เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10 11
  พิมพ์  
อ่าน: 35069 ชาติพันธุ์วรรณา ใน ขุนช้างขุนแผน
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 105  เมื่อ 21 ต.ค. 09, 13:18

เสภาประวัติพลายจันทร์ ความเดิมตอนที่แล้ว พระพิเรนทร์ให้ขุนรุดและผู้คุมไปนำตัวพลายจันทร์ อุ่นไฟ และคงขวานจากที่คุมขัง มายังที่ศาลาราย หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ด้วยพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาจะเสด็จออกทอดพระเนตรการพิจารณาคดีวิวาทตีนายบัวและพวกตายที่วัดแค

ครานั้นพระพิเรนทร์ต้นรับสั่ง           มานั่งศาลาขมีขมัน
ให้เรียกเจ้าคงขวานเข้ามาพลัน       เสมียนนั้นก็คอยจดถ้อยคำ
พระพิเรนทร์ปลอบถามเจ้าคงขวาน   เจ้าให้การกับข้าอย่าถลำ
จงบอกจริงเถิดจะเลี้ยงให้เที่ยงธรรม  มาทนกรรมทำไมไม่ต้องการ
จะได้กราบทูลให้เจ้าได้ดี            พ่อเจ้านี่หกเหล่าเผ่าทหาร
ได้ชื่อเสียงเรียงนามไปตามปราณ   วงศ์วานของเจ้าข้าเข้าใจ
บิดาเจ้าเขาก็เห็นเป็นเศรษฐี          มั่งมีเงินทองเป็นไหนไหน
เจ้าจะทำทุจริตก็ผิดไป                 ข้าก็ไม่เชื่อเขาบอกเจ้าจริง
ว่าขรัวคงปลงผีมีละคร                 เจ้าไปก่อนหรือไปดูพวกผู้หญิง
ทองประศรีเป็นไรจึงได้วิ่ง             หรือเจ้าตีเอาอ้ายบัวหัวแตกตาย
ถึงเจ้าทำโทษกรรมก็ไม่มี             ข้านี้จะห้ามให้ความหาย
แต่เรื่องอ้ายเมืองขโมยควาย         เรื่องผู้ร้ายแล้วยังเลิกด้วยฤทธิ์เรา
ถ้าข้าถามบอกความแต่สัตย์ซื่อ      อย่าดึงดื้อไม่ดีดอกหนาเจ้า
จงบอกตามความหมดอย่าปดเรา    ถ้าจริงเล่าจงรับอย่าร่ำไร ฯ

เป็นอย่างไรบ้างครับ  โวหารการไต่สวนของพระพิเรนทรเทพในฐานะผู้พิพากษาศาลรับสั่ง  ทั้งปลอบทั้งขู่เอาชั้นเชิงเข้าล่อผู้ต้องหา  ผู้อ่านเริ่มใจอ่อนตามพระพิเรนทร์บ้างแล้วหรือยัง  ถ้าใจอ่อนแล้วรับสารภาพไปได้เลย  แต่คงขวานไม่ใจอ่อน ให้การไปว่า

ครานั้นตัวยงเจ้าคงขวาน             ว่าขอประทานตรงนี้จะทำไฉน
เป็นยามเคราะห์จำเพาะโทษภัย     เขาจงใจเจาะจำว่าทำจริง
ความก็สมเพราะกระผมไปเที่ยวเล่น  แต่ไม่เห็นได้ดูพวกผู้หญิง
เห็นจันหนูอุ่นไฟมันไล่ลิง            กระผมวิ่งอยู่ทั้งสามตามหลังวัด
ละครที่ไหนมิได้ดู                      เล่นอยู่ทั้งสามเป็นความสัตย์
ไม่ได้ทุบได้ตีดังมีชัด                 แต่เป็นคฤหัสถ์สึกเสียสักสิบวัน
อยู่กับวัดมิได้ไปอยู่บ้าน             การทั้งนี้จริงทุกสิ่งสรรพ์
มิได้ตีอ้ายบัวตัวสำคัญ                เป็นสัตย์ธรรม์ไม่เห็นได้เอ็นดู
ถึงจะตีให้ตายจนหวายขาด         ด้วยสามารถความสัตย์ยังชัดอยู่
ถ้าจริงตีมิให้ความนั้นลามวู         ก็จะสู้รับคำว่าทำตาย ฯ

เอาล่ะ  คงขวานก็มีโวหารไม่แพ้กัน  แถมยังยินดีรับโทษด้วย  พระพิเรนทร์เราจะว่าอย่างไรต่อ

พระพิเรนทร์ปลอบถามความอ้ายคง    มันเก่งกวดยวดยงนี่ใจหาย
พูดจากล้าหาญชาญชาย                  ตรวนหวายขื่อคาว่าไม่กลัว
แล้วจันหนูอุ่นไฟก็ให้การ                  มันดื้อด้านเหมือนกันคนสั่นหัว
จะเล้าโลมเอาใจไม่พันพัว                ปฏิเสธความชั่วทั้งสามคน
อุส่าห์ลอบปลอบถามถึงสามครั้ง        มันก็ยังยืนคำซ้ำทุกหน
มิได้มีพิรุธจะสุดทน                         จะต้องวนติดไม้ให้มันเจ็บ
หลอกหลอนล่อลวงดูท่วงที              แล้วจะขยี้เร่งรีบเข้าบีบเล็บ
ติดขมับคับเน้นให้เป็นเหน็บ              แล้วจะเก็บความเห็นไปเป็นสัตย์
อ้ายรุ่นหนุ่มอย่างนี้คงมีเพื่อน            จะต้องเตือนถามไถ่ให้มันซัด
ถ้าสามคนทนนิ่งจริงจริงชัด              ถ้าไม่ได้แล้วจะมัดให้มันรับ
แล้วเรียกขุนรุดกับขุนแผลง              เอาไปแย้งผูกถามตามฉบับ
แล้วกระซิบสอบสวนทวนสำทับ         ไม่ขยายหวายขยับสักห้าที
ถ้าดื้อดึงถึงแต้มแถมให้ถ้วน              สอบสวนทั้งสามถามเสียดสี
ข่มขู่ถูคร่าอย่าปรานี                       เฆี่ยนตีติดไม้อย่าได้เว้น ฯ

(กลอนข้างต้นนี้มีบางวรรคที่ลงด้วยเสียงวรรณยุกต์ผิดแปลกจากกลอนที่แต่งในสมัยหลังอยู่  แต่การขับเสภาสมัยก่อนผู้ขับอาจจะหลบเสียงหรือขับให้เสียงฟังราบรื่นไปได้กระมัง   ลักษณะเช่นนี้เคยพบในกลอนบทละครเก่าๆ อยู่บ้างเหมือนกัน)

