เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 11
  พิมพ์  
อ่าน: 35142 ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 02 ต.ค. 09, 18:31

แนะนำให้อ่าน ขุนช้างขุนแผน ฉบับนอกทำเนียบ ของอัศศิริ ธรรมโชติ
มีสำนวนอื่นนอกจากสำนวนหอพระสมุดด้วยค่ะ
บันทึกการเข้า
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 03 ต.ค. 09, 04:53

มาปูเสื่อ (รอบดึก) ด้วยคนครับ  ยิงฟันยิ้ม

ส่วนที่อาจารย์พูดถึง คำมอญว่า "พลาย" ผมยังไม่เคยค้นครับ ก็เลยลองไปเปิดดู the Royin ท่านเก็บไว้แต่ พลาย ที่ใช้กับช้าง

พลาย   [พฺลาย] ว. เรียกช้างตัวผู้ว่า ช้างพลาย. (ต.).

ต. ก็คือ ตะเลง หมายถึง มอญ ซึ่งก็หมายความว่า ราชบัญฑิตยฯ เห็นว่าคำนี้ มาจากภาษามอญ แต่ก็ไม่ได้อธิบายว่า เดิมแปลว่าอะไร

มีอีกคำคือ ช้างพัง คือ ช้างตัวเมีย

พัง จะแปลว่า สาว หรือเปล่า อิอิ

เรื่องนี้ ผู้ที่ศึกษาเรื่องมอญในประเทศไทย คงอธิบายได้

น่าสงสัยว่า หน่วยคชบาลสมัยอยุธยา ดำเนินการโดยชาวมอญหรือเปล่า ? คำศัพท์ถึงได้ยืมมาจากภาษามอญ

กลุ่มศัพท์ในกลุ่มคชศาสตร์นี้ น่าสนใจครับ น่าจะมีอีกหลายคำที่มาจากภาษามอญ (หรือ ไม่ก็เขมร)
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 05 ต.ค. 09, 08:45

คำว่า พลาย ที่แปลว่า ชายหนุ่ม นี้มาจากคำในภาษามอญ และที่สำคัญเป็นรูปคำมอญโบราณด้วย
(มอญโบราณเขียน bla:y มอญสมัยปัจจุบันเขียน blai (เนื่องจากคอมพิวเตอร์ไม่สามารถพิมพ์ตัวอักษรมอญได้
จำเป็นต้องใช้ตัวโรมันแทน ซึ่งอาจจะเห็นลักษณะคำเก่าใหม่ไม่ชัดเจน))
ถ้าสนใจคำภาษามอญเก่า แนะนำให้ลองหาหนังสือ A dictionary of the Mon inscriptions from the sixth to the sixteenth centuries
ของ H.L. Shorto  The Late C.O. Blagden Publisher London : Oxford University Press, 1971

ส่วนคำถามที่ว่า  หน่วยคชบาลสมัยอยุธยา ดำเนินการโดยชาวมอญหรือเปล่า ?
เท่าที่ทราบ กรมพระคชบาลในสมัยอยุธยา คงจะไม่ใช่ชาวมอญ
แต่น่าจะเป็นชาวเขมร ชาวส่วย-กูย และคนไทยที่มีความรู้เรื่องคชลักษณ์และคชกรรม
ที่กล่าวอย่างนี้ เป็นเพราะตำราและมนตร์พิธีในที่ใช้ เป็นคำเขมรโบราณ
หรือเอาง่ายๆ พิจารณาจากคำฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้างสมัยอยุธยาก็ได้ มีหลายตอนแต่งด้วยคำภาษาเขมรโบราณ
จริงๆ แล้วภาษามอญกับภาษาเขมรเป็นภาษาในตระกูลเดียวกัน 
จึงมีคำศัพท์บางคำที่ออกเสียงคล้ายกัน เช่น มอญว่า ทอเรียะ  เขมรว่า ดำไร ดำรี เป็นต้น

เรื่องประวัติพลายจันทร์ ขออนุญาตไปค้นหาเอกสารก่อน
เพราะอ่านมานานแล้วกลัวจะเล่าผิดหรือตกหล่นได้
ผู้สนใจกรุณารอสักหน่อย

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 05 ต.ค. 09, 14:17

ถึงแม้ว่า ขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุดฯ  ไม่ได้ระบุความเป็นเชื้อสายมอญของขุนแผนเอาไว้ชัดเจน   แต่สุนทรภู่ ที่แต่งตอน กำเนิดพลายงาม  ท่านรู้ดีว่าตระกูลพลายนี้เป็นเชื้อสายมอญ     
เห็นได้จากท่านใส่เอาไว้ตอนนางทองประศรีทำขวัญพลายงาม   นอกจากมีพวกลาวมาทำขวัญแล้ว  ก็มีพวกมอญด้วย

