เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 7957 เลิศเลอวงศา...โรมานอฟ ตอนสอง
WIWANDA
บุคคลทั่วไป
 เมื่อ 07 ต.ค. 08, 23:26

การไปรัสเซียครั้งนี้ มิตรภาพระหว่างเด็กสาวและหนุ่มน้อยรัชทายาทเริ่มมีความชิดเชื้อเพิ่มขึ้น ทั้งคู่คุยกันถูกคอ เป็นคู่ขาเล่นสเก็ตที่มีฝีมือพอกัน สัญญาณบางประการเริ่มฉายแววที่ทำให้ทุกคนในรัสเซียเริ่มประหวั่นใจ

เอลล่าพาอลิกซ์และครอบครัวออกงานพร้อมพาไปแนะนำให้บรรดาญาติฝ่ายสามีได้รู้จัก ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าเมื่อเทียบเจ้าหญิงจากแคว้นเล็กๆกับเหล่าบรรดาพระราชวงค์ในรัสเซียที่โปะเครื่องเพชรขนาดมหึมาทั้งยามหลับยามตื่นนั้น อลิกซ์ได้ดูซอมซ่อไปอย่างช่วยไม่ได้ นอกเหนือจากนั้นทุกคนลงความเห็นพ้องต้องกันว่าอลิกซ์ยังไม่สง่างามเท่าที่ควร รวมทั้งซาร์ และ ซารินา เองที่ดูเหมือนจะมองเธอในด้านลบไปเสียหมดในทุกเรื่อง

ส่วนทางอังกฤษ สมเด็จพระอัยยิกาพระนางวิคตอเรียก็เริ่มเป็นห่วงเช่นกัน พระองค์ได้ทรงมีพระอักษรไปหาอลิกซ์เองและพระประยูรญาติอื่นๆ ในเรื่องที่พระองค์มีพระประสงค์ให้อลิกซ์แต่งงานกับเอ็ดดี้
เมื่อข่าวนี้กระจายไปทั่ว..ทางรัสเซียก็ทราบเช่นกันจากพระนางอเล็กซานดราแห่งเดนมาร์ก(พระราชินีของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่เจ็ด)ผู้ซึ่งเป็นพระภคินีของซารินา
และทางซารินาก็ได้ตอบไปว่า..ถึงแม้ว่าอลิกซ์จะเหมาะสมที่จะเป็นราชินีแห่งอังกฤษในอนาคตก็ตาม
แต่สำหรับในรัสเซียแล้ว อลิกซ์ไม่เหมาะที่จะเป็นคู่ครองของซาเรวิช เพราะไม่เคยมีธรรมเนียมปฏิบัติ
ที่เจ้าหญิงจากแคว้นเล็กๆจะถูกเลือกให้มาเป็นซารินาองค์ต่อไป นอกเหนือๆไปว่าทรงเชื่อว่าอลิกซ์คงไม่มีวันชนะใจประชาชนชาวรัสเซียไปได้

ข้อความนี้ได้ถูกส่งไปให้สมเด้จพระนางวิคตอเรียได้ทอดพระเนตรเพื่อความสบายพระทัยว่า เอ็ดดี้พระนัดดาสุดเลิฟน่าจะไร้คู่แข่งหัวใจ..แถมมีการเพิ่มข้อความไปด้วยว่า ซารินาเองก็ไม่โปรดที่จะเห็นเด็กสองคนสนิทสนมกัน อีกทั้งได้ทรงมอง"ที่หมาย"อื่นไว้ให้กับ
ซาเรวิชแล้ว..นั่นคือ เฮเลนแห่งฝรั่งเศส

ระหว่างที่ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายกำลังเป็นกังวลอยู่นั้น อลิกซ์และซาเรวิชกลับยังสนุกสนานร่าเริงด้วยกัน
ด้วยการแอบสนับสนุนรู้เห็นเป็นใจของเอลล่าและเซอเก

นั่นคือบ่อเกิดแห่งความรักของคนทั้งสอง เป็นความรักที่แน่นแฟ้นและมั่นคงเพราะมันเกิดขึ้นมาบนท่ามกลางของความขัดแย้งด้วยเหตุผลของผู้ใหญ่ที่มีมากมายนานานับประการ

บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 10 ต.ค. 08, 11:40

       ท่องเน็ทเห็นบทความเก่าเล่าเรื่องความสัมพันธ์ไทยกับรัสเซียจากนสพ.ไทยรัฐ
ขอตัดต่อนำมาลงในกระทู้นี้ครับ

  รัสเซียเคยช่วยไทยให้พ้นเงื้อมมือหมาป่า

นิติภูมิ นวรัตน์

       ไปงานนิทรรศการการบินไทย ซึ่งจัดที่ชั้น G อาคาร เซ็นทรัลเวิลด์ทาวเวอร์ ได้รับหนังสือแจกฟรี
A Passage to Russia มีชื่อเป็นภาษาไทยว่า “จากเพนียดคล้องช้างถึงรัสเซีย สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน”
อ่านแล้วประทับใจมาก มากจนอยากนำมาเขียนใหม่ เพื่อขยายความรับใช้ผู้อ่าน

       สำหรับประชาชนคนรัสเซียในสมัยก่อน ถือว่าสยามเป็นประเทศที่ลี้ลับซับซ้อน รัฐบาลรัสเซียต้องการสำรวจ
ดินแดนแห่งนี้ จึงมีคำสั่งให้เรือสัญชาติรัสเซียจากไซบีเรีย 2 ลำ คือ เรือไกดาม้ากและเรือลาดตระเวนโนวิก เดินทาง
ออกมาสำรวจ และ ได้มาทอดสมอที่แม่นํ้าเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2406 ผู้บัญชาการเรือในครั้งนั้น
ชื่อ พลเรือโท อเล็กเซ เปสชูรอฟ

       บันทึกของเปสชูรอฟเกี่ยวกับประเทศสยามนั้นมีว่า
      “ชาวสยามเป็นคนขยันหมั่นเพียร และมีจิตใจโอบอ้อมอารี มีความปรารถนาดีต่อชาวต่างชาติ ทั้งๆ ที่ชาวต่างชาติบางพวก
ไม่ยำเกรงรัฐบาลไทยเลยก็มี แต่รัฐบาลไทยเองกลับพยายามที่จะรักษาความเข้าใจอันดีงามกับทุกชาติอยู่เสมอ”
ทัศนคติของรัสเซียกลุ่มแรกที่มีต่อสยามนั้นดีมาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จึงทรงให้พวกรัสเซีย
เข้าเฝ้าอย่างใกล้ชิด

        รัชสมัยของรัชกาลที่ 5 รัสเซียก็ส่งคณะนายทหารเรือเข้ามากระชับความสัมพันธ์กันอีกถึง 2 ครั้ง
ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2416 ครั้งที่สอง เมื่อ พ.ศ. 2425 ครั้งที่สองนี่ พลเรือตรีอัสลันเบกอฟได้เข้าร่วมงานเฉลิมฉลองกรุงเทพฯ
ครบ 100 ปีด้วย และได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พบปะสนทนากับพระบรมวงศานุวงศ์ และ
ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มีอำนาจในขณะนั้น
       ความสัมพันธ์ไทยกับรัสเซียในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น ได้รับการยอมรับว่า เป็นความสัมพันธ์ที่ “มีแต่ความชื่นใจไมตรีจิตต่อกัน
เป็นการปูพื้นฐานที่ดีงามเพื่อขยายสายสัมพันธ์ครั้งหน้าของประเทศทั้งสอง”

       ต่อมารัสเซียต้องการขยายแสนยานุภาพมาทางตะวันออก เพื่อเชื่อมโยงดินแดนภายในกับประเทศโพ้นทะเล
รัฐบาลรัสเซียจึงสร้างทางรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรีย ซึ่งเป็นทางรถไฟสายที่ยาวที่สุดในโลก และมีพิธีวางศิลาฤกษ์
ที่เมืองวลาดิวอสต๊อก เมื่อ พ.ศ. 2434 รัฐบาลรัสเซียได้ทูลเชิญมกุฎราชกุมารรัสเซีย ซาร์เรวิช แกรนด์ดุ๊ก นิโคลัส
เป็นองค์ประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์