ขุนแผลงขุนรุดรับคำสั่ง               ไม่ยั้งเรียกมาขมีขมัน
ใส่คาถามความเข้าพร้อมกัน         ก็ยืนคำซ้ำมั่นไม่พรั่นกลัว
แล้วลงหวายหลายทีก็มิเจ็บ          ซ้ำบีบนิ้วตอกเล็บติดไม้หัว
หน้าชื่นยืนคำไม่ดำมัว                 ทั้งตัวไม่มีราคีเลย
จะเฆี่ยนตีอย่างไรก้ไม่ดิ้น             เหมือนทำหินทำผาทำหน้าเฉย
บีบนิ้วเหมือนไม้ใจเสบย               อ้ายคงขวานว่าเฮ้ยไม่หายคัน
ทำเล่นเช่นนี้มันดีจริง                  ทำผู้หยิงเห็นจะกลัวจนตัวสั่น
กูผู้ชายทั้งสามไม่คร้ามครัน          มาทำเล่นเช่นนั้นไม่ถึงใจ
เอาพะเนินเชิญมาห้าหกเล่ม          แล้วอย่าเอาเข็มเอาค้อนคอนไม่ไหว
เอามาทำดูเล่นก็เป็นไร                คงจะได้ดูงามอ้ายสามคน ฯ

เป็นอันว่า  ขุนแผลง(ชื่อเต็ม ขุนแผลงสะท้าน)กับขุนรุดเอาทั้งสามคนไปทรมานด้วยสารพัดวิธีตามจารีตนครบาล
จารีตนครบาลในการสอบสวนผู้ร้ายเช่นนี้ เป็นธรรมเนียมในการพิจารณาคดีของศาลสมัยก่อน  การทรมานผู้ร้ายก็เพื่อให้ผู้ร้ายยอมคายความจริงเกี่ยวกับคดี เช่น สถานที่ที่เอาสิ่งของที่ลักไปซ่อนไว้  ผู้สมรู้ร่วมคิดวางแผน  ผู้ร่วมกระทำความผิด ตลอดจนคนบงการว่าจ้างให้ทำ  เป็นต้น  อาจจะดูว่าโหดร้าย  แต่ก็เป็นวิธีเลือกใช้ก็ต่อเมื่อผู้ร้ายไม่ยอมให้การ  หรือให้การแต่บางส่วนปิดบังบางส่วนไว้ เป็นต้น เมื่อผู้ร้ายทนทรมานไม่ได้ก็จะบอกความจริง  ทั้งนี้ การทรมานแบบนี้  โดยมากมักทำกับผู้ร้ายที่เป็นชาย เพราะผู้ร้ายชายมักเป็นมีวิชาอาคมคงกระพันดี  มีน้ำอดน้ำทนมาก  ผู้ร้ายหญิงแค่เฆี่ยนถามก็คงคายหมด  การทรมานผู้ร้ายตามจารีตนครบาลเช่นนี้ มีทั้งดีและข้อเสีย  ข้อเสียมีมาก เช่น บางทีผู้ร้ายทนเจ็บไม่ไหวก็ให้การซัดทอดคนอื่นๆไปส่งๆ หมายให้พ้นความผิด  อันนี้ก็แย่ ความจะยาวไปอีก เสียเวลาเปล่า  บางทีทรมานผู้ร้ายมากแล้วแต่ผู้ร้ายไม่ยอมให้การซัดทอดใครจนกระทั่งผู้ร้ายทนเจ็บไม่ไหวตายคาเครื่องทรมานก็มี และอีกประการหากเกิดว่า  ผุ้คุมมีคนที่ไม่ชอบไปกระซิบให้ผู้ร้ายซัดทอดเพื่อให้ทุเลาโทษทัณฑ์ก้พลอยลำบากผู้อื่นอีก  เมื่อเป็นเช่นนี้  ในสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงได้มีประกาศยกเลิกการพิจารณาคดีความด้วยวิธีจารีตนครบาลดังกล่าว  ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับยุดสมัยและชาติตะวันตกจะได้ไม่ดูหมิ่นว่าคนไทยมีนิสัยป่าเถื่อน (ประกาศนี้ลงในราชกิจจานุเบกษาด้วย  ลองไปเปิดหาดูได้)  ส่วนวิธีทรมานผู้ร้ายสามารถอ่านได้จากกฎหมายตราสามดวงครับ

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 106  เมื่อ 21 ต.ค. 09, 15:59

สมใจที่รอคอยเลยค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 107  เมื่อ 21 ต.ค. 09, 19:14

อ้างถึง
(กลอนข้างต้นนี้มีบางวรรคที่ลงด้วยเสียงวรรณยุกต์ผิดแปลกจากกลอนที่แต่งในสมัยหลังอยู่  แต่การขับเสภาสมัยก่อนผู้ขับอาจจะหลบเสียงหรือขับให้เสียงฟังราบรื่นไปได้กระมัง   ลักษณะเช่นนี้เคยพบในกลอนบทละครเก่าๆ อยู่บ้างเหมือนกัน)

เคยอ่านกลอนบทละคร สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น    มาจากฉบับตัวเขียนในหอสมุด   ไม่ได้ตีพิมพ์
พบว่าสมัยนั้นเสียงวรรณยุกต์ไม่ลงตัว อย่างที่เรารู้จักกัน
วรรคสุดท้ายของกลอนบางบท   ลงท้ายด้วยเสียงจัตวาก็มี    วรรคที่สองลงท้ายด้วยเสียงสามัญก็มีค่ะ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 108  เมื่อ 21 ต.ค. 09, 22:04

จุ๊ปากเล็กน้อยเมื่อดูรูป  ขุนแผนเข้าห้องแก้วกิริยา

ดูขุนแผนด้านหลังแก่ล่วงหน้าไปหน่อย 

อย่างไรก็ขอชมว่า ท่านผู้วาด  เก็บรายละเอียดได้มาก


พิศดูเครื่องห้องลอองงาม                       ขันน้ำตั้งพานกระบวยลอย
(สำนวนเก่าที่ ๒)

ในรูปมีจอกลอยแทน

เคยคุยกับท่านผู้สนใจว่า  อ่างล้างหน้าใบไม่เล็กนา
ตื่นเช้าก็ล้างหน้าบ้วนปาก   ทางหน้าต่าง   ใช้น้ำในอ่างที่ลอยกลีบดอกไม้หอม
ลูบเนื้อลูบตัวทาน้ำอบไทย

บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 109  เมื่อ 22 ต.ค. 09, 09:01

ภาพขุนช้างกับขุนแผนดำน้ำพิสูจน์  ผมเพิ่งไปค้นได้มาสองภาพ  และขออภัยที่ผมไม่มีความสามารถพอที่จะเอาภาพที่อ้างนี้ให้ทัศนาได้  เอาเป็นว่า เดี๋ยวจะบอกชื่อหนังสือที่ปรากฏภาพขุนช้างกับขุนแผนดำน้ำพิสูจน์ให้ไปลองค้นหาดู  คาดว่าคงจะเป็นหนังสือที่หาได้ไม่ยากนัก

