เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 11
  พิมพ์  
อ่าน: 35071 ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 75  เมื่อ 15 ต.ค. 09, 14:16

ติดตามกันต่อกับเสภาประวัติพลายจันทร์

ความเดิม  พระเจ้ากรุงศรีอยุธยามีรับสั่งให้พระพิเรนทรเทพรีบชำระความพลายจันทร์ คงขวาน อุ่นไฟ ตีนายบัวลูกชายพระพรรณสมบัติตาย  หากปล่อยไว้ให้คดีค้างนานไป พระองค์จะปรับโทษพระพิเรนทรเทพกึ่งคนร้าย

พระพิเรนทรเทพรับพระราชโองการแล้วกราบบังคมลาออกมา  แล้วเรียกขุนรุดเพื่อแจ้งเรื่องที่มีรับสั่งถามความคืบหน้าเรื่องคดีตีคนตาย แล้งว่ามีรับสั่งว่า "ทรงรู้จักทักทายแต่ยายตา  รับสั่งว่าให้ส่งไปข้างใน" ผู้คุมก็ไปยังทิมดาบแจ้งให้ยายอ้นกับนางทองประศรีว่า บัดนี้มีรับสั่งให้ถอดทั้งสองแม่ลูกส่งเข้าวังใน ด้วยทรงพระราชวินิจฉัยแล้วทรงเห็นว่า ยายอ้นกับนางทองประศรีไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีความที่เกิดขึ้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากโทษทัณฑ์ไป

ฝ่ายยายอ้นได้ยินดังนั้นก็ยินดีอย่างยิ่ง  แต่ทองประศรีกลับเสียใจด้วยกลัวว่าพลายจันทร์จะต้องลำบากอยู่ในคุก ดังความว่า

ยายอ้นยินดีจะมีไหน     ทองประศรีเสียใจไม่ว่าขาน
กลัวนายพลายจันจะกันดาร   แสนสงสารด้วยความรักหนักอุรา
ยิ่งสร้อยเศร้าเปล่าจิตจะจำจาก    น้ำตาพรากพรั่งพรายทั้งซ้ายขวา
พี่สามคนจงอยู่เวทนา   น้องจะลาพี่แล้วล่วงลับไป
ถ้าแม้นอยู่ในวังเหมือนอย่างว่า   จะออกมาเห็นหน้าให้จงได้
หมากพลูบุหรี่มีอย่างไร   คงหาให้ส่งเสียทั้งสามคน.

ยายอ้นได้ยินลูกสาวคร่ำครวญเช่นนั้นก็นึกสงสารเด็กหนุ่มทั้งสาม  จึงปลอบว่า อุ่นไฟกับคงขวานแกอย่างหลาน  ส่วนพลายจันทร์แกรักอย่างลูก (อ้าว อย่างนี้ ลำเอียงนี่) ให้ทั้งสามอดทนสักหน่อย  อีกไม่นานความจริงของคดีก็คงประจักษ์ ตอนนี้เป็นคราวเคราะห์ อย่าทำการหาญหักอันใดไปก่อนจะเสียการ  ผุคุมเตือนยายอ้นกับนางทองประศรี ให้รีบเดินเข้า  โขลนจ่าเขามารับแล้ว ทองประศรีได้ยินดังนั้นก็ร้องไห้เดินตามยายอ้นมาที่ทิมดาบ แล้ว " ขุนรุดร้องเกนว่าเจ้าคุณให้หา  เรียกค่าถอดตรวนค่าฤชา  พิเรนทร์ว่าคราวนี้เสียทีจริง" พระพิเรนทร์คงจะเสียดายว่า  คนมั่งมีมาต้องคดีทั้งที  จะเรียกขูดรีดค่าในการศาลอะไรสารพัดค่าให้เต็มที่สักหน่อย  กลายเป็นว่ามีรับสั่งให้ปล่อยตัวส่งไปข้างในเสียนี่  ลาภที่จะได้ก็เลยหายวับ

