เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6
  พิมพ์  
อ่าน: 23632 รักประทับใจ หาได้จากในเน็ท
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 06 ก.ย. 08, 10:09

        ขยับเวลามาปี 1930 พระบิดา(พระเจ้ายอร์ชที่ห้า) ประทานที่ประทับแก่เจ้าชายที่ Fort Belvedere
และนี่คือสถานที่เจ้าชายทรงมีความสัมพันธ์กับหญิงแต่งงานแล้วมากหน้าหลายนาง หนึ่งนางนั้น (Lady Furness)
ได้แนะนำให้พระองค์รู้จักกับหญิงอเมริกันนาม วอลลิซ ซิมป์สัน (19 June 1895 or 1896 – 24 April 1986)
ผู้ผ่านการหย่าร้างมาหนึ่งครั้งก่อนที่จะมาแต่งงานกับสามีนักธุรกิจ - นายเออร์เนสท์ ซิมป์สัน  ในงานปาร์ตี้ เมื่อ
วันที่ 10 มกราคม 1931
        เมื่อแรกเจอเจ้าชายไม่ได้ทรงสนพระทัยหรือประทับใจในตัวนางเป็นพิเศษ จนเมื่อได้พบกันอีกครั้ง
หลังจากนั้น 4 เดือน ความพึงพอใจระหว่างกันจึงกำเนิดขึ้น ถึงเดือนมกราคมปีต่อมาพระองค์ได้เสด็จมาเสวยดินเนอร์
ที่แฟลตของนางและประทับอยู่จนถึง 4 นาฬิกาวันรุ่งขึ้น

เหตุการณ์เมื่อแรกพบกันมีบันทึกความว่า

Wallis was suffering from a head cold. He asked if she missed American central heating.

   'I'm sorry, Sir,' she said, 'but you have disappointed me.'

   'In what way?'
 
   'Every American woman who comes to your country is always asked that
same question. I had hoped for something more original from the Prince
of Wales.'
 
  Edward later wrote: "In character, Wallis was, and still remains, complex
and elusive, and from the first I looked upon her as the most independent
woman I had ever met. This refreshing trait I was inclined to put down
as one of the happiest outcomes of 1776."


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 06 ก.ย. 08, 10:26

              ต้นปี 1934 เลดี้เฟอร์เนส เดินทางไปอเมริกาและเอ่ยปากฝากเจ้าชายไว้กับนางซิมป์สัน
         "Look after the little man. See that he does not get into any mischief." 

เพื่อที่จะกลับมาพบว่าตัวเธอได้ถูกตัดออกจากรายชื่อผู้หญิงของเจ้าชายแล้ว รวมทั้งอีกหนึ่งนางที่มีความสัมพันธ์ยาวนาน
- Mrs. Ward เหลือนางซิมป์สันครองตำแหน่งผู้หญิงของเจ้าชายแต่เพียงผู้เดียว

          เมื่อพระองค์จัดปาร์ตี้ล่องเรือไปตามชายฝั่งสเปนและ ปอร์ตุเกส นางซิมป์สันได้ร่วมเดินทางไปด้วยโดย
ปราศจากสามีซึ่งติดธุระต้องไปอเมริกา ทริปนี้เองที่นางซิมป์สันเล่าว่า ทั้งเธอและเจ้าชายได้
           crossed the line that marks the indefinable boundary between
friendship and love.
         ต่อมาพระองค์ก็ได้เคยตรัสว่า ได้ทรงตัดสินพระทัยที่จะเสกสมรสกับนางมาตั้งแต่ปี 1934 นี้
          ปลายปีนั้นนางซิมป์สันได้เข้าร่วมงานเลี้ยงที่พระราชวังบัคกิงแฮม เจ้าชายทรงพานางมาแนะนำต่อพระมารดา
ในขณะที่พระเจ้ายอร์ชไม่พอพระทัยอย่างยิ่งและทรงปฏิเสธที่จะให้นางเข้าเฝ้า
     
          ความประพฤติของพระโอรสได้สร้างความผิดหวังให้กับพระเจ้ายอร์ชเป็นอย่างยิ่ง พระองค์ทรงรังเกียจความสัมพันธ์
ของพระโอรสกับบรรดาหญิงม่ายเหล่านี้ ทรงกังวลที่จะเห็นเจ้าชายขึ้นครองราชย์ต่อจากพระองค์ ถึงขนาดทรงมีรับสั่ง
กับพระโอรสองค์ที่สอง (Albert-Bertie) และพระนัดดา (Elizabeth-Lilibet ควีนอลิซเบธองค์ปัจจุบัน) ว่า
          พระองค์ทรงสวดอ้อนวอนพระเจ้าเพื่อให้เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดไม่ได้เสกสมรสและไม่มีทายาท ทั้งขออย่าให้มีสิ่งใด
มากั้นกางระหว่างเบอร์ทีและลิลิเบทกับราชบัลลังก์

         นับวันความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าชายกับนางซิมป์สันก็แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นสวนทางความสัมพันธ์กับพระบิดา
ที่เสื่อมลง ทั้งสองพระองค์ทรงปฏิเสธการเข้าเฝ้าครั้งต่อไปของนาง
         ทว่าเจ้าชายได้ทรงตกหลุมรักนางซิมป์สันอย่างถอนตัวไม่ขึ้นเสียแล้ว ยิ่งได้รับการปฏิเสธทั้งสองก็ยิ่งรู้สึกว่า
มีเพียงเราสอง จึงผูกพันใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 06 ก.ย. 08, 10:29