ภาพแรก เป็นภาพวาดบนปกหนังสือ ขุนช้าง-ขุนแผน เล่ม ๓ ขององค์การค้าของคุรุสภาจัดพิมพ์จำหน่าย เมื่อ ๒๕๓๓ เล่มปกสีแดงชมพู คนวาดภาพลงชื่อไว้ว่า อดุลย์  ลักษณะภาพ  เป็นภาพขุนช้างกับขุนแผนกำลังดำน้ำ โดยเกาะหลักลำไม้ไผ่คนละลำ  ขุนช้างอยู่ด้านซ้าย นุ่งผ้าสีน้ำเงิน เกาะลำไม้ไผ่อยู่เหนือจากพื้นดินใต้น้ำประมาณ ๑ ปล้องครึ่ง  ส่วนขุนแผนอยู่ด้านขวา นุ่งผ้าแดง มีผ้าประเจียดแดงผูกที่แขนซ้าย  นั่งคุกเข่าอยู่ที่พื้นดินใต้น้ำเอามือจับหลัก และเอาเข่าหนีบหลักไม้ไผ่ไว้  ในภาพมีเต่าคลานที่พื้นดินด้วย ๒ ตัว เล็กหนึ่งตัว ใหญ่หนึ่งตัว.(เคยไปดูหนังสือที่ศึกษาภัณฑ์ราชดำเนิน  ยังเห็นมีหนังสือเสภาขุนช้างขุนแผน ฉบับนี้ขายอยู่ ผู้ใดสนใจไปหาไปหาซื้อได้ ราคาไม่แพง ๑ ชุด มี ๓ เล่ม จบ) ภาพนี้ให้รายละเอียดน้อยกว่าที่เสภากล่าวถึง

ภาพต่อมา เป็นภาพวาดสีน้ำของทวีพร  ทองคำใบ  อยู่ในหนังสือ กฎหมายตราสามดวง : หน้าต่างสังคมไทย (พิมพ์เมื่อ ๒๕๔๙)หน้า ๕๓ เป็นภาพการต่อพิสูจน์โดยการดำน้ำ   โดยอาศัยข้อมูลและจินตนาการจากเสภาขุนช้างขุนแผน  ภาพนี้วาดละเอียดมาก ลักษณะภาพเป็นภาพขุนช้างกับขุนแผนลอยคอเหนือผิวน้ำ ทั้งสองเกาะอยู่ที่ไม้ที่ปักอยู่ในน้ำคนละหลัก  ขุนแผนอยู่หลักด้านซ้าย ขุนช้างอยู่หลักด้านขวา ที่หัวหลักมีผ้าขาวผูกไว้ มีทหาร ๒ คนแต่งชุดแดงอย่างชุดทหารเกณฑ์แห่ในกระบวนพยุหยาตรา สวมหมวกทรงประพาส (?) ทั้งสองคนถือไม้ไผ่ลำเล็กยาวยืนบกฝั่ง ปลายไม้ไผ่พาดอยู่ที่บ่าด้านซ้ายของขุนช้างขุนแผน ไม้นี้เป็นไม้ที่เจ้าหน้าที่ใช้กดให้ทั้งสองดำลงไปในน้ำ  บนฝั่งยังมีทหารอีก ๓ คนแต่งชุดแดงใส่หมวกแดงเหมือนกัน ทหารคนหนึ่งยืนอ่านโองการดำน้ำ ด้านหน้าทหารคนที่อ่านโองการมีเครื่องกระยาสังเวยและบายศรีตั้งอยู่ ด้านหลังทหารไปมีชาวบ้านหลายคนที่มามุงดูการดำน้ำพิสูจน์ของขุนช้างกับขุนแผน  ภาพนี้ดี แต่ติดใจตรงทหารแต่งชุดแดงซึ่งเป็นชุดที่แต่งสำหรับกระบวนแห่  เรามักเห็นทหารในละครจักรๆวงศ์ๆ สมัยนี้แต่งแบบนี้  ความเป็นจริงในเวลาปกติ ทหารสมัยอยุธยาน่าจะไม่ได้แต่งกายเช่นนี้  แต่จะแต่งกายอย่างไรคงต้องไปหารายละเอียดต่อ  กระนั้นก็นับว่าเป็นภาพที่ดีมาก.

ถ้าใครหาภาพได้ฝากเอามาลงด้วยนะครับ  ผมด้อยฝีมือ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 110  เมื่อ 22 ต.ค. 09, 12:41

คิดว่าขุนช้างและพระไวย นุ่งขาว ค่ะ   ตาม กฎหมายตราสามดวง



ผู้ที่ข่มคอคือทำมะรง

ที่ริมฝั่งตั้งขันนาฬิกา                            ทำมะรงตั้งท่าเข้าข่มคอ
ตีฆ้องหม่งดำลงทั้งสองข้าง                     พอขุนช้่างดำมุดก็ผุดป๋อ

หลักนั้นห่างกันหกศอก


กฎหมายตราสามดวงเขียนไว้ว่า

เมื่อจะดำน้ำตกแก่ทนายกรมยกกระบัตรกลั้น
ถ้ากลั้นพ้นสามกลั้นแล้ว   ให้จตุทำมรง ยก โจท/จำเลยขึ้นทังสอง(รักษาตัวสะกดเดิม)

หมายความว่าถ้าทั้งสองฝ่ายยังไม่มีใครผุด
ละเอียดดีนะคะ

ขุนช้างออกอ้วน และไม่ได้กำลังอะไรมาก  ย่อมหายใจถี่เพราะต้องการอากาศ
พระไวยหนุ่ม  แข็งแรง    สวดมนต์คาถาเป็นประจำ(ส่วนมากมีคำสั่งไว้ว่าต้องกลั้นใจเวลาสวด)

บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 111  เมื่อ 26 ต.ค. 09, 08:55

ขออภัยอย่างยิ่ง ที่ว่า ขุนแผนกับขุนช้างดำน้ำพิสูจน์สัตย์กัน นั้นผิด  ที่ถูกคือ พระไวยกับขุนช้างดำน้ำพิสูจน์สัตย์กัน 

เพิ่มเติมเรื่องวิธีพิจารณาโจรผู้ร้ายตามจารีตนครบาล  ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้มีประกาศยกเลิกและได้ลงประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษานั้น   ประกาศดังกล่าว คือ พระราชบัญญัติยกเลิกวิธีพิจารณาโจรผู้ร้ายตามจารีตนครบาล ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๓ เพิ่ม แผ่นที่ ๔๘ วันที่ ๔ มีนาคม ร.ศ.๑๑๕ หน้า ๕๗๓ - ๕๗๖ ความโดยสรุปมีว่า 

