เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 6598 กระเหรี่ยงในจิตรกรรมไทย
jean1966
สุครีพ
******
ตอบ: 1256


 เมื่อ 01 ก.ค. 09, 16:46

สำหรับผู้ศึกษาจิตรกรรมไทย หรือผู้สนใจที่ชอบชมจิตรกรรมฝาผนัง ถ้าเป็นคนช่างสังเกต จะปรากฎมีภาพชาวต่างชาติต่างภาษาปรากฎอยู่ในจิตรกรรมฝาผนังอยู่หลายชาติหลายภาษา โดยสังเกตได้จากการเขียนหน้าตาไปจนถึงการแต่งกาย ที่ปรากฎเช่นนั้นก็เพราะว่าช่างเขียนที่เขียนภาพในสมัยนั้นๆ อาจได้พบเห็น รู้จักกับคนต่างชาติต่างภาษาเหล่านั้น จนชิน จึงจับมาเป็นส่วนนึงในภาพเขียน กลายเป็นการเล่าเรื่องในอดีตหรือบันทึกประวัติศาสตร์ไว้ในภาพเขียนเหล่านั้นโดยไม่รู้ตัว และชนชาตินึงที่พบอยู่มากก็คือกระเหรี่ยงครับ(รูปประกอบวัดบางยี่ขัน)


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
jean1966
สุครีพ
******
ตอบ: 1256


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 01 ก.ค. 09, 16:50

กะเหรี่ยง คือใคร? มาจากไหน?

        กะเหรี่ยงในด้านตะวันตกของภาคกลางประเทศไทยมีอยู่จำนวนไม่น้อย จากจังหวัดตากไล่ลงมาถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คาดว่าอาจมีถึง 100,000 คน โดยเป็นกะเหรี่ยงในจังหวัด กาญจนบุรีราว 30,000 คน ส่วนใหญ่เป็นหมู่บ้านกะเหรี่ยงโป บางหมู่บ้านเป็นกะเหรี่ยงสะกอ บางหมู่บ้านอยู่ปะปนกันระหว่างกะเหรี่ยงโปและกะเหรี่ยงสะกอ นอกจากนั้นยังมีตองสู (กะเหรี่ยงอีกพวกหนึ่ง) อยู่เล็กน้อยไม่กี่คน

       กะเหรี่ยงเหล่านี้อาศัยอยู่ตามภูเขาทางทิศตะวันตกของประเทศไทยมาเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้ว มีบทบาทในประวัติศาสตร์ชาติไทยหลายครั้งหลายคราว สามารถปรับตัวจนได้รับความยอมรับจากสถาบันพระมหากษัตริย์มาแต่โบราณ มีส่วนสำคัญในการปกป้องรักษาผืนแผ่นดิน เพราะเป็นทั้งด่านหน้า กองสอดแนมและกำลังพลในการต่อสู้กับพม่า มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

       ความสัมพันธ์ระหว่างชาวกะเหรี่ยงกับคนไทยดำเนินมาเนิ่นนามด้วยสันติสุขและความกลมเกลียวยิ่งกว่าชาวไทยภูเขา (ชาวเขา) อื่นที่มีต่อคนไทย ปัจจุบันนี้ กะเหรี่ยงโดยเฉพาะในเขตจังหวัดกาญจนบุรี อุทัยธานี และตาก ถูกตราโดยรัฐว่าเป็นตัวการสำคัญในการตัดไม้ทำลายป่า บุกรุกอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า การเกษตร แบบโค่นเผาของกะเหรี่ยงเป็นการทำไร่เลื่อนลอยที่ทำลายป่าไม้ สัตว์ป่าและสภาพแวดล้อม ซึ่งไม่เป็นความจริงเลย *อันนี้กระเหรี่ยงเค้าไม่ยอมรับ*"ผมพูดเอง"
 

 ตำนานการเกิดของกะเหรี่ยง
       
เล่าต่อ ๆ กันมาว่า สมัยก่อนมีนางฟ้า มีสวรรค์ ครั้งหนึ่งดินที่โลกอบอวลหอมฟุ้ง นางฟ้าได้กลิ่นทนไม่ไหวลงมากินดินที่โลกมนุษย์ กินแล้วฤทธิ์เสื่อมบินกลับสวรรค์ไม่ได้ ต่อมาท้องเกิดลูก 7 คน กะเหรี่ยงเป็นพี่ชายคนโต น้อง ๆ มี เจ๊ก ฝรั่ง มอญ ฯลฯ

       กะเหรี่ยงเป็นคนซื่อ ขยัน ไม่มีเล่ห์เหลี่ยม ผิดกับฝรั่งผู้น้อง วันหนึ่งแม่ให้หนังสือ กะเหรี่ยงมัวแต่ดายหญ้าไม่ได้ไปเอา น้อง ๆ หยิบเอามาให้ก็ให้วางไว้บนตอไม้ ตนเองดายหญ้าเพลิน จนเย็นก็กลับบ้านลืมหยิบหนังสือมาด้วย เจ๊กผู้น้องมาเห็นในวันหลังจึงเอาไป หนังสือเสียสภาพถูกสัตว์แทะ แดดฝนไปมาก แต่ก็ทำให้จีนมีความรู้ กะเหรี่ยงยังโง่อยู่เช่นเดิม(1)

