เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 11
  พิมพ์  
อ่าน: 35160 ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 30 ก.ย. 09, 14:56

ก็เป็นได้อย่างที่ติบอตั้งข้อสังเกต ว่า ทหารอาสาหกเหล่า อาจไม่มีลักษณะพิเศษเฉพาะเหล่า ที่เห็นชัดเจนนัก เลยเรียกรวมๆกันไป
อาจจะเริ่มด้วยเหล่านั้นเหล่านี้ก่อน  ค่อยๆเพิ่มขึ้นจนเป็นหกเหล่าก็ได้  แล้วหยุดแค่นั้น  ไม่มีเจ็ดแปด
หรือหกเหล่า แบ่งตามหน้าที่  ตามเขตที่รับผิดชอบดูแล  ก็เป็นได้

ดิฉันจะพยายามเข้ามาตอบ มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่หาเวลาได้ค่ะ คุณ wandee
ค่อยๆคุยกันไป   ไม่รีบร้อน     จะได้เป็นช่องทางให้แตกหัวข้อไปได้กว้างขวาง มีเกร็ดต่างๆแทรกเป็นความรู้ได้มาก

เรื่องขุนศรีวิชัย พ่อของขุนช้าง   อาจจะเชื้อสายมอญ  ก็น่าสนใจ   ไม่ทราบว่าในขุนช้างขุนแผนฉบับอื่นๆบอกเบาะแสไว้หรือเปล่าคะ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 30 ก.ย. 09, 17:34

คุณอารีย์  สุทธิเสวันต์ เรียบเรียงเรื่องขุนศรีวิชัยไว้เพียง


"รับราชการเป็นนายกองกรมช้างนอก 

เป็นเศรษฐีคนหนึ่งของเมืองสุพรรณ  อยู่บ้านรั้วใหญ่
ได้นางเทพทองซึ่งอยู่ที่ท่าสิบเบี้ยเป็นภริยา  มีลูกชายคนหนึ่งชื่อขุนช้าง ศีรษะล้านแต่เกิด
................................"



อ่านมาถึงตอนนี้ก็เข้าใจ  เพราะจำได้ว่าบ้านขุนช้างมีสมบัติเยอะ

นายกองกรมช้างนอก นี่คงต้องมีฝีไม้ฝีมือพอควรนะคะ
ตามที่อ่าน เสภาฉบับหอสมุดแห่งชาติก็เล่าไว้ตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้างว่า

..........................              เครื่องช้างสารพัดจะจัดสรร
ขอคร่ำด้ามพลองทองพัน             ............................


ตอนแต่งงานพระไวย
เมื่อขุนช้างเดินทางมาร่วมงาน เพราะอยากเป็นที่รู้จักของขุนนาง
ขี่ช้างพลาย   ที่

      เชือกพวนล้วนดามผ้าแดงดี

ผ้าแดงที่ดามนี้  ใช้เพื่อป้องกันเครื่องประดับหรือเชือกบาดเนื้อสัตว์
เพราะ เครื่องประดับอื่นๆในบ้าน ก็ดามด้วยสักหลาดอยู่แล้ว


เรื่องสังเขปนี้ มีตั้งแต่หน้า  (๒๕)  ถึง  (๔๐)
เห็นว่าแปลกดีที่มีชื่อเดิมของ ขุนไกรพลพ่าย  และบอกด้วยว่าเป็นลูกพลายประจำยาม

ชาวบ้านสามัญจะไม่น่าที่จะมีของเหล่านี้ใช้
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 30 ก.ย. 09, 21:38

นางทองประศรี รู้หนังสือ ทั้งขอมและไทย
สามารถสอนพลายงามได้

ตอนพาพลายแก้วไปกาญจนบุรีก็บุกป่าไปและดูแลลูกชายอย่างดีที่สุด
ตอนกลางคืนก็ผูกห้างนอนบนต้นไม้
แสดงว่านางต้องมาจากครอบครัวนักสู้เลยทีเดียว
เอามือลูบตัวลูกไล่ยุงและมดทั้งคืน


เป็นหญิงที่เข้มแข็งมากสามารถสร้างตัวได้จากการค้าขาย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 01 ต.ค. 09, 09:13

ผู้หญิงรุ่นแม่ในเรื่อง เก่งกันทั้งสามคน    สามีตายไปก่อน   ภรรยาก็สามารถดำรงฐานะได้เป็นปึกแผ่น  พึ่งตัวเองและยังเป็นที่พึ่งของบริวารได้

ดูจากฐานะขุนช้าง  ถ้าเกิดสมัยนี้ แกคงมีเครื่องบินส่วนตัว  ยิ้มเท่ห์
*****************
กลับมาเรื่องมอญ ค่ะ
บทบาทของมอญในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น    ถือว่าสำคัญ    เพราะกรุงเทพพระมหานคร ก่อร่างสร้างขึ้นมากลางศึกสงคราม
๑๕ ปีก่อนหน้านี้สมัยธนบุรี   และ ๒๗ ปีในรัชกาลที่ ๑   ขุนนางต้องรบทัพจับศึกกันไม่ว่างเว้น   
นักรบเชื้อสายมอญ จึงได้ใกล้ชิดเจ้านาย  เป็นที่ไว้วางพระทัย
อย่างในวังหน้ารัชกาลที่  ๑    กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงเป็นนักรบเต็มพระองค์   แวดล้อมด้วยนักรบวังหน้าฝีมือเยี่ยม  ออกศึกกันมาหลายหนรวมทั้งสงครามเก้าทัพ
ชาววังหน้าก็เลยทะนงตัวว่าเก่งกว่าชาววังหลวง  จนปลายรัชกาล มีเหตุกระทบกระทั่งกัน   เกือบจะเกิดศึกสายเลือดระหว่างพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ และกรมพระราชวังบวรฯ  ถ้าพระพี่นางทั้งสองพระองค์ไม่ทรงห้ามศึกไว้ทันเสียก่อน

