เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 3999 สงครามเก้าทัพ
naruponk
อสุรผัด
*
ตอบ: 1


เว็บไซต์
 เมื่อ 13 มิ.ย. 09, 08:51

เคยได้ยินเรื่องสงครามเก้าทัพ แต่ไม่เคยรู้รา่ยละเอียดเลย
ท่านใดพอทราบรบกวนเล่าคร่าวๆ ได้ไหมครับ

ขอบคุณครับ ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
jean1966
สุครีพ
******
ตอบ: 1256


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 26 มิ.ย. 09, 19:57

สงครามเก้าทัพ เป็นสงครามระหว่างสยามกับพม่า หลังจากที่พระบาทพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทำการย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรี มาทางทิศตะวันออก สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เป็นราชธานีแห่งใหม่ เวลานั้นบ้านเมืองอยู่ในช่วงผ่านศึกสงครามมาใหม่ ๆ ประจวบทั้งการสร้างบ้านแปลงเมือง รวมทั้งปราสาทราชวังต่าง ๆ เวลาผ่านมาได้เพียง 3 ปีพ.ศ. 2328 พระเจ้าปดุง กษัตริย์อังวะ หลังจากบรมราชาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินพม่าแล้ว ต้องการประกาศแสนยานุภาพ เผยแผ่อิทธิพล โดยได้ทำสงครามรวบรวมเมืองเล็กเมืองน้อยรวมถึงเมืองประเทศราชให้เป็นปึกแผ่น แล้วก็ได้ยกกองกำลังเข้ามาตีไทย มีจุดประสงค์ทำสงครามเพื่อทำลายกรุงรัตนโกสินทร์ให้พินาศย่อยยับเหมือนเช่นกรุงศรีอยุธยา

