เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 7234 รำลึก อาลัย ลุงเมฆ
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


 เมื่อ 08 ม.ค. 09, 15:07

เมฆ  ขาวก่อก้อนจาก          อังกฤษ                           

มณี  แห่งปัญญาวิจิตร          ประดับไว้

วา    ยุพัดพาสถิต              ต่างถิ่น       

จา    รึกงานฝากให้             แหล่งหล้าบรรณสยาม


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 08 ม.ค. 09, 15:24

จากเว็บนสพ. มติชน
       http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1231320962&grpid=01&catid=04

มะเร็งปอดคร่า"ไมเคิล ไรท์"ฝรั่ง หัวใจไทย นักคิด นักเขียน ชื่อดัง ฌาปนกิจบ่าย3โมง 13 มกราฯ


      "ไมเคิล ไรท์" (Michael Wright)  หรือ ที่รู้จักกันดีในนาม ไมค์ มีชื่อไทยว่า นายเมฆ มณีวาจา
เกิดเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2483  ที่เมืองเซาแธมตัน ทางตอนใต้ของประเทศอังกฤษ   จบการศึกษา
ที่ St.Michaels College ,Hitchin ,Herts,U.K. โดยเขาเดินทางเข้ามาอยู่ประเทศไทยตั้งแต่ปี ค.ศ. 1961
(พ.ศ.2504)  และสนใจเรียนภาษาไทย วัฒนธรรมไทยและโบราณคดี  โดยอาศัยการศึกษางานประพันธ์ของ
อาจารย์ อนุมานราชธน, ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช และหนังสือสารสมเด็จ

         สุจิตต์ วงษ์เทศ  ผู้ก่อตั้งศิลปวัฒนธรรม ได้เขียนถึง ไมเคิล ไรท์ ลงในคำนำเสนอหนังสือ "ฝรั่งคลั่งสยาม นามไมเคิล ไรท์"
ว่า ตนและไมเคิล ไรท์ รู้จักและสนิทสนมกันจากการที่นัดถกกันเรื่องแคว้นสุโขทัยและศิลาจารึก ที่ร้านเหล้าริมถนนราชดำเนิน
เป็นประจำ ต่อมาจึงได้ชวนไมเคิล ไรท์ ให้มาเป็นหนึ่งในผู้เขียนคอลัมภ์ลงนิตยสารศิลปวัฒนธรรมฉบับปฐมฤกษ์ ซึ่งออกเมื่อ
เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2522  โดย ไมเคิล ไรท์ ได้เขียนบทความเรื่องส้วม เป็นบทความแรกในงานเขียนของเขา ตั้งแต่นั้น
เป็นต้นมา ไมเคิล ไรท์ ก็กลายเป็นคอลัมนิสต์ประจำนิตยสารศิลปวัฒนธรรม มาจนถึงปัจจุบัน และมีงานเขียนลงในมติชนสุดสัปดาห์
ตั้งแต่ปี พ.ศ.2543

        สุจิตต์ เล่าถึงประวัติของไมเคิล ไรท์ ในคำนำหนังสือดังกล่าวต่อว่า ไมเคิล ไรท์ เป็นชาวอังกฤษที่ไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย
เพระไม่ชอบห้องเรียน แล้วหนีออกจากบ้านตามประสาลูกฝรั่งวัยรุ่น ร่อนเร่ไปรับจ้างทำงานอยู่ลังกา จนเข้ามาเผชิญโชคในกรุงเทพฯ
ท้ายที่สุดก็ได้งานเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายแปลเอกสารที่ธนาคารกรุงเทพ เมื่อพ.ศ.2513  ปัจจุบันเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านต่างประเทศ
อยู่ประจำศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ สาขาผ่านฟ้า นั่งทำงานห้องเดียวกับเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

         สำหรับไมเคิล ไรท์   เป็นชาวอังกฤษที่สนใจในเรื่องประวัติศาสตร์สังคมวัฒธรรมสยามประเทศไทย ด้วยความที่เขาเป็นคน
ที่ชอบอ่านหนะงสือมาก จึงมักมีข้อมูลใหม่ๆ มาเสนอ หรือความคิดเห็นกับข้อสังเกตที่น่าสนใจต่อวงวิชาการด้านประวัติศาสตร์
สังคมวัฒธรรมอยู่เสมอ  บางคราวสามารถเชื่อมโยงหลักฐานทางประวัติศาสตร์เพื่อให้เห็นภาพพรวมของประวัติศาสตร์อุษาคเนย์
ให้เห็น แล้วนำผ่านคอลัมภ์ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรมและมติชนสุดสัปดาห์ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากผู้อ่านเป็นจำนวนมาก  ไม่ใช่แต่
เฉพาะวิธีการคิดเท่านั้น แต่รวมไปถึงวิธีการเขียนที่มีใจความกระชับและสอดแทรกอารมณ์ขันได้อย่างแนบเนียน

