เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 6450 พระเจ้ามหาธรรมราชา อนอกแพะลุน
พระยาสุเรนทร์
มัจฉานุ
**
ตอบ: 71


 เมื่อ 14 พ.ย. 08, 21:00

พระเจ้ามหาธรรมราชา อนอกแพะลุน ครองราชย์ ๒๑๔๘-๒๑๗๑ (King Maha Dhammaraja, Anaukpetlun : r. 1605-1628)
(พม่า) มหาธัมมะยาซา : Maha Dhamma Raza
(พม่า) อะเน่าก์แพะหลุ่นมิง : Anaukpetlun Min

พระเจ้าอนอกแพะลุน (ขอออกเสียงแบบง่ายๆนะครับ อิอิ) เป็นโอรสเจ้านยองยาน (นยองราม : Lord of Nyaungyan) เป็นพระเจ้าหลานเธอในพระเจ้าชนะสิบทิศบุเรงนอง
พระเจ้าอนอกแพะลุนทรงเป็นกษัตริย์มีอานุภาพมาก ในขณะที่พระองค์ครองราชย์นั้น (๒๑๔๘) อาณาจักรของบุเรงนองแตกสลายไปหมดแล้ว

พุกามประเทศแตกเป็นสามส่วน คือ อังวะ แปร ตองอู พระเจ้าอนอกแพะลุนเมื่อรวบรวมไทยใหญ่ได้แล้ว ก็ตีแปรได้ในปี ๒๑๕๐ ตีตองอูได้ในปี ๒๑๕๓ พระเจ้าตองอู (พระสังกทัต หรือ นัตจินหน่อง) หนีไปเมืองสิเรียม ที่มีเจ้าเมืองคือ ฟิลิป เดอ ปริโต (Filipe de Brito de Nicote) ชาวโปรตุเกส และเข้ารีตนับถือคริสต์

พระเจ้าอนอกแพะลุนยกไปตีเมืองสิเรียมได้ในปี ๒๑๕๖(๕๕?) จับเจ้าเมืองตรึงกางเขน และเอาชาวโปรตุเกสกับพวกลูกครึ่งเป็นทาส เพราะพวกนี้ทำลายพุทธสถาน และย่ำยีพระพุทธศาสนา ทำให้พระเจ้าอนอกแพะลุนและชาวพม่าไม่พอใจเป็นอย่างมาก

เมื่อจับนัดจินหน่องได้ พระเจ้าอนอกแพะลุนเห็นว่าเป็นวงศ์ตองอูเหมือนกัน จึงสั่งให้กลับมานับถือพุทธ และสวามิภักดิ์ต่อพระองค์ นัดจินหน่องไม่ยอมจึงถูกประหาร

พระเจ้าอนอกแพะลุน ย้ายเมืองหลวงจากอังวะกลับมาหงสาวดีอีกครั้ง

ในปีเดียวกันนั้น (๒๑๕๖) ทรงยกทัพมาตีตะนาวศรีของไทย แต่ก็ถูกไทยกับโปรตุเกส(ที่แค้นพม่าที่ตรึงกางเขนและทารุณคนของตน) ยึดคืนมาได้

ต่อมาปี ๒๑๕๘ ทรงยึดล้านนาเป็นเมืองขึ้นได้ (ล้านนาจึงเป็นเมืองขึ้นพม่ามายาวนาน แม้ไทยจะแย่งมาได้ หรือตั้งตนเป็นอิสระ ก็เป็นเพียงช่วงสั้นๆ จนเป็นเมืองขึ้นไทยถาวรสมัยธนบุรี)

พระองค์จึงเป็นผู้รวบรวมจักรวรรดิพม่าได้อีกครั้ง แม้ไม่ยิ่งใหญ่เท่าพระอัยกาธิราชบุเรงนองก็ตาม