แล้วพวกมอญซ้อนซอเสียงอ้อแอ้            ร้องทะแยย่องกระเหนาะย่ายเตาะเหย
ออระน่ายพลายงามพ่อทรามเชย             ขวัญเอ๋ยกกกะเนียงเกรียงเกลิง
ให้อยู่ดีกินดีมีเมียสาว                            เนียงกะราวกนตะละเลิงเคลิ่ง
มวยมาบาขวัญจงบันเทิง                        จะเปิงยี่อิกะปิปอน

ภาษามอญในนี้มีคำแปลทุกคำ    ในหนังสือบทเรียนภาษาไทยของกระทรวงศึกษาธิการ  ที่ดิฉันเรียนตอนอยู่ชั้นม.ศ.ปลาย มีคำแปลเอาไว้ให้หมด     เสียดายจำไม่ได้แล้วว่าแปลว่าอะไรบ้าง
แต่ก็ทำให้รู้ว่า กวีผู้แต่งกำเนิดพลายงาม น่าจะรู้ภาษามอญไม่มากก็น้อย   เอาศัพท์มาแต่งเข้าเนื้อความได้มีความหมายทุกคำ 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 05 ต.ค. 09, 14:37

http://www.monstudies.com/show_content.php?topic_id=117&main_menu_id=1

เหตุที่มอญอพยพ
ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช

                                           จัดแจงแต่งกายพลายชุมพล
                                           แปลงตนเป็นสมิงมอญใหม่

           อย่าเพิ่งเอะอะไปครับ ผมยังไม่ถึงขนาดอยู่ดี ๆ ก็ร้องเพลงมอญดูดาวขึ้นมาเฉย ๆ แต่ผมมีเหตุที่จะต้องร้อง เพราะมีบางเรื่องที่อยากจะเขียนเกี่ยวกับมอญอพยพไปปางก่อน ซึ่งออกจะเป็นวิชาการนิด ๆ
           ต้นเหตุมีอยู่ว่า มีท่านที่เคารพของผมสองท่าน เอาหนังสือมาให้ผมท่านละเล่ม เรื่องต่างกัน แต่บังเอิญหนังสือสองเล่มนั้นเป็นหนังสือที่สยามสมาคมพิมพ์ขึ้น
           เล่มแรกนั้น เป็นเรื่องราชทูตไทย ไปเจริญทางพระราชไมตรี ยังราชสำนักพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่ประเทศฝรั่งเศล ในสมัยพระนารายณ์ กรุงศรีอยุธยาเมื่อ 300 ปีมาแล้ว
          และอีกเล่มหนึ่ง เป็นการรวบรวมบทความที่เคยพิมพ์ ในวารสารของสยามสมาคม ตั้งแต่ พ.ศ. 2456 จนถึง พ.ศ. 2516 มีชื่อว่า มอญ อันเป็นชนชาติที่เคยอยู่ ในประเทศไทย และอพยพกลับเข้ามาอีก ในระยะหลัง
          ผมยังอ่านหนังสือเล่มนี้ ไม่ละเอียด แต่ได้มาอ่านบทวิจารณ์ของคุณวิน เซนต์บารนส์ ในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 2 พฤศจิกายนนี้ ผู้วิจารณ์ได้เขียนว่า ไม่มีใครทราบว่า เพราะเหตุใด มอญที่อพยพเข้ามาอยู่ในเมืองไทย จึงถูกต้อนรับอย่างดีกว่าชนชาติอื่น ๆ ที่อพยพเข้ามาอยู่ ในประเทศไทย และสามารถเข้ากับทางราชการไทย และสังคมไทยได้เป็นอย่างดี และโดยรวดเร็ว
          ครั้งแรกที่มอญอพยพเข้ามาอยู่ ในเมืองไทย เป็นจำนวนมาก ก็คือ ในแผ่นดินพระนเรศวรเป็นเจ้า
         ไม่มีปัญหา ที่พระนเรศวรเป็นเจ้า ทรงพระกรุณามอญเป็นพิเศษ เพราะตั้งแต่ทรงพระเยาว์ อยู่ในพม่าก็ได้ทรงรู้จักกับมอญในพม่าใต้ พระมหาเถรคันฉ่อง ที่ได้ถวายพระพรเตือนว่า พม่าจะคิดร้ายต่อพระองค์ก็เป็นพระมอญ นอกจากนั้น ยังมีมอญที่เคารพเลื่อมใส ในพระนเรศวร เป็นจำนวนมากมาย ในระหว่างที่ทรงทำสงครามกับพม่า ก็ปรากฏว่าเมืองมอญ หรือพม่าใต้นั้นอยู่ใต้พระราชอำนาจ
          มอญที่เข้ามา ในรัชกาลพระนเรศวร จึงเป็นมอญที่โดยเสด็จเข้ามา และมอญที่ตามเข้ามาภายหลัง เพื่อหมายพึ่งพระบารมี
         พระนเรศวรเป็นเจ้า จึงทรงพระกรุณาแก่มอญพวกนี้มาก โปรดให้มีที่ดินในหัวเมืองต่าง ๆ เป็นที่ทำมาหากิน และทรงตั้งขุนนางมอญขึ้น ให้ปกครองกันเอง และควบคุมกันเป็นหมวดหมู่ เพื่อใช้ในราชการศึก มอญพวกนี้ จึงมีความจงรักภักดี ต่อพระนเรศวรเจ้าเป็นพิเศษ เป็นเหตุให้ เข้ากับทรงราชการไทย และสังคมไทยได้อย่างดี และรวดเร็วยิ่งกว่าชนชาติอื่น ๆ ซึ่งเข้ามาในประเทศไทย ด้วยความสมัครใจ หรือถูกกวาดต้อนเข้ามาเป็นเชลยก็ตาม

