เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6
  พิมพ์  
อ่าน: 23670 รักประทับใจ หาได้จากในเน็ท
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 10 ก.ย. 08, 11:51

           วินสตัน เชอร์ชิลล์ ได้เสนอความเห็นให้ท่านดยุคออกไปปฏิบัติการต่างพระเนตรพระกรรณในตำแหน่ง
อุปราชแห่งหมู่เกาะบาฮามัส คาริบเบียน แต่..ข้อเสนอนี้ถูกระงับไปด้วยความไม่ต้องพระประสงค์ของสมเด็จพระราชินี
ที่ทรงเล็งเห็นว่าตำแหน่งอุปราช นั้นยัง"หรูเกิน" สำหรับครอบครัวนี้  เพราะนั่นเท่ากับว่า เป็นการยกฐานะของหม่อมวอลลิส
ให้สูงขึ้นไปกว่าเดิม พระองค์ต้องการให้คนทั้งคู่หลุดโผไปจากฐานันดรอย่างไม่มีวันผุดวันเกิด และเท่านั้นไม่พอ..
พระองค์ได้ส่งจดหมายไปยัง ลอร์ด ลอยด์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศด้วยข้อความว่า..
         "ในความเห็นที่รัฐบาลจะยกตำแหน่งอุปราชแแห่งบาฮามัส ให้ท่านดยุค ออฟ วินเซอร์นั้น ฉันว่ามันออกจะดีเกินไป
สำหรับที่นังผู้หญิง ที่มีผัวถึงสามคนจะขึ้นมาเป็นชายาแห่งพระอุปราช..เธอมีความคิดเห็นว่าอย่างไร มันไม่กลายเป็น
การยกย่องกันมากไปหน่อยหรือ?"
        ท่านเซอร์ วอลเตอร์ มอนค์ตัน เสนาบดีฝ่ายอาลักษณ์ได้บันทึกเหตุการณ์ตรงนี้ไว้ว่า
         "เราคิดว่าสมเด็จพระราชินีไม่ทรงต้องการให้ท่านดยุคได้มีโอกาสที่จะกลับมาครองใจประชาชนได้อีกต่อไป และ
พระองค์เฝ้าจ้องติดตามการเคลื่อนไหวในแทบทุกขณะจิต เพราะท่านดยุคเป็นคนที่มีเสน่ห์แพรวพราว บุคลิคภาพยอดเยี่ยม
เหนือบุรุษใดๆ อันอาจจะให้เป็นข้อเปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนในระหว่างสองพี่น้อง ในขณะที่พระเจ้าแผ่นดินของเรานั้น
"ด้อย"กว่าในทุกทาง"
   
          แต่อย่างไรก็ตาม..ตำแหน่งอุปราชแห่งบาฮามัสได้ตกอยู่ในมือของดยุคจนได้..ด้วยเหตุผลทางการเมือง
ที่สำคัญเหนืออื่นใด.. แต่สมเด็จพระราชินีก็ไม่ได้ทรงลดลาวาศอกเช่นเดียวกัน
            พระองค์ได้ทรงประกาศกฏเกณฑ์ในการทำความเคารพ ท่านดยุค และดัชเชส ออฟ วินเซอร์
(หรือ ที่จะเรียกว่า หม่อมวอลลิสในการเขียนถึงต่อไป.. เพื่อไม่ให้เป็นการสับสน) ว่า สำหรับท่านดยุคยังคงดำรง
ฐานะเฉกเช่นเดียวกับพระเจ้าบรมวงค์เธอ และใช้ราชาศัพท์ รวมทั้งการต้องได้รับความเคารพอย่างถูกต้อง
ทั้งการคำนับ และการถอนสายบัว
           แต่สำหรับ..หม่อม แล้ว..ทุกอย่างไม่ต้องปฏิบัติ ไม่ต้องใช้ราชาศัพท์  แค่..คำว่า..Your Grace
ก็เพียงพอ หม่อมวอลลิส..ถูกเรียกโดยพระเจ้าอยู่หัวว่า..นางซิมปสัน แต่สำหรับพระราชินีแล้ว..เธอถูกเรียกว่า "นางคนนั้น"