มาดูประวัติของนางเอกแห่งเทพนิยายในฝัน ผู้ชนะใจเจ้าชายทั้งที่เป็นแม่ม่ายผู้นี้กัน 

           เกิดในเพนซิลวเนีย เติบโตที่แมรี่แลนด์  เธอกำพร้าบิดาตั้งแต่ยังเล็ก ฐานะทางบ้านไม่ดีแต่มีลุงช่วยเจือจุน
เมื่อเข้าโรงเรียน เธอเริ่มฉายแสงโดดเด่น brighter กว่าใครๆ ในชั้นเรียน ด้วยมาดและท่วงท่าที่สง่า ดวงตาเป็น
ประกาย และผมสีดำสลวย
           แต่งงานครั้งแรกกับนักบิน ชีวิตสมรสเจ็บระบมเมื่อเขาดื่มจัดและทำร้ายเธอ สถานการณ์เหมือนจะดีขึ้นเมื่อทั้งสอง
เดินทางไปเมืองจีนที่ซึ่งเขาถูกส่งไปประจำการ แต่แล้วก็กลับเลวร้ายลงเมื่อเขากลับไปดื่มอีก เธอจึงฟ้องหย่า

          (ที่เมืองจีนนี้ มีข่าวลือว่าเธอมีความสัมพันธ์กับลูกเขยมุสโสลินีจนตั้งครรภ์ แล้วทำแท้งซึ่งมีผลทำให้เธอ
ไม่สามารถมีลูกได้อีก และยังลือกันด้วยว่า เธอได้ไปเรียนวิชาทางเพศจากสำนักโคมเขียว และได้นำวิชานี้มาใช้อย่างได้ผล
กับเจ้าชายจนพระองค์ไปไหนไม่รอด)
        หลังหย่าสามีคนแรก เธอมีความสัมพันธ์กับนายซิมป์สันและได้แต่งงานกันหลังจากที่เขาหย่าจากภรรยาเดิม
          เธอได้พบกับเจ้าชายในปี 1931 และได้กลายมาเป็นผู้หญิงของพระองค์ในเวลาต่อมา
          ถึงปี 1934 เจ้าชายก็ติดอยู่ในบ่วงใยแมงมุมแม่ม่ายจนไปไหนไม่รอด ทรงพอพระทัยในบุคคลิกของนางที่วางท่าที
เป็นฝ่ายที่เหนือกว่า โดยไม่ยำเกรงในพระยศอันสูงส่งของพระองค์ ทำให้เจ้าชายกลายเป็นดั่งทาสเทวีอยู่ใต้อำนาจเธอ
ทรงปรนเปรอด้วยแก้วแหวนเงินทอง พาท่องยุโรปอย่างสำราญจนลืมพระราชภารกิจ

--ขึ้นปก TIME ด้วยตำแหน่ง Woman(แทนที่ Man) of the Year คนแรก   


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 07 ก.ย. 08, 11:07

             พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ขึ้นครองราชย์ต่อจากพระบิดาเมื่อ 20 ม.ค. 1936 ด้วยสถานภาพทรงเป็นโสด
แต่ก็ได้ทรงควงนางซิมป์สัน ม่ายชาวอเมริกันออกงานส่วนพระองค์เป็นเวลาหลายปีมาแล้ว และหลังจากที่พระองค์
ขึ้นครองราชย์ไม่กี่วัน พระองค์ก็ทรงควงนางออกงานเลี้ยงอย่างเป็นทางการสร้างความตกตะลึงแก่แวดวงสังคม
และการเมืองโดยถ้วนทั่ว
           พ.ค. 1936 นายกรัฐมนตรีสแตนลีย์ บอลด์วิน ได้พบนางเป็นครั้งแรกในงานเลี้ยงพระราชทาน
งานนี้เธอพาสามีออกงานด้วย ท่านนายกยังไม่ทราบว่าเธอเป็นคนสำคัญอย่างไร
          สองเดือนต่อมา สามีตัวจริงของนางซึ่งมีสัมพันธ์กับหญิงอื่นเช่นกัน ได้ย้ายออกจากที่พักของทั้งสอง
          ในช่วงฤดูร้อนปีครองราชย์นั้น พระองค์เสด็จไปพักผ่อนกับนางที่เมดิเตอร์เรเนียนแถบตะวันออก โดยมีหนังสือพิมพ์
อเมริกาและยุโรปเสนอข่าว ยกเว้นนสพ. อังกฤษ
          ต.ค. 1936 นางย้ายมาอยู่ในบ้านใหม่ที่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเช่าไว้ให้นาง

          (ความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับม่ายอเมริกันนี้ได้สร้างความกังวลให้กับคณะรัฐบาลอย่างสูง พฤติกรรมของทั้งสอง
ได้ถูกเฝ้าติดตามโดยหน่วยตำรวจพิเศษ ซึ่งได้เคยรายงานไว้ว่า - 
           ดูเหมือนว่าสุภาพสตรีจะมี "POW" อยู่ใต้หัวแม่มือโดยสมบูรณ์, POW - Prince of Wales)