วิธีพิจารณาโจรผู้ร้ายตามจารีตนครบาลอันมีอยู่ในพระราชกำหนดกฎหมายอันมีลักษณะโจร เป็นต้น ซึ่งใช้กันมาแต่โบราณ  โดยสิทธิแล้ว ผู้พิพากษาสามารถใช้อาญากระทำแก่ผู้ต้องหาและคนต้นซัดได้ตามกฎหมายว่าด้วยกระบวนพิจารณาจนกว่าจะได้ความ  ทรงพระราชดำริว่า  การซักฟอกผู้ต้องหาด้วยวิธีพิจารณาโจรผู้ร้ายตามจารีตนครบาลแม้จะมีข้อความจำกัดการใช้จารีตนครบาลเพื่อให้ไดหลักฐานในคดีแล้ว  ก็ยังเกิดเหตุเสื่อมเสียในกระบวนการพิจารณาคดี  ผู้พิพากษาอาจจะพลาดพลั้งลงโทษผู้ไม่มีความผิด  หรือแม้แต่ถ้อยคำที่ได้จากผู้ต้องหาที่ถูกทรมานนั้นก็ต้องมาพิสูจน์จริงเท็จอีก  ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพิจารณาเห็นว่า การพิจารณาคดีโดยยุติธรรมย่อมอาศัยสักขีพยานเป็นใหญ่  และได้ทรงแก้ไขกฎหมายลักษณะพิจารณาใหม่ให้ดีขึ้นสะดวกรวดเร็ว จึงไม่จำเป็นต้องอาศัยการพิจารณาโจรผู้ร้ายตามจารีตนครบาลต่อไปอีก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศพระราชบัญญัติยกเลิกข้อความในกฎหมายเก่ารายบทที่ว่าด้วยวิธีพิจารณาโจรผู้ร้ายตามจารีตนครบาลดังนี้

พระอัยการลักษณะโจร มาตราที่ ๒๗ ๒๘ ๒๙ ๓๑ ๓๔ ๓๕ ๓๖ (ว่าด้วยการเฆี่ยนถามโจร) ๔๑ (ว่าด้วยการจำ ๕ และ ๓ ประการแก่โจร ณ คุก)
พระอัยการลักษณะตระลาการ มาตราที่ ๘ ๑๗ ๒๐ ๒๑ ๓๑ ๓๗ ๓๙ ๔๑ ๔๘ ๕๒ ๕๔ ๖๗ ๘๙ ๑๐๙
พระอัยการลักษณะอุทธรณ์ มาตราที่ ๑๑
กฎ ๓๖ ข้อ กฎข้อที่ ๗ ๓๖
พระราชกำหนดเก่า กฎข้อที่ ๔ ๖ และ ๕๒
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 112  เมื่อ 26 ต.ค. 09, 16:18

ไปเดินงานมหกรรมหนังสือที่ศูนย์สิริกิติ์มา  เฉียดไปแถวร้านหนังสือเก่าที่คุ้นเคย  ได้หนังสือเก่าไม่มากมาบ้างเล็กน้อยตามสภาพคล่องทางการเงินก่อนเงินเดือนออก   หมายตาว่า  งานหนังสือเดือนเมษายน ๕๓ คงจะได้มาเก็บที่หมายตาไว้ 
เล่าเรื่องประวัติพลายจันทร์ต่อครับ  ไม่รู้ว่ายังมีใครตามอยู่บ้างหรือไม่

พระพิเรนทรเทพให้ขุนแผลงสะท้านและขุนรุดคุมพลายจันทร์ อุ่นไฟ และคงขวานไปผูกหลักเฆี่ยนถามเค้นความจริง พร้อมทั้งบีบขมับบีบเล็บอีกแต่ทั้งสามหนุ่มก้ไม่เป็นอะไรแถมหัวเราะเยาะเย้ยผู้คุมอีก   ขุนแผลงสะท้านกับขุนรุดจึงนำความมาเรียนแก่พระพิเรนทร์ว่า ไอ้หนุ่มทั้งสามคนนั้น มันทนคงกระพันแก่เครื่องทรมานเหลือเกินผิดมนุษย์ที่เคยพบมา  พวกตนทรมานอย่างไรก้ไม่ได้ความมากขึ้นเลย  พระพิเรนทร์ได้ฟังดังนั้นก็เห็นว่า ไอ้หนุ่มทั้งสามคนมันต่างก็มีวิชาดี  จะนิ่งความเอาไว้ไม่ได้ ควรจะไปกราบบังคมทูลพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาได้ทรงทราบ   ว่าแล้วพระพิเรนทร์ก็รีบไปเข้าเฝ้าฯ 

กล่าวถึงพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาเสด็จออกว่าราชการแผ่นดิน ณ ที่ประชุมขุนนางทั้งปวง  พระพิเรนทร์รีบกราบบังคมทูลว่า  นักโทษทั้งสามที่มีรับสั่งให้พระพิเรนทร์ชำระนั้น  บัดนี้ทั้งสามให้การยืนยันเหมือนกันทั้งสามคนว่าไม่ได้ตีนายบัวตาย  พระพิเรนทร์ได้ให้ผู้คุมนำไปเฆี่ยนติดไม้ถามเค้นความจริงแล้วก็กลับกลายว่าทั้งสามนั้นหาได้รู้สึกเจ็บด้วยเครื่องทรมานอย่างใดไม่  แสดงว่าทั้งสามคนต้องเป็นคนที่มีวิชาดี

พระเจ้ากรุงศรีอยูยาได้ทรงฟังดังนั้น  ก็ทรงยินดีแล้วว่า

ถ้าความดีมีชัดไม่ตัดรอน     ไว้สำหรับกับนครคนวิชา
แม้นศึกเสือเหนือใต้ให้มันสู้   เอาไว้อยุ่สำหรับรับอาสา
มันจะดีอย่างไรให้ว่ามา        จะดูท่าทางมันเป็นฉันใด
แต่ก่อนมีคนดีสำหรับเมือง     ย่อมลือเลื่องทุกนครสะท้อนไหว
วิชาดีมีทหารก็ชาญชัย         เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้วเลยมานาน
ถ้าบัดนี้มีมาเหมือนว่าไว้       ก็ขอบใจจะให้เป็นทหาร
ได้เลื่องชื่อลือนามทั้งวงศ์วาน  แม้นเกิดการศัตรูได้สู้กัน
อ้ายสามตนคนดีมีวิชา         เอามันมาลองเล่นได้เห็นขัน
แล้วจัดมาอาวุธให้ครบครัน   ให้มันลองวิชาหน้าพระลาน.

แล้วก็เสด็จขึ้นปราสาทพร้อมกับรับสั่งกับเจ้าจอมหม่อมอยู่งานทั้งหลายว่า  พรุ่งนี้จะมีการลองวิชาของพลายจันทร์ อุ่นไฟและคงขวาน  พระองค์จะทรงพาพวกเจ้าจอมหม่อมอยู่งานไปดูด้วย

ฝ่ายพระพิเรนทร์ได้รับรับสั่งมาก็เรียกกรมวังไปสั่งหมายตระเตรียมการทันที  โดยให้ทหารวังเตรียมอาวุธทั้งปวงสำหรับการลองวิชาของเจ้าหนุ่มทั้งสามวันพรุ่งนี้

ครั้นรุ่งขึ้น พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาเสด็จออก ณ พระที่นั่งสนามไชย เวลาสามโมง บรรดาขุนนาง ทหาร และราษฎรมาเฝ้าฯ คอยดูการประลองวิชากันแน่นขนัด  แล้วพลายจันทร์ อุ่นไฟและคงขวานก็เริ่มลองวิชาถวายให้ทอดพระเนตรดังนี้

