เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 11
  พิมพ์  
อ่าน: 35141 ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 09 ต.ค. 09, 16:11

ขอบคุณ คุณหลวง ค่ะ

ที่เอื้อเฟื้อบอกอ้างอิงถ้วนถี่ หนังสืออนุสรณ์ นายนราภิบาล ๒๕๐๑     ได้เบาะแสแล้วค่ะ
คงส่งสมาชิกชมรมนักอ่านไปคัดลอกมาหลังงานหนังสือ


หนังสือ ขุนช้างขุนแผน  ฉบับนอกทำเนียบ ของอัศศิริ,  โชติช่วง นาดอน  และ ครูเสภานิรนาม ก็ได้อ่านแล้วค่ะ
คุณโชติช่วง นาดอน ได้กรุณาเล่าไว้ว่า เสภาขุนช้างขุนแผนความเก่า  พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานยืนชิงช้า เมื่อปีฉลู ๒๔๖๘
เข้าใจว่ามีอยู่เล่มเดียว


เล่มที่ดิฉันใช้ หนังสืออนุสรณ์ งานพระราชทานเพลิงศพ
อำมาตย์โท  พระยาวิศิษฐบรรณกร์(ชม  สุวรรณภา) ๒๔๗๑  ค่ะ


ได้แลกเปลี่ยนความรู้กับคุณหลวง  เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
ขอบคุณเจ้าค่ะ

ยังตามอ่านอย่างใจจดใจจ่อค่ะ



อีกไม่กี่วัน คุณเทาชมพูจะได้มาเล่าเรื่อง ลาว ต่อ

บันทึกการเข้า
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 10 ต.ค. 09, 04:47

ขอบคุณครับคุณ luanglek สำหรับคำว่า "พลาย"

คุณ luanglek พอมีคำอธิบายเกี่ยวกับคำว่า "พัง" ด้วยหรือเปล่าครับ เพราะเห็นว่ามีการเรียกช้างพลาย กับ ช้างพัง เรียกคู่กัน น่าจะมีความหมายไปในทำนองเดียวกัน  ฮืม

ส่วนพจนานุกรมที่คุณ luanglek แนะนำ โชคดีที่ห้องสมุดที่ทำงานผมมีครับ เพราะน่าจะเป็นพจนานุกรมที่หายากเล่มหนึ่ง
ไว้เสร็จภารกิจแล้ว ผมคงต้องไปเปิดดูแน่นอน  ยิงฟันยิ้ม (จริงๆ เห็นอยู่บนชั้นหลายหนแล้ว แต่ตอนนั้นยังไม่มีโอกาสหยิบมาใช้ประโยชน์)
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 12 ต.ค. 09, 15:04

ก่อนจะเล่าเรื่องประพลายจันทร์ต่อไป   ขอตอบคำถามก่อน

เสภาขุนช้างขุนแผนแบบความเก่าเล่มหนึ่ง คือ บทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนความเก่า ตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2502 (พิมพ์ในงานฌาปนกิจศพ นางนวลแก้ว เครือโสภณ, 12 ก.ค. 2502) เล่มนี้น่าจะพอหาอ่านกันได้  และไม่หนามาก  ไม่รู้ว่าเป็นหนังสือซ้ำกับของคุณWandee หรือเปล่า

เรื่องพึงทราบอีกอย่างหนึ่ง คือ เสภาขุนช้างขุนแผนตอนปลาย  หรือเสภาขุนช้างขุนแผนตอนต่อจากฉบับพระสมุดวชิรญาณ  โดยทั่วไปอ่านฉบับที่กรมศิลปากรได้ตรวจชำระ เมื่อ 2509 พิมพ์ครั้งแรกในงานพระราชทานเพลิงศพคุณหญิงเชื้อ ชลธารวินิจจัย (เชื้อ ชลานุเคราะห์) 10 ม.ค.2509 หลังจากนั้นก็มีการนำฉบับนี้มาพิมพ์เผยแพร่อีกหลายครั้ง  แต่ก่อนหน้าที่กรมศิลปากรจะชำระเสภาขุนช้างขุนแผนตอนปลายนี้  มีสำนักพิมพ์หนึ่งเอาเสภาขุนช้างขุนแผนตอนปลายมาพิมพ์เป็นหนังสือขายแล้ว  ถ้าจำไม่ผิด น่าจะเป็นสำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร  สำนวนที่สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคาร นำมาพิมพ์เข้าใจว่าก็คงชำระมาจากต้นฉบับเดียวกับที่กรมศิลปากรได้เอามาตรวจชำระ  กระนั้นก็มีถ้อยคำแตกต่างกับฉบับกรมศิลปากรหลายแห่ง  ซึ่งไม่มีทำให้เนื้อความแตกต่างกัน  แต่นั่นก็ยังไม่น่าสะดุดใจเท่ากับว่า  ฉบับที่สำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคารชำระมีการเปลี่ยนเนื้อความตอนท้ายของเสภาขุนช้างขุนแผนภาคปลายใหม่ ให้จบแบบแฮปปี้เอ็นดิ้ง ในขณะที่ฉบับที่กรมศิลปากรชำระนั้น  เนื้อความยังค้างอยู่ ไม่จบ เพราะต้นฉบับที่ใช้ชำระมีอยู่เท่านั้น  ใครสนใจไปหาอ่านดูได้  (แปลกที่ไม่ยักกะมีคนทำวิจัยเกี่ยวกับเสภาขุนช้างขุนแผนตอนปลายนี้บ้าง  เห็นทำแต่ตอนที่หอพระสมุดชำระไว้เท่านั้น)

