เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 11
  พิมพ์  
อ่าน: 35132 ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 07 ต.ค. 09, 16:28

เล่าประวัติพลายจันทร์ หรือ ขุนไกรพลพ่าย พ่อของพลายแก้ว

เกริ่น...ที่มาของเรื่องประวัติพลายจันทร์ ที่จะเล่าไปนี้ มาจากเนื้อความเสภาในหนังสือ "เทศะแพทย์คำฉันท์ของนายนราภิบาล และเสภาเรื่องพระยากงพระยาพาน" พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพนายนราภิบาล(ศิลป์ เทศะแพทย์) ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม ๑๗ ธันวาคม ๒๕๐๑

เสภาที่ว่าประวัติพลายจันทร์นี้เป็นเสภาที่เขียนต่อเนื่องจากเสภาพระยากงพระยาพานอยู่ในสมุดไทยดำเล่มเดียวกัน สมุดเล่มนี้เป็นของนายนราภิบาล เข้าใจว่าเป็นของตกทอดของตระกูลท่าน  ในปี ๒๔๖๗ นายนราภิบาลได้คัดลอกเสภาจากสมุดเล่มดังกล่าว แล้วให้เจ้าของโรงพิมพ์อักษรศรีสมิต นำไปลงพิมพ์ในหนังสือไทยเขษม แล้วต่อมาได้ขอให้ปรับเป็นขนาดหน้ากระดาษเป็น ๑๖ หน้ายก พิมพ์เป็นหนังสือจำนวน ๕๐ เล่มเท่านั้น ในหนังสือนั้น นายนราภิบาลได้เขียนคำนำว่า สมุดไทยเล่มนี้ เป็นหนังสือที่ไม่ทราบชื่อผู้แต่งและระยะเวลาแต่งที่แน่นนอน พิจารณาจากลักษณะตัวอักษรที่เขียนในสมุดนั้น คงเป็นอักษรแบบที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ ๑

เสภาเรื่องประวัติพลายจันทร์ เขียนต่อเนื่องกับเสภาเรื่องพระยากงพระยาพาน หากอ่านผ่านๆ อาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องเดียวกัน  แต่ที่จริงเป็นเสภาคนละเรื่องที่ไม่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวเนื่องกัน เป็นแต่คนคัดลอกนำมาเขียนได้ในสมุดเล่มเดียวกันเท่านั้นเอง. ส่วนอายุการแต่งเสภาประวัติพลายจันทร์ คงตกราวๆ รัชกาลที่ ๑-๓ แต่คงไม่น่าจะเกินรัชกาลที่ ๔ เพราะอายุของเสภาพระยากงพระยาพาน เท่าที่มีผู้สันนิษฐานอายุเอาไว้ตกราวรัชกาลที่ ๑ จึงคาดว่าน่าจะแต่งในสมัยเดียวกัน หรือห่างกันไม่มากนัก

เสภาเรื่องประวัติพลายจันทร์ มีเนื้อเรื่องดังนี้

กล่าถึงครอบครัวเศรษฐี ๓ ครอบครัว คือ
ครอบครัวขุนไชยกับยายตือ มีลูกชื่อเจ้าคงขวาน อยู่บ้านวัดป่าเลไลยก์
ครอบครัวนายเสถียรกับยายเพียน มีลูกชื่อพลายจันทร์ อยู่บ้านเขาชนไก่
ครอบครัวขุนศรีเชียงกับบายเอี้ยง มีลูกชื่ออุ่นไฟ อยู่บ้านริมวัดตะไกร
ทั้งสามครอบครัวนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป  โปรดติดตาม
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 07 ต.ค. 09, 17:40

สาธุ

สมความคิดแล้ว
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 08 ต.ค. 09, 08:53

เล่าเรื่องสภาประวัติพลายจันทร์ (ต่อ)

พ่อแม่ทั้ง ๓ ครอบครัว ต่างดำริตรงกันว่า ตนเองมีลูกชายคนเดียวและโตพอที่จะพาไปบวชเรียนวิชาที่วัดได้แล้ว  ดังนั้น  เศรษฐีผู้พ่อทั้งสามกับลูกชายต่างพากันเดินทางไปวัด (ในเรื่องไม่ได้บอกว่าชื่อวัดอะไร) แล้วก็บังเอิญมาพบกันระหว่างทางและทราบว่าจะพาลูกชายไปวัดเหมือนกัน  จากนั้นก็เดินทางไปที่วัดร่วมกัน

ทีนี้ ขอเน้นรายละเอียดของพลายจันทร์อีกนิดว่า  พลายจันทร์ ตอนนั้นอายุได้ ๑๔ ปี ๔ เดือน ชอบคบค้ากับพวกเพื่อนเกเรเป็นอันธพาลระรานคนอื่น พ่อแม่นั้นเหลือทน เพราะตักเตือนสั่งสอนลูกชายเท่าไร ก็ไม่เชื่อฟัง จึงต้องพาไปไว้วัด

เมื่อพ่อลูกทั้ง ๓ คู่ เดินทางมาถึงวัดก็ตรงไปที่กุฏิสมภารมั่น  กราบนมัสการแล้วก็บอกธุระตนว่าจะขอเอาลูกชายมาฝากเรียนกับสมภาร   เพราะลูกชายไปคบเพื่อนไม่ดีเป็นนักเลง  กลัวจะเสียคนก่อนเป็นผู้ใหญ่  ขอให้สมภารได้กรุณาอบรมสั่งสอนดัดนิสัยให้ด้วย และให้ลงโทษเฆี่ยนตีได้ตามแต่จะเห็นสมควร ฝ่ายสมภารเห็นเด็กหนุ่ม ๓ คนที่มา ก็นึกถึงความฝันเมื่อคืนก่อน ในฝันนั้นว่า ท่านเห็นลูกหงส์ ๓ ตัววิ่งหนีสัตว์ร้ายมาจากป่าดงเข้ายังกุฏิท่านสมภาร แล้วก็กลายเป็นห่านตัวใหญ่งามหนักหนา ส่งเสียงร้องก้องไปทั้งวัด ก็เห็นว่าความฝันนั้นเป็นบุพนิมิตบอกว่า จะได้เด็กชายทั้ง ๓ มาเป็นศิษย์  แต่ฤกษ์ยามที่ฝัน เป็นวันเสาร์ยามสาม บ่งบอกว่า เด็กชายทั้ง ๓ จะเป็นนักเลงเกเรและเจ้าชู้มาก  ว่าแล้วก็ดูดวงชะตาให้เด็กทั้ง ๓ คน เห็นว่า พลายจันทร์ต่อไปจะได้เป็นทหาร มีนิสัยกล้าหาญอดทน ไม่กลัวใคร ส่วนอีกสองคนก็สามารถจะสืบตระกูลต่อไปได้  ท่านจึงรับเป็นศิษย์  ฝ่ายบรรดาพ่อทั้ง ๓ สิ้นธุระแล้วก็ลาสมภารมั่นกลับบ้านไป