       กะเหรี่ยงในพม่าและในไทยมีตำนานเล่าคล้าย ๆ กันว่า กะเหรี่ยงเป็นผู้ที่มีอายุมากที่สุดในพี่น้อง 7 คน วันหนึ่งเมื่อพ่อเจ้า (Father-God) ใกล้จะตาย ได้เรียกลูกทั้งหลายเข้าไปใกล้เตียงนอนเพื่อมอบคัมภีร์ให้ พี่น้องมากัน 6 คน คนโตที่สุดคือกะเหรี่ยงไม่ได้มา เพราะมัวยุ่งกับงานคือถางหญ้าในไร่

       เมื่อพี่น้อง 6 คน มาถึงพ่อเจ้าก็ตายและมอบคัมภีร์ไว้ โดยมอบให้ลูกคนเล็กเก็บรักษาและนำไปให้พี่ชายคนโต ลูกชายคนเล็กสุดเห็นว่าคัมภีร์มีค่ามากและสามารถรู้เหตุการณ์เบื้องหน้าได้ จึงอยากได้ไว้เป็นของตน จึงลอกคัมภีร์อีก 1 ชุด ทำด้วยหนังสัตว์ ส่วนของพี่ชายคนโตที่เขาเก็บต้นฉบับไว้เป็นแผ่นทำด้วยทองคำ เขาบอกให้พี่ชายรับคัมภีร์ไป แต่พี่ชายมัวยุ่งกับการถางหญ้าเลยบอกให้น้องชายวางคัมภีร์โดยแขวนไว้บนกิ่งไม้ น้องชายคนสุดท้องจึงวางคัมภีร์โดยแขวนไว้บนกิ่งไม้ดังพี่ชายสั่ง และเขาก็กลับไปด้วยความดีใจ

       ในตลอดฤดูฝนพี่ชายคนโตก็ลืมคัมภีร์คงทิ้งแขวนไว้บนต้นไม้ จนกระทั่งสิ้นสุดฤดูฝนจึงจำได้ว่าเขาทิ้งให้คัมภีร์แขวนไว้บนต้นไม้จึงรีบไปดูคัมภีร์ที่ต้นไม้แต่คัมภีร์แผ่นหนังสัตว์นั้นอักษรบนคัมภีร์ชำรุดหมดแล้ว เพราะพวกนกได้ลากทึ้งลงสู่พื้นล่างและถูกสุนัขกัดจนเละ

       เขาโกรธแต่ไม่รู้จะทำอย่างไรจึงโค่นต้นไม้นำมาเผาเป็นถ่าน ชาวกะเหรี่ยงเชื่อว่าพวกเขาได้รับพรสวรรค์ในการทำนายอนาคต เขาจึงใช้การอ่านจากรอยข่วนในถ่าน พบว่าการทำนายเหตุการณ์ในอนาคตบางส่วนถูกต้อง ดังนั้นเขาจึงเชื่อมั่นว่าการอ่านของเขามีเหตุผลอย่างถูกต้องถ้าเขาใช้กระดูกไก่ เพราะรอยเขี่ยของไก่คล้ายรอยข่วนในถ่าน และตัวอักษรที่เห็นในคัมภีร์ก่อนเผาก็คล้ายรอยเขี่ยของไก่ หลังจากนั้นเขาก็เริ่มฆ่าไก่เพื่อเอากระดูกไก่มาทำนายอนาคต(2) การปฏิบัติเช่นนี้ยังคงเป็นของชนชาติกะเหรี่ยงทุกวันนี้ (3)

       มีเรื่องเล่าปรัมปราของกะเหรี่ยงแสดงสาเหตุที่กะเหรี่ยงไม่มีตัวหนังสือ เป็นเพราะเมื่อพระเจ้านำหนังสือมาให้มนุษยชาตินั้น กะเหรี่ยงซึ่งเป็นพี่คนโตมัวแต่วุ่นทำงานในไร่ พระเจ้าจึงวางหนังสือไว้ให้บนตอไม้ ไก่ไปคุ้ยเขี่ยหนังสือนั้นเสียหายหมด ส่วนคนเผ่าอื่นซึ่งเป็นน้องรอง ๆ ลงไปได้รับหนังสือทุกคนมากบ้างน้อยบ้าง แต่น้องผิวขาว (ฝรั่ง) ซึ่งเป็นน้องคนสุดท้องไม่ต้องทำงานนั้น ได้รับหนังสืออย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย มีเรื่องเล่าต่อไปว่า ในสมัยหลังน้องจะกลับมาช่วยพี่โดยนำหนังสือเงินหนังสือทองมาให้

       มิชชันนารีได้ฟังนิยายปรัมปรานี้ก็เลยต่อเรื่องให้ว่า ฝรั่งผิวขาวนี่แหละคือน้องสุดท้องที่จะมาช่วย และหนังสือเงินที่ว่านั้นก็คือหนังสือรวบรวมเพลงสวด หนังสือทองก็คือพระคัมภีร์ไบเบิล(4)

       มีนิทานตำนานมากมายที่กล่าวถึงกะเหรี่ยงพี่ชายคนโตว่าเป็นคนขยัน ซื่อ และโง่ ผิดกับน้องคนสุดท้องคือฝรั่งซึ่งฉลาดและเอาเปรียบกะเหรี่ยงอยู่ตลอด

       นอกจากนี้ มีนิทานแบ่งพี่น้องออกเป็น 3 พวก คือ

       เดิมอยู่ที่เมืองทวาย ประเทศพม่ามีพี่น้องรวมกัน 3 พวก คือ กะเหรี่ยงเป็นพี่ใหญ่ กะหร่าง(5)เป็นน้องคนกลาง และตองสูเป็นน้องคนเล็ก พี่น้องทั้งสามนี้ได้สัญญาว่าจะรักใคร่เป็นพี่น้องกันตลอดไป ได้ของสิ่งใดมาก็จะแบ่งปันกัน ทั้งสามพี่น้องจึงอยู่ร่วมกันมาอย่างเป็นสุข