เรื่อง "พัง" ที่หมายถึงช้างตัวเมียนั้น  เคยค้นอยู่เหมือนกัน  แต่ยังจับที่มาไม่ได้ทั้งพลายและพัง  ถ้าคุณHotacunus สนใจ  ลองค้นดูในสาส์นสมเด็จหรือบันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ หรือยังครับ  หรือถ้าลองค้นดูแล้วแต่ยังไม่จุใจ  เดี๋ยวจะลองไปดูหนังสือเล่มอื่นๆ ดู เผื่อว่าจะมีเบาะแสมาแลกเปลี่ยนความเห็นกัน   ส่วนพจนานุกรมที่ผมเอามาอ้างอิงนั้น  ทราบมาว่าหายากอยู่  และเป็นพจนานุกรมเล่มสำคัญที่ผมใช้ค้นอยู่เป็นประจำ (ผมทำสำเนาทั้งเล่มไว้ใช้ส่วนตัว)  ต้องชื่นชมคนที่ทำว่าอุตสาหะมากทีเดียว



เข้าเรื่องประพลายจันทร์ต่อครับ

พระพิเรนทรเทพได้รับรับสั่งแล้วก็รีบจัดไพร่พลสี่กองให้ขุนรุดพาลงเรือม่วงเร่งออกไปสืบหาผู้ต้องหาและพ่อแม่ญาติพี่น้องพรรคพวกของผู้ต้องหาทันที  โดยให้พระพรรณสมบัตินำไป  เมื่อถึงบ้านขุนไชยยายตือพ่อแม่เณรคงขวาน  ยายตือหนีไปได้ จับได้แต่ขุนไชย  พวกไพร่พลอีกลำเรือหนึ่งไปที่บ้านขุนศรีเชียง  จับได้ทั้งขุนศรีเชียงและยายเอี้ยงพ่อแม่เณรอุ่นไฟ  จากนั้น ก็ไปจับตัวนายเสถียรกับยายเพียน พ่อแม่เณรพลายจันทร์  แล้วเรือทั้งสี่ลำก็พาพ่อแม่ของผู้ต้องหาทั้ง ๓ มาที่ทิมดาบ เพื่อพระพิเรนทรเทพสอบสวนเอาความจริง  พ่อแม่เหล่านั้นต่างกลัวมาก

พระพิเรทร์เทพให้ขุนรุดไต่สวนพ่อแม่ผู้ต้องหาให้ได้ความจริง ก็ได้ความว่า ขุนไชยเป็นพ่อเณรคงขวาน  ขุนศรีเชียงเป็นพ่อเณรอุ่นไฟ และนายเสถียรยายเพียนเป็นพ่อแม่เณณพลายจันทร์  เณรทั้งสามอยู่ที่วัดป่าเลไลยก์ ไม่ได้อยู่บ้านของตน คดีความที่เกิดขึ้นนั้น  บรรดาพ่อแม่ทั้งสามครอบครัวไม่ได้รู้เห็นด้วย   ขุนรุดก็ว่า ถ้าหากได้ตัวผู้ต้องหามาแล้วมันให้การว่า มันทั้งสามอาศัยอยู่บ้าน เป็นอันว่าคำให้การของพ่อแม่มันเป็นเท็จ  แล้วให้ทำใบทานบน(ทัณฑ์บน)คนละใบ  หากผิดจากความคำให้การไว้จะปรับตามที่ทำทานบน  ส่วนผู้ต้องหาคงจะหนีไปได้ไม่ไกล  เมื่อกลัวเข้าคงจะกลับมาที่บ้าน  เมื่อเสมียนจดคำให้การเสร็จก็ผูกเชือกและให้พ่อแม่ต่างหยิกเล็บเอาไว้เป็นสำคัญก่อนเก็บฉบับไว้  พร้อมทั้งเสมียนผู้คุมรุมขู่ว่า หากว่าสมุดคำให้การนี้ยับจะต้องลงโทษหลายประการ

ฝ่ายขุนแผลง(ขุนแผลงสะท้าน พระตำรวจ) ได้แจ้งว่า มีรับสั่งให้ตามจับตัวยายอ้นกับทองประศรีซึ่งเป็นต้นความมาสอบสวน  ก็ไปตามจับได้แต่ยายอ้นคนเดียวในเวลาจวนจะเย็นย่ำแล้ว  ก็รีบนำลงเรือมาที่หน้าทิมดาบ แล้วนำไปเรียนพระพิเรนทรเทพ พระพิเรนทรเทพชมขุนแผลงว่าทำงานได้รวดเร็วดี จึงสั่งให้รีบสอบสวนให้ได้ความโดยเร็ว