       ผลงานของไมเคิลไรท์ที่ผ่านมาทั้งหมด  มีดังนี้
       ฝรั่งคลั่งสยาม พ.ศ.2541, ฝรั่งอุษาคเนย์ พ.ศ.2542, ตะวันตกวิกฤติ คริสต์ศาสนา พ.ศ.2542, โองการแช่งน้ำ พ.ศ.2543,
ฝรั่งหลังตะวันตก พ.ศ.2547, พระพิฆเนศ พ.ศ.2548, แผนที่แผนทาง พ.ศ.2548, ไมเคิล ไรท์ มองโลก พ.ศ.2549,
โลกนี้มีอนาคตหรือ? พ.ศ.2550, ฝรั่งคลั่งผี พ.ศ.2550, ฝรั่งหายคลั่งหรือยัง พ.ศ.2551
      นอกจากนี้ยังมีผลงานอื่นๆ อีกมาก และ มีบทความลงในหนังสือพิมพ์ The Nation ตั้งแต่ พ.ศ.2538 บทความภาษาอังกฤษต่างๆ
ในวารสารสยามสมาคม

       ไมเคิล ไรท์ ได้รับการยกย่องจากมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ให้เป็นผู้มีอุปการคุณต่อวงการไทยคดีศึกษา นอกจากนี้
ยังเป็นบุคคลผู้ได้รับการยอกย่องเชิดชูเกียรติเป็นผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นโดยกระทรวงวัฒนธรรมอีกด้วย

หมายเหตุ  ชื่ออังกฤษของลุงเมฆ ที่ปรากฏบนหน้าปกหนังสือของลุงคือ ไมเคิล ไรท (ไม่มีการันต์)

และ 
อ้างถึง
อาจารย์ อนุมานราชธน
- ศาสตราจารย์ พระยาอนุมานราชธน

อ้างถึง
หนังสือสารสมเด็จ
- สาส์นสมเด็จ 
               


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 08 ม.ค. 09, 15:28

      เมื่อวานนี้ ได้ทราบข่าวการจากไปของลุงเมฆ ด้วยความตกใจ แม้จะทราบอยู่แล้วว่าลุงป่วย
ด้วยโรคมะเร็ง แต่ไม่นึกว่าจะจากไปในตอนต้นปีใหม่นี้

        เป็นแฟนประจำคอลัมน์ของลุงในมติชน สุดสัปดาห์มายาวนาน ก่อนที่จะได้พบปะรู้จักลุงแล้ว
ได้มีโอกาสพูดคุยสนทนา ช่วยเหลือลุงในช่วงเวลาที่ป่วยเป็นครั้งคราว   

        ถามลุงว่า เชื่อเรื่องตายแล้วเวียนว่ายเกิดใหม่ไหม ลุงตอบว่าเชื่อ (ลุงเป็นพุทธ)
จึงบอกลุงว่า ชาติก่อนลุงอาจเคยเกิดเป็นคนไทย ชาตินี้จึงข้ามน้ำ ข้ามทะเลกลับมาอยู่บ้าน-เมืองไทย

        คารวะงานเขียนของลุงที่กระตุก กระตุ้น เตือนความคิด
     
        พักผ่อน หลับสบาย ลุงไม่หอบ ไม่ไอ ไม่เหนื่อยแล้ว
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 08 ม.ค. 09, 15:47

จากปกหลัง หนังสือ ฝรั่งหายคลั่ง(หรือยัง?)

         "คนเราทุกชาติทุกภาษา, ไม่ว่าเป็นคนไทยตาดำๆ
          หรือฝรั่งมังค่าตาน้ำข้าว, ล้วนแต่เกิดแก่เจ็บตาย
                คนเราจึงย่อมอยากรู้ว่าเราเป็นใคร
                และมีความหมายอย่างไรในชีวิตนี้
         ในบทความเหล่านี้ผมพยายามศึกษาศิลปวัฒนธรรม
            เพื่อหาคำตอบให้ตาตัวเองสว่างและใจเบิกบาน
                  หากท่านผู้อ่านอ่านบทความเหล่านี้
               แล้วเห็นแสงสว่างหรือเกิดความสบายใจ,
                        ผมจะชื่นใจว่าในชีวิตนี้
                ตัวได้ทำประโยชน์บ้าง, ไม่เสียชาติเกิด..."