พอสิ้นกรมพระราชวังบวรฯ   ศึกวังหน้าก็ปะทุขึ้นมา  ได้ชื่อว่า กบฏวังหน้า
กบฏวังหน้าถูกปราบเหี้ยนเตียน    พระองค์เจ้าลำดวน พระองค์เจ้าอินทปัต พระโอรสในกรมพระราชวังบวรฯ ถูกสำเร็จโทษ
พระยากลาโหม ขุนนางคนสนิทซึ่งกล่าวกันว่าเป็นโอรสบุญธรรมของวังหน้า ถูกถอดเป็น "อ้ายทองอินกลาโหม"  ถูกประหารไปอีกคน
นักรบมอญของวังหน้า  ก็ต้องตายตามนายไปทั้งขบวน   เป็นการจบบทบาทครั้งใหญ่ของนักรบมอญ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 01 ต.ค. 09, 14:44

ฮะแอ้ม!   อาจารย์ยังไม่มา จึงฉวยโอกาสคุยกัน


ขออนุญาตตอบคำถามของ คุณ kui045   ถามว่า บทเสภา เร่ืองขุนช้างขุนแผน
สำนวนครูแจ้ง  หรือ คำครูแจ้ง  ว่ามีขายหรือไม่


ตอบว่า น่าจะเป็นหนังสือหายากมาก
(ไม่มีบุญเหมือนนางละเวงในเรื่อง พระอภัยมณีตอนดินถนัน เป็นไม่ได้เจอ)

คุณคึกฤทธิ์เล่าไว้ว่าท่านเคยมีอยู่เล่มหนึ่ง  ทำหายไป

หนังสือบางเล่มที่เขียนเกี่ยวกับครูแจ้ง  ก็ลงเพียงเรื่องที่รวมลงไปในฉบับกรมศิลปแล้ว
ไม่ได้มีตอน รักแสนพิศวง ของพระไวย กับนางศรีมาลา และ นางสร้อยฟ้าแต่อย่างใด



เรื่องที่ได้พิมพ์ เป็นตอน แต่งงานพระไวย
ราชบัณฑิตพิมพ์แจกในงานกฐินพระราชทาน ณ วัดสังเวชวิศยาราม
เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๘

พิมพ์ที่อักษรเจริญทัศน์  ถนนบำรุงเมือง  พระนคร

ดังนั้นก็หมายความว่า  ไม่เคยมีสำนวนครูแจ้ง ขาย


อีกตอนหนึ่งที่ตามหากัน คือ ตอน พระไวยต้องเสน่ห์ 
รายละเอียดไม่มีค่ะ เพราะไม่เคยเห็นค่ะ
คิดว่ายังเป็นตัวชุบหมึกอยู่


หนังสือ เรื่องขุนช้างขุนแผน  ตอนแต่งงานพระไวยนี้   ปรากฎตัวในงานสัปดาห์หนังสือสองปีที่ผ่านมา
เป็นหนังสือที่คัดออกจากโรงพิมพ์เนื่องด้วยการเย็บเล่มผิดพลาด  มีหน้าเกินมา
ขอบคุณโรงพิมพ์ที่ไม่ได้ทำหน้าขาด

ร้านหนังสือใหญ่แห่งหนึ่งคัดทิ้งให้ร้านในเครือ(ร้านของน้องภรรยา)
เนื่องจากมีรอยดินสอดำเขียนไว้เต็มไปหมดทั้งปกหน้าและปกใน
หนังสือจึงรอดสายตาเหยี่ยวทั้งหลาย


รู้สึกว่าแลกเปลี่ยนไปในราคา ๑๒๐ บาทค่ะ

หนังสือมี ๔๙ หน้า  ปกอ่อนสีน้ำตาลแกมส้ม



บันทึกการเข้า
srisiam
สุครีพ
******
ตอบ: 857


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 01 ต.ค. 09, 20:30

ขออนุญาต...ลงทะเบียนเรียนด้วยคนครับ..ในฐานะคนบ้านเดียวกับขุนแผนและชดเชยกับที่เคยโดดเรียนบ่อยๆในวิชานี้...จะสงบเสงี่ยมตั้งใจเรียน.ไม่แกล้งเพื่อน..หรือก่อกวนใดๆ..ครับผม ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 01 ต.ค. 09, 20:54

อย่าคิดมายืมยาหม่องตราชีวกโกมารภัทร ของเพื่อนเป็นอันขาด


ตามธรรมเนียมนักเรียนใหม่ต้องแนะนำตัวหน้าห้องค่ะ   ประวัติ อายุ  การศึกษาไม่ต้อง

ถามว่าอ่าน เสภาขุนช้างขุนแผน ถึงตอนไหนคะ
เท่าที่จำได้ดาบฟ้าฟื้นอยู่ที่ไหน
บันทึกการเข้า
srisiam
สุครีพ
******
ตอบ: 857