ในปี ๒๑๗๑ ถูกโอรสที่เป็นชู้กับนางสนมปลงพระชนม์ เพราะกลัวถูกจับได้

แต่พระโอรสนั้นก็ถูกประหารโดยพระเจ้าน้องยาเธอของพระเจ้าอนอกแพะลุน ซึ่งขึ้นครองราชย์ต่อ คือ Thalun Min องค์นี้เป็นธรรมราชา ทรงฟื้นฟูหลักพระธรรมศาสตร์สมัยพุกาม ปรับปรุงการปกครองและเน้นบำรุงพระศาสนา ทรงย้ายเมืองหลวงกลับไปอังวะ (๒๑๗๘) เพราะหงสาวดีทรุดโทรมมาก
ด้วยความที่สนใจศาสนาจนละเลยการทหาร มอญจึงแข็งเมืองสำเร็จโดยได้รับความช่วยเหลือจากฝรั่งเศสในอินเดีย

การทหารของพม่าเริ่มเสื่อมลง จนถูกมอญตีแตกสิ้นราชวงศ์ตองอูของบุเรงนองในปี ๒๒๙๕

แล้วก็เป็นการเริ่มต้นของวงศ์อลองพญา หรือ คองบอง ที่โค่นมอญแล้วสร้างอาณาจักพม่าขึ้นมาใหม่จนตีกรุงศรีอยุธยาได้ แล้วสิ้นวงศ์เมื่อตกเป็นเมืองขึ้นอังกฤษ

"กงเกวียนกำเกวียน"
บันทึกการเข้า
พระยาสุเรนทร์
มัจฉานุ
**
ตอบ: 71


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 14 พ.ย. 08, 21:03

รัชสมัยของพระเจ้าอนอกแพะลุน (๒๑๔๘-๒๑๗๑) ตรงกับ

พระเอกาทศรถ ๒๑๔๘-๒๑๕๓/๕๔ (25 April 1605-October 1610/November 1611)
พระศรีเสาวภาคย์ ๒๑๕๓/๕๔ (1610/1611)
พระเจ้าทรงธรรม ๒๑๕๓/๕๔-๒๑๗๑ (1610/1611-13 December 1628)
(ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, อยุธยา: ประวัติศาสตร์และการเมือง)

พระเจ้าอนอกแพะลุนทรงครองราชย์ปีเดียวกับพระเอกาทศรถ
พิชิตไทใหญ่และรวมพุกามประเทศ(อังวะ ตองอู แปร) ได้สำเร็จ ประมาณปีเดียวกับที่พระศรีเสาวภาคย์ครองราชย์
ขยายดินแดนยึดเมืองมอญ ล้านนาได้ในช่วงต้นรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม
และสวรรคตในปีเดียวกันกับพระเจ้าทรงธรรม

หลังจากสงครามแย่งชิงทวาย มะริด ตะนาวศรี กับอยุธยา ประมาณปี ๒๑๕๖ (รัชกาลพระเจ้าทรงธรรม) แล้ว

ถ้าจำไม่ผิดรู้สึกจะส่งทูตมาเจริญสันถวไมตรีกับอยุธยาในสมัยพระเจ้าทรงธรรม แล้วก็ได้มีสัมพันธไมตรีต่อกัน ไม่มีสงครามกันตลอดรัชกาล


ทรงเป็นพระเจ้าหงสาวดีที่เป็นพม่า(หงสาวดีเป็นเมืองมอญ) องค์สุดท้าย (ต่อจาก ตะเบ็งชะเวตี้ บุเรงนอง นันทบุเรง) เพราะรัชสมัยต่อมาย้ายกลับไปอังวะ
บันทึกการเข้า
พระยาสุเรนทร์
มัจฉานุ
**
ตอบ: 71


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 14 พ.ย. 08, 21:06

พระเจ้าอนอกแพะลุน
Anaukpetlun (literally 'died in the west')
(ที่มา http://en.wikipedia.org/wiki/Anaukpetlun)
บันทึกการเข้า
พระยาสุเรนทร์
มัจฉานุ
**
ตอบ: 71


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 14 พ.ย. 08, 21:13

ความคิดเห็นที่ 6   

บุเรงนอง  เป็นชื่อที่เรียก แบบไทย  จนเป็นที่นิยมใช้แล้ว

เสียงภาษาพม่า  คือ "บะ-ยิ่ง-เหน่าง์"
อาจารย์บางท่าน ออกเสียง "เหน่าง์"  ง่าย ๆ ว่า  "หน่อง"