กล่าวกลับมาที่ท้าววรจันทร์ได้กราบบังคมทูลเรื่องยายอ้นกับลูกสาวและได้ทราบว่ามีรับสั่งให้พระพิเรนทรเทพปล่อยตัวแล้วนำมาส่งให้ฝ่ายใน  ท้าววรจันทร์เห็นว่าเมื่อมีรับสั่งแล้วจะปล่อยไว้ช้านานจะเนิ่นช้า  โบราณว่าของได้ให้เร่งเอา  แม้นช้าเล่าก็จะเหลวเป็นเปลวฉาว  ต้องรีบรัดตัดความตามเรื่องราว  สาวเอายายอ้นแกต้นความ  แล้วคุณท้าวก็สั่งให้จ่านนไปหาพระพิเรนทรเทพเพื่อถามความเรื่องที่มีรับสั่งให้ส่งยายอ้นกับลูกสาวเข้ามาอยู่ฝ่ายใน

จ่านนพร้อมพวกโขลนรีบมาที่ทิมดาบของพระพิเรนทร์ แล้วแจ้งความตามที่คุณท้าวใช้มา แล้วให้พระพิเรนทร์รีบเอาตัวแม่ลูกทั้งสองมาส่งให้โดยเร็ว   พระพิเรนทร์สั่งให้ขุนแผลงสะท้านมาสั่งทันที  ขุนแผลงสะท้านรับคำสั่งแล้วเขียนหมายว่า
..............................      ว่ายายอ้นสองคนทองประศรี
ศักราชไม่เคลื่อนเดือนวันปี          ว่ามีรับสั่งส่งสองคน

ครั้นจดแล้วโขลนจ่าพาตัวไป       เข้ายังวังในไม่ขัดสน
ทองประศรีเป็นสาวบ่าวสามคน     ทั้งยายอ้นมารดามาด้วยกัน
จ่านนนำหน้าพาขึ้นเรือน             เตือนให้ไหว้หมอบขมีขมัน
จ่านนเรียนท้าววรจันทร์               ว่าพระพิเรนทร์นั้นมอบตัวมา.


คุณท้าววรจันทร์ได้เห็นหน้ายายอ้นก็ถามว่า 
..............................        ปลัดสนผัวแกอยู่ดูคูหา
แกกับนางทองทั้งสองรา               พากันไปเที่ยวดูละคร
จนเกิดความลามถึงตีกันตาย          ด้วยผู้ร้ายชิงลูกเข้าหลอกหลอน
เพราะลูกสาวและจึ่งฉาวได้ทุกข์ร้อน  จงผันผ่อนบอกผัวอย่าพัวพัน
แกรีบไปบ้านอย่านานช้า               ปรึกษาตาขุนอย่าหุนหัน
ความที่ว่าให้เสร็จในเจ็ดวัน             ถ้าพ้นนั้นแล้วจะปรับให้ยับเยิน
แต่ตัวทองประศรีอยู่นี่ก่อน             ออกนอกนครจะเหินห่าง
เผื่อมันสัตย์ในทีตีประเมิน              จะได้เดินตัวไปให้รอดตัว

ว่าแล้วยายอ้นก็ฝากลูกสาวไว้กับคุณท้าวแล้วแกกับนางบัวบ่าวทีติดตามมารีบเดินทางไปบ้าน เมื่อถึงบ้าน ปลัดสนเปิดประตูเห็นยายอ้นก็ดีใจดังได้ทิพสมบัติ จากนั้นปลัดสนก็ถามถึงทองประศรี  ยายอ้นแจ้งว่า

ยายอ้นภรรยาบอกสามี        ว่าบัดนี้รับสั่งไม่สงสัย
ให้ท้าววรจันทร์นั้นข้างใน     เอาตัวไว้ว่ายังข้องต้องคดี
แต่ตัวข้าให้มาสักเจ็ดวัน       ไปผ่อนผันที่ยังข้องทองประศรี
เร่งรัดจัดหาอย่าช้าที           ของก็มีอย่าเป็นเท็จให้เสร็จความ.

