เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10 11
  พิมพ์  
อ่าน: 35158 ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 120  เมื่อ 29 ต.ค. 09, 16:25

เพิ่งเข้ามาอ่าน ขออภัยที่ย้อนไปไกลหน่อย

 ยิงฟันยิ้ม


เรื่องอาสาหกเหล่าตามที่คุณหลวงเล็กเล่าไว้ใน # ๒๗ น่าสนใจ

เรื่องอาสาหกเหล่า ตามที่เคยทราบมา อาสาหกเหล่านี้ เป็นทหารต่างชาติที่มาอาศัยและรับราชการในเมืองไทย  มีความรู้ความสามารถการรบการใช้อาวุธบางอย่างเป็นพิเศษ  อาสาเหล่านี้ คือ ทหารอาชีพสมัยก่อนนั่นเอง มีหน้าที่เป็นราชองครักษ์และผู้ชำนาญการ แต่เดิมคงจะมีอยู่หกเหล่า โดยแบ่งเป็นเหล่าตามเชื้อชาติ  เท่าที่เคยได้ยิน มีมอญเหล่าหนึ่ง พวกมอญชำนาญยุทธวิธีและการสืบข่าวทางด่านตะวันตก  จึงมีหน้าที่คอยตระเวนด่านทางแถบตะวันตก  จามเหล่าหนึ่งกับแขกมลายูชวาเหล่าหนึ่ง  สองพวกนี้ถนัดเรื่องการรบทางน้ำและการใช้เรือ จึงมีหน้าที่เกี่ยวกับกองเรือรบ  ญี่ปุ่นเหล่าหนึ่ง พวกนี้ใจเด็ดเดี่ยว ใช้ดาบเก่ง   ฝรั่งเหล่าหนึ่ง พวกถนัดเรื่องปืนไฟและปืนใหญ่  อีกพวกน่าจะเป็นลาว พวกนี้เป็นกองลาดตระเวนทางเหนือ  อาสาหกเหล่านี้ ขึ้นตรงกับพระเจ้าแผ่นดิน ตำแหน่งเจ้ากรมแต่ละเหล่าเทียบเท่าจตุสดมภ์ทีเดียว  ถ้าจะให้ชัดต้องดูในโคลงพยุหยาตราเพชรพวงกับลิลิตกระบวนแห่พระกฐินทางสถลมารคและทางชลมารคประกอบด้วย  เคยได้ยินว่า อาสาหกเหล่านี้ ชำนาญเรื่องงานช่างบางอย่างด้วย

แต่มีข้อมูลจากคุณพินิจ หุตะจินดา ใน wikipedia ดูไม่ใคร่จะตรงกัน

http://th.wikipedia.org/wiki/นามานุกรมขุนช้างขุนแผน

กรมอาสาหกเหล่า คำว่า “อาสา” แปลว่า “ทหารหน้า” กล่าวอย่างปัจจุบันก็คือกองทัพบกนั่นเอง มีหน้าที่รบพุ่งปราบปรามอริราชศัตรูทุกทิศ ในสมัยโบราณ กรมนี้มีหน้าที่วางด่านทาง ป้องกันข้าศึกศัตรูซึ่งแบ่งตามซ้ายแลขวา แต่เดิมในสมัยอยุธยา กรมนี้แบ่งออกเป็นกรมอาสาใหญ่ กรมอาสารอง กรมเขนทองขวา กรมเขนทองซ้าย กรมทวนทองขวา และ กรมทวนทองซ้าย





บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 121  เมื่อ 29 ต.ค. 09, 16:29