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 01 ต.ค. 09, 23:40

โห..คุณแวนดี้..เอ๊ย wandee ให้ทำข้อสอบก่อนเรียนเลยรึครับ..อ่านถึงคำนำครับ..ที่เคยเรียนลืมเกลี้ยง..ถึงได้มาขอเข้าห้องเรียนไง..ส่วนดาบฟ้าฟื้น..เท่าที่จำได้..อยู่ที่อ.เนาวรัตน์ พงษ์ฯเพราะท่านบอกว่ารักดาบฟ้าฟื้นมากถึงขั้นเอาไปตั้งให้เป็นชื่อวิทยุชุมชนที่กาญจน์ ..(ด่วน ..พี่เนาว์ประสบอุบัติเหตุรถชนกันที่กาญจน์..วันนี้เองครับ..เข้ารักษาตัวที่กทม.แล้ว)...เข้ามาทักทายคลายเครียด..อย่าถือสา
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 02 ต.ค. 09, 00:37

(อ่านข่าวแล้วค่ะ  ดีใจด้วยที่ท่านไม่เจ็บมาก)


ที่ถามก็เพราะว่าเสภา ขุนช้างขุนแผน แต่งกันหลายคน
ดิฉันอ่านแล้วก็ไปอำเพื่อนๆว่าขุนแผนเป็นอัลไซเมอร์ค่ะ


เรื่องดาบเทพศักดาฟ้่าฟื้นนี่ล่ะค่ะ
ซ่อนหลายแห่งเหลือเกิน
หลังสุดใส่ไว้ในโพรงต้นรักข้างปากถำ้อยู่ทิศบูรพาบนเขาใหญ่

แปลกนะคะ  ศรีมาลาบอกกับพลายเพชรกับพลายบัวว่า

ครั้นจะให้ลูกเต้าทั้งปวงไว้            บาปจะติดตัวไปเบื้องหน้า

เลยกระซิบบอกศรีมาลา

...........................             ดาบของปู่เล่มหนึ่งนั้นถึงดี
ให้ชื่อเทพศักดาฟ้าฟื้น                กินคนกว่าหมื่นไม่นับผี
เอาออกอ่านฟ้าก็ผ่ามาทุกที


ตอนที่ตีเสร็จใหม่ๆ  ฝนกำลังจะตก ที่เรียกว่าฟ้าพยับโพยมหน
ฟ้าผ่าดังเหมือนเสียงปืน(เสภาขุนช้างขุนแผน   ฉบับหอสมุดแห่งชาติ     แพร่พิทยา ๒๕๑๓  เล่ม ๑  หน้า ๓๕๘)

หน้า ๔๗๕   ขุนแผนซ่อนดาบฟ้าฟื้นไว้ที่โพลงต้นไทร  บ้านดาบก่งธนู(ขุนแผนตั้งชื่อบ้านไว้ล่วงหน้าเลยค่ะ)


(เล่มสอง  หน้า ๖๒๗)ขุนแผนพาพลายงามมาขุด  บอกว่าฝังไว้ตรงกิ่งทิศบูรพา
โพลงคงลึกลงไป  ดาบเลยไหลลงดินไป

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 02 ต.ค. 09, 06:44

สะกด โพรง  ผิดค่ะ
บันทึกการเข้า
srisiam
สุครีพ
******
ตอบ: 857


ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 02 ต.ค. 09, 06:46

ขอบคุณครับที่ให้ความรู้..ทำไมไหงสนุกกว่าแต่ก่อนตอนที่เรียนหนอ??...เสร็จภาระกิจ"เจดีย์"เห็นทีต้องยกเล่มมาอ่านใหม่ซะแล้ว..ขอบคุณอีกครั้งครับ
บันทึกการเข้า
manit peuksakondh
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 02 ต.ค. 09, 11:55

โอย ผมเข้ามาอยู่ผิด "ชาติพันธ์" หรือเปล่า ครับ ใครๆเขาเคยเรียนกันทั้งห้องเลย  มีผมเท่านั้นที่ไม่เคยเรียนเลย งั้นขอเป็น observer ก็แล้วกันนะครับ จะได้ไม่โดน PQ ฮิ อิ
มานิต
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 02 ต.ค. 09, 15:03

ขอร่วมวงด้วยสักคน ยิงฟันยิ้ม

ประเด็นแรก เรื่องขุนไกรพลพ่าย พ่อพลายแก้ว เป็นคนเชื้อสายมอญนั้น คุณอารีย์  สุทธิเสวันต์ บอกว่าชื่อเดิมของขุนไกรฯ คือ พลายจันทร์ ตอนแรกที่อ่านก็ไม่เชื่อเพราะไม่มีตอนใดในเสภาขุนช้างขุนแผนฉบับหอพระสมุดวชิรญาณกล่าวเอาไว้  จนกระทั่งได้ไปอ่านเสภาขุนช้างขุนแผนซึ่งเป็นเนื้อเรื่องนอกฉบับหอพระสมุดวชิรญาณฉบับหนึ่งเล่าเรื่องพลายจันทร์ก่อนเป็นขุนไกรฯ ไว้อย่างละเอียด สนุกมาก  ยืนยันสิ่งที่คุณอารีย์  สุทธิเสวันต์ เขียนได้ว่าถูกต้อง  คิดอยู่ว่าสมควรจะเผยแพร่เสภาที่ว่าให้ทราบกันกว้างขวาง  เพราะจะได้เติมเต็มเนื้อหาตอนต้นเรื่องของเสภาขุนช้างขุนแผนฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ ที่ไม่กล่าวถึงที่ไปที่มาของของขุนไกรฯ แต่อ้างถึงเรื่องสมัยหนุ่มๆของขุนไกรฯ หลายครั้ง เสภาที่ว่านี้เคยพิมพ์มาครั้งหนึ่งแล้วด้วย เอาไว้ถ้ามีคนสนใจ จะเอามาเล่าให้ฟังอย่างละเอียดต่อไป

