เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 2957 ต่อลมหายใจให้วรรณคดี และประวัติศาสตร์
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 11 ม.ค. 01, 00:52

เมื่อคุยกันที่กระทู้ ๒๗๐
คุณนกข.เอ่ยขึ้นมาตอนหนึ่ง เมื่อกำลังคุยเรื่องพระราชนิพนธ์ วิวาหพระสมุทร     สะดุดใจดิฉัน

เธอบอกว่า
"อยากเขียนประวัติศาสตร์เกาะอัลฟะเบตา ภาค 2 ต่อจังเลย อาจจะเป็นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว ที่อังกฤษหมดรัศมี สูญอาณานิคมไปทีละแห่งๆ ประเทศเกิดใหม่เหล่านี้กลายเป็นประเทศขึ้นมาในยุคที่อเมริกาเป็นเจ้าโลก ในบรรยากาศสงครามเย็น ลูกหลานของเจ้าอันเดรซึ่งทำอะไรไม่เป็นนอกจากโผเข้าพึ่งเกาะขามหาอำนาจ กำลังจะพาประเทศอัลฟะเบตาไปหาสหรัฐฯ (หรือไอเอ็มเอฟก็ได้) ส่วนลูกหลานของคอนสแตนติโน้สก็ลงใต้ดินเป็นพลพรรคปฏิวัติ (หรือเรียกร้องให้เว้นวรรคกับ WTO ก็ได้) ดูซิว่าอันโดรเมดาสมัยใหม่เธอจะเลือกใคร...
แต่ไม่กล้าครับ ด้วยความเคารพในพระมหาอัจฉริยภาพของพระมหาธีรราชเจ้าพระองค์นั้น ผมไม่กล้าแต่งต่อจากของท่านทรงไว้ดีๆ แล้วหรอกครับ"

ดิฉันไม่ได้ค้านความเห็นของคุณนกข.นะคะ บอกไว้ก่อน
เพียงแต่คำว่า "อยากจะแต่ง  แต่ไม่กล้า" ทำให้คิดโยงไปถึงอีกเรื่องหนึ่ง ที่คิดมานานแล้ว
ดิฉันอาจจะคิดไม่เหมือนผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิชาการทางวรรณคดี   ตรงที่ว่า  ดิฉันเชื่อว่าทุกวันนี้ วรรณคดีกลายเป็นวิชาที่เกือบจะตายสนิทจากการรับรู้ของคนรุ่นใหม่ ก็เพราะเราจับเอาขึ้นไปไว้บนหิ้ง  รักษาเอาไว้ด้วยการท่องจำในชั้นม.ปลาย  อนุรักษ์ซ้ำอีกทีด้วยการศึกษาในรูปของตำรา ในระดับมหาวิทยาลัย

ทั้งที่แต่เดิม  เรื่องบนหิ้งเหล่านี้แต่งขึ้นมาเพื่อบันเทิง ไม่ใช่เพื่อท่อง และยกย่องจนแตะไม่ได้  จนกลายเป็นของขลัง ของต้องเคารพนับถือ ในที่สุดไม่อยากจะยุ่งเกี่ยวด้วย

วิธีต่อลมหายใจให้วรรณคดี คือหยิบลงมาจากหิ้ง  ปล่อยให้ทำหน้าที่อย่างที่เคยทำเมื่อกำเนิดงานชิ้นนั้น
หยิบเอามาปัดฝุ่นใช้งาน  เพื่อความประเทืองอารมณ์และจินตนาการ  มากระตุ้นให้เกิดความคิดอ่านตามมา  อย่าปล่อยเอาไว้เฉยๆเหมือนเดิม

อย่างน้อยเราจะได้มุมมองเพิ่มขึ้น   สนใจเพิ่มขึ้น  ค้นพบอะไรใหม่ๆมากขึ้นจากงานเก่าแก่ชิ้นนั้น
เราอาจจะพบของล้ำค่าบางอย่าง ซ่อนเร้นอยู่ในนั้นก็ได้
หรืออย่างน้อย   งานเก่าๆของปู่ย่าตายายสร้างเอาไว้ ก็จะไม่ถูกมองข้ามไร้คนเหลียวแลอีก