         ความภักดีของมอญต่อพระนเรศวร ทำให้ทรงสามารถเดินทัพผ่านพม่าใต้ได้สะดวก และ มอญ คงจะได้รายงานความเคลื่อนไหว ของพม่า ให้ไทยได้ทราบทันเหตุการณ์อยู่เสมอ จึงนับได้ว่า มอญ มีความชอบในราชการ เมื่อรัชกาลพระนเรศวรเป็นเจ้า

           "มอญ"สมัยนั้นเห็นจะเรียกได้ว่า "มอญเก่า" เพราะอพยพเข้ามาเป็นจำนวนมาก เป็นครั้งแรก และคงจะได้ตั้งรกรากทำมาหากิน แผ่กระจายทั่วไปในประเทศไทย และเมื่อก่อนจะเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า ก็คงจะได้เข้ากับสังคมได้สนิทสนมแล้ว ถึงขนาดแต่งงานกันได้ ไม่มีข้อรังเกียจทางเชื้อชาติ
            ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้มีมอญอพยพเข้ามาพึ่งพระบารมีอีกกลุ่มหนึ่ง เป็นจำนวนไม่น้อย เพราะในตอนนั้น มอญไม่ยอมรับอำนาจพม่าที่มีอยู่เหนือตน จับอาวุธเข้าสู้รับกับพม่าสู้พม่า ไม่ได้จึงพากันเข้ามาพึ่งพระบารมี
           สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบรีโปรด ฯ ให้รับมอญอพยพรุ่นนี้ โดยด ีเช่นเดียวกับสมัยพระนเรศวรเป็นเจ้า พระราชทานที่ดินให้ทำกินเป็นหลักแหล่ง และโปรดฯ ให้ตั้งขุนนางมอญขึ้นปกครองมอญด้วยกันอย่างที่เคยมา
           ตำแหน่งขุนนางมอญที่เป็นใหญ่ที่สุด คือ พระมหาโยธา ซึ่งคงจะมีมาแต่รัชกาลพระนเรศวร ตลอดมาจนถึงกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ จนถึงรัชกาลที่ 5
         ขุนนางมอญ ในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น มีความจงรักภักดีต่อพระมหาราชพระองค์นั้น มากที่สุด จนถึงสิ้นรัชกาล หมดพระราชอำนาจแล้ว ก็ยังประกาศความจงรักภักดีโดยเปิดเผย
          มอญรุ่นหลังที่สุด ที่อพยพเข้ามาเป็นจำนวนมากถึงสองแสนคนนั้น เข้ามาในรัชกาลที่ 2 กรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งคงจะเห็นกันว่าสำคัญมากถึงกับโปรดฯ ให้จัดกองทัพออกไปรับ และนำเข้ามาใกล้กรุงเทพฯ และโปรดฯให้ตั้งรกรากอยู่เมืองปทุมธานี ซึ่งตั้งขึ้นใหม่เป็นหัวเมืองตรี (เพราะมีมอญ ไม่ใช่เพราะมีบัว) ตลอดลงมาจนถึงปากลัด ปากเกร็ด นนทบุรี ลงไปจนถึงพระประแดง และโปรดฯให้ตั้งขุนนางมอญ มีพระยามหาโยธาปกครองเช่นที่เคยมีมาแต่ก่อน

