suthima
อสุรผัด

ตอบ: 4
|
สวัสดีค่ะ อาจารย์เทาชมพู
หนูได้อ่านกระทู้หนึ่ง ซึ่งอาจารย์ได้พิมพ์ไว้ว่า ได้เคยทำงานเปรียบเทียบ "ห้องสิน" และ "อภัยนุราช" เอาไว้ ตอนนี้หนูกำลังจะทำวิทยานิพนธ์ ป.โท เกี่ยวกับเรื่องห้องสินค่ะ ไม่ทราบว่าหนูจะติดตามผลงานของอาจารย์เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ที่ไหนบ้างคะ มีตีพิมพ์ไว้ไหมคะ
หนูอยากได้ความรู้และมุมมองจากอาจารย์มาเป็นข้อมูลอ้างอิงในงานค่ะ
รบกวนอาจารย์ด้วยนะคะ ขอบพระคุณค่ะ
สุธิมา
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 1 เมื่อ 03 ก.พ. 09, 08:42
|
|
มาจากเอกสารประกอบการสอนนศ.ปริญญาโท สาขาการแปล ของสถาบันภาษาฯ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ดิฉันสอนอยู่ค่ะ ชื่อวิชา "พัฒนาการของการแปลในประเทศไทย : การศึกษาเชิงภาษาและวัฒนธรรม"
เรื่องนี้อยู่ในการวิเคราะห์วรรณกรรมแปลยุคต้นรัตนโกสินทร์ มีข้อความดังนี้ค่ะ **************************************** ทั้งนี้ขอกล่าวถึงบางเรื่องพอเป็นสังเขปคือ ห้องสิน และ เลียดก๊ก เรื่อง ห้องสิน ต้นฉบับขาดหายไปในหน้าต้น จึงไม่ทราบชื่อผู้แปล ตลอดจนปีพ.ศ. ที่แปล แต่มีการอ้างถึงไว้ในพงศาวดารจีนเรื่อง เลียดก๊ก ว่า หลวงลิขิตปรีชาเจ้ากรมอาลักษณ์เป็นผู้ชำระ นำขึ้นทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เนื้อเรื่องของห้องสิน มีอยู่ว่า สมัยปลายราชวงศ์แฮ่ พระเจ้าติวอ๋องเสด็จไปคำนับศาลเจ้าของเทพธิดาหนึงวาสีตามธรรมเนียมที่กษัตริย์ก่อนหน้านี้เคยปฏิบัติมา พระเจ้าติวอ๋องเห็นรูปเทพธิดาหนึงวาสีงดงามมาก จึงเขียนโคลงชมเชยว่าถ้าเป็นนางมนุษย์จะรับไปเป็นมเหสีครองเมือง เทพธิดาหนึงวาสีโกรธว่าเป็นการลบหลู่ดูหมิ่น นางจึงเรียกปีศาจเสือปลา ปีศาจไก่ ปีศาจพิณมา ให้ไปทำอุบายให้พระเจ้าติวอ๋องลุ่มหลงจนเสียบัลลังก์เป็นการลงโทษ ปีศาจเสือปลาจึงไปฆ่านางงามชื่อนางขันกี ซึ่งถูกส่งตัวจากหัวเมืองเข้ามาเป็นนางสนมในวัง แล้วเข้าสิงในตัวนาง เมื่อนางเดินทางมาถึงในวัง พระเจ้าติวอ๋องเห็นนางมีหน้าตางดงามคล้ายเทพธิดาหนึงวาสีก็โปรดปรานมาก นางขันกีทำมารยาให้พระเจ้าติวอ๋องลุ่มหลง สั่งประหารขุนนางเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะขุนนางที่ล่วงรู้ว่านางเป็นปีศาจเสือปลา นอกจากนี้ ยังยุยงให้ควักนัยน์ตานางเกียงฮองเฮามเหสีเอกจนถึงตาย อินหองอินเฮาราชบุตรทั้งสองถูกสั่งประหารชีวิต แต่เทพยดามาช่วยให้หนีไปได้ หลังจากนั้นแผ่นดินเสื่อมโทรมลงอย่างหนัก ปีศาจทั้งหลายจับคนในวังกินเป็นอาหาร บ้านเมืองเดือดร้อน เกิดศึกสงคราม มีผู้วิเศษชื่อเกียงจูแหยเป็นแม่ทัพฝ่ายตรงข้าม สามารถปราบปีศาจทางฝ่ายนางขันกีได้ จนพระเจ้าติวอ๋องต้องสูญเสียบัลลังก์และสิ้นพระชนม์ในที่สุด นางปีศาจขันกีก็ถูกเทพธิดาหนึงวาสีลงโทษที่กระทำการชั่วร้ายเกินกว่าเหตุ
เรื่อง ห้องสิน คงจะเป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่กวีไทยร่วมสมัย และกลุ่มคนที่แปลก็คงเป็นกวีช่วยแต่งวรรณคดีเรื่องอื่นๆด้วย จึงมีการเอ่ยอ้างถึงใน เสภา ขุนช้างขุนแผน ตอน ๔๓ พลายชุมพลปราบจรเข้เถรขวาด กล่าวถึงประชาชนที่มามุงดูการต่อสู้ระหว่างพลายชุมพลกับจระเข้แปลงด้วยความตื่นเต้นที่เห็นอิทธิปาฏิหาริย์พันลึกพิสดาร ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน จนคนจีนที่มาดูออกปากเปรียบเทียบว่า เมื่อครั้งเกียงจูแหยแก้กลศึก ก็รบกันครืนครึกกระบวนผี แต่เป็นการนานช้ากว่าพันปี เราได้เห็นครั้งนี้เป็นบุญตา
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 2 เมื่อ 03 ก.พ. 09, 08:43
|
|
สำนวนภาษาของ ห้องสิน เมื่อเทียบกับวรรณกรรมแปล สามก๊ก และ ไซ่ฮั่น แล้ว นับว่าเรียบง่ายธรรมดามากกว่า ไม่มีวรรณศิลป์เท่ากับสองเรื่องแรก เนื้อเรื่องแม้กล่าวถึงการครองแผ่นดินและการทำสงคราม แต่ก็เป็นทำนองให้ความตื่นเต้นในแง่บันเทิงมากกว่าจะคำนึงถึง ‘ประโยชน์ของราชการบ้านเมือง’
อิทธิพลทางวัฒนธรรม
ในเมื่อขาดคุณสมบัติทางด้านวรรณศิลป์ และความยิ่งใหญ่ของเนื้อหา ห้องสิน จึงไม่แพร่หลายนัก ล่วงมาถึงปัจจุบันเกือบจะไม่มีคนรู้จักแล้ว แต่ในสมัยรัชกาลที่ ๒ คงจะได้รับความนิยมอยู่ไม่มากก็น้อย สุนทรภู่จึงได้เนื้อเรื่องมาแต่งเป็นบทละครเรื่อง อภัยนุราช ซึ่งเป็นเรื่องที่รู้จักกันน้อยที่สุดในบรรดาผลงานทั้งหมดของสุนทรภู่ เนื้อเรื่องของ อภัยนุราช คล้ายคลึงกับ ห้องสิน ในช่วงต้นเรื่องเกือบจะตลอด กล่าวถึงท้าวอภัยนุราชออกไปล่าสัตว์ในป่า แต่ไม่ได้สักตัวเดียว คิดว่าเทพารักษ์ผู้คุ้มครองป่ากลั่นแกล้งจึงสั่งเผาศาลที่สิงสถิตย์เสีย เทพารักษ์โกรธ จึงลงโทษให้ท้าวอภัยนุราชเสียทั้งบ้านเมืองและลูกเมีย เทพารักษ์ก็ไปหักคอหญิงคนทรงผีชื่อนางศรีสาหง แล้วเข้าสิงในตัวนาง นางไปหาท้าวอภัยนุราชขณะพักแรมอยู่กลางป่า ท้าวอภัยนุราชต้องมนตร์นางปีศาจเกิดความลุ่มหลง พานางกลับเมือง อำมาตย์ราชครูดูออกว่านางเป็นปีศาจ จะทำน้ำมนตร์ขับไล้ นางศรีสาหงทำมารยายุให้อภัยนุราชสั่งประหารราชครูเสีย ต่อมานางทะเลาะวิวาทกับนางทิพมาลีมเหสีเอก ก็ทำอุบายให้ควักนัยน์ตานางทิพมาลี พระโอรสธิดามาวิงวอนขอโทษ ท้าวอภัยนุราชก็ไม่ยอม เรื่องค้างอยู่เพียงแค่นี้ เข้าใจว่าสุนทรภู่ถึงแก่กรรมก่อนแต่งจบ เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว จะเห็นว่าสุนทรภู่นำเค้าโครงเรื่อง ห้องสิน ตอนต้นมาเป็นหลัก ดังจะเปรียบเทียบได้ดังต่อไปนี้
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 3 เมื่อ 03 ก.พ. 09, 08:45
|
|
๑ พระราชากระทำผิดด้วยการลบหลู่เทวดา (ท้าวอภัยนุราชลบหลู่เทพารักษ์ พระเจ้าติวอ๋องลบหลู่เทพธิดาหนึงวาสี ) ๒ เทวดาโกรธจึงลงโทษด้วยการใช้นางปีศาจมาทำมารยาล่อลวงพระราชาจนเสียเมือง ( เทพารักษ์ฆ่าหญิงคนทรงผีแล้วเข้าสิงนาง นางก็ไปยั่วยวนท้าวอภัยนุราชจนลุ่มหลง เทพธิดาหนึงวาสีให้ปีศาจเสือปลาไปฆ่านางขันกีแล้วเข้าสิงนาง นางเข้าวังแล้วยั่วยวนพระเจ้าติวอ๋อง) ๓ ขุนนางผู้ใหญ่รู้เท่าทันว่านางเป็นปีศาจ แต่เมื่อคิดขับไล่ นางก็ยุพระราชาให้ประหารเสีย (ท้าวอภัยนุราชประหารราชครู พระเจ้าติวอ๋องประหารไต้ไทสือ) ๔ นางปีศาจยุให้ควักนัยน์ตามเหสีเอก (นางศรีสาหงออกอุบายว่านัยน์ตาเจ็บ นางขอให้ท้าวอภัยนุราชควักนัยน์ตาทางทิพมาลีมาเปลี่ยนให้ ส่วนนางขันกีออกอุบายว่านางเกียงฮองเฮาใส่ร้าย ให้พระเจ้าติวอ๋องควักนัยน์ตานางขณะไต่สวนเพื่อให้นางรับสารภาพ)
ส่วนทางด้านภาษา เนื่องจาก ห้องสิน ไม่มีจุดเด่นเป็นพิเศษ เว้นแต่เนื้อเรื่องตอนต้นสนุกสนาน มีหลายรสทั้งรสรัก ลุ่มหลง โกรธแค้น หึงหวง และโศกเศร้า เหมาะจะดัดแปลงเป็นละคร สุนทรภู่จึงนำมาเฉพาะเนื้อเรื่อง แต่ก็น่าเสียดายที่แต่งไม่จบ ประกอบกับสุนทรภู่ไม่ชำนาญการแต่งบทละคร อภัยนุราช จึงไม่แพร่หลายเท่ากับผลงานอื่นๆก่อนหน้านี้ แต่ก็มีบางตอนเป็นบทพรรณนาโวหารที่ไพเราะตามแนวของสุนทรภู่ คือ มานอนในไพรพนมต้องลมว่าว อนาถหนาวน้ำค้างพร่างพฤกษา หอมดอกกลอยสร้อยสนสุมณฑา มะลิลาลมโชยมาโรยริน ดอกไม้สดรสรื่นชื่นแช่ม เหมือนกลิ่นแก้มแจ่มนวลชวนถวิล หอมบุปผาสารพันลูกจันทน์อิน ไม่เหมือนกลิ่นนุชเนื้อที่เจือจันทน์
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
suthima
อสุรผัด

ตอบ: 4
|
ความคิดเห็นที่ 4 เมื่อ 03 ก.พ. 09, 18:16
|
|
กราบขอบพระคุณอาจารย์เทาชมพูมากค่ะ
ได้ความรู้และแนวทางเพิ่มขึ้นเยอะเลยค่ะ
สุธิมา
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|