ฝ่ายทองประศรีวิ่งหนีไปพร้อมพวกบ่าวไพร่ นางทา นางนุ่ม นางตุ้ม ไปตามไร่ ข้ามสะพานจนไปถึงวัดแค  แล้วตรงไปที่กุฏิขรัวคง  ขรัวคงก็บอกทองประศรีว่า เห็นเณรเหลือมาบอกว่า  เรือมาจอดที่บ้านทองประศรีแออัด  เห็นพวกตำรวจมาคุมตัวยายอ้นไป  ทองประศรีก็ว่า เหตุวุ่นวายครั้งนี้ก็เพราะเณรพลายจันทร์ คงขวาน อุ่นไฟ ไปตีนายบัวหัวกระดูกตายที่หลังวัด  ตำรวจจึงมาตามจับตัวพ่อแม่ไปจำไว้ไม่ผลัดเปลี่ยนตัวเลย  ปลัดสนพ่อของทองประศรีไม่อยู่ เขาจับได้ยายอ้นไป  ส่วนทองประศรีหนีมาได้  ว่าแล้วก็ขรัวคงก็ห่มคลุมพาทองประศรีไปหาขรัวมั่นที่วัดป่าเลไลยก์ทันที  เมื่อถึงวัดป่าเลไลยก์  ขรัวมั่นเห็นขรัวคงพาทองประศรีมาก็รู้ว่าคงจะเกิดความขึ้นแล้วเป็นแน่  จึงได้จับยามสามตาดูก็รู้ว่าเป็นเช่นที่คิดไว้   แล้วก็ถามขรัวคงว่าที่มานี่มีธุระอันใด  ขรัวคงก็ว่า เจ้าเณรทั้งสามของท่านขรัวไปก่อก่อคดีให้พ่อแม่ต้องถูกเขามัดคุมตัวไว้อย่างกับลิงหมดแล้ว   เพราะด้วยเรื่องไปตีเขาตายที่หลังวัดแค   ตอนนี้ตำรวจเขามาไล่จับพ่อแม่ไปแล้ว  ส่วนทองประศรีนี่ก็หนีรอดมาได้

ขรัวมั่นได้ฟังดังนั้นก็เรียกเณรทั้งสามมาบอกว่า  เณรทั้งสามไปก่อเรื่องฉาวใหญ่  พ่อแม่ก็ถูกเขาจับไปแล้ว  ทองประศรีก็หนีมา  พวกเจ้าควรจะลาสึกไปทั้งสามคน   พ่อแม่จะได้พ้นโทษ  ส่วนพวกเจ้าทั้งสามเป็นคนมีวิชาคงกระพัน  ถึงจะต้องขื่อคาโซ่ตรวนก็ไม่เป็นไร  ทั้งเวทมนตร์ต่างๆ ก็ได้เรียนได้สอนสารพัด จะกลัวอะไร   พวกเจ้าจงพาทองประศรีไปด้วยเพื่อจะได้ป้องกันอันตรายจากพวกนักเลงหัวไม้ที่จะมารังแกนางระหว่างทาง  ว่าแล้วก็ทำพิธีสึกเณรทั้งสาม  แล้วทั้งสามคนก็พาทองประศรีลาขรัวทั้งสองไปยังพระนคร  เดินไปจนถึงทิมดาบ เห็นขื่อคามากมาย ทองประศรีกลัวตัวสั่น  ฝ่ายพ่อแม่ของเจ้าหนุ่มทั้งสามคนเห็นลูกชายมาก็ทั้งร้องไห้และบ่นด่าหาว่าพวกนี้ดีแต่หาเรื่องมาให้ด้วยความเป็นนักเลงแก้ไม่หาย แล้วก็บอกให้รีบให้การไปตามจริง ส่วนยายอ้นเห็นทองประศรีมาหาก็ดีใจกอดกันร้องไห้ร้องห่มทั้งแม่ลูก

เอาล่ะ  ลูกนักเลงตีเขาตาย  พ่อแม่และพระเจ้าก็พลอยเดือดร้อนไปหมด  การณ์ข้างหน้าทั้งสามจะเอาตัวรอดได้ไหม  โปรดติดตามครับ



บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 12 ต.ค. 09, 16:44

อ่านจบ  ระบายลมหายใจ   คอยมาสองวันครึ่ง


ขอบคุณ คุณหลวง ค่ะ   แหม!  น่าฟังเหลือเกิน
ถ้าคุณหลวงไม่มาเล่า ดิฉัน คงไม่ทราบเรื่องนี้อย่างแน่นอน


ขุนช้างขุนแผนภาคปลาย  ฉบับกรมศิลปากรตรวจสอบชำระใหม่  แพร่พิทยาพิมพ์ ๒๕๑๓   
จำได้ว่าซื้อที่งานหนังสือค่ะ


เรื่องจบค้างอยู่ตอนพลายบัวคิดแก้แค้นพลายเพชรที่ถูก สมภารลาว เสกรัตประคดเป็นงู  จับตัวไป  อิอิ