       อยู่มาวันหนึ่งกะเหรี่ยงกับกะหร่างได้เม่น 1 ตัว จึงเอามาฆ่าแบ่งเนื้อกันที่ลำห้วย โดยไม่ได้แบ่งให้ตองสูน้องคนเล็กเพราะว่าเนื้อเม่นนั้นมีน้อย

       ต่อมาตองสูได้มาที่ลำห้วยพบขนเม่นที่ทิ้งไว้ก็รำพึงว่า "พี่เราทั้งสองคนได้เนื้ออะไรมาหนอ ไม่แบ่งให้เราบ้างเลย วัวกระทิงตัวใหญ่ขนยังเล็กนิดเดียว แต่ขนที่เห็นอยู่นี้ใหญ่กว่าขนกระทิงมาก ตัวก็คงใหญ่มากเช่นกัน"

       ตองสูคิดดังนั้นแล้วก็น้อยใจมากว่าพวกพี่ๆไม่รัก ไม่รักษาสัจจะวาจา อยู่ร่วมกันต่อไปคงจะไม่เป็นสุขแน่ จึงอพยพหนีพี่ทั้งสองไปโดยไม่บอกให้รู้ และไม่ให้เห็นร่องรอย ส่วนกะเหรี่ยงกับกะหร่างก็อยู่ร่วมกันเรื่อยมา(6) แต่คนตองสูกลับเล่านิทานว่ากะเหรี่ยงโป กะเหรี่ยงสะกอ และตองสูทำสัญญากันว่า ใครไปล่าสัตว์ได้เนื้อมาแล้วจะต้องแบ่งกันให้คนที่ล่าไม่ได้ วันหนึ่งตองสูล่าได้เนื้อเม่น ส่วนสะกอและโปไม่ได้อะไร ตองสูไม่ยอมแบ่งจึงถูกกะเหรี่ยงพวกอื่นว่าเป็นคนใจดำและแยกกันอยู่ตั้งแต่นั้นมา(7)  (ภาพประกอบวัดไชยทิศ)

 
 

 


บันทึกการเข้า
jean1966
สุครีพ
******
ตอบ: 1256


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 01 ก.ค. 09, 16:54

กะเหรี่ยงก่อนรัตนโกสินทร์

        กะเหรี่ยงปรากฎในดินแดนแถบนี้มานานแล้ว ไม่มีหลักฐานว่ามีมาแต่สมัยใด จากเค้าโครงของตำนานซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีของกะเหรี่ยงพอสรุปได้ว่า กะเหรี่ยงปรากฎอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนชาวพม่าและไทย(เจ๋ง แต่ภายหลังพวกตระกูลมอญ - เขมร โดยกะเหรี่ยงอาศัยอยู่ทางทิศตะวันออกของสหภาพพม่ามากกว่าอยู่ในประเทศไทย (9)

       นายปีเตอร์ ฮิลตัน ผู้เชี่ยวชาญประจำสถาบันวิจัยชาวเขาระหว่าง พ.ศ. 2509 - 2512 ได้ศึกษาพบว่า กะเหรี่ยงอาศัยอยู่ในประเทศพม่ามาก่อนที่พวกพม่าจะเข้าครอบครองดินแดนแถบนี้(10)

       นายชาร์ลส คายส์ ได้ค้นคว้าแสดงหลักฐานว่า กะเหรี่ยงอาศัยอยู่ในบริเวณพรมแดนระหว่างไทย - พม่า เมื่อประมาณ 600 - 700 ปีมาแล้ว(11)

       

       และทรงกล่าวถึงอาณาจักรเชียงใหม่ถูกยึดครองโดยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อปี พ.ศ.2204 นั้น กะเหรี่ยงและละว้าที่อยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าเมืองเชียงใหม่ต้องขึ้นต่อไทยด้วยเช่นกัน

       ในหนังสือ "คำให้การชาวกรุงเก่า" กล่าวถึงกะเหรี่ยงและละว้าเมืองศรีสวัสดิ์ (ปัจจุบันคืออำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี) ต้องส่งส่วยแก่กรุงศรีอยุธยาเป็นประจำ และรายงานของนักสำรวจชาวอังกฤษเมื่อต้นปี พ.ศ. 2334 ยืนยันถึงเจ้าเมืองที่เป็นกะเหรี่ยง ชื่อพระศรีสวัสดิ์ ปกครองพวกกะเหรี่ยงและพวกละว้าที่เมืองศรีสวัสดิ์ ได้มีการส่งส่วยเช่นเดิม

       ตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา พวกกะเหรี่ยงแถบเมืองศรีสวัสดิ์ยอมรับการปกครองของไทย ทั้งส่งส่วย ยอมเป็นไพร่ ซึ่งเป็นสิทธิและหน้าที่ที่พึงกระทำเช่นเดียวกับไพร่ไทย และเข้ารับราชการอยู่ในกองอาทมาต ทำหน้าที่สอดแนมฝ่ายตรงข้ามจากเมืองพม่า

       เมื่อเมืองหงสาวดีถูกพม่ายึดครองในตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา กะเหรี่ยงหลายพวกอพยพตามมอญเข้ามาสู่ประเทศไทย(12) นับว่าเป็นการอพยพเข้าสู่ประเทศไทยที่มีหลักฐานเป็นครั้งแรก