กล่าวถึงเณรในวัดของสมภารมั่น ๒ รูป คือ เณรนน ต้นกุฏิท่านสมภาร ๑ กับเณรมี ซึ่งกำลังสวดมนต์อยู่บนหอฉันนั้น  เณรนนแลเห็นรูปร่างหน้าตาของพลายจันทร์นั้นสวยสมคมสันอย่างผู้หญิง ก็คิดในใจว่า  จะเกี้ยวเอาพลายจันทร์เป็นลูกสวาทของตนเสียก่อนที่เณรมีจะชิงเกี้ยว เพราะรู้ว่าเณรมีเคยเป็นนักเลงมาก่อน  ว่าแล้วเณรนนก็...

พิศพลางย่างเหย่าเข้าในห้อง            ร้องพ่อนั่นจันหนูจ๋า
มาพูดเล่นเปนไรไฉนนา                   เภสัชเพลาก็มีกิน
เสียแรงเรียกน้อยหรือดื้อเสียได้          ชะใจพ่อหนูจันไม่ผันผิน
ฉันนี้รักนักหนาเท่าฟ้าดิน                  จนสุดสิ้นชีวิตไม่คิดคลาย

ฝ่ายพลายจันทร์ (หมายเหตุ ในเรื่องเขียนชื่อพลายจันทร์ เป็น จันทร์ บ้าง  จัน บ้าง ฉะนั้นจะพิมพ์กลอนตามฉบับ ส่วนในเรื่องเล่าจะใช้จันทร์เพียงอย่างเดียว) ได้ยินเณรนนเกี้ยว ก็ดำริว่า...เอออ้ายเถรนี้นั้นมามั่นหมาย    สำคัญกูรู้ไม่เท่าเราก็ชาย   คงอุบายตีหัวให้เห็นมือ... ว่าแล้วก็เหลียวมาพูดกระซิบกับเจ้าอุ่นไฟว่า...กูตีเณรนี้ไม่ได้อย่านับถือ  มาเกี้ยวเป็นน้องจะต้องลือ   คงจะอื้ออึงดังเสียทั้งวัด... ว่าแล้วพลายจันทร์ก็รีบเดินไปหาเณรนนที่กำลังค้นเภสัชอยู่  แล้วก็ว่า ตนได้ยินพี่เณรเรียกก็รีบมาทันที เพราะอยากจะได้ปลากัดไว้เล่นสักตัว.

เณรนนได้ยินดังนั้นก็ว่า ...อ้อพ่อทูลหัว    ปลากัดหรือไก่อย่าได้กลัว   พี่เที่ยวทั่วมีถมคงสมใจ    ถ้ารักกันหมั่นหามาให้เล่น  ทำไมจะเห็นว่ารักอย่าผลักไส... แล้วก็คว้าจับมือพลายจันทร์ทันที  พลายจันทร์ก็คว้าไม้ตีหัวเณรนนทันทีเหมือนกัน  เณรนนหัวแตกวิ่งหนีออกจากห้องไป  พลายจันทร์จึงว่ากับเจ้าคงขวาน "ที่กูจงใจไว้นั้นได้การ"

ฝ่ายเณรนนเสียทีแก่พลายจันทร์เช่นนั้นก็อับอายมาก  พอตกค่ำวันนั้น เณรนนครองผ้าไปหาท่านสมภารมั่นเพื่อ
ขอลาสิกขา โดยอ้างว่า  เพราะคิดถึงโยมที่แก่ชราหลงใหล ยากจนขัดสน ไม่มีใครไปเลี้ยงดูท่าน สมภารมั่นได้ฟังก็อนุญาตให้ลาสึก แล้วมอบผ้าขาวเมื่อคราวทำเมรุ (หมายถึงเมรุที่ใช้ผ้าขาวทำ เมื่อเสร็จการศพก็ถวายเป็นทานแก่พระ หรือไม่ก็เป็นผ้าขาวที่ไว้ทอดถวายพระเมื่อทำบังสุกุลหน้าศพก่อนจะทำการฌาปนกิจ) แล้วเณรนนก็ผลัดผ้าเหลืองลาสึก  แล้วก็ลาลงบันไดไปด้วยอาการ "ยิ่งเสียใจนักหนาน้ำตาริน"

ฝ่ายสมภารมั่น เมื่อเณรนนลาสึกไปก็คิดได้ว่า เด็กหนุ่มทั้งที่มาใหม่นี่ จะเป็นเครื่องล่อใจสาวๆ ให้เกิดเรื่องไม่ดีได้  จำจะบวชเป็นเณรเสียทั้ง ๓ คน เมื่อบวชแล้วท่านก็มอบเครื่องบริขารให้เณรทั้งสามไปออกบิณฑบาตที่ตลาด

เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อ  เชิญติดตามต่อไป



บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 08 ต.ค. 09, 10:23

ด้วยความเคารพ  ขออนุญาตแสดงความคิดเห็น   ถ้าเป็นการขัดจังหวะขออภัยด้วยค่ะ


ชีวิตน้อยๆของนักอ่านเมื่อมาพบ ที่มา ของพลายจันทร์  เรียนคุณหลวงเล็กว่า  สุขใจอย่างยิ่ง
พระเดชพระคุณในครั้งนี้ก็จะนำไปเล่าต่อในชมรมนักอ่านโดยถี่ถ้วน

ไทยเขษมนั้นเคยเห็นอยู่แว่บๆ  ได้อ่านสักสองเล่มกระมัง



นิตยสารปี ๒๔๖๗ นั้น  หาอ่านยากกว่าพิมพ์เป็นเล่มมาก เพราะการเก็บรักษาพ่ายแพ้ต่อธรรมชาติ
พอ ๆ กับสมัยสงครามที่หนังสือจำนวนไม่น้อยสูญไป  นักอ่านรุ่นหลังแทบไม่เคยเห็น บางทีชื่อเรื่องก็ไม่เคยได้ยิน