--เพิ่มเติมครับ นอกจากนี้ยังตรัสถึงดัชเชสว่า the "lowest of the low" ด้วย -- 

          ทันทีที่ข้อความนี้แพร่หลายออกไป..ท่านดยุคได้ส่งจดหมายต่อว่ามาทางเชอชิลล์ทันทีว่า..
          "ฉันต่อต้านความเห็นของพระเจ้าอยู่หัวในเรื่องการปฏิบัติต่อเมียฉัน..เอ..หรืออาจจะเป็นความเห็น
ของสมเด็จพระราชินีกระมัง.. ฉันเชื่อว่า ถ้าใครมาจ้องจงเกลียดจงชังเมียของเธอบ้าง เธอก็คงไม่อยาก
จะเป็นญาติดีกับพวกเขาเหมือนอย่างที่ฉันกำลังรู้สึกอยู่.."
          และผลสะท้อนนั้นก็คือ เป็นการประกาศให้คนนอกได้รู้ด้วยว่า..หม่อมวอลลิส..เป็นที่รังเกียจต่อพระราชวงค์
ดังนั้น..ไม่ว่าหม่อมจะย่างกรายไปไหน ผู้คนต่างแสดงความรังเกียจตามไปด้วยจนออกนอกหน้าไปบางครั้ง

            หลายสิบปีต่อมา..ยามที่มีนักข่าวไปสัมภาษณ์ท่านดยุคถึงเรื่องการไม่ลงรอยระหว่างพระองค์และสมเด็จพระราชินี..
ว่าเป็นเพราะเหตุใด ท่านดยุคตอบได้อย่างทันควันว่า..
         "ก็จะมีอะไร..นอกจากอิจฉาจนตัวสั่นละซิ หรือจะพูดให้สุภาพนะ หล่อนน่ะอยากจะแต่งงานกับฉันจะตาย" 
ข้อความนี้ได้ประทานให้สัมภาษณ์ก่อนที่ท่านดยุคจะสิ้นพระชนม์ไปไม่นาน

            และทุกครั้งที่มีข่าวบันทึกเป็นภาพยนตร์ออกมาฉาย..ฟ้องให้เห็นว่า..หม่อมวอลลิสเดินทางอย่างหรูหรา
ไปยังที่โน่นที่นี่ด้วยเรือสำราญ ในมือถือกระเป๋าแอร์เมส ในขณะที่ภาวะของประเทศกำลังคับขันไปด้วยสงคราม
ประชาชนต้องใช้บัตรปันส่วนอาหาร แต่...หม่อมยังเจิดจ้าไปด้วยประกายของเข็ดกลัดมรกตที่เม็ดโตเท่าใข่ไก่
รวมทั้งเสื้อคลุมขนสัตว์ผืนโตขนาดเอามาทำพรมปูห้องได้ ทั้งที่ประชาชนชาวอังกฤษแร้นแค้นแทบจะไม่มีเสื้อผ้าใส่
            เท่านั้นไม่พอ..ข่าวว่า..หม่อมต้องใช้เครื่องบินเฟิร์ส คลาส บินไปมาระหว่าง บาฮามัส กับ นิวยอร์ค
เพื่อไปทำผม เล่นเอาพระราชินีแทบจะประชวรพระวาโย..!!   
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 10 ก.ย. 08, 14:22

เล่าต่อจากคุณ WIWANDA ครับ
 
         หลายฝ่ายต่างเชื่อว่า ท่านดยุคและโดยเฉพาะอย่างยิ่งดัชเชสนั้นนิยมในระบบฟาสซิสม บ้างเชื่อว่า
หากฮิทเลอร์มีชัยพระองค์ก็จะได้กลับมาครองอังกฤษในระบบฟาสซิสม
         ท่านดยุคเคยส่งโทรเลขถึงฮิทเลอร์อย่างน้อยหนึ่งฉบับ มีข้อความว่า

           "my entirely personal, simple though very earnest appeal for your utmost
influence towards a peaceful solution of the present problems".

         นอกจากนี้ยังมีผู้กล่าวถึงความสัมพันธ์ทางชู้สาวของดัชเชสกับทูตเยอรมันประจำอังกฤษ เท่านั้นไม่พอ
ยังมีอีกหนึ่งข้อหาว่าดัชเชสนำข้อมูลที่เป็นความลับของทางการไปมอบให้ด้วย
         หลังสงครามโลก ท่านดยุคยอมรับว่า ท่านนิยมเยอรมัน แต่ปฏิเสธว่า ท่านไม่ได้โปร-นาซี
         จากบาฮามาส ทั้งสองเดินทางกลับไปฝรั่งเศสและใช้ชีวิตแบบการพักผ่อนในวัยเกษียณ ท่านไม่รับตำแหน่ง
ทางการใดๆ อีกเลย ทรงมีเงินรายได้มาจากรัฐบาลและการค้าเงินนอกกฎหมาย และรายได้จากหนังสือบันทึกความทรงจำ
ของท่านชื่อ A King's Story ในปี 1951 ในขณะที่ดัชเชสก็มีหนังสือเรื่อง The Heart Has Its Reasons
ในปี 1956
         ทั้งสองยังมีบทบาทเป็นดั่งเซเล็บออกงานสังคมในช่วงทศวรรษ 1950-1960 ออกรายการทีวี และได้รับเชิญ
เป็นแขกเกียรติยศของทำเนียบขาวเป็นการตอบแทนเมื่อคราวที่ให้การต้อนรับประธานาธิบดีนิกสันเยือนกรุงปารีส
ในช่วงกลางทศวรรษ 1960
         แต่ภายในราชวงศ์แล้ว ยังคงไม่ให้การยอมรับดัชเชช ควีนแมรี่ทรงปฏิเสธที่จะให้เธอเข้าเฝ้าอย่างเป็นทางการด้วย
ไม่พอพระทัยการสละบัลลังก์ของพระโอรสเพื่อที่จะได้แต่งงานดังที่ทรงกล่าวไว้ว่า
            "To give up all this for that".
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 10 ก.ย. 08, 14:34