ขรัวมั่นเล่าให้ขรัวคงฟังดังนี้

..............................            เดิมความที่จะได้หลับไปฝัน
ว่าเที่ยวเพลินเดินทางไปกลางวัน         เห็นพระจันทร์ส่องสว่างกระจ่างตา
จะแลไปข้างไหนก็เห็นหมด                 ปรากฏเห็นสิ้นใบพฤกษา
เป็นอักษรทุกใบครั้นใกล้มา                 ก็เป็นหินศิลาเสียทันที
แล้วตื่นขึ้นก็พอสว่างฟ้า                      เปิดหน้าต่างล้างหน้าเห็นผ้าสี
ลงบันไดไปดูเห็นคัมภีร์                      ก็หยิบขึ้นกุฎีแล้วอ่านดู
ว่าศักราชสองร้อยสิบแปดปี                 พระเจ้าศรีธรรมาโศกนั้นยังอยู่
จะแก้พยนต์มนต์ยาให้หาครู                 ยังมีผู้อาสาพระทรงธรรม์
ไปเรียนวิชาสักมาแต่เมืองโรม              รูปโฉมสักทั่วทั้งตัวนั่น
แล้วกลับมาถึงบ้านเข้าฉับพลัน             ครูฆ่าอาสัญเสียทันที
แล้วเอาใบลานจารเขียนเรียนวิชา          จึงมีมาตามกระบวนได้ถ้วนถี่
ทั้งวิชาว่าแต่งแปลงอินทรีย์                 ใช้ผีผูกผ้าพยนต์มาร
ทั้งหายตัวล่องหนทนคง                      จะประสงค์เมตตาก็กล้าหาญ
ก็สำเร็จเสร็จถ้วนทุกประการ                  ในใบลานคัมภีร์ที่มีมา
ก็ได้หมดจดจำทำดูเล่น                       ของท่านเป็นบริสุทธิ์ไม่มุสา
อ้ายเหล่านี้ที่ได้ในตำรา                       โดยวิชารู้กันมากอยากจะเรียนฯ

ขรัวคงได้ฟังก็สั่นหัวว่า ลำบากนัก  ขนาดลูกศิษย์ขรัวคงเองยังเฆี่ยนแทบตาย  แต่ก้ไม่สู้วิชาอะไร  เจ้าขรัวมั่นคงได้วิชาดีมานับว่าเป็นโชค  ทั้งสองสนทนากันจนเย็นแล้วก็ขรัวคงก็ลากลับวัดแคไป


กล่าวถึงพระเจ้าสิบสี่ทิศ เจ้ากรุงหงสาวดี  มีจิตโลภอยากได้หัวเมืองใหญ่น้อยมาอยู่ในอำนาจตน  ซึ่งฏ้ได้ยกทัพไปตีเมืองได้มามากแล้ว แต่ยังไม่พอใจ  เมื่อเสด็จออกขุนนางก็รับสั่งแก่ขันนางว่า  เมืองเรามีเมืองขึ้นมากก็จริงแต่เมืองสองพันเป็นเมืองอุดมดี  ถ้าเราไปตีได้มาเห็นจะได้อาณาเขตกว้างขวางขึ้น  เพราะเมืองสองพันมีเมืองขึ้นมากนัก  เรานี้ใคร่ได้เหลือประมาณ

เจ้าพระยาจักรีก็กราบบังคมทูลว่า  เมืองสองพันนั้นเดิมเป็นพวกลาวดงสืบพงศ์มาจากเมืองเชียงราย  เมืองสองพันนี้มีอำนาจเพราะรู้จักเลี้ยงคนมีวิชาดี รู้จักผูกพยนต์รบกับข้าศึก  ไม่ต้องเปลืองไพร่พลเกณฑ์รบ  ลำพังแค่หุ่นพยนต์สามคนก็รบคนเป็นพันได้   เมืองนั้นจึงอยู่เป็นสุข พุทธศาสนามั่นคง ลูกค้าไปมาค้าขายกันเนืองๆ ไม่เคยมีสงครามกับเมืองใดมานานนัก  ข้าพุทธเจ้าขออาสาไปตีสองพันมาถวาย  ขอไพร่พลห้าพันยกไปเพื่อชิมลางโดยเดินทางไปไหว้องค์พระปฐมเจดีย์ที่เมืองนครชัยศรีเดิม ซึ่งใกล้กับเมืองสองพันบุรี  เพื่อจะได้สืบลาดเลาที่เขาลือว่ามีคนดีมีวิชากล้าแข็ง  

พระเจ้าสิบสี่ทิศได้ทรงฟังดังนั้นก็โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาจักรียกทัพไปตามที่ขอ โดยทรงกำชับให้เดินทัพไปเป้นกระบวนอย่าได้ข่มเหงเมืองรายทางเด็ดขาด  พร้อมกันนั้นได้พระราชทานเสื้อผ้าเงินตราแก่แม่ทัพนายกอง  แล้วพระราชทานอาญาสิทธิแก่เจ้าพระจักรีผู้เป็นแม่ทัพสำหรับลงโทษผู้ขัดคำสั่งทันที

เจ้าพระยาจักรีทูลว่า อีกสามวันจากนี้จะยกทัพไป  พระเจ้าสิบสี่ทิศก็ทรงอำนวยพร

เล่าเท่านี้ก่อนครับ  ใกล้จะจบแล้ว  ขอให้ติดตามอีกหน่อย  เรื่องมอญยังไม่จบยังมีที่น่าสนใจอีกเยอะ จะได้เสนอต่อจากเรื่องประวัติพลายจันทร์
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 29 ต.ค. 09, 18:28 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 122  เมื่อ 29 ต.ค. 09, 17:01