หนังสือนวนิยายเล่มเล็กๆในปี ๒๔๖๗ นั้น  มีอ่านกันบ้างในวง
ท่านผู้หลักผู้ใหญ่โดยส่วนมากก็คุยกันเรื่องนวนิยายปี ๒๔๘๐  และ รุ่นสงคราม
มีแต่ผู้ที่สนใจประวัติการพิมพ์ เช่น บรรณาธิการและเจ้าของสำนักพิมพ์บางรายที่สนใจหนังสือรุ่น ๒๔๖๐ ก็ตามเก็บกันด้วยฉันทะ


อย่างไรก็ตาม หนังสือที่พิมพ์เพียง ๕๐ เล่ม  ก็จัดอยู่ในหนังสือเก่าระดับหนึ่ง  ทั้งเป็นเรื่องที่คนรู้จักด้วย  จะขอเรียกตามเซียนท่านหนึ่งว่าระดับ AA

ได้รับฟังมาจากผู้ชำนาญการ  (เมื่อมีการเปรียบเทียบว่านักสะสมมท่านใดมีหนังสือสำคัญอะไรกันบ้าง)  ว่า
ภายในเวลา ๑๐๐ ปีนี้  หนังสือที่พิมพ์ถึง ๑๐๐ เล่ม   ต้องหาให้พบ

ผู้มาทีหลังอย่างดิฉันก็เลิกคิ้วในหัวใจ(ใบหน้าไม่เปลี่ยนสี) ว่า โม้กระมัง 
พิมพ์ร้อยเล่มหรือ


การได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับคุณหลวงเล็กเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
บันทึกการเข้า
manit peuksakondh
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 08 ต.ค. 09, 13:16

อยากเรียนรบกวนว่า ถ้าเรื่อง "มอญ" จบ เรื่อง "ลาว" จบ ขอความกรุณาเป็นเรื่อง "จ้วง" ได้ไหมครับ อ่านในกระทู้ของvcharkarn ที่ท่าน ดร.ฯ ท่านเล่าและตอบที่ผมถามแล้ว ยังไม่ถึงใจครับ กำลังหาเว็บอ่านอยู่ครับผม
มานิต
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 08 ต.ค. 09, 13:24

ในขุนช้างขุนแผน  ไม่มีชาวจ้วงค่ะ
ถ้าคุณมานิต สนใจเรื่องนี้ ก็ตั้งกระทู้ใหม่  อาจจะมีคนมาช่วยตอบข้อข้องใจได้
หรือไปดึงกระทู้เก่าที่เล่าเรื่องนี้ขึ้นมาอีกครั้ง

ดิฉันไม่มีความรู้เรื่องชาวจ้วง  นอกจากรู้ว่าเขามีศัพท์ดั้งเดิม   ตรงกับภาษาไทยกลางอยู่หลายคำ
บันทึกการเข้า
manit peuksakondh
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 08 ต.ค. 09, 13:27

ขอบพระคุณครับ
มานิต
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 08 ต.ค. 09, 15:01

ส่วนตัวมีไทยเขษมอยู่เล่มหนึ่ง  แต่เป็นช่วงปลายๆ ของหนังสือเล่มนี้แล้ว กระนั้นก็ยังรู้สึกว่าอ่านแล้วได้ประโยชน์มาก เพราะได้ลงเรื่องต่างๆ ที่น่าสนใจ  ที่มีอยู่ก็เป็นความบังเอิญไปพบจึงซื้อมา  ไม่ได้ขวนขวายสะสม  เพราะเป็นคนมีทรัพย์น้อย ส่วนเสภาพระยากงพระยาพานฉบับ ๒๔๖๗ ที่นายนราภิบาลพิมพ์เพียง ๕๐ เล่มนั้น ไม่มีหรอกครับ หายาก เข้าใจว่า นายนราภิบาลให้โรงพิมพ์พิมพ์เพื่อสืบอายุเอกสาร  ไม่ได้ตั้งใจที่จะเผยแพร่กว้างขวาง  และถึงจะเผยแพร่ก็คงเฉพาะคนที่รู้จักชอบพอกับนายนราภิบาลเท่านั้น  ที่นำเรื่องมาเล่าได้ก็เพราะเอามาจากหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพนายนราภิบาล ปี ๒๕๐๑ ที่ทายาทของท่านได้เอาเสภาที่เคยพิมพ์ครั้งนั้นมาพิมพ์ใหม่ 

ขอเล่าเรื่องพลายจันทร์ต่อครับ

หลังจากเล่าเรื่องลูกชายเศรษฐีทั้ง ๓ คือ พลายจันทร์ อุ่นไฟ คงขวาน ถูกสมภารมั่นจับบวชเณรเรียบร้อยแล้ว  ขออนุญาตพักเรื่องไว้ก่อน.

กล่าวถึงปลัดสน มีเมียชื่อยายอ้น อยู่บ้านเขาชนไก่ เมืองกาญจน์บุรี  ต่อมา ทั้งสองผัวเมียได้ย้ายบ้านมาอยู่แขวงเมืองสุพรรณบุรี จนกระทั่งมีลูกสาวด้วยกัน ๑ คน ชื่อ  ทองประศรี รูปร่างงาม นอกจากนี้แล้วยัง...

จะขายค้านาไร่ได้ทุกสิ่ง         แต่ผู้หญองเหมือนกันแล้วสั่นหัว
ทั้งปากเปราะเราะรายผู้ชายกลัว    ลือทั่วทั้วบ้านสะท้านดัง...

ถึงสาวทองประศรีจะมีนิสัยเช่นนี้ ก็ยังเป็นหมายปองของนายบัวหัวกระดูก  ลูกชายพระพรรณสมบัติ(สัง) นายบัวคนนี้เที่ยวคบเพื่อนอันธพาล  ไม่ได้ตั้งตนเป็นผู้ดีให้สมฐานะ  กินเหล้าเมายาฝิ่นทุกเช้าเย็น  นายบัวแอบหลงรักสาวทองประศรีจึงร้องขอให้พ่อแม่ไปสู่ขอทองประศรี  ฝ่ายปลัดสนพ่อของทองประศรีไม่รู้ที่จะทัดทานอย่างไรเพราะเกรงใจพระพรรณสมบัติ  จึงได้พูดรั้งรอการหมั้นไว้ก่อนจนเวลาผ่านมาช้านาน  กระทั่งเกิดเหตุความผู้ร้ายขโมยควายขึ้น  จับผู้ร้ายได้  ผู้ร้ายให้การซัดทอดถึงนายบัวหัวกระดูกด้วย  โชคดีว่าได้พวกเพื่อนนายบัวช่วยรับเป็นพยานยืนยันความบริสุทธิ์ให้นายบัว   รอดเคราะห์คดีความขโมยควายมาได้หลายครั้ง  แต่เพราะคบเพื่อนไม่ดี  จึงต้องเสียเงินทองกับคดีความมากมาย  นายบัวเองก็ไม่เข้ดหลาบยังคงคบเพื่อนไม่ดีอยู่เช่นนั้น และทำตัวเสเพล ถึงขนาดคนแต่งยังว่า "สูบฝิ่นกินเหล้าทั้งเช้าเย็น   ไม่วายเว้นเป็นเหี้ยเสียเงินทอง"