ฉบับความเก่านั้น  มีฉบับ อนุสรณ์ พระยาวิสิษฐบรรณกร(ชม  สุวรรณสุภา) ๒๔๗๓  ค่ะ


ทีนี้ดิฉันก็ต้องไปตามหาฉบับศิลปาบรรณาคาร อีกทีนี้


บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 12 ต.ค. 09, 23:22

ขรัวตาคงน่าจะมีตัวตนจริงแล้วนะคะ  เพราะเป็นอาจารย์มาตั้งสมัยขุนไกร


เป็นที่เคารพของขุนช้างและขุนแผน
อ่านแล้วก็ตีความสมัยรัตนโกสินทร์พอได้
เช่นเรื่องเรือนไทย  ต้นไม้ดัด   ปลาทอง  เครื่องกระเบื้อง  กระจกนางฝรั่งตาคม
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 13 ต.ค. 09, 08:22

ตามเรื่องประวัติพลายจันทร์กันต่อเลยครับ 

ครั้นพลายจันทร์ อุ่นไฟ คงขวาน มามอบตัวพร้อมด้วยทองประศรี  พระพิเรนทรเทพก็ให้ไต่สวนทันที  พระพิเรนทรเทพถามว่า  ตอนที่ให้คนไปตามตัวมาทำไมไม่เจอตัวหรือว่าหลบหนี  พวกเจ้าอญุ่กับบ้าน  พอไปก่อเรื่องขึ้นแล้วคงออกไปโกนหัวเข้าวัดใช่หรือไม่  ให้บอกมาตามจริง   คงขวานก็ให้การว่า  ความที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับพ่อแม่  เมื่อหลายปีก่อนจำวันเดือนปีไม่ได้  พ่อเราทั้งสามพาพวกเราไปให้ขรัวมั่นบวชให้เพื่อเล่าเรียน  ข้อนี้มีขรัวมั่นเป็นพยานได้  ไม่พูดเท็จแน่นอน   พระพิเรนทร์ได้ฟังก็สั่งให้เสมียนเอาคำให้การของพ่อแม่มาเทียบกับคำให้การของคงขวานว่าถูกต้องตรงกันหรือไม่  ก็ได้ความตรงตามที่คงขวานว่ามา  แล้ว....

พระพิเรนทร์สั่งผู้คุมแลเสมียน       ให้ถอดเสถียรพ่อแม่อ้ายจันหนู
ทั้งพ่อแม่อ้ายเหล่านั้นมันพวกกู      ทั้งสามคู่เรียกค่าฤชาเอา
ค่ารับสั่งทูลฉลองต้องเรียงตัว        ทั้งเมียทั้งผัวต้องให้เขา
ทั้งผูกคอมาค่าทุเลา                    รวมเข้าคนละชั่งยังไม่พอ
ทองประศรียายอ้นเป็นต้นเหตุ         บีบให้ถึงเสลดอย่าให้ขอ
อ้ายสามคนจำครบให้กบคอ           แล้วจะต่อข้อถามตามคดี

(ดูสิ  นึกว่าลูกชายมามอบตัวแล้วจะรอดตัว  ที่ไหนได้ พ่อแม่ต้องเสียเงินอีกอีกคนละกว่าชั่ง  นี่แหละโรงศาลสมัยก่อน  ทุกขั้นตอนเป็นเงินเป็นทองไปหมด  อันที่จริงถ้าอยากทราบเรื่องโรงศาลสมัยก่อนเพิ่มเติม  แนะนำให้ไปอ่านตอนขุนช้างขุนแผนเป็นความกันเรื่องแย่งนางวันทอง คนแต่งแต่งได้ละเอียดจนเห็นภาพโรงศาลกับการไต่สวนสมัยก่อนเก่าดีทีเดียว  และจะดีมากถ้าอ่านควบคู่กับกฎหมายตราสามดวงด้วย)

กล่าวถึงปลัดสน ผัวยายอ้น พ่อของทองประศรี  พอรู้ว่าเมียกับลูกสาวถูกเขาตามจับตัว  ก็รีบเข้าไปหาคุณท้าววรจันทร์ในวังทันที  ปลัดสนไปหาคุณท้าววรจันทร์ทำไม  นี่เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหาได้ในวรรณคดีไทยเรื่องไหนนอกจากเรื่องนี้  ปลัดสนไปบอกคุณท้าววรจันทร์  ว่า

ขอจงกราบทูลให้คิดไกล่เกลี่ย    ทั้งลูกทั้งเมียกระผมฉัน
ถ้าหลุดได้ไปข้างนอกออกได้นั้น   หลุดทั้งโทษทัณฑ์ไม่ติดไป
ทูลได้ดังนี้เป็นที่พึ่ง                  เงินตราหาบหนึ่งทูนหัวให้
เป็นความสัตย์ชัดจริงอย่ากริ่งใจ  ขอได้โปรดเถิดจะแทนคุณ

ครานั้นท่านท้าววรจันทร์          ว่าจริงจังอย่างนั้นหรือตาขุน
ข้าก็จะทูลความไปตามบุญ       เอาต้นทุนของแกออกนอกตะราง