ประวัติศาสตร์ก็เหมือนกันค่ะ  ควรมีเอาไว้ถกเถียง ออกความคิดเห็น ตีความ และค้นหาหลักฐานเพิ่มเติม
แสดงออกมาหลายรูปแบบ ไม่ใช่ตำราอย่างเดียว เป็นนิยาย เรื่องสั้น บทละคร เพลง หนัง อะไรก็ได้ทั้งนั้น
สิ่งที่ทำให้ประวัติศาสตร์ตายสนิทได้คือคำพูดว่า
" ขอให้ชี้ขาด แล้วสรุปเรื่องนี้ลงเสียทีว่าจริงๆมันเป็นยังไง"
เพราะเท่ากับจบการถกเถียง  จบการค้นคว้า  จบการออกความเห็นแค่นั้น
เราควรทำเพียงให้คำตอบในประเด็นที่กำลังพูดกันอยู่ จากมุมมองและหลักฐานของเรา   ถ้ามีหลักฐานหนักแน่นมากกว่าคนอื่น  ความเชื่อนั้นก็อาจเป็นที่ยอมรับกันไปในช่วงหนึ่ง  แต่ไม่ได้หมายความว่าอีกสักพัก จะไม่มีความเห็นใหม่หรือหลักฐานใหม่เข้ามาอีก
แต่...ขอให้เว้นเพียงหลักฐานเท็จ   การตีความคลุมเครือ การบิดเบือนข้อมูล   หลักฐานที่ผิดพลาด ...
สิ่งเหล่านี้จะต้องกลั่นกรองออกไปจากการวิเคราะห์และถกเถียงกัน  ไม่ใช่ว่าใครจะเถียงอะไรก็ได้ตามใจชอบจนไม่มีขอบเขต

ขึ้นต้นด้วยวรรณคดี แล้วลงท้ายที่ประวัติศาสตร์ก็ได้เหมือนกันนะเรา
บันทึกการเข้า
ชานเรือน
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 09 ม.ค. 01, 21:43

เห็นด้วยค่ะ  เมื่ออาทิตย์ก่อน  ดูทีวี มีโอกาสได้เห้นเด็กมัธยมรุ่นใหม่  แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเรียนวิชาประวัติศาสตร์
ฟังแล้วดีใจ เพราะเด็กๆมีความคิดเห็นว่า
อยากเรียน แบบมีการตั้งคำถาม ว่าทำไมเป็นเช่นนั้น
 อยากให้ครูตั้งกระทู้ให้เด็กนักเรียนออกความคิดเห็น เช่น  
- ถ้านักเรียนเป็นพระยาตาก  จะตีฝ่าวงล้อมออกจากอยูธยาหรือไม่
-ถ้านักเรียนเป็นทหารสมัยนั้น จะตัดสินใจอย่างไร  จะรู้สึกอย่างไร  จะสู้ต่อ หรือตามพระยาตากไป เป็นต้น
ถ้าสมัยก่อนได้เรียนแบบนี้ คงจะเรียนสนุกมาก  จำได้ว่าเวลาสอบ การท่องชื่อ คณะรัฐมนตรี  ตลอด จนปี พ..ศ. เป็นยาขมสำหรับดิฉันเลยละค่ะ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 10 ม.ค. 01, 07:57

Let's do it!
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 10 ม.ค. 01, 17:28

จะเริ่มเรื่องอย่างไรดีล่ะคะคุณ CrazyHOrse

ถ้าเป็นชาวค่ายบางระจัน  จะสู้จนตัวตายหรือว่าจะหาทางหนีให้ได้  เพื่อจะกลับมากอบกู้ทีหลัง?