แต่ขอให้ลองออกเสียง "เหน่าง์" ให้เสียง ง  ขึ้นจมูกดู
จะกังวานกว่าเสียง "หน่อง" มาก

ขออภัย ลืมแก้คำผิดในภาพประกอบจาก "ยิ่น" เป็น "ยิ่ง"
เสียง ง กับ น สะกด บางทีใช้สลับกันได้ เพราะเป็นเสียงนาสิกเหมือน n,m ของฝรั่งเศส


"บะยิ่ง" ที่เขียนมี จุด พินทุ ข้างล่าง แปลว่า "ของพระราชา"
ถ้าไม่มี จุดข้างล่าง กลายเป็นเสียง "บะหยิ่ง" แปลว่า "พระราชา"
"เหน่าง์" แปลว่า "พี่ชาย"  (แต่จริง ๆ บุเรงนอง  เป็น พี่เขย)


ส่วน พระเจ้า Anaukpetlun ซึ่งเป็นหลานของพระเจ้าบุเรงนอง  เป็นกษัตริย์อังวะที่จับ ฟิลิปเดอบริโต ได้
เสียงภาษาพม่า คือ " อะเน่าก์แพะหลุ่นมิง"
แปลตามตัวคือ "พระราชาแห่งทิศตะวันตก"
เพราะ "อะเน่าก์" แปลว่า "ทิศตะวันตก" , "แพะ" แปลว่า "ด้าน,ฝ่าย,ข้าง"
"หลุ่น" เป็นเสียง น นาสิก 


จากคุณ : นายช่างปลูกเรือน    - [ 11 พ.ย. 51 11:29:39 ]

(ที่มา http://www.pantip.com/cafe/library/topic/K7194744/K7194744.html)


บันทึกการเข้า
พระยาสุเรนทร์
มัจฉานุ
**
ตอบ: 71


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 14 พ.ย. 08, 21:48

ความคิดเห็นที่ 2

หลังจากพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองเป็นพระเจ้าราชาธิราชแล้ว  หงสาวดีก็เสื่อมอำนาจลงตามลำดับ
จนกระทั่งพระเจ้าอังวะสามารถรวบรวมอำนาจขึ้นมาได้อีกครั้ง  พระเจ้าอังวะพระองค์นี้ เป็นน้องยาเธอพระเจ้าหงสาวดีชัยสิงห์ (พระเจ้าเชลยตองอู  ซึ่งนักสร้าง (นัดจินหน่อง ราชบุตรพระเจ้าตองอู) วางยาพิษ)  พระเจ้าอังวะพระองค์นี้ เป็นเจ้าเมืองนยองยาน มาแต่ก่อน (หนังสือของอาจารย์สุเนตร "บุเรงนองกะยอดินนรธาร" กล่าวว่า ชื่อพระเจ้าบุเรงนอง มาจากชื่อเมืองที่พระองค์เคยครอง  ถ้าอย่างนั้นจะเรียกพระเจ้านยองยานได้หรือไม่ก็แล้วแต่ทุกท่านพิจารณา  ในขณะที่สมเด็จกรมพระยาทรงอธิบายว่า  บุเรงนอง หมายความว่า เชษฐาธิราช) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีพระอธิบายไว้ในหนังสือ พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา  ทรงสอบกับหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ กับพงศาวดารพม่า  ดังนี้


