เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3
  พิมพ์  
อ่าน: 16572 ประวัติสุนทรภู่ ของ พระยาปริยัติธรรมธาดา(แพ ตาละลักษมณ์ เปรียญ)
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 26 มิ.ย. 08, 07:10

สมใจนึกแล้วค่า   รับฟังความคิดของคุณพิพัฒน์
อ่านของคุณชิน อยู่ดีน้อยมากค่ะ
ตามอ่านว่าสุดท้ายครูสมิทได้แจกเงินนายพัดนายตาบหรือไม่ สงสัยมานาน  ยังไม่ชัดค่ะ
วันหน้าจะคุยกันเรื่อง อาลาบาสเตอร์ ไหมคะ  พอมีเอกสารกระจัดกระจายอยู่บ้าง
ตอนคุณหญิงแหม่มกลับบ้าน ท่านเลหลังแม้กระทั่งกระป๋องสังกะสีในสวน

สวัสดีค่ะคุณ Crazy HOrse


บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 26 มิ.ย. 08, 07:35

หน้า ๑๐     เจ้าคุณสโมสรฯ


"ยังมีความอัศจรรย์ของท่านสุนทรภู่อีกประการหนึ่ง  ซึ่งเห็นจะน้อยคนที่ได้รู้เรื่อง
คือ   ใครไม่เคยเห็นจะเพิ่งเคยเห็นว่า  ท่านสุนทรภู่แต่งโคลงเป็นหรือไม่   เพราะว่าเรื่องที่ปรากฏแพร่หลายท่านสุนทรภู่เคยแต่งแต่กลอน
 คือกลอนสวด กลอนแปด  กลอนนิราศ  กลอนเสภา  กลอนเพลงยาว

แต่เจ้าคุณสโมสรฯ ได้หลักฐานมาจากนายพัดบุตรของท่านอาจารย์นั้น
แสดงว่าท่านสุนทรภู่แต่งโคลงฝีปากและโวหารพริ้งเพราะพอใช้
ควรฟังควรจำอยู่

นายพัดผู้จำได้เคยว่าให้เจ้าคุณฟังดังนี้

              แจ้วแจ้วจักจั่นจ้า                       จับใจ
              หริ่งหริ่งเสียงเรไร                       ร่ำร้อง
              แซงแซวส่งเสียงใส                     ทราบโสต

ได้สามบาทแค่นี้    จะเป็นเจ้าคุณจำได้ไว้แต่สามบาท  หรือจะเป็นนายพัดจำได้แต่สามบาท  ข้อนี้หาได้สืบสวนไม่
ในทำนองเป็นทีเล่นโคลงอักษรล้วน  เป็นลักษณะโคลงกลบท
จะว่าเวลาใดเป็นใครเปล่งอุทานในเรื่องใดก็ไม่แจ้ง
.......................................
เชิงอรรถ แจ้งว่า   โคลงนิราศสุพรรณ
.......................................

จะเรียกว่าชมนกชมไม้ก็เข้าเชิงอยู่    ทำนองก็จะเป็นแรมไพรลักษณะนิราศนั้นเอง
แต่งลักษณะโคลงชนิดนี้ย่อมจะเป็นโคลงประกวดประขันกัน"

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 26 มิ.ย. 08, 07:45

หน้า ๑๐

"เรื่องของท่านสุนทรภู่นี้  ตามที่ข้าพเจ้าเคยกล่าวแล้วโดยมากว่า  เป็นกิตติศัพท์
เพราะว่าต่างคนต่างได้ฟังเล่า     ต่างคนต่างได้จดจำมาตามที่พอใจหรือไม่พอใจแต่ติดหูมาเองก็มี
เพราะฉะนั้นครั้นสอบสวน  ขอคัดความจดจำของท่านเหล่านั้นมา 
วัตถุ  ประเทศ  กาล  ก็คลาดกันไป
แต่จำเป็นต้องเขียนตามที่ท่านเล่าให้ฟัง  ถึง วัตถุ  กาล  ประเทศ จะคลาดกันไปก็ดี