ปลัดสนปรึกษากับยายอ้นเมียว่า ถ้าหากให้ทองประศรีได้กับนายบัวลูกพระพรรณสมบัติ  เห็นท่าจะแย่แน่ เพราะนายบัวเป็นนักเลงเกเรระราน  ปลัดสนจึงได้แชเชือนเรื่องที่เขามาสู่ขอทองประศรีเรื่อยมา  ถึงฝ่ายพระพรรณสมบัติพ่อนายบัวจะพูดเอาแต่ดีลูกชายมากล่าวอย่างไร ปลัดสนก็ไม่หลงคารมด้วย เพราะรู้ว่าหากตกลงอะไรลงไปแล้วจะพลอยย่อยยับเสียการ   ว่าแล้วก็ตะโกนสั่งให้ทาสสาวในเรือนตระเตรียมอาหารข้าวของสำหรับทองประศรีทำบุญใส่บาตรที่หน้าบ้านเนื่องในงานสงกรานต์ ณ เช้าวันรุ่งขึ้น   ครั้นเช้า ทองประศรีแต่งตัวงามออกไปใส่บาตรที่หน้าบ้าน 

ฝ่ายเณรทั้งสาม คือ เณรพลายจันทร์ เณรอุ่นไฟ เณรคงขวาน ตามพระมาบิณฑบาตที่บ้านทองประศรี  ทองประศรีใส่บาตรจนมาถึงเณรพลายจันทร์ นางและเณรพลายจันทร์แลเห็นกันก็มีใจรักชอบพอกันทันที  จนเพื่อนเณรอีก ๒ รูปสังเกตเห็นกิริยาของทั้งสอง เมื่อรับบาตรเสร็จแล้ว ระหว่างทางกลับวัด เณรอุ่นไฟกับเณรคงขวานก็พูดกระเซ้าแหย่เณรพลายจันทร์ว่าท่าจะเป็นที่พอใจของสีกาทองประศรีเป็นแน่  ทั้งที่ไปกันตั้ง ๓ รูป แต่นางสนใจอยู่รูปเดียวเท่านั้น  เณรพลายจันทร์รู้ว่าเพื่อนรู้ว่าตนเองหลงรักทองประศรีก็ไม่พูดจาอะไรจนกระทั่งถึงวัด

ฝ่ายทองประศรีใส่บาตรแล้วก็ขึ้นบ้าน ใจนางนั้นก็กระวนกระวายคิดถึงแต่เณรพลายจันทร์ที่ได้พบเมื่อเช้านี้ จนไม่เป็นอันกินอันนอนทั้งวัน  จนกระทั่งย่ำค่ำแล้วนางเข้านอนก็นอนไม่หลับ  ถึงยามสี่ทองประศรีจึงได้หลับฝันไป  ความฝันของนางนั้นน่ากลัวมาก  นางตื่นขึ้นเช้าจึงได้เล่าให้พ่อแม่ของนางฟังช่วยแก้ฝันให้

ทองประศรีฝันว่าอะไรเมื่อคืนนั้น  น่าสนใจใช่ไหม  โปรดติดตามตอนต่อไปครับ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 08 ต.ค. 09, 16:45

พญานาคมารัดแน่ๆ


โอ้โฮเฮะ   นางทองประศรีนี่เปรี้ยวตั้งแต่สาว
มีตอนขุนไกรถวายตัวเป็นข้าหลวงเดิมสมเด็จพระพันวษาไหมคะ  สงสัยมานานแล้ว

ขอรับประทานโทษคุณหลวงนะคะ   ถามจุกจิก  มีเรื่องนางบัวประจัน  น้องนางทองประศรีไหมคะ
เรื่องเกร็ดนี่ชอบมากค่ะ
เห็นคนเขียนเรื่อง ขุนช้างขุนแผนแล้วเล่าเกร็ดผิด  ต้องจำไว้เล่าต่อค่ะ



สำนวนหอฯ  บอกว่า

ชื่อว่าบัวประจันถัดกันมา                             มีผัวชื่อว่านายโชดคง
เดิมเพื่อนอยู่ทางบางเหี้ย                             ครั้นไปได้เมียก็ลุ่มหลง
ไม่คิดถึงซึ่งเหล่าเผ่าพงศ์                             ยวดยงแต่จะเที่ยวขโมยควาย  ฯ



เรื่องนี้มีที่มาที่ไปดีจัง  คือมีพระพรรณสมบัติด้วย   ถ้าเป็น  สุพรรณสมบัติ  ก็ไม่ผิดฝาไม่ผิดตัวค่ะ



พลายจันทร์ไปบิณบาตที่บ้านด้วย       น่าสนใจมากค่ะ เพราะ กงกรรมกงเกวียน
เป็นทางที่หนุ่มและสาวพบกัน

หนังสือบอกหรือเปล่าคะว่า  นางทองประศรี ใส่บาตรด้วยอะไรบ้าง
เรียนถามด้วยความสนใจจริง ๆ ค่ะ    เพราะนางพิมใส่ของมากจนเณรต้องเหลือบตามอง



วรรณคดีไทยนี่เรื่องไหนเป็นที่จับใจตลาดแล้วล่ะ  เป็นอันต้องยืดไปจนลูก หลาน เหลน
จนปีศาจขุนไกรและปีศาจขุนแผนต้องออกมาช่วย พลายสุริยัน ลูกของพลายเพชร    อิอิ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 08 ต.ค. 09, 17:02

เรื่องการหาหนังสือเก่าอายุ  ๘๕  ปีและพิมพ์แค่ ๕๐ เล่มนั้น   จะว่ายาก  ก็คงถูก
จะว่าเป็นไปไม่ได้  ก็คงไม่ใช่

หนังสืออนุสรณ์นั้น มีผู้ตามเก็บอย่างจริงจังหลายท่าน
พ.ศ. ๒๕๐๑  นั้นก็เพียง ๕๑ ปีผ่านมา