มาต้อนรับคุณเพ็ญชมพู   ขอเชิญร่วมวงค่ะ  ยิ้มกว้างๆ

อ่านวิกิของคุณพินิจ แล้วยังสงสัย  ขอถามผู้รู้ค่ะ
๑  "อาสา" แปลว่า ทหารหน้า  หรือคะ  มาจากศัพท์ว่าอะไร?
๒  อาสาหกเหล่า เทียบได้กับ กองทัพบก   หมายถึงเป็นทหารอาชีพของอยุธยา ใช่ไหม  ไม่ว่าในยามศึกหรือยามสงบ  พวกนี้เป็นหน่วยรบอย่างเดียว?

ถามคุณหลวงเล็กค่ะ 
สองพันบุรี  ในเรื่องหมายถึงเมืองไหน  อยู่ใกล้นครปฐมเสียด้วย   หมายถึงสุพรรณบุรีหรือเปล่าคะ?
บันทึกการเข้า
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 123  เมื่อ 29 ต.ค. 09, 18:16

คำว่า "อาสา" ในพจนานุกรมราชบัณฑิตยฯ ท่านว่า มาจาก ภาษาบาลีครับ (เทียบสันสกฤต อาศา)

อาสา   ก. เสนอตัวเข้ารับทำ. น. ความหวัง เช่น นิราสา = ความหวัง
   หมดแล้ว คือ ความหมดหวัง, ความต้องการ, ความอยาก.
   (ป.; ส. อาศา).

ในบริบทเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็ตรงกับความหมายว่า "เสนอตัวเข้ารับทำ" นั่นก็คือ สมัครใจเข้าเป็นหน่วยรบ

ผมคิดว่า อาสา ในที่นี่ไม่น่าแปลว่า ทหารหน้า เสียทีเดียว แต่น่าจะแปลว่า "ทหารรับจ้าง ที่สมัครใจรับงาน" มากกว่า

คือเป็นเหล่าทหารต่างชาติ ที่เข้ามารับจ้างรบ (คือ มาอยู่กินในขอบเขตพระราชอาณาจักร) หรือ ถ้าจะกล่าวให้ดูเป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์หน่อย ก็คือ
เป็นหน่วยรบต่างชาติ ที่เข้ามาพึ่งพระบรมธิสมภารของกษัตริย์ไทย

ส่วนความหมายที่ได้จากวิกิพีเดีย น่าจะเป็นรูปแบบของการจัดกำลังมากกว่าครับ
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 124  เมื่อ 30 ต.ค. 09, 07:42

ถามคุณหลวงเล็กค่ะ 
สองพันบุรี  ในเรื่องหมายถึงเมืองไหน  อยู่ใกล้นครปฐมเสียด้วย   หมายถึงสุพรรณบุรีหรือเปล่าคะ?


ผมเข้าใจว่าเป็นเมืองสุพรรณบุรีนั่นแหละครับ  เพียงแต่คนแต่งเสภาสำนวนนี้อาจจะแปลงชื่อใช้ให้ฟังดูไม่ใช่สุพรรณบุรี  อย่าลืมว่านี่เป็นนิยายเล่าสู่กันฟัง ก็เลยมีทั้งเรื่องในความเป็นจริงผสมกับความคิดสร้างสรรค์ของผู้แต่ง

เรื่องกองอาสาหกเหล่าที่ตอบไปครั้งแรก  ผมว่าตามเอกสารที่ได้เคยอ่านมาบวกกับความเห็นนิดหน่อย  อย่าเพิ่งถือว่าถูกเสียหมด  เรื่องนี้ถ้าอ่านพระบรมราชาธิบายของรัชกาลที่ ๕ เรื่องพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแถลงพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดินแล้ว (ดูความเห็นที่ ๕๙ ผมสรุปลงมาให้ดูแล้ว) จะเข้าใจมากขึ้นทีเดียว  อ้อ ต้องไม่ลืมด้วยว่า กรมอาสามี ๒ กรมใหญ่ คือกรมอาสาแปดเหล่า กับกรมอาสาหกเหล่า  กรมอาสาแปดเหล่านั่นเป็นทหารอาชีพแท้ และเป็นกรมใหญ่มีคนมาก เข้าใจว่าเดิมอาจจะมีหกเหล่าแล้วค่อยเพิ่มเป็นแปดเหล่าภายหลัง  กรมอาสาหกเหล่าดูจะเป็นกองทหารต่างภาษาผสมกับช่างศิลป์