ฝ่ายคงขวานจันหนูเจ้าอุ่นไฟ     ก็นั่งในมณฑลทั้งสามนาย

แล้วคุกเข่าขึ้นถวายบังคมครัน   มิได้พรั่นงดงามสามสหาย
คิดถึงครูอย่าให้มีอันตราย        แล้วลุกขึ้นเดินกรายทั้งสามคน
พวกอาสาหกเหล่าเข้าเดินแซง    แล้วรุมกันฟันแทงโกลาหล
ไม่เจ็บปวดยวดยงด้วยคงทน     แต่เส้นขนก็ไม่ช้ำรำให้แทง
คงขวานต้านหน้าผ่าลงด้วยดาบ  ประกายปลาบเหมือนฟันหินไม่สิ้นแสง
อุ่นไฟใจอ่อนนอนตะแคง         ทำเป็นดิ้นสิ้นแรงไม่ลุกเลย
ทั้งหอกทั้งดาบขนาบฟัน          ลุกขึ้นตัวสั่นทำหน้าเฉย
ไม่เข้าคันหลังนั่งเสบย             เงยหน้าตาแดงร้องแทงอีกที
จันหนูจุ่เข้าไปในกองไฟ          คงขวานดูไม่ได้ทำวิ่งหนี
แล้วหันหน้ามามองกองอัคคี     ก็วิ่งรี่เข้าไปนั่งทั้งสองคน
อุ่นไฟเห็นเพื่อนทำเบือนหน้า     ลุกขึ้นตั้งท่าทำเสือกสน
วิ่งไปวิ่งมาตาเหลือกลน            เหลือทนแล้วก็เข้าไปลองดู
โดยวิชาแต่ชั้นผ้าก็ไม่ไหม้         ทั้งสามนายตัวแดงดังลูกหนู
แสนประสิทธิ์วิทยาวิชาครู         นั่งอยู่จนไฟดับไปเอง
คนมาดูมากมายทั้งชายหญิง      ว่าดีจริงจำเพาะมาเหมาะเหมง
ช่างถูกกันสามคนไม่จนเพลง     มิได้เกรงอาวุธสุดเพียงไฟ
ทั้งสามนายก็ถวายบังคมลง       แล้วปืนตับสำทับส่งไม่ปราศัย
ควนกลุ้มตัวกลบกระหลบไป       ไม่พรั่นหวั่นไหวด้วยใจงาม
ครั้นปืนตับหมดชุดจุดปืนใหญ่     ถูกปับปลิวไปสิ้นทั้งสาม 
ตกลงกลับหันไม่ครั่นคร้าม         ก็เดินตามกันมาถวายบังคมลง
ด้วยสิ้นท่าอาวุธที่ลองแล้ว         ผ่องแผ้วเพียงพระยาราชหงส์
มิได้ครั่นหวั่นไหวด้วยใจจง         ความตรงคงซื่อต่อแผ่นดิน
ก็ยบยอบหมอบฟังอยู่ทั้งสาม       เผื่อจะถามหรือประทานการถวิล
สำรวมจิตเจตนาไม่ราคิน           สิ้นนึกแล้วก็นิ่งไม่ติงกาย.

คำเตือน  อ่านแล้วกรุณาอย่าลอกเลียนแบบ นี่เป็นจินตนาการในวรรณคดี  ผู้ยังไม่บรรลุนิติภาวะควรได้รับคำแนะนำจากผู้ใหญ่ขณะอ่านด้วย

เอาล่ะ  ทั้งสามคนแสดงวิชาได้พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาทอดพระเนตรแล้ว พร้อมด้วยสาธารณชนได้ชมเนขวัญตา  การณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไรต่อไป  กรุณาติดตามต่อครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 113  เมื่อ 29 ต.ค. 09, 10:47

คุณหลวงมัวไปเพลินตั้งค่าย   ตอกไม้กระดานหน้า ๒๐ นิ้ว ๖ นิ้ว ในกระทู้( ๒ ) เสียแล้ว    
ทิ้งสามหนุ่มให้หมอบเฝ้ามา ๓ วัน  ยังไม่ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการเสียที   คงเมื่อยแย่
ดิฉันมาเล่าสลับฉากไปพลางๆก่อน

พิจารณาจากสำนวนผู้แต่งในตอนนี้  เทียบกับขุนช้างขุนแผนฉบับหอพระสมุด  ตอนแสดงวิชาของทหารขี้คุก ๓๕ นายที่ขุนแผนพาไปศึกเชียงใหม่      ดิฉันเห็นว่าฝีมือของกวีผู้แต่งพลายจันทร์ สละสลวยกว่า  
อาจจะเป็นเพราะบรรจงบรรยายฝีมือตัวละครเอก  แต่ฉบับหอพระสมุด บรรยายตัวประกอบ ก็เลยไม่วิจิตรบรรจงนัก  มุ่งแต่ความพิลึกพิสดารของวิชา แต่วิชาก็ไม่หลากหลายเท่าไร   มีวิชาคงกระพันชาตรีซ้ำๆกันหลายคน
นายบัวหัวกระโหลกบ้านโคกขาม                       ถวายบังคมงามแล้วออกหน้า
นอนหงายร่ายมนตร์ภาวนา                             ให้เอาขวานผ่าเป็นหลายซ้ำ
โปกโปกขวานกระดอนนอนพยัก            ไม่แตกหักลุกมาหน้าแดงก่ำ
นายคงเคราเข้านั่งบริกรรม            ให้เอาหอกกรอกตำเข้าจำเพาะ
ถูกตรงยอดอกไม่ฟกช้ำ               แทงซ้ำหลายทีที่เหมาะเหมาะ
เสียงอักอักพยักหน้านั่งหัวเราะ            จนด้ามหอกหักเดาะไม่ทานทน
นายมอญนอนเปลือยเอาเลื่อยชัก            เลื่อยหักฟันเยินพะเนินย่น
ให้เปลี่ยนหน้ามาเลื่อยก็หลายคน            เป็นหลายหนไม่เข้าเปล่าทั้งนั้น
นายช้างดำกำลังดังช้างสาร            ถวายบังคมคลานมาไม่พรั่น
กระโดดสูงสามวาตาเป็นมัน            แข็งขันข้อลำดำทมิฬ
นายสีอาดคลาดแคล้วแล้วไม่แตก            หอกซัดเจ็ดแบกพุ่งจนสิ้น
ไม่ถูกเพื่อนเชือนไถลไปปักดิน            นายอินอึดใจแล้วหายตัว
นายทองลองให้เอาปืนยิง            ยืนนิ่งคอยรับจับลูกตะกั่ว
นายจันนั้นแปลกเข้าแบกวัว            นายบัวทำคล้ายเป็นหลายคน
นายแตงโมทำโตได้เหมือนยักษ์            คึกคักกลอกตาดูหน้าย่น
นายจั่วหัวหูดูพิกล               เอาไฟลนทนได้ไฟวับวับ
ลองถวายสิ้นทั้งสามสิบห้า            ต่างสำแดงวิชาเป็นลำดับ
แล้วมาหมอบเรียงเคียงคำนับ           รับสั่งให้ประทานรางวัลพลัน

