ผมรู้สึกว่า พักหลังๆ นี้ มีกระทู้ของผู้หลงใหลในเสน่ห์ตัวอักษรหลายกระทู้
ผมอยากให้คุณโสกัน ป้านวล และใครต่อใครอื่นๆ พาผมเที่ยวเมืองอังกฤษในนิยาย คือไปดูสถานที่ที่ทึกทักว่ามีความเกี่ยวพันกับตัวละคร ที่ว่าไปแล้วก็ไม่มีตัวตนอยู่จริงแท้ๆ แต่ถูกเสกสรรค์ปั้นแต่งขึ้นมาอย่างมีชีวิตชีวา จนคนอ่านเคลิ้มไปตาม
ทั้งตรอกต้นเชอร์รี่ของแมรีป๊อปปิ้นส์ ร้านขายของเก่าของชาร์ลส์ ดิกเก้นส์ บ้านเลขที่ 221 บี เบเกอร์สตรีทของโฮล์มส ชานชาลาที่ 9 3/4 ของแฮรี่ พอตเตอร์ สโมสรปฏิรูปของ ฟิเลียส ฟอกก์ บ้านของศาสตราจารย์ เฮนรี่ ฮิกกินส์...
มันเป็นความหลงใหลที่เฉียดเข้าขั้นเพี้ยนหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่ผมว่าเป็นความเพี้ยนที่ไม่มีพิษภัย และสร้างเสริมจินตนาการด้วย
ผมอยากให้เด็กไทยสมัยนี้หลงใหลตัวละครในวรรณกรรมที่ถูกสรรค์สร้างขึ้นมาอย่างบรรจง (ถ้าหลงในตัวละครที่สร้างขึ้นมาห่วยๆ ก็แย่หน่อย) ในเมืองไทยหรือเมืองนอกก็ได้ แต่ในเมืองไทยก็น่าจะดี แฟนพันธุ์แท้กลุ่มหนึ่งที่ชื่นชอบ พล นิกร กิมหงวน เหลือเกิน เคยลงทุนทำแผนที่บ้านพัชราภรณ์ บ้านการุณวงศ์ บ้านสี่สหาย ฯลฯ แต่นอกจากนั้น ผมยังนึกไม่ออกว่ามีแฟนหนังสือไทย "คลั่ง" ตัวละครในนิยายอื่น ถึงขนาดนั้นอีกหรือไม่
จะแปลในทางดีก็คงได้ว่า นักอ่านบ้านเราแยกความจริงกับความคิดฝัน (ประโลมโลก) ออก มากกว่าฝรั่ง ละมั้งครับ แต่ความจริงกับความฝันแยกกันได้จริงๆ หรือ?
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าตัวละครในนิยายหลุดออกมาในโลกของความจริง? ... (เช่นในเรื่อง "ปลายเทียน" - หรือเรื่องอื่นๆ ของฝรั่งก็มี)
ประเด็นนั้นยกไว้ พลังอำนาจของภาษาอีกด้านหนึ่ง ที่สร้างภาพให้เกิดขึ้นในใจคนและนำไปสู่การเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงโลกจริงๆ ปรากฏในทางการเมืองด้วย ผมไม่ได้ไปที่บริติช มิวเซียม คราวนี้ เพราะเขาปิด แต่ถ้าได้ไปก็อาจจะได้ไปนึกเห็นภาพคาร์ล มารกซ์ อ่านหนังสืออยู่ที่มุมประจำของแกในห้องสมุด (เก่า) บริติชมิวเซียม
ภาพฝันในอุดมการณ์ของมาร์กซ์ ที่เขียนที้งไว้ มีผลสะเทือนโลกต่อมานานหลังแกตาย