ย้อนกลับมาที่เจ้าหนุ่มทั้งสามที่ติดคุกอยู่  พระพิเรนทรเทพสั่งให้ขุนรุดรีบเอาตัวพลายจันทร์ คงขวาน อุ่นไฟมาไต่สวนเรื่องที่ไปตีนายบัวตาย  ขุนรุดเรียกผู้คุมมาสั่งว่า

ขุนรุดก็เรียกผู้คุมมา      เฮ้ยอย่าช้าบอกกันสิ้นทั้งหลาย
จงคุมสามคนมาศาลาราย    แยกย้ายอย่าให้อยู่เป็นหมู่กัน
ทั้งคาหลักปักไว้ดูให้เสร็จ    บอกว่าจะเสด็จสุทไธสวรรย์ (!!!!!!)
ทั้งเครื่องเคราครบจริงทุกสิ่งอัน   ดูสำคัยด้วยมันเป็นคนดี  (คนดี ในที่นี้ หมายถึงเป็นคนมีวิชาอาคมดี)

ผู้คุมได้ยินอย่างนั้นก็ชอบใจที่จะได้ลองของเจ้าหนุ่มทั้งสามคนสักที แล้วก็บอกว่า   บอกคงขวานอุ่นไฟไปทันที  แฮ้จันหนูคราวนี้ไม่รอดตัว  พลายจันทร์ได้ยินผู้คุมพูดอย่างนี้ก็หาได้พรั่นพรึงไม่ กลับหันมายิ้มกับเพื่อนทั้งสอง อย่างไม่กลัว ผู้คุมพาทั้งสามมาแล้วแยกถามกันทั้งสามคนไม่ให้ปนกัน.

พักก่อนครับ  คราวหน้าจะมาว่าด้วยตอนไต่สวนคดีความเรื่องนี้กันต่อ  เราจะดูวิธีการซักจำเลยของศาลรับสั่งสมัยก่อน  กะว่าจะลงเป็นกลอนเสภาทั้งหมดให้ได้อ่านกัน  ติดตามนะครับ.


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 76  เมื่อ 15 ต.ค. 09, 14:57

พระที่นั่งสุทไธสวรรย์  สร้างในรัชกาลที่ 3
ถ้าอย่างนั้น   เรื่องนี้แต่งในรัชกาลที่ 3  หรือคะ?
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 77  เมื่อ 15 ต.ค. 09, 16:40

 ดิฉันอ่านหนังสือเพื่อความบรรเทิงเป็นหลักค่ะ   อ่านเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนก็สงสัยอะไรต่อมิอะไร
พระพันวษาทัก นางทองประศรี  ตอนสร้อยฟ้าศรีมาลาลุยไฟ

พระองค์ทรงเห็นก็ตรัสทัก                              มันแก้มตอบฟันหักเป็นสองผม
เมื่อยังสาวไหล่ผายท้ายกลม                           น่าสงสารซานซมไปคลับคล้าย
เมื่อกระนั้นมันก็เป็นข้าหลวงเก่า                       กูนึกขึ้นมาเล่าก็ใจหาย
คิดถึงอ้ายขุนไกรให้เสียดาย                           ต้องรับอาญาตายแต่ก่อนมา


มีความสงสัยว่า ทองประศรีเป็นข้าหลวงมาก่อน  เพราะ ขุนไกรเป็นข้าหลวงเดิมหรือ

ข้าหลวงเดิมนี้มีความหมายมาก
พระยาที่มีทรัพย์สมบัติมหาศาล  มีญาติรับราชการฝ่ายในจนนับไม่ถ้วน
มีลูกเป็นนักเรียนน้ำเค็ม  มีญาติและเขยเป็นขุนนางระดับสูง

ติดอยู่ที่ไม่ได้เป็นข้าหลวงเดิมเท่านั้น   ความไว้เนื้อเชื่อใจจากราชสำนักก็ไม่เต็มเปี่ยม
ตำแหน่งเจ้าพระยาที่หวังไว้ก็ไม่มาสักที



เรื่องราดถะยานั้นจะว่าไม่สำคัญก็ว่าได้

แต่ดิฉันเป็นคนขี้สงสัยค่ะ

คุณคึกฤทธิ์  ใน ขุนช้างขุนแผนฉบับอ่านใหม่  ได้บอกว่า ศรพระยาเป็นน้องของขุนช้าง
ดิฉันว่าคนอย่างขุนไกรคงมีนังน้อยๆบ้างละนา


