เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 10
  พิมพ์  
อ่าน: 25493 "พระวิหาร" เรื่องที่ใครก็อยากรู้...จริงหรือเปล่า
sugar
มัจฉานุ
**
ตอบ: 53


ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 01 ต.ค. 09, 10:06

ตอบข้อ 3 ค่ะคุณครู  (ชัวร์แต่มั่วนิ่มค่ะ)

ชนชาติขอม เชื้อชาติขอม สัญชาติอินเดียหรือเปล่า?...(คำถามท้ายคำตอบค่ะ)

ผิดอย่าตีนะคะ...
บันทึกการเข้า
manit peuksakondh
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 01 ต.ค. 09, 10:20

แว็บเข้ามาตอบข้อ 3 ด้วยครับ หน้าตาคนเขมร (ที่เคยเจอ)ไม่ค่อยเหมือนคนอินเดียครับ มีทูนของบนหัวนี่เหมือนมาก แต่ภาษาเขา กะ ขะ คะ คะ งะ คล้ายภาษาอะไรนึกไม่ออกครับ ไปละครับ
มานิต
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 01 ต.ค. 09, 11:35

ขอบพระคุณ คุณ manit, คุณ sugar และคุณ srisiam สำหรับคำตอบ ครับ
ถ้าเวลาที่มีไม่มากพอของผมทำท่านผู้อ่านอารมณ์ค้างก็ต้องขออภัยด้วยนะครับ


คุณ manit และคุณ sugar เลือกข้อ 3 "ชาติพันธุ์" ทั้งคู่
เรามาดูกันดีกว่า ว่า 5 คำนี้มีอะไรเหมือน และต่างกันบ้าง


อย่างแรก ทั้ง 5 คำ เป็นคำที่ "ถูกนักวิชาการสมมุติขึ้น" เหมือนกันหมด
แต่ที่สมมุติขึ้นเพราะมีเหตุแห่งการสมมุติ ไม่ใช่วาดวิมานในอากาศลอยๆเอา
เพราะแต่ละคำมีความหมายที่ต่างกัน และ ใช้แบ่งกลุ่มประชากรในลักษณะที่ต่างกัน




เวลาเราเรียนชีวะวิทยา ถ้าจะทำความเข้าใจสิ่งมีชีวิตต่างๆให้ง่าย
เราก็ต้องแบ่งกลุ่มสิ่งมีชีวิตนับล้านๆชนิดออกจากกันเป็นกลุ่มๆ
ไล่จากอาณาจักร วงศ์ ชั้น อะไรต่อมิอะไรไปจนถึงชนิด และสายพันธุ์ของแต่ละชนิด

การศึกษาทางมนุษยวิทยาก็ใช้วิธีการแบ่งกลุ่มประชากรออกเป็นแบบนี้เหมือนกัน




มาดู 2 คำแรกที่เราน่าจะรู้จักกันดีที่สุดก่อน
"เชื้อชาติ" และ "สัญชาติ" (ใครไม่คุ้นกลับไปเปิดทะเบียนบ้านดูนะครับ)
ทั้ง 2 คำนี้เกิดขึ้นหลังจากการขีดเส้นสมมุติแบ่งแผนที่โลกออกเป็นส่วนๆแล้ว
เพราะเมื่อเราสร้าง "ประเทศ" ขึ้นมา
เราก็ได้สร้าง "วิธีแบ่งสังกัด" ประชากรแบบใหม่ไปด้วย

2 คำนี้จึง "สำคัญต่อการปกครองแผนปัจจุบัน(บรรจุเสร็จ)" มาก
และเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเอกสารที่ประชาชนต้องทำกับรัฐ เช่น
ทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน หรือใบแสดงสิทธิ์ต่างๆ

ถ้าจะอธิบายให้เข้าใจง่ายหน่อย สัญชาติ หมายถึง "สังกัด" ของรัฐ
สามารถเปลี่ยนกันได้ และถือได้มากกว่า 1 สัญชาติ

ส่วน เชื้อชาติ หมายถึง "สำนึกในที่มา"
เช่น คนไทยเชื้อสายจีนที่อายุมากหน่อยหลายคน
ถึงจะเกิดจะโตในประเทศไทยก็ยังใช้ "เชื้อชาติจีน" อยู่