                 ... หนังสือพงศาวดารพม่าว่า เมื่อพระเจ้าหงสาวดีชัยสิงห์ทิวงคตแล้ว บรรดาเมืองใหญ่ในอาณาจักรหงสาวดี ที่ยังมิได้ขึ้นกรุงศรีอยุธยา ต่างเมืองต่างอยู่เป็นอิสระไม่ขึ้นแก่กัน ขณะนั้นเจ้าเมืองนยองยาน (ซึ่งเป็นน้องยาเธอองค์ ๑ ของพระเจ้าหงสาวดีชัยสิงห์) ชิงได้เมืองอังวะแล้วตั้งตัวขึ้นเป็นใหญ่ ใช้พระนามว่า พระเจ้าสีหสุรธรรมราชา ฝ่ายพระเจ้าแปรเห็นว่า พระเจ้าอังวะคิดตั้งตัวเป็นใหญ่คงจะลงมาเบียดเบียน จึงชวนพระเจ้าตองอูให้ยกกองทัพชิงไปตีเมืองอังวะเสียก่อน อย่าให้ทันตั้งตัวได้ พรเจ้าตองอูเห็นชอบด้วย จึงให้โอรสองค์ที่ ๒ คุมทัพบกยกไป ฝ่ายพระเจ้าแปรเตรียมทัพเรือจะยกไปเอง พอจะลงเรือก็มีผู้จะทำร้าย พระเจ้าแปรหนีคนร้ายโดดน้ำจมน้ำพิราลัย กองทัพเมืองแปรก็มิได้ยก ฝ่ายพระเจ้าตองอู ครั้นได้ข่าวว่าเกิดวุ่นกันขึ้นทีเมืองแปร และพระเจ้าแปรพิราลัย เห็นประโยชน์ที่ใกล้มีมากกว่า จึงรับสั่งให้โอรสถอยทัพกลับมาตีเมืองแปร แต่พวกเมืองแปรรักษาเมืองไว้ได้ พวกตองอูก็ต้องเลิกทัพกลับไปเมือง ไม่สำเร็จประโยชน์อันใดทั้งเรื่อง

                 ฝ่ายพระเจ้าอังวะเห็นเมืองตองอู เมืองแปร เกิดวิวาทกันขึ้นดังนั้นแล้ว ก็ตั้งหน้าขยายอำนาจออกไปทางเมืองไทยใหญ่ก่อน ได้เมืองไทยใหญ่ไปโดยลำดับจนถึงเมืองแสนหวี เมืองแสนหวีในเวลานั้น เจ้าแก้วคำไข่น้อยซึ่งสมเด็จพระนเรศวรทรงตั้งไปเป็นผู้ครองเมืองขึ้นกรุงศรีอยุธยา เมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงทราบว่าพระเจ้าอังวะอาจจะยกมาตีเมืองแสนหวี จึงยกกองทัพหลวงจะเสด็จขึ้นไปตีเมืองอังวะ ...


เป็นพระราชสงครามครั้งที่สุดที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงยกพยุหยาตรา  ซึ่งหนังสือพงศาวดารว่าเสด็จไปสวรรคตที่เมืองห้าง  ยังไม่ทันทำศึกกับพระเจ้าอังวะสีหสุรธรรมราชา

แผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=rattanakosin225&month=17-03-2007&group=2&gblog=19



ในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรฐมหาราช  ทรงมีพระอธิบายในส่วนของอาณาจักรพม่าต่อจากนั้นว่า

                 ... เรื่องเมืองตองอู ตอนนักสร้าง (นัตจิหน่อง) ลอบปลงพระชนม์พระเจ้าหงสาวดี ที่หนังสือพระราชพงศาวดารวางเรื่องไว้ในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถนั้น ที่จริงเป็นเรื่องเกิดแต่ในรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ดังข้าพเจ้าได้อธิบายมาแล้ว เรื่องเมืองตองอูในตอนแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถ ได้ความตามหนังสือพงศาวดารพม่าว่า ในสมัยนั้นหัวเมืองใหญ่ในอาณาจักรหงสาวดีที่ยังมิได้ขึ้นแก่กรุงศรีอยุธยาต่างเป็นอิสระแก่กัน พระเจ้าตองอูตั้งตัวเป็นพระเจ้าหงสาวดีในพระนามว่า พระมหาธรรมราชา และตั้งนัตจินหน่องเป็นพระมหาอุปราชา แต่เสวยราชย์อยู่ที่เมืองตองอูไม่ลงมาอยู่เมืองหงสาวดี เพราะเมืองหงสาวดีตั้งแต่ถูกพวกยะไข่เผายังทรุดโทรมนัก พระเจ้าตองอูชอบชิดสนิทสนมกับพระเจ้ายะไข่ (พระเจ้ายะไข่องค์นี้นับถือศาสนาอิสลาม) เมืองตองอูกับเมืองยะไข่ต่างแต่งทูตและส่งบรรณการไปถึงกันเนืองๆ