จมื่นศรียังมีนางเล็กๆที่เป็นมโหรีนับสิบคน(สำนวนครูแจ้ง)พระพิจิตรวานมาเป็นเพื่อนเจ้าสาวตอนแต่งงานพระไวย

พระพิจิตรจึ่งว่ากับพระหมื่นศรี                         เจ้าคุณได้ปราณีกับดีฉัน
พรุ่งนี้ซัดน้ำวันสำคัญ                                   ขอวานเมียน้อยท่านสักสิบคน
ด้วยเป็นสาวชาวในได้พบเห็น                          พอจะเป็นเพื่อนสาวกันสักหน
ได้หุ้มห่อกันไปนั่งฟังสวดมนต์                          ครั้นมากมายหลายคนค่อยอุ่นใจ

พระหมื่นศรีว่าได้ซีเป็นไรท่าน                          พรุ่งนี้ดีฉันจึ่งจะจัดให้
สาวๆพวกมโหรีมีถมไป                                 แล้วฉันจัดให้สักสิบคน
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 78  เมื่อ 15 ต.ค. 09, 16:50

ได้หนังสืออนุสรณ์ นายนราภิบาล ๒๕๐๑ มาแล้วค่ะ

ค่าถ่ายเอกสาร ๕๓ บาท
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 79  เมื่อ 16 ต.ค. 09, 08:52

ขอแสดงความยินดีแก่คุณ Wandee ที่ได้ทำสำเนาหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพนายนราภิบาลมาอ่านแล้ว  ต่อไปผมคงไม่ต้องเล่าต่อแล้วกระมังครับ

อย่างที่เคยกล่าวไว้ก่อนจะเล่าประวัติพลายจันทร์ว่า  เนื้อเรื่องเสภาตอนประวัติพลายจันทร์นี้ จะช่วยเติมเต็มเนื้อหาและรายละเอียดของเสภาขุนช้างขุนแผนในตอนที่หอพระสมุดวชิรญาณได้ตรวจชำระไปแล้วให้สมบูรณ์มากขึ้น กรณีที่สมเด็จพระพันวษามีรับสั่งทักทองประศรีในตอนสร้อยฟ้าศรีมาลาลุยไฟว่า ทองประศรีเคยเป็นข้าหลวงเดิมนั้น พิจารณาจากประวัติพลายจันทร์ที่เล่าไปแล้ว  ก็มีช่วงที่ยายอ้นกับทองประศรีได้เข้าไปอยู่ฝ่ายใน  จริงอยู่ว่า นั่นอาจจะไม่สามารถเรียกว่าเป็นข้าหลวง หรือคนรับราชการได้  แต่ก็นับว่าเคยเข้าไปอยู่ในฝ่ายใน  เราไม่ทราบแน่ชัดว่า ทองประศรีจะเข้าไปอยู่ในฝ่ายในนานเท่าใดจนกว่าคดีจะชำระเสร็จ  แต่ก็คงเป็นระยะเวลาหนึ่งพอที่คนในวังจะคุ้นเคยกันได้   