ประเด็นต่อมา  เรื่องอาสาหกเหล่า ตามที่เคยทราบมา อาสาหกเหล่านี้ เป็นทหารต่างชาติที่มาอาศัยและรับราชการในเมืองไทย  มีความรู้ความสามารถการรบการใช้อาวุธบางอย่างเป็นพิเศษ  อาสาเหล่านี้ คือ ทหารอาชีพสมัยก่อนนั่นเอง มีหน้าที่เป็นราชองครักษ์และผู้ชำนาญการ แต่เดิมคงจะมีอยู่หกเหล่า โดยแบ่งเป็นเหล่าตามเชื้อชาติ  เท่าที่เคยได้ยิน มีมอญเหล่าหนึ่ง พวกมอญชำนาญยุทธวิธีและการสืบข่าวทางด่านตะวันตก  จึงมีหน้าที่คอยตระเวนด่านทางแถบตะวันตก  จามเหล่าหนึ่งกับแขกมลายูชวาเหล่าหนึ่ง  สองพวกนี้ถนัดเรื่องการรบทางน้ำและการใช้เรือ จึงมีหน้าที่เกี่ยวกับกองเรือรบ  ญี่ปุ่นเหล่าหนึ่ง พวกนี้ใจเด็ดเดี่ยว ใช้ดาบเก่ง   ฝรั่งเหล่าหนึ่ง พวกถนัดเรื่องปืนไฟและปืนใหญ่  อีกพวกน่าจะเป็นลาว พวกนี้เป็นกองลาดตระเวนทางเหนือ  อาสาหกเหล่านี้ ขึ้นตรงกับพระเจ้าแผ่นดิน ตำแหน่งเจ้ากรมแต่ละเหล่าเทียบเท่าจตุสดมภ์ทีเดียว  ถ้าจะให้ชัดต้องดูในโคลงพยุหยาตราเพชรพวงกับลิลิตกระบวนแห่พระกฐินทางสถลมารคและทางชลมารคประกอบด้วย  เคยได้ยินว่า อาสาหกเหล่านี้ ชำนาญเรื่องงานช่างบางอย่างด้วย

ประเด็นสุดท้าย  เรื่องเสภาขุนช้างขุนแผนที่มีสำนวนต่างจากฉบับที่หอพระสมุดฯ ชำระ  เคยถามคนที่ค้นคว้าเรื่องเอกสารตัวเขียนในหอสมุดแห่งชาติและได้ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับเสภาขุนช้างขุนแผนที่มีสำนวนต่างจากสำนวนหอพระสมุดฯ ว่า ที่ว่าสำนวนต่างจากสำนวนหอพระสมุดฯ  มันเป็นอย่างไร  เขาก็ตอบว่า  ต่างเพียงรายละเอียดของกลอนบางตอนเท่านั้นเอง  ถึงจะสำนวนต่างกัน แต่เนื้อเรื่องหลักๆก็ยังเหมือนกัน ผิดกันเฉพาะรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ  และไม่มีผลกับการดำเนินเรื่องของสำนวนหอพระสมุดฯ  น่าจะเป็นเพราะคนแต่งทราบว่า คนฟังเสภารู้จักเรื่องขุนช้างขุนแผนกันมาก อีกทั้งเป็นเรื่องที่นิยมฟังกัน  หากแต่งดัดแปลงให้ต่างจากเนื้อเรื่องที่ชาวบ้านรับรู้ บางทีคนฟังเสภาอาจจะไม่ชอบก็ได้  แต่เมื่อต้องให้เนื้อความเสภาตนเองโดดเด่นกว่าของคนอื่น  ก็จะแต่งขยายบทบรรยายหรือบทพรรณนาความบางส่วนที่คนอื่นอาจจะกล่าวย่อๆ ให้ละเอียดพิสดารมากขึ้น อย่างครูแจ้งแต่งตอนขุนแผนทำกุมารทองก็แต่งบรรยายการทำกุมารทองละเอียดจนคนฟังคนอ่านอาจเอาไปทำตามได้  ตรงนี้เรียกว่าแต่งอวดภูมิรู้กัน  เคยอ่านบทเสภาตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้างเทียบกันสามสำนวน ก็มีลักษณะอย่างนี้ คือ บรรยายพรรณนาเรือนขุนช้างบางตอนละเอียดพิสดารตามความถนัดของคนแต่งแต่ละสำนวน  บางสำนวนสั้น บางสำนวนยาว บางสำนวนยาวมากจนเยิ่นเย้อ เป็นอย่างที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในตำนานเสภาขุนช้างขุนแผน  ฉะนั้น ถึงจะต่างสำนวนกันแต่โดยเนื้อกลอนหลักๆ ยังคงเหมือนหรือคล้ายกัน