แต่เมื่อสังคมสร้าง "สัญชาติ" ขึ้น และ "ให้อภิสิทธิ์" กับสัญชาติหลัก
สมาชิกของสังคมก็จะ "กระเสือกกระสน" ที่จะเป็น "สัญชาติหลัก"
จน "เชื้อชาติ" แทบจะไม่มีบทบาทอยู่ในความคิดของเขาเลย
เหมือนที่เราเห็น อาตี๋ตาชั้นเดียว เรียกพ่อว่าป๋าป๊า เรียกแม่ว่าม่าม๊า
อยู่บ้านมีอากู๋ อากิ๋ม อาซิ้ม อาเจ๊ก อากง อาม่า ใช้ "เชื้อชาติไทย" กัน
กลายเป็นเจ๊กลืมแผ่นดิน สิ้นความเป็นจีนเดินกันเต็มประเทศไทยไปหมด

สำหรับภูมิภาคอุษาคเนย์ เราเพิ่งจะมารู้จักคำนี้กันเมื่อราวร้อยปีเศษที่ผ่านมา
ถ้าจะทำความเข้าใจกับอะไรที่อยู่ก่อนหน้า กรุณาเก็บ 2 คำนี้ออกจากหัวสมองไปก่อนเลยครับ
(รวมทั้งกระทู้นี้ที่จะอ่านต่อไปด้วย)
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 01 ต.ค. 09, 12:00

คำที่ 3 ได้คะแนนโวตสูงสุดประจำสัปดาห์
ขออนุญาตข้ามไปพูดถึงคำอื่นๆก่อน


เอาคำที่ 5 แล้วกัน "ศิลปะ" ศิลปะเป็นเรื่องสมมุติอีกเหมือนกัน
แต่ถูกสมมุติขึ้นเพื่อจัดกลุ่มงานออกแบบต่างๆ เช่น สถาปัตยกรรม
จิตรกรรม ประติมากรรม ไปจนถึงเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันต่างๆ
ที่มีพื้นฐานใกล้เคียงกัน หรือมีบางสิ่งบางอย่างที่เชื่อมกันอยู่ให้เรารู้ว่า
ของเหล่านี้ "อยู่ในวิถีของสังคม และวิธีคิดในการออกแบบ" แบบเดียวกัน
เส้นแบ่งพื้นที่เลยมีบทบาทกับศิลปะน้อยกว่าสภาพสังคม หรือ ช่วงเวลา

ตัวอย่าง เช่น ศิลปะแบบบ้ารก นั่นมีทั้ง สถาปัตยกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม
ไปจนถึงดนตรี หรือวิถีการใช้ชีวิต โดยไม่ได้จำกัดอยู่ในประเทศใดประเทศหนึ่ง
เพราะศิลปะแบบนี้สร้างขึ้นในยุคที่ยุโรปรับรู้ และพิสูจน์ได้ว่า "โลกกลม" แล้ว
(และเริ่มไล่ล่าหาพื้นที่ ที่เรียกว่าอาณานิคมบนโลกกลมๆใบนี้)
เราเลยเจอมหาวิหารแบบสแปนิช-โปรตุกิสบ้ารกทั่วโลกไปหมด
ไม่เฉพาะในยุโรปที่เป็นมาตุภูมิของศิลปะ
แต่ไปจนถึง อเมริกาใต้ ฟิลิปปินส์ หรืออินเดีย ด้วย


คำที่ 4 วัฒนธรรม หมายถึงความสืบเนื่อง
เพราะฉะนั้น วัฒนธรรมต้องมีทั้ง "กลุ่มชนที่เป็นเจ้าของ"
"พื้นที่" "การสร้างของสังคม" "ช่วงเวลา" และ "ความสืบเนื่อง"
วัฒนธรรมๆหนึ่งเลยอาจจะมีหลายศิลปะ และแต่ละศิลปะไม่ต้องสืบเนื่องก็ได้

เช่น
- แฟชั่นในวัฒนธรรมไทย ก่อนรัชกาลที่ 4 หญิงสาวไม่นิยมสวมเสื้อ ห่มสไบ นุ่งโจงกระเบน
- หลังพ.ศ. 2400 คนไทยเริ่มรู้จักวิธีคิดแบบฝรั่งมากขึ้น มีแหม่มมาสอนหนังสือในวัง
สาวชาววังที่ยังไม่ทิ้งโจงกระเบนก็เริ่มใส่เสื้อ แล้วห่มสไบทับ
- รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป พระพันปีหลวงทรงตัดเสื้อแขนลูกไม้พองๆแบบยุโรป
สาวชาววังก็หันมาใส่เสื้อลูกไม้แขงพองคู่กับโจงกระเบนที่มีมาแต่เดิม
- พอถึงรัชกาลที่ 6 ออกพระราชนิยมใหม่ ให้ผู้หญิงนุ่งซิ่นเกล้ามวย
โจงกระเบนหรือผมสั้นทรงดอกกระทุ่ม ที่มีมาแต่เดิมร้อยกว่าปี
หายไปจากวิถีชีวิตของสาวชาววังส่วนใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์