ข้อนั้นเมื่อรู้ได้แล้ว  ผู้อ่านทั้งหลาย   ควรจะยกเว้นความเข้าใจตามออกไว้
คงถือเอาแต่เนื้อเรื่องว่า   ถึงแม้จะมีผู้กล่าวต่าง ๆ  โดย กาล  วัตถุ  ประเทศ ก็ดี
เนื้อเรื่องนั้นเป็นพยานกันเอง
ให้เห็นว่าคำนั้นเป็นของท่านสุนทรภู่จริง"
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 26 มิ.ย. 08, 08:11

สุนทรภู่  จาก  พระอมรสินธพ(นก)

หน้า ๑๔


"พระอมรสินธพ  อายุ ๗๗ เวลานี้(๒๔๕๖)   ว่า

เมื่อท่านอายุได้ ๑๖ ปี  เข้าทำการอยู่ในห้องอาลักษณ์วังหน้า   เวลานั้นได้เห็นท่านสุนทรภู่เข้ารับราชการอยู่แล้ว

เวลาพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้อุปราชาภิเษกแล้ว  ราวสัก ๗ ปี
รู้สึกว่าท่านสุนทรภู่ท่านมีอายุ ๑๘  ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก  ได้รับราชการอยู่อายุก็จวนจะหง่อม ๆ  ราว ๗๐ เศษ
เพราะว่าเวลาเดิน มีหลานชายคอยประคองปีกในที่บางแห่งอยู่เสมอ


ได้เห็นบาญชีเบี้ยหวัดจางวางพระอาลักษณ์วังหน้า ๒ ชั่ง


เวลานั้น  ใบฎีกามี  ของสมเด็จพระปรมา(เชิงอรรถว่า  สมเด็จพระมหาสมณเจ้า  กรมพระปรมานุชิตชิโนรส)  ได้เป็นหลวงลิขิตปรีชา เจ้ากรมพระอาลักษณ์
ท่านผู้นี้เจ้ายศเจ้าศักดิ์    ถือความมั่งมีภาคภูมิเต็มที่อย่างขุนนางโบราณ
คือ บ่าวไพร่นุ่งห่มร่มค้างคาว  กล้องยาแดงกาน้ำเป็นต้น

สุนทรภู่ถึงเป็นจางวางก็จริง   แค่ลดความมั่งมีให้ท่านเจ้ากรม

เวลาจะนั่งจะเดินอยู่ในกิริยาเป็นผู้ถ่อมตน  ยอมเป็นผู้ที่ ๒
ไม่ตีตนเสมอเลย"

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 26 มิ.ย. 08, 08:28

หน้า ๑๔

พระอมรสินธพ(นก)



"ในดวงที่พระอมรสินธพได้เห็นนั้น    ในปูมเป็นสมุดข่อยขนาดใหญ่   สั้นกว่าสมุดมาลัย
เป็นสมุดหลวงของกรมอาลักษณ์วังหน้า
มีดวงชะตาเจ้านายและข้าราชการสำคัญ ๆ อยู่ในนั้นมากมายนัก

จำได้ว่า  วัน ๒  ปีมะเมีย


ได้รู้สึกชัดว่า  แก่กว่าเจ้าพระยาบดินทร์เดชา ๑ ปี

นัยหนึ่ง เจ้าพระยาบดินทร์เดชาแก่กว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว    ในพระดำรัส เรียก  พี่บดินทร์  ฉันใด
สุนทรก็แก่กว่าเจ้าพระยาบดินทร์ฉันนั้น"



บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 26 มิ.ย. 08, 09:01

บางทีผมอาจจะพลาดเรื่องปีที่ท่านฑัตกุเรเตอร์รับหน้าที่ คือกรมศิลปากร ถือว่าปี 2417 เป็นกำเนิดกิจการพิพิธภัณฑสถาน
แต่อาจารย์ชินท่านเขียนถึงพนักงานรุ่นแรก ซึ่งน่าจะกินเวลามาถึงปีที่โปรดให้เปิดหอคองคอเดีย
ขอสงวนความเห็นที่เด็ดขาดไว้ก่อนนะครับ

ยังพบว่าท่านฑัต เสียชีวิตเมื่อก่อน 2472 เพราะหนังสืองานศพของท่าน พิมพ์ปีนั้น
"นิบาตชาดก เล่ม 10 นวกนิบาต และ ทสกนิบาต. โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2472
พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายพลโทพระยาสโมสรสรรพการ (ทัด ศิริสัมพันธ์)"
ผมมีนิบาตชาดกอยู่บ้าง แต่ยากที่จะค้นเจอ
คงต้องขอแรงคุณน้องติบอ ถ้าแวะผ่านมา ช่วยสอบห้องสมุดให้ด้วย

การที่ท่านตาย 2472(?) แปลว่าอยู่ต่อมาจากสมัยพระยาปริยัติฯสัมภาษณ์อีก 16 ปี คือตายตอน 86 นับว่าอายุยืนมากจริงๆ

ข้อมูลอีกทางหนึ่ง อาจจะทำให้คุณ wandee และนักเลงหนังสือตื่นเต้น
คือท่านเจ้าคุณเป็นเพื่อนร่วมรุ่นของ เป โมรา ปฏิภาณกวีแห่งสยามยุคใหม่
เปโมรานั้น เป็นมหาดเล็กรุ่นแรกของพระพุทธเจ้าหลวง แปลว่าเพิ่งแตกเนื้อหนุ่มเอาตอนต้นรัชกาลนั่นเอง
แสดงว่า ยอดกวีจะต้องมาจากสาแหรกตระกูลชั้นสูง เหมือนท่านฑัต ซึ่งนับญาติได้ทางพระเทพศิรินทร์
อันเป็นที่มาของนามสกุลพระราชทาน ศิริสัมพันธ์

ชนชั้นผู้ดีนั้น ไม่รับราชการกันตอนแก่ ต้องถวายตัวตั้งแต่เริ่มใช้งานได้ สัก 15 ปี เป็นต้นไป
ผมจึงยังรักจะเชื่อว่า ท่านฑัต เมื่อเป็นสิบตรีกุเรเตอร์แห่งหอคองคอเดียนั้น น่าจะเป็นหนุ่มน้อยไม่ใช่หนุ่มใหญ่ (ที่เกิดปี 2388)
และถ้าท่านเกิดปีนั้น จะทำให้ท่านได้เป็นพันเอกเจ้ากรมยุทธโยธาคนแรกในวัย 59 (เมื่อปี 2447) อายุมากเกินจะไต่เต้าเป็นพลโทซึ่งเป็นยศสุดท้าย
คิดดูเถิดว่า ท่านอวบ เปาโรหิตย์ ได้เป็นเจ้าพระยามุขมนตรี ตั้งแต่อายุ 48 แม้ว่าจะเร็วผิดปกติไปบ้าง
แต่ท่านฑัต เป็นราชีนีกูล ผ่านงานสำคัญมากมาย อายุ 59 ไกล้เกษียณแล้วเพิ่งเป็นพันเอก

เห็นจะผิดปกติกว่า

ข้อมูลนี้ ทำให้ต้องชั่งน้ำหนักบันทึกของเจ้าคุณปริยัติให้ละเอียด
แต่ถือว่าเป็นการชั่ง หรือจำแนกที่คุ้ม เพราะท่านบอกที่มาของข้อมูลไว้ละเอียด
ต่างจากสมเด็จฯ ดำรง ที่ทรงปรุงข้อความจนกลมกล่อม รับประทานคล่อง
แยกธาตุมิได้