        ในปี 1952 พระบิดาสวรรคต ท่านดยุคเสด็จกลับเกาะอังกฤษเพื่อร่วมงานพระราชพิธีเพียงลำพัง
ท่านยังได้เสด็จมาเพื่อร่วมงานพระศพอีก ในปี 1952 เมื่อพระเจ้ายอร์ชที่หกสวรรคต(พระอนุชาซึ่งครองราชย์ต่อจากพระองค์)
และงานพระศพพระมารดา ในปี 1953       
   
        ทศวรรษ 1950 นี้เป็นช่วงแห่งวิกฤตชีวิตสมรสของคู่วินเซอร์ด้วย เมื่อมีหนุ่มน้อย Jimmy Donahue
เข้ามาเป็นบุคคลที่สาม
          เขาผู้นี้มีคุณสมบัติครบถ้วนแห่งการเป็นบุคคลที่น่าคบหาของท่านดยุคและดัชเชส นั่นคือ รูปงาม
โดดเด่นในวงสังคม และร่ำรวย ข้อหลังนี้สำคัญมากเพราะหมายถึงการเป็นสปอนเซอร์สำหรับค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิต
อย่างหรูหราของท่านดยุค
          ทั้งสามคบหากันกลายเป็น "สามคนชำรุด" - dysfuctional trio มีแม่ของจิมมี่คอยชำระบิลล์ และออกเงิน
จัดปาร์ตี้ให้ ท่านดยุคยอมเปิดโอกาสให้หนุ่มน้อยได้คบหากับดัชเชสอย่างสนิทสนมจนมีทีท่าว่าจะเกินเลยความสัมพันธ์
ในระดับเพื่อนต่างเพศ ต่างวัย จนทั้งสองวินเซอร์เกือบจะหย่าจากกัน
          แต่ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้การหย่าไม่เกิดขึ้น และความสัมพันธ์ของทั้งสามไปไม่รอดก็คือ
จิมมี่นั้นเป็นรักร่วมเพศ ผู้ชอบเล่นตลกร้ายกับผู้คนอย่างห่ามและทะลึ่งโดยไม่ความเกรงใจหรือเกรงใคร
       
         ในที่สุดเรื่องความสัมพันธ์สามคนที่ยาวนานอยู่หลายปีก็จบลงเมื่อหนุ่มน้อยจิมมี่แสดงกิริยาไม่เหมาะสม
ด้วยการแสดงทีท่าดูถูกคู่วินเซอร์ต่อหน้าผู้คน
           คืนหนึ่งเมื่อจิมมี่ดื่มจนเมามาย เขาได้เตะดัชเชสที่หน้าแข้งจนถึงกับเป็นแผลเลือดออก ท่านดยุคพิโรธจัด
จึงไล่จิมมี่ออกไปจากห้องและจากชีวิตของทั้งสองทันที     
               
ปกหนังสือ Dancing with the Devil: the Windsors and Jimmy Donahue 


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 11 ก.ย. 08, 10:44

        ช่วงปลายทศวรรษที่ 1960 สุขภาพของท่านดยุคทรุดเสื่อมลง ในปี 1965 ท่านดยุคได้เข้า
รับการผ่าตัดพระเนตรในโรงพยาบาล King Edward VII กรุงลอนดอน ทำให้ไม่สามารถร่วมในรัฐพิธีศพ
ของสหายรัก - เซอร์วินสตัน เชอร์ชิลได้
          เดือนพ.ค. 1972 ควีนอลิซเบธ(องค์ปัจจุบัน) ประพาสฝรั่งเศสและได้เสด็จมาเยี่ยมท่านดยุค
ณ ที่ประทับในกรุงปารีส พร้อมด้วยพระสวามีและเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ และได้ทรงสนทนากับ "ลุงเดวิด"
ผู้มีสุขภาพทรุดโทรมโดยลำพังเป็นเวลา 15 นาที
        วันที่ 28 พ.ค. 1972 ท่านดยุคสิ้นชีพเนื่องจากป่วยด้วยโรคมะเร็งหลอดคอ อันเป็นผลจากการสูบบุหรี่
เป็นเวลานาน ณ ที่ประทับในกรุงปารีส พระศพได้ถูกอัญเชิญกลับอังกฤษและเก็บไว้ที่ St George's Chapel แล้ว
นำมาฝังไว้ข้างพระอนุชาดยุคแห่งเคนท์ ด้านหลังต่อที่ฝังพระศพควีนวิคทอเรีย และเจ้าชายอัลเบิร์ท ณ สุสานหลวง
Royal Burial Ground ที่ Frogmore พิธีศพจัดขึ้นโดยมีควีนและพระราชวงศ์เสด็จมาร่วม ตัวดัชเชสนั้น
ได้พักที่พระราชวังบัคกิงแฮมในช่วงพิธีนี้
   
