเงินปุ่นศรี   มาร่วมสนทนา  เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีเรื่อง ตำแหน่งขุนนาง ราชทินนามและศักดินา
(กรุณาร้องเพลง singing in the rain ไปด้วย)

ขอเรียนคุณ propaganda  คร่าว ๆ ตามหลักฐานที่มีนะคะ



หนังสือพิพิธภัณฑ์สัพพะสยามกิจ  ศักราช ๒๔๗๔  หน้า๑๐๘๙ - ๑๐๙๐  กล่าวถึง ราชทินนาม


พำนักชนบท,  ขุน  (เล็ก  พลิคามิน) รองอำมาตย์โท   นายอำเภอบางพลี  จังหวัดสมุทรปราการ

พำนักนรากร,  ขุน  (ตุ่น  โสรัจจ์)   รองอำมาตย์ตรี   ปลัดกิ่งอำเภอจอหอ   อำเภอเมือง  จังหวัดนครราชสีมา

พำนักนิกรชน,  หลวง  (อุ่นห์  สมิตามร)  รองอำมาตย์เอก   นายอำเภออรัญประเทศ   จังหวัดปราจีนบุรี

พำนักนิกรคาม,  ขุน(สนธิ์  เกตโกมล) รองอำมาตย์โท    นายอำเภอควรขนุน   จังหวัดพัทลุง



ยศ   หมื่น  นั้น  ส่วนมากศักดินา  ๔๐๐       มีน้อยรายที่จะขึ้นถึง ๕๐๐
ยศที่สูงกว่ามี ขุน  หลวง  พระ  และ พระยา


ชาวจีนที่ไว้เปียนั้นแล้วเข้ารับราชการใกล้ชิดพระยุคลบาทในตำแหน่งสำคัญๆ   ก็เริ่มมาตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์แล้ว
ท่านเหล่านี้ได้เคยเข้าเฝ้าใกล้ชิด  กราบทูลเป็นภาษาไทยได้  เนื่องจากมีภรรยาเป็นสาวไทย
ลูกสาวของท่านผุ้มีบรรดาศักดิ์ก็ได้เป็นนางในหลายราย   พระราชทานให้เจ้านายไปก็มี  
ลูกชายของเจ๊สัวเหล่านี่ถวายตัวเป็นมหาดเล็กก็มี   เป็นแล้วก็ตัดเปียทิ้ง
(ก.ศ.ร. กุหลาบเล่าไว้หลายรายทีเดียว ใน สยามประเภท หรือ มหามุขมาตยานุกูลวงศ์)


(อ่านเรื่อง การเซ่นตรุษจีนของ หม่อมกิ่ม  หม่อมของกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ เซ่นไหว้บรรพบุรุษในวันตรุษจีน  ในหนังสือ  "ป้าป้อนหลาน"
พระนิพนธ์หม่อมเจ้าดวงจิตร  จิตรพงศ์   พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ  ๒๕๕๐
อ่านแล้วก็รีบโทรศัพท์ไปอ่านให้มิตรสหายฟังโดนถ้วนหน้า)
(ไม่ได้ชักใบออกอ่าวแต่อย่างใด  หวังว่าหลายท่านคงได้อ่านแล้วเป็นแน่)


ข้าราชการภูธรนั้น  หลายรายเป็นเชื้อสายจีน เกิดเมืองไทยแต่พูดจีนที่บ้าน  
ได้รับแต่งตั้งจากข้าหลวง   ตำแหน่ง "หลวง"  ก็มีปรากฎ    ส่วนมากก็เป็นกรมการเมือง
เพราะเป็นผู้มีหลักฐาน เป็นที่รู้จักอยู่ในตำบล อำเภอนั้นๆ  มีหน้าที่ช่วยเหลือราชการต่างๆ  เรียกว่าเป็นข้าราชการระดับประทวน


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 27 ก.ย. 09, 22:47

ดิฉันไม่เคยได้ยินชื่อหรือประวัติของ "หมื่นพำนักนิกรชน"  เห็นจะต้องรอคนที่รู้เรื่องในอดีตดี อย่างคุณ wandee  คุณติบอ และท่านอื่นๆ  เผื่อจะมีใครรู้จัก
ถ้าตอบเอง ก็ได้แต่สันนิษฐานจากยศและราชทินนาม และประวัติสั้นๆที่คุณเล่ามา   เท่านั้น  