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 02 ต.ค. 09, 15:52

http://www.thaipoet.net/index.php?lay=show&ac=article&Id=564986&Ntype=2

ครูแจ้งวัดระฆัง สร้างสำนวนขุนช้างขุนแผน แสนสยอง ตีดาบ(ฟ้าฟื้น) ซื้อม้า(สีหมอก) ผ่าท้อง(นางบัวคลี่) หากุมาร(ทอง) ปรับปรุงจากหนังสือขุนช้างขุนแผนแสนสนุก

สุจิตต์ วงษ์เทศ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก มีนาคม 2545

            ในบรรดากวียุคต้นกรุงเทพฯ ผู้แต่งเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนด้วยกันแล้ว ดูเหมือนชื่อครูแจ้งจะเป็นที่กล่าวขวัญถึงมากที่สุดว่ามีกวีโวหารโลดโผนและหยาบคาย

            ครูแจ้งแต่งเสภาไว้หลายตอน แต่ตอนขุนแผนตีดาบซื้อม้าหากุมารทองที่มีฉากผ่าท้องนางบัวคลี่ก็เป็นที่เลื่องลือชื่อกระฉ่อน เพราะแต่งได้สยดสยองพองขนยิ่งนัก

            แต่บทเสภาตอนที่ว่านี้มีปัญหาคาใจผู้อ่าน เพราะฉบับที่พิมพ์เป็นเล่มแพร่หลายอยู่นี้ถูกสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรง "ชำระ" จนสะอาดหมดจดหมดราคีคาว ไม่โลดโผนและไม่หยาบคายอย่างที่รู้ๆ กัน ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าต้นฉบับเดิมของครูแจ้งแต่งไว้มีเนื้อความแท้ๆ ว่าอย่างไร? ชวนให้อยากอ่านฉบับเดิมแท้ๆ ก่อนถูกตัดและดัดแปลง

            แต่ก็ไม่ได้อ่าน เพราะนับแต่ พ.ศ.2461 ที่สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรง "ชำระ" และมีการพิมพ์เผยแพร่เป็นเล่ม จนถึง พ.ศ.2545 เป็นเวลาราว 84 ปี แล้ว สาธารณชนคนทั่วไปไม่ได้อ่าน และหาอ่านไม่ได้ เพราะหน่วยราชการที่ดูแลต้นฉบับไม่อนุญาตให้ใครอ่าน โดยเขียนป้ายปะหน้าสมุดไทยว่าห้ามบริการ และไม่พิมพ์มาให้อ่าน

            โชคดีที่มีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พ.ศ.2540 ทำให้ได้อ่านสำเนาต้นฉบับเดิมของครูแจ้ง ตอนตีดาบซื้อม้าหากุมาร (ไม่ได้อ่านต้นฉบับจริงที่เขียนลงสมุดไทย)

            ครูแจ้ง อยู่วัดระฆัง

            ร่วมสมัยสุนทรภู่ มีครูเสภาคนสำคัญอีกท่านหนึ่ง ชื่อ "ครูแจ้ง"

            กลอนไหว้ครูเสภา-ปี่พาทย์ ออกชื่อครูต่างๆ และมีชื่อครูแจ้งว่า "อีกครูแจ้งแต่งอักษรขจรลือ ครูอ่อนว่าพิมระบือชื่อขจร" และเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนตอนทำศพนางวันทอง มีการละเล่นต่างๆ ยังออกชื่อครูแจ้งไว้ด้วยว่า

           นายแจ้งก็มาเล่นเต้นปรบไก่             ยกไหล่ใส่ทำนองร้องฉ่าฉ่า
           รำแต้แก้ไขกับยายมา                     เฮฮาครื้นครั่นสนั่นไป

            สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ "ตำนานเสภา" แล้วทรงมีรับสั่งเรื่องครูแจ้งเอาไว้มากที่สุดว่า

      "เป็นครูเสภาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์รุ่นหลัง มีอายุอยู่มาจนถึงรัชกาลที่ 5 บ้านอยู่หลังวัดระฆังฯ แต่เดิมมีชื่อเสียงในการเล่นเพลง ถึงอ้างชื่อไว้ในบทเสภาตอนทำศพวันทองว่าหานายแจ้งมาว่าเพลงกับยายมา คือครูแจ้งคนนี้เอง มีเรื่องเล่ากันมาว่าครูแจ้งกับยายมานี้ เป็นคนเพลงที่เลื่องลือกันในรัชกาลที่ 3 อยู่มาไปเล่นเพลงครั้งหนึ่ง ยายมาด่าถึงมารดาครูแจ้งด้วยข้อความอย่างไรอย่างหนึ่ง ซึ่งครูแจ้งแก้ไม่ตก ขัดใจจึงเลิกเพลงหันมาเล่นเสภา และเป็นนักสวดด้วย ได้แต่งเสภาไว้หลายตอน...ด้วยแต่งกลอนดี แต่กระเดียดจะหยาบ เห็นจะเป็นเพราะเคยเล่นเพลงปรบไก่ ถึงลำสวด ที่สวดกันมาในชั้นหลัง ว่าเป็นลำของครูแจ้งประดิษฐ์ขึ้นก็มี จึงนับว่าครูแจ้งเป็นครูเสภาสำคัญอีกคนหนึ่ง”