        ดัชเชสใช้ชีวิตช่วงต่อมาอยู่ตัวคนเดียว ด้วยทรัพย์สมบัติของท่านดยุคและเงินพระราชทานจากพระราชินี
ด้วยวัยที่ร่วงโรยและสุขภาพที่เสื่อมลง  14 ปีต่อมาดัชเชชซึ่งใช้ชีวิตในช่วงสุดท้ายอยู่แต่บนเตียงก็ถึงแก่กรรมลง
ร่างของนางได้ถูกฝังไว้เคียงข้างท่านดยุค โดยจารึกนามว่า Wallis, Duchess of Windsor
        ทรัพย์สมบัติส่วนใหญ่ของเธอดดยเฉพาะเครื่องประดับเพชรพลอยได้ถูกนำออกประมูลแล้วมอบรายได้
ให้แก่สถาบันปาสเตอร์ ของเก่าพวกเครื่องใช้ ของตกแต่งบ้านมอบให้รัฐบาลฝรั่งเศส - ประเทศที่ให้ที่พักพิงจวบจน
วาระสุดท้าย


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 11 ก.ย. 08, 10:46

--- อาจารย์เทาชมพูเล่าเรื่องเมื่อควีนอลิซาเบธและเจ้าฟ้าชายชารลส์เสด็จฝรั่งเศส

        มาถึงปี 1972 คือปีที่แสนบังเอิญ..ที่สมเด็จได้ทรงประพาสประเทศฝรั่งเศสห้าวันตามคำเชิญของรัฐบาล
และในโอกาสเดียวกันนั้น คืออาการร่อแร่ของท่านดยุค ออฟ วินด์เซอร์ วัย เจ็ดสิบเจ็ด
       ที่ทรงตัดสินพระทัยที่จะเสด็จเข้าเยี่ยมเยียน พระปิตุลา เนื่องจากว่า แพทย์ประจำตัวของท่านดยุค
ได้ส่งรายงานไปกราบบังคมทูลให้ทรงทราบว่า
        "คราวนี้ เห็นทีจะไม่รอดพะยะค่ะ" ซึ่งวันต่อมา..ท่านทูตอังกฤษ นาย นิโคลาส โซเมส รีบติดต่อแพทย์
เจ้าของรายงานด่วนว่า..
       "ฟังนะ คุณหมอ คุณจะทำอะไรก็เป็นเรื่องของคุณ แต่..ท่านดยุคจะต้องตายก่อน หรือ ตายหลังจาก
ที่ได้เสด็จเยือนฝรั่งเศสแล้ว.. ไม่ใช่ในช่วงระหว่าง..เข้าใจไหม?"

        การเสด็จฝรั่งเศสครั้งนี้ เจ้าฟ้าชายชารลส์ได้โดยเสด็จไปด้วย และได้เข้าทำความเคารพต่อพระอัยกา
ถึงที่บ้านพักตำบล Bois de Boulogne ชานกรุงปารีส ที่นั่น พระองค์ได้ทรงพบกับพระญาติที่มิเคยได้ทรงรู้จัก
มาก่อน เขาคือชายชราที่มีสภาพทรุดโทรมไปด้วยอาการของมะเร็งในปอดระยะสุดท้าย

-คุณวิวันดาได้เล่าถึงเจ้าฟ้าชายชารลส์เมื่อยังทรงพระเยาว์เป็นนักเรียนกับวิชาประวัติศาสตร์ว่า

       เรื่องประวัติศาสตร์นี้ เจ้าฟ้าชายชารลส์ได้ทรงสร้างความตื่นตะลึงให้กับโรงเรียนอย่างเป็นประวัติศาสตร์จริงๆ
กล่าวคือ ไม่เคยทรงรู้มาก่อนว่า..
       ครั้งหนึ่งของบัลลังค์วินเซอร์ได้มี ปริ้นซ์ ออฟ เวลส์ ที่ต่อมาคือ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่แปด และได้สละราชสมบัติ
จนมาเป็น ดยุค ออฟ วินด์เซอร์ ... -
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 11 ก.ย. 08, 10:48