แต่อยากจะขอแก้ความเข้าใจผิดของคุณเจ้าของกระทู้อย่างหนึ่งที่ว่า
"เท่าที่ทราบผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นขุนนางจะต้องมีความสามารถในหน้าที่การงานที่ได้ถวายการรับใช้เบื้องพระยุคลบาทเป็นอย่างดี"
กับ
"จะเป็นไปได้ไหมที่ท่านเข้ามาทำงานในราชสำนักไทย"

ขุนนางสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์  ก็เหมือนข้าราชการไทยสมัยนี้อยู่อย่างหนึ่ง  คือไม่จำเป็นว่ารับราชการแล้วจะต้อง "ถวายการรับใช้เบื้องพระยุคลบาทเป็นอย่างดี"  
ข้าราชการจำนวนมากก็ไม่เคยได้มีโอกาสรับใช้เจ้านายพระองค์ไหน   ถ้าหากว่าตำแหน่งหน้าที่การงานของพวกเขา ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพระราชภารกิจ

ดูจากยศและราชทินนามของ หมื่นพำนักนิกรชนแล้ว   ดิฉันเชื่อว่าท่านไม่ได้ทำงานในราชสำนักค่ะ   ยิ่งคุณบอกว่าท่านเป็น" คนจีนแท้ๆแบบ ไว้ผมเปียยาวด้านหลังแต่โกนศีรษะครึ่งศีรษะด้านหน้า"
ยิ่งเชื่อว่าท่านไม่ได้มีตำแหน่งหน้าที่การงานในราชสำนัก หรือแม้แต่ในกรุงเทพด้วยซ้ำ   มิฉะนั้นคงแต่งกายแบบไทย ตัดผมทรงมหาดไทยเสียนานแล้ว
เชื่อว่าน่าจะเป็นระดับหัวหน้าชุมชนคนจีน ในหัวเมือง   เหมือนเป็นอ.บ.ต. สมัยนี้

หมายเหตุ คลิกส่ง ชนกลางอากาศกับคุณ wandee พอดี
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 27 ก.ย. 09, 22:55

ขอบคุณ คุณเทาชมพู ค่ะ


ไว้เปียเมื่อเป็นข้าราชการก็ตัดค่ะ  เริ่มตั้งแต่รัชกาลที่ ๔



คุณเงินปุ่นศรีเป็นผู้เชี่ยวชาญตระกูลขุนนางภาคตะวันออกค่ะ
มีระบบเก็บข้อมูลระดับชาติ
มีอารมณ์ขันอยู่เสมอ
บันทึกการเข้า
propaganda
อสุรผัด
*
ตอบ: 27


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 27 ก.ย. 09, 23:58

ต้องขอขอบพระคุณทั้งสองคนเป็นอย่างมากที่เข้ามาช่วยแนะนำข้อมูล และต้องขอโทษที่อาจจะเข้าใจอะไรผิดไปบ้าง เนื่องจากไม่มีความรู้ทางด้านนี้สักเท่าไหร่ เท่าที่อ่านดู มาก็น่าจะได้เค้ามาบ้าง โดยเฉพาะประเด็น...

"ข้าราชการภูธรนั้น  หลายรายเป็นเชื้อสายจีน เกิดเมืองไทยแต่พูดจีนที่บ้าน 
ได้รับแต่งตั้งจากข้าหลวง   ตำแหน่ง "หลวง"  ก็มีปรากฎ    ส่วนมากก็เป็นกรมการเมือง
เพราะเป็นผู้มีหลักฐาน เป็นที่รู้จักอยู่ในตำบล อำเภอนั้นๆ  มีหน้าที่ช่วยเหลือราชการต่างๆ  เรียกว่าเป็นข้าราชการระดับประทวน"

"ดูจากยศและราชทินนามของ หมื่นพำนักนิกรชนแล้ว   ดิฉันเชื่อว่าท่านไม่ได้ทำงานในราชสำนักค่ะ   ยิ่งคุณบอกว่าท่านเป็น" คนจีนแท้ๆแบบ ไว้ผมเปียยาวด้านหลังแต่โกนศีรษะครึ่งศีรษะด้านหน้า"
ยิ่งเชื่อว่าท่านไม่ได้มีตำแหน่งหน้าที่การงานในราชสำนัก หรือแม้แต่ในกรุงเทพด้วยซ้ำ   มิฉะนั้นคงแต่งกายแบบไทย ตัดผมทรงมหาดไทยเสียนานแล้ว
เชื่อว่าน่าจะเป็นระดับหัวหน้าชุมชนคนจีน ในหัวเมือง   เหมือนเป็นอ.บ.ต. สมัยนี้"

