เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 4791 อยากทราบเรื่อง ความสัมพันธ์ ระหว่าง ราชวงศ์ไทย และ ราชวงศ์ญี่ปุ่น ค่ะ
Poiizzii
อสุรผัด
*
ตอบ: 2


 เมื่อ 12 ธ.ค. 08, 10:36

คือ หนูต้องทำรายงานเรื่องนี้ค่ะ แล้วคือที่หาได้จะเป็นความสัมพันธ์แบบ การค้า อะไรประมานนี้มากกว่า

อยากทราบว่า ความสัมพันธ์ ของราชวงศ์สองราชวงศ์ที่แน่นแฟ้น เป็นอย่างไร  ขอแหล่งข้อมูลด้วยน่ะค่ะ

มีหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยรึเปล่าค่ะ



ขอบคุณมากๆเลยค่ะ
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 13 ธ.ค. 08, 20:04

ความสัมพันธ์ระหว่างพระราชวงศ์ไทย - ญี่ปุ่น  น่าจะเริ่มจากการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแบ่งพระบรมสารีรอกธาตุที่อุปราชอินเดียส่งเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวาย  ไปให้พุทธศาสนิกญี่ปุ่น  อันเป็นที่มาของวัด....(ขอประทานโทษจำชื่อไม่ได้)  และเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับจากทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ ได้เสด็จประพาสประเทศญี่ปุ่น  และได้เฝ้าฯ พระจักรพรรดิเมจิ  มีรายละเอียดใน "นิวัติพระมหานครโดยวิถีรอบพิภพ" ของหม่อมอนุวัตรวรพงษ์ (ม.ร.ว.จิคร  สุทัศน์  ต่อมาเป็นพระยาศรีวรวงษ์)

ต่อมาใน ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔)  เจ้าชายฟุชิมิได้เป็นผู้แทนพระองค์สมเด็จพระจักพรรดิญี่ปุ่นเสด็จมาร่วมงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  มีรายละเอียดในจดหมายงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๖

ในรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้เสด็จฯ เยือนประเทศญี่ปุ่น  และในรัชกาลปัจจุบันได้เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เยือนประเทศญี่ปุ่น  นอกจากนั้นพระบรมวงศ์ของไทยก็ได้เสด็จเยือนญี่ปุ่นอีกหลายคราว  ในส่วนพระราชวงศ์ญี่ปุ่นนั้นพระจักรพรรดิอากิฮิโต และพระจักรพรรดินีมิชิโกะ ได้เสด็จฯ เยือนประเทศไทยตั้งแต่ยังทรงเป็นมกุฎราชกุมาร   เมื่อเสวยราชย์แล้วก็ได้เสด็จฯ เยือนประเทศไทยอีก  นอกจากนั้นพระราชวงศ์ญี่ปุ่นต่างก็เสด็จมาเยือนประเทศไทยกันโดยตลอด
บันทึกการเข้า
Poiizzii
อสุรผัด
*
ตอบ: 2


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 13 ธ.ค. 08, 20:47

ขอบคุณมากน่ะค่ะ


หนูอยากได้รายละเอียกมากกว่านี้ได้มั้ยค่ะ

ขอบคุณมากๆเลยค่ะ
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 14 ธ.ค. 08, 09:34

ข้อความต่อไปนี้ตัดตอนมาจากพระราชประวัติ พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้ากรุงสยาม  ของวรชาติ  มีชูบท  เป็นเอกสารที่ยังไม่เคยมีการตีพิมพ์ครับ