       ในปี พ.ศ.2318 พระเจ้าอลองพญา (อ่องเจยะ)ของพม่า ทำสงครามกับมอญโดยก่อการกบฎเข้ายึดอำนาจจากมอญ แล้วเรียกเก็บภาษีอย่างหนักจากชนกลุ่มอื่น ถ้าใครขัดขืนก็จะบังคับใช้แรงงานอย่างทารุณ ทำให้ชนกลุ่มอื่นพากันหลบหนี(13)

       มอญพ่ายแพ้ถูกกองทัพพม่าไล่ติดตามฆ่าฟันอย่างชนิดจะล้างผลาญชนชาติมอญให้สิ้นสูญไปจากโลก

       ในเวลานั้นกะเหรี่ยงเป็นมิตรกับมอญได้ให้ที่พักอาศัยหลบภัยแก่มอญ เมื่อพม่ายกกองทัพติดตามมา กะเหรี่ยงเกรงภัยจึงพากันอพยพหลบหนีข้ามภูเขาเข้ามาสู่เขตไทย นับเป็นช่วงที่กะเหรี่ยงอพยพเข้าสู่ประเทศไทยมากที่สุด(14) (ภาพประกอบวัดโพธิ์บางโอ)



บันทึกการเข้า
jean1966
สุครีพ
******
ตอบ: 1256


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 01 ก.ค. 09, 16:56

การอพยพครั้งใหญ่สู่ประเทศไทย

        การอพยพเพื่อหนีภัยจากพม่าครั้งนี้เป็นการอพยพครั้งใหญ่ที่สุดและกระเทือนจิตใจชาวกะเหรี่ยงมากที่สุด มีนิทาน ตำนาน และเพลงบอกเล่าถึงการอพยพครั้งนี้มากมาย

       เล่ากันว่า วันหนึ่งกะเหรี่ยงไปเที่ยวป่าพบปลากั้งซึ่งถือว่าเป็นบรรพบุรุษทางมารดาของพม่า อยู่ในแอ่งน้ำในลำห้วยก็คิดแกล้ง เอามีดแทงตาปลากั้งบอดทั้งสองข้าง พวกพม่ารู้เข้าก็โกรธมาก จึงไล่ฆ่าฟันพวกกะเหรี่ยงและกะหร่างแตกกระสานซ่านเซ็นหลบหนีเข้ามาอยู่ในเมืองไทย บางส่วนหนีไปอยู่กับพวกมอญเมืองทวายที่บ้านกุสะร่อง(15) ถูกพม่าขับไล่ก็อพยพมาสู่เมืองไทย บ้างเล่าว่าเดิมอยู่ในประเทศพม่าที่เยิงประซิ่ง ต่อมาย้ายไปที่ภูเขากะปูตุ้ง เมืองทวาย เมื่อถูกพม่ารบกวนจึงอพยพเข้ามาในเขตประเทศไทย(16)

       การอพยพครั้งนี้มีเพลงผูกเป็นคำกลอนร้องให้เด็ก ๆ ฟังว่า "เย่อโอค้องทะเว เยอเฌ้ทองคู้หล่งพะดู๊ เยออองเฆ่โอ้ซ่ายค้อง" พอแปลได้ว่า "เรานี้อยู่เมืองทวาย เราข้ามภูเขาใหญ่มาอยู่เมืองไทย" (17)

       มีเพลงเล่าถึงการอพยพอย่างเศร้าสร้อย ร้องกันอย่างกว้างขวางทั้งกะเหรี่ยงในอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี และอำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรีว่า "กาลาเล้อหยู่พู้ป่งก้อง ทัยฆะโอ๊ไส์ค้องลองนอง เม่ยเกมิ้งนาหมิที่ลอง นองทองถ่ายกล่งค้วยเก่อบ่ง" พอแปลได้ว่า "สมัยก่อนนั้นถูกมอญรุกราน อพยพมาอยู่เมืองไทยพวกหนึ่ง นอนตอนกลางคืนน้ำตาร่วง นึกถึงอดีตที่เจดีย์ขวยเก่อบง"(18)

       ตำนานเล่าว่ามีหม่องกาย หม่องโช และพู้เซิงละเป็นหัวหน้าในการอพยพเข้ามาอยู่เมืองไทย ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินไทยได้ทราบว่าพม่าไล่กะเหรี่ยงหนีมา จึงส่งทหารไทยไปรับ ทหารไทยไปรับก็พบกับพวกกะเหรี่ยง หัวหน้าทหารไทยจะขอผู้หญิงกะเหรี่ยงมาเป็นเมียคืนละคน พวกกะเหรี่ยงทราบก็ไม่พอใจแต่ไม่รู้จะทำอย่างไรที่จะไม่ต้องให้ผู้หญิงกะเหรี่ยงไปเป็นเมียทหารไทย พู้เซิงละจึงคิดแก้ไข โดยเอา "ลองคุเดิ่ง"(19) (มีลักษณะเป็นวงแหวนทองเหลือง เป็นของศักดิ์สิทธิ์ประจำเผ่า) ออกมาแช่น้ำ บันดาลให้เกิดลมฝนพายุใหญ่

       เมื่อเกิดการผิดปกติเช่นนี้หัวหน้าทหารไทยจึงถามว่า การที่จะขอผู้หญิงกะเหรี่ยงมานอนด้วยนั้นผิดประเพณีอะไรหรือไม่ พู้เซิงละตอบว่าผิดประเพณีมาก หัวหน้าทหารไทยก็เข้าใจ ผู้หญิงกะเหรี่ยงจึงไม่ต้องมาเป็นเมียหัวหน้าทหารไทย

