เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
อ่าน: 16577 ประวัติสุนทรภู่ ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์ เปรียญ)
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


 เมื่อ 25 มิ.ย. 08, 14:47

ตามบัญชาของคุณเทาชมพู
เพื่อการสนทนาขยายวงความรู้เรื่องสุนทรภู่


หนังสืออนุสรณ์ในงานฌาปนกิจ  นางจันทร์  ตาละลักษมณ์ ๒๕๓๓
อ่านด้วยความขอบพระคุณ บุตร ของ ของ นางจันทร์ ที่ได้พิมพ์หนังสือเล่มนี้ขึ้นมาด้วยเจตนาอันประเสริฐ

ขอเล่าประวัติของท่านผู้วายชนม์เพื่อกราบระลึกพระคุณที่ได้อ่านหนังสืออันมีค่าอย่างยิ่งไว้ ณ ที่นี้

ท่านสมรสกับ ร.ต.เขม  บุตรของเจ้าคุณปริยัติธรรมธาดา
ท่านเป็นหนอนหนังสือ  และได้อ่านหนังสือที่ท่านเจ้าคุณสะสมไว้หลายตู้ใหญ่  สามารถจำโคลงกลอนของสุรทรภู่ อิเหนาและหนังสืออื่นๆได้มากมาย
ตลอดระยะเวลาอันยาวนานของท่านกว่า ๙๐ ปี ได้เป็นร่มโพธิร่มไทรของครอบครัว  อบรมลูกหลานให้เป็นผู้มีความกตัญญู ประพฤติดีประพฤติชอบ




อธิบดีกรมศิลปากร นายทวีศักดิ์  เสนาณรงค์  เล่าไว้ใน คำนำว่า

ในปี พ.ศ. ๒๔๕๖   พระยาปริยัติธรรมธาดา  ได้รวบรวมค้นคว้า ประวัติสุนทรภู่  และบันทึกเรื่องราวจากมุขปาฐะของบุคคลที่เคยรู้จักหรือมีความรู้เกี่ยวกับสุนทรภู่  อันเป็นวิธีค้นคว้าที่ทันสมัยตรงกับหลักการการค้นคว้าวิจัย

ต้นฉบับที่เป็นลายมือ เก็บไว้ที่กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์
พิมพ์เป็นครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๒๙ ในงานฉลองครบรอบ ๒๐๐ ปี กวีเอกสุนทรภู่
การพิมพ์ครั้งนี้ ๒๕๓๓ เป็นครั้งที่สอง  พิมพ์ ๕๐๐ เล่ม


คุณกุลทรัพย์  เกษแม่นกิจ  ได้อธิบายไว้ในเชิงอรรถว่า
"ได้จัดพิมพ์ไปตามต้นฉบับที่พบ โดยมิไ้ด้ตัดต่อเพิ่มเติมหรือแก้ไข  นอกจากทำเชิงอรรถเพิ่มเติมในบางแห่ง
....................................
พระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษณ์)เป็นผู้บุกเบิกริเริ่มศึกษาค้นคว้าประมวลความรู้เกี่ยวกับสุนทรภู่
และได้รวมรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์บุคคลต่างๆซึ่งเป็นการหาข้อมูลที่ถูกต้องตามหลักการศึกษาค้นคว้า
และทั้งผู้อ่านจะได้ทราบหลักฐาน แนวความคิด และข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับสุนทรภู่ที่ผู้ค้นคว้าประมวลได้ในสมัยแรกเริ่ม
เมื่อความรู้เกี่ยวกับสุนทรภู่ยังไม่เป็นที่ทราบทั่วกัน"


บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 25 มิ.ย. 08, 15:14

ประวัติสุนทรภู่

หน้า ๑ 

"ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้น  ฝ่ายจินตกวีมีชื่อคือหมายเอาสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวเป็นประธานแล้ว 
มีท่านที่ได้รู้เรื่องราวในทางนี้กล่าวว่าพระองค์มีเอตทัคคสาวกในการสโมสรกาพย์กลอนโคลงฉัณท์อยู่ ๖ นาย  คือ
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ๑
ท่านสุนทรภู่ ๑
นายทรงใจภักดิ์ ๑
พระยาพจนาพิมล(วันรัตทองอยู่) ๑
กรมขุนศรีสุนทร ๑
พระนายไวย ๑  ภายหลังเป็นพระยากรุง(ชื่อเผือก) ๑
ในหกท่านนี้แล  ได้รับต้นประชันแข่งขันกันอยู่เสมอ"


เรียนคุณเทาชมพู
ขออนุญาตใส่เลขที่หน้า  เพราะจะได้รวมความที่เป็นเรื่องเดียวกันไว้ด้วยกัน
ต้นฉบับเป็นหน้าสั้นๆ  ยังมิได้เรียบเรียง
จะคัดลอกมาแต่เรื่องแปลกๆที่ไม่เป็นที่ทราบโดยทั่วไป
แต่จะเอ่ยนามผู้ที่ท่านเจ้าคุณได้ไปสัมภาษณ์ไว้ืุทุกรายและย่อความ

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 25 มิ.ย. 08, 15:41

สุนทรภู่ จาก  นายแก้วภักดี  หน้า ๕ - ๖


"ท่านสุนทรภู่นี้มีเรื่องราวเป็นอันมาก  แต่คนนั้นได้ไว้บ้าง  คนนี้ได้ไว้บ้าง  สืบสวนยังไม่ทั่วถึง 
แลท่านผู้จำเรื่องราวได้ก็ออกตัวว่าเป็นแต่เขาว่า ท่านหารับว่าจริงหรือปฏิเสธไม่
แต่ข้าพเจ้ามีความเห็นชัดว่าเป็นธรรมดากิตติของผู้โด่งดัง  ก็ย่อมมีผู้นิยมจำกันมา
ถ้าไม่เป็นกิตติของท่านผู้นั้นแล้ว  เหตุไฉนจึงโด่งดังเป็นข่าวให้จำเล่าสืบกันมาได้เล่า



ธรรมดาคนที่กล่าวสุนทร กล่าวสุภาษิตนี้  ย่อมมีผู้นิยมจำกันอยู่เอง  เช่นกล่าวว่า

     เขากินหมูหนูพัดสู้กัดเกลือ          ไม่ง้อเรือแหหาปลาจำแบ

เท่านี้ก็ยังอุตส่าห์จำกันมา      ความจะกล่าวปรารภเรื่องอะไร  ครั้งไร  ในหนังสือไร  ผู้จำก็บอกไม่ได้
อันหนูพัดนั้นก็ย่อมรู้กันว่า เป็นลูกรักซึ่งจะไปไหนจะห่างร้างไม่ได้เลย



ฝีปากของท่านสุนทรภู่นี้มีผู้ชอบจำกันเป็นกบ่อนกแบ่น       คือชมว่าท่านจะเอ่ยอะไรขึ้นแล้วกินความทุกอย่าง
ชั้นบทกลอนก็ไม่ขัดเขินเลย  อย่างชมกรุงศรีอยุธยาบทหนึ่งว่า

     กรุงศรีอยุธยาเจ้าข้าเอ๋ย             รักจะเชยก็ได้ชมสมประสงค์

แล้วจะมีต่อไปมากมายอยู่  แต่ผู้จำยกมาชมได้เท่านี้  ว่าเป็นความทรงจำไม่รู้ที่มา




ยังอีกข้อหนึ่ง
     ถึงจะมีวิมานสถานทิพย์               ลอยละลิบเลิศมนุษย์สุดประถม
     แม้นไม่มีคู่เคียงเรียงภิรมย์            ก็เกรียมกรมกรอมใจไม่สบาย

ในเรื่องนี้ผู้ชม กล่าวว่า  พูดถูกใจดำมนุษย์  ถูกธรรมดาความจริงของชายหนุ่มหญิงสาวทั้งหลาย"