ครั้นเวลากลางคืนก็ขึ้นเฝ้า       เป็นคราวทรงละครไม่ขัดขวาง(!!!!)
จึ่งถวายบังคมไม่ระคาง           พลางบังคมทูลพระทรงธรรม์

ท้าววรจันทร์กราบทูลว่า  ยายอ้นแม่ของทองประศรี  แกเป็นพี่สาวของกระหม่อมฉัน    แกไปเที่ยวดูงานวัดแคตอนกลางวัน  เห้นนักเลงวิวาทกันที่หลังวัด  ทองประศรีกับยายอ้นเล่าว่ามีพวกหนึ่งมาขวางทางพวกตนไว้ แล้วก็มาฉุดคร่าทองประศรีจะมัดตัว  พอดีมีพวกเณรวิ่งมาขวางพวกนักเลงนั้น  แล้วก็เกิดตีกันวุ่นวาย จนมีคนล้มเจ็บที่กลางทาง  ฝ่ายสองแม่ลูกก็พอหลุดออกมาได้ก็วิ่งหนี  อีกสองวันต่อมา กำนันก็มาเกาะตัวยายอ้นไปหาว่าเป็นต้นเหตุให้เกิดวิวาทตีกันจนมีคนตาย  ซึ่งพี่สาวของไม่ทราบด้วยเลยว่าใครเป็นคนตีคนที่ตาย  พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาได้ทรงฟังแล้วก็ตรัสว่า  เรื่องที่เกิดขึ้นมีเหตุจากผู้หญิง  ชายฝ่ายหนึ่งรักทองประศรี แต่นางไม่ชอบรีรออยู่  ก็ดันมีชายอีกคนเข้าชิงนางจนเกิดความทะเลาะกัน  อยางนี้ต้องไต่สวนดูเหตุการณ์ก่อน  แล้วจึงค่อยย้อนไปเอาคนต้นทั้งสาม  ว่าใครลงมือก่อน จนกระทั่งมีคนตายต่อมา  ว่าแล้วก็เสด็จออกท้องพระโรงว่าราชการ  ตรัสถามพระพิเรนทร์เรื่องสอบสวนความตีกันตาย

พระพิเรนทร์ก็กราบบังคมทูลรายงานผลการไต่สวนว่า  เดิมทียายอ้นกับทองประศรีไปดูละครที่วัดแค มีนายบัวคุมพวกนักเลงมาพบทั้งสองคนที่หลังวัด  นายบัวก็ให้พวกช่วยกันฉุดทองประศรี  ขณะนั้นมีเณรสามรูปเดินมาเห็นเหตุการณ์พอดี  ทองประศรีก็ร้องให้ช่วยด้วย  เณณทั้งสามก็เข้ามาสกัดขวางพวกนักเลงไว้  ส่วนทองประศรีกับยายอ้นก็วิ่งหนีกับพวกบ่าวแยกกันไปคนละทางสองทาง  แต่ก็เหลียวมาดูที่เกิดเหตุเห็นว่า  พวกเณรตีกับพวกนักเลงนั้น  ใครจะตีใครก่อนไม่ทราบแต่เห็นมีคนนอนกลิ้งอยู่  ทั้งสองแม่ลูกอารามตกใจก็รีบไปบ้านโดยเร็ว  สิ้นความที่เกิดขึ้นเท่านี้

พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาได้ทรงฟัง  เห็นว่าตรงตามที่ท้าววรจันทร์กราบบังคมทูลก่อนหน้านี้  ก็ตรัสว่า

ฝ่ายอีสองคนต้นความอิง   แต่ผู้หญิงโทษทัณฑ์มันไม่มี
อ้ายสามคนตีกันถึงบรรลัย  ก็มิใช่พวกพ้องอีทองประศรี
ทั้งอ้ายสนกับอีอ้นสองคนนี้   ลูกตามีผัวยายเพิ่มแต่เดิมมา
ส่วนอีทองประศรีกับอีอ้น     ทั้งสองคนก็ไม่อยู่ในฟ้องหา
ส่งมาข้างในให้สัญญา       ทานบนไปข้างหน้าถ้าใครซัด
แม้นอ้ายสามคนมันให้การ   ว่าลูกหลานอีอ้นเอาเป็นสัตย์
ถ้าจะถามความให้ถูกอย่าผูกมัด   อย่ารีบรัดผ่อนโรยเอาโดยนวล
แล้วหลอกหลอนล่อลวงดูท่วงที   ดูให้ดีเยื้องยักอย่าหักหวน
ถ้าไม่รับผูกถามตามกระบวน   รีบด่วนเอาความแต่ความจริง
จงกำชับอย่ารับสินบนเขา      มันจะเข้าท้ายรั้วกลัวผู้หญิง
ถ้าแม้นานกาลเนิ่นเกินประวิง   กูจะนิ่งปรับมึงกึ่งคนร้าย