       หลังจากนั้นพวกกะเหรี่ยงได้พยายามติดต่อกับพระเจ้าแผ่นดินเพื่อจะขออยู่ในเมืองไทย พระเจ้าแผ่นดินไทยก็ปรึกษากับพวกขุนนาง พวกขุนนางให้ความเห็นว่าไม่ควรรับไว้เพราะเป็นพวกที่มาจากเมืองนอกต่างเผ่าต่างภาษา แต่พระเจ้าแผ่นดินไทยทรงเห็นใจตรัสว่า "ยามเมื่อเขาชะตาตกเราควรช่วยเหลือเขา เมื่อเราชะตาตกเขาคงจะช่วยเหลือเราได้" จึงตกลงรับพวกกะเหรี่ยงให้อยู่ในเมืองไทย โดยให้อยู่ที่ลำห้วยตะเพินคี่ จังหวัดสุพรรณบุรี ลำห้วยคอกควาย จังหวัดอุทัยธานี แม่น้ำแควใหญ่ (โลโหว่) อำเภอสังขละบุรี อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดราชบุรี จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และที่อยุธยา(20)

       บ้างเล่ากันว่าเมื่ออพยพหนีมาอยู่เมืองไทยนั้น พบคนไทยกลุ่มหนึ่งมีอาชีพตัดไม้ไผ่ ไม้ท่อน พูดคุยกันไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะกะเหรี่ยงพูดไทยไม่ได้ สื่อสารกันได้ความว่า กะเหรี่ยงอดข้าวกันมาก บางคนตายระหว่างทาง คนไทยจึงต้มข้าวต้มให้กินเพราะย่อยง่าย แล้วพากะเหรี่ยงบางคนไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน (21)

       เมื่อได้เข้าเฝ้าแล้ว พระเจ้าแผ่นดินไต่ถามว่าเป็นใครมาจากไหน แต่งตัวแบบนี้ไม่เคยเห็นเลย ตัวแทนกะเหรี่ยงก็บอกว่าพวกเราไม่ใช่ไทย ไม่ใช่พม่า ไม่ใช่ฝรั่ง และไม่ใช่กะเหรี่ยงสะกอด้วย เป็นกะเหรี่ยงโป เมื่อก่อนอยู่ที่เมืองทวายในพม่า แต่ถูกพม่ารังแก เลยต้องหนีมาพึ่งไทย แล้วบอกด้วยว่ากะเหรี่ยงเป็นพี่คนโต ไม่เคยทำนาเคยแต่อยู่ในป่า เพราะฉะนั้นจะอยู่เมืองไทยคงอยู่ไม่ได้ ขอกลับไปอยู่ป่า แล้วตัวแทนกะเหรี่ยงก็ลากลับไปเมืองกาญจนบุรี ชวนพวกกะเหรี่ยงขึ้นตามลำน้ำลำห้วยอยู่ตามที่ต่าง ๆ (22)

       บางพวกเดิมพวกเขาอยู่บ้านเมกะวะ เขตเมืองม่อละแม่ง ประเทศพม่า ได้เข้ามาอยู่ในเขตไทยที่ห้วยช่องกะเปีย (ซองกาเลีย) อำเภอสังขละบุรี เมื่อ 212 ปีมาแล้ว ต่อมาพวกกะเหรี่ยงบ้านเดียวกันในเขตพม่าอพยพติดตามมาอยู่ร่วมด้วย ภายหลังต่างแยกย้ายออกไปตั้งบ้านเรือนอยู่ต้นลำธารต่าง ๆ

       เมื่อมีจำนวนมากเข้าเจ้าเมืองกาญจนบุรีจึงแต่งตัวหัวหน้ากะเหรี่ยงให้เป็นเจ้าเมืองสังขละบุรี ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาศรีสุวรรณคีรี (ภวะโพ่) บรรดาบุตรหลานเหลนได้เป็นเจ้าเมืองสืบแทนต่อมาอีก 3 คน จนมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านใน ร.ศ.120 พระยาศรีสุวรรณคีรี (ทะเจียงโปรย) ผู้สืบตระกูลคนที่ 4 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายอำเภอ จนถึง พ.ศ.2467 จึงลาออกจากราชการรับเบี้ยบำนาญ(23) ภาพประกอบวัดตำหนักใต้


บันทึกการเข้า
jean1966
สุครีพ
******
ตอบ: 1256


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 01 ก.ค. 09, 17:31

กะเหรี่ยงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

        พ.ศ.2330 ครั้งพม่ายกทัพบุกราชอาณาจักรไทย และทำศึกกันที่ท่าดินแดง พงศาวดารพม่ากล่าวว่า กะเหรี่ยงจากพม่าที่ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในไทยตั้งแต่กรุงศรีอยุธยานั้นเป็นพวกสอดแนมให้แก่ทางฝ่ายไทยในการทำศึกครั้งนี้ แต่พงศาวดารไทยมิได้กล่าวถึงกะเหรี่ยงเหล่านี้เลย เพียงแต่กล่าวว่ามีพวกสอดแนมจากจังหวัดกาญจนบุรี ไทรโยค และศรีสวัสดิ์ ได้ช่วยเหลือหรือสืบข่าวให้แก่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งขณะนั้นเมืองกาญจนบุรีเป็นคนไทยเสียมาก เมืองไทรโยคมีผู้นำเป็นคนมอญ ส่วนเมืองศรีสวัสดิ์มีผู้นำเป็นกะเหรี่ยงหลายคนในขณะนั้น

       ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ผู้นำกะเหรี่ยงเข้าติดต่อกับเจ้าเมืองกาญจนบุรี เพื่อขอตั้งรกรากที่เมืองสังขละบุรี เขตติดต่อด่านเจดีย์สามองค์ เป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย และได้รับความยินยอม ขณะเดียวกันมีกะเหรี่ยงบางกลุ่มที่กลัวเกรงการติดต่อใกล้ชิดกับคนไทย