          กองทัพที่ไปรับมอญเที่ยวนี้จัดเป็นทัพหลวง มีสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฏสมมุติวงศ์ เป็นเจ้าทัพ ในขณะนั้น มีพระชันษาเพียง 8 หรือ 9 ขวบ จะเชิญเสด็จหรืออุ้มเสด็จไปอย่างไร ก็ไม่รู้เลย เพราะนึกไม่ถึง
         แต่ที่เป็นเกียรติแก่มอญอพยพ เป็นอย่างยิ่ง ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ทรงพระมหากรุณาแก่มอญ ครั้งนั้น อาจเป็นเพระเหตุที่ ทรงรำลึกว่าสมเด็จพระบรมราชชนนี คือ สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีนั้น ได้ทรงถือพระชาติกำเนิดมาใน ตระกูลมอญ ที่อัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

        "มอญ"รุ่นนี้ คือ "มอญใหม่"
        พลายชุมพลแปลงตัวเป็นมอญใหม่ ก็คือมอญรุ่นนี้ สมิงนั้น เป็น"ภาษามอญ"แปลว่า เจ้า อย่างที่ผมได้เขียนมาแล้ว
       กลอนที่ผมคัดเอามาลงไว้ข้างต้นนั้น มิได้มาจากเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน แต่เป็นบทละครเรื่องขุนช้างขุนแผน ซึ่งแต่งขึ้นในรัชกาลที่ 5 ให้ละคร ของเจ้าพระยามหิทรศักดิ์ธำรงเล่น
       ละครโรงนี้คนหนึ่งชื่อ หม่อมเจิม เป็นภรรยาคนหนึ่ง ของพระเจ้าพระยามหินทร์ฯ เป็นคนแรก ที่หัดให้ผมรำละคร เริ่มตั้งแต่ห่มจังหวะ ปรบขา ถองเอว กล่อมตัว จนถึงรำเพลงช้า เพลงเร็ว
       นึกขึ้นมาแล้ว ตัวผมเองก็เป็นคนโบราณเต็มที เพลงที่ร้องถึงพม่า มีอยู่ในเพลงพม่าชุดสิบสองภาษา เป็นความว่า
       ทุงเล  ทุงเล  ทีนี้จะเห่พม่าใหม่  มาอยู่เมืองไทย มาเป็นผู้ใหญ่ตีกลองยาว แค่นั้นเอง
      พม่าใหม่นั้น ผมไม่ทราบว่า เข้ามาอย่างไร เมื่อไร เห็นมีแต่ในเพลงนี้ ส่วนพม่าเก่านั้น ก็เคยรู้แต่ว่า ยกกันเข้ามาเป็นกองทัพ ไม่ได้อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่ง เข้ามาทีไร ก็เดือดร้อนกันทุกที
      อย่าว่าแต่ตัวพม่าเลยครับ ซุงพม่าพอทำท่าว่าจะเข้ามาเท่านั้น ก็เดือดร้อนกันแทบจะตั้งตัวไม่ติด
       หรือใครจะว่าไง ?

“ซอยสวนพลู”   สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ สำนักพิมพ์สยามรัฐ พ.ศ. 2529
***************************
เมื่ออ่านบทความนี้แล้ว   พอจะโยงได้หรือยังคะ ว่าทำไม กวีท่านถึงแต่งให้พลายชุมพล ปลอมตัวเป็นมอญ?
ก็คนเชื้อสายมอญ จะปลอมเป็นอะไรได้เนียนเท่ากับเป็นมอญ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 05 ต.ค. 09, 16:51

คุณเทาชมพูมาเล่าเรื่องทำให้นึกถึง  ออระนาย  หน่ายเอ้ย ขึ้นมาได้
จากละครเรื่องราชาธิราชตอน สมิงพระรามอาสา


    เจ้าเอยเจ้าสมิงพระราม                          ฟังรับสั่งมีความหม่นไหม้
ไม่ยอมอยู่อายหน้าเสนาใน                          จะหนีไปหงสาเหมือนว่ากัน

    ออกจากพระโรงรัตน์ชัชวาล                     มาขึ้นอาชาชาญขมีขมัน
ขับม้าตะบึงถึงบ้านพลัน                              เข้าในห้องสุวรรณทันใด

    ขึ้นบนเตียงเคียงข้างเห็นนางหลับ               ใจจะปลิวหวิวดับเสียให้ได้
สงสารน้องจะต้องพรากจากกันไป                   เหมือนแกล้งทิ้งน้องไว้ไม่ใยดี

ราชาธิราช
พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์
(เพลงมอญรำดาบเถา  บทร้องที่ ๒   สารานุกรมศัพท์ดนตรีไทย  ฉบับราชบัณทิตยสถาน)