เอาล่ะครับ  อย่างนี้สำนวนสมัยใหม่ว่า  มีงานเข้า แล้วพระพิเรนทรเทพ  เอาล่ะตามต่อตอนหน้าครับ
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 13 ต.ค. 09, 08:36

เสภาขุนช้างขุนแผนภาคปลาย นี่ เป็นเรื่องอย่างนิยายกำลังภายใน อาจจะลักษณะเหตุการณ์ความสมจริงน้อยกว่าเนื้อเรื่องตอนของหอพระสมุดฯ ชำระ  แต่ก็ขอตั้งข้อสังเกตว่า  ลักษณะที่เน้นอิทธิปาฏิหาริย์ของตัวละครในเรื่องขุนช้างขุนแผนนั้น เริ่มถี่มากขึ้นในตอนท้ายของฉบับหอพระสมุดฯ เข้าใจว่าน่าจะเป็นอิทธิพลของเนื้อเรื่องนิทานจักรๆวงศ์ๆ  แต่ก็อ่านสนุกดีเหมือน  เพียงแต่ด้อยความไพเราะและมีรายละเอียดเกี่ยวกับวัฒนธรรมอาจจะไม่เข้มข้นเท่ากับตอนที่หอพระสมุดฯ ชำระ

คุณเทาชมพูครับ  เมื่อไรจะเริ่มชาติพันธุ์ "ลาว" ในเสภาขุนช้างขุนแผนต่อครับ   กำลังรออ่านด้วยใจจดจ่ออยู่ครับ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 13 ต.ค. 09, 09:47

ขุนช้างขุนแผนฉบับหอ ฯ  ตอนกำเนิดพลายงาม

     ครานั้นสมเด็จพระพันวษา                         เหลือบเห็นหน้าพลายงามความสงสาร
จะออกโอษฐ์โปรดขุนแผนแสนสะท้าน                 แต่กรรมนั้นบรรดาลดลพระทัย
ให้เคลิ้มพระองค์ทรงกลอนละครนอก                  นึกไม่ออกเวียนวงให้หลงไหล
ลืมประภาษราชกิจที่คิดไว้                              กลับเข้าในแท่นที่ศรีไสยา ฯ

อ่านที่ท่านผู้ใหญ่เขียนไว้ว่าเป็นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย




สำนวนครูแจ้ง  ตอนพระไวยแต่งงาน
สมเด็จพระพันวษา ให้ เจ้าขรัวยายไปส่งนางสร้อยฟ้าถึงบ้าน
เจ้าขรัวยายนี้คือมารดาของเจ้าจอมผู้มีพระองค์เจ้า  ไม่ใช่ข้าราชสำนักฝ่ายในธรรมดา

กลอนตอนต่อมาไม่ได้เรียกขรัวยาย   เรียกว่า หลวงแม่เจ้าเฒ่าแก่

หลวงแม่เจ้าเฒ่าแก่ประโลมเล้า                      นี่จะเฝ้าร้องไห้ไปถึงไหน
อยู่ในวังนั่งเปล่าเอาอะไร                             ออกไปได้เป็นท่านผู้หญิงอย่าทิ้งกัน ฯ


พระไวยต้อนรับกระบวนที่มาส่งนางสร้อยฟ้าด้วยเชิญเข้าไปนั่ง หาสำรับมาเลี้ยงดู
คุณเฒ่าแก่อวยพรว่า

ต่างให้พรสอนสั่งช่างพูดจา                            ฝากสร้อยฟ้าด้วยพระนายไวย
แม้นผิดพลั้งสั่งสอนละอ่อนบ้าง                        อย่าทิ้งขว้างร้างอย่าอาฌาศัย



พระไวยปากหวาน(สงสัยเป็นทั้งตระกูล)

แล้วพูดเย้าว่าคุณท้าวมีลูกมาก                        ถึงจะเอามาฝากอีกก็ได้ไม่ให้หาย
ท่านท้าวนางแสนงอนค่อนพระนาย                   เบื่อจะตายเสียแล้วพ่อหัวร่องัน


ของชำร่วยสำหรับคุณท้าวมี
แพรฝรั่งอย่างดีล้วนจัดสรร
ขันถมล้างหน้า
เงิน ๕​ ตำลึง (สงสัยจะเป็นเหรียญบาท  ๒๐ เหรียญห่อผ้าใส่ขันได้พอดี)
แพรขาว
หมอนลาวลูกใหญ่

ท้าวข้างในให้พรชมหมอนอึง                          ธุระอะไรบอกให้ถึงข้าท้าวนาง

คุณท้าวรับราชการมานาน  ย่อมเปี่ยมมารยาทของการพูดจากับคนทุกชั้น
อิอิ....ชมหมอนลาว
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 13 ต.ค. 09, 10:03

กฎหมายตราสามดวงเรื่อง พิสูจน์ด้วยวิธี ดำน้ำ หรือลุยเพลิง
เสภา ขุนช้างขุนแผนฉบับหอ ฯ  ได้อธิบายวิธี ดำน้ำไว้ละเอียด
แต่วิธีลุยเพลิงไม่ละเอียดเท่า