       พ.ศ.2365 กะเหรี่ยง 36 คนจากเมืองสังขละบุรีซึ่งมีขุนสุวรรณเป็นผู้นำพร้อมด้วยพวกมอญ ได้ตามฆ่าขับไล่ตลอดจนจับกุมหน่วยลาดตระเวนทหารพม่า และเอกสารจดหมายเหตุตอนหนึ่งซึ่งเขียนโดยเจ้าเมืองกาญจนบุรีก็กล่าวถึงกะเหรี่ยงจำนวน 36 คนนั้น มีทั้งนายและไพร่ (24)

       มีหลักฐานทางศิลปะแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกะเหรี่ยงมากมายในสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 เช่น ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ซึ่งเขียนในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นภาพกะเหรี่ยงถือหน้าไม้อยู่ตามซอกเขา ภาพเขียนในวัดพระเชตุพนฯ และวัดบางขุนเทียนนอกซึ่งวาดในสมัยรัชกาลที่ 2-3

       สารตรา (เลขที่ 21 จ.ศ.1188) พ.ศ.2369 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีสารของพระยาจักรีถึงพระยาอุทัยธานีว่า หัวหน้าชาวกะเหรี่ยงชื่อ กางดุ มีหนังสือมาแจ้งราชการความว่า "กางดุจัดให้กางภุระดับไพร่ 15 คน ออกไปลาดตระเวนถึงคลองมิคลานพบจางกางกัวะ กง กะเหรี่ยงพม่า 9 คนบอกว่า เมืองเมาะตะมะมีอังกฤษอยู่ 500 คน อังกฤษตีพม่าได้" (25) เป็นผลงานในการลาดตระเวนสอดแนมของกะเหรี่ยงอีกชิ้นหนึ่ง

       พ.ศ.2369 สงครามระหว่างไทยกับพม่าเริ่มลงลงและสิ้นสุด เป็นปีที่พม่าแพ้สงครามกับอังกฤษเป็นครั้งแรกจนต้องสูญเสียแคว้นตะนาวศรีและอาระกัน กะเหรี่ยงซึ่งทำหน้าที่รักษาป้องกันด้านชายแดนไทยตั้งแต่กาญจนบุรีขึ้นไปถึงตาก เมื่อหมดการคุกคามจากพม่า แทนที่จะหมดความจำเป็นแก่ฝ่ายไทย กะเหรี่ยงกลับมาอยู่รวมกับสังคมไทยและไพร่ไทยซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์

       กิตติศัพท์ความแข็งแกร่งของกองทหารอังกฤษเลื่องลือมาถึงเมืองไทย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับกะเหรี่ยงที่อยู่ตามชายแดนด้านตะวันตกแล้วยกสังขละบุรีขึ้นเป็นเมือง โดยมีขุนสุวรรณเป็นเจ้าเมืองและพระราชทานนามว่า "พระศรีสุวรรณคีรี" นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงพระราชทานตำแหน่งเช่นเดียวกันแก่เจ้าเมืองแม่กลองซึ่งปัจจุบันนี้คืออำเภออุ้มผาง กะเหรี่ยงแห่งเมืองเหล่านี้ได้ส่งเครื่องราชบรรณาการต่อพระมหากษัตริย์ไทยทุก ๆ 3 ปีต่อครั้ง อันได้แก่ ผ้าฝ้าย ต้นไม้เงินต้นไม้ทอง และผลผลิตต่าง ๆ จากท้องถิ่น กะเหรี่ยงบางคนเข้าร่วมอยู่กับกองส่วยทองและกองส่วยดีบุกได้ถวายทองคำและเงินต่อพระมหากษัตริย์ไทยทุก ๆ ปี

       พ.ศ. 2380 เจ้าผู้ครองนครทางภาคเหนือได้พยายามเปลี่ยนชื่อของสถานที่และที่ตั้งตามสภาพภูมิศาสตร์ของแม่น้ำสายต่าง ๆ แถบแม่สอด เพื่อผลประโยชน์ทางด้านการเมือง จะได้อ้างสิทธิที่จะปกครองกะเหรี่ยงในบริเวณดังกล่าว มิฉะนั้นพวกนี้อาจจะกลับไปขึ้นอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของอังกฤษและพม่า แต่ความพยายามนี้ไม่ประสบผลสำเร็จ

       พ.ศ. 2393 เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่เริ่มกระทำข้อสัญญาให้แก่พวกละว้าและหมู่บ้านกะเหรี่ยงต่าง ๆ ในการที่จัดให้พวกนี้ได้มีที่อยู่อาศัยอย่างถาวรในแต่ละท้องถิ่น กะเหรี่ยงได้รับความคุ้มครองอย่างดีพอใจในความอิสระโดยไม่มีการบังคับให้เป็นทาส (26)

       พ.ศ. 2395 พม่าได้หลักฐานว่ากะเหรี่ยงพยายามติดต่อขอพึ่งกำลังอังกฤษ พม่าจึงแก้แค้นโดยเผาหมู่บ้านกะเหรี่ยงรอบ ๆ เมืองย่างกุ้งในรัศมีภายใน 50 ไมล์ รวมทั้งทำลายยุ้งฉางและฆ่ากะเหรี่ยงทั้งลูกเล็กเด็กแดง ทำให้กะเหรี่ยงต้องอพยพมาทางตะวันตกสู่ประเทศไทยอีกระลอกหนึ่ง(27)

       พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้แสดงออกถึงน้ำพระทัยที่ทรงเป็นห่วงและเกรงว่าพวกกะเหรี่ยงและพวกละว้าซึ่งอยู่ห่างไกลเหนือลำน้ำเพชรบุรีไปนั้น อาจจะถูกผนวกเข้ากับฝ่ายอังกฤษก็ได้

       พ.ศ.2423 กะเหรี่ยงซึ่งทำหน้าที่รักษาป้องกันอาณาบริเวณแถบด่านเจดีย์สามองค์ ได้ค้นพบหลักฐานซึ่งเป็นแท่งคอนกรีตสำหรับปักเขตแดนระหว่างไทยกับพม่า(28)

       พ.ศ.2428 จ่อละฝ่อ หัวหน้ากะเหรี่ยงไม่ยอมอ่อนน้อมต่ออังกฤษ ครั้นอังกฤษส่งกองทัพมาปราบปราม พวกกะเหรี่ยงจึงพากันอพยพเข้ามาอยู่ในไทยอีกระลอกหนึ่ง(29)

       พ.ศ.2430 เป็นช่วงเวลาที่กะเหรี่ยงมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าก่อน โดยทั้งผู้นำฝ่ายอังกฤษและไทยพยายามที่จะให้กะเหรี่ยงได้อยู่กันเป็นกลุ่มก้อน ฝ่ายปกครองของไทยได้ให้เกียรติและยอมรับฐานะของผู้นำกะเหรี่ยง กะเหรี่ยงก็ให้ความจงรักภักดีแก่ฝ่ายไทยด้วยดังจะเห็นได้ว่าหลังจากสงครามอังกฤษกับพม่าครั้งที่ 2 องค์พระมหากษัตริย์ไทยทั้งสองพระองค์คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาและสนพระทัยกะเหรี่ยงเป็นอย่างมากทรงประกาศไว้ว่า "พระองค์ก็ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินของพวกกะเหรี่ยงด้วย"

       พ.ศ.2433 ฝ่ายไทยและอังกฤษทำการสำรวจเขตแดน เพื่อทำข้อตกลงว่าด้วยการปักปันเขตแดนจากวิคตอเรียพ้อย (Victoria Point) ถึงบริเวณที่สูงของแม่น้ำสาละวิน บริเวณชายแดนเหล่านี้เป็นที่อยู่ของละว้าและกะเหรี่ยง เพื่อไม่ให้ฝ่ายไทยเสียเปรียบและผลทางการเมืองการปกครอง คณะผู้ตรวจราชการจึงไปตามบริเวณพื้นราบของเมืองต่าง ๆ อันได้แก่ เพชรบุรี ราชบุรี และกาญจนบุรี เพื่อตรวจตราหมู่บ้านกะเหรี่ยง ตลอดจนทำการศึกษาอย่างละเอียดถึงสภาพอาณาเขตบริเวณแถบนี้ จะได้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งถึงสถานภาพความเป็นอยู่และศักยภาพ ดังเช่น พระยาวรเดชศักดาวุธ แห่งมณฑลราชบุรี ได้ออกเยี่ยมเยียนหมู่บ้านกะเหรี่ยงในจังหวัดเพชรบุรีและราชบุรีมาแล้วด้วยตัวเอง นอกจากนี้ท่านยังจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านและกำนันซึ่งไม่เคยได้ปฏิบัติหรือทำกันมาก่อน จากรายงานการเดินทางหลายครั้งของท่าน ได้กล่าวถึงกะเหรี่ยงเหล่านี้แสดงออกถึงความกระตือรือล้น สามารถผสมกลมกลืนระหว่างไทย - กะเหรี่ยง และยินยอมต่อนโยบายการปกครองของรัฐบาล ความสำเร็จนี้เกิดขึ้นในภาคเหนือเช่นเดียวกัน

       พ.ศ.2435 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยพระอนุชาสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นผู้นำเอาระบบการปกครองแบบเทศภิบาลเข้ามาใช้ เนื่องจากมีพระราชประสงค์ที่จะให้พสกนิกรของพระองค์ซึ่งอยู่ตามชนบทห่างไกลนั้นได้มีส่วนร่วมตามสิทธิและหน้าที่ตลอดจนความรับผิดชอบเท่าเทียมเสมอเหมือนกันหมด อีกทั้งมีพระราชประสงค์ที่จะตัดทอนหรือยกเลิกระบบเก่า ๆ พระองค์ปรารถนาที่จะให้กะเหรี่ยงเข้ามามีส่วนร่วมและสิทธิหน้าที่เช่นเดียวกับคนไทยตามรูปแบบการปกครองใหม่นี้ ซึ่งได้แก่ การเสียภาษีให้แก่รัฐคนละ 5 บาท ในภาคเหนือและคนละ 6 บาท ในภาคกลาง อีกทั้งมีหน้าที่รับราชการในกองทัพไทย แต่มิใช่การถูกเกณฑ์หรือการบังคับตามระบบเจ้าขุนมูลนาย

       วัตถุประสงค์เหล่านี้บรรลุผลสำเร็จตามพระราชประสงค์ในจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี แต่ไม่ได้ผลนักในภาคเหนือ ทั้งนี้อาจเนื่องจากเมื่องครั้งพระองค์ทรงเริ่มดำเนินการ พระองค์ทรงปฏิบัติโดยตรงต่อบรรดาผู้นำชาวกะเหรี่ยงที่อยู่ในท้องที่ต่าง ๆ กันของกะเหรี่ยงภาคกลาง เช่น พระสุวรรณคีรีแห่งเมืองสังขละบุรี พระแม่กลองแห่งเมืองอุ้มผาง และพระพิชัยชนะสงครามแห่งเมืองศรีสวัสดิ์ ทั้งหมดล้วนเป็นนายอำเภอในแต่ละท้องถิ่นของตนเองทั้งสิ้น