แต่ด้วยเหตุนี้หรือเปล่าทำให้ไม่มีข้อมูลในส่วนนี้ เพราะหมื่นพำนักนิกรชนอยู่ในท้องที่ต่างจังหวัดหรือหัวเมืองในสมัยก่อน ทำให้ไม่ค่อยมีความสำคัญมากนัก อีกทั้งเมืองที่อยู่ก็เป็นเพียงเมืองเล็กๆ แล้วก็มีข้อสงสัยเพิ่มเติมประการหนึ่งจากข้อมูลที่ลงให้อ่านของหนังสือพิพิธภัณฑ์สัพพะสยามกิจ  ศักราช ๒๔๗๔  หน้า๑๐๘๙ - ๑๐๙๐  ที่กล่าวถึง ราชทินนาม ว่าในส่วนนี้ทำไมถึงไม่ปรากฎหมื่นพำนักนิกรชน จะด้วยสาเหตุเป็นขุนนางระดับเล็กหรือว่าเป็นขุนนางรับราชการต่างจังหวัดจะเป็นไปได้ไหม อีกทั้งราชทินนามพำนักนิกรชนนี้จะมีเพียงหลวงพำนักนิกรชน(อุ่นห์  สมิตามร)  รองอำมาตย์เอก   นายอำเภออรัญประเทศ   จังหวัดปราจีนบุรี เท่านั้นหรือ หรือราชทินนามนี้ไม่ครอบคลุมทั้งหมด เพราะถ้าจำไม่ผิดนามเดิมของหมื่นพำนักนิกรชน จะมีชื่อเดิมว่า "อ่วม" น่าจะมีชีวิตอยู่ในช่วงรัชกาลที่ห้า จะเป็นไปได้ไหมที่มีการตกหล่นไม่ได้บันทึกเอาไว้และราชทินนามที่ทางคุณWandee หามาให้นั้นอยู่ในช่วงสมัยรัชกาลใดหรือ ยังไงขอรบกวนเพิ่มเติมด้วย เพราะข้อมูลที่ต้องการนี้มีความสำคัญพอสมควร ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ช่วยหาข้อมูลให้  ยิงฟันยิ้ม



บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 28 ก.ย. 09, 00:50

พิพิธภัณฑ์สัพพะสยามกิจ   ศักราช ๒๔๗๔   ออกมากลางปี ๒๔๗๕
เป็นรายนามขุนนางในรัชกาลที่ ๗ เป็นส่วนใหญ่
เป็นคล้ายๆกับรายชื่อข้าราขการในกรมกระทรวง
เป็นหลักฐานสิ่งพิมพ์ที่พอตอบคำถามได้   แต่คงคลุมไปมากไม่ได้


หนังสือนี้เป็นหนังสือหายาก   ด้วยเหตุที่ถูกทำลายเพราะการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ข้อมูลก็เปลี่ยน
ไม่มีผู้ใดกล้าเก็บไว้ เพราะเป็นเวลาฉุกเฉิน
ตามมาด้วยสงครามโลก  มีการโยกย้ายภูมิลำเนา  เอกสารที่ทิ้งไว้เบื้องหลังก็สูญไปมากต่อมาก


มีชื่อข้าราชการบางท่านในสมัยรัชกาลที่ ๖(ที่มีชีวิตอยู่ในปี ๒๔๗๕)     หนังสือหนา ๑๖๙๕ หน้า
เป็นโชคที่เจ้าของโรงพิมพ์ผู้เห็นการณ์ไกลได้เก็บรักษาไว้ด้วยการทำปกเดินทองอย่างงามที่สุด
ตกแต่งด้วยผ้าโปร่งชุบทองทำเป็นกรอบ  
เสียดายที่เล่ม ๑  ผู้ครอบครองขายให้ร้านหนังสือเก่าที่อัมรินทร์พลาซ่าและเดินทางไปประเทศพม่าแล้ว