แบบนี้ ถ้ามองเฉพาะเครื่องแต่งกาย ศิลปะเกิด "การเปลี่ยนแปลงขั้นรุนแรง"
แต่วัฒนธรรมยังเป็นวัฒนธรรมเดียวกันทั้งหมดตั้งแต่ต้น
เพราะ "พื้นที่" "กลุมชนที่เป็นเจ้าของ" และ "ช่วงเวลา" ยังมีความสืบเนื่องอยู่
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 01 ต.ค. 09, 12:33

มาถึงคำที่ 3 ที่ออกจะดูหรูหราและทันสมัยกว่าเพื่อนหน่อย
คำนี้เป็นคำใหม่ที่พวกที่ศึกษามานุษยวิทยาคิดขึ้นมาแบ่งประชากร
เพราะเขาเสนอว่ากลุ่มประชากรต้องมีทั้งเชื้อชาติ พื้นที่ และวัฒนธรรม
ซึ่งสมาชิกในสังคมสามารถ "เลือก" ได้ โดยการเรียนรู้และเปลี่ยนวิถีชีวิต

แต่เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่สามารถใช้อธิบายสังคมเมืองได้อย่างครบถ้วน



ลองดูตัวอย่างว่า นายจิม กรีน เป็นคนอังกฤษ
มาสอนภาษาอังกฤษในประเทศตั้งแต่ พ.ศ. 2530
ปี 2535 นายจิม แต่งงานกับนางสาว ศิริจันทร์
มีลูกชายชื่อ นาย เอกรัฐ นามสกุล กรีน

นายเอกรัฐ เติบโตขึ้นมาในสังคมไทย
เรียนหนังสือไทย พูดภาษาไทย กินอาหารเผ็ดๆเหมือนคนไทย
แต่ทุกปิดเทอมนายเอกรัฐจะไปอยู่กับคุณย่าที่อังกฤษ
เขาเลยพูดภาษาอังกฤษชัดปร๋อ ทำอาหารอังกฤษแบบพื้นเมืองเป็น
และคิดว่าการพูดถึง The prince's ears เป็นเรื่องคอขาดบาดตายแบบคนอังกฤษด้วย



หลังจบมัธยมแล้วนายจิมส่งเอกรัฐไปเรียนหนังสือที่อังกฤษ
เขาพบกับเพื่อนชื่อมิเกลล์ เป็นลูกครึ่ง รัสเซีย-สิงคโปร์ ที่โตเมืองไทย
มิเกลล์ ใช้ภาษาอังกฤษแบบสิงคลิชตามแม่ พูดภาษารัสเซียของพ่อไม่ได้แล้ว
แต่ภาษาไทยคล่องปรื๋อ

ทุกวันนี้ 2 คนเริ่มอยู่กินกันที่อังกฤษ ก่อนจะเรียนจบมา 2 ปีแล้ว
และยังไมได้ตัดสินใจว่าหลังเรียนจบจะใช้ชีวิตอยู่ที่ไหน
ถ้าเขามีลูกด้วยกันขึ้นมา ครอบครัวนี้จะอยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์ไหนบ้าง ฮืม



ให้นักมานุษยวิทยา 2 คนมาแบ่งซะเองก็คงคิดไม่ตรงกันครับ เหอะๆ
การแบ่งชาติพันธุ์ก็เลยใช้กับสังคมเมืองไม่ค่อยสำเร็จ
(และยิ่งไม่สำเร็จเข้าไปใหญ่ เมื่อเราล้มระบบการศึกษาในบ้านทิ้ง
และหันไปอาศัยอยู่ในรังนกกระจอกกันอย่างครอบครัวเดี่ยว)
งานศึกษาเชิงชาติพันธุ์วิทยาเลยหนักไปทางชนเผ่าที่อยู่ในสังคมที่ค่อนข้างปิดเป็นหลัก
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 01 ต.ค. 09, 12:39

วัฒนธรรมขอมกินพื้นที่บริเวณกว้าง(มาก) ครับ
และการสร้างปราสาทขนาดใหญ่ๆอย่างนครวัดได้
ก็บอกเราได้ว่าเขาอยู่กันเป็นสังคมเมืองด้วย
สังคมแบบนี้เป็นสังคมที่ "มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์" มากแล้ว

อ่านมาถึงตรงนี้ คุณsugar อาจจะค้านผมว่า
"ก็ทีคนอยุธยาเขายังอยู่กันเป็นหมู่บ้าน หมู่บ้านละชาติเลย
ครอบครัวก็เป็นครอบครัวขยาย สังคมก็ยังใช้การศึกษาแบบในครอบครัวด้วย
ทำไมเขมรที่เก่ากว่าจะอยู่กันแยกบ้านแบบอยุธยาไม่ได้"
ผมไม่เถียงครับว่าสภาพสังคมและชื่อหมู่บ้านบอกเราแบบนั้น

