เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 15 เมื่อ 16 ม.ค. 01, 10:03
|
|
ธรรมดาถิ่นใดไร้นักปราชญ์ ณ ถิ่นนั้นผู้มีปัญญาแต่เล็กน้อยมักยอตัวว่าเลิศ เปรียบเหมือนในดินแดนอันไร้รุกขชาติ ชั้นแต่ต้นละหุ่งก็ขึ้นชื่อว่าเป็นไม้ใหญ่ **************************************** "ผู้นี้เป็นพวกเราหรือพวกอื่น?" นี่เป็นปัญหาของผู้มีใจคับแคบ ผู้มีใจกว้างขวางย่อมถือว่า ผู้อยู่เหนือพสุธาทั้งหมด เป็นพวกเดียวกัน ******************************************** อันว่าทรชน แม้จะมีความรู้เป็นอาภรณ์ ก็ต้องหลีกเลี่ยงเสียจนพ้น อย่าได้สมาคมข้องแวะเป็นอันขาด เปรียบเช่นอสรพิษประดับดวงมณี เชื่อได้ว่าจะไม่ทำอันตรายละหรือ? ********************************************* สัตบุรุษ แม้จะโกรธแค้น ก็มิเปลี่ยนกิริยาให้วิกล น้ำในสาคร จะเอาฟางติดไฟสุมสักเท่าไร ก็หาทำให้น้ำเย็นกลายเป็นร้อนไม่ ********************************************* การเข้าเป็นพวกกลมเกลียวกัน จะมีแก่โลหธาตุเพราะธรรมชาติเป็นโลหะเหมือนกันเป็นเครื่องประสาน จะมีแก่สัตว์จัตุบาททวิบาท เพราะสรีรรูปเป็นเครื่องประสม จะมีแก่คนโง่เขลา เพราะความขลาดและความโลภเป็นเครื่องชักจูง จะมีแก่สัตบุรุษเพราะทรรศนะปรีชาเป็นเครื่องสมาน
(หิโตปเทศ)
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
นกข.
บุคคลทั่วไป
|
ความคิดเห็นที่ 16 เมื่อ 17 ม.ค. 01, 00:15
|
|
การเข้าประสมกลมเกลียวกัน ข้อสุดท้ายของคุณเทาชมพู จากหิโตปเทศ ทำให้ผมนึกถึงคำขวัญของสมาคม - ดูเหมือนจะเป็น สยามสมาคม? เป็นสมาคมวิชาการเก่าแก่อันหนึ่งของเมืองไทย อดีตบรรณาธิการอาวุโสมากของวงการหนังสือเมืองไทยท่านหนึ่ง เคยยกคำขวัญนี้มา บอกว่า "วิชายังให้เกิดมิตรภาพ"
ขยายความว่า การได้สนทนาแลกเปลี่ยนทัศนะในหมู่ผู้สนใจวิชาการเรื่องคล้ายๆ กัน ทำให้เกิดความสุขทางใจและรู้สึกสนิทสนมกันมาก เหมือนเช่นบนเรือนไทยนี้ ขอบคุณทุกท่านครับ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
นกข.
บุคคลทั่วไป
|
ความคิดเห็นที่ 17 เมื่อ 17 ม.ค. 01, 00:27
|
|
จาก หิโตปเทศ เท่าที่จำได้คร่าว ๆ นะครับ
ผู้ใด เห็นสัตว์โลกอื่นเสมอด้วยตนเอง เห็นภริยาผู้อื่นเสมอด้วยมารดาตน เห็นทรัพย์สินของผูอื่นเสมอด้วยก้อนดิน ผู้นั้นแลเป็นบัณฑิต...
เปลี่ยนจากเมืองแขกไปเมืองจีนบ้าง จากธรรมะในพุทธศาสนานิกายเซน หรือ ฉาน ...โศลกของชินเชา ศิษย์เอกของท่านสังฆปริณายกองค์ที่ 5 แห่งนิกายเซน ผู้มีสิทธิได้รับสืบทอดตำแหน่ง (แต่ในที่สุดไม่ได้) "กายนี้ คือต้นโพธิ์ ใจของเรา คือกระจกเงาอันใส เราเฝ้าดูด้วยความระวังทุกชั่วโมง และไม่ยอมให้ฝุ่นละอองจับ"
...โศลกของท่านเว่ยหล่าง หรือท่านฮุยเหนิง ผู้ได้รับสืบทอดตำแหน่งตัวจริง เป็นสังฆปริณายก องค์ที่ 6 "ไม่มีต้นโพธิ์ ทั้งไม่มีกระจกเงาอันใสสะอาด เมื่อทุกสิ่งว่างเปล่าแล้ว ฝุ่นละอองจะลงจับอะไร?"