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 07 ก.ย. 08, 11:27

           ในมี่สุดความสัมพันธ์ก็ถึงจุดที่เป็นที่รับรู้กันว่า พระองค์มีพระประสงค์จะเสกสมรสกับนางในทันที
ที่นางได้ทำการหย่าร้างเรียบร้อย
           หนังสือพิมพ์อเมริกันลงข่าวว่า - จะมีพิธีเสกสมรสในเวลาไม่นานนี้
        20 ต.ค. 1936 -  วันแรกของเผชิญหน้ากัน เมื่อท่านนายกฯ เข้าเฝ้าพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเพื่อขอให้พระองค์
คบหานางอย่างไม่เปิดเผยเพื่อที่จะได้ไม่ตกเป็นข่าว และขอให้นางหยุดดำเนินการเรื่องขอหย่าร้างจากสามี
        13 พ.ย. ราชเลขาส่วนพระองค์มีหนังสือกราบทูลถึงพระองค์ว่า สื่อหนังสือพิมพ์ที่ยังคงเงียบอยู่นั้นคงเงียบอีกไม่นาน
และถ้าพิจารณาจากจดหมายที่มีมาจากชาวบริทิชที่อาศัยอยู่ต่างแดนและได้รับรู้ข่าวนี้จากสื่อชาติอื่น พอจะบอกได้ว่าผลที่ตามมา
นั้นน่าจะเข้าขั้นหายนะ 

         เพียงเท่านี้หรือจะอาจต้านทานแรงรัก
         16 พ.ย. พระองค์ทรงเรียกนายกรัฐมนตรี สแตนลีย์ บอลด์วินเข้าเฝ้า และ แจ้งพระประสงค์ที่จะเสกสมรส
กับนางซิมป์สันให้ทราบ
         ครั้งนี้เองที่พระองค์เองได้ทรงตระหนักถึงแรงต้านที่ทรงพลังจากปากของท่านผู้นำ
         เมื่อนายกฯ กราบทูลว่า พสกนิกรจะไม่ยอมรับการเสกสมรสนี้ และในกรณีที่คู่ครองของพระองค์คือผู้ที่จะขึ้นดำรง
ตำแหน่งราชินีของประเทศ ดังนั้น การเลือกผู้ที่จะมาเป็นควีนย่อมต้องฟังเสียงประชาชนด้วย

          ด้วยสารพัดแรงต้านทั่วทิศ ถึงขนาดที่คณะรัฐบาลกราบทูลว่าจะลาออกทั้งคณะ พระองค์ทรงออกแรงโต้กลับด้วย
พระดำรัสที่ก่อให้เกิดความความตกใจว่า

              "I intend to marry Mrs. Simpson as soon as she is free to marry
... if the Government opposed the marriage, as the Prime Minister had given me reason
to believe it would, then I was prepared to go."
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 07 ก.ย. 08, 11:33

           ด้วยแรงโต้กลับจากเบื้องบนเช่นนี้ ท่านบอลด์วินจึงจัดการถามความเห็นจากนายกรัฐมนตรีของประเทศในเครือจักรภพ
ผลออกมาเป็นว่า ทางออกในกรณีนี้คือ การสละราชสมบัติ
         24 พ.ย. ท่านบอลด์วินได้ปรึกษาหารือกับหัวหน้าฝ่ายค้านทั้งสาม สองในสามมีความเห็นไม่แตกต่างไป
จากคนอื่นๆ ที่เหลืออีกหนึ่งเดียวคือ วินสตัน เชอร์ชิลนั้นอยู่ฝ่ายพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด

           พระองค์ทรงถือว่าเชอร์ชิลผู้นี้คือมิตรแท้ ดังปรากฏในบันทึกว่า
      I am proud . . . that of all Englishmen it was Mr. Churchill who spoke up to the last
for the king, his friend.

          ด้วยแรงต้านทานที่มากมายแต่แรงสนับสนุนแทบไม่มี ทางออกเดียวสำหรับพระองค์ที่จะได้เสกสมรส
กับนางซิมป์สันนั่นก็คือ การสละราชสมบัติ และ
            นั่นก็เป็นทางที่พระองค์ได้ตัดสินพระทัยเลือกอย่างแน่วแน่ไม่แปรเปลี่ยน แม้ว่านางซิมป์สันจะได้แสดงความจำนง
เป็นฝ่ายก้าวออกไปเสียเองเพื่อที่พระองค์จะได้ทรงครองบัลลังก์ต่อไป
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 07 ก.ย. 08, 11:35

          25 พ.ย. พระองค์ทรงพยายามหาทางต่อรองกับท่านนายกฯ  ทรงยอมรับที่นางซิมป์สันจะไม่ได้ขึ้นเป็นควีน
อีกทั้งทายาทของทั้งสองจะไม่ได้เป็นรัชทายาทสืบไป
          27 พ.ย. ข้อเสนอนี้ได้รับการปฏิเสธทั้งจากคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศเครือจักรภพอย่าง
Australia, Canada, South Africa
          2 ธ.ค. ท่านนายกฯ กราบทูลมติของคณะรัฐบาล และเสนอทางเลือก 3 ประการคือ
ยุติความสัมพันธ์ หรือ เสกสมรสโดยขัดกับมติคณะรัฐมนตรีอันจะมีผลทำให้คณะรัฐมนตรีลาออก หรือ สละราชบัลลังก์
         3 ธ.ค. เป้าสำคัญของสื่อคือนางซิมป์สัน ตัดสินใจจำเดินทางออกจากเกาะอังกฤษไปฝรั่งเศสเพื่อหลีกเลี่ยง
การทำข่าวของนักหนังสือพิมพ์ ทั้งสองร่ำลาน้ำตาริน พระองค์ประทานคำมั่นโดยตรัสกับนางว่า -
               I shall never give you up.