หลายเรื่องที่อยากเห็น ก็ได้เห็น เพราะมิตรสหายหามาให้

หลายเรื่องที่ไม่คิดว่ามีอยู่เพราะไม่เคยมีบันทึกใด ๆ ว่าไว้
สหายก็นำมาให้ยืมอ่านโดยไม่แหนหวง  ทิ้งไว้ให้เป็นเกือบปี


ดิฉันเป็นนักอ่านค่ะ  พยายามจะสะสมเหมือนกัน  แต่ไม่หาญหักน้ำใจใคร
ขอเพียงได้ทราบว่ามี  ก็ดีอกดีใจ  ภูมิใจ
รู้สึกเป็นหนี้บุญคุณ  คุณหลวง  ที่มีเมตตามาเล่าเป็นบันทึกไว้ในที่นี้



แหะๆ....คุณหลวงคงทราบว่า ไม่กี่เดือนมานี้  มีสยามประเภทหลุดมาชุดเล็ก
ประมาณ หกอาทิตย์ที่ผ่านมา  ก็หลุดออกมาอีกชุดค่ะ


ดิฉันเป็นนักอ่านอยู่กับบ้านค่ะ  ไม่เดินทางสัญจรไปไหน
ได้ข่าวก็ชื่นใจกระไรเลย
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 08 ต.ค. 09, 18:18

เรียนถามคุณ เงินปุ่นศรีค่ะ

ปลัดจัน   นี่ใครคะ


พระบวรราชนิพนธ์ในกรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพ  บทละครขุนช้างขุนแผน
ตอน ขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง  บรรยาย ไว้งามพิเศษ

กระถางนั้นวางบนม้า
มีเขามอ(ตามที่ถือกันนั้น  ไม่มีการก่อเขามอในบ้านเรือนเพราะถือว่าจะขัดบุญวาสนากระมัง)
พรรณไม้นั้นก็พิสดารมากกว่าสำนวนอื่นๆ

นิพนธ์ไว้ว่า

บัวก็มีแห้วก็มีอุตส่าห์ปลูก                            เปลือกมันใหญ่โตกว่าลูกเท่าตุ่มหาม
ได้ไม้จีนมาจากไหนไอ้บ้ากาม                        เห็นมันตามประจบปลัดจัน


ขุนช้างมีเครื่องกระเบื้องมากทีเดียวค่ะ

ปลัดจันนี่ คือ  ปลัดกรมท่าซ้ายหรือคะ
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 09 ต.ค. 09, 08:53

ก่อนที่จะเล่าประวัติพลายจันทร์ต่อไป ขอตอบคุณ Wandee ก่อน

ที่คุณ Wandee ถามว่า ๑.มีตอนขุนไกรถวายตัวเป็นข้าหลวงเดิมสมเด็จพระพันวษาไหมคะ 
๒.มีเรื่องนางบัวประจัน  น้องนางทองประศรีไหมคะ
และ ๓.หนังสือบอกหรือเปล่าคะว่า  นางทองประศรี ใส่บาตรด้วยอะไรบ้าง

คำถามแรก ตอบว่าขอให้ติดต่อไปครับ ขืนบอกก่อนตอนนี้จะไม่สนุก
คำถามที่สอง ตอบว่าเท่าที่อ่านดูยังไม่พบครับ
คำถามสุดท้าย ตอบว่า ทองประศรีเป็นสาวจะใส่บาตร    โตกถาดขันขัดจงจัดสรร     ข้าวเหนียวไข่ต้มขนมชั้น    ห่อละอันใส่ถาดสะอาดดี  เท่านี้ครับ.

สุดท้ายที่ถามว่า   คุณหลวงคงทราบว่า ไม่กี่เดือนมานี้  มีสยามประเภทหลุดมาชุดเล็ก  ประมาณ หกอาทิตย์ที่ผ่านมา  ก็หลุดออกมาอีกชุดค่ะ 
ตอบว่า  ไม่ทราบ ทราบแต่เมื่อหลายเดือนก่อนมีสยามประเภทชุดใหญ่หลุดออกจากกรุ  สภาพดีน่าใจหาย  นัยว่าท่าจะครบชุดเสียด้วย  อุตส่าห์ตามไปดูถึงร้านหนังสือที่ได้มา  แต่เสียดายว่ามีคนนิมนต์ไปเสียแล้ว  เลยไม่ทันได้ทัศนา  จากนั้นไม่นาน  ได้มีโอกาสเห็นและอ่านหนังสือวชิรญาณ จำนวน ๔ เล่มหนา (รวมรายปี ๔ ปี) สภาพค่อนข้างดี  นอกจากนั้นก็มีหนังสือโรงพิมพ์วัดเกาะอีกหลายเรื่อง  ที่ใครหลายคนแสวงหากัน  แต่ไม่ได้เอามาเป็นเจ้าของ  ได้แต่เปิดดูเท่านั้น  เพียงนี้ก็ชื่นใจแล้วครับ  หนังสือหายาก  เก็บไว้ไม่เปิดอ่านไม่เผยแพร่  มันไม่เกิดประโยชน์หรอกครับ  เพราะเจ้าของก็เป็นแต่ปู่โสมเฝ้ากระดาษเก่าเท่านั้นเอง  รอวันว่าใครจะแพ้สังขารก่อนระหว่างคนเก็บหนังสือกับหนังสือที่เก็บ

ต่อประวัติพลายจันทร์ดีกว่า

ครับ ถูกต้อง ทองประศรีฝันว่า

ว่าเมื่อคืนนี้ลูกนิมิตรผิดประหลาด       เห็นนาคราชเหลืองลายตลอดหาง
ในฝันว่าลูกเดินไปตามทาง               นาคนั้นกั้นขวางไม่ให้ไป
แล้วรอบรัดมัดรึงไว้ครึ่งตัว                ความกลัวดิ้นไม่หลุดฉุดไม่ไหว
แล้วจิกลงตรงหน้าขากรรไกร             ใจลูกจะขาดอนาถจริง...