ไม่ควรเขียนพงศาวดารให้ดูเหมือนว่าพม่ากระทำย่ำยีอยุธยา  ควรมองว่าอาณาจักรไหนๆก็ยกไปรบกับอาณาจักรอื่นเพื่อแผ่แสนยานุภาพทั้งนั้น?
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 10 ม.ค. 01, 21:04

ผมไม่ใช่นักประวัติศาสตร์นะครับ แต่จำได้ว่า อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ท่านบอกว่า ทิพยภาวะ หรือรสทิพย์ของการศึกษาประวัติศาสตร์ที่นักประวัติศาสตร์จะได้เสพได้ลิ้ม อยู่ที่การได้ "เห็นคนเป็นคน" การได้วิจัยค้นคว้า หาหลักฐานต่างๆ จนกระทั่งรู้จัก ตัวจริงที่เป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดาของบุคคลในประวัติศาสตร์ ตัวจริงที่อยู่เบื้องหลังภาพลักษณ์ที่บันทึกประวัติศาสตร์วาดไว้ใหญ่โตเกินคนจริง
...ทำนองนี้แหละครับ
คนในประวัติศาสตร์ไทยที่ อ. นิธิ ท่านเสนอภาพใหม่ไว้ ก็มีพระเจ้าตากสิน สมเด็จพระนารายณ์ เป็นต้น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 10 ม.ค. 01, 21:32

รสทิพย์ของอ.นิธิคงเป็นรสหนึ่งของการศึกษาประวัติศาสตร์น่ะค่ะ  แต่คงไม่ได้จำกัดอยู่แค่รสเดียว
มิน่าเล่า อ.นิธิถึงเสนอภาพพระเจ้าตาก แตกต่างไปจากภาพเดิมที่เรียนกันมา  คือภาพอดีตบุตรบุญธรรมของเจ้าพระยาจักรี   ต่อมากินตำแหน่งพระยาวชิรปราการ  
แต่เป็นนายกองเกวียนซึ่งเดินทางไปค้าขายตามที่ต่างๆ แล้วตั้งตัวขึ้นมาได้หลังกรุงแตก
เข้าใจถูกหรือเปล่าคะ  โปรดวิจารณ์
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 11 ม.ค. 01, 02:40

ในห้องมองอดีตของพันธุ์ทิพย์ดอทคอม มีผู้แสดงความเป็นห่วงว่า อีกหน่อยเด็กไทยจะรู้จักประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นดีกว่าประวัติศาสตร์ไทยเอง เพราะมีการ์ตูนญี่ปุ่นหลายเรื่อง ถ่ายทอดออกมาได้น่าสนุก ในขณะที่ประวัติศาสตร์ไทยยังไม่ค่อยมีการ์ตูนหรือสื่ออื่นๆ ที่เด็กจะรู้สึกสนุกไปด้วยได้เท่าไหร่

การที่ครูตั้งกระทู้ถามเด็ก เช่นว่า ถ้านักเรียนเป็นพระยาตาก จะทำอย่างไรเมื่อกรุงจะแตก อาจจะเป็นทางหนึ่งที่ทำให้เด็กเรียนประวัติศาสตร์ไทยได้สนุกขึ้นครับ
หนังย้อนยุค ถ้าทำดีๆ ก็น่าจะกระตุ้นความสนใจทางประวัติศาสตร์ได้เหมือนกัน
ใครไปดูบางระจันมาแล้วบ้างครั้ง ที่เมืองไทย ผมอยู่นี่ไม่ได้ไปดู
แต่ขออภัยแฟนๆ ทมยันตีเถิดนะครับ เรื่อง คู่กรรม ผมว่า ไม่ค่อยให้ภาพสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพาทื่ตรงทีเดียวนัก โกโบริเป็นพระเอกมากไปหน่อย (ไม่หน่อยล่ะ มากไปมากเลยทีเดียว) เมื่อเราศึกษาเทียบกับพฤติกรรมของทหารญี่ปุ่นจริงๆ ในส่วนต่างๆ ของเอเชียในขณะนั้น
คนที่อ่าน คู่กรรม แล้ว ขอเชิญอ่าน ระย้า ของคุณสด กูรมโรหิต ประกอบอีกเรื่องครับ หรือจะไปดูหนังเรื่อง ยุวชนทหาร ด้วยก็ได้
สำหรับเมืองไทยเรานั้น ผมว่า โกโบริตัวจริง คือนายพลนากามูระ แม่ทัพหน่วยงิที่เป็นผู้บัญชาการทหารญี่ปุ่นในไทยครับ ท่านนายพลผู้นี้เป็นผู้มีนโยบายต่อไทยอย่างละมุนละม่อม และมีส่วนอย่างมากที่ทำให้พฤติกรรมของทหารญี่ปุ่นในไทย ไม่เหมือนทหารญี่ปุ่นในจีน ในมลายู ในเกาหลี ฯลฯ (แน่นอนว่า นโยบายต่อประเทศไทยนั้นมีมาตรงจากโตเกียวด้วย แต่ท่านนายพลก็มีส่วนสำคัญมากในการนำนโยบายไปปฏิบัติ และประสานงานแก้ความเข้าใจผิดที่อาจเกิดระหว่างไทยกับญี่ปุ่น)
อ. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เคยแปลบันทึกความจำของ ผบ. กองทัพญี่ปุ่นในไทยท่านนี้เป็นภาษาไทยแล้วครับ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 11 ม.ค. 01, 08:53