         ความพยายามอีกครั้ง(สุดท้าย)ของพระองค์คือ พระประสงค์ที่จะมีพระดำรัสออกอากาศ ด้วยทรงหวังว่าพสกนิกร
จะเข้าใจและเห็นใจ ยอมรับให้พระองค์เสกสมรสและยังคงเป็นกษัตริย์ต่อไป แต่ท่านนายกปฏิเสธว่าเป็นไปไม่ได้
ในระบอบรัฐธรรมนูญ
         ในที่สุด ด้วยรักพร้อมยอมสละ พระองค์จึงตัดสินพระทัยสละราชบัลลังก์ในวันที่ 9 ธ.ค. 1936
และทรงลงพระนามในประกาศในวันที่ 10 ธ.ค.
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 07 ก.ย. 08, 11:52

           วันรุ่งขึ้น 11 ธ.ค. อดีตพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดในพระอิสริยยศ His Royal Highness The Duke of Windsor
ได้ทรงมีรับสั่งออกอากาศทั่วอาณาจักรและจักรวรรดิ มีข้อความสำคัญว่า 
 
              "I have found it impossible to carry the heavy burden of responsibility and
to discharge my duties as king as I would wish to do without the help and
support of the woman I love." 

             เจ้าชายอัลเบิร์ทพระอนุชาถัดจากพระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชย์แทนเป็นพระเจ้ายอร์ชที่หก ทรงเฉลิมพระอิสริยยศ
ใหม่ให้พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเดิมเป็นดยุคแห่งวินเซอร์ พร้อมคำนำหน้า His Royal Highness
             พระองค์เสด็จไปพำนักที่ออสเตรีย โดยไม่ได้พบนางซิมป์สันด้วยเกรงว่าอาจมีผลกระทบต่อการหย่าของนาง
             เดือนพ.ค. ปีถัดมาการหย่าร้างของนางซิมป์สันสำเร็จเสร็จสิ้นขบวนการโดยปราศจากการแทรกแซง
พระองค์ได้เข้าพิธีเสกสมรสกับนางในวันที่ 3 มิ.ย. 1937 ที่ฝรั่งเศส
             นางซิมป์สันจึงกลายเป็น ดัชเชสแห่งวินเซอร์ แต่ไม่ได้รับคำนำหน้าว่า Her Royal Highness
สร้างความไม่พอพระทัยแก่ท่านดยุคเป็นอย่างยิ่ง (แต่ในที่ประทับและหมู่คนใกล้ชิดสนิทสนมแล้วต่างก็กล่าวถึงเธอ
โดยใข้ Her Royal Highness)


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 07 ก.ย. 08, 12:17

เหตุการณ์ช่วงนี้คุณ WIWANDA เล่าไว้ดังนี้ครับ

        - พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ ที่มีพระชนมายุได้ 41 ชันษา กำลังทรงระดมใช้ความสามารถทั้งหมดที่มี
เพื่อที่จะทำการอภิเษกสมรสกับนางวอลลิส ซิมปสันให้ได้ แต่ทว่า นางยังไม่เสร็จสิ้นจากการหย่าร้างจากสามีอันดับสอง
        - ... พระองค์ได้ทรงแจ้งพระราชประสงค์กับคณะรัฐบาลว่า ในพิธีราชาภิเษกที่จะเกิดขึ้นในไม่กี่เดือนข้างหน้า
พระองค์ต้องการให้นางวอลลิสได้รับการสถาปนาเป็นพระราชินีเสียในคราวเดียวกัน..
        เล่นเอาท่านนายกรัฐมนตรี สแตนลีย์ บอลด์วิน เหงื่อกาฬแตกพลั่ก..เรียกประชุมคาบิเน็ตด่วน...
        นักการเมืองรุ่นเก๋าอย่าง วินสตัน เชอร์ชิลล์ กลับเห็นว่าไม่น่าจะเป็นเรื่องแปลก ท่านจะทำอะไรก็ตามพระทัยท่าน
จะเอาอีหนูมาเป็นราชินีก็เรื่องของท่าน (เชอร์ชิลล์..คิดไม่เหมือนคนอื่น  ไม่ขัดขวาง ออกจะสนับสนุนด้วยซ้ำ
เพราะ ท่านมีมารดาเป็นชาวอเมริกัน)
        แต่..ทั่นนายก..บอกว่า จะบ้าหรือไง..อังกฤษไม่ต้องการพระราชินีที่มาจากผู้หญิงต่างชาติที่ไม่มีหัวนอนปลายต..
เท่านั้นไม่พอ ยังเป็นแม่ม่ายสองครั้งสองครา โอย..ไม่เอา..
      แต่ทว่า..ความเห็นของ พระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ หรือในพระนามว่า.. พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่แปด กลับทรงดื้อรั้น..
และทรงคิดไปเองว่า ประชาชนคงต้องเห็นพระทัย และเข้าใจในความรักของพระองค์
        สรุปคือ..ให้ประชาชนลงคะแนนเสียง  ผลคือ...เสียงออกมาเป็นสองฝ่าย..
หนึ่งคือ ทิ้งนังแม่ม่ายคนนั้นซะ... สอง...ถ้าไม่ทิ้ง ก็ต้องสละราชบัลลังค์ และนั่นคือ..คำตอบสุดท้าย..จากมหาชนชาวบริเตน
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 07 ก.ย. 08, 12:19