รางเพลิงนั้นยาวหกศอก  กว้าง ๑ ศอกลึกหนึ่งศอก

แนะนำให้เพื่อนๆอ่าน หนังสือชุดภาษาไทยของคุรุสภา กฎหมายตราสามดวง ไปด้วย
ฉบับที่ใช้อยู่ พิมพ์ ๒๕๓๗   ราคาเล่มละ ๑๘๐ บาท  ทั้งชุดมี ๕ เล่ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 13 ต.ค. 09, 17:09

ตามมาเป็นแม่ยกของพ่อพลายจันทร์ด้วยความเพลิดเพลินเจริญใจ
ขอขอบคุณคุณหลวงเล็ก  ที่สละแรงกาย แรงใจและเวลา มาเล่าเป็นวิทยาทาน
ขอบคุณคุณ wandee ที่มาเพิ่มพูนความรู้จากหนังสือเก่าหายาก อย่างสม่ำเสมอ
และขอบคุณท่านอื่นๆที่มาร่วมวง ให้ความรู้ในเรื่องนี้
กระทู้นี้จะเป็นของมีค่า  หาอ่านได้ยาก ต่อไปอีกนานตราบเท่าเรือนไทยยังอยู่ค่ะ

ด้วยความเคารพในเรื่องที่กำลังเล่าอยู่      ดิฉันจะไม่ต่อเรื่องของลาวในกระทู้นี้  แต่จะแยกออกไปต่างหากอีกกระทู้หนึ่ง
เพื่อไม่ให้เสียจังหวะเรื่องขุนช้างขุนแผน
ขอเชิญแวะไปต่อเรื่องลาวในกระทู้ใหม่ค่ะ
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2951.msg55617;topicseen#msg55617
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 13 ต.ค. 09, 17:59

คุณหลวงคะ

เรียนถามนิดหนึ่งค่ะ  และขอความดิดด้วย


ทราบชื่อแม่ของศรพระยากับราดถะยาไหมคะ
คิดว่าคงเป็นนางเล็กๆของขุนศรีวิชัย


มีท่านผู้ใหญ่เคยเขียนไว้ว่า ศรพระยาเป็น้องของขุนช้าง


ดิฉันว่าศรพระยาทำตัวต่ำกว่าขุนช้างมาก  คือขับช้างให้
ไม่มีสิทธิมีเสียงในบ้านเลย


ในเสภาสำนวนเก่าสำนวนที่สองบอกละเอียดว่า

ประเดี๋ยวหนึ่งถึงเรือนศรพระยา                    เคหาใหญ่อยู่ประตูกลาง
นอนหลับด้วยกันกับภรรยา                        กลับหัวลงมาอยู่ข้างล่าง
เอาก้นเมียต่างหมอนแล้วนอนคราง               ดูกับขุนช้างก็คล้ายกัน



ราดถะยานี่แทบไม่ปรากฎที่ไหนเลย
น่าเสียดายมากนะคะ

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 14 ต.ค. 09, 18:28

มีอะไรสนุกหลายอย่างในกลอนที่คุณหลวงเล็กยกมา

ขอจงกราบทูลให้คิดไกล่เกลี่ย    ทั้งลูกทั้งเมียกระผมฉัน
ถ้าหลุดได้ไปข้างนอกออกได้นั้น   หลุดทั้งโทษทัณฑ์ไม่ติดไป
ทูลได้ดังนี้เป็นที่พึ่ง                  เงินตราหาบหนึ่งทูนหัวให้
เป็นความสัตย์ชัดจริงอย่ากริ่งใจ  ขอได้โปรดเถิดจะแทนคุณ

ครานั้นท่านท้าววรจันทร์          ว่าจริงจังอย่างนั้นหรือตาขุน
ข้าก็จะทูลความไปตามบุญ       เอาต้นทุนของแกออกนอกตะราง

ครั้นเวลากลางคืนก็ขึ้นเฝ้า       เป็นคราวทรงละครไม่ขัดขวาง(!!!!)
จึ่งถวายบังคมไม่ระคาง           พลางบังคมทูลพระทรงธรรม์

ตัวอักษรแดงในที่นี้ แสดงว่าการวิ่งเต้นให้ "สินน้ำใจ" หรือ "ใต้โต๊ะ" หรือจะเรียกว่าอะไรก็ตาม   อยู่ในวัฒนธรรมไทย เป็นของธรรมดาเสียแล้วละมั้ง
คุณท้าวผู้สูงศักดิ์จึงไม่เห็นเป็นเรื่องแปลก   หมูไปไก่ก็มา     ไหนๆมาขอความช่วยเหลือ จะมามือเปล่าอย่างไรได้

ส่วนพระพันวษาในตอนนี้  น่าจะเป็นรัชกาลที่ ๒ มากกว่ารัชกาลที่ ๑  รู้สึกอย่างนั้นนะคะ

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 72  เมื่อ 14 ต.ค. 09, 18:57