งั้นเราลองมาดูตัวอย่าง "คนอยุธยาซักคนกันดีกว่า"
ท้าวทองกีบม้าอยู่ในชาติพันธุ์ไหนดีครับ ?
ช่วยกรอกแบบฟอร์มใบเกิดให้เธอทีนะครับ




เย็นนี้มาคุยต่อครับ จะได้อธิบายยกไปเลยทีละหลายหัวข้อ... เฮ่อ!!
บันทึกการเข้า
srisiam
สุครีพ
******
ตอบ: 857


ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 01 ต.ค. 09, 14:01

ขอบคุณครับ..คนเล็คเช่อร์ถึงกับหอบเลยนะเนี่ย...แล้วคนอ่านอย่างศรีฯจะมีใครให้ยาดมอีกไหมนี่??
บันทึกการเข้า
sugar
มัจฉานุ
**
ตอบ: 53


ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 01 ต.ค. 09, 14:40

ขอบคุณค่ะคุณติบอ...  ยิงฟันยิ้ม หายเหนื่อยไวๆนะคะ

วัฒนธรรม! ความรู้ใหม่เลยนะคะก็เรียนมาเค้าเรียกกันว่าชนชาติขอม กับคุณมานิตสงสัยมาแนวเดียวกัน... อิอิ


สำหรับคุณท้าวฯ ไม่ทราบว่าคุณติบอจะให้ตอบว่ากะไรดีคะ.... แหม!


คุณศรีก็ใจร้ายมากมาย รู้แล้วไม่บอกกันเลย มาขอยาดมแล้วจะได้หรอคะเนี๊ย....อดแน่นอนจ๊ะ แลบลิ้น
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 01 ต.ค. 09, 18:04

คุณศรีครับ ขอยาดมคืนหน่อย
อันที่ให้คุณยืมไปผมใช้มานานแล้วครับ  ยิงฟันยิ้ม (หยะแหยงมะ อิอิ)


เรื่องกรอกข้อมูลใบเกิดให้ท้าวทองกีบม้า
ผมแกล้งแหย่ให้คนอ่านกระทู้คิดดูเล่นๆครับ
เพราะถ้าใครลองคิดตามดู จะรู้ว่าทำได้ง่ายมาก
ข้อมูลที่รัฐใช้แบ่งพวกเราออกจากกัน
มักเป็นสิ่งที่เลือกได้เกือบจะทันทีโดยไม่ต้องตัดสินใจอะไร
....แต่นั่นล่ะครับ มันหยาบมาก


เช่น ในช่องสถานภาพ เรามีสิทธิ์เลือกได้แค่ โสด สมรส หม้าย หย่าร้าง
แล้วพวกที่อยู่กินกัน โดยไม่ได้ทำนิติกรรมใดๆล่ะ ? ......รัฐจะได้รู้หรือ ?

ข้อมูลเรื่องนี้สำคัญกับรัฐมากนะครับ ถ้าภาษีที่ประชากรทุกคนเสีย
ยังต้องถูกแบ่งไปให้กับการรณรงค์ป้องกันและปราบปรามการทำแท้งเถื่อน
หรือให้สมาชิกของรัฐที่ถือบัตรประกันสุขภาพตรวจเอดส์ฟรีปีละ 2 ครั้งอยู่









สำหรับ "ชนชาติขอม" ที่คุณ sugar เรียนมา
ผมเข้าใจว่าคุณ manit น่าจะใช้ตำราประวัติศาสตร์เล่มนี้ด้วย (หรือเปล่า ?)
โดยรูปคำและความหมาย "ชนชาติ" กับ "เชื้อชาติ" ไม่ต่างกันมากครับ
แต่ที่ผมไม่พยายามยกคำว่า "ชนชาติ" ขึ้นมาให้เห็นในกระทู้แต่แรก
เพราะคำนี้มีเรื่องวุ่นวายที่เราไม่ค่อยได้รับรู้อีกมาก

ประการแรก ความคิดในการรักษา "ชนชาติบริสุทธิ์" เป็นความคิดทั่วไปครับ
เราจะเห็นได้ว่าความพยายามในการรักษาสายเลือดบริสุทธิ์นั่นเกิดขึ้นเสมอ เช่น
ในวรรณคดีเรื่องอิเหนา วงศ์เทวัญอสัญแดหวาต้องแต่งงานกันเอง
แน่นอน เขาแต่งกันเพื่อรักษา "สายเลือด" บริสุทธิ์ของสกุลวงศ์.....
แล้วจินตหราอ่ะวงศ์เดียวกะเขาป่ะ ? เป็นมเหสีเอกของอิเหนานะนั่น!!