คุณ WIWANDA เล่าต่อ -

       เสียงตอบกลับคืน..จากพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่แปด ที่เพิ่งขึ้นครองราชย์ได้เพียงสิบเดือน ว่า..
ถ้า...ปราศจากหญิงที่รักอยู่เคียงข้าง.. บัลลังค์ก็ไม่มีความหมายใดๆ  พระองค์ตัดสินพระทัย..สละราชสมบัติ
        และคำแถลงการณ์ที่ออกอากาศไปทั่วในทุกประเทศ(ที่ใช้ภาษาอังกฤษ) นั้นได้กระทำขึ้นในวันที่ 11 ธันวาคม 1936
จากสถานีในพระราชวังวินเซอร์  พระสุรเสียงนั้นดังก้องกังวานไปทั่ว ไม่ว่าจะในมหานครนิวยอร์ค ที่แม้กระทั่ง
คนขับรถแท๊กซี่ก็ต้องยอมนำรถเข้าจอดข้างทางเพื่อที่จะได้รับยินรับฟังอย่างชัดๆ
        ชาวอังกฤษที่อยู่นอกประเทศ..ต่างระดมส่งโทรเลข วิงวอน ขอร้อง ขอให้ทรงคิดใหม่..และ..
อย่าทรงละทิ้งประชาชน แต่พระองค์ได้ตัดสินพระทัยอย่างเด็ดขาด เพื่อ ความรัก..
       และหกเดือนต่อมา..พระองค์ก็ได้สมรสกับนางซิมปสันสมใจ...       

       คณะฝ่ายสำนักพระราชวัง..และ รัฐบาล ต้องวิ่งวุ่นหาพระยศที่เหมาะสมและลงตัวให้อย่างทุลักทุเล..
ในที่สุดก็ได้ดีสุดมาที่  ตำแหน่ง ดยุค ออฟ วินเซอร์ ส่วนหม่อมวอลลิส ก็ดำรงตำแหน่ง ดัชเชส ไปตามระเบียบ..
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 09 ก.ย. 08, 10:36

มาดูสารพัดแรงต้านการเสกสมรสที่มีมากมายหลายกระแสจนนำไปสู่วิกฤตการณ์สละราชบัลลังก์ ได้แก่

สังคม   แม้ว่าพระองค์จะทรงเป็นที่ชื่นชมของพสกนิกรหลายเหล่าถึงขนาด popular แต่บรรดาคนหัวเก่าต่างก็รู้สึกหวั่นๆ
         กับพระราชดำริที่จะทำให้ราชวงศ์ทันสมัย พวกชนชั้นสูงรู้สึกผิดหวังที่พระองค์แสดงท่าทีเหยียดหยันกับขนบธรรมเนียม
ประเพณีที่มีมาแต่เดิม และเรื่องความสัมพันธ์ของพระองค์กับนางซิมป์สันก็ยิ่งทำให้ความนิยมชื่นชมในพระองค์เสื่อมลง

ศาสนา    Church of England ไม่อนุญาตให้บุคคลที่ผ่านการหย่าร้างโดยที่คู่คนเก่ายังมีชีวิตอยู่สมรสใหม่ในโบสถ์
            (จนกระทั่งปี 2002) และโดยตำแหน่ง Supreme Governor แห่งเชิร์ชออฟอิงแลนด์ของพระองค์
ทำให้ไม่สามารถเสกสมรสกับหญิงม่ายได้
            กรณีของพระองค์นี้แตกต่างจากสมัยพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 ที่ทรงจัดการให้การแต่งงานครั้งก่อนนั้นโมฆะ 

กฎหมาย  การหย่าครั้งแรกของนางซิมป์สัน(ด้วยเหตุผล เข้ากันไม่ได้ทางอารมณ์) ไม่ได้รับการยอมรับโดยเชิร์ชออฟอิงแลนด์ 
           และอาจรวมถึงกฎหมายของอังกฤษด้วย ทำให้การแต่งงานครั้งต่อมาอาจเป็นความผิดจากการสมรสซ้อน