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 25 มิ.ย. 08, 15:51

"เรื่องนี้ นายแก้วภักดี  เป็นข้ารา่ชการในกรมมหาดเล็ก  ซึ่งเวลานี้( พ.ศ. ๒๔๕๖ เมื่อแต่งเรื่องนี้)มีอายุ
แลตั้งเคหสถานขายหนังสืออยู่ในตรอกหลังตึกถนนบำรุงเมือง เป็นผู้เล่าให้ฟัง     

แต่เจ้าของไม่รับว่า
เป็นเรื่องที่แน่นอนว่า เป็นของสุนทรภู่  เพราะเป็นเรื่องจดจำ



เมื่อได้ความแค่นี้   ข้าพเจ้าจึงถามถึงกำเนิดชาติภูมิ   ท่านผู้นี้ก็บอกว่า

เป็นคนชาวเมืองแกลง
ตำบลบ้านอยู่ที่เนินค้อ  เรียกว่าบ้านเนินค้อ

แลจะได้เข้ากรุงมาเมื่อไรไม่ได้ความ"   
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 25 มิ.ย. 08, 17:18

สาธุ........
ขอบคุณขนาด
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 25 มิ.ย. 08, 18:13

เคหสถานของสุนทรภู่


หน้า ๑๒
"ท่านอาจารย์สุนทรภู่มีผู้รู้จักโดยมากว่า  ได้เคยมีเคหสถานอยู่ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาแถบวัดมหาธาตุนี้เอง



หน้า ๑๖
สุนทรภู่นี้  มีกล่าวกันอีกว่า  เมื่อเวลารับราชการอยู่นั้น  บ้า่นช่องไม่มี  อยู่เรือประทุน
มีผู้เห็นโดยมากว่า  จอดอยู่ท่าช้างวังหลวงเสมอ ๆ
เพราะจำได้แม่นยำ  คือแลเห็นสำรับคู่หนึ่งปิดฝาชีแดงตั้งอยู่หน้าเรือเสมอ



นัยว่าการที่ต้องจอดเรืออยู่ท่าช้างวังหลวงนี้  มีเกี่ยวราชการที่รับสั่งให้หาเนืองๆ
ต่างว่าทรงพระราชนิพนธ์เรื่องใดขึ้น  ก็เป็นต้องตามหาตัวมา  ให้เป็นคนฟังคอยทักท้วงในบางแห่งเสมอ ๆ
เพราะฉะนั้นจึงต้องจอดอยู่ที่นั่นเป็นกิจกว่าที่อื่น



หน้า ๕๔
ตำแหน่งบ้านเรือนที่อยู่ของท่านสุนทร(ภู่) ที่เข้าใจแน่นั้น  คืออยู่ที่วังหลังแห่ง ๑   ที่ท่าช้าง(วังหลวง)แห่ง ๑



หน้า ๕๕
ที่บ้านที่วังหลังนั้น  ตามที่หม่อมราชวงศ์หญิงเล่าว่า 
เรือนของท่านสุนทร(ภู่)  ได้ตั้งอยู่ที่ริมกำแพงวังหลัง 
เพราะฉะนั้น  เข้าใจว่าบ้านที่วังหลังนั้นคงจะเป็นที่เดิมอยู่ในที่นั้นมาก่อน
มีในนิราศสุพรรณเป็นโคลงว่า
               วังหลังครั้งหนุ่มเหน้า               น้องเอย
         เคยอยู่คู่ชื่นเชย                          ค่ำเช้า
         ยามนี้ที่เคยเลย                          ลืมพัก

ก็ที่ที่ท่าช้างนั้นว่า เป็นที่พระราชทาน(เข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๒ ทรงพระราชทาน) มีในนิราศสุพรรณ เป็นโคลงว่า