ราชทินนามนั้น  มีผู้ดำรงตำแหน่งหลายคน  บางชื่ออาจจะหกหรือแปดรายด้วยซ้ำไป
ถ้าเป็นผู้มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์    เมื่อทราบนามแล้ว  ก็พอจะติดตามได้เป็นบางท่าน
จากราชกิจจานุเบกษา หรือหนังสือรวบรวมการแต่งแตั้งขุนนางในสมัยรัชกาลที่ ๕  หรือหนังสือรายชื่อข้าราชการของกระทรวง(มีน้อยเล่ม)
เช่นหนังสือของกรมมหาดเล็กเป็นต้น

ชื่อของพระยาบางท่านก็สูญหายไปในกาลเวลา  เพราะไม่ได้บันทึกไว้

โปรดระลึกไว้ด้วยว่า สิ่งพิมพ์ของประเทศไทยเรานั้น ถึงจะเริ่มในรัชกาลที่ ๓  ก็ ปลายรัชสมัยเสียแล้ว
หนังสือสำคัญคือกฎหมายที่ถ่ายมาจากกฎหมายตราสามดวงก็โดนยึดเกือบนำไปบรรจุเจดีย์
ประกาศห้ามสูบฝิ่น  ตามที่เข้าใจเมืองไทยก็ไม่มีทั้งๆที่พิมพ์จากต่างประเทศเกินจำนวนสั่งตั้งมาก


หนังสือวรรณคดีพิมพ์ในสมัยรัชกาลที่ ๔  ก็เป็นหนังสือล้ำค่า  
เมื่อมีการพบปะแลกเปลี่ยนความรู้กัน  คนที่รักและพยายามสะสมหนังสือเก่านำมาเทิดศีรษะไว้ก็มี


ขนาดนักปราชญ์ที่ทำพจนานุกรมเล่มมหึมา  ยังไม่มีผู้ทราบสายสกุลหรือประวัติของท่านเลย
หาชื่อเดิมได้ ๕ - ๖ แห่ง    ก็ไร้ประโยชน์


  
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 28 ก.ย. 09, 01:03

ไม่เป็นการรบกวนแม้นแต่น้อยนะคะ


ภูมิใจที่มีส่วนได้ตอบปัญหาตามปัญญาความสามารถ






บันทึกการเข้า
CVT
องคต
*****
ตอบ: 452


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 28 ก.ย. 09, 08:51

บรรพบุรุษผมได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์จากล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๕ เมื่อคราวเสด็จประพาสเมืองตานีครั้งแรก ร.ศ.๑๐๗ ให้เป็นที่ หลวงจีนคณานุรักษ์ กัปตันจีนเมืองตานี
ตอนนั้นท่านยังไว้ผมเปียเหมือนกันครับ
ถ้านับจากรุ่นบิดาท่านที่มาจากเมืองจีน ท่านเป็นรุ่นที่ ๒ และเกิดในเมืองไทย



แต่ต่อมาท่านก็ตัดเปีย ไว้ผมแบบไทย และในสมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ได้เลื่อนเป็น พระจีนคณานุรักษ์ กรมการพิเศษเมืองตานี



เป็นข้อมูลยืนยันความเห็นอาจารย์เทาชมพูครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 28 ก.ย. 09, 09:33

ระหว่างรอคุณเงินปุ่นศรี มาตอบ รวมท่านอื่นๆที่มีความรู้เรื่องขุนนาง มาเพิ่มเติมให้  ก็ขออธิบายให้คุณเจ้าของกระทู้ฟังไปพลางๆก่อน ถึงบรรดาศักดิ์ขุนนาง
เรียงลำดับจากระดับผู้น้อย ไปหาผู้ใหญ่

พัน                           ประทวน
หมื่น                         ประทวน
********************
ขุน                           สัญญาบัตร
หลวง
พระ
พระยา
เจ้าพระยา
สมเด็จเจ้าพระยา
********************
ที่ยกมานี้  ขอเปรียบกับยศทางทหารตำรวจให้เข้าใจง่ายๆว่า   ระดับพันกับหมื่น ถ้าเป็นทหารตำรวจก็ระดับประทวน   ส่วนตั้งแต่ ขุน ขึ้นไป เป็นระดับสัญญาบัตร
สมเด็จเจ้าพระยา พอจะเทียบได้กับจอมพล  ส่วนเจ้าพระยานั้น ระดับพลเอก