ในวิกิพีเดียคงจะเอาหน้าที่กองอาสาทั้งสองมาปนกัน  ผมเองก็เคยสับสนเหมือนกัน  เพราะทั้งสองกองอาสานี้ก็มีหน้าที่เหมือนกันอยู่ด้วย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 125  เมื่อ 30 ต.ค. 09, 08:24

ขอบคุณคุณโฮ  เรื่องที่มาของ อาสา   
และขอบคุณคุณหลวงเล็ก สำหรับคำตอบเรื่องสองพันบุรี ค่ะ

น่าจะมีการเพิ่มเติมข้อมูล  ลงในวิกิพีเดียด้วย   เพราะเท่าที่คุณพินิจเขียน  อาจจะยังคลาดเคลื่อนอยู่
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 126  เมื่อ 30 ต.ค. 09, 10:02


มานพ ถาวรวัฒน์สกุล เขียนไว้ในหนังสือขุนนางอยุธยา สำนักพิมพ์ธรรมศาสตร์ เกี่ยวกับเรื่องทหารอาสาสมัยอยุธยาไว้ว่า

กรมทหารอาสา ซึ่งเป็นหน่วยรบที่สำคัญได้ถูกแบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ กรมอาสาแปดเหล่า เป็นกรมในสังกัดบังคับบัญชาโดยตรงของกรมกลาโหม กรมอาสาต่างชาติ ได้แก่ กรมอาสาจาม กรมอาสาญี่ปุ่น กรมฝรั่งแม่นปืน กรมเกณฑ์หัดอย่างฝรั่ง พวกนี้แยกเป็นกรมอิสระมิได้ขึ้นสังกัดกลาโหมอย่างกรมอาสาแปดเหล่า 

ในกฎหมายศักดินาทหารยังปรากฏเหล่ากรมทหารมอญอีก ๔ กรม คือ กรมดาบสองมือกลาง กรมตั้งทองซ้าย-ขวา กรมกลีอ่อง กรมมอญ เหล่านี้รวมเข้าอยู่ในความดูแลหรือบังคับบัญชาโดยตรงของเจ้าพญามหาโยธา ตำแหน่งจางวาง กรมทหารมอญนี้ในตอนแรกคงแยกเป็น ๓-๔ กรม แต่ภายหลังคงจะรวม “วงงาน” เหล่านี้เข้าเป็นกรมเดียวกันจึงมีตำแหน่งจางวางขึ้นทำหน้าที่ควบคุมบังคับบัญชา กรมมอญนี้ไม่ขึ้นอยู่ในสังกัดของกรมพระกลาโหมเช่นเดียวกับกรมอาสาต่างชาติอื่น ๆ

การจัดระเบียบกรมทหารอาสาดังกล่าวข้างต้นนี้แสดงถึงการจัดแบ่งกำลังทหารมิให้ไปกระจุกตัวอยู่ในบังคับบัญชาของกลาโหมด้วยการตั้งกรมทหารต่างชาติแยกเป็นกรมอิสระขึ้นต่อกษัตริย์ และกรมทหารต่างชาตินี้ในตอนปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๒ ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการชิงอำนาจทางการเมือง ดังปรากฏในตอนที่สมเด็จพระเอกาทศรถสิ้นพระชนม์ “ออกญาพระนายไวย” ขุนนางกรมมหาดเล็กได้อาศัยทหารอาสาญี่ปุ่นประมาณ ๕๐๐ คน ทำการชิงราชสมบัติจากสมเด็จพระศรีเสาวภาคย์ (ขจร สุขพานิช, ใน วุฒิชัย มูลศิลป์ บรรณาธิการ ๒๕๒๓: ๙๒-๙๓) ในปลายรัชกาลพระเจ้าทรงธรรมถึงต้นรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง กองทหารอาสาญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้ชิงอำนาจทางการเมืองในราชสำนักอย่างสูง ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ กองทหารอาสา-ทหารจ้างต่างชาติมีหน้าที่เป็นองครักษ์ ประโยชน์ของกองทหารองครักษ์ต่างชาติเหล่านี้มีความสามารถพิเศษในด้านการรบและการใช้อาวุธ มีความพร้อมเพรียงกว่ากรมทหารธรรมดา จึงจัดเป็นกองทหารประจำการ แม้จะมีจำนวนไม่มากนักแต่สามารถปฏิบัติการได้เฉียบพลัน สำหรับลักษณะการชิงอำนาจทางการเมืองภายในราชสำนักของอยุธยา ซึ่งเป็นเรื่องของการเกาะกลุ่มอย่างลับ ๆ และทำการรัฐประหารในพระราชสำนัก กองกำลังองครักษ์จึงมีประสิทธิภาพมากในการช่วงชิงชัยชนะ (นิธิ เอียวศรีวงศ์ ๒๕๒๓: ๑๓-๑๔)