                       (จาก คำนำผู้เขียน)


บันทึกการเข้า
paganini
องคต
*****
ตอบ: 406

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 09 ม.ค. 09, 02:35

ผมพึ่งจะได้มารู้จักลุงเมฆตอนที่ได้อ่านรวมบทความของท่านที่ลงในมติชนเมื่อไม่กี่เดือนมานี่เอง รู้สึกว่าท่านเป็นฝรั่งที่เข้าใจสังคมไทยดียิ่ง ก็แหงละครับ ท่านอยู่เมืองไทยมาตั้งแต่ปี 2504 อยู่มามากกว่าผมซะอีก ที่น่าชื่นชมคือความตรงไปตรงมา ไม่เสแสร้ง ไม่มีอีโก้

ตอนอ่านอยู่ ก็คิดในใจว่า ได้นั่งคุยกับท่านซักครั้งก็จะดี ที่ไหนได้ ท่านไม่อยู่ซะแล้ว

หนังสือรวมบทความชื่อ  "ยังมีความหวัง" เป็นหนังสือที่แนะนำให้อ่านกัน ลุงเมฆ ท่านสอดแทรกความเห็นอันแหลมคมไว้หลายจุด ชนิดที่อ่านแล้วต้อง อุทานว่า อา มันเป็นอย่างงี้นี่เอง

ว่างๆถ้าเจอความคิดเจ๋งๆของท่าน จะเอามาโพสต์ครับ(ซึ่งผมเข้าใจว่าเป็นประโยน์ยิ่งกว่าคำไว้อาลัยซะอีก)
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 09 ม.ค. 09, 10:07

       คิดว่าจะเขียนถึงเรื่องที่ได้สนทนา ได้รู้จักลุงในช่วงท้ายของชีวิต แต่ หลายเรื่องก็ดูจะไม่เป็น
ประเด็นสำคัญหรือน่าสนใจอะไรสำหรับผู้ที่ไม่ได้เป็นแฟนงานเขียนของลุง ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่
ไม่เป็นวิชาการ - เป็นน้อยมาก เพราะลุงเพลีย คิดเขียนอะไรไม่ค่อยออก   
        จะหยิบยกเขียนถึงเรื่องจากงานของลุงก็ยังต้องใช้เวลาอีกมาก ทั้งตอนที่ลุงยังอยู่ก็ไม่ได้
ขออนุญาตไว้ก่อน
        ในช่วงเวลานี้จึงเขียนถึงลุงได้แค่เรื่องรำลึก และ อาลัย ประกอบการบอกข่าว
บันทึกการเข้า
bookaholic
ชมพูพาน
***
ตอบ: 145


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 12 ม.ค. 09, 14:05

ขอแสดงความเสียใจกับญาติและเพื่อนฝูงของไมเคิล ไรท์ ด้วยครับ 
แม้ว่าผมไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นหลายๆอย่างของเขา ในเรื่องประวัติศาสตร์ แต่ก็อ่านได้   เพราะอ่านแล้วไม่จำเป็นต้องเชื่อ
อ่านเอาไว้ลับสมอง
เรื่องใหญ่สุดที่ไม่เห็นด้วยคือเรื่องศิลาจารึกหลักที่ 1 ที่เขาว่าไม่ใช่ของสมัยสุโขทัย แต่ทำขึ้นสมัยต้นรัตนโกสินทร์
น้ำหนักความเห็นหลายๆด้าน ยังอ่อนมาก  โดยเฉพาะจุดมุ่งหมายในการสร้างขึ้นมา ทำทีว่าเป็นของเก่า  ผมว่าเป็นข้อกล่าวหาที่เลื่อนลอย
ที่น่าสนใจคือคำตอบโต้ อย่างในลิ้งค์
http://www.lib.ru.ac.th/pk/extract6.html

ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง หลักที่ ๑ ไม่มีปัญญาชนผู้ใดปลอมได้ 
          ท่านศาสตราจารย์ธวัช ปุณโณทก ได้เขียนบทความไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนตุลาคม ๒๕๔๓ แสดงความไม่เห็นด้วยกับ คุณไมเคิล ไรท์ ที่เสนอว่าจารึกพ่อขุนรามคำแหงได้สร้างขึ้นเมื่อยุคต้นรัตนโกสินทร์ ราวรัชกาลที่ ๓-๔   คุณธวัช ได้กล่าวว่า เป็นเพราะความไขว้เขวของนักวิชาการหัวก้าวหน้า ที่ใช้หลักฐานไขว้เขวและสับสน   เพราะจารึกพ่อขุนรามคำแหงนั้น ไม่มีปัญญาชนผู้ใดปลอมแปลงได้...    เพื่อไม่ให้เป็นการเสียหายในความหมายของบทความ ดังนั้นจะขอยกเนื้อความที่ปรากฏในบทความมาพิมพ์ไว้ทั้งหมด โดยไม่แก้ไขแต่ประการใด 

          จากบทความเรื่อง "ศิลาจารึกหลักที่ ๑ กับปัญญาชนรุ่นรัชกาลที่ ๓-๔ พิมพ์เขียวสำหรับอนาคตที่นำมาใช้งานไม่ได้" ของคุณไมเคิล ไรท์ ในหนังสือศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๒๑ ฉบับเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๓ 