           ชายชราคนนั้นพยายามยันกายลุกขึ้นเพื่อมายืนถวายความเคารพ..ก่อนที่จะสิ้นใจไปในเวลาไม่กี่วันต่อมา..
ภาพที่ทรงเห็น..ทำให้เจ้าฟ้าชายถึงกับสงสารพระอัยกาผู้อาภัพคนนี้นักหนา..
      หม่อมวอลลิส สะใภ้จงชังของวินด์เซอร์ขนานแท้และดั้งเดิมนั้น ได้รู้สึกตัวทันทีว่า สมเด็จพระราชินีนั้น ทรงชาเย็น
อย่างเหลือเชื่อ และ พอเข้าใจในการเสด็จเยี่ยมในครั้งนี้ว่าเป็นการเมืองมากกว่าการมีแก่ใจที่จะอยากเสด็จมาเอง..
      เจ้าฟ้าชายชารลส์ ก็รู้สึกสงสารหม่อมสุดหัวใจเช่นกัน ที่ต้องโดนการกีดกันสารพัดมาตลอดชีวิต ถึงกับเสนอว่า
จะทรงไปรับที่สนามบินยามที่หม่อมไปร่วมในพิธีพระศพของท่านดยุค
        แต่..ข้อเสนอนี้"ไม่ผ่าน"ความเห็นชอบจากรัฐสภา ที่ลงมติว่า เป็นการไม่สมควรที่เจ้าฟ้าชายมกุฏราชกุมาร
จะต้องเสด็จไปรับหญิงม่ายสามัญชน.. และมตินี้..เจ้าฟ้าชายทรงทรงทราบซึ้งในพระทัยเป็นอย่างดีว่า...มาจากใคร
ถ้าไม่ใช่จากควีนมัม พระอัยยิกาเจ้า..
       ผู้ที่ต้องเสนอตัวไปรับแทน..นั่นคือ ท่านลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบตเทน
และในพิธีพระศพครั้งนี้ หม่อมวอลลิส ได้รับการอนุญาตให้พำนักในพระราชวังบั๊คกิ้งแฮมได้ แต่..
แค่เฉพาะระหว่างวันงานพิธีเท่านั้น.. ทันทีที่หม่อมวอลลิสได้มาถึง..เข้าพำนักตามที่ได้จัดให้ คณะเดอะ เฟิร์ม ทั้งหมด
ได้ต่างพากันผันผายไปอยู่กันในพระราชวังวินเซอร์จนหมด ปล่อยให้เธออยู่คนเดียวอย่างอ้างว้างในบั๊คกิ้งแฮมนั่นเอง


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 17 ก.ย. 08, 10:20

เกร็ดเรื่องราวของดัชเชส

           เธอเข้มงวดเรื่องความสะอาดถึงขนาดว่าธนบัตรจะต้องใหม่เอี่ยมจากธนาคาร ไม่เช่นนั้นก็ต้องได้รับ
การทำความสะอาดและรีดก่อน

           เธอยังช่างจด ช่างบันทึกลงโน้ตบุ๊คเล่มเล็กๆ เกี่ยวกับไอเดียของงานเลี้ยงมื้อค่ำ รวมทั้งความเห็นต่อบริการ
ที่ได้รับ เช่น ร้อนไป เย็นไป ซิการ์ถูกนำมาให้ผิดเวลา

           อ่อนเรื่องการบ้าน(การวัง) การเมือง ตอนที่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงประกาศสละบัลลังก์ มีคนเล่าว่าเธอได้ทูลถาม
พระองค์ว่า   
                 "But, David, can't you remain Emperor of India even if you are no longer
King of England?"

           เมื่อเธอได้ข่าวการสิ้นพระชนม์ของพระนางแมรี่ (แม่สามีที่แสนจะชังเธอ) เธอร้องไห้น้ำตานองในทันที
เธอได้วางพระรูปของพระนางแมรี่ไว้บนโต๊ะในห้องนอนเสมอมาตราบจนสิ้นชีวิต

           มีข่าวลือใต้ดินว่า ความจริงแล้วเธอเป็นผู้ชาย บ้างว่าเธอเป็นโรค Testicular Feminization
คือโรคที่ทารกชายในครรภ์ ไม่ตอบสนองต่อฮอร์โมนเพศชายที่มากระตุ้นให้ร่างกายมีลักษณะเป็นชาย
เมื่อคลอดออกมาจึงมีลักษณะภายนอกเป็นหญิง ภายในไม่มีมดลูก ไม่มีรังไข่  แต่ยังคงมีลูกอัณฑะซึ่งอาจอยู่ใน
ช่องท้องหรือในแถบบริเวณนั้น