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
พวงร้อย
|
ความคิดเห็นที่ 18 เมื่อ 17 ม.ค. 01, 02:10
|
|
เห็นด้วยกับคุณ นกข มากเชียวค่ะ สำหรับความร่มรื่นทางปัญญาใน เรือนไทย ไปได้หนังสือ "สุภาษิตพระร่วง" จากเที่ยวก่อน เลยคัดมาฝากค่ะ
"... ปลูกไมตรีอย่ารู้ร้าง..............สร้างกุศลอย่ารู้โรย อย่าโดยคำคนพลอด..............เข็นเรือทอดกลางถนน เป็นคนอย่าทำใหญ่...............ข้าคนไพร่อย่าไฟฟุน คบขุนนางอย่าโหด...............โทษตนผิดรำพึง อย่าคะนึงถึงโทษท่าน.............หว่านพืชจักเอาผล เลี้ยงคนจักกินแรง...............อย่าขัดแข็งผู้ใหญ่ อย่าใฝ่ให้ตนเกิน................เดินทางอย่าเดินเปลี่ยว นำ้เชี่ยวอย่าขวางเรือ............ที่ซุ้มเสือจงประหยัด จงเร่งระมัดฟืนไฟ...............ตนเป็นไทอย่าคบทาส อย่าประมาทท่านผู้ดี..............มีสินอย่าอวดมั่ง ผู้เฒ่าสั่งจงฟังความ..............ที่ขวากหนามอย่าเสียเกือก ทำรั้วเรือกไว้กันตน..............คนรักอย่าวางใจ ที่มีภัยจงพึงหลีก.................ปลีกตนไปโดยด่วน ได้ส่วนอย่ามักมาก...............อย่ามีปากกว่าคน รักตนกว่ารักทรัพย์...............อย่าได้รับของเข็ญ เห็นงามตาอย่าปอง..............ของฝากท่านอย่ารับ ที่ทับจงมีไฟ....................ที่ไปจงมีเพื่อน ทางแถวเถื่อนไคลคลา............ครูบาสอนอย่าโกรธ โทษตนผิดพึงรู้.................สู้เสียสินอย่าเสียศักดิ์ ภักดีอย่าด่วยเคียด..............อย่าเบียดเสียดแก่มิตร ที่ผิดช่วยเตือนตอบ..............ที่ชอบช่วยยกยอ..."
เอาแค่นี้ก่อนนะคะ
ชอบ หิโตปเทศ ที่คุณเทาชมพูเอามาให้มากเลยค่ะ ไม่เคยอ่านเลย
น่าสงสัยว่าในหลักสูตรการศึกษาสมัยนี้ เน้นด้านการสอนเรื่อง คุณธรรม กันขนาดไหนบ้างนะคะ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 19 เมื่อ 17 ม.ค. 01, 09:32
|
|
คุณนกข. มีหนังสือเล่มไหนที่คุณไม่เคยอ่านไหมคะ ดิฉันจะไปหามา เผื่อจะถูกล็อตเตอรี่ไปพร้อมๆกันด้วยไงคะ
คุณพวงร้อย หลักสูตรม.ปลายมีวิชาพุทธศาสนาค่ะ เคยเอามาอ่านก็เขียนดีค่ะ เรียบเรียงง่ายๆ มีเหตุผล แต่ก็เป็นเพียงวิชาหนึ่งในหลายๆวิชา เด็กเก่งของเราตอนนี้มักจะเรียนสายวิทย์ หนักไปทางด้านฟิสิกส์เคมีกันมาก
ถ้าคุณพวงร้อยชอบหิโตปเทศ ดิฉันมีมาฝากอีก เพราะทั้งเล่มเป็นข้อคิดเตือนใจที่คมคายทั้งนั้น ยังหาซื้อได้ที่แพร่พิทยาค่ะ
แม้มีชีวิตอยู่ในโลกนี้เพียงขณะเดียว แต่เป็นคนมีชื่อลือขจรในหมู่มนุษย์ ไม่เสื่อมทรามจากความรู้ ความกล้าหาญ และชื่อเสียง นี้ผู้รู้สรรเสริญว่ามีชีวิตอยู่จริง ********************************************* สตรีจะงาม เพราะจงรักในสามี คนอนาถาจะงามเพราะมีความรู้ ผู้ประพฤติพรตจะงาม เพราะขันติ ********************************************* น้ำในสระ ร่มเงาไม้ไทร