ฝีมือผู้แต่งพลายจันทร์  พอๆกับกวีที่แต่งตอนพลายชุมพลสู้กับเถรขวาด   น่าเสียดายที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ มิได้นำชีวิตของพลายจันทร์มาไว้ในตอนต้นของขุนช้างขุนแผนฉบับหอพระสมุด


บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 114  เมื่อ 29 ต.ค. 09, 12:17


มาช่วยคุณหลวงพิมพ์ค่า    แล้วเราค่อยไปคุยกันในลาวทอง ต่อด้วยสร้อยฟ้ากัน
อ่านมาจากเอกสารที่คุณหลวงกรุณาแนะนำ


ในเสภาตอนนี้ไม่ได้เอ่ยชื่อพระพันวษา   แต่ในตอนประหารวันทอง  พระพันวษาจำนางทองประศรีได้ว่าแก่ไปมาก
สาวๆบันท้ายกลม


พระพันวษาทรงพิจารณาการแสดงฝีมือของสามหนุ่ม  ว่าเป็นการเล่นกลหรือไม่
แต่เมื่อประทับอยู่ในที่สูงย่อมทอดพระเนตรได้ชัด

จึงพระราชทานเสื้อผ้าและเงินคนละหนึ่งชั่ง  โปรดให้ไปสังกัดกับหกเกล่า


หลังจากนี้ได้ทรงเรียกนางทองประศรีออกมาเพราะเป็นต้นเหตุเกี่ยวข้อง


เรียกทองประศรีขมีขมัน                                      ออกไปยังหน้าที่นั่งพลัน
พระทรงธรรม์ตรัสถามไปทันที                               อ้ายสามคนพ้นโทษกูโปรดให้
มึงชอบคนไหนอีทองประศรี                                 จงตรึกตรองใจดูให้ดี
กูนี้จะให้จึงสมควร                                            ด้วบปู่ย่ามึงเป็นข้า
พ่อมึงไอ้สนเป็นชาวสวนทั้งสองคน                          มึงอย่ากล่าวถ้อยคำเป็นสำนวน
ตามกระบวนชอบใครให้ว่ามา
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 115  เมื่อ 29 ต.ค. 09, 13:07

นางทองประศรี  ผู้มีโอกาสได้เลือกสามี   นับว่าล้าหลังธิดาทั้งเจ็ดของท้าวสามลอยู่ขณะหนึ่ง


ครานั้นทองประศรีได้ฟังรับสั่ง                          บังคมประนมเหนือเกษา
นายจันหนูดูชอบในอัฌชา                               ชีวาอยู่ใต้บาทบงส์


พระฟังทองประศรีบังคมทูล                              นเรทร์สูรรับสั่งดังประสงค์
ข้ายกให้ดังใจมันจำนงค์                                 ส่งตัวให้ผัวมันพาไป


สามหนุ่มหนึ่งสาวก็ออกจากพระราชวังมา

อุ่นไฟกระทบกระเทียบว่า  มาสามแต่กลับสี่

ทองประศรีขัดใจเลยด่าอุ่นไฟเสียยับ    คงควานพลอยติดร่างแหไปด้วย
(เรื่องจะให้ทองประศรีเก็บปากเป็นไปไม่ได้     ขนาดพระสุรินทรฤาชัยลูกชายยังไม่พ้น
รักก็แต่หลานโดยเฉพาะพลายชุมพล   เพราะแขนงย่อมแรงกว่ากิ่งเป็นธรรมดา)


คงขวานว่าอีมารมันนักหนา                              พูดพร้ำร่ำด้่าไม่ปราสัย
เจ้าคารมคมสันมันเหลือใจ                               อ้ายอุ่นไฟเพื่อนยากก็ปากบอน
อ้ายนั่นว่าอีนี่ด่าท้าคารม                                 นึกว่าพรมน้ำมนต์คนถึงก่อน
......................


ทั้งสี่คนตกลงไปหาขรัวมั่นที่วัด
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 116  เมื่อ 29 ต.ค. 09, 13:28

สมภารคงได้ยินข่าวว่าสามคนพ้นโทษ   จึงออกเดินทางไปวัดป่าหาขรัวมั่น

คนทั้งสี่ก็ตามมาที่วัด            ขรัวมั่นขอให้สมภารทำน้ำมนต์ให้คนทั้งสี่อาบ

แล้วคนทั้งสี่ก็กลับบ้านไป   ไม่ต้องถามนะคะ จันหนูก็ไปกับทองประศรี
อุ่นไฟกับคงขวานคงเสียดายเพื่อน   แต่คงเกรงปากทองประศรีมากกว่า





เสภาเล่าต่อไป....
ขรัวคง ถามขรัวมั่นว่า  ใช้ตำราอะไรสอน

ขรัวมั่นเล่าว่า คืนหนึ่งหลับฝันไป  แสงจันทร์สว่างมากเห็นกระทั่งลายใบไม้
เห็นตัวอักษรใกล้เข้ามาแล้วกลายเป็นแผ่นหิน

เมื่อตื่นเช้าฟ้าเปิดแล้วลงกุฏีไป เจอคำภีร์  เป็นของ พระเจ้าศรีธรรมโศก  ศักราช ๒๑๘ ปี
จึงใช้สอนคาถาอาคม

ขรัวคงก็ส่ายหน้าว่าสงสัยเรียนยาก เพราะขรัวมั่นดุ  เฆี่ยนลูกศิษย์แทบตายมาหลายคน
เรียนไว้ก็เลิศประเสริฐชาย  ป้องกันอันตรายได้   แต่อย่างไรก็ไม่พ้นความตายไปได้

พูดที่จริงถ้าขรัวตาคงได้ตำราผูกนี้ก็คงจะไม่ยอมตายง่ายๆ  เพราะรักที่จะอ่านเรียนไปอีกนานเหมือนกัน
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 117  เมื่อ 29 ต.ค. 09, 13:42

ตอนนี้  พระเจ้า สิบสี่ทิศ เมืองหงษา  อยากมาตีเมือง  สองพันบุรี

พระยาจักรีกราบทูลว่าไม่ต้องลำบาก  พวกข้าพระพุทธเจ้ายังมี  ขอกำลังเพียง ห้าพัน  มาชิมลาง
ที่พระปฐมเจดีย์ ที่เมืองไชยศรีเมืองเดิม   เพราะใกล้กับสองพันบุรี


พระเจ้าสิบสี่ทิษชอบพระทัยมากว่า ชิมลางด้วยปัญญาแบบนี้ดี
ระหว่างเดินทางไปอย่าข่มเหงเมืองไหนนะ

จัดทัพอยู่สามวัน  ข้ามแม่น้ำเมาะตะมะมา  เจ็ดวันถึงกึ่งต่อแดน  ผ่านด่านเข้ากาญจนบุรี

พระกาญจนบุรีก็รายงานไป สองพันบุรี


พระพันวษารับสั่งหาตัวพระเอกสองคนและสามีนางทองประศรีมา     คนมีเมียแล้วสมควรลดตำแหน่งลงเป็นผู้ช่วยพระเอก
นางทองประศรีคิดเช่นนั้น   และ อิฉันเห็นด้วย