                ท่าช้างหว่างค่ายล้อม              แหล่งสถาน
         ครั้งพระโกษโปรดประทาน               ที่ให้
         เคยอยู่คู่สำราญ                          ร่วมเย่า  เจ้าเอย
         เห็นแต่ที่มิได้                             พบน้องครองสงวน

ที่ว่าท่าช้างนั้น  เห็นจะเป็นที่ ท่าช้างวังหลวง
หว่างค่าย นั้น  เห็นจะเป็นที่หว่างป้อม  เพราะคนชั้นเก่ามักจะเรียกรวมคำว่า  ค่ายป้อม
(เข้าใจว่าที่ข้างป้อมท่าช้างวังหลวง)"

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 25 มิ.ย. 08, 18:30

ขอบคุณคุณพิพัฒน์ค่ะที่แวะมาอ่าน

จำเดิมได้เก็บวลีหรูหราแปลเองยังไม่ค่อยเข้าใจจากที่ท่านเจ้าคุณทิ้งไว้  ตั้งใจจะนำมาตั้งชื่อกระทู้
ประมาณว่า  ฯสุนทราอาคเตเมปุจฉา  หรือ   สังสาสุภสารสะท้านดิน
มีผู้เล่าถึงวลีนี้ถึงสามท่าน

ความเป็นนักอ่านก็กลับคืนมาทัน  ว่ามีบุญแค่ไหนที่ได้พบ ได้อ่าน  นำมาเล่าต่อได้ เพื่อจะฟังความคิดอ่านของทุกท่านในเรือนไทย

มีเรื่องสนุก ๆ อีกมากค่ะ

จะพิมพ์มาอีกเรื่อย ๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 25 มิ.ย. 08, 18:51

เข้ามาขอบคุณคุณ Wandee ค่ะ  ที่มาสนองตามที่ร้องขอไป 

อ้างถึง
ฝีปากของท่านสุนทรภู่นี้มีผู้ชอบจำกันเป็นกบ่อนกแบ่น       คือชมว่าท่านจะเอ่ยอะไรขึ้นแล้วกินความทุกอย่าง
ชั้นบทกลอนก็ไม่ขัดเขินเลย  อย่างชมกรุงศรีอยุธยาบทหนึ่งว่า

     กรุงศรีอยุธยาเจ้าข้าเอ๋ย             รักจะเชยก็ได้ชมสมประสงค์

แล้วจะมีต่อไปมากมายอยู่  แต่ผู้จำยกมาชมได้เท่านี้  ว่าเป็นความทรงจำไม่รู้ที่มา

ยังอีกข้อหนึ่ง
     ถึงจะมีวิมานสถานทิพย์               ลอยละลิบเลิศมนุษย์สุดประถม
     แม้นไม่มีคู่เคียงเรียงภิรมย์            ก็เกรียมกรมกรอมใจไม่สบาย

กลอนบาทข้างบน ไม่อยู่ในนิราศเรื่องไหนทั้งสิ้น  ถ้ามีจริงก็คงเป็นผลงานที่เราไม่รู้จักกัน   เข้าใจว่ามีหลายเรื่องที่สูญหายไป

ส่วนกลอนบาทล่าง  ข้อความ ๓ วรรคแรก อยู่ในนิราศพระแท่นดงรัง ของนายมี    มีแต่วรรคสุดท้ายเท่านั้นลงไม่เหมือนกัน
ความเต็มๆในนิราศพระแท่นดงรัง ว่าอย่างนี้ค่ะ

ถึงมีเพื่อนก็เหมือนพี่ไม่มีเพื่อน                     เพราะไม่เหมือนนุชนาฏที่มาดหมาย
มีเพื่อนเล่นก็ไม่เหมือนกับเพื่อนตาย              มีเพื่อนชายก็ไม่เหมือนกับเพื่อนชม
ถึงจะมีวิมานสถานทิพย์                              อันลอยลิบเลิศมนุษย์สุดประถม
แต่ไม่มีคู่เคียงเรียงภิรมย์                            จะเกรียมตรมตรึกหาเป็นอาจิณ
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 25 มิ.ย. 08, 20:56