คำว่า พัน  หมื่น เป็นยศของขุนนางผู้น้อย   ส่วนใหญ่เป็นหัวหน้าชุมชนในท้องถิ่น    หมื่น สูงกว่าพัน
ในขุนช้างขุนแผน   มีตัวละครที่มียศอย่างนี้ คือหมื่นหาญ   ตำแหน่งแกคล้ายๆกำนัน    ก็ถือว่าใหญ่โตในท้องถิ่นนั้น

ส่วนคำว่า "พำนักนิกรชน" เป็นราชทินนาม    
ราชทินนาม  มี 2 แบบคือ
1 พระราชทานเฉพาะตัวของขุนนางคนใดคนหนึ่งก็ได้   พอขุนนางคนนั้นถึงแก่กรรมไปแล้ว ก็ไม่มีใครได้รับราชทินนามนี้อีก   เรียกว่ามีคนเดียวในประวัติศาสตร์
เช่นราชทินนาม รามราฆพ  ของเจ้าพระยารามราฆพ
2 เป็นราชทินนามที่ระบุถึงตำแหน่งหน้าที่     ขุนนางคนไหนมารับตำแหน่งนั้นก็ได้ราชทินนามนั้น
เช่นเจ้าพระยายมราช  เสนาบดีมหาดไทย      ใครมาเป็นเสนาบดีมหาดไทยก็ได้เป็นเจ้าพระยายมราช
คนเก่าถึงแก่อนิจกรรม หรือพ้นตำแหน่งไป  คนใหม่มาแทนก็เป็นเจ้าพระยายมราช คนใหม่
เจ้าเมืองก็แบบนี้  ใครมาเป็นเจ้าเมืองไหนก็รับบรรดาศักดิ์และราชทินนามของเจ้าเมืองนั้นๆ

พำนักนิกรชน   อยู่ในข้อ 2   มีหลายคน     มียศต่างกัน เป็นถึงคุณหลวงก็มี  ในข้อที่คุณ wandee ค้นมาให้
ถ้าเป็นหลวง ก็ถึงระดับนายอำเภอ
แต่ท่านหมื่นพำนัก ฯ   เป็นระดับหมื่น  ต่ำกว่าขุน   ดิฉันสันนิษฐานว่า พอเทียบขั้นได้กับกำนัน

ระดับนี้จะไม่มีบันทึกหน้าที่การงานและประวัติไว้ในหนังสือ  เว้นแต่ว่าท่านจะมีงานการพิเศษให้จารึกไว้ได้   อย่างพันจันทนุมาศ ที่ไปค้นพบหนังสือพงศาวดารสำคัญ  ก็ได้รับเกียรติได้รับชื่อประกอบพงศาวดารนั้นไว้
อย่าว่าแต่ระดับพันหรือหมื่นเลย  แม้แต่พระยาจำนวนมาก  ก็ไม่มีประวัติบันทึกไว้  ถ้าลูกหลานไม่บันทึกเอาไว้เองในหนังสืองานศพของท่าน    จริงอย่างที่คุณ wandee บอกไว้ค่ะ
บันทึกการเข้า
CVT
องคต
*****
ตอบ: 452


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 28 ก.ย. 09, 09:52

เรียนถาม อ.เทาชมพูเพิ่มเติมครับ
จากทำเนียบข้าราชการมหาดไทยปี ๒๔๕๘
บางชื่อมี (ป.) ตามหลังเช่น หลวงวิชิตศุลกากร(จูอิ้น)(ป.)
(ป.) หมายถึงอะไรครับ
ขอบคุณครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 28 ก.ย. 09, 10:02

ดิฉันไม่มีหนังสือเล่มนี้ เลยไม่ทราบว่าตรงคำนำ หรือหมายเหตุของหนังสือ เขาอธิบายไว้ว่า ป.ย่อมาจากคำว่าอะไร
คุณ wandee น่าจะตอบได้ค่ะ
บันทึกการเข้า
propaganda
อสุรผัด
*
ตอบ: 27


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 28 ก.ย. 09, 10:21

ขอขอบพระคุณทุกๆข้อมูลเป็นอย่างสูง

เท่าที่อ่านมา อาจจะสรุปได้ไหมว่า หมื่นพำนักนิกรชน อาจจะเป็นหัวหน้าชุมชนแบบกำนันในสมัยนี้ มีหน้าที่ดูแลชุมชนที่อาศัยอยู่ในหัวเมือง...แต่ก็เตรียมทำใจแล้วว่าคงไม่มีข้อมูลลึกไปกว่านี้ก็เป็นได้ เพราะด้วยเป็นเพียงข้าราชการระดับล่างๆ คงไม่น่าจะมีบันทึกอะไรไว้มาก แต่ก็ยังดีใจที่อย่างน้อยก็พอจะทราบความรู้เพิ่มเติมอีกมากมายจากหลายๆท่าน ในบอร์ดแห่งนี้ แต่ถ้ามีข้อมูลใดพอจะแนะนำเพิ่มเติมได้อีกก็ยิ่งเป็นการดี ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 28 ก.ย. 09, 14:39