          ใจความโดยสรุปก็คือ คุณไมเคิล ไรท์ ต้องการเสนอความเห็นว่า ศิลาจารึกหลักที่ ๑ สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ ๓ โดยพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ (รัชกาลที่ ๔) กับผู้รู้และสานุศิษย์ของพระองค์ โดยนำเหตุการณ์การขยายอำนาจของจักรวรรดินิยมอังกฤษเข้ามาสู่ดินแดนประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ ๓ มาอธิบายว่าปัญญาชนและชนชั้นปกครองของไทยเริ่มกังวลถึงความมั่นคงของชาติ จึงได้สร้างรัฐในอุดมคติของไทยเรียกว่า "สุโขทัย" และบันทึกในศิลาจารึกหลักที่ ๑ 

          พูดง่ายๆ ว่า ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงสร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ ๓ นี่เอง

          เรื่องศิลาจารึกหลักที่ ๑ สร้างปลอมขึ้นสมัยรัชกาลที่ ๓ นั้นมีผู้เสนอมาเมื่อ ๑๐ กว่าปีมาแล้ว ในครั้งนั้นได้มีการจัดเวทีสัมมนาถกเถียงกันหลายครั้งหลายคราระหว่างนักวิชาการที่เห็นด้วยและคัดค้าน เรื่องราวก็น่าจะจบลงไปแล้ว (แต่ยังไม่มีผู้ใดสรุปได้ชัดเจน) ต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผลแต่ไม่มีหลักฐานด้านศิลาจารึก โดยเฉพาะรูปอักษรสมัยสุโขทัย (อักษรพ่อขุนรามฯ อักษรสมัยพระเจ้าลิไท อักษรภาคเหนืออักษรอีสานล้านช้าง อักษรมอญโบราณ และอักษรขอมโบราณ ที่เป็นอักษรต้นแบบของอักษรพ่อขุนรามฯ) เรื่องตัวอักษรนี้ผมจะกล่าวชี้แจงตอนท้าย

          ตอนนี้ผมจะกล่าวถึงการล่าอาณานิคมของจักรวรรดิ นิยมอังกฤษ ที่ คุณไมเคิล ไรท์ นำมาอธิบายเป็นเหตุผลว่า ปัญญาชนและชนชั้นผู้ปกครองไทยต้องการจะแสดงหลักฐานให้นานาชาติรู้ถึงความมีอารยธรรมของไทยมาช้านาน อย่างน้อยสมัยสุโขทัย โดยสร้างศิลาจารึกหลักที่ ๑ ไว้ และนำมาแสดงให้ฝรั่งรู้และเข้าใจว่าชนชาติไทยนั้น มีอารยธรรมอย่างทันสมัยมาเนิ่นนานเพื่อฝรั่งจะได้เกรงใจยับยั้งชั่งใจบ้าง ไม่ผลีผลามส่งกองทัพเข้ายึดเมืองไทยเหมือน ประเทศพม่าและมาเลเชีย

          เหตุผลข้างต้นนั้นเป็นความเห็นของคุณไมเคิล ไรท์ โดยใช้แนวความคิดของคนในปัจจุบันไปส่องหาอดีต ซึ่งนักวิชาการเราทำผิดพลาดกันมามากแล้ว ทำไมไม่อธิบายอดีตโดยวิธีคิดแบบโบราณว่าคนสมัยนั้นเขามีความคิดกันอย่างไร เขาเข้าใจเหตุการณ์ของเขาอย่างไร สังคมของเขาเป็นอย่างไร โดยใช้ข้อเขียนของคนสมัยนั้นเป็นหลักฐานในการอธิบาย ไม่ถูกต้องกว่าหรือ

          คุณไมเคิล ไรท์ ก็ทราบดีว่ากำลังกองทัพเรืออังกฤษสมัยพระนางเจ้าวิคตอเรียนั้นเกรียงไกรเพียงใด เพียงแต่ปัญญาชนไทยเสนอว่าชนชาติไทยมีอารยธรรมทันสมัย (ดังเนื้อความศิลาจารึกหลักที่ ๑) เพียงเท่านี้จะชะลอการปฏิบัติการของกองทัพเรือได้อย่างไร   ไม่มีเหตุผลพอเพียง ดังตัวอย่าง อังกฤษรู้จักชาวอียิปต์ว่ามีอารยธรรมรุ่งเรืองมาแต่โบราณเป็นอย่างดี ไม่เห็นว่ากองทัพเรืออังกฤษจะยกเว้น ยังปฏิบัติการช่วงชิงอียิปต์มาจากฝรั่งเศส ดังที่ทราบกันทั่วไป