                 ในสมัยนั้นโจรผู้ร้ายในระหว่างทางชุกชุม เพราะเหตุที่อาณาจักรหงสาวดีแยกกันอยู่ในหลายอำนาจ ราชทูตที่ไปมาระหว่างเมืองยะไข่กับเมืองตองอูถูปผู้ร้ายปล้นหลายหน พระเจ้ายะไข่จึงตั้งโปจุเกตคน ๑ ชื่อว่าฟิลิปเดอบริโต มาเป็นเจ้าเมืองเสรียมซึ่งเป็นเมืองปากน้ำใกล้ทะเล ให้มีเรือกำปั่นรบมาไว้ด้วย ๓ ลำ สำหรับคอยตรวจตระเวนโจรผู้ร้าย ฟิลิปเดอบริโตโปจุเกต แต่แรกก็ทำการโดยซื่อตรง ให้ก่อสร้างค่ายคูประตูหอรบ จนเมืองเสรียมมั่นคง คอยเอาใจใส่ปราบปรามโจรผู้ร้ายจนราบคาบ และหมั่นส่งบรรณาการไปถวายพระเจ้ายะไข่พระเจ้าตองอูเนืองๆ อยู่มาฟิลิปเดอบริโตไปเป็นไมตรีกับพระยาทละเจ้าเมืองเมาะตะมะ ซึ่งขึ้นกรุงศรีอยุธยา จนที่สุดได้ให้ลูกสาวไปเป็นภรรยาบุตรพระยาทละคน ๑ ฟิลิปเดอบริโตประกอบการค้าขายได้ทรัพย์สมบัติบริบูรณ์ขึ้น เห็นว่าจะอาศัยพระยามละเป็นกำลังได้ (บางทีจะได้มาขอขึ้นกรุงศรีอยุธยา แล่ในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรมหาราช) จึงตั้งแข็งเมือง ไม่ยอมขึ้นทั้งเมืองยะไข่และเมืองตองอู

                 พระเจ้าตองอูและพระเจ้ายะไข่ขัดเคือง จึงนัดกันแต่งกองทัพให้พระมหาอุปราชาทั้ง ๒ พระนครยกไปตีเมืองเสรียม เมื่อปีเถาะ จุลศักราช ๙๖๕ พ.ศ. ๒๑๔๖ ฟิลิปเดอบริโตเห็นกองทัพพระมหาอุปราชายกมาทั้ง ๒ ทัพ เหลือกำลังที่จะต่อสู้จึงลงเรือกำปั่นจะหนีไป กองทัพเรือเมืองยะไข่เข้าล้อม ฟิลิปเดอบริโตยิงกองทัพเรือเมืองยะไข่แตกจับได้พระมหาอุปราชาเมืองยะไข่ไว้เป็นตัวจำนำ ฟิลิปเดอบริโตจึงกลับเข้าไปตั้งมั่นอยู่เมืองเสรียมอีก กองทัพพระมหาอุปราชาเมืองตองอูยกลงไปยังไม่ถึง เมื่อได้ข่าวว่ากองทัพเมืองยะไข่เสียทีก็รออยู่ ฝ่ายพระเจ้ายะไข่เมื่อทราบว่าข้าศึกจับพระมหาอุปราชาไปได้ ก็ยกกองทัพมาเอง นัดกองทัพเมืองตองอูพร้อมกันเข้าล้อมเมืองเสรียมไว้ ให้เข้าตีเมืองเสรียมเป็นสามารถก็ตีไม่ได้ พระเจ้ายะไข่มีความวิตกด้วยพระมหาอุปราชาตกอยู่ในเงื้อมมือข้าศึก จึงให้เข้าไปบอกฟิลิปเดอบริโตว่า ถ้าส่งพระมหาอุปราชาออกมาถวายโดยดีจะยอมเป็นไมตรี ฝ่ายฟิลิปเดอบริโตให้ตอบมาว่า ถ้าพระเจ้ายะไข่และพระเจ้าตองอูยอมให้ฟิลิปเดอบริโตครองเมืองเสรียมอย่างประเทศราช จึงจะยอมส่งพระมหาอุปราชาให้ พระเจ้ายะไข่จำเป็นต้องยอม เมื่อได้พระมหาอุปราชาคืนแล้วก็เลิกทัพกลับไป ตั้งแต่นั้นมาฟิลิปเดอบริโตได้เป็นใหญ่ก็มีใจกำเริบด้วยโลภเจตนา ให้เที่ยวขุดพระเจดีย์และโบสถ์พระวิหารเอาแก้วแหวนเงินทองของพุทธบูชาไปเป็นอาณาประโยชน์ตนเสียเป็นอันมาก