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงอธิบายว่า เป็นทหารที่มีความสามารถพิเศษเฉพาะอย่างไรอย่างหนึ่ง อาสาเข้ารับราชการทหารด้วยใจสมัคร จึงจัดรวมขึ้นเป็นกรมทหารอาสา มีหลายกรมเป็นกองทหารพิเศษ ต่อมามีพวกชาวต่างชาติได้สมัครจะรับราชการทัพศึกจึงมีการรวมกันเป็นกองเฉพาะ จึงเกิดทหารอาสาญี่ปุ่น อาสาจาม เป็นต้น ส่วนพวกโปรตุเกสมีความชำนาญปืนไฟจึงจ้างไว้เป็นทหาร (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๑ ๒๕๑๖: ๔๙๕) ทหารอาสาในตอนต้นของคำอธิบายน่าจะหมายถึง อาสา ๘ เหล่าที่สังกัดกรมกลาโหม คือ อาสาใหญ่ซ้าย-ขวา อาสารองซ้าย-ขวา ทวนทองซ้าย-ขวา ยังมีกรมทหารมอญอีก ๔ กรม คือ กรมตั้งทองซ้าย-ขวา และกรมดาบสองมือกลาง กรมกลีอ่อง กรมทหารอาสาจาม อาสาญี่ปุ่น เป็นต้น
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 127  เมื่อ 30 ต.ค. 09, 12:28

สวัสดีค่ะคุณเพ็ญ

ตามอ่านด้วยความสนใจ
สนใจทหารญวนด้วยเหมือนกันค่ะ   ส่วนมากจะเป็น ทหารปืนใหญ่
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 128  เมื่อ 30 ต.ค. 09, 16:08

ขอบพระคุณเจ้าบ้านทั้งคุณเทาชมพูและคุณวันดีที่กรุณาออกมาต้อนรับถึงหน้าเรือนชาน

ข้าน้อยซาบซึ้งใจยิ่งนัก

 ยิ้ม

เรื่องอาสาญวน คิดว่าไม่มีในสมัยอยุธยา คงมีในรัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพวกญวนอพยพเข้ามา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นกับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) สังกัดกรมอาสาญวน เป็นพลทหารปืนใหญ่ประจำป้อม


บันทึกการเข้า
TIRAV
อสุรผัด
*
ตอบ: 22



ความคิดเห็นที่ 129  เมื่อ 30 ต.ค. 09, 16:10

สวัสดีคุณเพ็ญชมพู ด้วยคนครับ

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 130  เมื่อ 30 ต.ค. 09, 16:25

สวัสดีคุณ TIRAV เช่นกัน

ภาพประกอบเรื่องขุนช้างขุนแผนที่คุณ TIRAV นำมาแสดง

สวยมาก

 เจ๋ง
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 131  เมื่อ 30 ต.ค. 09, 17:07

อื้อฮือครับ ชื่อคุ้นๆทั้งนั้นมาเป็นทหารอาสาที่นี่กันทั้งกองร้อย

คิดถึงคุณวสันดิลก

ท่านมหาอยู่หนายยย พรรคพวกอยู่ที่นี่คร้าบ
บันทึกการเข้า
TIRAV
อสุรผัด
*
ตอบ: 22



ความคิดเห็นที่ 132  เมื่อ 30 ต.ค. 09, 17:17

สวัสดีคุณนวรัตน ครับ

เห็นท่านพี่มาปักเสา ทำค่ายอยู่กระทู้ขุนช้างขุนแผนภาคสองแล้วละครับ

ยังไม่มีช่องจะปีนขึ้นค่ายได้ เลยขอผ่องผ่านไปก่อนครับ

^________________________^
บันทึกการเข้า
TIRAV
อสุรผัด
*
ตอบ: 22



ความคิดเห็นที่ 133  เมื่อ 30 ต.ค. 09, 17:18

ขอบพระคุณสำหรับคำชมครับ คุณเพ็ญชมพู

ถ้าได้มีโอกาสอันเหมาะสม จะค่อยๆเลียบๆเคียงๆ หารูปสวยๆมาอภินันท์อีกสักหลายคราครับ ...

^_____________^
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 134  เมื่อ 30 ต.ค. 09, 17:24

ขอต้อนรับเพื่อนของคุณวันดี  และคุณ Navarat C. ค่ะ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10 11
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.084 วินาที กับ 19 คำสั่ง