ส่วนว่าขุนไกรเป็นข้าหลวงเดิมหรือไม่นั้น ผมขอให้ติดตามเนื้อเรื่องพลายจันทร์ต่อไปคุณก็จะทราบ  คำว่าข้าหลวงเดิมนี้  ถ้าเอาความหมายกว้างๆ คือคนที่เคยรับราชการใกล้ชิดเจ้านายมาก่อน  ถ้าเป็นผู้ชายก็มักจะเป็นมหาดเล็ก  มหาดเล็กเหล่านี้จะมีหน้าที่รับใช้และตามเสด็จเจ้านายเสมอ  จึงได้เรียนรู้หลักปฏิบัติในราชสำนักและหลักราชการไว้มาก  เป็นธรรมดาที่พระมหากษัตริย์จะทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้ผู้ที่รับราชการเป็นมหาดเล็กมา ได้มีโอกาสขยับขยายหน้าที่ไปสู่ตำแหน่งราชการอื่นๆ เพราะคนเหล่านี้ได้มีโอกาสเฝ้าฯ ในเวลาเสด็จออกว่าราชการอยู่เป็นนิจ  ดูอย่างพลายแก้วและพลายงามเป็นต้น  นี่คือลักษณะการเข้าทำราชการสมัยก่อน  ไม่มีการป่าวประกาศรับสมัคร   ใครจะอยากให้ลูกหลานรับราชการ  ก็ให้พาลูกหลานไปฝากทำราชการกับข้าราชการผู้ใหญ่ที่รู้จักคุ้นเคยกัน  เมื่อรับราชการตามผู้ใหญ่ไปเฝ้าฯ เวลาเสด็จออกว่าราชการบ่อยๆ เข้าก็จะเรียนรู้ราชการได้เอง ว่าจะกราบบังคมทูลอย่างไร  ใช้ถ้อยคำราชาศัพท์อย่างไร จะจดหมายรายงานอย่างไร  ตลอดจนเรื่องต่างๆ อันพึงรู้ในราชการ  จากนั้น  หากผู้ใหญ่ท่านเห็นว่า ลูกหลานที่เขามาฝากคนใดดูมีความรู้ความชำนาญและมีวุฒิ ๔ ประการ ท่านก็จะกราบบังคมทูลขอพระราชทานโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งลูกหลานของเขาเหล่านั้นมียศตำแหน่งตามสมควรแก่ความรู้ความสามารถ   ในกรณีที่เป็นมหาดเล็กประจำพระองค์พระมหากษัตริย์หรือเจ้านายที่ทรงรับราชการ  ก็จะได้รับพิจารณาให้ได้ดำรงตำแหน่งราชการสำคัญ เช่น ยกกระบัตรประจำเมืองต่างๆ และเจ้าเมือง เป็นต้น  ไม่แปลกที่บรรดาผู้มีอันจะกินสมัยก่อนจะพาลูกหลานไปฝากผู้ใหญ่ในราชการให้ช่วยรับเป็นเด็กฝึกงานโดยเฉพาะมหาดเล็ก  บางครั้งเขาดูขนาดว่า เจ้านายพระองค์ไหนที่ได้รับราชสมบัติต่อไป  คนก็จะพาลูกหลานไปทำราชการเป็นมหาดเล็กในเจ้านายพระองค์นั้นมากเป็นพิเศษ.

ส่วนของคุณเทาชมพูที่ว่าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์  สร้างในรัชกาลที่ 3 ถ้าอย่างนั้น   เรื่องนี้แต่งในรัชกาลที่ 3  หรือคะ?  ขอเวลาตรวจสอบข้อมูลตรงนี้ก่อนครับ 

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 80  เมื่อ 16 ต.ค. 09, 09:07

โอย...เล่าค่ะ   คุณหลวงต้องเล่า เพราะมุมมองของคนที่ชอบวรรณคดีแตกต่างกัน
มีคนอ่านอีกมากมายที่จะได้ประโยชน์


ถ้าคุณหลวงไม่บอกมา  โอกาสที่ดิฉันจะทราบว่ามี บทเสภาแทรกอยู่นั้นแทบไม่มีเลย
เพราะห่างไกลจากวงการนักวิชาการ  เป็นเพียงนักอ่านหนังสือเก่า


คนคอเดียวกันแท้ ๆ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 81  เมื่อ 16 ต.ค. 09, 09:22

ไปงานหนังสือมาเมื่อวานนี้ค่ะ

ได้หนังสือเล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะสนใจประวัติการพิมพ์มาก


ดีใจที่เห็นคนอายุ ๒๐  กว่าๆสนใจหนังสือโบราณอย่างจริงจัง


เสภา ขุนช้างขุนแผน ยังเป็นขุมทรัพย์ ให้อ่านได้เรื่อย ๆ
ถ้ามี ท่านที่ใจรักทางนี้ และมีความรู้มานำทางให้บ้าง อย่างคุณหลวง
หนังสือของเราจะไม่สูญไป ต้องไปตามที่เยอรมัน อเมริกา และญี่ปุ่น เหมือนทุกวันนี้