ขอจบความเห็นเกี่ยวกับท่านฑัต เพื่อมิให้แทรกการนำเสนอของคุณ wandee
ส่วนเรื่องอาละบาสเตอร์ ถ้ามีรัตนโกษ เห็นจะเขียนได้สนุก
รอรับฟังล่วงหน้าครับ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 26 มิ.ย. 08, 09:37

เพลงยาว
หน้า ๑๘


"ท่านสุนทรภู่เป็นนักเลงเก่งในเรื่องฝีปากสังวาสและกลอนสังวาสไม่มีตัวสู้
พวกหนุ่มจะไปรักหญิงที่ไหนก็มาหาท่านสุนทรภู่ให้แต่งเพลงยาวไปให้หญิง
ฝ่ายหญิงจะรักผู้ชายคนใดก็มาหาสุนทรภู่  หรือได้รับเพลงยาวเข้าก็มาหาท่านสุนทรภู่

การเป็นอยู่เช่นนี้   ท่านสุนทรภู่จึงรุ่มรวยหาสู้อัตคัตเงินทองใช้สอยไม่
ถึงไม่ได้ทำเรือกสวนไร่นาค้าขายอะไรก็จริง  แต่มีของกินของใช้เงินทองอัฐฬสติดพกติดมืออยู่เสมอ
เพราะว่ามีผู้นับถือบูชากำนัลอยู่ไม่ขาด

วิธีแต่งเพลงยาวนั้น  นัยว่ามีกติกาอยู่ ๓ บทเท่านั้นไม่มากมาย

กะเป็นใบที่ ๑  ที่๒  ที่๓

เรียกใบแรก ๕ ตำลึง     ใบที่ ๒   ๑๐ ตำลึง     ใบที่ ๓  หนึ่งชั่ง      ถึงใบ ๓  สัญญาเป็นได้ตัว

ใจความในใบแรกว่าด้วยการชมโฉมเป็นพื้น
ในใบที่ ๒  ว่าด้วยการรับเลี้ยงดูถนอมเอาใจทุกอย่าง
ในใบที่กล่าวว่าได้ตัวแต่ข้อความผู้เล่าหาได้จำไว้ไม่

การเป็นดังนี้

แต่ถ้าเราจะตรวจสอบในหนังสือที่ท่านอาจารย์สุนทรแต่งไว้  เช่น ลักษณวงศ์  พระอภัยมณีเป็นต้น
ก็พอจำเค้าของวิธีแต่งได้ตามรูปความที่กล่าวมาแล้วนั้น"
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 26 มิ.ย. 08, 09:49

คำของพระอมรสินธพก็มีพิรุธครับ
ท่านอายุ 77 ในปีสัมภาษณ์ จึงเกิด 2379
อายุ 16 ตกปี 2395 เป็นปีแรกของรัชกาลที่ 4 เป็นอาลักษณ์วังหน้า ได้เห็นท่านภู่รับราชการอยู่แล้ว

ประโยคต่อมาเริ่มสับสน
เพราะบอกว่าเมื่อพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้อุปราชาภิเษกแล้วราวสัก 7 ปี
ท่านสุนทรภู่ท่านมีอายุ 18 ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก อย่างนี้ก็อ่อนกว่าคุณพระสิ
ตรงนี้เห็นจะต้องแก้ข้อความที่ว่าอุปราชาภิเษก เป็นอย่างอื่น เช่นทรงกรม เมื่อพ.ศ. 2375
สุนทรภู่ก็จะถวายตัวเมื่อสัก 2382 ลงมา ไกล้เคียงกับที่ผมมั่วว่าท่านแต่งรำพันพิลาปเมื่อจะไปพึ่งฟ้าน้อย