                 ฝ่ายพระเจ้าอังวะเมื่อปราบปรามเมืองไทยใหญ่ไว้ได้ในอำนาจ (และได้ข่าวว่าสมเด็จพระนเรศวรสวรรคตแล้ว) ก็เกณฑ์กองทัพไทยใหญ่ สมทบกับกองทัพพม่าลงมาตีเมืองแปร เมื่อปีวอก จุลศักราช ๙๗๐ พ.ศ. ๒๑๕๑ ตีได้เมืองแปรแล้ว จึงตั้งให้มังเรสิงหสุรผู้เป็นอนุชาเป็นเจ้าเมืองแปร

                 ถึงปีระกา จุลศักราช ๙๗๑ พ.ศ. ๒๑๕๒ พระเจ้าตองอูพิราลัย นัตจินหน่องผู้เป็นพระมหาอุปราชาขึ้นครองราชย์สมบัติ ขนานนามว่า พระเจ้าสุรสีห รุ่งขึ้นปีจอ จุลศักราช ๙๗๒ พ.ศ. ๒๑๕๓ พระเจ้าอังวะก็ยกกองทัพลงมาตีเมืองตองอู ตั้งล้อมอยู่หลายเดือน พระเจ้าตองอูเห็นจะรักษาเมืองไว้ไม่ได้ ต้องยอมอ่อนน้อมขึ้นแก่พระเจ้าอังวะ พระเจ้าอังวะจึงให้พระเจ้าตองอูครองเมืองเป็นประเทศราชขึ้นเมืองอังวะต่อไป แต่กวาดต้อนผู้คนเมืองตองอูแบ่งกำลังเอาไปเมืองอังวะเสียด้วยเป็นอันมาก

                 หนังสือพระราชพงศาวดารว่า พระเจ้าตองอูมาขอขึ้นกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถนั้น คือเข้ามาขอขึ้นในตอนนี้เมื่อกำลังแค้นพระเจ้าอังวะที่มาตีเมือง

                 ได้ความตามพงศาวดารพม่าต่อมา ว่าเมื่อปีชวด จุลศักราช ๙๗๔ พ.ศ. ๒๑๕๕ พระยาทละเจ้าเมืองเมาะตะมะกับฟิลิฟเดอบริโตเจ้าเมืองเสรียม สมทบกันยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองตองอู (เห็นจะเป็นด้วยมีรับสั่งออกไปจากกรุงศรีอยุธยาให้ไปช่วย หรือไปตีเอาเมืองตองอูให้พ้นจากอำนาจพระเจ้าอังวะ) หนังสือพงศาวดารพม่าว่า เวลานั้นเมืองตองอูไม่มีกำลังจะต่อสู้ พระยาทละและฟิลิปเดอบริโตได้เมืองตองอูแล้ว ก็เก็บทรัพย์สมบัติและกวาดผู้คนเอาลงไปในเมืองเสรียมเสียเป็นอันมาก ตัวพระเจ้าตองอูเองฟิลิปเดอบริโตก็เอาไปไว้เมืองเสรียมด้วย และว่าขณะเมื่อพระยาทละกับฟิลิปเดอบริโตไปตีเมืองตองอูนั้น พระเจ้าอังวะให้เกณฑ์กองทัพลงมารักษาเมืองตองอู แต่ลงมาไม่ทันเมืองตองอูเสียแก่ข้าศึกแล้ว จึงให้เรียกกองทัพกลับไป ข้าพเจ้าเข้าใจว่า เมื่อพระยาทละกับฟิลิปเดอบริโตไปถึงเมืองตองอูแล้ว ได้ข่าวว่าพระเจ้าอังวะให้กองทัพใหญ่ยกลงมา เห็นว่าจะต่อสู้รักษาเมืองไว้ไม่ได้ จึงเก็บทรัพย์สมบัติกวาดต้อนผู้คน และพาพระเจ้าตองอูมา