เจ้าคุณท่านเก็บความ จากความทรงจำของบุคคลต่างๆ ไว้มากมาย
ที่น่าสนใจมีอยู่สองสามท่าน เหตุที่สนใจก็เพราะเป็นผู้เคยเจอะเจอตัวจริงของท่านสุนทร
ปีรวบรวม คือ 2456 ตามตำราเก่า ก็ถือว่าห่างจากปีตายของท่านสุนทรถึง 58 ปี
จะว่ามาก ก็นับว่ามากโขอยู่
เทียบปัจจุบัน ก็เหมือนเก็บข้อมูลทหารไทยในสงครามเกาหลี
แต่ก็ยังไม่เห็นความยากลำบากนัก เพราะสงครามเกาหลี มีเอกสารมาก อยู่ในยุคที่หนังสือพิมพ์หาง่ายแล้ว

เราจะเห็นจากความสับสนที่ท่านบันทึกความทรงจำของหลายท่าน ที่เอากลอนคนอื่นมาปนเป็นของท่านกวีเอก
อย่างนิราศพระแท่นดงรัง ถ้าคุณธนิต ไม่ฟันธงเมื่อหลายสิบปีก่อน ทุกวันนี้ก็คงยังถือว่าเป็นของท่าน
ในวันนั้น ท่านเจ้าคุณได้เจอบุคคลหนึ่ง ซึ่งบอกว่าได้ไปขมาศพท่านสุนทร
ตรงนี้น่าสนใจ

การที่ต้องขมาศพนั้น บ่งบอกว่า เคยมีความสัมพันธ์กัน และอายุไม่น่าจะห่างกันนักหนา
เพราะถ้าห่างกันมาก ต้องใช้ว่าเคารพศพ ไม่ใช่ขมาศพ
ตำราบอกว่าสุนทรภู่ตายอายุ 69 (2329-2398)
คนที่จะไปขมาศพ จะอ่อนกว่าสักเท่าไรเชียว ถ้าวันนั้นอายุ 20 มาเจอเจ้าคุณก็ต้อง 78
ถ้าวันนั้น 30 เจอเจ้าคุณก็ปาเข้าไป 88 แล้วถ้าอายุ 40 มิปาเข้าไปร่วมร้อยหรือ

ผมไม่พบว่าเจ้าคุณท่าน จะบอกเกี่ยวกับบุคคลผู้นี้ทำนองว่าอายุมาก หรือแก่เฒ่าอะไรเป็นพิเศษ
แปลว่าเมื่อท่านพบ"เพื่อนร่วมรุ่น" ของสุนทรภู่ ท่านผู้นั้น คงแก่ตามปกติ อาจจะอายุ 60-70
แปลต่ออีกว่า ท่านผู้นั้น อายุต้องไม่ห่างท่านสุนทรภู่ขนาดเป็นปู่กับหลาน น่าจะแค่พี่ใหญ่และน้องเล็ก

คิดกลับไปกลับมาหลายตลบ สรุปได้ว่า ปีตายท่านสุนทร เห็นจะไม่ห่างปีที่ท่านเจ้าคุณทำวิจัยสักเท่าไรนัก
แปลว่าท่านสุนทรอาจจะตายหลัง 2398 มาอีกหลายปีดีดัก

คนต่อไปคือท่านฑัต พระยาสโมสรสรรพการ
จะขอให้เล่าถึงข้อมูลจากท่านผู้นี้ก่อน จะได้ใหมครับ
บันทึกการเข้า
Oam
แขกเรือน
ชมพูพาน
***
ตอบ: 168



ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 25 มิ.ย. 08, 21:08

ลงชื่ออ่านครับ
เจ้าของกระทู้จะได้มีแรงมาแปะต่อ
ขอบคุณครับ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 25 มิ.ย. 08, 21:16