           ท่านดยุคโปรดประทานเครื่องเพชรน้ำหนึ่งให้เธอเสมอ ในพินัยกรรมของพระองค์ระบุว่า เมื่อเธอเสียชีวิตแล้ว
ให้แกะเอาเพชรออก เพราะไม่โปรดที่จะให้ชุดเครื่องเพชรเหล่านี้ถูกนำไปสวมโดยหญิงอื่นที่ไม่ทัดเทียมเธอ
         แต่นี้คือพระประสงค์เดียวที่เธอขัด เพราะในพินัยกรรมของเธอ ๆได้มอบเครื่องเพชรให้นำไปประมูลเพื่อการกุศล
ดังกล่าวแล้ว
 
           ตอนเป็นเด็กทั้งที่ฐานะครอบครัวไม่ดี แต่เธอก็ยังได้รับการสปอยล์อยู่บ้าง มีคำกล่าวอ้างว่าคำแรกที่เธอพูดได้
แทนที่จะเป็น Ma Ma กลับเป็น Me Me

           ทั้งสองไม่มีทายาทด้วยกัน จึงเลี้ยงสุนัข pug หลายตัวเหมือนลูก ๆ ได้กินอาหารดีๆ จากภาชนะทำด้วยเงิน 


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 17 ก.ย. 08, 10:24

            ปีวิกฤตสละบัลลังก์เธอได้รับการกล่าวถึงว่าเป็น the most romantic figure of all times
ในเวลาต่อมาเธอสารภาพกับเพื่อนของเธอว่า
              "You have no idea how hard it is to live out a great romance."

ภาพดัชเชสวาดโดย Drian (Adrian Desire Etienne, 1885-1961) ผู้มีผลงานในยุคแรกส่วนใหญ่เป็น
ภาพแฟชั่นหญิงที่นักวิจารณ์ไม่ปลื้ม ต่อเมื่อเขาเติบใหญ่ ฝีมือได้พัฒนาแก่กล้าขึ้นมาเป็นนักวาดภาพเหมือนบุคคล
ที่มีชีวิตชีวา

หนึ่งในภาพที่มีชื่อเสียงคือ ภาพดัชเชสที่วาดในปี 1940


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 22 ก.ย. 08, 11:22

       เกร็ดบางเรื่องราวท่านดยุค

         ทรงเป็นคิงและเอ็มเพอเรอร์แห่งบริเทนพระองค์เดียวที่สมัครพระทัยเลือกสละบัลลังก์

         เป็นหนึ่งในสามกษัตริย์แห่งบริเทนที่ไม่ได้เข้าพิธีราชาภิเษก และครองราชย์สั้นที่สุดเป็นลำดับที่สาม
(อีกสองได้แก่ - Lady Jane Grey และ Edward V)

        เป็นกษัตริย์พระองค์แรกของอังกฤษที่ทรงเป็นนักบินที่ได้รับการฝึกอบรมรับรอง (qualified pilot)

        ความสัมพันธ์อันดีที่เข้าใจว่ามีให้เสมอมาระหว่างพระองค์กับท่านเชอร์ชิลนั้น แท้ที่จริงแล้ว ไม่ดีจริง
         จากจดหมายของท่านเชอร์ชิลที่เคยถูกเก็บไว้เป็นความลับและได้ถูกนำมาเปิดเผยในเวลาต่อมา
ปรากฏข้อความบาดหมางระหว่างทั้งสอง
         ท่านดยุคได้มีจดหมายโต้ตอบและชี้แนะท่านนายกเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศ ในจดหมายฉบับหนึ่งท่านนายก
ได้ตอบกลับว่า ท่านไม่อาจรับคำแนะนำจากบุคคลที่  "had given up the greatest throne
in world history." ได้
        ความร้าวฉานรุนแรงขึ้นเมื่อท่านนายกจัดการให้ท่านดยุครับตำแหน่ง  Governor ของ Bahamas แล้ว
ท่านต้องทนกับข้อเรียกร้องไม่มีสิ้นสุดของท่านดยุคในเรื่องต่างๆ ตั้งแต่ การจัดคณะผู้ทำงานจนถึงการนัดพบทันตแพทย์
        ผู้ที่ได้อ่านจดหมายเหล่านี้แล้วอาจจะเปลี่ยนใจจากเดิมที่คิดว่าท่านนายกได้ให้อภัยท่านดยุคในเรื่องสละบัลลังก์