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 05 ต.ค. 09, 17:09

ชอบ ขุนช้างขุนแผน ฉบับหอสมุดแห่งชาติ  ตอนพระไวยเจรจาทัพกับพลายชุมพล


พลายชุมพล บอก พระไวยว่า


กูชื่อสมิงมัตรา                                       บิดากูผู้เรืองฤทธิไกร
ชื่อสมิงแมงตะยะกะละออน                         ในเมืองมอญไม่มีใครรอต่อได้
เลื่องชื่อลือฟุ้งทั้งกรุงไกร                            แม่ไซร้ชื่อเม้ยแมงตะยา
พระครูกูเรืองฤทธิเวท                               พระสุเมธกะละดงเมืองหงสา


ท่านที่เขียนเสภาตอนนี้ความรู้รอบตัวเป็นเลิศ
พระอาจารย์สุเมธนั้นก็ชื่อเสียงกระฉ่อน  ไม่ทราบท่านหายไปไหน
(เพลงชื่อ  แขกมอญบางขุนพรหมเถา   พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้่าบริพัตรสุขุมพันธุ์  กรมพระนครสวรรค์วรพินิต)



ต่อมามอญแปลงได้ยั่วโทสะพระไวยโดยย้อนว่าพระไวยเป็นลูกเลี้ยงขุนแผน
พระไวยอายใจจึงอ้างว่าขุนแผนเป็นพ่อ

ชาวบ้านชาวเมืองที่ล้อมวงฟังการขับเสภาอยู่ร้อง "อร่อย!" 

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 05 ต.ค. 09, 17:20

อาจารย์ ฉันทิชย์  กระแสสินธุ์  เล่าไว้ในบทความชิ้นหนึ่ง
เรื่อง ราชาธิราช ตอนสมิงพระรามอาสาว่า
ท่านได้ไปชมละคร และพอใจกับบทรำมาก
ท่านผู้ชมข้างตัวท่านถึงกับหายใจหนักๆกันหลายคน

ดิฉันเองไม่ทราบว่า  ออระนาย  หน่ายเอ้ย แปลว่าอะไร
แต่กระแสขับร้องนั้นเศร้่าสลดอาลัยรัก  จากกันทั้งเป็นด้วยเกียรติและหน้าที่
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 06 ต.ค. 09, 09:15

เปิดอ่าน ตอนพลายชุมพล ในขุนช้างขุนแผนฉบับหอพระสมุดฯ เพื่อจะมาเล่าต่อในกระทู้นี้     พบว่ามีรสชาติกลิ่นอายของมอญอบอวลอยู่เต็ม
ไม่รู้ว่าคนแต่งเป็นใคร   แต่เป็นกวีที่ตั้งใจสร้างบรรยากาศมอญ   เอาตำนานพระร่วงมาดัดแปลงเป็นมอญจนได้

จะกลับกล่าวถึงเจ้าพลายชุมพล              ที่ดั้นด้นไปอยู่สุโขทัยนั่น
ตายายรักใคร่ใครจะทัน                          ตัวนั้นบวชเข้าเป็นเณรนาน
เล่าเรียนขอมไทยว่องไวดี                      แปลคัมภีร์เปรื่องปราดออกฉาดฉาน
เช้าเย็นเณรเอากราดไปกวาดลาน            แสนสำราญเป็นสุขทุกเวลา

วันหนึ่งเณรเอากราดกวาดมลทิน              ยังมีขอมดำดินเมืองหงสา
มือถือลานทองของวิชา                          หมายจะถามปริศนาของรามัญ
ผุดขึ้นระหว่างกลางบริเวณ                      ถามปริศนาเณรชุมพลนั่น
ชุมพลแก้ไขได้ฉับพลัน                          ลานนั้นขอมให้ก็ได้มา
เรียนวิชาในลานชำนาญใจ                      ล่องหนหายตัวได้ดังปรารถนา
อยู่คงสารพัดศัสตรา                               ดำพสุธาก็ได้ดังใจปอง

กวี ท่านคงจะไม่ได้คำนึงถึงชาติพันธุ์วรรณาตอนแต่ง  จึงผสมขอมเข้ากับมอญ   กำหนดให้ขอมอยู่เมืองมอญ(หงสาวดี)  แถมเป็นเจ้าของปริศนาภาษามอญ    
วิชาอิทธิฤทธิ์ที่จารึกในใบลานทอง นั้นก็เลยไม่รู้ว่าเป็นภาษาขอมหรือภาษามอญกันแน่   เพราะข้างบนบอกว่าเณรชุมพลเรียนภาษาขอม  ไม่ได้บอกว่าเรียนภาษามอญ    
แต่ปริศนาที่ถามเป็นของมอญ    ชุมพลตอบได้   เลยได้วิชามา
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 06 ต.ค. 09, 12:12