ศีลธรรมจรรยา   หากว่าเหล่าที่ปรึกษาของพระองค์ต่างเห็นพ้องว่านางซิมป์สันมีคุณสมบัติพร้อมคู่ควร พวกเขาคงหาทางออก
                  ให้กับปัญหานี้ได้ แต่ทว่าบรรดารัฐมนตรีต่างได้รับรู้ถึงเบื้องหลังและพฤติกรรมของนางซิมป์สันที่พวกเขา
รับไม่ได้ ข่าวลือที่ไม่มีหลักฐานยืนยันแพร่กระจายไปทั่วแวดวง ถึงขนาดที่ควีนแมรี่พระมารดาทรงได้รับการกราบทูลว่า
นางซิมป์สันอาจมีวิชาสามารถทางเพศที่ช่วยรักษาอาการผิดปกติของพระองค์แล้วใช้ความสามารถทางนี้ควบคุมพระองค์ในเวลาต่อมา
           
                      ข้อความของ   Philip Ziegler ผู้เขียนพระประวัติอย่างเป็นทางการกล่าวว่า
                  ทั้งสองน่าจะมีความสัมพันธ์ผูกพันกันแบบ sadomasochistic โดยมีเจ้าชายเป็นฝ่าย masochist พอใจที่
จะให้นางซิมป์สันข่ม นอกจากนี้นักสืบของกรมตำรวจยังสืบพบด้วยว่า นางยังมีความสัมพันธ์กับชายอื่นนอกจากเจ้าชายด้วย
                   Joseph kennedy เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งท่านทูตของอเมริกาเรียกเธอว่า a tart และคุณนายท่านทูต
ก็ปฏิเสธที่จะร่วมโต๊ะอาหารกับเธอ
           ภาพของนางซิมป์สันในสายตาคนอื่นจึงปรากฏเป็นหญิงมักใหญ่ใฝ่สูงที่ไม่ได้รักเจ้าชาย หากแต่หมายปอกลอกพระองค์
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 09 ก.ย. 08, 10:42

การเมือง    พระองค์ทรงทำให้ฝ่ายการเมืองรู้สึกว่าถูกก้าวก่าย เช่น เมื่อครั้งที่มีพระดำรัสในคราวเสด็จไปยังหมู่บ้านเหมืองถ่านหิน
             ในเวลซ์ ซึ่งแม้ว่าพระองค์ทรงได้รับความชื่นชมจากชาวเวลซ์จากพระดำรัสของพระองค์ในครั้งนั้น แต่สำหรับ
ชาวสก็อตแล้ว พระองค์ทรงพลาดไปเมื่อทรงปฏิเสธที่จะเสด็จไปในงานพิธีหนึ่งโดยทรงอ้างว่าเพราะอยู่ในช่วงถวายอาลัย
แด่พระราชบิดา ทว่าในวันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์กลับลงภาพข่าวพระองค์เสด็จไปพักผ่อนสำราญพระอิริยาบถกับนางซิมป์สัน
             นอกจากนี้ยังทรงมีและทรงแสดงความเห็นขัดแย้งกับคณะรัฐมนตรีในบางเรื่อง
             และด้วยพระประสงค์จะพัฒนาราชวงศ์ให้มีความทันสมัยมากขึ้น พระองค์ก็ทรงขัดแย้งกับที่ปรึกษาหัวเก่าจน
ทรงปลดออกจากตำแหน่งหลายคนและยังทรงลดเงินเดือนเหล่าข้าราชบริพาร
             เพราะความลุ่มหลงในตัวนางซิมป์สันทำให้พระองค์ทรงเลื่อนหรือเสด็จมาที่ประชุมสายบ่อยครั้ง     
             เท่านั้นยังไม่พอ สมาชิกคณะรัฐบาลยังได้รับข้อมูลมาว่านางซิมป์สันนั้นเป็นสายของนาซี ข่าวลือบางกระแสยัง
กล่าวว่านางคือผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้นำข้อมูลลับของคณะรัฐบาลที่ส่งมาถวายพระองค์แล้วทรงละเลยลืมวางทิ้งไว้ไปให้เยอรมัน

     (จากแฟ้มบันทึกเอฟบีไอในทศวรรษ 1940 ที่เพิ่งเปิดเผยเร็วๆ นี้ - ตามกฎหมายใหม่ - America's Freedom of
Information Act - ให้ข้อมูลที่สนับสนุนเรื่องสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างนางซิมป์สันกับนาซี)

ชาตินิยม   ในช่วงระหว่างมหาสงครามโลกทั้งสองนั้นความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาเสื่อมลง
             ชาวอังกฤษส่วนใหญ่ไม่อาจยอมรับหญิงอเมริกันในฐานะควีนได้ เหล่าผู้ดีอังกฤษชั้นสูงในยุคนั้นมองชาวอเมริกัน
ว่าเป็นพวกที่มีฐานะทางสังคมด้อยกว่า


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 09 ก.ย. 08, 10:45

         หลังมีพระดำรัสสละบัลลังก์ออกอากาศ ท่านดยุคเสด็จไปประทับที่ออสเตรีย และต้องรออยู่หลายเดือนจนกว่า
การหย่าร้างของนางซิมป์สันสมบูรณ์ จึงจะได้พบกันในพิธีสมรสที่จัดขึ้นในเดือน มิ.ย. 1937 ที่ฝรั่งเศส พระอนุชาซึ่ง
ขึ้นครองราชย์ต่อเป็นพระเจ้ายอร์ชที่หกทรงห้ามพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จไปร่วมงาน   