ดิฉันปูเสื่อคอยคุณหลวงนะคะ
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 82  เมื่อ 16 ต.ค. 09, 13:24

ตกลง ผมจะเล่าประวัติพลายจันทร์ต่อไปจนจบ

คุณเทาชมพูตั้งข้อสังเกตว่าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์  สร้างในรัชกาลที่ 3 ถ้าอย่างนั้น   เรื่องนี้แต่งในรัชกาลที่ 3  หรือคะ?  ผมได้ตอบว่าขอเวลาตรวจสอบข้อมูลตรงนี้ก่อน

ผมได้ไปตรวจข้อมูลดูแล้ว ได้ความเกี่ยวกับพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ดังนี้

พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ตั้งอยู่ระหว่างประตูเทวาพิทักษ์กับประตูศักดิ์ไชยสิทธิ์  ตรงข้ามกับสนามไชยหน้าสวนสราญรมย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นพลับพลาโถงด้วยเครื่องไม้ หลังคาไม่มียอด เรียกว่า พลับพลาสูง สำหรับเป็นที่ประทับทอดพระเนตรกระบวนแห่ในพระราชพิธีสระสนานใหญ่และการฝึกช้าง

ต่อมา ในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระที่นั่งองค์นี้เป็นที่ประทับของกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระบรมราชชนนี และพระเจ้าลูกเธอที่ทรงพระเยาว์ กับเจ้าจอมหม่อมห้าม  โดยได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขพระที่นั่งเป็นฝาก่ออิฐฉาบปูน หลังคาเปลี่ยนเป็นยอดปราสาท และพระราชทานนามว่า พระที่นั่งสุทธาสวรรย์

ในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะพระที่นั่งนี้เมื่อปี ๒๓๙๖ โดยเปลี่ยนเสาจากเสาไม้เป็นเสาปูนมีบัวหัวเสา พร้อมทรงเปลี่ยนนามพระที่นั่งนี้ใหม่ เป็น พระที่นั่ง
สุทไธศวรรย์


ในรัชกาลที่ ๕ ได้มีการเปลี่ยนพระทวารและพระบัญชรเป็นบานเกล็ดไม้และติดลูกกรงเหล็กหล่อลวดลายแบบตะวันตก นอกจากนี้ พระที่นั่งนี้เคยใช้เป็นที่ประดิษฐานพระโกศพระศพพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนสุพรรณภาควดีด้วย
(ข้อมูลจากหนังสือสถาปัตยกรรมพระบรมมหาราชวัง เล่ม ๑)

ดังนั้นที่คุณเทาชมพูว่ามานั้น  ผมขอสันนิษฐานอย่างกว้างๆ ว่า เสภานี้น่าจะแต่งขึ้นระหว่างรัชกาลที่ ๓-๔ เพราะนามพระที่นั่งนี้เพิ่งมามีอย่างเป็นทางการในรัชกาลดังกล่าวครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 83  เมื่อ 16 ต.ค. 09, 14:00

ในรัชกาลที่ 3 เรียกว่าพระที่นั่งสุทธาสวรรย์    ในรัชกาลที่ 4  ถึงเปลี่ยนเป็นพระที่นั่งสุทไธศวรรย์
ถ้าในเสภา มีชื่อ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ก็แน่นอนว่าแต่งในรัชกาลที่ 4   เพราะในรัชกาลที่ 3 ยังเป็นชื่อเดิมอยู่
ทำให้สับสนขึ้นมาว่า   ถ้าเป็นรัชกาลที่ 4  ข้อมูลนี้ก็จะไปขัดกับตอนที่กล่าวว่า

ครั้นเวลากลางคืนก็ขึ้นเฝ้า       เป็นคราวทรงละครไม่ขัดขวาง(!!!!)
จึ่งถวายบังคมไม่ระคาง           พลางบังคมทูลพระทรงธรรม์