ขอบคุณค่ะ คุณเทาชมพู
ยังมีเรื่องที่ต้องขอคำอธิบายอีกหลายเรื่อง


เคหสถาน
หน้า ๑๓
ในที่นี้สืบได้แต่เจ้าคุณธรรมถาวร วัดระฆัง

ทราบอยู่แต่ตอนภายหลังว่า  เมื่อท่านสุนทรภู่ชราลงแล้ว  กราบถวายบังคมลาออกนอกราชการ
รวบรวมทุนทรัพย์ได้พอสมควร   แล้วไปซื้อสวนอยู่ที่ตำบลบางระมาดติดกับสวนที่บ้านของเจ้าคุณ

สวนนั้นก็ไม่ได้ทำประโยชน์อันใด  ให้ไอ้โข่บ่าวอยู่รักษา   ท่านสุนทรก็อยู่ที่สวนนั้น
หากินทางแต่งหนังสือบทกลอนเพลงยาวไปตามเพลง

มีกล่าวว่าไอ้โข่เป็นคนเกกมะเหรกมาก  ว่ายากเย็นเต็มที  มีความมาถึงท่านอาจารย์ไม่ค่อยว่างเลย
ท่านอาจารย์ก็เก่งในการปราบ   เขาว่าเฆี่ยนแต่ละครั้งไม่ปรา่นี   มันก็ดื้อขืนเกเรให้เิกิดความอยู่เสมอ ๆ มา

นัยกล่าวว่า  ท่านชราหนักลงก็ได้ถึงแก่กรรมที่บ้านสวนนั้นเอง


หลวงพรหมา(จัน)ยืนยันว่าได้เป็นผู้คุ้นเคยกับท่านสุนทรภู่มาก
เวลาทำศพที่วัดใหม่ชิโนรสนี้เอง   ท่านยังได้ไปขมาศพในการฌาปนกิจด้วย



หน้า ๖๐

ภายหลังต่อมาในรัชกาลที่ ๔   ท่านสุนทร(ภู่่่่)  ได้กลับเข้ารับราชการอีกตามเดิม 
ได้รับตำแหน่งยศบันดาศักดิ์ เป็นพระสุนทรโวหาร จางวางกรมพระอาลักษณ์ ฝ่ายกรมพระราชวังบวร

ในที่สุดไปซื้อที่สวน หรือที่บ้าน(ของนายจุ้ย ปู่ของนายกลั่น) อยู่ที่ตำบลบางละมาด  ริมวัดเรไร  ใกล้เคยงกับโยมของพระธรรมถาวร (วัดระฆััง) เยื้องกันกับวัดเชิงเลน  แล้วก็อยู่ในที่(บางละมาด) นั้นจนตลอดชีวิต  เมื่อถึงแก่กรรมอายุได้ ๘๐ ปีเศษ


บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 25 มิ.ย. 08, 21:37

ขอบคุณค่ะคุณ Oam

เรื่องนี้พยายามเรียงข้อมูลเรื่องเดียวกันไว้ใกล้ ๆกันก่อนค่ะ



รับทราบค่ะคุณพิพัฒน์  เรื่องศพ หรือ อัฐิที่บรรจุก็ แปลกออกไปค่ะ




หน้า ๕๓  พระสุนทรโวหาร(ภู่)เป็นจินตกวีอย่างวิเศษคนหนึ่งในชั้นรัตนโกสินทร์   ตัวท่านเองก็ล่วงลับดับสูญไปหลายสิบปีมาแล้ว
แต่ยังมาได้เค้าเงื่อนซึ่งควรจะเป็นประวัติไว้นั้นมีอยู่