ถ้าผมเป็นผู้นำชุมชนแถบภาคกลางในยุคสงครามคราวเสียกรุงครั้งที่ ๒ ผมคงมีทางเลือกไม่มากนักคือ
๑ พาลูกบ้านหนีไปอยู่ในป่า ซึ่งต้องอยู่อย่างยากลำบาก เสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บและสัตว์ร้าย
๒ เข้าสวามิภักดิ์กับพม่า ซึ่งต้องส่งส่วยเสบียงอาหาร รวมถึงลูกหลานชาวบ้านที่เป็นหญิงให้พม่าด้วย
๓ สร้างป้อมค่ายเพื่อป้องกันตัว แล้วอยู่เฉยๆ
๔ สร้างป้อมค่ายเพื่อป้องกันตัว แล้วคอยตีทัพพม่าทีเผลอเป็นครั้งคราว
๕ กรณีอื่นๆซึ่งส่วนมากปฏิบัติได้ยากเนื่องจากอุปสรรคในเรื่องการเดินทาง เช่นหนีเข้าไปอยู่ในกรุงฯ หนีไปร่วมกับชุมนุมที่ค่อนข้างจะห่างไกลจากอิทธิพลของทัพพม่าเช่นทางอิสาน
คงต้องวิเคราะห์กันนิดหนึ่ง สมัยนั้นลัทธิชาตินิยมยังไม่มี ผมก็คงเป็นแค่นายอะไรคนหนึ่งที่อยู่บ้านม้าพยศ รู้แต่ว่าตัวเองเป็นคนพูดภาษาเดียวกับชาวกรุงศรีฯและคนในละแวกเดียวกัน คนกับพวกพม่าไม่รู้เรื่อง จากทางเลือกที่มีทั้งหมดนั้นต้องถือว่าไม่มีทางไหนดีสักทาง มีแต่เสียกับเสียทั้งนั้น(นี่แหละสงคราม)
ทางเลือกที่คนอื่นๆในสมัยนั้นเลือกคงจะเป็น ทางเลือกที่ ๑ มากที่สุด รองลงมาก็เป็นทางเลือกที่ ๒ ทางเลือกที่ ๓ นั้นระบุไม่ได้เพราะที่มีก็คงอยู่กันได้ไม่นานพอที่จะมาเล่าให้ฟังกัน
กรณีทางเลือกที่ ๔ อย่างที่ชาวบางระจันทำนั้น เป็นเรื่องที่แปลกมาก ผมเองยังแปลกใจว่า ชาวบางระจันทำไมถึงได้ทำเช่นนั้น ถ้าเป็นคนจีนเขาเรียกว่า เจียะป้าบ่อสื่อ แปลว่า กินอิ่มแล้วไม่มีอะไรทำ คนไทยว่า แกว่งเท้าหาเสี้ยน ความเป็นจริงอาจจะเป็นว่า ลงตั้งป้อมค่ายขึ้นมั่นคง ก็คงหลีกเลี่ยงการปะทะยาก พม่าก็หวาดระแวงว่าจะถูกตีตลบหลัง ขณะที่การออกหาอาหารของชาวบ้านก็คงต้องกระทบกระทั่งกับทัพหม่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็อย่างว่าล่ะครับ ที่ชาวบางระจันทำนั้นแปลกกว่าคนอื่น ผู้คนถึงได้ยกย่องเป็นวีรชนกัน
โดยส่วนตัวแล้วผมไม่รักความเสี่ยง ในขณะเดียวกันก็คิดว่าตัวเองยังมีจริยธรรมอยู่ระดับหนึ่ง ดังนั้นผมเลือกข้อ ๑ เป็นคำตอบสุดท้ายครับ บางระจันหมดสิทธิ์เกิดในหน้าประวัติศาสตร์ครับ แฮ่ แฮ่