หรือตัวอย่างครอบครัวชาวจีนที่เพิ่งเข้ามาตั้งรกรากบนแผ่นดินไทย
ที่พ่อแม่มักพยายาม "กีดกันการแต่งงานระหว่างลูกหลานกับคนในท้องถิ่น"
และคำเรียกคนในท้องถิ่น ก็มักกลายเป็นคำที่มีความหมายเชิงเหยียดหยามด้วย
เช่น ฮวงนั้ง ฮวงโป๊ย จุกบี้ เหลาเกี้ย ฯลฯ (ครอบครัวคนแต้จิ๋วน่าจะคุ้นๆกันนะครับ หิหิ)

มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์สมัยรัตนโกสินทร์ที่เล่าแล้ว
อาจสะเทือนอารมณ์นักประวัติศาสตร์สายราชวงศ์ไม่น้อยอีกหลายเรื่อง
ผมขออนุญาตตัดทิ้งไปซะเลยจะดีกว่า มาเริ่มกันที่ "จอมพล ป."
เพราะเป็นความคิดในยุคที่ "ใกล้" กับ "ตำรา" ของคุณ sugar มากแล้ว

ประการที่ 2 ถ้าผมเดาไม่ผิด ตำราเล่มนี้คงบอกว่า "ขอมไม่ใช่เขมร" ด้วย
เพราะเอาความคิดเรื่องชนชาติบริสุทธิ์มาใช้ พอราชสำนักล้ม อาณาจักรล่มสลาย ชนชาติก็สิ้น
แล้วอธิบายต่อไปว่า "ขอมนั้นรุ่งเรื่องและล่มสลายไปแล้ว"

แล้วก็อธิบายต่อไปว่าเขมรที่เห็นๆกันอยู่ในทุกวันนี้ เป็นชนรุ่นหลังที่ไม่ได้สัมพันธ์กับขอมโดยตรง
คุณ sugar ถึงได้มาถามผมว่า "ขอมคือเขมรใช่หรือไม่ ?" รึเปล่าเอ่ย ?
บันทึกการเข้า
srisiam
สุครีพ
******
ตอบ: 857


ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 01 ต.ค. 09, 20:24

เอายาดมมาคืนแล้วครับ...........แหวะ....ใช้แล้วก็ไม่บอก โกรธ  ขออนุญาตอ่านต่อดีกว่า.........เล่นระดับจักรวาลนิยม..มึนเลย..
บันทึกการเข้า
manit peuksakondh
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 01 ต.ค. 09, 20:36

ผมเป็นเด็กตจว.ตอนเรียนถ้าถามมากก็จะโดน..ได้ง่ายๆ และเคยโดนมาแล้ว ยังจำชื่อท่าน"ครู"ได้แม่น ตำราเขาว่ายังไงครูท่านว่าไง ผมก็ต้องว่างั้น (ตอนเรียนนั้นประมาณปี 2487-8 ครูท่านก็ปป.มั่ง ปม.มั่ง) แต่ผมก็คิดของผมอยู่เรื่อยมาแหละว่า เอ"ขอม"ท่านหายไปไหนกันทั้งเผ่าพันธ์  เป็นโรคห...ที่เขานิยมยกเป็นสาเหตุ หรือ อย่างไร ด้วยความอยากรู้นี้มั้งที่พอมาเรียนในรร.ที่เขาให้ถามได้ เวลาอ.บรรยายผมก็จะตั้งใจฟัง และรอเวลาถาม พอถึงเวลาถามก็จะถามและถามเป็นชุด และถามเพราะอยากรู้และสงสัยจริง ไม่มีอย่างอื่น
แถมเรื่องขำๆนิดนึงได้หรือเปล่าครับ ผมมักจะนั่งแถวหน้าสุดเสมอ เพราะต้องการได้ยินทุกคำของการสอน อ.บางท่านเวลาสอนก็จะมีการถามนร. มั่ง ท่านก็จะถามไล่มาทีละคนพอถึงผมก็จะกระโดดข้ามไปคนต่อไป แปลกดี ฮิ อิ ยังไม่เข้าใจอยู่จนบัดนี้ แล้วจะมีอะไรขำๆมาเล่าให้ฟังอีก (โปรดฟังอีกครั้ง)
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 01 ต.ค. 09, 21:47