          ฉะนั้นการที่ประเทศไทยพ้นปากเหยี่ยวปากกามาได้ในสมัยนั้น น่าจะด้วยเหตุผลอื่นๆ และที่แน่นอน ก็ไม่ใช่เพราะปัญญาชนไทยสร้างศิลาจารึกหลักที่ ๑ ดังที่คุณ ไมเคิล ไรท์ พยายามอธิบายโดยนำมาผูกพันกับศิลาจารึกหลักที่ ๑ ซึ่งไม่มีเหตุผลที่มีน้ำหนักพอจะรับฟังได้ ... 
ฯลฯ
บันทึกการเข้า
pakun2k1d
พาลี
****
ตอบ: 285


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 12 ม.ค. 09, 20:13

มาแสดงความอาลัยลุงเมฆด้วยคนค่ะ  ไม่มีภูมิรู้พอจะวิจารณ์ความคิดความเห็นของลุงเมฆได้  แต่ข้อเขียนของลุงเมฆทำหน้าที่กระตุ้นต่อมความคิดทุกครั้ง  คิดสงสัย คิดขัดแ้ย้ง  คิดคล้อยตาม  คิดตั้งคำถาม  และทำให้เรารู้สึกว่าต้องไปตามหาความรู้เรื่องคนไทยให้มากยิ่ง ๆ ขึ้น  ขอให้ลุงเมฆได้นอนหลับพักผ่อนให้สบายนะคะ
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 13 ม.ค. 09, 10:12

           เรื่องศิลาจารึกพ่อขุนราม จริงหรือปลอม เป็นหนึ่งในกระทู้ที่ปรากฏในเว็บบอร์ด
หลายแห่ง หลายครั้ง ให้หลายคนได้แสดงความเห็นมากมาย

              ลุงเมฆยกย่องสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
อย่างยิ่งว่าทรงมีความเป็นนักวิชาการเปี่ยมด้วยพระทัยที่เปิดกว้าง

               พระดำรัสตอนหนึ่ง   เมื่อเสด็จเป็นองค์ประธานการอภิปรายเรื่อง ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง
ที่ห้องประชุมใหญ่ ธนาคารกรุงเทพฯ เมื่อวันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม 2532 มีความว่า

        "การสร้างประวัติศาสตร์ในทุกวันนี้ก็เห็นจะได้ว่ากลุ่มที่มีอำนาจหรืออิทธิพลจะสามารถเขียนประวัติศาสตร์
ไปตามที่ต้องการ โดยที่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยไม่ค้าน เพราะความกลัวหรือไม่อยากออกตัว อยากอยู่สบายๆ
จริงอยู่ ผู้ค้านก็จะมีอยู่บ้าง แต่ก็จะเป็นกลุ่มส่วนน้อยและถ้ามีโอกาส

          การศึกษาศิลาจารึกหลักที่ 1 นี้ ไม่ได้มีการศึกษาทางวิชาการเท่านั้น เมื่อข้าพเจ้าได้พูดกับชาวต่างประเทศคนหนึ่ง
เขาได้กล่าวว่าไม่สนใจเลยในความหมายที่มีอยู่ สนใจแต่ทางด้านวิชาการ สำหรับคนไทยนั้น หลักที่ 1 นี้
มีความหมายลึกซึ้งทั้งทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ปรัชญาและจริยธรรม ดังนั้น จึงมีผู้สนใจมาก

          มีผู้มาถามว่าไม่กลัวหรือถ้าหลักที่ 1 นี้เป็นของปลอม ข้าพเจ้าไม่กลัว เพราะคิดว่าถ้ามีคนที่สงสัยอะไร
ก็น่าที่จะให้โอกาสเขาอธิบายความเห็นของเขาด้วยเหตุด้วยผลของเขา ซึ่งเราก็สามารถมาพิจารณาได้ภายหลัง

          ถึงอย่างไรก็ดี เราไม่ควรยึดถืออะไรนัก ทุกอย่างในโลกนี้ก็ไม่เที่ยง ถ้าหลักที่ 1 นี้เป็นของปลอม
อะไรก็จะมาลบการที่เรามีภาษาของเรา ซึ่งมีตัวเขียนของเราที่ใครสร้างขึ้นก็ตาม มีสถาปัตยกรรมของเราและ
อื่นๆ อีกมากมายที่เป็นของเราไม่ได้"

สวัสดีทุกท่านครับ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 13 ม.ค. 09, 11:37

ผมชอบอ่านงานเขียนของ ไมเคิล ไรท เป็นพิเศษ และอ่านงานเขียนบางเล่มของไรทอยู่หลายเที่ยว

ต้องยอมรับว่าการอ่านงานเขียนของไรท มีส่วนทำให้เด็กสายวิทย์อย่างผม หันมาสนใจเรื่องราวทางประวัติศาสตร์กับเขาบ้าง