ในตอนพลายชุมพล   กวีย้ำคำว่า มอญใหม่  อยู่หลายครั้ง ประกอบทัพของพลายชุมพล    ไม่ใช่ทัพมอญ เฉยๆ
ไปอ่านความเป็นมา ก็ได้ความว่า ขุนช้างขุนแผนตอนนี้อยู่ในชุดสำนวนเก่า   ใน ๓๘ เล่มสมุดไทย ที่แต่งไม่เกินรัชกาลที่ ๓
ดิฉันสงสัยว่า ตอนนี้น่าจะแต่งในรัชกาลที่ ๒    เมื่อการอพยพของมอญใหม่ ของพระยามหาโยธา (เจ่ง คชเสนี) ยังเป็นเรื่องใหม่ 'อินเทรนด์' สำหรับชาวพระนคร
อินเทรนด์สมัยนั้น กินเวลา ยาวนานกว่าแฟชั่นสมัยนี้  อาจจะนานหลายปี   
คือเมื่อเอ่ยถึงมอญ   ชาววังก็คุ้นกับมอญใหม่ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ปทุมธานี      ถ้าจะมีพระเอกใหม่ในขุนช้างขุนแผน เพิ่มขึ้นมาอีกคน  เพราะพระเอกเก่าคือขุนแผนและพระไวยก็เล่นบทกันยาวนานแล้ว
ก็เป็นมอญใหม่ เสียเลย

ข้อคิดอีกอย่างที่ไม่เกี่ยวกับชาติพันธุ์วรรณา แต่เกิดคิดเมื่ออ่านตอนนี้ 
คือมองเห็นว่ากวีที่แต่ง คงตั้งใจจะจับตัวละครเอกฝ่ายชายที่เป็นนักรบ ทั้งขุนแผนและพระไวย  มาสร้างเหตุการณ์ระทึกใจ คือให้รบกันเอง  หลังจากช่วยกันรบกับข้าศึกอื่นมามากแล้ว
มองในแง่ดราม่า ถือว่าเป็นจุดขัดแย้งระดับสูงสุด

แต่พ่อกับลูกจะรบกันได้ยังไง ก็ต้องผูกเรื่องให้ได้ว่าขุนแผนแค้นลูกชายคนโต  เลยร่วมมือกับลูกชายคนเล็ก วางแผนจับลูกชายคนโตฆ่าเสีย
จะว่าไป ก็ไม่ค่อยสมเหตุสมผลนัก ในเมื่อขุนแผนก็รู้ว่าลูกชายถูกเสน่ห์     แทนที่จะคิดเล่นงานตัวการคือคนทำเสน่ห์    กลับไปเล่นงานผู้เสียหายจากการทำเสน่ห์ 
ถ้าฆ่าพระไวยได้  ก็ไม่เห็นทำให้นางสร้อยฟ้าเป็นยังไง  ยังปลอดภัยดี  อย่างมากก็ลากลับไปอยู่กับพ่อที่เชียงใหม่  จบบทบาทไปเท่านั้นเอง
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 06 ต.ค. 09, 12:42

พระกาญจนบุรีศรีสงคราม(ขุนแผน)  เจ็บใจที่พระไวยล่วงเกินพระพิจิตรและนางบุษบา ผู้ที่ขุนแผนเรียกว่า พ่อ และ แม่  กระมังคะ

ฟังพระไวยเถียงคำไม่ตกฟากก็น่าโทสะจริตเกิด

พระไวยว่า

เจ้าชีวิตชุบเลี้ยงถึงเพียงนี้                       มีเมียไม่ดีก็ขายหน้า
เพื่อนขุนนางทั้งสิ้นจะนินทา                     ใช่ว่าจะไม่รักหล่อนเมื่อไร
หรือคุณพ่อกับคุณแม่บุษบา                     หารู้ทะเลาะดีด่ากันหรือไม่
ประเพณีมีมาแต่ก่อนไร                          มิใช่ใจใครจะลุถึงโสดา
ธรรมดาว่ามนุษย์ปุถุชน                         ยังมักหมิ่นมืดมนด้วยโมหา
จะให้หมดโมโหโกรธา                           สุดปัญญาที่ลูกจะผ่อนปรน



พระไวยได้ทวงบุณคุณที่ขอโทษขุนแผนออกจากคุก

แม้นไม่ดีที่ไหนจะพ้นโทษ                         เมื่อทรงโปรดก็ให้ไปตีเชียงใหม่นั่น
จึงได้มีความสุขทุกคืนวัน                         .........................