ขอความกรุณาจากคุณ manit และสมาชิกท่านอื่นๆให้ช่วยถามเถอะครับ
ถึงคำถามไม่ได้เกี่ยวกับเนื้อหาในกระทู้ที่เล่าอยู่ ก็ไม่ต้องกังวล
ถามไว้เลยดีกว่าไม่ถามครับ ผมจะขออนุญาตจดเอาไว้เลือกตอบเองทีหลังเอง
เวลาที่เห็นว่าคำถามที่ค้างอยู่ข้อไหนเหมาะเนื้อหากระทู้ส่วนที่เขียนถึงอยู่
(ที่พูดแบบนี้เพราะถ้าเป็นตัวผมเองเวลาจะถามแล้วไม่ได้ถาม ซักพักก็ลืมครับ)





ความคิดแบบที่คุณ manit มี ผมเชื่อว่าคนไทยเกินร้อยละ 70 คิดแบบนั้นกับขอม
(โดยเฉพาะคนที่เรียนแล้วผ่านเลย ไม่มีโอกาสหาเวลามาทำความสนใจอีก
กับวิชาชวนง่วงที่หลับเมื่อไหร่เป็นได้เจ็บตัวทุกทีอย่างวิชาประวัติศาสตร์)

เท่าที่เคยคุยกันดูในครอบครัวตัวเอง คุณพ่อของผมก็เคยคิดแบบนั้น
(แต่ด้วยความ "ใกล้" ผมก็เลยหา "ช่องว่าง" ที่จะซักถามท่านได้ยากขึ้น
ทุกวันนี้ยังไม่มีโอกาสไปเที่ยวอีสานด้วยกันอีก เลยไม่แน่ใจนักว่าคุณพ่อจะยังคิดแบบนั้นอยู่รึเปล่า)






ทีนี้ลองมาคิดกันดูเล่นๆ ว่าพื้นที่ช่วงท้ายๆที่วัฒนธรรมขอมเหลือหลักฐานให้เราเห็น
กินบริเวณตั้งแต่อีสานซักราวๆขอนแก่น อุบล ผ่านจำปาศักดิ์-ปากเซไปจนถึงเวียดนามใต้
ลากยาวลงมาจรดดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง วกเข้ามาไทยที่ปราจีณบุรี จันทบุรี
ตัดไปเพชรบุรี ขึ้นไปราชบุรี แวะผ่านเข้าไปตอนใต้ของพม่านิดนึง
กลับเข้ามากาญจนบุรี สุพรรณบุรี แล้วขึ้นไปเพชรบูรณ์ สุโขทัยแล้วออกไปอีสานอีก

พื้นที่ราวๆนี้กับหลักฐานทางศิลปกรรมที่เหลืออยู่เต็มไปหมด (ซึ่งไม่ใช่ที่อยู่อาศัยจริงเลยซักแห่ง)
ต่อให้อยู่ในพุทธศตวรรษที่ 18 หรือ 19 ก็คงมีประชากรในหลักหลายสิบล้านคน
รวมกับเครือข่ายที่อยู่ถัดออกไปแต่ไม่มีหลักฐานให้เห็นชัดเจนอีกส่วนหนึ่ง
ถ้าตายห่ะหมด..... (แบบที่ตำราประวัติศาสตร์ไทยชอบชวนให้เข้าใจแบบนั้น)
มันต้องใช้ระเบิดนิวเคลียร์ลูกใหญ่กว่าที่ลงฮิโรชิม่าซักกี่เท่าหว่า ? เหอๆ








ปล. คุณศรีก็อย่าหน้าแดงง่ายครับ เดี๋ยวความดันขึ้น
เอายาดมส้มโอมือไปใช้แทนมั้ย?? เลือกให้ถูกกลักล่ะครับ
ไม่งั้นอาจโดนระเบิดอีก



ปล.2 ชื่อเมือง ปราจีณบุรี หรือประจิณบุรี
มีที่มาจากคำว่า "ประจิม" แปลว่าทิศตะวันตกเฉียใต้
พอนึกออกมั้ยครับ ว่าทำไมถึงอยู่ภาคตะวันออกสุดของประเทศไทย ?
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 01 ต.ค. 09, 22:49

เข้ามาแก้ไขกระทู้ แล้วเผลอกดซ้ำไป
ยังค้างเรื่องปราจีณบุรีไว้ก่อน

แต่มาเล่าเรื่องอารยธรรมขอมต่อดีกว่า
งั้นพูดถึงคำว่า "อารยธรรม" ก่อนนะครับ
(ไม่งั้นอาจจะโดนถามอีก)
เวลาใช้ คำว่า "อารยธรรม" กับ "วัฒนธรรม"
ผมเข้าใจส่วนมากใช้ค่อนข้างคล้ายกัน และแทนกันได้เกือบหมด