เมื่อทองประศรีเล่าความฝันเมื่อคืนให้ปลัดสนและยายอ้นฟังและขอให้ช่วยแก้ฝัน  ปลัดสนผู้พ่อก็แก้ฝันได้ว่า  ลูกสาวตนคงจะได้ชู้งาม  และว่านาคนั้นคือบัณฑิต (คือคนที่บวชเรียนแล้ว) แต่ปลัดสนคิดต่อในใจว่า ถ้าขืนทายฝันไปตามยามที่ฝันให้ลูกไปอย่างนี้ ลูกสาวจะนึกกระหยิ่มดีใจเป็นแน่ (เขาว่า ฝันในยามสาม เป็นบุพนิมิต จะแม่นมาก)  อย่ากระนั้นเลยจะเลี่ยงทายตามนิมิตดีกว่า แล้วปลัดสนก็บอกลูกสาวว่า ที่ฝันว่างูใหญ่มาไล่รัดที่กลางทางและยังกัดที่หน้าด้วยนั้น  โบราณท่านว่า ฝันอย่างนี้ลุกจะมีเคราะห์ต้องเขี้ยวต้องงาบาดเจ็บเป็นแผล  ต้องไปทำการสะเดาะเคราะห์รดน้ำมนต์สักสามบาตร จะได้อยู่ดีกินดีไม่มีโรค  ทุกข์โศกเสื่อมหาย  อายุยืน  อันตรายไม่เบียดเบียน  ว่าแล้วบอกให้ยายอ้นผู้เป็นแม่พาทองประศรีไปให้สมภารมั่นรดน้ำมนต์ให้ที่วัด

ยายอ้นได้ฟังดังนั้นก็เรียกนางมีนางมานางสีทาสสาวใช้ให้จัดแจงหมากพลูจีบและทำสำรับกับข้าวทำแกงสับปลาไหลไปวัด  จากนั้นยายอ้น ทองประศรี และบ่าวอีก ๓-๔ คนก็เดินทางไปวัดป่าเลไลยก์  พอดีที่วัดแคกำลังมีงานอึกทึก คนมาก  จึงพากันเดินมาทางลัดทุ่งตรงไปหลังวัดป่าเลไลยก์ ขณะจะขึ้นกุฏิเจ้าอาวาส  เผอิญเจอเณรคงขวานกับเณรอุ่นไฟ เณรคงก็ร้องทักทองประศรีและยายอ้น เณรพลายจันทร์ได้ยินเสียงก็ออกมาดูเห็นทองประศรีก็ดีใจก่อนจะหลบเข้าห้องแอบดู

สมภารมั่นถามยายอ้นว่า ที่มามีธุระอะไร ยายอ้นก็บอกว่า เมื่อคืนลูกสาวฝันไม่ดี ปลัดสนแก้ฝันให้แล้วบอกให้พาลูกสาวมาให้ท่านขรัวรดน้ำมนต์ให้สักสามบาตรเป็นการสะเดาะเคราะห์  สมภารมั่นก็ว่า เดี๋ยวอาตมาจัดให้  แต่ต้องขอของแลกเปลี่ยนเป็นค่าไทยทานรดน้ำมนต์สักหน่อย  ขอฟืนไว้สำหรับต้มกรักสักหน่อย  เพราะท่านขรัวรู้ว่า ปลัสนมีสวน ว่าแล้วก็เรียกให้เณรเตรียมตั้งสำรับเพล  และให้เอาบาตรตักน้ำมาสามบาตร ทำน้ำมนต์รดให้ทองประศรี  เมื่อเสร็จการ  ยายอ้นทองประศรีก็ลาสมภารมั่นกลับ  แต่ท่านสมภารมั่นบอกว่า  ช้าก่อนโยมทั้งสอง   ที่วัดแค ท่านขรัวคงจัดงานปลงศพยายไทยซึ่งเป็นโยมของขรัวคงเป็นงานใหญ่  มีนักเลงไปในงานนั้นเอาดาบฟันพระสงฆ์ถึงแก่มรณภาพที่หลังป่าช้า  ให้โยมระมัดระวังด้วย  อาตมาจะให้เณรลูกศิษย์ตามไปส่ง  แล้วก็ร้องสั่งให้เณรพลายจันทร์ อุ่นไฟ คงขวาน ไปส่งสีกาทั้งสองและกำชับให้กันพวกนักเลงที่พบในระหว่างทางด้วย 

เณรทั้งสามเดินนำสีกาทั้งสองพร้อมบ่าวไพร่มาถึงวัดแคเวลาเย็น  ได้ยินเสียงละครดังไปทั้งวัดแค  คนก้คับคั่ง  เณรคงขวานกับเณรอุ่นไฟก็กันหยุดเดิน ขอไปเที่ยวดูงานวัดแคเสียหน่อยก่อนแล้วค่อยไปส่งโยมทั้งสอง  ว่าแล้วก็บอกยายอ้นทองประศรีว่านั่งพักตรงนี้ก่อน  ตนเองทั้งสองจะขอตัวเข้าไปเที่ยวงานวัดแคสักครู่เดียว   ว่าแล้วก็เข้าไปในงานวัดแค  สมภารคงวัดแคแลเห็นเณรทั้งสองเข้ามาในงานก็จำได้ว่า เป็นอ้ายอุ่นไฟ กับอ้ายคงขวานหลานขุนโจม ถ้าเข้าที่ไหนแล้วต้องเกิดเรื่อง จึงบอกให้เณรโสมวิ่งออกไปบอกให้เณรทั้งสองเที่ยวเล่นงานตามสบาย   เณรทั้งสองเข้าไปกราบสมภารคงแล้วก็บอกว่าท่านสมภารมั่นให้พวกตนมาส่งโยมสีกา จะขอเที่ยวเดี๋ยวเดียวเท่านั้นแล้วจะลาไป แล้วฌณรทั้งสองก็ลาขรัวคงเดินมาข้างวิหารเข้าบริเวณงาน เดินผ่านหน้านักเลงอย่างไม่เกรงกลัว

เณรสองรูปไปเที่ยวในงานวัดแค ปล่อยให้เณรพลายจันทร์นั่งรอกับโยมสีกาทั้งสองและบ่าวที่นอกวัด   สักครู่  นายบัวกับพรรคพวกนักเลงเดินมาตามถนน  เห็นเณรพลายจันทร์นั่งอยู่กับยายอ้น และทองประศรี ที่นอกวัด ก็...