ซอรี่  ซอด้วง  และซออู้    ต้นฉบับหายไปหนึ่งหน้า

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 118  เมื่อ 29 ต.ค. 09, 13:56

สามหนุ่มรีบเดินทางไปพระปฐมเจดีย์  รับศีลนุ่งขาวแล้วกวาดลานวัด

กองมัพมอญมานมัสการองค์พระธาตุ  สองยามก็กลับไปค่าย


ชายทั้งสามก็เข้าไปในค่ายมอญ  ใช้ปูนคาดดอพวกหัวหน้่า  คือเขียนเส้นพาดคอไว้ด้วยปูน 
ชั้นแม่ทัพก็เขียนไว้สองสามเส้น  บางเส้นก็ใส่สีด้วย
แสดงว่า  ข้ามาแล้วนะ  เอ็งเสร็จข้าแหง ๆ

กลับไปวัดก็ทำไปกวาดวัดคอยดูท่าที

มอญกระเจิงกลับบ้าน   พระเจ้าสิบสี่ทิศก็เลยไม่ได้เป็นสิบห้าทิศเหมือนหวังและตั้งใจ
จะนับทิศกันอย่างไร      ท่านผู้ใหญ่คงจะเคยบอกอิฉันไว้แล้ว    แต่อิฉันก็ลืมไปนานแล้ว

สามคนกลับมา  ตอนนี้ได้รับพระราชทาน ห้่าชั่ง   แถมเสื้อผ้าซึ่งเป็นของหายากมากสมัยนั้น


ต้นฉบับหมดแล้วค่ะ


คุณหลวงเล็กที่นับถือ  ไปเล่น กระทู้ที่สองกันเถิด

อิฉันมารับทำงานเบื้องต้นให้      สงครามเรื่อง ลาวทอง ยังคอยคุณหลวงอยู่
ขอบพระคุณที่ได้เอื้อเฟื้อแนะแนวให้เจ้าค่ะ


บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 119  เมื่อ 29 ต.ค. 09, 14:00

ทียังไม่เล่าต่อ  เพราะผมมีธุระไปค้นคว้าเรื่องอื่นอยู่  โดยเฉพาะเรื่องป้อมค่าย และอาวุธโบราณ  ซึ่งดูเหมือนง่ายแต่พอเอาเข้าจริง  ค้นหาข้อมูลตามที่ต้องการได้ยากเหลือเกิน  จริงอยู่ว่าเรามีวรรณคดีที่กล่าวถึงการรบการทำสงครามอยู่หลายเรื่องแต่สงครามในวรรณคดีแต่ละเรื่องก็มีลักษณะแตกต่างกันไป  ยิ่งรายละเอียดเกี่ยวกับป้อมค่ายนี้หายากเพราะคนแต่งไม่ค่อยบรรยายรายละเอียดเอาไว้  ซึ่งไม่ใช่ความผิดของผู้แต่งเพราะท่านอาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็รู้ในสมัยของท่าน  อย่างเรื่องรามเกียรติ์ มนุษย์ วานร รบกับยักษ์ เกือบทั้งเรื่อง แต่หาตอนที่บรรยายค่ายป้อมละเอียดไม่ได้เลย  ทั้งการรบก็เป็นการรบแบบประชิดตัว หรือเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่ รบกันวุ่นวาย แต่เป็นการรบทางเรือโดยมาก  ซึ่งป้อมค่ายในเรื่องนี้ก็จะเป็นอีกอย่างกับป้อมค่ายรบบนบก  กรณีภาพวาดเรื่องป้อมค่ายรบ  อันนี้เข้าใจว่า คนวาดสมัยก่อนเขาอาจจะวาดเอาแต่พอให้เห็นเป็นป้อมค่ายเท่านั้น  ซึ่งเขาอาจจะลดส่วนหรือลดรายละเอียดในความเป็นจริงลงไปบางส่วน  การจะนำมาใช้อ้างอิงยืนยันต้องพิจารณาให้ดีด้วย.


เอาล่ะครับ เล่าประวัติพลายจันทร์ต่อเลยดีกว่า ค้างไว้ไปไยมี


พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาได้ทอดพระเนตรการลองวิชาของเจ้าหนุ่มทั้งสามแล้ว  ก็มีรับสั่งว่า

พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็น       อ้ายนี่มันเล่นหรือจริงสิ่งทั้งหลาย
หรือเป็นกลคนแอบดูแยบคาย        อันตรายที่มันก็ไม่มี
คำโบราณท่านว่าหน้าที่นั่ง       ถ้ากลเล่นเห็นหลังให้บัดสี
เราอยู่สูงแล้วยังเห็นว่าเป็นดี          วิชาแท้ถูกที่มิใช่กล

แล้วตรัสสั่งคลังวิเศษมหาสมบัติ     ก็จัดเงินตราผ้าเสื้ออยู่สับสน
มาพระราชทานทั้งสามคน             ขุนธนเอาเงินตรามาประทาน
ได้คนละชั่งทั่วทั้งสาม                   ผ้าแพรสีงามเสื้อทหาร
ด้วยมีจิตคิดนิยมพอสมการ            วงศ์วานจะได้ลืออื้ออึงไป
แล้วมีโองการถามทั้งสามคน          ว่าเดิมต้นเจ้าหมู่มึงอยู่ไหน
ถึงมาดแม้นจะเป็นสมกรมใดใด        ให้อยู่ในกลาโหมทั้งสามคน
จะได้เป็นทหารในหกเหล่า              ได้สืบเผ่าพวกพ้องเป็นพิ้นผล
กรมหกเหล่าเล่าทหารการผจญ         ได้เป็นพลพวกกรมวิชาดี
เออความหลังทั้งสามกูสังเกต           ต้นเหตุเกี่ยวข้องทองประศรี
จำจะต้องยกให้อ้ายเหล่านี้               มันชอบทีคนไรจะให้มัน

จ่านนข้างในครั้นได้ที                     เรียกทองประศรีขมีขมัน
ออกไปยังหน้าที่นั่งพลัน                  พระทรงธรรม์ตรัสถามไปทันที
อ้ายสามคนพ้นโทษกูโปรดให้           มึงชอบคนไหนอีทองประศรี
จงตรึกตรองใจดูให้ดี                      กูนี้จะให้จึงสมควร
ด้วยปู่ย่ามึงเป็นข้าทั้งสองคน            พ่อมึงอ้ายสนเป็นชาวสวน
มึงอย่ากล่าวถ้อยคำเป็นสำนวน         ตามกระบวนชอบใครให้ว่ามา


ครานั้นทองประศรีได้รับสั่ง               บังคมประนมเหนือเกศา
นายจันหนูดูชอบในอัชฌา    ชีวาอยู่ใต้บาทบงสุ์