แต่งานเขียนหลายชิ้นที่ผมผ่านตามามักจะใช้ "อารยธรรม"
ในความหมายถึงวัฒนธรรมในยุคที่ผ่านไปแล้ว
ส่วน "วัฒนธรรม" ใช้รวมถึงสิ่งที่ยังดำเนินไปในปัจจุบันอยู่
ไม่แน่ใจว่าเข้าใจเองถูกมั้ย รบกวนสมาชิกเรือนท่านอื่นๆช่วยติช่วยแก้กันด้วยนะครับ






วัฒนธรรมขอมเจริญขึ้นมาและแพร่ไปทั่วซีกตะวันออกของดินแดนสุวรรณภูมิ
พร้อมๆกับ "ศาสนาพราหมณ์" ทุกวันนี้ยังมี "ปราสาทหิน"
ที่เหลืออยู่เป็นจำนวนมากเป็นหลักฐานให้เราเห็นกัน
เวลาพูดถึง "ชนชาติขอม" ทีไร เราก็เลยพูดถึง "คนสร้างปราสาท" กันซะส่วนมาก

แต่การที่วัฒนธรรมจะแพร่ไปได้ และแพร่ไปเร็ว คงไม่ได้แพร่ไปโดยชนชาติแน่
ลองนึกดูว่าต่อให้ผู้หญิงขอมทุกคนออกลูกกันตอนอายุ 10 ขวบ
และออกกันไปทุกปีจนอายุ 35 (คุณ sugar จะหาว่าผมใจดำที่คิดแบบนี้มั้ยน๊อ)
ชั่วระยะเวลา 600 ปี ในสังคมที่การสาธารณะสุขยังแย่อยู่มาก
ประชากรขอมก็เพิ่มจากไม่กี่แสนเป็นสิบกว่าล้านไม่ได้แน่ๆ (คนนะครับ ไม่ใช่หนูตะเภา)

เพราะฉะนั้น คนที่ "สร้าง" ปราสาทขอม
เลย "อยู่ในวัฒนธรรมขอม" แต่ไม่ใช่ "ชนชาติขอม"
พูดแบบนี้คนอ่านอาจจะงง.... (งงช่ายป่ะ หิหิ)




ผมยกตัวอย่างใหม่ดีกว่า
พระที่นั่งอนันตสมาคมในหมู่พระราชวังดุสิต เป็นศิลปะแบบนีโอเรเนซองค์
(ถ้าไม่บอกว่าที่ไหนเดี๋ยวอาจมีคนคิดถึงหมู่พระอภิเนาว์ฯเอา)
คนที่สร้างเป็นคนชาติไหนครับ ?

หลายคนคงตอบผมว่า ก็ตา ตามาญโญ่น่ะฝรั่งนะ
หินอ่อนข้างใน กับอะไรอีกหลายอย่างในนั้นก็มาจากยุโรปด้วย
ก็ถูกล่ะครับ คนออกแบบเป็นฝรั่ง... แล้ว "ช่างก่อสร้าง" ที่สร้างล่ะครับ ?
คงพอนึกกันออกกันว่ามีทั้งไทย ทั้งเจ๊ก เผลอๆมีญวน มีมอญ มีเขมรด้วย
เพราะสังคมกรุงเทพมีคนสาระพัดชนชาติมาอยู่รวมๆกัน






งั้นคำถามข้อต่อไปครับ ศิลปะแบบนีโอเรเนซองค์เป็นศิลปะไทยรึเปล่า ?
แน่นอนล่ะครับว่าไม่ใช่ แต่เหตุผลที่คนไทยหยิบมาใช้ เพราะเหตุหลายๆประการ
ทั่วๆไปคงนึกกันออกหลายข้อ เช่น สวยกว่า มีองค์ความรู้ในการก่อสร้างที่สูงกว่า เป็นต้น

แล้วเหตุผลทางการเมืองล่ะครับ ?.... มีมะ
ถ้าลองนึกเทียบกับเหตุการณ์ใน ร.ศ. 112 ที่พอจะนึกออกง่ายหน่อยดู
สถานการณ์บ้านเมืองระหว่างสยามกับชาติตะวันตกตอนนั้น "ลุ่มๆดอนๆ" มากแค่ไหน
แล้วทำไมรัชกาลที่ 5 ถึงต้องสร้างตึกฝรั่งเต็มไปหมด.... ??
ทั้งๆที่เขาก็รุกเข้ามายึดเอาดินแดนประเทศราชของเราตลอดเวลา
คำตอบที่ได้ คือ "เพื่อแสดงตัวว่าทัดเทียมกับฝรั่ง"
โดยมีเหตุผลที่เหนือขึ้นไป คือ "การรักษาเอกราชของตัวเองเอาไว้"