ไรท อ่านจารึกสุโขทัยอย่างลุ่มหลง และอ่านด้วยสายตาของคนรู้จักลังกา ซึ่งทำให้จารึกสุโขทัยหลายหลักมีชีวิตชีวาขึ้นอย่างประหลาด ไม่ใช่เป็นเรื่องอะไรก็ไม่รู้ที่เราอ่านแล้วก็ผ่านไป ผมรู้จักพระมหาเถรศรีศรัทธาผ่านงานเขียนของไรทมากจนรู้สึกว่า ไรทนี่แหละที่รู้จักพระมหาเถรศรีศรัทธามากกว่าใครๆในประเทศนี้

ที่ว่าอย่างนี้ไม่ได้เหยียบหัวเพื่อนร่วมชาติกันเอง

แต่ไรทมีความได้เปรียบคนไทยส่วนมากตรงที่ไรทรู้จักลังกามากกว่าเรา ไรทจึงสามารถทำความเข้าใจช่วงเวลาที่ท่านศรีศรัทธาพำนักอยู่ที่ลังกาได้มากกว่าพวกเราคนไทย และสามารถเปิดประเด็นที่เรามองข้ามกันไป

แม้ว่าบางครั้งบางเรื่อง ข้อสังเกตของไรทอาจจะมีคนไม่เห็นด้วยอยู่มาก แต่จะโทษไรทก็คงไม่ยุติธรรม จารึกหลักหนึ่งมีไม่กี่ตัวอักษร เก็บความได้จำกัด ถ้าเรายึดตามตัวอักษรเท่าที่มี เราคงไม่มีประวัติศาสตร์สุโขทัยอย่างทุกวันนี้ สิ่งที่ไรทเสนอขึ้นมาจึงเป็นสเน่ห์ของการศึกษาจารึกฯ คือ เรามีสิทธิ์คิดต่อได้ ตั้งข้อสังเกตได้ หรือแม้แต่ตั้งสมมติฐานเพิ่มเติมได้

ส่วนจะถูกหรือผิดนั้น ให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ ให้คนรุ่นถัดมาเป็นคนสานต่อ

ส่วนไรทนั้น ได้ละหน้าที่นี้ไปแล้ว

และผมต้องขอขอบคุณไรทไว้ ณ ที่นี้ด้วย
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 22 ม.ค. 09, 10:15

อ้างถึง
การอ่านงานเขียนของไรท มีส่วนทำให้เด็กสายวิทย์อย่างผม หันมาสนใจเรื่องราวทางประวัติศาสตร์กับเขาบ้าง

       เห็นชื่อคุณ CrazyHOrse สะกดด้วย CHO แต่แรกแล้วก็สงสัยอยู่ว่าจะมาจากสายวิทย์
 
         คอลัมน์ในนสพ. (ที่ปรากฏในเน็ท) ลงเรื่องราวตามกันมาหลังจากลุงเมฆลอยลับไป

Remembering Thailand's self-taught historian

By SUBHATRA BHUMIPRABHAS
SPECIAL TO THE NATION

     http://www.nationmultimedia.com/worldhotnews/30092873/Remembering-Thailand's-self-taught-historian


        Wright credited his mother for his curiosity.

     "Mum instilled in me a love for art, archaeology and history not by 'lecturing'
or forcing me but teaching me to be inquisitive," he said.

      "When I was six or seven years old, my mother took me to the British Museum,
the Victoria and Albert, the Natural History Museum and the National Gallery.
       She was clever in that she never held my hand and forced me to see anything.
She went to see what she was impressed with, while allowing me to walk freely to see
what I wanted to see," Wright wrote in an article
       "Museum, Fearful or Wonderful" published in his last book, "Michael Wright:
Still Has Hope".


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 22 ม.ค. 09, 10:20

นสพ.ประชาชาติธุรกิจ

อัสดง "ฝรั่งคลั่งสยาม" ความตายของ... ไมเคิล ไรท์

http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02spe01120152&day=2009-01-12&sectionid=0223

      "ไมเคิล ไรท์เป็นลูกคนเดียว ญาติพี่น้องที่ประเทศอังกฤษก็ไม่มีแล้ว" (1)

ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 23 ฉบับที่ 3 (มกราคม 2545) "ไมเคิล ไรท์" เขียนบทความชิ้นหนึ่ง
เรื่อง "เชิญรู้จักกับแม่ผม" มาตาธิปไตยมีจริงหรือ ? Is Matriarchy Real ?