ส่วนกรณีพระเจ้าตาก ภาพใหม่สำหรับผมคือ เป็นอีกคนหนึ่งที่มีความทะเยอทะยานในการจะรื้อฟื้นกรุงศรีฯขึ้นมาใหม่ คงหลีกเลี่ยงยากที่คนจะมองว่าเป็นการทำให้ตนเองได้มาซึ่งอำนาจ แต่ในขณะเดียวกันก็ได้พิสูจน์ให้เห็นกันทั่วว่ามีความพยายามจะสร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับบ้านเมือง ซึ่งเป็นจุดที่แตกต่างจากสิ่งที่นายชุมนุมอื่นๆทำกัน และที่สุดแล้วก็แสดงให้เห็นว่าเป็นนักการเมืองที่มีสปิริต ยอมรับความพ่ายแพ้แก่คนที่มีความพร้อมที่จะทำประโยชน์ให้บ้านเมืองได้มากกว่า แฟ้มบุคคลขอปรบมือให้ครับ

มุมมองที่ผมคิดว่าได้จากการศึกษาประวัติศาสตร์ก็คือ คนเราไม่ว่าจะเป็นใครก็มีข้อดีข้อเสียทั้งนั้น การจะพูดว่าใครเป็นคนดีหรือคนเลวโดยหยิบยกเฉพาะบางแง่มุมขึ้นมาพิจารณา คงเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรมนัก ประวัติศาสตร์ในตำราเรียนนั้นทำให้ผมรู้สึกแคลงใจต่อการชิงบัลลังค์ของเจ้าพระยาจักรี แต่หลังจากได้ศึกษาไปถึงจุดหนึ่ง ผมรู้สึกได้ว่า การขึ้นครองบัลลังค์ของพระองค์นำมาซึ่งความเป็นปึกแผ่นของบ้านเมืองอย่างที่คงจะทำได้ลำบากถ้าพระเจ้าตากจะยังทรงครองราชย์อยู่ ไม่ใช่ว่าพระเจ้าตากไม่มีพระปรีชาสามารถ แต่พระองค์ก็มีข้อจำกัดอยู่ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปกติครับ อย่างไรก็ตามความจริงทางประวัติศาสตร์นั้นเราอาจจะใช้วิธี "พูดไม่หมด" ในแบบเรียน เพื่อไม่ให้เด็กที่ยังไม่เข้าใจในเรื่องการเมืองไปสับสนกับข้อศีลธรรม แต่ก็ไม่ควรที่จะบิดเบือนประเภท ดำเป็นขาว ขาวเป็นดำ ดูจะไม่ยุติธรรมกับบุคคลในประวิติศาสตร์ครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 11 ม.ค. 01, 12:52