นายบัวจึงร้องทักทองประศรี         มาดูละครนี่หรือไปไหน
นั่งพูดกับเณรนี้ทำไม                  ไม่ใช่พวกพ้องพี่น้องจริง
จะจับตัวไปส่งสังฆรี (สังฆการี)     ว่าเณรนี้เจ้าชู้เกี้ยวผู้หญิง
เฮ้ยพวกเราล้อมไว้อย่าให้วิ่ง         จับมัดเหมือนลิงทั้งสีกา

มีเหตุการณ์ตึงเครียด เณรพลายจันทร์ถูกนายบัวหัวกระดูกแหย่อย่างนี้ จะเป็นอย่างไร

ฝ่ายว่าเณรจันไม่พรั่นพรึง            เฮ้ยมึงหรือชื่อบัวตัวเก่งกล้า
อวดตนว่าคนดีรี่เข้ามา                อย่าให้เพื่อนช่วยเล่นมวยกัน
ทองประศรีเรียกพี่คงขวานขา        นานนักไม่มาทำไมนั่น
นายบัวเขาจะจับพี่เณรจัน             พวกเขาดั้นล้อมรายเป็นหลายคน

เอาล่ะครับ  เณรพลายจันทร์ ยายอ้น ทองประศรี และบ่าวสาวใช้ถูกล้อมกรอบเสียแล้ว  จะทำอย่างไรดี 
โปรดติดตามต่อไป  ว่าจะมีใครมาช่วยพวกเขาหรือเปล่าหนอ  ตื่นเต้นจังเลย


บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 09 ต.ค. 09, 10:26

อิอิ   ดิฉันตื่นเต้นเรื่องขนมชั้นค่ะ


สุนทรภู่ท่านชอบทองหยิบทองหยอด  เล่าเป็นประจำ
คนไทยสมัยนั้นคงไม่ได้ทำขนมไว้ประจำบ้าน  คงกินกันเป็นครั้งคราวเมื่อทำบุญ


ครูแจ้งชอบต้มยำ  ท่านว่าคล่องคอ  ท่านรับงานบ่อยคงเบื่อแกงเผ็ด หมี่ผัด
ศรีมาลาทำกับข้าวขนมเยอะแยะ   พระไวยคงมีเพื่อนมหาดเล็กแวะมาที่บ้านบ่อย
อ่านมาจากงานที่เจ้าพระยาภาสกรวงศ์เก็บ


เรื่องสยามประเภทนี่พูดกันมากค่ะ
ชุดที่ปรากฏที่ อรุณอัมรินทร์นั่น ชุดเล็กค่ะ   
เมื่อรูปออกมา  เจ้าของปล่อยไปเป็นอาทิตย์แล้วค่ะ
เต็มชุดมี ๑๒ เล่ม(ยังมีสยามประเพทของเจ้านาย และ สยามประพืดที่ก.ศ.ร.กุหลาบออกล้อ สยามประเพทอีกทีหนึ่ง)

ชุดใหญ่ที่สุดที่มีแต่ปกสวยงามมาแขวนให้นักอ่านสะอื้น ขาดเล่ม ๑๐ - ๑๒  เล่มต้นดูเหมือนจะขาดเล่ม ๓
ทั่วๆไปที่หลายท่านใช้อ้างอิงก็มีเพียง เล่ม ๑ - ๔  เท่านั้น

จิตใจนักสะสมนั้นจะอ่อนลงได้ก็ด้วยการประโลมเล้าเอาใจว่าท่านถือประวัติศาสตร์การพิมพ์ไว้ในมือ
การประชดประชันไม่ระคายความรู้สึกของท่าน ๆ หรอกค่ะ
เท่าที่ทราบท่านเหล่านั้นก็สร้างตัวมาด้วยหยาดเหงื่อแรงงานและปัญญาทั้งสิ้น
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 09 ต.ค. 09, 15:12

ต่อเรื่องพลายจันทร์

ความเดิม เณรพลายจันทร์ ยายอ้น ทองประศรี ถูกพวกนายบัวล้อมจับตัวส่งสังฆการีด้วยข้อหาว่าเณรพลายจันทร์แอบมานั่งเกี้ยวสีกาที่ข้างวัดแค  ขณะที่กำลังรอเพื่อนเณรอีก ๒ รูป กลับมาจากเดินเที่ยวงานศพโยมเจ้าอาวาสวัดแค  เหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป เชิญอ่าน

ตาเถรทองได้ยินเสียงทองประศรีร้องเรียกชื่อเณรคงขวานกับเณรอุ่นไฟก็วิ่งมาดูที่ถนน  เห็นนายบัวขวางทางยายอ้นกับทองประศรีอยู่ก็วิ่งเข้ามาบอกเณรคงขวานกับเณรอุ่นไฟในวัดให้รีบออกไปที่ถนน  เณรทั้งสองได้ฟังดังนั้น

คงขวานอุ่นไฟได้ยินว่า        คว้าได้ไม้สะแกวิ่งแร่มา
ผลักอกนายบัวชกเณรคงตึง   จันทะลึ่งชกนายบัวหัวคะมำ
อุ่นไฟไล่ตีนายมีฉาด           เลือดสาดศีรษะไม่เป็นส่ำ
เณรจันเตะนายบัวจนหัวตำ    เณรคงซ้ำคอต่อคอหักตาย
เณรจันเตะปากอ้ายนากปับ    ลัมพับผ้าล่อนลงนอนหงาย
สิ้นชีวิตดับจิตไปตามนาย      พวกเพื่อนกระจายวิ่งหนีไป...

ทองประศรีกับแม่และบ่าวรีบกลับบ้าน  ส่วนสามเณรทั้งสามรีบกลับมาวัดป่าเลไลยก์

กล่าวถึงพระพรรณสมบัติ (สัง) นั่งอยู่ที่หอนั่ง มีคนมาบอกว่านายบัวหัวกระดูก ลูกชายถูกตีตายที่วัดแค พร้อมอ้ายนากอ้ายมีที่ถูกตีที่กำด้นคอหักตายเช่นกัน  พระพรรณสมบัติได้ฟังก็น้ำตาไหลใจหาย แล้วรำพันว่า

ทั้งรักทั้งแค้นแสนเสียดาย    ทั้งเงินทองต้องละลายเป็นหลายครา
แต่เสียทรัพย์ยับย่อยกว่าร้อยชั่ง   สอนสั่งกับซ้ำทำขายหน้า 
เที่ยวคบเพื่อนสูบฝิ่นกินสุรา     ลักช้างม้าขโมยคนปล้นสะดม
อ้ายลูกเปรตเทสน์ธรรม์มันไม่เชื่อ    ชาติลูกเสือดอกมิใช่ลูกประสม
จะทิ้งผีเสียไม่เผาเน่าเป็นตม     ให้มันจมอยู่กับดินสิ้นอาลัย...

ฝ่ายยายเบี้ยผู้เป็นเมียได้ยินพระพรรณสมบัติพูดเช่นนั้นก็ทักท้วงว่า   
                                        ...จะโกรธไปถึงไหน   
ลูกเราคนร้ายมันตายไป   อย่าร่ำไรเคืองข้องไม่ต้องการ   
อันเรานี้ก็เป็นที่เขานับถือ   ร่ำลือเกรงกลัวชั่วลูกหลาน 
จะนิ่งเสียก็จะยับอัประมาณ  ต้องก่อการด้วยเป็นความแผ่นดินเมือง   
ไปกราบทูลตามมูลคดีมา    อันโทษฆ่าคนตายมีหลายเรื่อง   
ด้วยฟันแทงกันนี้มีเนืองเนือง   ได้ทราบไว้ในเบื้องบาทบงสุ์... 