สงสัยที่ว่า ขรัวยาย หลวงแม่เจ้าเฒ่าแก่   เป็นคำเรียกผู้หญิงคนเดียวกัน
ขรัวยาย คือคำเรียกแม่ของเจ้าจอมมารดา มีหลานยายเป็นพระองค์เจ้า     หลวงแม่เจ้าเป็นคำเรียกหัวหน้าโขลนในเขตพระราชฐานชั้นใน   
คุณเฒ่าแก่  (บางครั้งสะกดว่าเถ้าแก่) เป็นตำแหน่งพนักงานในพระราชฐานชั้นใน

คนที่ลูกสาวมีบุญวาสนาเป็นเจ้าจอมมารดา   ยังทำงานเป็นหัวหน้าโขลนด้วยหรือคะ   ส่วนใหญ่ แม่ของเจ้าจอม หรือเจ้าจอมมารดา เป็นสตรีมีสกุล ภรรยาขุนนางกันทั้งนั้น
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 73  เมื่อ 15 ต.ค. 09, 09:00

ขอบคุณคุณเทาชมพูที่สนใจเรื่องประวัติพลายจันทร์ ที่ผมสรรมาเล่า  และรู้สึกยินดีมากที่ได้ทราบว่า มีหลายคนสนใจแม้จะไม่ได้มาแสดงความเห็นผ่านกระทู้นี้  สังเกตจากจำนวนครั้งที่มีคนเข้ามาอ่านกระทู้นี้เพิ่มขึ้น
คำถามของคุณเทาชมพูเรื่องเกี่ยวกับข้าราชการฝ่ายใน  ขออนุญาตไปค้นก่อน  เท่าที่ตอบได้ตอนนี้  ตำแหน่งฝ่ายในคงไม่มีระเบียบตายตัว  ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม  ขนาดเจ้าจอมหรือเจ้าจอมมารดาในรัชกาลก่อน เมื่อสิ้นรัชกาลนั้นแล้วหากยังรับราชการอยู่ก็อาจจะได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นคุณท้าวนางในหรือหัวหน้าโขลนได้  ส่วนที่ว่าขรัวยายนั้น  เข้าใจว่า  เมื่อตอนมีครอบครัวก็กราบบังคมทูลลาไปเป็นข้าหลวงเรือนนอกอยู่กินกับสามี  พอสามีตาย ก็อาจจะได้กลับเข้ามารับราชการฝ่ายในอีกก็ได้  อันนี้สันนิษฐานนะครับ.

ส่วนที่คุณเทาชมพูเห็นว่าเป็นของสนุกนั้น  นั่นเป็นสิ่งที่ผมต้องการให้คนที่ได้อ่านสนใจโดยตรง และอยากได้ความคิดเห็นของคนอื่นๆ มาประกอบด้วย  อนึ่ง ที่ว่า "ส่วนพระพันวษาในตอนนี้  น่าจะเป็นรัชกาลที่ ๒ มากกว่ารัชกาลที่ ๑" ก็น่าจะเป็นเช่นนั้น  ถ้าจะให้ดี ควรดูในพระราชกิจจานุกิจของรัชกาลที่ ๑ และ ๒  ด้วย

ส่วนคำถามของคุณWandee เรื่องชื่อแม่ของศรพระยากับราดถะยา  ที่ว่าเป็นน้องของขุนช้าง  ก็น่าจะเป็นนางเทพทอง  ส่วนว่าจะเป็นคนอื่นๆ ที่เป็นนางเล็กๆ ของขุนศรีวิชัย  อันนี้ยังไม่พบข้อมูลครับ  จริงตัวละครศรพระยากับราดถะยา มีบทบาทเล็กน้อยเท่านั้น การจะตามหาข้อมูลคงจะไม่ใช่เรื่องง่าย  อันที่จริงถึงเราไม่ทราบที่มาของตัวละครนี้อย่างลึกซึ้ง ก็คงไม่น่ามีปัญหาในการอ่านทำความเข้าใจเนื้อเรื่องของเสภาขุนช้างขุนแผนหรอกครับ คุณ Wandee

หลายคนคงเคยอ่านเรื่องขุนช้างขุนแผนแต่ในรูปแบบกลอนเสภาหรือกลอนบทละครเท่านั้น  อันที่จริงมีเรื่องขุนช้างขุนแผนในเวอร์ชั่นกลอนแหล่ด้วย แต่เป็นบางตอนของเรื่องขุนช้างขุนแผน  สนุกดีเหมือน  ว่างๆ หลังจากเล่าประวัติพลายจันทร์แล้ว จะเอามานำเสนอให้อ่านกัน รับรองว่า อ่านมันพอๆกับเสภาทีเดียว
บันทึกการเข้า
manit peuksakondh
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 74  เมื่อ 15 ต.ค. 09, 12:29

อ่านที่ท่านเขียนนี่เหมือนอ่าน Reader's Digest ได้เนื้อความที่ค่อนข้างลึกซึ้งกว่าอ่านเอง อย่างครบถ้วน โดยไม่ต้องเสียเวลามาก ผมต่อต้านการหมูไป ไก่มา แต่เห็นถ้าจะไม่ไหว กระมังครับ เพราะ"คราบฝังลึก" ขอบพระคุณครับ
มานิต
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 11
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.096 วินาที กับ 19 คำสั่ง