เคยวิเคราะห์เอาไว้เองค่ะ ว่า
คนสมัยก่อนที่ยังไม่รู้จักคำว่าชาตินิยม  เขาจะต่อสู้หรือหาทางแก้ไขปัญหาเมื่อเผชิญศึกสงครามอย่างไร
คิดว่ามี ๓ ทาง
๑)ถ้าเป็นเมืองชายแดน หรือเป็นอาณาจักรที่อยู่ระหว่างเขาวัวเขาควาย  ถูกตีอยู่เป็นประจำไม่ว่าจากทางซ้ายหรือขวา   เขาก็จะ "ท้องถิ่นนิยม" คือรักษาเมืองเอาไว้ไม่ให้บอบช้ำ ด้วยการสวามิภักดิ์กับฝ่ายไหนที่แข็งกว่า  ผ่อนหนักให้เป็นเบา  แล้วก็อยู่ในวัฒนธรรมแบบของเขาต่อไป
แบบนี้จะโอนอ่อนไปทางฝ่ายตรงข้ามได้ง่าย ถ้าฝ่ายที่มีอำนาจเหนือเขาอ่อนแอลง   เขาจะไม่ผูกพันเข้ากับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแน่นแฟ้น ต่อให้กินน้ำสาบานยังไงก็เถอะ
๒)เป็นหมู่บ้านรายทางที่ถูกข้าศึกยกทัพผ่านไปแบบหญ้าแพรกถูกเหยียบเวลาช้างยกฝูงผ่าน   พวกนี้ไม่มีกำลังและอาวุธ    จะเป็นพวก "หนีนิยม" คือถ้าหนีทันจะหนี  การเข้าป่าไม่ใช่เรื่องลำบากเกินไป  เพราะชีวิตประจำวันเขาก็ออกจากบ้านไปหากินในป่าอยู่แล้ว ทำไร่ไถนาเชิงป่า  เก็บของป่ามากิน ยิงสัตว์ป่ามาเอาเนื้อหนังหรือป้องกันตัว  เก็บสมุนไพรในป่ามารักษาตัว   พอทัพผ่านไปแล้วก็ค่อยกลับมาอยู่บ้านกันใหม่   เรื่องขาตินิยมหรือภักดีต่อเมืองหลวง เป็นเรื่องไกลตัว ไม่รู้จะทำไปทำไม
๓)เมืองใหญ่น้อยที่รวมกันเป็นอาณาจักร มีอำนาจศูนย์กลางที่เมืองหลวง  พวกนี้จะ" อาณาจักรนิยม" เพราะทางเมืองหลวงตั้งขุนนางจากส่วนกลางไปปกครอง มีอำนาจสั่งการและถอดถอนเจ้าเมือง แม้แต่ประหารก็ได้
เมื่อเกิดสงครามข้าศึกยกมา   เจ้าเมืองจะรีบส่งใบบอกไปแจ้งเมืองหลวงให้ยกทัพมาช่วย  แล้วตัวเองก็คุมทหารป้องกันเมืองไว้  รอเวลาทัพหลวงมาช่วย   แบบศึกถลาง
แต่ก็มีเหมือนกันที่เจ้าเมืองเลิก "อาณาจักรนิยม" เอาดื้อๆ  ถ้าศูนย์กลางอำนาจที่เมืองหลวงอ่อนแอลง หรือข้าศึกมีกำลังมาก  ขืนสู้ก็ยับเยินเปล่า   พวกนี้ก็จะย้อนไปเป็น "ท้องถิ่นนิยม" คือยอมแพ้   หรือไม่ก็หาทางเอาตัวรอดอย่างใดอย่างหนึ่ง
หัวเมืองต่างๆของอาณาจักรอยุธยาทำแบบนี้ตอนใกล้เสียกรุงครั้งที่ ๒  พระยาพิษณุโลกเป็นตัวอย่าง
เจ้าเมืองบางเมืองก็แพ้หลังรบกันแล้วสู้ไม่ไหว บางเมืองก็ชิงขอแพ้เสียก่อนจะได้รักษาหัวไม่ให้ขาดและรักษาเมืองไม่ให้ถูกถล่ม  เสียแค่เสบียงอาวุธเงินทอง กับเสียผู้หญิงไปบ้าง  ผู้หญิงสมัยนั้นก็ถือเป็นทรัพย์สินของชายอยู่แล้ว