          หลังสมรสท่านดยุคใช้ชีวิตส่วนพระองค์ในฝรั่งเศส ไม่สามารถกลับเกาะอังกฤษได้หากพระเจ้ายอร์ชไม่ทรงเชิญ
พระองค์มีรายรับจากเงินที่พระเจ้ายอร์ช(พระอนุชา)ประทานให้ใช้สอย และเงินจากกการขายสมบัติส่วนพระองค์ คือ
ที่ประทับในอังกฤษให้พระเจ้ายอร์ช นอกจากนั้นยังทรงค้าเงินนอกกฎหมาย และต่อมาทรงได้รับค่าลิขสิทธิ์จากงานเขียน
บันทึกความทรงจำของพระองค์
       
           ในปี 1937 ทรงขัดคำแนะนำของรัฐบาลอังกฤษเสด็จไปพบฮิทเลอร์ที่เยอรมัน
           พระองค์ทรงถูกมองว่าเป็นฝ่าย โปร-นาซี จากการเสด็จไปเยอรมันครั้งนั้น และจากการพูดถึงหรือให้สัมภาษณ์
โดยเข้าข้างเยอรมัน ซึ่งมีส่วนทำให้บางคนเชื่อว่าเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ทรงถูกแรงต้านทานจนทำให้ต้องสละบัลลังก์เพื่อ
ที่พระอนุชาซึ่งมิได้มีพระดำรินิยมเยอรมันขึ้นครองราชย์แทน


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 09 ก.ย. 08, 10:49

--- คุณ WIWANDA เล่าการเยือนเยอรมันว่า

        ในการเยือนเยอรมันครั้งนั้น พระองค์มีพระประสงค์แอบแฝงอยู่บ้างนั่นคือ การที่จะเป็นตัวแทนของกลุ่มผู้นิยมลัทธิฟาสซิสต์
ที่มีอยู่เพียงหยิบมือในอังกฤษ หัวหน้าและมือขวาของพระองค์ในกลุ่มนี้ นั่นก็คือ เซอร์ ออสวัลด์ มอสลีย์ แต่ต่อมาในปี 1937
กลุ่มนี้ก็ได้ขยับขยายมีผู้คนมาสมทบมากขึ้น เพราะเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ปัญหาการว่างงานเพิ่มพูนขึ้น
       พระเจ้าจอร์จที่หกได้พยายามขอร้องและทัดทานในการเสด็จ ถึงกับส่ง ท่านลอร์ด บีเว่อร์บรุ๊ค ไปพบที่ฝรั่งเศส
เพื่อขอร้องให้ระงับการเสด็จเยอรมัน แต่..การเจรจานั้นได้ถูดสกัดกั้นจากหม่อมวอลลิส และมาถึงตอนนั้น ใครต่อใครจึง
ได้ทราบว่า หม่อมช่างมีอานุภาพเหนือท่านดยุคในแทบทุกเรื่อง..

       ส่วนทางเยอรมัน..ฮิตเล่อร์ได้เตรียมการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ โดยให้ ด๊อกเตอร์ ลีย์ รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานนาซี
เป็นผู้คอยถวายการรับใช้ให้ความสะดวก ในตอนนั้น ถึงกับมีการวางแผนกันว่า ฮิตเล่อร์จะ "คืน" บัลลังก์ให้กับพระองค์
เมื่อยามที่เข้าครอบครองอังกฤษได้แล้ว และเมื่อทันทีที่ท่านดยุคและหม่อมได้มาถึงยังเบอร์ลินโดยขบวนรถไฟในวันที่ 11 ตุลาคม
ผู้ที่เข้าถวายการต้อนรับก็มี อุปทูต (อันดับสาม) ของสถานทูตอังกฤษ ที่ได้เข้ามากราบทูลหน้าตาเฉยว่า..
       ท่านเอกอัครราชทูต เซอร์ เนวิลล์ เฮนเดอร์สัน มิได้อยู่ในกรุงเบอร์ลินในขณะนี้ (นี่คือการตอกกลับอย่างเจ็บแสบที่สุด)
       ส่วนอีกทางหนึ่งของสถานี นั่นก็คือ ด๊อกเตอร์ลีย์ และขบวนวงดุริยางค์ทหารที่ยกมาทั้งกรม อีกทั้งขบวนผู้แหนแห่อีกหนาแน่น..
ราวกับการต้อนรับพระเจ้าแผ่นดินและพระราชินีอย่างไงอย่างงั้น..

       ท่านดยุคและหม่อมได้เดินทางไปเกือบทั่วในเยอรมัน เข้าเยี่ยมชมกิจการ โรงงาน และ ศูนย์เยาวชนนาซี อีกทั้งฮิตเล่อร์
ได้สั่งให้บุคคลสำคัญต่างๆเช่น เกอริง,เฮสส์, เกิบเบิลส์, ฮิมม์เล่อร์ คอยเข้าประกบเคียงข้างอย่างไม่ให้คลาดสายตา
ที่ นูเรมเบอร์ก ท่านดยุคแห่งโคเบอร์ค (พระญาติสายเจ้าชายอัลเบิร์ต พระสวามีของพระนางวิคตอเรีย) ได้จัดงานเลี้ยง
รับรองถวาย ซึ่งแขกเชิญในค่ำคืนนั้น ล้วนแล้วแต่มาด้วยชุดเครื่องแบบนาซี พร้อมกับปลอกแขนตราสวัสดิกะ ซึ่งท่านดยุค
และหม่อมกับเห็นเป็นเรื่องปรกติ ไม่ว่าจะหันไปข้างไหน การต้อนรับได้จัดขึ้นอย่างสมพระเกียรติให้กับหม่อม ซึ่งท่านดยุคถึงกับ
เพิ่มความปลาบปลื้มเป็นทวีคูณให้กับรัฐบาลนาซีของฮิตเล่อร์สหายรัก