โดยทางสันนิษฐานตามที่ควรจะนำมาเป็นสิ่งสำคัญได้   คือหนังสือเรื่องนิราศต่างๆซึ่งเป็นถ้อยคำสำนวนของท่านสุนทร(ภู่)แต่งไว้เองบ้าง
กับอาศัยการสืบถามได้ความจากผู้อื่น  ที่เคยได้ยินได้ฟังมาจากผู้ที่เป็นคนคุ้นเคยในรุ่นเดียวกัน  หรือมีอายุทันกัน(กับท่านสุนทรภู่นั้นบ้าง) 
และจำเอาเรื่องราวของท่านสุนทรภู่(เกือบจะเป็นนิยายอันหนึ่ง)เล่าต่อ ๆ กันมา

เมื่อถึงที่สุดแห่งชีวิตแล้ว  เข้าใจว่าศพหรืออัฐิคงจะเอามาบรรจุไว้ในกุฏิวัดสระเกศ





















บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 25 มิ.ย. 08, 22:14

ตามที่คุณพิพัฒน์อยากอ่านค่ะ

สุนทรภู่  จาก  พระยาสโมสรสรรพากร(ทัด)

หน้า ๗ - ๑๒

(ขออนุญาตตัดตอนที่เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วออกไปบ้าง  แต่ถ้ามีอะไรที่แปลกจะคัดมาทันทีค่ะ)



"ตามที่ได้ความจากพระยาสโมสรสรรพากร(ทัด)  มีว่าดังนี้

นายพัดบุตรเมื่ออายุได้ ๔๐ ปี  และเจ้าคุณสโมสร  อายุก็ราว ๒๕  ซึ่งในเวลานี้ก็ ๗๐แล้ว  (๒๔๕๖)
ได้มาสามิภักดิ์รับใช้การอยู่ในเจ้าคุณ  จึงได้คุ้นเคยเรื่องราวสุนทรภู่แต่นั้นมา

บรรยายความว่าการที่ท่านสุนทรภู่ต้องโทษบ่อย ๆนั้น  โดยพระราชโองการให้ไปจำไว้  ในเหตุที่มารดากล่าวหาอยู่เนือง ๆ ว่าเป็นคนขัดโอวาท  หรือใช้คำทุภาษิตต่อมารดาอย่างแรง




หน้า ๗ ๘ และ หน้า ๙  พูดถึง  น้ำใสไหลเย็น    กลาดเกลื่อนจตุรงค์ตรงมา  ที่เป็นกลอนทอด  คือทอดไม่เหมาะความ
ที่แก้ตอนสีดาผูกคอตายนั้น เป็น  วายุบุตรแก้ได้ดังใจหมาย    เขาว่า โปรดมาก ถึงกับได้รับพระราชทานรางวัล



เจ้าคุณสโมสร ฯ เล่าต่ออีก เมือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ทรงพระราชนิพนธ์สังข์ทองตอนเขยทั้ง ๖ หาปลา
พระราชนิพนธ์ว่าดังนี้

             สงสารแต่เงาะป่าประดาเสีย        จะพาเมียสุ่มช้อนจนอ่อนหิว

ในตอนนี้กล่าวว่าทรงมาพักอยู่ตรงนี้นานอยู่   จึงโปรดให้ท่านสุนทรภุ่ต่อ  ก็หายใจถวายว่า

             เห็นเต็มนักก็จะได้แต่ปลาซิว       พระจะกริ้วโกรธาด่าตี

พระราชนิพนธ์เมื่อทรงติดขัดแล้ว  ทรงยอมให้นักปราชญ์แก้   แต่ที่แก้ถวายนั้นหาจำเป็นที่จะทรงแทรกทรงต่อทั้งดุ้นไม่  แล้วแต่พระราชวิจารณ์ 
เพราะฉะนั้นตกอยู่ในเรื่องทรงแปลงแก้ไขใหม่อีกครั้งหนึ่งเสมอทุกคราว  ขอให้เทียบดู