รัชกาลที่ 4 ท่านไม่ได้พระราชนิพนธ์บทละคร จนเรียกได้ว่า "ทรงละคร" 
ข้อความในกลอน  มีนัยยะว่าการ"ทรงละคร" น่าจะเป็นพระราชกิจที่ทรงปฏิบัติในตอนกลางคืนบางคืน   ไม่ใช่เหตุการณ์พิเศษ  เกิดขึ้นครั้งเดียวในรัชกาล
พระราชกิจในรัชกาลที่ 2  น่าจะเข้าข่ายนี้มากที่สุด   ส่วนรัชกาลที่ 1 ก็มีเหมือนกัน  แต่พระราชนิพนธ์บทละครอย่างรามเกียรติ์   คือประชุมกวีมาแต่งเสียมากกว่าทรงเอง
รัชกาลที่ 3 ไม่โปรดการละครเอาเลย  ละครย้ายออกจากในวังมาเล่นกันตามบ้านขุนนาง  รัชกาลที่ 4 เองโปรดวิทยาการแบบตะวันตกมากกว่า

หรือว่าเสภาแต่งในรัชกาลที่ 4 แต่ย้อนไปใช้บรรยากาศของรัชกาลที่ 2  ที่กวีรู้จักดีมาก่อน   ถ้าอย่างนั้นกวีต้องอายุมากเอาการ      เพราะระยะเวลาจากปลายรัชกาลที่ 2 กว่าจะมาถึงรัชกาลที่ 4  ก็เกือบ 30 ปี
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 84  เมื่อ 16 ต.ค. 09, 16:19

ในเมื่อมีจุดที่ทำให้สันนิษฐานเวลาแต่งที่แน่นอนไม่ได้ เนื่องจากหลักฐานจากเสภาเองยังขัดกันอยู่เช่นนี้
มันน่าจะมีความคิดเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ เช่น สมมติว่า คนแต่งเสภาอยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๓-๔
ซึ่งเป็นสมัยที่พระที่นั่งพลับพลาสูงเปลี่ยนนามมาเป็นพระที่นั่งสุทธาสวรรย์และพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ตามลำดับแล้ว
(ในรัชกาลที่สอง เรียกพระที่นั่งองค์นี้ว่า สุวรรณพลับพลา กรุณาดูในบทละครในเรื่องอิเหนาตอนเปิดเรื่อง)
ส่วนที่ว่า ครั้นเวลากลางคืนก็ขึ้นเฝ้า       เป็นคราวทรงละครไม่ขัดขวาง(!!!!)
จึ่งถวายบังคมไม่ระคาง           พลางบังคมทูลพระทรงธรรม์
น่าจะหมายถึง รัชกาลที่ ๒ ตรงนี้ ใช่ ถ้าหากว่าคนแต่งอ้างเอาพระราชกิจของรัชกาลที่ ๒ ดังกล่าวนี้มาเป็นพระราชกิจประการหนึ่งของพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาในเสภาตอนนี้ อาจจะเป็นเพราะประทับใจการทรงละครของรัชกาลที่ ๒ จึงนำมากล่าวไว้ในเสภา  เหมือนที่สุนทรภู่ทำอย่างนี้ในเสภาขุนช้างขุนแผนตอนกำเนิดพลายงาม  ซึ่งไม่แน่ว่า สุนทรภู่แต่งในสมัยรัชกาลที่ ๒ หรือหลังจากรัชกาลที่ ๒ ไปแล้ว  แต่ตรงนี้ไม่ใช่หลักฐานที่อาจจะชี้ชัดได้ว่า เสภาประวัติพลายจันทร์แต่งสมัยรัชกาลที่ ๒  ยังมีความเป็นได้อื่นๆ อีก เพราะเราไม่เห็นต้นฉบับตัวเขียนที่นายนราภิบาลนำไปพิมพ์เผยแพร่เมื่อ ๒๔๖๗  ว่าต้นฉบับเขียนว่า สุทธาสวรรย์ หรือ สุทไธศวรรย์  ถ้าต้นฉบับเขียนสุทธาสวรรย์ แต่นายนราภิบาลคัดลอกแก้ใหม่เป็นสุทไธศวรรย์  ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าเสภานี้แต่งในสมัยรัชกาลที่ ๓ แต่ถ้าต้นฉบับเขียนสุทไธศวรรย์  และนายนราภิบาลคัดลอกมาตามนั้นโดยไม่แก้ ก็สันนิษฐานว่าเสภานี้แต่งสมัยรัชกาลที่ ๔  แต่ถ้าเป็นว่า ต้นฉบับที่นายนราภิบาลคัดลอกมาเป็นฉบับคัดลอกมาอีกชั้นหนึ่งหรือหลายชั้นก็ตามแต่  อาจจะมีการแก้ไขชื่อพระที่นั่งสุทธาสวรรย์เป็นสุทไธศวรรย์ในการคัดลอกสมุดไทยชั้นไหนก็ไม่ทราบได้ ซึ่งนายนราภิบาลเองอาจจะไม่ทราบ  เมื่อมีความเป็นไปได้หลายทางอย่างนี้  เราน่าจะพอสันนิษฐานกว้างๆ ได้ว่า เสภานี้น่าจะแต่งในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นต้นไป

บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 85  เมื่อ 16 ต.ค. 09, 16:22

ผู้ติดตามประวัติพลายจันทร์กรุณารออ่านวันจันทร์นะครับ 
บันทึกการเข้า
TIRAV
อสุรผัด
*
ตอบ: 22



ความคิดเห็นที่ 86  เมื่อ 20 ต.ค. 09, 20:54

สวัสดีทุกท่านครับ ...

ปรกติเข้ามาอ่านอย่างเดียว ด้วยภูมิรู้นั้นน้อยนิด
แต่วันนี้ มีพลังจิตแรงกล้า ให้ผมมาโพสต์รูปดูกันเล่นๆจำเริญตาครับ

...


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
TIRAV
อสุรผัด
*
ตอบ: 22



ความคิดเห็นที่ 87  เมื่อ 20 ต.ค. 09, 20:55

โอย ... ใหญ่โตโอฬาริกเกินไป ...
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 88  เมื่อ 20 ต.ค. 09, 21:51

โอ๊ะ...รูปนี้พอจำได้

อยู่ที่ไหนหนอ   สร้อยฟ้าศรีมาลาลุยไฟ   สาวใช้คือนางไหม หรือนางสัง
ในความเป็นจริงแล้วผู้ไม่เกี่ยวข้องจะเข้าไปอยู่ใกล้ ๆไม่ได้ เพราะอาจใช้คาถาปกป้อง

     สร้อยฟ้ากระดากอยู่ปากราง                      เปลวไฟร้อนนางยืนจดจ้อง
ให้ครั่นคร้ามกลัวไฟจะไหม้พอง                        แข็งใจเยื้อย่องซมซานมา


พอจะมีรูปพระไวยขุนช้างดำน้ำพิสูจน์ไหมคะ คุณ TIRAV


เป็นฉบับร้อยแก้วของท่านผู้อาวุโสรายหนึ่งที่ตั้งโรงพิมพ์ที่บ้านด้วย

ขอค้นตู้หนังสือแป๊บหนึ่งค่ะ
บันทึกการเข้า
TIRAV
อสุรผัด
*
ตอบ: 22



ความคิดเห็นที่ 89  เมื่อ 20 ต.ค. 09, 22:02

สวัสดีคุณ Wandee ครับ

รูปพระไวย-ขุนช้าง ดำน้ำพิสูจน์นี้ ผมไม่มีเลยครับ

ขอสารภาพตามตรงว่า ภาพข้าวต้น ได้อาศัยไปถ่ายเอาจากร้านหนังสือเก่า
ด้วยความอนุเคราะห์ของผู้ใหญ่ใจดีท่านหนึ่งครับ
(ถ้าไม่ยังงั้น ป่านฉะนี้คงโดนไล่ออกจากร้านไปแล้ว ... ของซื้อ ของขาย นี่นา)

ตัวเล่มเต็มๆ คือหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระตีรณสารวิศวกรรม (ตรี ตีรณสาร) ปี ๒๕๑๖ ครับ

คุณ Wandee และท่านอื่น พอผ่านหูผ่านตาไหมครับ

^___________________^


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 11
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.214 วินาที กับ 19 คำสั่ง