บางคำ บางวรรคตอน เมื่อ 7 ปีที่แล้ว น่าจดจำยิ่งนัก

          ...เมื่อผมอายุราว 5-6 ขวบ และเพิ่งเรียนรู้ว่า "ตาย" หมายความว่าอย่างไร
ผมตรึกตรองเป็นนานแล้วอธิษฐานว่า "ขอให้ผมตายก่อน แม่จะได้มีอายุยืนแทน"

         หลังจากที่ตรึกตรองอีกครั้งหนึ่ง ผมเปลี่ยนคำอธิษฐานว่า "ความทุกข์อันเร่าร้อนที่เกิดจากการพลัดพรากกัน
เป็นความเจ็บปวดที่เหลือทน ดังนั้นขอให้แม่ตายไปก่อนและขอให้ความทุกข์ทรมานทั้งหมดตกแก่ผม
ผมทนได้ทุกอย่าง แต่อย่าให้เห็นแม่เป็นทุกข์"

         ไมเคิล ไรท์บันทึกในศิลปวัฒนธรรมฉบับดังกล่าวว่า ในปี 1985 แม่ (Eva) เดินทางจากประเทศอังกฤษ
มาอยู่ประเทศไทย

           "แม่มาอยู่กับผม, สุขภาพทรุดโทรมมาก อยู่ได้ 3 เดือนแล้วเข้าโรงพยาบาล"

          ผมอยู่กับแม่เป็นครั้งสุดท้ายในห้องไอซียู ผมจับมือแม่ (2) แม่ลืมตายิ้มร่าเหมือนชื่นใจ
แล้วพูดชัดถ้อยชัดคำว่า
           "Pull your britches up !" ("จับกางเกงไว้ให้ดี !" เป็นสำนวนที่พ่อแม่ใช้ปลอบใจลูก
คล้าย "ทำใจให้ดีนะ !") แล้วหลับตา ทันใดนั้นเส้นหัวใจบนจอทีวีราบลงเรียบเป็นบรรทัด และ
ผมรู้ว่าแม่จากไปแล้ว

...ต่อจากนั้นมาตลอดจนทุกวันนี้ผมเจอะกับแม่ในฝันบ่อยๆ โดยมากผมฝันจะทำอะไรดีๆ เด่นๆ ให้แม่,
แต่ล้มเหลว แม่จะยิ้มเศร้าๆ, สั่นหัว แล้วปรารภว่า "เอาอีกแล้วนะลูก ! ทำไมลูกช่างไม่เอาไหน ?
ทำไม ทำไม...? ผมไม่เคยทันตอบแม่เพราะผมมักตื่นขึ้นก่อน และไม่มีคำตอบอยู่ดี...

        ความรัก ความผูกพัน ระหว่างไมเคิล ไรท์กับแม่ ยังมีพยานอีกคนหนึ่งบนโลกนี้ที่ได้จารึกไว้ "สุจิตต์ วงษ์เทศ"
เดือนกรกฎาคม 2541 ในคำนำเสนอ "ฝรั่งคลั่งสยาม นาม ไมเคิล ไรท์" สุจิตต์ วงษ์เทศ ระบุตอนหนึ่งว่า

        "...แม่ของไมเคิล ไรท์เป็นชาวอังกฤษ อายุกว่า 76 ปีแล้ว อยู่บ้านนอกกรุงลอนดอนเพียงคนเดียว
เพราะไมเคิล ไรท์เองก็ตัดสินใจอยู่ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร ไม่กลับไปครองบ้านที่อังกฤษแล้ว
แต่แม่ที่อายุมากท่านป่วยกระเสาะกระแสะตามประสาคนที่ชราภาพ

        ปลายปีที่แล้วแม่ก็เดินทางมาหาไมเคิล ไรท์ที่กรุงเทพฯ ประหนึ่งว่าจะมาฝากผีฝากไข้บั้นปลายชีวิต
ไว้ที่แผ่นดินสยามนี้ ซึ่งไมเคิล ไรท์ก็ปรนนิบัติพัดวีแม่อย่างดีที่สุด
 
        ไมเคิล ไรท์เล่าให้ผมฟังเรื่องแม่ของเขาเสมอๆ เพราะเขารักแม่ และเมื่อผมได้ยินเรื่องราวที่เขาเล่าเกี่ยวกับแม่
ผมไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องราวของแม่-ลูกชาวยุโรปหรือชาวต่างชาติอื่นใด หากเป็นบรรยากาศของแม่-ลูกอย่างไทยๆ
ที่เข้าถึงพระไตรลักษณ์ตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

        "แม่ผมสั่งว่า ถ้าแกตายวันไหน ขอให้จัดงานเลี้ยงใหญ่ในวันนั้น เพราะความตายไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมาทุกข์โศก...
ผมจำได้ว่าไมเคิล ไรท์เล่าให้ผมฟังอย่างนี้จริงๆ"

(1) ลุงไม่ได้กลับอังกฤษเลยเป็นเวลานานมาก เพราะไม่มีเพื่อน ไม่มีญาติเหลืออยู่ที่นั่นแล้ว
      ลุงบอกอีกว่า ภาษาอังกฤษของลุงตอนนี้ก็เป็นภาษาอังกฤษแบบเก่าๆ ศัพท์ใหม่ๆ ไม่ค่อยรู้