ที่ห้องประชุม ครม. ใต้ดินสมัยสงครามโลกครั้งที่สองของเชอร์ชิล ผมได้เห็นหลักฐานของพลังอำนาจของภาษาอีกครั้งหนึ่ง (ถ้าผมได้มีโอกาสไปเบอร์ลินก็อาจจะได้เห็นพลานุภาพของภาษาอีกด้าน- ถ้าเขายังเก็บงานโฆษณาชวนเชื่อของเกิบเบิลส์ไว้ในพิพิธภัณฑ์) ประธานาธิบดีเคนเนดี้เป็นผู้ยกย่องเชอร์ชิลไว้ (หลังสงคราม) ว่าเชอร์ชิลเป็นผู้ที่สามารถใช้อำนาจของภาษามารับใช้อุดมการณ์ประชาธิปไตยเสรีนิยมได้เป็นอย่างดี ในการต่อสู้กับลัทธินาซี และความจริงก็เป็นเช่นนั้น คำปราศรัยของเชอร์ชิลหลายชิ้น เป็นงานที่เป็นอมตะ ไม่ว่าจะเป็นคำปราศรัยที่บ่งเจตนารมณ์อันแน่วแน่ว่า อังกฤษจะสู้ทุกหนทุกแห่ง บนชายหาด ในป่า ในเมือง จะไม่ยอมแพ้เป็นอันขาด หรือคำกล่าวสดุดีกองทัพอากาศที่ว่า ไม่มีครั้งใดเลยที่คนจำนวนมากขนาดนี้ คือประชาชนอังกฤษทั้งหมด เป็นหนี้บุญคุณอันใหญ่หลวงขนาดนี้ต่อคนจำนวนน้อยเช่นนี้ คือนักบินผู้กล้าหาญทั้งหลาย และยังมีคำปลุกเร้าใจให้ประชาชนอังกฤษและพันธมิตรร่วมมือร่วมใจกัน และเชื่อมั่นในเสรีภาพของมนุษย์ ที่จะกลับคืนมาหลังการต่อสู้อันยาวนานได้ผ่านพ้นไป และในที่สุดเผด็จการจะต้องพ่ายแพ้ ... อีกมากมายหลายชิ้น
ผมเกือบจะหลงใหลได้ปลื้มไปกับมนต์ขลังของอำนาจแห่งภาษาของเชอร์ชิล จนกระทั่งนึกขึ้นมาได้ถึงถ้อยคำสั้นๆ ในโทรเลขฉบับหนึ่ง ในประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่สองที่ไม่ค่อยมีคนสนใจนัก เป็นโทรเลขจากรัฐบาลอังกฤษถึงรัฐบาลประเทศเล็กๆ ทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประเทศหนึ่ง ว่า (ทำนองคล้ายๆ ยังงี้ครับ - จำไม่ได้แม่น) Defend yourself sorry we cannot help you.
ก็แน่ละสิ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไกลจากหัวใจอังกฤษเหลือเกินนี่-
แล้วถ้าผมจำประวัติศาสตร์ไม่ผิด เชอร์ชิลในฐานะผู้แทนราษฎรพรรคอนุรักษ์นิยม ไม่เห็นด้วยเลยในการที่จักรวรรดิบริติชจะปล่อยให้ชมพูทวีปเป็นอิสรภาพ ผมไม่ทราบเหมือนกันว่าถ้าท่านมหาตมะคานธีมาเดินดูนิทรรศการอยู่กับผมด้วยกัน ท่านจะว่าอย่างไรเมื่อได้ยินเชอร์ชิลพูดถึงเสรีภาพของมวลมนุษย์ เสรี แปลว่า เป็นอิสระจากลัทธินาซี แต่ถ้าตกอยู่ภายใต้แอกอาณานิคมของอังกฤษเองก็ไม่เป็นไร

?
มหาตมะคานธีท่านคงไม่คิดเหมือนผมหรอก อย่างมากท่านก็คงจะยิ้มเย็นๆ ตามแบบของท่านเท่านั้น...
แต่วูบหนึ่ง ผมก็เผลอหลงนึกว่าเชอร์ชิลเป็นวีรบุรุษผู้บูชาเสรีภาพไปแล้วจริงๆ ตามที่ถ้อยคำที่ล้อมตัวผมสร้างภาพไปทางนั้น ผมต้องบอกตัวเองว่า ผมไม่ปฏิเสธ ว่าเชอร์ชิลเป็นมหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของอังกฤษ เป็นนักการเมืองผู้ยิ่งใหญ่ และใช้ถ้อยคำได้เก่งจริงๆ...
ไม่เกี่ยวกับเรือนไทยเท่าไหร่เลยครับ เพียงแต่อยากเล่า...