พระฟังทองประศรีบังคมทูล               นเรนทร์สูรจึงรับสั่งดังประสงค์
ข้ายกให้ดังใจมันจำนง                     ส่งตัวให้ผัวมันพาไป
จงอยู่เย็นเป็นสุขกันทั้งสอง               ครอบครองอยู่ด้วยกันจนตักษัย
อยู่ดีกินดีอย่ามีภัย                           จงได้สวัสดีทั้งสี่คน

พระสั่งเสร็จเสด็จขึ้นยังปราสาท          สนมนาถตามเสด็จอยู่สับสน
ฝ่ายข้างหน้าก็พากันจรดล                 พวกพลพนักงานไปบ้านเรือน

อย่างนี้   เรียกว่า สามีพระราชทานได้ไหมนี่ ? โปรดสังเกตว่า ทองประศรีตอบโดยไม่ต้องคิดมากเลย ไม่มีลังเลให้พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาทรงรำคาญจนถึงทรงกริ้วอย่างกรณีวันทองเลย  

ครานั้นจันหนูกับทองประศรี               ยินดีอิ่มใจใครจะเหมือน
รีบเดินทั้งสองไม่ต้องเตือน                กับพวกเพื่อนสองคนเดินบ่นตาม
อุ่นไฟว่าไปกับคงขวาน                     ทำการเกินหน้าแล้วอย่าถาม
สบเหมาะเพราะเห็นเมื่อเป็นความ        มาสามไปสี่ดูดีครัน   (เขาแซวกันครับ ดูต่อว่าเกิดอะไรหลังจากนั้น)

ทองประศรีขัดใจอุ่นไฟว่า                  ช่างมีหน้าพูดเล่นไม่เห็นขัน
ก็เป็นโทษติดทิมอยู่ริมกัน                  รู้กระนั้นกูจะทิ้งให้อดตาย
ครั้นพ้นโทษทั้งสี่จะดีใจ                    กลับมาว่ากันได้อ้ายสองหวาย
ถ้าขืนว่ากูจะด่าเสียให้อาย                 ช่างไม่วายพูดจามาแต่ไร  
(อยู่เฉยรอดพ้นโทษมาได้ ก็ดีแล้วเชียว ดันมาถูกทองประศรีด่านี่ เรียกว่า วอนซะแล้ว)

คงขวานว่าอีมารมันหนักหนา             พูดพร่ำร่ำด่าไม่ปราศัย
เจ้าคารมคมสันมันเหลือใจ                อ้ายอุ่นไฟเพื่อนยากก็ปากบอน
อ้ายนั่นว่าอีนี่ด่าท้าคารม                   ก็นึกว่าพรมน้ำมนต์คนถึงก่อน
พูดพลางทางออกนอกนคร                แดดร้อนหยุดร่มแล้วรีบมา

ว่าแล้วพลายจันทร์ก็ออกปากชวนเพื่อนไปหาขรัวมั่นที่วัดป่าเลไลยก์เพื่อให้ท่านรดน้ำมนต์ในโอกาสที่พวกเราได้พ้นโทษ ถือว่าเป็นการรดน้ำมนต์ล้างเคราะห์กัน  จากนั้นค่อยแยกย้ายกันกลับบ้าน

ฝ่ายขรัวคงสมภารวัดแคได้ยินเขาพูดกันเซ็งแซ่เมื่อวันเสาร์ว่า  เจ้าเณรทั้งสาม ศิษย์ของขรัวมั่นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พ้นโทษแล้ว  เท็จจริงอย่างไรจำไปหาขรัวมั่นถามดูดีกว่า แล้วขรัวคงก็หยิบจีวรพาดควายตะพายย่ามรีบเดินทางไปวัดป่าเลไลยก์  เมื่อถึงกุฏิขรัวมั่น  ขรัวคงก็ถามขรัวมั่นทันทีว่า  เจ้าคุณทราบหรือเปล่าที่เขาลือว่า เณรทั้งสามที่เป็นศิษย์ของเจ้าคุณนั้น ตอนนนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้พ้นโทษแล้ว  เจ้าพวกนั้นได้มาท่านหรือยัง  ถ้ายัง ท่านเจ้าคุณช่วยจับยามสามาตาดูให้หน่อยว่า เป็นจริงดังเขาลือหรือเปล่า

ขรัวมั่นจับยามสามตาดูแล้วว่ากับขรัวคงว่า เดี๋ยวทั้งสามคนก็มาหา  ชั่วอึดใจเดี๋ยวทั้งสามคนก็โผล่มา  ขรัวมั่นเห็นดังนั้นก็ดีใจ แล้วถามว่า ทำไมทองประศรีถึงมาด้วย  แล้วทำไมถึงได้มีข้าวของร่ำรวยมาด้วย

คงขวานก็รับหน้าที่เล่าให้ขรัวมั่นฟังว่า

ว่าบัดนี้พระองค์ผู้ทรงชัย              รับสั่งให้สามคนผจญลอง
เห็นคงทนคนยิงไม่ยักเข้า             เอาไฟเผาไฟดับไม่ไหม้หมอง
พระโปรดให้ด้วยใจก็ปรองดอง       ประทานทองประศรีเป็นรางวัล
รับสั่งถามว่าทั้งสามจะชอบใคร      ทองประศรีดีใจเกษมสันต์
จึ่งทูลตามระบอบชอบพลายจัน     พระทรงธรรม์ยกให้ดังใจจง
แล้สดำรัสตรัสสั่งว่าทั้งสาม           ให้อยู่ตามกรมทหารการประสงค์
แม้นเกิดศึกจะได้ใช้ในณรงค์         แล้วทรงประทานเงินตราเสื้อผ้าแพร

ขรัวมั่นได้ฟังความที่คงขวานเล่ามาก็ว่า   "  ว่าทั้งสามนี้มันสุดเสียแล้วแหล     วิชาดีรอดได้จึงไม่แพ้    พ่อแม่ก็ไม่รู้ว่าลูกดี  "  แล้วขรัวมั่นให้เจ้าหนุ่มทั้งสามไปตักน้ำใส่บาตรมาสี่บาตรทำน้ำมนต์รดล้างเคราะห์ภัย  โดยให้ขรัวคงวัดแคช่วยทำน้ำมนต์ด้วย  โดยว่า " อ้ายสองคนน้ำมนต์ทำเมตตา   แต่จันหนูกับสีกาต้องแข็งขัน   พ่อแม่มันไม่รู้กูทั้งนั้น  ก็รดแล้วเศกพลันด้วยทันใด " เป็นอันว่า ขรัวมั่นถือโอกาสรดน้ำแต่งงานให้พลายจันทร์กับทองประศรีเสียเลย   เสร็จแล้วกราบลาขรัวทั้งสองก็แยกย้ายกันกลับบ้าน

พอพวกสี่คนลาไปแล้ว  ขรัวคงวัดแคเกิดสงสัยถามขรัวมั่นว่า  ไอ้หนุ่มสามคนนี้มีวิชาดี  เจ้าคุณไปค้นคว้าเอาวิชามาแต่ไหนสอนให้เจ้าพวกนั้น  ท่านขรัวมั่นจะตอบว่าอย่างไร โปรดติดตามนะครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10 11
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.488 วินาที กับ 19 คำสั่ง