       นับเป็นเวลาหลายสิบปีต่อมาพวกนี้จึงมีแนวโน้มอยู่ใต้พระบารมีของพระองค์มากขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงจากขนบธรรมเนียมเดิมก้าวไปสู่ความเจริญในยุคใหม่อย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้นโยบายนี้ประสบผลสำเร็จอย่างแท้จริง รวมถึงกะเหรี่ยงอีกท่านหนึ่งคือ หลวงพิทักษ์คีรีมาตย์ ซึ่งเป็นนายอำเภอของเมืองฝางใต้ (Pang Tai) ที่เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรีสมัยนั้น

       สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเคยรับสั่งไว้ว่า พวกกะเหรี่ยงที่เคยได้ช่วยงานราชการมาแล้วในกองอาทมาตนั้น หากประสงค์ที่จะเข้าร่วมทำงานกับหน่วยราชการของกองตำรวจภูธรแล้ว ก็ให้รับราชการอยู่กับกองนี้ได้ นายอำเภอกะเหรี่ยงท่านหนึ่งแห่งเมืองสังขละบุรีซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษาของตำรวจภูธรมาแล้ว ได้รวบรวมกะเหรี่ยงมาช่วยสร้างสถานีตำรวจ และปฏิเสธที่จะรับเงินค่าตอบแทนตามที่กระทรวงมหาดไทยได้เสนอให้(30)

       พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ พระราชธิดาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งโปรดชีวิตป่าเขาลำเนาไพร ได้เสด็จถึงหมู่บ้านปรังกาสี จังหวัดกาญจนบุรีเห็นการรำของกะเหรี่ยงก็สนพระทัย จึงได้ขอสองสาวกะเหรี่ยงเพื่อมาเป็นข้าหลวงและฝึกสอนการรำกะเหรี่ยงในวัง กะเหรี่ยงทั้งสองคือ "นังมิ่นกง" กับ "หนองเดงเค่ง" นับเป็นชาวเขาสองคนแรกที่ได้เป็นข้าหลวง หลังจากนายคนัง เงาะป่าที่ได้เป็นมหาดเล็ก(31)

       พ.ศ.2479 คณะปฏิภาคภาพยนตร์ได้สร้างและฉายภาพยนตร์เรื่อง "กะเหรี่ยงไทรโยค" เป็นภาพยนตร์เงียบ มีทิดเขียวนักพากย์ภาพยนตร์คนแรกของไทยเป็นผู้ให้เสียงพากย์ นับเป็นการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องป่าเขาลำเนาไพรเรื่องแรก หากไม่นับสารคดีป่าดงไพงไพรหรือเรื่องจระเข้ และเป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับชาวเขาเรื่องแรกของประเทศไทย แสดงถึงวัฒนธรรม ประเพณี ความเป็นอยู่ และความรักที่ต้องชิงรักหักสวาท นังมิ่นกงและหนองเดงเค่ง ได้มาช่วยฝึกระบำกะเหรี่ยงให้ด้วย(32)

       จะเห็นได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างกะเหรี่ยงภาคกลางกับคนไทยนั้นดำเนินมาอย่างเนิ่นนาน ด้วยสันติสุขและความสัมพันธ์กลมเกลียวอันดี ไทยอาศัยกะเหรี่ยงเป็นกองสอดแนม ลาดตระเวน และกำลังพลในการต่อสู้กับพม่า ขณะที่กะเหรี่ยงอาศัยแผ่นดินไทยเพื่อหลบหนีความขัดแข้งที่มีกับพม่า เป็นลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัยอย่างสงบสุขมา ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาถึงกรุงรัตนโกสินทร์

       แต่ปัจจุบันคนไทยหลายคนกลับไม่เข้าใจกะเหรี่ยง โดยเฉพาะหลายคนของฝ่ายรัฐบาล ที่เห็นว่ากะเหรี่ยงบุกรุกทำลายป่าและการเกษตรของกะเหรี่ยงเป็นการเกษตรที่ไม่อนุรักษ์ทรัพยากร กะเหรี่ยงหลายหมู่บ้านถูกขับไล่ให้ไปอยู่ที่อื่นโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล นับเป็นการถูกขับไล่ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของกะเหรี่ยงในประเทศไทย  (ภาพประกอบวัดใหม่เทพนิมิตร)       


บันทึกการเข้า
jean1966
สุครีพ
******
ตอบ: 1256


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 01 ก.ค. 09, 17:39

ข้อมูลทั้งหมดจากเว็ปไซด์http://www.geocities.com/klity_creek/kareninthai5.htm ไปอ่านเพิ่มเติมเอาได้ครับ โดยผมต้องขอขอบคุณเจ้าของข้อมูลมา ณ ที่นี่ ส่วนรูปถ่าย เป็นของผมทั้งหมดครับ (ภาพสุดท้าย วัดสุวรรณารามส่วนหนึ่งของตอนมโหสถ ฝีมืออาจารย์คงแป๊ะ)


บันทึกการเข้า
jean1966
สุครีพ
******
ตอบ: 1256


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 08 ก.ค. 09, 22:18

ข้อมูลมันคงเยอะเลยไม่ค่อยอยากดูกัน ชอบดูกันแต่รูป เอาล่าสุดกระเหรี่ยงที่วัดไม้รวก


บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.045 วินาที กับ 19 คำสั่ง