            ประวัติส่วนตัวครูแจ้งมีเท่านี้เอง ไม่มีหลักฐานว่าบิดามารดาคือใคร? เกิดเมื่อไร? เกิดที่ไหน? ตายเมื่อไร? รู้แต่ว่า "มีอายุอยู่มาจนถึงรัชกาลที่ 5" ซึ่งอาจ "เดา" ว่าเป็นคนเกิดทีหลังสุนทรภู่ (เพราะสุนทรภู่ถึงแก่กรรมเมื่อต้นแผ่นดินรัชกาลที่ 4)

การที่สุนทรภู่ไม่ออกชื่อครูแจ้งไว้เป็น 1 ใน 6 ในบทเสภาตอนกำเนิดพลายงาม แสดงว่าในแผ่นดินรัชกาลที่ 2 ครูแจ้งยังเยาว์ หรือยังไม่มีชื่อเสียง หรือยังไม่ขับเสภาก็ได้ทั้งนั้น แต่เมื่อถึงรัชกาลที่ 3 ครูแจ้งมีชื่อเสียงแล้ว แต่มีทางเล่นเพลงปรบไก่กับยายมา ซึ่งเป็นตอนที่สุนทรภู่ออกบวชหนีราชภัย แล้วมักจาริกแสวงบุญไปที่ต่างๆ นอกพระนคร

            "เสภาต้องห้าม" สำนวนครูแจ้ง

            เชื่อกันว่าครูแจ้งหันมาเอาดีทางเสภา เมื่อช่วงปลายแผ่นดินรัชกาลที่ 3 แล้วมีชื่อเสียงทางแต่งเสภาในแผ่นดินรัชกาลที่ 4

            หอสมุดแห่งชาติมีบทเสภาสำนวนครูแจ้งคัดเป็นตัวพิมพ์ดีดไว้รวมด้วยกัน 5 ตอน คือ ตอนกำเนิดกุมารทอง, ตอนขุนแผนพลายงามตีเมืองเชียงใหม่แก้พระท้ายน้ำ, ตอนแต่งงานพระไวย, ตอนพระไวยต้องเสน่ห์ และตอนเถรขวาด ในคราวชำระบทเสภาฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ ได้เลือกสำนวนบทเสภาของครูแจ้งมาพิมพ์ไว้แทนสำนวนอื่นก็หลายตอน เช่น ตอนกำเนิดกุมารทอง, ตอนขุนแผนพลายงาม ตีเมืองเชียงใหม่ และตอนเถรขวาด (คำอธิบายของกรมศิลปากร ในหนังสือบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนแต่งงานพระไวย (สำนวนครูแจ้ง), ราชบัณฑิตยสถานพิมพ์แจกในงานกฐินพระราชทาน ณ วัดสังเวชวิศยาราม, เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ.2478-แล้วมีคำอธิบายเพิ่มเติมว่า

            "บทเสภาสำนวนครูแจ้ง แม้จะปรากฏว่าข้อความในบางบาทของบทกลอน มีคำมากกว่าปกติกระทำให้ฟังเยิ่นเย้อออกไปก็ดี แต่การพิมพ์คงให้รักษาของเดิมไว้ตามต้นฉบับที่มีอยู่ ไม่ได้แก้ไขตัดทอน เพราะเห็นว่ากลอนเสภาย่อมแต่งไว้สำหรับขับร้อง ผู้ขับร้องอาจเอื้อนเสียงทำทำนองให้เข้ากับจังหวะฟังเพราะได้ เพราะฉะนั้นความสำคัญของกลอนเสภาจึงอยู่ที่ทำนองขับ ไม่ได้อยู่ที่อ่านกันตามธรรมดา"

เสภาตอนกำเนิดกุมารทองที่เป็นสำนวนครูแจ้งนี้ พวกเสภาชอบขับกันแพร่หลาย เพราะลีลาโลดโผนและมีภูตผีอิทธิปาฏิหาริย์มาเกี่ยวข้อง สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระอธิบาย (เมื่อ พ.ศ.2460) ว่า

            "เนื้อเรื่องเสภาตอนนี้ตามหนังสือบทเดิมว่าขุนแผนไปเที่ยวหาโหงพรายตามป่าช้า ไปพบผีตายทั้งกลมชื่ออีมากับอีเพชรคง ขุนแผนจึงขอลูกในท้องมาเลี้ยงเป็นกุมารทอง ความเดิมสั้นเพียง 4 หน้ากระดาษ ครูแจ้งเอามาขยายความ ผูกเรื่องให้ขุนแผนไปได้นางบัวคลี่อยู่กินด้วยกันจนมีครรภ์ แล้วเกิดเหตุนางบัวคลี่ตายทั้งกลม ขุนแผนจึงได้กุมารทองมา ว่าโดยย่อให้กุมารทองเป็นลูกขุนแผนจริงๆ..."