พระพรรณสมบัติได้ฟังเมียว่าเช่นนั้นก็คิดได้  จึงเรียกบ่าวไพร่ลงเรือเดินทางไปเข้าวังทันที  แล้วเข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา (ไม่ได้ออกพระนามไว้) กราบทูลหน้าพระที่นั่งว่า  บัดนี้มีคนพาลมาเที่ยวงานที่วัดคของสมภารคง  นายบัวบุตรข้าพระพุทธเจ้าไปเที่ยวงานนั้น ถูกพวกเณรคงขวาน อุ่นไฟ และพลายจันทร์เดินทางมาจากไหนไม่ทราบ  แต่อ้างว่ามาส่งสีกาสี่ห้าคน  เมื่อมาพบนายบัวกลางถนนที่วัดแคก็เอาไม้สะแกตีที่กำด้นนายบัว  อ้ายนากกับเพื่อนเข้าช่วยนายบัวเลยถูกตีจนตายด้วยกัน ๓ คน

พระเจ้ากรุงศรีอยุธยา ได้ทรงสดับความดังนั้นก็รับสั่งให้พระพิเรนทรเทพเร่งเกณฑ์ไปตามจับอ้ายผู้ร้ายทั้งสามมาเฆี่ยนเอาความจริงให้จงได้โดยเร็ว

แย่แล้วล่ะสิ   เณรตีนักเลงกันที่งานวัดกลายเป็นเรื่องใหญ่โตระดับชาติเสียแล้ว  ท่าทางเณรทั้งสามของเราจะลำบากแล้วครับ   มีเรื่องกับใครไม่มี  ดันไปมีเรื่องกับลูกชายขุนนางระดับคุณพระพรรณสมบัติ แถมตีลูกเขาตายอีก
เหตุการณ์จะเป็นอย่างไร  เอาไว้ติดตามกันต่อคราวหน้าครับ

บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 09 ต.ค. 09, 15:56

ในพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแถลงพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน ได้กล่าวถึงราชการกรมต่างๆ สมัยก่อนการปฏิรูปราชการเป็นกระทรวงในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีเรื่องน่าสนใจดังนี้

กรมอาสาแปดเหล่า เป็นกรมใหญ่ ๘ กรมในพระกระลาโหม  ประกอบด้วยกรมอาสาใหญ่ซ้าย  กรมอาสาใหญ่ขวา  กรมอาสารองซ้าย   กรมอาสารองขวา  กรมเขนทองซ้าย   กรมเขนทองขวา  กรมทวนทองซ้าย  และกรมทองทองขวา   กรมเหล่านี้มีหน้าที่รักษาพระนครและรักษาพระราชอาณาเขต    เจ้ากรมอาสาใหญ่ ๒ กรมเป็นแม่ทัพชั้นหนึ่ง ถือศักดินา๑๐๐๐๐ไร่  กรมอาสารอง ๒ กรม กรมเขนทอง ๒ กรม เจ้ากรมเป็นแม่ทัพชั้นรอง  ถือศักดินา ๕๐๐๐ ไร่ ส่วนกรมทองทอง ๒ กรม เจ้ากรมเป็นนายพล ถือศักดินา ๑๖๐๐ ไร่ กรมอาสาแปดเหล่านี้ ในยามสงครามจะออกไปรบทุกทิศ  เมื่ออยู่ประจำพระนครจะไปประจำตามด่านหัวเมืองต่างๆ ตามตำแหน่งซ้ายขวา  และยังมีราชการในเวลาเสด็จพระราชดำเนินออกนอกพระราชวัง  จุกช่องวงรายทาง แต่ไม่ต้องแห่นกระบวนเสด็จฯ เว้นแต่เสด็จฯ โดยกระบวนเรือและกระบวนราบแห่อย่างกระบวนพยุหยาตราในการสงคราม   

กรมอาสาหกเหล่า มี กรมอาสาญี่ปุ่น ๑ เป็นพนักงานเครื่องศพ
กรมแตรสังข์ ๑ เป็นพนักงานพิณพาทย์และกลองชนะ
กรมกลองชนะ ๑ เป็นพนักงานประโคมศพและการแห่แหนทั้งปวง
กรมอาสาจาม ๑ เป็นพนักงานสำหรับจ่ายใช้ในเรืบรบ เรือไล่ทางทะเล
กรมฝรั่งแม่นปืน ๑ เป็นทหารปืนใหญ่ จุกช่องล้อมวง และแห่ตามเสด็จทั้งทางบกทางเรือ
และกรมเกณฑ์หัดอย่างฝรั่ง ๑ เป็นกรมทหารไทยที่ยิงปืนไฟอย่างฝรั่ง

กองมอญ แบ่งออกเป็น ๕ กรมใหญ่  คือ
กรมดั้งทองซ้าย  กรมดั้งทองขวา  กรมดาบสองมือ กรมอาทมาตซ้าย กรมอาทมาตขวา หน้าที่ราชการก็คล้ายกับกรมอาสาแปดเหล่า  เพียงแต่คนในกรมเหล่านี้เป็นชาวมอญที่เข้ามาพึ่งโพธิสมภารพระเจ้าแผ่นดินไทย

ถ้าผู้ใดสนใจอ่านต่อให้ละเอียด สามารถอ่านได้จากหนังสือพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแถลงพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน เล่มไม่หนานัก  พิมพ์มาแล้วหลายครั้ง  ฉบับที่ผมใช้อยู่เป็นฉบับพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพคุณหญิงไผ่  เกษมศุขการี เมื่อ ๒๗ ก.ค. ๒๔๙๓ ส่วนฉบับพิมพ์ครั้งแรก เป็นฉบับที่รัชกาลที่ ๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลพระราชอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ๒๓ ตุลาคม ๒๔๗๐ ซึ่งรัชกาลที่ ๗ ได้ทรงพระราชนิพนธ์คำนำในหนังสือนี้ด้วย  เป็นหนังสือน่าอ่านน่าสนใจสำหรับผู้สนใจประวัติศาสตร์อย่างพลาดไม่ได้ทีเดียว
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 11
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.104 วินาที กับ 19 คำสั่ง