        ข่าวคราวการเดินทางของเจ้าชายรัชทายาทรัสเซียแพร่กระจายไปทั่วโลก โดยเรือรบหลวงปาเมียด อโชวา
จะพาพระองค์และคณะออกจากรัสเซีย มุ่งไปทางทะเลดำ ผ่านอียิปต์ แวะอินเดีย ก่อนที่จะตัดผ่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เพื่อมุ่งไปยังเมืองวลาดิวอสต๊อก ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทาง

        เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงทราบข่าว ทรงเห็นเป็นโอกาสอันดีที่จะกระชับความสัมพันธ์กับรัสเซีย
ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อจะใช้ความสัมพันธ์อันนี้มาเป็นหลักประกันความมั่นคงของประเทศสยาม เพราะในขณะนั้นสยามเสมือน
เป็นไส้แซนด์วิชที่ถูกขนาบข้างด้วยมหาอำนาจสองชาติของโลก คืออังกฤษและฝรั่งเศส ทั้งสองประเทศนี่ต้องการยึดประเทศสยาม
เป็นเมืองขึ้น เป็นประเทศภัยคุกคามต่อประเทศสยามในสมัยนั้น
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 10 ต.ค. 08, 11:44

       พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงทูลเชิญซาเรวิชอะเลกเซย์เสด็จเยือนสยาม
ระหว่างวันที่ 20-24 มีนาคม พ.ศ.2434 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ได้รับเสด็จพระราชอาคันตุกะชั้นสูง
ที่ถือว่าเป็นตัวแทนรัฐบาลของชาติมหาอำนาจ การต้อนรับเป็นไปอย่างยิ่งใหญ่ จนในสยามสมัยนั้น ใครทำอะไรใหญ่โตหรูหรา
ก็อาจจะถูกผู้คนสัพยอกว่า “ยังกับรับซาร์จากรัสเซีย”

       พระมหากษัตริย์แห่งสยามพระราชทานสายสะพายจักรีแด่ ซาเรวิชอะเลกเซย์ โดยปกติสายสะพายจักรีจะสงวนไว้ให้เฉพาะ
ผู้มีกำเนิดเป็นเจ้านายชั้นสูงของสยาม การพระราชทานครั้งนี้เป็นการประกาศเชิงสัญลักษณ์ ถึงความยินยอมพร้อมใจ
ที่จะให้องค์ซาเรวิชอะเลกเซย์เป็นสมาชิกพระองค์หนึ่งของครอบครัวจักรี

          “สมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์พระมหากษัตริย์แห่งกรุงสยาม ตลอดเหนือและใต้ ตลอดทั้งหัวเมืองประเทศราชทั้งปวง
ขอแต่งตั้งองค์รัชทายาทแห่งราชบัลลังก์รัสเซีย เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์แห่งพระราชวงศ์จักรีของกรุงสยาม ขออำนวยพร
ให้องค์มกุฎราชกุมารจงประสบความสำเร็จสืบไปในภายหน้า ขอให้อำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลโลกจงช่วยปกปักคุ้มครองรักษาพระองค์
และขอให้ประสบแต่ความสุขสวัสดีสืบไป......ให้ไว้ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท บางกอก เป็นวันศุกร์ ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 3 ตรงกับ
วันที่ 20 มีนาคม ค.ศ.1891 หรือปีที่ 23 ในรัชกาลปัจจุบัน”

         การถวายการต้อนรับอย่างอบอุ่นของรัฐบาลไทยในครั้งนั้น ได้ผูกพระทัยซาเรวิชอะเลกเซย์กับชาวสยามเป็นอย่างมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การโคจรมาพบกันของเจ้าชายรัชทายาทจากดินแดนอันหนาวเย็น
และองค์พระประมุขของประเทศที่พระอาทิตย์ทอแสงตลอดปี ก่อให้เกิดมิตรภาพที่ลงตัวในความแตกต่าง
แม้จะมีพระชนมายุแตกต่างห่างกันถึง 15 พรรษา มีบุคลิกที่ต่างห่างกันไปคนละขั้ว เพราะผู้อ่อนวัยกว่าออกจะทรง “ประหม่าและขี้อาย”
ในขณะที่พระพุทธเจ้าหลวงทรงเป็นมิตร ร่าเริง มี “พระสุรเสียงกังวานน่าฟัง” และ “ดวงพระเนตรก็แวววาวด้วยความยินดี”
แต่พระประมุขทั้งสอง “ต่างก็ชอบพอซึ่งกันและกัน จนกลายเป็นความสัมพันธ์ฉันมิตรสนิทแนบแน่นในเวลาต่อมา”