นางทองประศรีซึ่งรักหลานมากกว่าลูกอยู่แล้วก็เข้าข้างพระไวย  ว่าขุนแผนเล่นกล
เมื่อพระไวยเฉือดเฉือนนางบุษบา  ขุนแผนก็จะเข้าไปถอง      นางทองประศรีคว้าสากตำหมากซึ่งไม่น่าจะใหญ่อะไรนักออกป้องกัน

อ้ายหน้าด้านทะยานใจไม่เข้ายา                   เขาว่ากันลูกเขยกับแม่ยาย
งุ่นง่านการงานอะไรของตัว                         ประสมหัวพลอยเห่าเอาง่ายง่าย
จองหองจะถองไม่มีอาย                             ร้องด่าท้าทายแต่หลานกู
กูถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงไว้                        แต่อายุออไวยยังเด็กอยู่
อ้ายชาติข้าสองตามึงไม่ดู                          มุดหัวคุดคู้อยู่ในคุก

..............................
..............................
มึงจะเป็นผู้ดีสักกี่ชั้น                                เมื่อกระนั้นเขาก็เรียกว่าอ้ายขุน
เป็นเจ้าเมืองกาญจนบุรีพอมีบุญ                   ลืมคุณออไวยไปขอมา



ชอบใจคุณย่าทองประศรี   เหมือนคุณหญิงวาดเลยนะคะ
จะลงโทษลูกหลานก็ใช้ให้เจ้าแห้วไปเอาไม้ก้านธูปมา
เจ้าแห้วไปตัดกิ่งพู่ระหงส์กิ่งใหญ่ๆมา   คุณหญิงเลยฟาดกระบาลเจ้าแห้วแทน

ตอนเด็กๆอ่านแล้วอยากมีญาติผู้ใหญ่อย่างคุณหญิงวาดจัง



แหะๆ  ขอประทานโทษค่ะ   เรื่องชักใบออกทะเล
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 06 ต.ค. 09, 14:31

อ่านตอนนี้แล้วอดนึกไม่ได้ว่า แนวคิดของกวี ในตอนนี้เปลี่ยนไปจากตอนขุนช้างและขุนแผนชิงนางกัน
ตอนนั้นจบลงด้วยพระพันวษาเลือกที่จะไม่ลงโทษผู้ชายสองคนที่เอาแต่แย่งผู้หญิงกันไม่รู้จบ     ด้วยการลงโทษผู้หญิงแทน
มาถึงตอนศึกพลายชุมพล     ขุนแผนก็กลับเลือกลงโทษลูกชาย แทนที่จะเล่นงานลูกสะใภ้ตัวต้นเหตุ

เรื่องนี้ยังมีจุดอ่อนอีกอย่างคือเวลา
เมื่อขุนแผนทะเลาะกับพระไวย   พลายชุมพลอายุ ๗ ขวบ     ตอนเป็นหนุ่มส่งข่าวกลับมาหาพ่อ อายุ ๑๕ 
ขุนแผนเก็บความแค้นลูกชายไว้เฉยๆตั้ง ๘ ปี    กว่าจะระเบิดออกมา
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 06 ต.ค. 09, 15:16

เก็บเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย เกี่ยวกับมอญในขุนช้างขุนแผน ต่อ

ภาพตัวประกอบมอญในเรื่อง   คือเป็นแรงงานของนายจ้างไทย   
นางทองประศรี  เป็นเจ้าของไร่นาอยู่แถวๆบ้านกร่าง  กาญจนบุรี   มีคนงานหลายเชื้อชาติ รวมทั้งมอญด้วย

พอบ่ายเบี่ยงเสียงละว้าพวกข้าบ่าว               ทั้งมอญลาวเลิกนาเข้ามาสิ้น
บ้างสุมไฟใส่ควันกันยุงริ้น                           ตามที่ถิ่นบ้านนอกอยู่คอกนา
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 06 ต.ค. 09, 20:06

เปิดหาบทมอญในเรื่อง  ก็ไปเจอตัวประกอบที่มีบทบาทเข้าอีกคน คือนางมอญพี่เลี้ยงของศรีมาลา
ศรีมาลาเป็นลูกสาวเจ้าเมืองพิจิตร    เสภาฉบับหอพระสมุดไม่ได้บอกความเป็นมาของพระพิจิตร กับภรรยา   ว่าเป็นคนไทย แต่มีเชื้อสายอะไร หรือไม่ อย่างไร
รู้แต่ฉากเปิดตัวศรีมาลา ซึ่งโตเป็นสาวแล้ว  มีพี่เลี้ยงเป็นสาวมอญ ชื่อนางเม้ย
แต่จะว่าพ่อแม่บ้านนี้มีเชื้อสายมอญ เลยได้คนมอญเป็นข้ารับใช้   ก็ไม่ใช่    สังเกตจากวิธีเรียกพี่เลี้ยงคนนี้