และอีกเรื่องที่เราต้องยอมจำนนใจว่า "ชาติตะวันตกเจริญกว่าเรา"
ในรัชสมัยนี้ถึงได้มีการส่ง "พระราชโอรส" ไปศึกษาต่อในประเทศยุโรป
เหมือนที่รัชกาลที่ 4 เคยจ้างแหม่มมาสอนหนังสือในวังในสมัยก่อนหน้า

เพราะจากวันนั้นจนถึงวันนี้ การรู้ภาษาอังกฤษ ก็ยังหมายถึง
- โลกทัศน์ที่กว้างขึ้น
- องค์ความรู้ที่มีมากขึ้น
- ความเจริญที่เพิ่มขึ้น
- โอกาสที่เข้ามาง่ายขึ้น
- อำนาจที่มีมากขึ้น
- ความมั่นคงที่มั่นคงขึ้น
- หรือแม้แต่ ความร่ำรวยที่มีมากขึ้น
ซึ่งใครๆก็ต้องการ (มีใครมั่งไม่อยากมีเงินใช้ ไม่อยากมีความมั่นคงในชีวิต ยกมือหน่อยดิ.... แล้วไปบวชซะ)





แต่เมื่อเรียนภาษาอังกฤษไปแล้ว
ในที่สุดเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทยบ้าง ??
แน่นอนว่าเราเริ่มละทิ้งประเพณีเดิมๆของเรา
เช่น ในภาพถ่ายเก่าเราเห็นได้กันว่าเจ้าฟ้าหญิงวลัยฯ
เป็นเสด็จในกรมองค์แรกๆที่ไว้ผมแบบเด็กฝรั่งมาตั้งแต่แรก

และในหมายรับสั่งจำนวนมากเรายังเห็นอีกว่า
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 และ 5
ทรงใช้ภาษาแบบ "ไทยปนฝรั่ง"
(ไทยคำฝรั่งคำแบบที่ครูภาษาไทยสมัยนี้ "เกลียดเข้าไส้" น่ะล่ะครับ)
เพราะภาษาเดิมของเรา "มันไปไม่ทันที่จะรับกับการเปลี่ยนแปลง"





เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับกรุงรัตนโกสินทร์ของเรานี่เป็นธรรมดาโลกครับ
มันเกิดมาแล้วกับเมืองประเทศราชหลายเมืองในเครือข่ายวัฒนธรรมขอม
หลักฐานที่เหลือมาให้เราเห็นในปัจจุบันเราเห็นได้อย่างหนึ่งจากปราสาทหินผุดขึ้นทั่วภูมิภาค

แต่มีหลักฐานที่น่าตกใจกว่านั้น (ซึ่งผมเข้าใจว่าสังคมไทย "พยายาม" มองข้ามมันไป)






5 ทุ่มครึ่งแล้ว..... นอนดึกบ่อยๆสุขภาพไม่ดี
พรุ่งนี้ผมมาเล่าต่อนะครับ
บันทึกการเข้า
srisiam
สุครีพ
******
ตอบ: 857


ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 01 ต.ค. 09, 23:45

แน่ะ..ให้"ส้มโอมือ"แล้วหนีไปนอนเลยรึ...พรุ่งนี้จะมีของมาฝาก.. ยิ้มเท่ห์
บันทึกการเข้า
manit peuksakondh
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 02 ต.ค. 09, 11:03

1.เรื่องเมือง ปราจินฯ ก็คงจะพอเดาได้(เพราะมีบางท่านว่า vision  แล้วก็ knowledge อะไรนี่แหละ) เรื่องปราสาท ทั้งหลายแหล่ที่เขาว่าเรียงเป็นแนวเส้นครงเด๊ะ จากนครวัดฯลฯ ไปถึงภาคตะวันตกของเรา  (แต่ยังเคลือบแคลงว่าจริงหรือ) ก็เคยอ่านเคยลุย
2.อยากจะขอนอกเรื่องเพื่อกันลืมนิดหนึ่งว่า ไปดงละครที่นครนายก มา ดงจริงๆครับเหลือที่จะvision ได้(สุดแสนเสียดายครับ (เปิดเพลงที่ท่านรวงทองร้องไปด้วยก็จะได้บรรยากาศครับ)) ไปถึงก็เจอคนที่นึกว่าเป็นไกด์  เปล่าครับมาขอสว่นบุญ ก็เลยสวดไปเรียบร้อย ครับ เสียดายที่นี่มาก ใครมีเกล็ดความรู้เรื่องที่แห่งนี้ขอนิดนะครับ
3.จะคอยรับทราบ เรื่องที่ท่านว่าน่าตกใจต่อไปครับ
มานิต
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 10
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.073 วินาที กับ 19 คำสั่ง