     การเสด็จเยือนสยามครั้งนี้ นับเป็นจุดเริ่มของความสัมพันธ์อันสนิทสนมแน่นแฟ้นเป็นพิเศษระหว่างพระราชวงศ์ ทั้งสอง คือ
ราชวงศ์จักรีกับราชวงศ์โรมานอฟ และได้กลายเป็นแกนกลาง ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งสองต่อมาเป็นเวลานานกว่า 20 ปี
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 10 ต.ค. 08, 11:47

        กาลนั้น สยามมีภัยคุกคามคือฝรั่งเศสและอังกฤษ เราเริ่มเสียดินแดนให้ฝรั่งเศสตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 4
โดยเสียดินแดนเขมรส่วนนอกเมื่อ พ.ศ.2410 เสียดินแดนแคว้นสิบสองจุไท เมื่อ พ.ศ.2431 หลังผลัดแผ่นดินแล้ว

         วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 หรือ พ.ศ.2436 ฝรั่งเศสก็ปล้นดินแดนทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงและเกาะแก่งต่างๆ
ตั้งแต่ภาคเหนือของลาวไปจนจดพรมแดนเขมรอีก พระพุทธเจ้าหลวงทรงพระประชวรหนักถึงขั้นหยุดเสวยพระโอสถ

         หลังจากผ่านพ้นการพระประชวร พระองค์ทรงตระหนักว่า ถ้าจะหลีกเลี่ยงความสูญเสียจากนโยบายที่ก้าวร้าว
ของอังกฤษและฝรั่งเศส จำเป็นต้องดำเนินกลยุทธ์ทางการทูตและสร้างความเข้าใจอันดีกับมหาอำนาจต้นตอของปัญหา
พระองค์จึงทรงมีแผนการจะเสด็จประพาสยุโรป

        การเสด็จครั้งนี้ นับเป็นโอกาสอันดีที่พระองค์จะทรงแวะเยี่ยมเยือน “คนคุ้นเคย” ที่บัดนี้ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชย์
เป็นพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ของรัสเซียแล้ว

         หมายกำหนดการเสด็จประพาสครั้งนี้กินระยะเวลา 9 เดือน เมื่อถึงวันพระฤกษ์ 7 เมษายน พ.ศ.2440
เรือพระที่นั่งมหาจักรีก็ออกเดินทางจากปากแม่น้ำสมุทรปราการ เข้าไปในมหาสมุทรอินเดีย เสด็จขึ้นบกครั้งแรกที่เมืองเวนิส
ประเทศอิตาลี หลังจากที่ได้เสด็จไปเยี่ยมเยียนราชสำนักต่างๆ ในทวีปยุโรปตามรายทางแล้ว ในที่สุด ก็เสด็จพระราชดำเนิน
เข้าเขตประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2440

       ในการพบกันอีกครั้งซึ่งต่างพระองค์ทรงดำรงพระอิสริยยศ เสมอกันในฐานะพระประมุขเป็นครั้งแรกนี้
ทั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และซาร์นิโคลัสที่ 2 ต่างก็ถวายพระเกียรติสูงสุดแก่กัน และแสดงให้เห็นถึง
ความสนิทสนมระหว่างสองราชวงศ์ ที่มีต่อกันมาก่อนหน้าการเสด็จประพาสครั้งนี้แล้ว พระเจ้าอยู่หัวสยามทรงเครื่องเต็มยศ
อย่างจอมพลประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์เซนต์แอนดรูว์ ส่วนพระประมุขรัสเซียก็ทรงเครื่องเต็มยศ ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์
มหาจักรีบรมราชวงศ์
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 10 ต.ค. 08, 11:50

      แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทย-รัสเซียจะเริ่มต้นมานานแล้ว แต่ถือเอาวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2440
เป็นวันแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ไทย-รัสเซียอย่างเป็นทางการ เพราะเป็นวันที่พระเจ้าแผ่นดินสยามเหยียบย่าง
เข้าสู่แผ่นดินรัสเซียอย่างแท้จริง
       ยามค่ำของ “คืนไวท์ไนต์” กลางฤดูร้อน เมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว ในระดับความสูงของเส้นอาร์กติกที่พระอาทิตย์จะส่องแสง
ตลอดทั้งวันและคืน พระเจ้ากรุงสยามพร้อมข้าราชบริพารก็เสด็จพระราชดำเนินมาถึงกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก โดยมี
พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 เสด็จฯ มาทรงรับถึงสถานีรถไฟ และได้ทูลเชิญให้ประทับที่พระราชวังฤดูร้อน พระราชวังนอกเมือง
ที่คนรัสเซียเรียกกันว่า “ปีเตอร์-ฮอฟ”

       สิบกว่าวันในอาณาจักรรัสเซียอันยิ่งใหญ่ มิได้จำกัดการประทับอยู่เพียงในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ระหว่างวันที่ 7-9 กรกฎาคม พ.ศ.2440
รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จเยือนนครมอสโก เมืองหลวงเก่า โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ซึ่งในขณะนั้น
ทรงศึกษาอยู่ที่อังกฤษ และพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ได้ตามเสด็จมาสมทบ และได้เข้าเฝ้าซาร์นิโคลัสที่ 2
และพระราชวงศ์ หลังจากที่คณะเสด็จย้อนกลับไป ยังกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กอีกครั้ง

       ความเดือดเนื้อร้อนใจจากหมาป่าฝรั่งเศส และอังกฤษทำให้สยามหันไปคบรัสเซียซึ่งเป็นมหาอำนาจที่ไม่มีพิษมีภัย
เพียงประเทศเดียวในสมัยนั้น หลังจากเสด็จเยือนรัสเซียและเสด็จนิวัตพระนครแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
ก็ทรงส่งทูลกระหม่อมเล็กหรือสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ พระราชโอรส ไปเรียนที่ประเทศรัสเซีย
พร้อมกับนายพุ่ม นักเรียนสยามอีกคนหนึ่ง ภายหลังก็ทรงแต่งตั้งพระยามหิบาลบริรักษ์ (นายสวัสดิ์ ภูมิรัตน์) ไปเป็นอัครราชทูตสยามคนแรก
ณ กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมื่อ พ.ศ.2442

      ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับรัสเซีย ทำให้อังกฤษและฝรั่งเศสไม่กล้ารังแกสยามอีกต่อไป พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ก็ทรงมี
พระราชสาส์นไปขู่ไม่ให้ใครมายุ่งกับสยาม ซึ่งเป็นประเทศของลูกเลี้ยงของพระองค์ แต่ภายหลังรัสเซียเกิดปฏิวัติเมื่อ 23-27 เดือนกุมภาพันธ์
พ.ศ.2459 (ตามปฏิทินของยุโรปตะวันตกคือวันที่ 8-12 มีนาคม) ทำให้ผู้นำมหาอำนาจมหามิตรเพียงพระองค์เดียวของเรา
คือ พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 หมดอำนาจ ราชวงศ์โรมานอฟ ที่ปกครองรัสเซียมานานกว่า 300 ปี ก็ต้องล้มราชวงศ์ไป

 
และจาก สี่แผ่นดิน แผ่นดินที่ ๑ บทที่ ๓

        ศัพท์แสงที่ใช้กันในวัง ซึ่งคนข้างนอกไม่รู้พลอยก็เข้าใจ และใช้ได้ถูกต้อง เป็นต้นว่ามีงานการอย่างใหญ่ ต้องตระเตรียมมาก
ก็มักจะพูดกันว่า "ราวกับรับซาเรวิช" ซึ่งพลอยก็เข้าใจว่าเป็นงานใหญ่ โดยไม่ต้องรู้ว่า "ซาเรวิช" นั้นคือ พระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ ๒
เมื่อเสด็จเมืองไทย สมัยเป็นมกุฏราชกุมารประเทศรุสเซีย ทางวังเตรียมรับเสด็จกันเป็นการใหญ่ จนกลายเป็นคำพูดติดปาก
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.09 วินาที กับ 19 คำสั่ง