สตรีลำเพาพักตร์ เรือนที่ก่อด้วยอิฐ เหล่านี้ ในฤดูหนาวอบอุ่น ในฤดูร้อนก็เย็นสบาย ********************************************* ทรัพย์ใด เจ้าของเผื่อแผ่แก่เพื่อนมนุษย์ ตนเองก็บริโภคอิ่มหนำ ทรัพย์นั้นจึงเป็นอันนับว่าทรัพย์(เครื่องบำรุงสุข) แท้จริง ********************************************* เพื่อนทุกคนที่มาเสวนากันบนเรือนไทย ถึงแม้หลายคนอยู่ไกลกันคนละทวีป ดิฉันก็รู้สึกเหมือนเป็นมิตรสนิท ขอบคุณที่พวกคุณสร้างบรรยากาศน่ารื่นรมย์ตลอดมาค่ะ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
กระบี่อิงฟ้า
บุคคลทั่วไป
|
ความคิดเห็นที่ 20 เมื่อ 17 ม.ค. 01, 09:34
|
|
มีสองขามายืนบนผืนภพ มีตาครบคู่สองมาส่องหน มีสองแขนพิทักษ์รักษาตน มีกมลไว้เพื่อเชื่อตนเอง ผมจำบทเต็มๆไม่ได้ และจำผู้แต่งไม่ได้ด้วยใครทราบช่วยหน่อยครับ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
นนทิรา
บุคคลทั่วไป
|
ความคิดเห็นที่ 21 เมื่อ 17 ม.ค. 01, 09:34
|
|
ชอบกระทู้นี้มากเลยค่ะ อ่านแล้วได้คิด ได้สะกิดใจ ชอบ หิโตปเทศ ด้วยค่ะ เป็นผลงานของเสฐียรโกเศสหรือคะ ภาษาสละสลวยมาก แค่ได้อ่านความงดงามของภาษาก็คุ้มแล้ว แล้วยังมีความหมายเป็นคติสอนใจอีก แปลกจริงที่ว่า หนังสือดีๆเช่นนี้ หาซื้อยากมากๆ หรือไม่ก็หาซื้อไม่ได้เลย เสียดายนะคะ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 22 เมื่อ 17 ม.ค. 01, 11:08
|
|
ค่ะ หิโตปเทศ เป็นผลงานของเสฐียรโกเศศ (พระยาอนุมานราชธน) ที่ท่านทำคนเดียว ไม่ได้ร่วมงานกับนาคะประทีป(พระสารประเสริฐ) เป็นหนังสือที่ดิฉันเรียนตอนปี ๔ ค่ะ ยังพอมีที่แพร่พิทยา เซนทรัลปิ่นเกล้า แต่หนังสือแบบนี้หาคนรู้จักน้อยมาก ขายยาก ก็เลยไม่ค่อยวางจำหน่าย
หิโตปเทศ ดัดแปลงมาจากคัมภีร์ปัญจตันตระของอินเดีย ซึ่งเป็นคัมภีร์โบราณอายุอยู่ในราวพ.ศ. ๑๒๐๐ แปลเป็นหลายภาษา ภาษาอังกฤษชื่อว่า Pilpays Fable ค่ะ แต่ของเสฐียรโกเศศ แปลมาจากฉบับภาษาสันสกฤต
เห็นคุณนนทิราชอบ เลยเอามาฝากอีกค่ะ
มีบุตรที่ฉลาดคนเดียว ย่อมดีกว่ามีบุตรที่โง่เง่าตั้งร้อยคน อันว่าดวงจันทร์แม้ขึ้นแต่ดวงเดียว ย่อมกำจัดความมืดให้ปราศหายไปได้ แต่ดวงดาวนับร้อย ย่อมไม่อาจจะกำจัดความมืดให้สว่างได้เพียงพอ ****************************************** มีทรัพย์ ๑ ปราศจากโรคภัยเบียดเบียน ๑ มีภรรยาน่ารัก ๑ มีภรรยาที่มีวาจาสุภาพเรียบร้อย ๑ มีบุตรที่อยู่ในโอวาท ๑ มีความรู้ทำประโยชน์แก่มนุษย์ ๑ เหล่านี้เป็นสิริมงคล ๖ ประการ ในโลก ****************************************** กรรมทั้งมวล ต้องอาศัยความเพียรพยายามจึงสำเร็จ มิใช่จะเป็นผลได้มาแต่ความตั้งใจดีโดยเฉยๆเท่านั้น เปรียบเหมือนสิงโต ถ้านอนหลับอยู่ ไฉนกวางจะวิ่งแร่ถลันมาสู่ปากเล่า? ****************************************** ถึงผู้ที่โง่เขลาก็อาจจะเป็นที่นับถือในที่ประชุมได้ ถ้าผู้นั้นสวมเครื่องแต่งกายงดงาม คงจะมีผู้นับถือผู้ที่โง่เขลานั้น ตราบเท่าผู้นั้นยังไม่แย้มปากพูดออกมา ******************************************* ถ้าเสพด้วยคนชั่วอาจจะทำใจให้ชั่วได้ และย่อมประพฤติตนเป็นไปตามที่ได้เสวนะ เพราะฉะนั้นถ้าเสพกับผู้ที่ประเสริฐแล้วก็ย่อมประเสริฐตามกัน ******************************************* วิสัยคนมีปัญญา ย่อมใช้เวลาศึกษาศิลปวิทยาและโคลงฉันท์กาพย์กลอน แต่ผู้ที่โง่เขลาย่อมใช้เวลาประพฤติการชั่ว พอใจแต่กินนอน และก่อการวิวาท ****************************************** ผู้ที่ไม่รั้งสติบังคับใจของตนให้อยู่ จึงจะประพฤติการบุญกุศลเท่าไรๆก็หารับประโยชน์ไม่ เสมือนชำระล้างกายช้าง จะถูเท่าไรก็ไม่สะอาด ความรู้มีอยู่ แต่ไม่สนใจจะประพฤติตาม ก็เหมือนเครื่องอาภรณ์ประดับหญิงที่ทรามโฉม
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 23 เมื่อ 17 ม.ค. 01, 11:12
|
|
ของคุณกระบี่อิงฟ้าที่ยกมา ดิฉันไม่เคยเห็นค่ะ ใครนึกออกบ้างคะ?
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
นกข.
บุคคลทั่วไป
|
ความคิดเห็นที่ 24 เมื่อ 17 ม.ค. 01, 18:05
|
|
ขออนุญาตเดานะครับ "มีสองขามายืนบนผืนภพ มีตาครบคู่สมองมาส่องหนฯ" นี่ น่าจะเป็นงานเขียนของ อุชเชนี ครับ แต่ไม่แน่ใจ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
นกข.
บุคคลทั่วไป
|
ความคิดเห็นที่ 25 เมื่อ 17 ม.ค. 01, 19:28
|
|
อันนี้มาจากโคลงโลกนิติ - ยามจนทนกัดก้อน กินเกลือ ไม่เที่ยวแล่เนื้อเถือ พวกพ้อง อดอยากเยี่ยงอย่างเสือ สงวนศักดิ์ โซก็เสาะใส่ท้อง จับเนื้อกินเองฯ และ - เสียสินสงวนศักดิ์ไว้ วงศ์หงส์ เสียศักดิ์สู้ประสงค์ สิ่งรู้ เสียรู้เร่งดำรง ความสัตย์ ไว้นอ เสียสัตย์อย่าเสียสู้ ชีพม้วยมรณาฯ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
จ้อ
|
ความคิดเห็นที่ 26 เมื่อ 18 ม.ค. 01, 04:18
|
|
จำได้อีกอันหนึ่ง คิดว่าเป็นพระนิพนธ์ของรัชการลที่ 6 (ไม่แน่ใจ?) เคยได้ยินบ่อยๆ ครับ ถ้าพิมพ์ผิดขออภัยครับผม
ผู้ใดถึงได้เรียนรู้.......วิชา แต่รูปร้ายกริยา........โฉดด้วย ใจงามบ่รักษา...........ปล่อยขาด ผู้นั้นได้ชื่อม้วย.........ชีพสิ้นสุดสกล
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
นิรันดร์ เจริญกูล
บุคคลทั่วไป
|
ความคิดเห็นที่ 27 เมื่อ 06 ก.พ. 01, 12:57
|
|
ไม่รู้ว่าเด็กผู้หญิงสมัยนี้จะฟังบทนี้รู้เรื่องไหม โดยเฉพาะชาวเซ็นเตอร์พอย์ท
อย่าเดินกรายย้ายอกยกผ้าห่ม อย่าเสยผมกลางทางหว่างวิถี อย่าพูดเพ้อเจ้อไปไม่สู้ดี เหย้าเรือนมีกลับมาจึงหารือ
กับ
อันนัยตาพาตัวให้มัวหมอง เหมือนทำนองแนะออกบอกกระแส จริงไม่จริงเขาก็เอาไปเล่าแซ คนรังแกมันก็ว่านัยตาซน
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|