            สมเด็จฯทรงเห็นว่าเรื่องกุมารทองนี้สำนวนครูแจ้งดีกว่าของเดิม จึงเอาสำนวนครูแจ้งลงพิมพ์ในหนังสือเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน (ฉบับที่อ่านกันอยู่ทุกวันนี้) มีฉากผ่าท้องนางบัวคลี่เอากุมารทอง ถ้าได้ฟังคนเสภาตีกรับขับเสภาเต็มกระบวนจะถึงใจพระเดชพระคุณยิ่งนัก คนสมัยใหม่อาจจะบอกว่าฉากผ่าท้องย่างกุมารนี้มีอาการ "ซาดิสม์" ก็ได้

            สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีรับสั่งไว้ในคำอธิบายอีกว่า ครูแจ้งแต่งเสภาดีเมื่อถึงตอนสะท้อนชีวิตนิสัยใจคอคนสามัญ แต่ "ถ้ามีโอกาสมักจะหยาบ ถึงจะหยาบก็ช่างว่า" แล้วทรงมีรับสั่งว่าเสภาตอนนี้ครูแจ้งแต่งหยาบจนต้องตัดออก 2 แห่ง คือตรงนางศรีจันทร์สอนนางบัวคลี่ กับตรงบทอัศจรรย์ขุนแผนเข้าห้องนางบัวคลี่ เรื่องนี้สมเด็จฯทรงมีรับสั่งไว้ใน "ตำนานเสภา" ตอนหนึ่งว่า

            "หนังสือเสภาสำนวนเก่า บางแห่งมีความที่หยาบคาย ด้วยผู้แต่งประสงค์จะขับให้คนฮา...พาให้บทเสภาเป็นที่รังเกียจของผู้อ่าน ถึงแต่ก่อนมีบางตอนที่ห้ามกันไม่ให้ผู้หญิงอ่าน ชำระคราวนี้ได้ตัดตรงที่หยาบนั้นออกเสีย ด้วยประสงค์จะให้หนังสือเสภาฉบับนี้พ้นจากความรังเกียจ แต่ไม่ได้ตัดถึงจะให้เรียกราบทีเดียว เพราะกลอนเสภาดีอยู่ที่สำนวนเล่นกันอย่างปากตลาด บางทีก็พูดสัปดน หรือด่าทอกัน ถ้าไปถือว่าเป็นหยาบคายตัดออกเสียหมด ก็จะเสียสำนวนเสภา จึงคงไว้เพียงเท่าที่จะไม่ถึงน่ารังเกียจ"

            เมื่อสมเด็จฯทรงตัดเอาตอนดีๆ ไปเสียแล้ว คนรุ่นหลังๆ รวมทั้งตัวผมเองจึงไม่ได้อ่านโวหารเปลือยๆ ของครูแจ้ง แต่สงสัยว่าอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านจะเคยอ่านเพราะท่านบรรยายไว้ในหนังสือ "ขุนช้างขุนแผนฉบับอ่านใหม่" (สำนักพิมพ์สยามรัฐ จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม 2532, หน้า 100-103) มีอบรมสั่งสอนลูกสาวให้รู้จักปรนนิบัติพัดวีผู้จะเป็นผัวตามประเพณี แต่สำนวนที่อ่านกันทั่วไป "ไม่อร่อย" อาจารย์คึกฤทธิ์จึงยกมาอีกสำนวนหนึ่งซึ่งท่านเข้าใจว่าเป็นสำนวนครูแจ้ง ดังจะขอคัดตัดตอนมาดังต่อไปนี้

 

            "คำสั่งสอนลูกสาวสำนวนนี้ขึ้นต้นก็สอนวิธีให้เอาใจผัว เช่นเดียวกับสำนวนอื่นๆ ทุกแห่ง

ครั้นเมื่อยามดึกกำดัดสงัดหลับ         คนระงับนอนนิ่งทั้งเรือนใหญ่

            ท่านยายปลอบลูกน้อยกลอยใจ       แม่จะไปนิทรากับสามี

            งามปลื้มแม่อย่าลืมคำสอนสั่ง           อุตส่าห์ฟังจำไว้ให้ถ้วนถี่

            อันการปรนนิบัติของสตรี                 ถ้าทำดีแล้วชายไม่หน่ายใจ

            สู้ถ่อมตัวปรนนิบัติคอยจัดแจง          เมื่อเขาแข็งแล้วอย่าขัดอัชฌาสัย

            รู้จิตผัวว่าสมัครรักเท่าไร                 ก็ยักย้ายส่ายให้ถูกใจกัน

            เสภาสำนวนนี้เห็นได้ชัดว่าต้องการจะขับให้คนฟังได้หัวเราะเอาสนุก จึงพูดเป็นสองแง่สองง่าม ทำให้เกิดความเข้าใจเกินไปกว่าที่ได้ยินจากเสภา..."

ครั้นมาถึงบทสอนให้ทำกับข้าว ก็เห็นได้ว่ากับข้าวที่สอนนั้น เป็นกับข้าวอย่างเดียวกันกับที่อยู่ในสำนวนฉบับหอพระสมุดฯ คือมีต้มตีนหมู มีไข่ไก่สด และมีปลาไหลต้มยำ...นอกจากบอกตำราทำกับข้าวแล้ว เสภาสำนวนนี้ยังได้บอกสรรพคุณของกับข้าวเหล่านี้ด้วย

            อุตส่าห์จำทำให้ผัวกินลอง                          ล้วนแต่ของมีกำลังทั้งสามสิ่ง
            ทำให้กินเนืองเนืองเปรื่องขึ้นจริง                   ทุกสิ่งของแท้เป็นแน่นอน
            ทำให้กินทุกวันหมั่นสำเหนียก                      แม้อ่อนเปียกก็จะแข็งเป็นไม้ท่อน
            พอตกค่ำขึ้นท้ายไม่หลับนอน                       พายเรือคอนเหยาะเหยาะจนเคาะระฆัง