ถ้านายบ้านม้าพยศจะทำตามแบบที่ ๑ หรือ ๒ ดิฉันก็ว่าไม่แปลกนะคะ  ถ้าดิฉันเป็นชาวบ้านก็คงทำเหมือนกัน
แต่ถ้าเป็นพระยาพยศอาชาเจ้าเมืองใหญ่  ก็ควรทำแบบที่ ๓   ถ้าดิฉันเป็นคุณป้าเจ้าเมืองอยู่ในนั้นก็คงเจริญรอยตามคุณท้าวท่านดังๆในประวัติศาสตร์ ออกไปสู้ด้วยอีกคน

อย่างชาวบ้านบางระจัน อยู่ในแบบที่ ๒ แต่เลือกที่จะทำแบบที่ ๓    เพราะเคยตีพม่าแตกพ่ายไปได้ในตอนแรก   ต่อมามีผู้คนจากที่อื่นเข้ามารวมกำลังด้วย  จึงเกิดฮึกเหิมที่จะต่อสู้แบบป้องกันตัว และต้านทานพม่าโดยหวังกำลังช่วยจากเมืองหลวง  แบบเจ้าเมืองพึงได้รับ
แต่พระเจ้าเอกทัศต่างหากทรง "เบรค" หมู่บ้านบางระจันเอาไว้แค่ในระดับหมู่บ้าน ไม่ให้ขึ้นถึงระดับเมือง ด้วยการไม่ส่งปืนใหญ่ไปให้  การส่งกำลังก็ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย

ถ้าหากว่าศูนย์กลางที่อยุธยาแข็งกว่านี้  มีกษัตริย์ที่วางยุทธวิธีการรบแบบร. ๑   คือสกัดพม่าก่อนเข้าถึงเมืองหลวง ด้วยการยกทัพออกไปช่วยบางระจันรบ   แล้วในที่สุดพม่าถอยไปได้แบบสงคราม ๙ ทัพ
นายจันหนวดเขี้ยว และนายอื่นๆ อาจจะกลายเป็นพระหรือพระยาเจ้าเมืองและกรมการเมืองระจันไปแล้วก็ได้ค่ะ

เรื่องพระเจ้าตากและรัชกาลที่ ๑ นั้น ดิฉันถือว่าเป็นการผลัดเปลี่ยนอำนาจ เมื่ออำนาจเก่าถึงเวลาร่วงโรยจนหล่น     อำนาจใหม่ย่อมผลิบานขึ้นมาแทนที่    

ไม่ว่าพระเจ้าตากท่านจะเสียพระจริตจริงตามที่พงศาวดารเล่า หรือว่าเป็นเพียงอาการเครียดตามที่อ.นิธิวิเคราะห์  แต่มันก็ชี้ตรงกันถึงความเสื่อมในอำนาจของพระองค์ท่าน ที่ไม่สามารถประคองความเป็นศูนย์รวมไว้ได้อย่างเมื่อเริ่มกอบกู้บ้านเมือง

ถ้าเจ้าพระยาจักรีไม่ได้อำนาจนี้ไป  ขุนนางอื่นก็ได้  พระราชโอรสองค์ใดองค์หนึ่งอาจจะได้   ขึ้นกับว่าใครมีอำนาจกล้าแข็งที่สุด

ในสมัยนั้นไม่มีคำว่าประชาธิปไตย หรือธรรมธิไตย  มีแต่ว่าใครแข็งที่สุดคนนั้นเป็นผู้นำ    ถ้าพม่าแข็งกว่าไทยพม่าก็นำไทย  ถ้าไทยแข็งกว่าต้านทานได้ ก็นำคนไทยด้วยกันได้  เป็นเหตุผลในตัวของมันเองอยู่แล้ว

ถ้าเราเอาศีลธรรมเข้าไปจับ  เราจะได้คำตอบอีกแบบหนึ่ง  แต่คำตอบนั้นแก้ปัญหาในยุคนั้นได้มากน้อยแค่ไหนน่าจะวิเคราะห์ต่อไปถึงขั้นนั้น
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.051 วินาที กับ 19 คำสั่ง