                 ในปีนั้น พระเจ้าอังวะเกณฑ์กองทัพใหญ่ลงมาตีเมืองเสรียม รบพุ่งกันอยู่หลายเดือน จึงได้เมืองเสรียม จับฟิลิปเดอบริโตได้ พระเจ้าอังวะให้ฆ่าเสีย แต่พระเจ้าตองอูนัตจินหน่องนั้น พงศาวดารพม่าว่าเมื่อพระเจ้าอังวะได้ตัวที่เมืองเสรียมก็ให้สำเร็จโทษเสียด้วย ด้วยแค้นว่ามาขอขึ้นกรุงศรีอยุธยา

                 เมื่อพระเจ้าอังวะได้เมืองเสรียมแล้ว ก็มีอำนาจตลอดอาณาจักรหงสาวดี ที่มิได้ขึ้นแก่ไทยทุกหัวเมือง จึงกลับตั้งเมืองหงสาวดีขึ้นเป็นราชธานี ...


แผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรฐมหาราช
http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=rattanakosin225&date=14-06-2007&group=2&gblog=62

จากคุณ : กัมม์    - [ 11 พ.ย. 51 08:51:03 ]

(ที่มา http://www.pantip.com/cafe/library/topic/K7194744/K7194744.html)
บันทึกการเข้า
พระยาสุเรนทร์
มัจฉานุ
**
ตอบ: 71


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 14 พ.ย. 08, 21:53

เจ้านยองยาน (เจ้านยองราม) ซึ่งเป็นโอรสของบุเรงนอง ("Nyaungyan Min" ยองยาน(Nyaungyan) เป็นชื่อเมืองที่โอรสของบุเรงนองได้ "กิน" เมือง เมง(Min) แปลว่ากษัตริย์ ราชทินนามเช่นนี้เป็นธรรมเนียมพม่า เช่น Thibaw Min พระเจ้าธีบอ(สีป่อ) มาจากชื่อเมืองสีป้อ(พม่าเรียก ธีบอ)

เจ้านยองยานเป็นพระบิดาของพระเจ้าอเน่าก์แพะหลุ่น(Anaukpetlun) นะครับ (ไม่ใช่องค์เดียวกัน)

ภายหลังพระเจ้านันทบุเรงถูกพระเจ้าตองอูบังคับให้ทิ้งหงสาวดีไปตองอู เจ้านยองยาน(มีศักดิ์เป็นอนุชาต่างมารดานันทบุเรง) หนีไปเมืองอังวะซึ่งว่างกษัตริย์อยู่ ชาวเมืองเห็นเป็นโอรสพระเจ้าชนะสิบทิศบุเรงนองจึงยกขึ้นเป็นพระเจ้าอังวะ มีคนพม่าที่ยังเคารพรักบุเรงนองไปเข้าร่วมเป็นอันมากจนมีกำลังเข้มแข็ง แล้วยกมาตีไทยใหญ่รวมทั้งแสนหวีซึ่งเป็นเมืองขึ้นอยุธยา พระนเรศวรจึงยกทัพไปตีอังวะแต่สวรรคตเสียก่อน

แต่ในปีเดียวกันนั้นกับที่พระนเรศวรสวรรคต(๒๑๔๘) พระเจ้านยองยานก็สวรรคต พระโอรสคืออเน่าก์แพะหลุ่นจึงได้ครองราชย์ วงศ์ของเจ้านยองยานนี้เรียกว่าราชวงศ์ตองอูยุคหลัง ๒๑๔๐-๒๒๙๕ (ยุคแรก ๒๐๒๙-๒๑๔๒ คือรัชสมัยของ มังกะยินโย ตะเบงชะเวตี้ บุเรงนอง และ นันทบุเรง )
บันทึกการเข้า
พระยาสุเรนทร์
มัจฉานุ
**
ตอบ: 71