         ทรงเป็นเจ้านายที่มี "ลุค" ดารา โปรดการแต่งองค์ทรงเครื่องเป็นพิเศษ ทรงสร้างความตะลึงให้กับ
แวดวงผู้ใกล้ชิดด้วยแนวเสื้อผ้าสีสดใส เส้นสายลายตาราง ครั้งหนึ่งมีบันทึกไว้ว่า
               ในสวนของพระองค์ ณ กรุงปารีส ท่านดยุคทรงชุดกางเกงสีแดงเลือดหมู เชิร์ทสีฟ้าอ่อน รองเท้าสีแดงขาว
วันต่อมาทรงกางเกงสีฟ้าสด เชิร์ทสีเหลืองเรืองรอง รองเท้าสีน้ำเงิน
          นอกจากนี้ยังทรงนำความนิยมมาสู่แฟชั่นรองเท้าหนังกลับ ทรงคิดแบบเสื้อ backless tuxedo vest
และการผูกไทที่ต่อมาเรียกกันว่า Windsor knot


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 22 ก.ย. 08, 11:26

       พระดำรัสของท่านดยุค

        เปลี่ยนพระนามทั้งสิ้น 7 ครั้ง -

        I have changed my name seven times in my life: I was born Prince Edward
of York, I then became Prince Edward of Cornwall and York,
I then became Prince Edward of Wales, I then became The Duke of Cornwall,
I then became Prince of Wales, I then became King Edward VIII, and
now I'm The Duke of Windsor.

       "The thing that impresses me most about America is the way parents
obey their children."

และ     ข้อความในพระดำรัสที่โดนตัดออก In the banned speech he wrote:

        "It has taken me a long time to find the woman I want to make my wife.
Without her I have been a very lonely man."


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 29 ก.ย. 08, 11:06

            หนึ่งในคำถามที่เกิดขึ้นหลังจากที่ทุกคนได้รับรู้เรื่องราวของพระองค์คือ
                  ทำไมพระองค์จึงตัดสินพระทัยสละบัลลังก์เพื่อหญิงคนนี้

และ       แน่นอนที่หนึ่งในคำตอบนั้น คือความรัก ที่ไม่ใช่แค่ความรักอย่างธรรมดาสามัญเท่านั้น หากเป็น
            ความรักล้นใจ มีอำนาจเหนือความคิด กอปรไปด้วยความผูกพันอย่างตรึงแน่น อย่างยอมจำนน
อย่างไม่อาจขาดกันได้ถึงขนาดเข้าข่ายเสพติด
            ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองคือความสยบยอมของชายต่อหญิงผู้มีอำนาจเหนือกว่า เหมือนดั่งว่าต้องมนต์สะกด
ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นภาพลักษณ์ของชายที่ไม่สมชาย แต่เมื่อมองด้วยแง่มุมทางจิตวิทยาในยุคหลังก็จะได้ภาพของ
ชายที่เติบโตมาอย่างขาดความรักในวัยเด็ก


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 29 ก.ย. 08, 11:10

          ส่งท้ายด้วยข้อความวิเคราะห์ มองเรื่องราวด้วยแง่มุมทางจิตวิทยาถึงที่มาแห่งการกระทำของพระองค์
(ซึ่งอาจมีส่วนถูกบ้าง หรือผิดอย่างจังได้)   
 
          ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ พระองค์ทรงมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับพระบิดา ส่วนพระมารดาก็ทรงมีความห่างกันบ้าง
เนื่องจากทรงได้รับการอภิบาลจากพระพี่เลี้ยงที่หนึ่งในนั้นยัง abuse พระองค์ด้วย
            เมื่อมองพฤติกรรมของพระองค์ด้วยแนวทางจิตวิทยาพลวัต (dynamic psychology)
          พบว่าลักษณะทางจิตวิทยาของพัฒนาการของพระองค์ที่ชัดเจนก็คือปมปัญหาอีดีปุสที่ไม่คลี่คลาย
(ปมอีดีปุส - รักแม่ แต่ไม่ชอบพ่อ) ปมนี้เองที่ควบคุมความสัมพันธ์ของพระองค์กับผู้หญิง และกำหนดชนิดของผู้หญิง
ที่พระองค์เลือกมาเป็นคู่ครอง

            เมื่อยังเยาว์พระองค์ไม่แสดงความสนพระทัยในงานบ้านการเมือง ทรงเห็นพระยศเจ้าชายแห่งเวลซ์เป็นสิ่งน่าขัน
การแสดงออกเหล่านี้ อาจ มีความหมายถึงการขบถของพระองค์ต่อความเข้มงวดของพระบิดา
            พระองค์เสด็จเยือนต่างประเทศหลายครั้ง และผลข้างเคียงอย่างหนึ่งจากการเสด็จนี้คือความนิยมอเมริกา
ที่นั่นพระองค์ทรงได้รับการยอมรับอย่างที่พระองค์ทรงเป็น พระองค์สามารถตรัสในสิ่งที่ตรงกับพระทัย ทรงเกษมสำราญ
ในขณะที่กลับทรงรู้สึกอึดอัดเมื่ออยู่ในประเทศของพระองค์เอง ซึ่งมีผลทำให้พระองค์รู้สึกห่างจากพระบิดาออกไปยิ่งขึ้น
บันทึกการเข้า
กุ้งแห้งเยอรมัน
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1573