 จากสหรัฐอเมริกาเสด็จพระราชดำเนินโดยเรือเอมเปรสออฟไชนา (Empress of China)  ออกจากท่าเรือเมืองแวนคูเวอร์ (Vancouver)  ประเทศแคนาดา (Canada)  ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกสู่ประเทศญี่ปุ่น  เสด็จพระราชดำเนินถึงท่าเรือเมืองโยโกฮามา (Yokohama) ประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่  ๑๖  ธันวาคม  แล้วทรงเปลี่ยนไปประทับเรือพระที่นั่งมหาจักรีซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกไปรอรับเสด็จที่ประเทศญี่ปุ่น  โดยมีพระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ (หม่อมราชวงศ์เปีย  มาลากุล) ปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการ  พระราชวรินทร์ (วิเชียร  บุนนาค)  เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา  หลวงศักดิ์ นายเวร (เพิ่ม  ไกรฤกษ์)  นายเวรมหาดเล็ก  และข้าหลวงพิเศษตรวจจัดการศึกษา คือ หลวงไพศาลศิลปสาตร (สนั่น  เทพหัสดิน ณ อยุธยา)   กับขุนอนุกิจวิธูร (สันทัด  เทพหัสดิน ณ อยุธยา)  ออกไปรอรับเสด็จอยู่ ณ ที่นั้นด้วย
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงกรุงโตเกียว  สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระจักรพรรดิเมจิ (Emperor Meiji)  และพระจักรพรรดินีโชเกน (Empress Shõken)  พร้อมทั้งได้ทรงพบกับมกุฎราช กุมารโยชิฮิโต (Crown Prince Yoshihito)   ปรินส์โกมัตสุ (H.I.H. Prince Komatsu)  และปรินส์ฟูชิมิ (Prince Fushimi)  นับเป็นครั้งแรกที่ได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างพระราชวงศ์ไทยกับพระราชวงศ์ญี่ปุ่นซึ่งยั่งยืนสืบมาจนถึงปัจจุบัน 
ในระหว่างประทับที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น  นอกจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชจะได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรความเป็นอยู่ของชาวญี่ปุ่นและอารามในพระพุทธศาสนาและศาสนาชินโตหลายแห่งแล้ว  ยังได้เสด็จไปทอดพระเนตรรีวิวของกองทหารรักษาพระองค์ (Imperial Guards)  การสาธิตการยิงปืนใหญ่และลูกระเบิด(Torpedo) ของทหารเรือ  ทรงเยี่ยมโรงเรียนนายร้อยและโรงเรียนนายเรือ  โรงงานทำปืนหลวง (Tokyo Arsenal)   อู่ต่อเรืออาซาฮี  (Asahi Dock)  มหาวิทยาลัยอิมพิเรียล (Imperial University) และโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยอีกด้วย
อนึ่ง พระยาประดิพัทธภูบาล (คอยู่เหล  ณ ระนอง) ได้บันทึกไว้ใน “เรื่องของเจ้าคุณประดิพัทธฯ” ว่า 
“...ระหว่างที่สมเด็จพระบรมโอรส (รัชกาลที่ ๖) ประทับอยู่ที่ญี่ปุ่นนี้  วันหนึ่งอธิบดีกระทรวงวังมาบอกข้าพเจ้าว่า  โดยรับสั่งของเอ็มเปอเรอ  พระองค์จะถวายพระธิดาองค์หนึ่งในสามพระองค์แก่สมเด็จพระบรมราชโอรส  พระธิดาสาวทั้งสามนี้มิใช่พระธิดาของเอมเปรส  แต่เรียกเอมเปรสเป็นพระมารดา  ส่วนเอมเปรสไม่มีพระธิดา  พระธิดาทั้งสามจะเสด็จประพาสสวน  ให้เชิญเสด็จสมเด็จพระบรมโอรสไปทรงเลือกตามพระทัย  แต่ให้คนตามเสด็จได้คนเดียวเท่านั้นคือตัวข้าพเจ้า  ข้าพเจ้าดีใจที่จะได้ไปชมด้วย  แต่สมเด็จพระบรมโอรสสั่งว่า “ไม่ได้  กลับไปบอกเขาเถอะว่า เรายังเด็กนักที่จะมีภรรยา”  ข้าพเจ้ากราบทูลว่า  “ทำไมไม่เสด็จเพราะเป็นโอกาสดี”  ทรงตอบว่า “ลิ้นกับฟันยังรู้จักกระทบกัน  ถ้าเราเอาลูกสาวเขามา  เดี๋ยวเกิดทะเลาะกัน  เขาบอกให้พ่อเอาเรือรบมาเมืองเราสัก ๒ ลำ  เราก็แย่เท่านั้น”
เรื่องนี้พวกทูต ๆ เช่น อังกฤษ  เคยถามข้าพเจ้าว่า  ได้ข่าวเจ้าแผ่นดินญี่ปุ่นจะถวายพระธิดาแก่พระโอรสของพระมหากษัตริย์ไทยจริงไหม  ข้าพเจ้ารับว่าจริงเช่นนั้น...” (พระยาประดิพัทธภูบาล (คอยู่เหล  ณ ระนอง).  “สมเด็จพระบรมโอรส ฯ เสด็จญี่ปุ่น”, เรื่องของเจ้าคุณประดิพัทธฯ, หน้า ๑๓ – ๑๔.)

อ้าอิงท้ายบท
พระยาวิสุทธสุริยศักดิ์ (หม่อมราชวงศ์เปีย  มาลากุล)  ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เ เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี เสนาบดีกระทรวงธรรมการ
พระราชวรินทร์ (วิเชียร  บุนนาค) ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยามนตรีสุริยวงศ์
หลวงศักดิ์ นายเวร (เพิ่ม  ไกรฤกษ์)  ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น มหาเสวกตรี พระยาประเสริฐศุภกิจ
หลวงไพศาลศิลปสาตร (สนั่น  เทพหัสดิน ณ อยุธยา)   ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี  เสนาบดีกระทรวงธรรมการ
ขุนอนุกิจวิธูร (สันทัด  เทพหัสดิน ณ อยุธยา)  ต่อมาได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น มหาอำมาตย์ตรี พระยาอนุกิจวิธูร ผู้บัญชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
มกุฎราช กุมารโยชิฮิโต (Crown Prince Yoshihito)  ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๕  ได้เสวยราชย์ต่อจากพระจักรพรรดิเมจิ  เฉลิมพระนามว่า พระจักรพรรดิไทโช (Emperor Taishõ)
 
หนังสือนิวัติพระมหานครโดยวิถีรอบพิภพ และจดหมายเหตุการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  มีให้ค้นคว้าที่หอวชิราวุธานุสรณ์  ในบริเวณกอสมุดแห่งชาติ โทร. ๐๒ ๒๘๑๔๖๕๙, ๐๒ ๒๘๒๓๒๖๔
เรื่องรัชกาลที่ ๗ เสด็จประพาสญี่ปุ่นสืบค้นข้อมูลที่ได้ที่ห้องสมุดพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  เชิงสะพานผ่านฟ้า  ส่วนเรื่องการเสด็จเยือนญี่ปุ่นในรัชกาลปัจจุบันลองเสิร์ชกูเกิ้งดูนะครับน่าจะมีข้อมูล  หรือสอบถามที่สำนักข่าวสารญี่ปุ่นดู
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.055 วินาที กับ 19 คำสั่ง