คำเดิมว่า  พระจะกริ้วโกรธาด่าตี   เมื่อทรงชำระว่า  พระจะกริ้วโกรธาให้ฆ่าฟัน


แต่ในบทที่ว่า  จะพาเมียซุ่มซ่อนจนอ่อนหิว  ในฉบับพิมพ์ ๑๒๕(พ.ศ. ๒๔๔๙)เห็นจะพลาดเมื่อเวลาลงพิมพ์
ผู้ตรวจไม่เข้าใจคำว่า  สุ่มปลา ช้อนปลา   เคยชำนาญแต่การซุ่มการซ่อน  เห็นว่าเงาะจะพาหญิงไปซุ่มไว้ในป่า  จึงได้แก้คำ สุ่ม เป็น ซุ่ม  คำ ช้อน เป็น ซ่อน  ไถลไป"











บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 25 มิ.ย. 08, 23:21

ขอบคุณอีกครั้งครับ คอขวดที่ตีบตันในการศึกษาของผม ค่อยกว้าง คิดคล่องขึ้นหน่อย
---------------------------
มีหมุดเวลาอยู่ในข้อความนี้ ที่บอกว่าเจ้าคุณอายุ 70 เมื่อปี 2456 แปลว่าท่านเกิด ราว 2388
นายพัดบุตรสุนทรภู่ แก่กว่า 15 ปี นายพัดจึงเกิดเมื่อ 2371
คือเกิดในปีที่ 4 ของรัชกาลที่ 3 พูดง่ายๆ ก็คือเกิดปีที่เจ้าอนุตายนั่นแหละครับ

ถ้าเป็นไปตามนี้ สิ่งที่ผมเพ้อเจ้อมาแต่นานนม ก็สมคเน.....5555555
คือปี 2370 ท่านภู่ยังสามารถมีการเจริญพันธุ์กับภริยาได้ แปลว่ามิได้บวช.....

แต่ ช้าก่อน
แล้วใครล่ะที่เป็นพระ ที่สอนหนังสือเจ้าฟ้าทั้งสอง และแต่งเพลงยาวถวายโอวาทในปี 2373
นี่ละครับ กลอันยอกย้อนของหลักฐาน
ถ้าเราเชื่อเจ้าคุณปริยัติ สมเด็จก็ผิด
แต่ถ้าเราเชื่อเจ้าคุณขึ้นมาจริงๆ เราอาจจะมีสุนทรภู่หลายคนเอาน่ะซี

เจ้าคุณสโมสรนั้น เป็นศิษย์ของนายเศวตศิลา อาละบาสเตอร์
เป็นกุเรเตอร์ไทยคนแรก เมื่อท่านรับงานนั้นเป็นต้นรัชกาลที่ 5 2517 ถ้าจำไม่ผิด ยังเป็นหนุ่ม
(ถ้าคุณ wandee มีหนังสือ 100 ปีพิพิธภัณฑ์ จะมีบทความของอาจารย์ชิน อยู่ดี
กล่าวถึงข้าราชการรุ่นแรกของมิวเซียมคองคอเดีย มีกล่าวถึงหนุ่มฑัต และระบุอายุไว้
ผมอ่านมานานเกินไป จำสาระมิได้)

จับหลักว่า ท่านคงเกิดปี 2390 กว่าๆ เป็นอย่างเร็ว หรือสัก 2400 เป็นอย่างช้า
ตรงนี้ คือข้อกังขาของผม เพราะมาถึง 2356 ก็จะอายุเพียง 60 กลางๆ ห่างจาก 70 อยู่ไม่น้อย
เสียดายที่หาปีเกิดของท่านไม่ได้

ปริศนานี้ จึงค้างอยู่

ถ้าท่านสุนทรตาย 2398 ปีนั้น ท่านฑัตก็ยังเพิ่งหัดเดิน หัดพูด หรือหัดอ่านกอ ข้อ กอ กา
สรุปความว่ายังจำความไม่ได้


บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 25 มิ.ย. 08, 23:53

ขอบคุณครับ

สนใจข้อมูลจากผู้ที่เคยเจอตัวสุนทรภู่เป็นพิเศษเหมือนกันครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.144 วินาที กับ 20 คำสั่ง