ความคิดเห็นที่ 72  เมื่อ 29 ก.ย. 08, 11:22

เป็นไปได้ไหมคะที่ทรงเห็นว่า การเป็นกษัตริย์ที่ไม่สามารถกำหนดชะตากรรมของพระองค์ได้นั้นเป็นเรื่องน่าสมเพชสิ้นดี
ทรงฉลาด และเข้มแข็ง
ทรงขบถ และเป็นตัวของตัวเอง
มิสซิสซิมป์สัน เป็นทั้งม่าย และไม่ได้สวยสะ
เป็นเพียงอุปกรณ์ที่ใช้แสดงการขัดขืนของพระองค์ต่อระบบกษัตริย์ที่มีแต่กรอบ
ทรงคิดล่วงหน้าไปเลยว่า อิสรภาพจากการดำรงชีวิต มีค่ากว่าการมีมงกุฎสวมหัว
..
ดิฉันรู้สึกว่า ทรงสร้างประวัติศาสตร์
ที่ทรงยอมๆมิสซิสซิมป์สัน ก็เป็นเรื่องของการพึ่งพาอาศัยกัน
นายแบบเจอนางแบบโดยสไตล์
เท่านั้นเอง
เหมือนชาร์ลส์ ที่ตั้งอกตั้งใจแต่งตั้งคามิลลา ทั้งๆที่ ไดอานา นั้นใครๆว่าดีกว่า
ก็ข้าพเจ้าจะเอาอย่างนี้นี่
ใครหือ มีเรื่อง
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 73  เมื่อ 29 ก.ย. 08, 11:29

         การที่พระองค์ทรงมีความสัมพันธ์กับหญิงหลายนาง คือ การพยายามแสวงหาความรักมาชดเชยความรัก
ที่ทรงขาดในวัยเยาว์ หรือไม่

          หญิงแต่ละนางที่ทรงโปรดต่างเป็นหญิงที่แต่งงานมีคู่ครองแล้ว คือ ตัวแทนมารดา (mother figure)
สำหรับพระองค์ หรือไม่
          
          การถูก abuse ในวัยเด็กมีผลต่อความสัมพันธ์ของพระองค์กับนางซิมป์สัน กล่าวคือ ทำให้ทรงพอใจ
ในบทผู้ยอมต่อท่าทีของนางที่รับบทผู้มีอำนาจข่มพระองค์ (sado-masochist relationship) หรือไม่

           มีข่าวลือว่าสมัยที่คบกับหนุ่มน้อยจิมมี่เป็น dysfunctional trio นั้น ในงานปาร์ตี้ครั้งหนึ่ง
ท่านดยุคได้แสดงบทเด็กน้อยนุ่งผ้าอ้อม โดยมีดัชเชสรับบทเป็นคุณแม่
           การที่ทรงผูกพันติดบ่วงเสน่หานางซิมป์สันผู้มีลักษณะมาดมั่นเหนือกว่า มีบุรุษลักษณะอยู่ในตัวนาง
เช่นนี้ ทำให้บางคนตั้งข้อสงสัยว่าพระองค์ทรงเป็นรักร่วมเพศที่เก็บกด เช่นนั้นหรือ
  
และ     การสละบัลลังก์ก็คือการกระทำอันเป็นที่สุดของการแสดงออกของความพยายามที่จะปกป้องการครองไว้ซึ่ง
          หญิงผู้เปรียบเหมือนตัวแทนของแม่ (mother figure) ผู้ที่พระองค์สามารถสร้างความพึงพอใจให้ได้ (รักแม่)
และ     ในขณะเดียวกันการสละบัลลังก์ก็คือสัญญลักษณ์แห่งชัยชนะเหนือพระบิดา (ไม่ชอบพ่อ)

(ประมาณอย่างที่คุณกุ้งแห้งว่า)


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 74  เมื่อ 29 ก.ย. 08, 11:37

        ราชาโรแมนติคแห่งศตวรรษ ผู้ใช้หัวใจแทนสมองในการตรองตัดสินปัญหาความรัก
หรือ   ราชาผู้สร้างบันทึกอันน่าอับอายบนหน้าประวัติศาสตร์ของชาติอังกฤษ 

          ไม่ว่าใครๆ จะมองพระองค์เป็นเช่นไร แม้ว่ากาลเวลาจะเปลี่ยนศตวรรษใหม่แล้ว แต่เรื่องและภาพ
ของพระองค์คงจะยังปรากฏอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ และบันทึกความทรงจำของหลายคนต่อไปอีกนาน


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.074 วินาที กับ 19 คำสั่ง