สงครามครั้งนี้พระเจ้าปดุงได้ยกทัพมาถึง 9 ทัพ รวมกำลังพลมากถึง 144,000 นาย โดยแบ่งการเข้าโจมตีกรุงรัตนโกสินทร์ออกเป็น 5 ทิศทาง ทัพที่ 1 ได้ยกมาตีหัวเมืองประเทศราชทางปักษ์ใต้ตั้งแต่เมืองระนองจนถึงเมืองนครศรีธรรมราช ทัพที่ 2 ยกเข้ามาทางเมืองราชบุรีเพื่อที่จะรวบกำลังพลกับกองทัพที่ตีหัวเมืองปักษ์ใต้แล้วค่อยเข้าโจมตีกรุงรัตนโกสินทร์ ทัพที่ 3 และ 4 เข้ามาทางด่านแม่ละเมาแม่สอด ทัพที่ 5-7 เข้ามาทางหัวเมืองฝ่ายเหนือตั้งแต่เชียงแสน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตีตั้งแต่หัวเมืองฝ่ายเหนือลงมาสมทบกับทัพที่ 3 4 ที่ยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมา เพื่อตีเมืองตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก นครสวรรค์ ทัพที่ 8-9 เป็นทัพหลวงพระเจ้าปดุงเป็นผู้คุมทัพ โดยมีกำลังพลมากที่สุดถึง 50,000 นาย ยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์เพื่อรอสมทบกับทัพเหนือและใต้โดยมีจุดมุ่งหมายที่กรุงเทพฯ เวลานั้นทางฝ่ายไทยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าได้รวบรวมกำลังไพล่พลได้เพียง 70,000 นายมีกำลังน้อยกว่าทัพพระเจ้าพม่าถึง 2 เท่าแต่ก็มีความเก่งกล้าชำนาญการสงคราม ประจวบเป็นทหารรบเดิมของพระเจ้ากรุงธนบุรีที่สามารถกอบกู้บ้านเมืองสมัยเสียกรุงศรีอยุธยาได้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงทรงปรึกษาวางแผนการรับข้าศึกกับ สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ว่าจะทำการป้องกันบ้านเมืองอย่างไร แผนการรบของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ คือจัดกองทัพออกเป็น 4 ทัพโดยให้รับศึกทางที่สำคัญก่อน แล้วค่อยผลัดตีทัพที่เหลือทัพที่ ๑ ให้ยกไปรับทัพพม่าทางเหนือที่เมืองนครสรรค์ ทัพที่ ๒ ยกไปรับพม่าทางด้านพระเจดีย์สามองค์ ทัพนี้เป็นทัพใหญ่ มีสมเด็จพระบวรราชเจ้ามาหาสุรสิงหนาทเป็นแม่ทัพ คอยไปรับหลวงของพระเจ้าปดุงที่เข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ทัพที่ ๓ ยกไปรับทัพพม่าที่จะมาจากทางใต้ที่เมืองราชบุรี ส่วนทัพที่ ๔ เป็นทัพหลวงโดยมีพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เป็นผู้คุมทัพคอยเป็นกำลังหนุน เมื่อทัพไหนเพลี้ยงพล้ำก็จะคอยเป็นกำลังหนุน สมเด็จพระอนุชาธิราช พระบวรราชเจ้ามาหาสุรสิงหนาท ได้ยกกองทัพไปถึงเมืองกาญจนบุรี ตั้งรับทัพอยู่บริเวณทุ่งลาดหญ้า เชิงเขาบรรทัด สกัดกั้นไม่ให้ทัพพม่าได้เข้ามารวบรวมกำลังพลกันได้ นอกจากนี้ยังจัดกำลังไปตัดการลำเลียงเสบียงของพม่าเพื่อให้กองทัพขาดเสบียงอาหาร แล้วยังใช้อุบาย โดยทำเป็นถอยกำลังออกในเวลากลางคืน ครั้นรุ้งเช้าก็ให้ทหารเดินเข้ามาผลัดเวร เสมือนว่ามีกำลังมากมาเพิ่มเติมอยู่เสมอ เมื่อทัพพม่าขาดแคลนเสบียงอาหารประจวบกับครั้นคร้ามคิดว่ากองทัพไทยมีกำลังมากกว่า จึงไม่กล้าจะบุกเข้ามาโจมตี สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทเมื่อสบโอกาสทำการโจมตีกองทัพ 8-9 จนถอยร่นพระเจ้าปดุงเมื่อเห็นว่าไม่สามารถบุกโจมตีต่อได้ประจวบทั้งกองทัพขาดเสบียงอาหารจึงได้ถอยทัพกลับ สำหรับการโจมตีทางด้านอื่น ทางด้านเหนือพระยากาวิละเจ้าเมืองลำปางสามารถป้องกันทัพพม่าที่ยกมาทางหัวเมืองฝ่ายเหนือได้สำเร็จ ส่วนทัพที่บุกมาทางด่านแม่ละเมา มีกำลังมากกว่าจึงสามารถตีเมืองพิษณุโลกได้ แต่เมื่อเสร็จศึกทางด้านพระเจดีย์สามองค์แล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงเสด็จยกทัพขึ้นไปช่วยหัวเมืองทางเหนือ ส่วนทางปักใต้ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เมืองเสร็จศึกที่ลาดหญ้าแล้ว เสด็จยกทัพลงไปช่วยทางปักต์ใต้ต่อ แต่ก่อนที่จะเสด็จไปถึงทัพพม่าได้โจมตีเมืองระนองถึง เมืองถลาง เวลานั้นเจ้าเมืองถลางเพิ่งจะถึงแก่กรรมยังไม่มีการตั้งเจ้าเมืองคนใหม่ แต่ชาวเมืองถลางนำโดยคุณหญิงจันภริยาเจ้าเมืองถลางที่ถึงแก่กรรมและนางมุกน้องสาว ได้รวบรวมกำลังชาวเมืองต่อสู้ข้าศึกจนสุดความสามารถ สามารถป้องกันข้าศึกพม่าไม่ให้ยึดเมืองถลางไว้ได้ หลังเสร็จศึกแล้วพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้คุณหญิงจันเป็นท้าวเทพกษัตรีย์ (หรือท้าวเทพสตรี) นางมุกน้องสาวเป็นท้าวศรีสุนทร นอกจากนี้ทัพพม่าบางส่วนสามารถตีเมืองนครศรีธรรมราชได้ และยกลงไปตีเมืองสงขลาต่อ เจ้าเมืองและกรมการเมืองพัทลุงพอทราบข่าวทัพพม่าตีเมืองนครศรีธรรมราชได้ด้วยความขลาดจึงหลบหนีเอาตัวรอด แต่มีภิษุรูปหนึ่งนามว่าพระมหาช่วยมีชาวบ้านนับถือศรัทธากันมาก ได้ชักชวนชาวเมืองพัทลุงให้ต่อสู้ป้องกันสกัดทัพพม่าไม่ให้เข้ายึดเมืองพัทลุงได้ เมืองกองทัพสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ยกกองทัพลงมาช่วยหัวเมืองปักต์ใต้ ตีทัพพม่าตั้งแต่เมืองไชยาลงมาจนถึงนครศรีธรรมราช เมื่อทัพพม่าแตกพ่ายถอยร่นไปพ้นจากหัวเมืองปักต์ใต้แล้ว พระมหาช่วยต่อมาได้ลาสิกขาบทและเข้ารับราชการ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงทรงตั้งให้เป็นพระยาทุกขราษฎร์ กรมการเมืองพัทลุง หลังจากพ่ายแพ้ไทยกลับไป พระเจ้าปดุง ได้รวบรวมกำลังหมายจะเข้ามาตีไทยในปีถัดมา ในปี พ.ศ. ๒๓๒๙ โดยครั้งนี้พระเจ้าปดุงได้รวมกำลังเป็นทัพใหญ่ทัพเดียว พร้อมจัดหาเสบียงอาหารให้บริบูรณ์ ยกทัพมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์แล้วตั้งทัพที่ท่าดินแดง เมืองกาญจนบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทเป็นแม่ทัพหน้าพระองค์เป็นแม่ทัพหลวง ทัพทั้งสองได้โจมตีทัพพม่าพร้อมกัน สู้รบกันเพียง ๓ วัน ทัพของพม่าก็แตกพ่ายไป สงครามครั้งแรกที่พระเจ้าปดุงยกทัพเข้ามาโจมตีไทยถึง 9 ทัพจึงเรียกสงครามเก้าทัพ ส่วนครั้งหลังที่รบกันที่ท่าดินแดงจึงเรียกว่า สงครามท่าดินแดง

บันทึกการเข้า
manit peuksakondh
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 16 ก.ย. 09, 15:15

เพิ่งเห็นหัวข้อนี้ครับ คือตอนไปเที่ยวที่สวนผึ้ง ราชบุรี ผมเห็นก้อนหินใหญ่อยู่ข้างทาง ข้างล่างเป็นที่รกร้าง ที่หินสลักไว้ว่า "คุ้มพระพุทธยอดฟ้าฯ" ผมกับภรรยาผมก็ค้นตำรากันสนุก มาเจอข้อมูลที่ถูกใจที่นี่เอง ขอบพระคุณครับ
มานิต
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.046 วินาที กับ 19 คำสั่ง