         ...แต่อะไรก็ไม่ร้ายเท่าท่านดยุคได้เสด็จไปร่วมในพิธีศพของนายทหารระดับสูงของนาซีคนหนึ่ง เมื่อยามที่ขบวนรถ
นำศพได้ผ่านตรงที่ประทับ พระองค์ได้ยกแขนออกไปทำ นาซีสลุต อันเป็นสิ่งที่สร้างความอับอายขายหน้าสำหรับชาวอังกฤษยิ่งนัก !!
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 10 ก.ย. 08, 11:48

        เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองอุบัติขึ้นในปี 1939 ทั้งสองจึงได้กลับเกาะอังกฤษโดยการจัดการของ
ท่านลอร์ดเมานท์แบทเทน ต่อมาเมื่อเยอรมันรุกคืบในสงคราม ทั้งสองจึงได้อพยพไปสเปน และปอร์ตุเกส
        เนื่องจากความสัมพันธ์ของพระองค์กับฝ่ายเยอรมันถึงขนาดมีข่าวว่าท่านทรงเผยแผนการลับของฝ่ายพันธมิตร
ในการป้องกันเบลเยี่ยมแก่เยอรมัน ในที่สุดรัฐบาลอังกฤษจึงจัดการส่งท่านไปดำรงตำแหน่ง governor
ในดินแดนห่างไกล - บาฮามาส   
        แม้ว่าท่านดยุคจะมิได้ทรงยินดีกับตำแหน่งนี้เลย ทั้งยังมองว่าหมู่เกาะนี้เป็น อาณานิคมบริทิชชั้นสาม
แต่ท่านก็ได้รับความชื่นชมอย่างมากจากความพยายามของท่านที่จะช่วยเหลือประชากรบนเกาะต่อสู้กับความยากจน
ทรงดำรงตำแหน่งนี้จนสงครามโลกสิ้นสุดลงในปี 1945

---- ช่วงนี้ คุณ WIWANDA เล่าว่า

             ในขณะที่ทั้งพระราชินี และพระเจ้ายอร์จที่หก ได้ทรงปักหลักสู้ตายกับฮิตเล่อร์อยู่นั้น..
ฝ่ายทางอดีตพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่แปด หรือ ปัจจุบัน คือ ดยุค ออฟ วินเซอร์  กับ หม่อม  ทั้งสองเอาใจช่วยฝ่ายศัตรู
อย่างไม่อ้อมค้อม.. ในเดือนเมษายน 1941 ท่านดยุคได้กล่าวว่า..
         "ถ้าอเมริกาจะมาร่วมรบในสงครามครั้งนี้ ก็นับว่าไม่ฉลาดเลย เพราะยังไงๆ ยุโรปก็ต้องพ่ายแพ้อยู่ดี"
ส่วนหม่อมวอลลิส หรือ ดัชเชส ออฟ วินเซอร์ ได้กล่าวเสริมขึ้นว่า
          "ถ้าอเมริกา..เข้ามาร่วมจริงๆ ก็บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ได้เลย..ว่า ประเทศนี้"เสียรู้" และ
ถูกเขา"เอาเปรียบ" ไปได้ทั้งปีทั้งชาติ"
   
         มาถึงตรงนี้ต้องเล่าถึงสัมพันธภาพของสองครอบครัวนี้หน่อยเป็นไร..ว่า..ไม่ลงรอยกันอย่างแรง..
เพราะ..หลังจากที่การสละราชสมบัติของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่แปดผู้อื้อฉาวอย่างกระทันหันนั้น..
ทางฝ่ายพระราชวัง(ที่นำทีมใหม่โดยพระราชินีอลิซาเบธ) ได้สร้างกระแสกีดกันทุกทางเพื่อไม่ให้ ดยุค ออฟ วินเซอร์
อยู่ในประเทศหรือได้รับตำแหน่งใดๆ ทางการเมือง เพราะ พระราชินีไม่ต้องการให้มี"หอกข้างแคร่" อยู่ใกล้พระองค์
เนื่องจากยังทรงเกรงกระแสในอดีตที่ประชาชนทั้งรักและคลั่งใคล้อดีตประเจ้าแผ่นดินนั้นอาจยังมีอยู่อีกมากมาย และ
เพื่อไม่ต้องการให้ข้าแผ่นดินยังฝักใฝ่ พะวักพะวงเป็นสองฝักสองฝ่ายราวกับมีระบบ "วังหน้า"  "วังหลัง"
ให้เกิดการมีข้าสองเจ้า บ่าวสองนายให้เป็นที่วุ่นวายไป จึงมีพระราชดำริให้ดยุค ออฟ วินเซอร์ออกไปให้พ้นๆ
จากอังกฤษจะเป็นการดีที่สุด..


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.061 วินาที กับ 19 คำสั่ง