น่าจะมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องขุนนางจีน มาขยายความให้คุณเจ้าของกระทู้ ได้เกร็ดความรู้เพิ่มเติมได้
ระหว่างรอ ก็ขอคั่นโปรแกรมด้วยบทสันนิษฐาน  วิเคราะห์จากคำบอกเล่าของคุณเอง
๑   ถ้าคุณรู้ชื่อเดิมและแซ่ของหมื่นพำนักฯ  สมาชิกเรือนไทยที่รู้ภาษาจีนอย่างคุณเครซี่ฮอส ก็จะบอกได้จากการออกเสียงชื่อและแซ่ ว่าท่านเป็นคนจีน เชื้อสายแต้จิ๋ว แคะ  ฮกเกี้ยนฯลฯ หรืออะไรแน่
๒  "ท่านหมื่นผู้นี้เป็นคนจีนแท้ๆ แต่ได้แต่งงานกับคนไทย เป็นคนจีนแท้ๆแบบ ไว้ผมเปียยาวด้านหลังแต่โกนศีรษะครึ่งศีรษะด้านหน้า"
ท่านอาจจะเป็นลูกจีนเกิดในสยาม  พ่อเป็นจีนอพยพ  จึงแต่งกายตามเชื้อชาติจีน   หรือท่านอาจเป็นจีนอพยพเองก็ได้
ในเมื่อแต่งงานกับภรรยาคนไทย  ก็แสดงว่าถ้าเป็นจีนอพยพ ท่านไม่ได้นำภรรยามาด้วยจากจีน  แต่มาแต่งงานกับหญิงไทย
ชายจีนที่มาแต่งงานกับหญิงไทย ตั้งถิ่นฐานอยู่ในไทย    มีมาตั้งแต่อยุธยา  ในสมัยรัตนโกสินทร์ก็มีเป็นจำนวนมาก
๓  ตำแหน่ง หมื่นพำนักนิกรชน   บอกให้รู้ว่าเป็น "นายบ้าน" หรือหัวหน้าชุมชน เข้าใจว่าระดับตำบล ในเมืองอุทัยธานี  คนที่มีตำแหน่งนี้ได้ก็ต้องมีลูกบ้านให้การยอมรับนับถือ   ทั้งคนจีนและคนไทยท้องถิ่น
อย่างน้อยก็ต้องพูดไทยได้  ถึงสื่อสารกับลูกบ้านและขุนนางระดับสูงขึ้นไปได้
๔ ในเมื่อเป็น "นายบ้าน" ก็แปลว่าท่านต้องมาตั้งรกรากอยู่ในตำบลนั้นของอุทัยธานี นานพอสมควร ก่อนทางการจะตั้งให้ได้รับตำแหน่งนี้   มีลูกน้อง มีชาวบ้านรู้จักดี   ถึงกลายเป็นหัวหน้าชุมชนขึ้นมาได้
๕  คุณคงจะมีภาพถ่ายของท่านแต่งกายแบบจีน  ขอให้สังเกตดูว่าท่านอยู่ในวัยชราหรือไม่    ถ้าแต่งกายแบบจีนในวัยชราก็แปลว่าไม่ได้เปลี่ยนตัวเองเป็นไทย     คงจะสะดวกใจที่แต่งกายแบบจีนอยู่อย่างนั้น
ก็มีแนวโน้มว่า ท่านอาจเป็นจีนอพยพ  หรือลูกจีนรุ่นแรก    คงไม่ใช่จีนรุ่นสามหรือสี่
บันทึกการเข้า
เงินปุ่นสี
อสุรผัด
*
ตอบ: 47


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 28 ก.ย. 09, 15:57

ก่อนอื่นต้องขออภัยทุกฯท่าน โดยเฉพาะคุณวันดี
ที่หนูเงินปุ่นสีคนนี้เข้ามาร่วมแจมช้าไปนิด