            เสภา "สอนลูกสาว" ที่คัดมานี้ อาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เชื่อว่าเป็นสำนวนครูแจ้ง แล้วยังบอกอีกว่า "เคยมีฉบับพิมพ์เก่ามากๆ ขาดๆ วิ่นๆ..." แต่ต่อมาฉบับพิมพ์นี้หายไปอาจารย์คึกฤทธิ์จึงเขียนบอกว่า "ที่เอามาลงได้ในที่นี้นั้นมาจากความจำของผมเองทั้งสิ้น"

            เมื่ออ่านโวหารแล้วก็เชื่อตามท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ว่าเป็นสำนวนครูแจ้ง ยิ่งตอนที่สอนลูกสาวว่า "สู้ถ่อมตัวปรนนิบัติคอยจัดแจง เมื่อเขาแข็งแล้วอย่าขัดอัชฌาสัย" กับตอนสอนทำกับข้าวแล้วบอกสรรพคุณว่า "ทำให้กินทุกวันหมั่นสำเหนียก แม้อ่อนเปียกก็จะแข็งเป็นไม้ท่อน" ยิ่งเชื่อว่าเป็นครูแจ้งแหงๆ เพราะชวนให้คนฟัง          เสภาสงสัยว่า "อะไรแข็งวะ"

            นี่แหละ นี่แหละ สำนวนครูแจ้ง

            เหตุใดอาจารย์คึกฤทธิ์จึงมีฉบับพิมพ์ตรงนี้? คำตอบมีอยู่ในคำอธิบายของกรมศิลปากร เมื่อ พ.ศ.2478 "บทเสภาครูแจ้งได้เคยพิมพ์มาแล้วที่โรงพิมพ์บางกอกประสิทธิ์ ปากคลอง วัดประยุรวงศาวาส แต่เดี๋ยวนี้หาฉบับได้ยาก" เข้าใจว่าเสภาตอนกำเนิดกุมารทองสำนวนครูแจ้งฉบับเต็มคงเป็นฉบับพิมพ์ที่โรงพิมพ์บางกอกประสิทธิ์นี้เอง

            คัดจาก คอลัมน์ สุวรรณภูมิสังคมวัฒนธรรม นสพ.มติชน 3 ส.ค. 50
 

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 02 ต.ค. 09, 17:49

อยากอ่านเรื่องพลายจันทร์เป็นที่สุด
คุณหลวงเล็กอยู่ในที่มีชัยภูมิเหมาะคือมีหนังสือมาก
  
ขอเรียนเชิญให้เขียนเป็นวิทยาทานไว้ ณ กระทู้นี้



งานของครูแจ้งเรื่องขุนช้างขุนแผนยังปรากฎกระจัดกระจายอยู่อีกสองสามบท
เป็นงานที่เจ้าพระยาภาสกรวงศ์(พร  บุนนาค)จำไว้เพราะท่านก็เป็นนักอ่านและนักยืมหนังสือลือชื่อ



เสภาสำนวนครูแจ้ง หรือ คำครูแจ้ง  ตอนแต่งงานพระไวย   นั้นก็มีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างออกไปหลายแห่ง
ใจความนั้นตรงกันว่าขุนช้างมาร่วมงานแล้วเมาจนลำเลิกบุญคุณพระไวยจนโดนชกตกเรือน


เสภาสำนวนเก่าสองสำนวนเรื่องขึ้นเรือนขุนช้างและเข้าห้องแก้วกิริยานั้น  คนที่ได้อ่านก็ชื่นชมว่าเป็นธรรมชาติ

"พอพระพายชายโชยโรยริน                                ฟุ้งกลิ่นมาลาที่หน้าต่าง
ริ้วริ้วปลิวชายสไบนาง                                      จันทร์แจ่มกระจ่างอยู่พรายพราย
เรื่อเรื่อไรไรอยู่ในเมฆ                                       ดาวช่วงดวงเอกรับเดือนหงาย
ดาวฤกษ์เบิกเมฆอยู่คล้ายคล้าย                           พระพายเยือกเย็นเป็นลมลาง
หอมระรินกลิ่นแก้มแกมกลิ่นดอกไม้                       กอดจูบลูบไล้ไม่ไกลข้าง
รสรักแล่นทั่สสรรพางค์                                     ต่างคนต่างมีผาสุกใจ"

ดอกไม้ที่เบิกบานขยายกลีบส่งกลิ่นหอมหวานในยามราตรีนั้น  มีมากมายหลายชนิด
ทำให้มึนมัวได้

(อ่านมาจาก บทเสภาขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง   หนังสืออนุสรณ์  อำมาตย์โท  พระยาวิสิษฐบรรณกรณ์
(ชม  สุวรรณสุภา)  ปีมะเมีย  พ.ศ. ๒๔๗๑       โรงพิมพ์พิพรรฒธนาทร)



แม่ครัวที่มีฝีมือ  เมื่อปรุงรสอาหารเช่นแกงหรือยำ   ย่อมออกมาไม่เหมือนกันแน่นอน
จะอ่อนหวาน  หรือเผ็ดร้อน   ว่าอร่อยถูกใจก็ตามแต่รสนิยมของผู้เสพ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3 4 ... 11
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.081 วินาที กับ 19 คำสั่ง