(2) คุณนิวัติ กองเพียร เขียนเล่าว่า คนที่ลุงรักและรักลุงได้ยืนกุมมือลุงอยู่ข้างเตียงตลอดเวลาตราบสิ้น
ลมหายใจสุดท้าย   
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 22 ม.ค. 09, 10:24

นสพ. มติชน   ปิดฉาก "ฝรั่งคลั่งสยาม" อาลัย "ไมเคิล ไรท"

โดย พนิดา สงวนเสรีวานิช

http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01pra01130152&sectionid=0131&day=2009-01-13

   
เขาเคยเขียนจดหมายถึงสุจิตต์ วงษ์เทศ เล่าถึงแม่หลังจากฌาปนกิจศพที่วัดมกุฏกษัตริยาราม
เมื่อเดือนพฤษภาคม 2528 ว่า

   "เห็นกวีไทยเขียนมามากเรื่องพระคุณแม่ว่าให้กำเนิดลูกด้วยความเจ็บปวดยิ่งนัก เคยมีใครเขียนเรื่องความร้อน
ที่แผ่ออกจากเมรุเผาแม่ไหม? ผมประสบมาแล้วแต่เขียนไม่ได้ เพราะไม่เป็นภาษาไทย
          แม่ให้เราผุดเป็นคนขึ้นมาด้วยความยากลำบากและเจ็บปวด แล้วในที่สุดเรามีหน้าที่ส่งแม่ดับสูญไปท่ามกลาง
เปลวเพลิงที่ร้อนยิ่งกว่าเพลิงกัลปาวสานที่ผลาญถึงพรหมโลก ผมรู้สึกมาแล้วเมื่อเทกระจาดดอกไม้จันทน์ใส่เมรุแม่
และถูกเผาไปส่วนหนึ่งของวิญญาณ" .....

        ขอให้ผู้ใดที่อ่านบทความนี้ได้โปรดรักและปรนนิบัติพ่อแม่ที่ยังเหลืออยู่เถิด เพราะเมื่อท่านจากไปแล้ว
ก็จากไปจริงตามหลักอนิจจังของพุทธศานา
          แม้เราจะทุบอกอย่างไร และแม้เราจะทำบุญอย่างไร แม้เราจะจูบหน้าผากศพด้วยความรักอย่างไร
ท่านจากไปโดยสิ้นเชิงและไม่รู้สึก จะเอาดอกไม้ดีๆ มาให้ดม จะเอาผลไม้ดีมาให้กิน ก็ไม่ทันแล้ว และ
แม้จะหลั่งน้ำตาอย่างผมก็ไม่ทันการณ์ แม้กระทั่งน้ำตาก็ไม่มีประโยชน์ น้ำตาของลูกจะดับความร้อนของเมรุ
ที่เผาแม่ได้เมื่อไร "
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 22 ม.ค. 09, 10:27

นสพ. ข่าวสด   รำลึกไมเคิล ไรท "ยิ้มคาเชิงตะกอน"

โดย องอาจ สุวรรณโชติ

   http://www.matichon.co.th/khaosod/view_news.php?newsid=TUROamIyd3dNVEUwTURFMU1nPT0=&sectionid=TURNd013PT0=&day=TWpBd09TMHdNUzB4TkE9PQ==

--------------------------------------

คิดถึงฝรั่งมองไทย... “ไมเคิล ไรท” ผู้จากไป

เรื่องโดย : ตัวหนอนบนกองหนังสือ

http://www.manager.co.th/MetroLife/ViewNews.aspx?NewsID=9520000004069
         
-------------------------------
หนึ่งในบทความจาก "มติชนสุดสัปดาห์"

ลดธง ลง ครึ่งเสา คารวะอาลัย ไมเคิล ไรท

http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01col01160152&sectionid=0116&day=2009-01-16

--------------------------------


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 22 ม.ค. 09, 10:29

      อนึ่งมนุษยชาตินั้นเสมือนแม่น้ำสายใหญ่ที่ไหลเชี่ยว, ไหลแล้ว
ไหลเล่า, ไม่มีใครยับยั้งหรือ "อธิบาย" ให้หยุดนิ่งได้ ดังนั้นบทความ
ของผมเหล่านี้เป็นเพียงคำอธิบายชั่วคราว, คล้ายกับเป็นการเก็บผัก
ตบชวาที่คลื่นซัดเข้าตลิ่ง
       ขอให้ชนรุ่นใหม่โปรดค้นคว้า, สงสัยและซักถามอีกต่อไปเพื่อ
เปิดประตูให้กว้างที่ผมได้ได้แย้มเพียงเล็กน้อย ผมตายเมื่อไรตาจะหลับ
และปากจะยิ้มคาเชิงตะกอน

                                                                               ไมเคิล ไรท   

คำนำหนังสือ ฝรั่งหายคลั่ง(หรือยัง?)


บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.106 วินาที กับ 19 คำสั่ง