ที่จริงเมื่อได้อ่านความเห็นของทุกฯท่าน โดยเฉพาะของอาจารย์เทาชมพู
เสริมด้วยชื่อและตำแหน่งที่มีอยู่ในหนังสือฯ ของคุณวันดีที่อุตสาห์ไปเปิดหามาให้
ก็เกินความรู้และข้อมูลที่ผมมีอยู่แล้วละครับ

การค้นประวัติบุคคลในอดีตโดยเฉพาะถ้าท่านฯนั้นอยู่ในหัวเมือง
เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับครับว่ายากจริงฯ โดยทั่วไปแล้วในขั้นต้น
คงต้องหาเค้าจากคนในสกุลของท่านนั้นฯ ก่อน อย่างเช่นว่าเคยดำรงตำแหน่งอะไร?
หรือมีหน้าที่เกี่ยวกับอะไร? จากนั้นจึงค่อยไปหาโครงจากเอกสารชั้นต้นหรือชั้นรองอื่นฯ
และที่สำคัญก็คือต้องพิจารณาด้วยว่าสมัยไหน? เพราะจะพบได้มากว่าส่วนใหญ่แล้ว
จะระบุช่วงเวลาเก่าเกินช่วงอายุ สำหรับข้อมูลที่เกี่ยวกับหมื่นพำนักนิกรชนนั้น
คงต้องขอให้ทางคุณ Propaganda ช่วยขยายข้อมูลเบื้องต้นอีกนิดครับ
เพื่อว่าจะได้หาแนวทางในการสืบค้นได้มากยิ่งขึ้น

เห็นด้วยกับท่านอาจารย์เทาชมพูครับว่าราชทินนาม "พำนักนิกรชน" นั้น
น่าจะเป็นตำแหน่งรับประทวน และส่วนตัวแล้วเชื่อว่าน่าจะรับประทวนกระทรวงมหาดไทย
ในส่วนหัวเมืองและอยู่ในช่วงรัชกาลที่ ๖ เป็นต้นไป

และไม่แน่นะครับอาจจะมีชื่อหมื่นพำนักนิกรชนอยู่ในหนังสือทำเนียบข้าราชการกระทรวงมหาดไทย
พ.ศ.๒๔๕๙ ที่คุณ CVT มีก็ได้ ซึ่งถ้าเป็นส่วนหัวเมืองก็จะเขียนเรียงตามชื่อเมืองและอำเภอ
เพียงแต่ว่าอาจจะไม่มีชื่อสกุลดังเช่นหนังสือฯของคุณวันดี และตัวอักษร (ป) ข้างหลังนั้น
ก็อย่างที่เข้าใจกันครับว่าน่าจะหมายถึงประทวนนั้นเอง

บันทึกการเข้า
CVT
องคต
*****
ตอบ: 452


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 28 ก.ย. 09, 17:14

และไม่แน่นะครับอาจจะมีชื่อหมื่นพำนักนิกรชนอยู่ในหนังสือทำเนียบข้าราชการกระทรวงมหาดไทย
พ.ศ.๒๔๕๙ ที่คุณ CVT มีก็ได้ ซึ่งถ้าเป็นส่วนหัวเมืองก็จะเขียนเรียงตามชื่อเมืองและอำเภอ
เพียงแต่ว่าอาจจะไม่มีชื่อสกุลดังเช่นหนังสือฯของคุณวันดี และตัวอักษร (ป) ข้างหลังนั้น
ก็อย่างที่เข้าใจกันครับว่าน่าจะหมายถึงประทวนนั้นเอง

ถ้า (ป.) หมายถึงประทวน ก็จะค้านกับที่ อ.เทาชมพูว่าไว้ใน คคห ๘ ครับ

พัน                           ประทวน
หมื่น                         ประทวน

********************
ขุน                           สัญญาบัตร
หลวง
พระ
พระยา
เจ้าพระยา
สมเด็จเจ้าพระยา
********************

สำหรับหนังสือทำเนียบข้าราชการมหาดไทย ผมไม่มีในครอบครองครับ
แต่เคยไปค้นที่หอสมุดกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว
ไม่มีเครื่องถ่ายเอกสารต้องคัดลอกเนื้อหาที่ต้องการไว้เอง
ผมเลยไม่ได้คัดลอกตอนคำนำ หรือคำชี้แจง น่าเสียดายเหมือนกันครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.072 วินาที กับ 20 คำสั่ง