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 14 พ.ย. 08, 21:58

ถ้าสนใจเรื่องพระเจ้าชนะสิบทิศบุเรงนอง

พระอัยกาธิราชของพระเจ้าอนอกแพะลุน

สามารถไปดูที่กระทู้ต่อไปนี้

ว่าด้วยนามของผู้ชนะสิบทิศ

บุเรงนอง กะยอดินนรธา
บันทึกการเข้า
พระยาสุเรนทร์
มัจฉานุ
**
ตอบ: 71


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 15 พ.ย. 08, 00:05

มีผู้ตอบเรื่องพระนามของ พระเจ้าอนอกแพะลุน ไว้ที่กระทู้ด้านล่างนี้นะครับ

พระนามพระมหากษัตริย์พม่า
บันทึกการเข้า
พระยาสุเรนทร์
มัจฉานุ
**
ตอบ: 71


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 15 พ.ย. 08, 05:13

*****เพิ่มเติม*****

ใน ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, อยุธยา: ประวัติศาสตร์และการเมือง กล่าวว่า อยุธยาเสีย ทวาย มะริด ตะนาวศรี ในปี ๒๑๖๕
บันทึกการเข้า
พระยาสุเรนทร์
มัจฉานุ
**
ตอบ: 71


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 16 พ.ย. 08, 04:59

****เพิ่มเติม****
ในปี ๒๑๗๑ ถูกโอรสที่เป็นชู้กับนางสนมปลงพระชนม์ เพราะกลัวถูกจับได้

แต่พระโอรสนั้นก็ถูกประหารโดยพระเจ้าน้องยาเธอของพระเจ้าอนอกแพะลุน ซึ่งขึ้นครองราชย์ต่อ คือ Thalun Min องค์นี้เป็นธรรมราชา ทรงฟื้นฟูหลักพระธรรมศาสตร์สมัยพุกาม ปรับปรุงการปกครองและเน้นบำรุงพระศาสนา ทรงย้ายเมืองหลวงกลับไปอังวะ (๒๑๗๘) เพราะหงสาวดีทรุดโทรมมาก
ด้วยความที่สนใจศาสนาจนละเลยการทหาร มอญจึงแข็งเมืองสำเร็จโดยได้รับความช่วยเหลือจากฝรั่งเศสในอินเดีย

การทหารของพม่าเริ่มเสื่อมลง จนถูกมอญตีแตกสิ้นราชวงศ์ตองอูของบุเรงนองในปี ๒๒๙๕


****ขอแก้ไขนะครับ****

รัชสมัยของพระเจ้าสิริสุธรรมราชามหาธิบดี Thalun Min (๒๒๗๑-๒๒๙๑) นั้น การทหารยังเข้มแข็งอยู่ โดยมีไพร่พลถึง ๔๐๐,๐๐๐ คน และสามารถต้านทานการรุกรานจากจีน (๒๒๘๐) ได้ด้วย
เพียงแต่เน้นการศาสนามาก จนเริ่มละเลยหัวเมืองมอญ

รัชสมัยต่อๆ มา การทหารพม่าเริ่มเสื่อมลง จนถูกมอญซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากฝรั่งเศสในอินเดีย(เพราะพม่าขัดแย้งกับฝรั่งเศสอยู่)ตีแตกสิ้นราชวงศ์ตองอูของบุเรงนองในปี ๒๒๙๕
บันทึกการเข้า
พระยาสุเรนทร์
มัจฉานุ
**
ตอบ: 71


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 16 พ.ย. 08, 20:35

รัชสมัยของพระเจ้าสิริสุธรรมราชามหาธิบดี Thalun Min (๒๒๗๑-๒๒๙๑) นั้น

สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่ พระเจ้าสิริสุธรรมราชามหาธิบดี Thalun Min
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.087 วินาที กับ 19 คำสั่ง