ศรีมาลาว่าไฮ้อีมอญถ่อย                     เอาผัวผ้อยมาพูดไม่เป็นผล
อุตริทำนายทายสัปดน                        ถึงใครใครให้จนเทวดา

ถ้านายมีเชื้อมอญ  คงไม่จิกเรียกเชื้อชาติของบ่าว ว่า อีมอญถ่อย     คงจะเรียกชื่อมากกว่า    ก็เลยคิดว่ากวีคงตั้งใจให้ศรีมาลาเป็นไทยแท้   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 07 ต.ค. 09, 13:22

ท้ายสุดของการกล่าวถึงชาติพันธุ์มอญในกระทู้นี้  คือความสำคัญของนักรบมอญคนหนึ่งในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
นักรบมอญที่ติดตาม "พระนเรศร์" มาจากเมืองพะโคหรือหงสาวดี  มีความสำคัญกับรัตนโกสินทร์อย่างไร
อ่านได้จากกระทู้นี้
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=1198.0

ในพระราชหัตถเลขาที่สมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงมีไปถึงเซอร์จอห์น เบาริง เจ้าเมืองฮ่องกงที่เป็นทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีและการค้า   
ทรงเล่าถึงบรรพบุรุษของราชวงศ์จักรีไว้ว่า

"พระราชโอรสทรงพระนามว่า พระนเรศร์  ก็ได้ประทับอยู่ที่หงสาวดีจนสิ้นรัชกาลของพระเจ้าบุเรงนอง   
เมื่อพระเจ้าบุเรงนองเสด็จสวรรคต  บ้านเมืองก็เริ่มปั่นป่วนแบ่งแยกออกเป็นหลายฝ่าย ตกลงกันไม่ได้ว่าใครจะได้ครองราชสมบัติต่อไป เป็นเวลาร่วมครึ่งเดือน
พระนเรศร์จึงเกลี้ยกล่อมหลายตระกูลในหงสาวดี ให้มาสวามิภักดิ์    รวมทั้งขุนนางฝ่ายทหารที่ว่ามานี้  ก็ตกลงใจออกจากหงสาวดี ตามเสด็จกลับมาอยุธยา
แล้วพระนเรศร์ก็ทรงประกาศอิสระภาพ ไม่ขึ้นกับพะโคอีกต่อไป
นายทหารดังกล่าวก็ได้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ในกรุงศรีอยุธยาในที่ดินพระราชทาน 
***********************************

จะเห็นว่า สมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงเล่าถึงปฐมวงศ์ของราชวงศ์จักรี  ตามที่ทรงได้ยินจากคำบอกเล่าของพระญาติพระวงศ์ สืบต่อๆกันมา  เป็นการบอกเล่าด้วยการจดจำ
น่าสังเกตว่า ทรงกล่าวถึงบรรพบุรุษรุ่นแรกที่มาตั้งถิ่นฐานในกรุงศรีอยุธยาว่า มาจากหงสาวดี เมืองหลวงของพะโค  หรือมอญ  รับราชการกับบุเรงนอง
*****************
ในเมื่อสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงทราบเช่นนี้  ก็หมายความว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ พระราชบิดา ย่อมทรงทราบเช่นกัน   และก็น่าจะเป็นพระองค์ท่าน ที่ถ่ายทอดความรู้เรื่องบรรพชนนักรบมอญ ให้พระราชโอรสทรงทราบ
เพราะทรงสำนึกถึงสายเลือดมอญ แต่ดั้งเดิมหรือเปล่า  ที่ทำให้รัชกาลที่ ๒ ทรงต้อนรับกลุ่มนักรบมอญใหม่ที่อพยพเข้ามา  อย่างพระราชทานเกียรติยศยิ่ง
ขนาดเจ้าฟ้าพระราชโอรสเสด็จออกไปรับเอง  พระชันษาแค่ ๘-๙ ปีเท่านั้น

ทิ้งคำถามไว้ให้คิดกันเอง

เห็นจะจบเรื่องชาติพันธุ์มอญแค่นี้    รอสัก ๗ วัน  ถ้าไม่มีใครมาเพิ่มเติม จะเล่าถึงชาติพันธุ์ลาวต่อไป
เรื่องนี้เล่าได้ยาว และยาก กว่ามอญ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 11
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.081 วินาที กับ 19 คำสั่ง