มาถึงประโยคต่อไป บอกว่าได้รับราชการอยู่อายุก็จวนจะหง่อม ๆ  ราว 70 เศษ
เพราะว่าเวลาเดิน มีหลานชายคอยประคองปีกในที่บางแห่งอยู่เสมอ
ตรงนี้หมายความว่า เมื่อสิ้นพระปิ่นเกล้า ท่านสุนทรอายุเรือน 70 ก็คือเป็นคนยุค 2339-2340
แต่สมเด็จฯ ทรงอ้างดวงอาลักษณ์ขี้เมา บอกว่าท่านภู่เกิด 2329 ยังห่างกันถึง 10 ปี
ซึ่งผมยังเห็นว่า ฟ้าน้อยเห็นจะไม่รับคนอายุ (2394-2329 =) 65 ปี มาเป็นอาลักษณ์แน่
55 ละก้อ พอไหวครับ

ประโยคสุดท้าย ก็เด็ด
"เวลาจะนั่งจะเดินอยู่ในกิริยาเป็นผู้ถ่อมตน  ยอมเป็นผู้ที่ ๒ ไม่ตีตนเสมอเลย"
คนที่รักสุนทรภู่เห็นจะต้องกลับไปเปลี่ยนพฤติกรรมอหังการของกวีในดวงใจเสียใหม่
เป็นต้นว่ากล้าเย้าพระเจ้าแผ่นดิน กรมหมื่น พระสงฆ์องค์เจ้า
ถ้าจะแข็ง ก็คงแข็งในเชิงกลอน

หรือมิเช่นนั้น ท่านก็ยำเกรงในกรมสมเด็จพระปรมาฯ
จนแม้เจ้ากรมของพระองค์ ท่านภู่ก็มิกล้าตีตนเสมอ
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 26 มิ.ย. 08, 09:59

แต่ท่านสุนทรจะถวายตัวในปี 2375 เมื่ออายุ 18 ไม่ได้
เพราะท่านจะอายุ 14 ในปี 2371 เมื่อสอนหนังสือเจ้าฟ้า และบอกว่าตัวเองชื่อเสียงลือเลื่อง

เราจึงต้องหาให้ได้ว่า ท่านอายุ 18 ในปีอุปราชาภิเษกของใคร
หรือเมื่อท่านอายุ 18 มีอะไรสำคัญในพระประวัติเจ้าฟ้าน้อย
ที่เน้นเจ้าฟ้าน้อย เพราะเป็นที่แน่ชัดว่าสุนทรภู่เป็นข้าในพระองค์
สมมติว่า ถวายตัวตั้งแต่ทรงประสูติ ท่านภู่ก็จะมีปีเกิดเก่าสุด ก่อน 2352 ไปอีก 18 ปี
คือเกิด 2334 ไม่มีทางอายุมากกว่านี้
และจะมีอายุ 70 กลางๆ เมื่อฟ้าน้อยสวรรคต
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 26 มิ.ย. 08, 10:05

เพลงยาวทำไมแพงจัง  ยังกับงานแปลให้ยูเอ็น

เรื่องเปซายัน  พอทราบค่ะ

ทำไมนายโหมดไม่เล่าเรื่องสุนทรภู่บ้างเลยคะ  ท่านช่างเล่าจะตาย
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 26 มิ.ย. 08, 10:59

อย่าว่าแต่นายโหมดเลยครับ ตั้งแต่ปาเลกัวส์ หมอปลัดเล และนายฝาหรั่งอะไรหนอ ที่มารับจ้างฟ้าน้อย
ไม่มีเอ่ยถึงยอดกวีผู้มีชื่อเสียงระบือลือเลื่องผู้นี้
แม้แต่นายกุหลาบ ก็ยังเอ่ยถึงเพียงสังเขป เทียนวรรณก็ชมแต่งาน ไม่เล่าประวัติเหมือนกัน

นายโหมดเป็นขุนนางวังหลวง มีศักดิฐานะค่อนข้างสูง
ถ้าไม่มัวหมองเพราะลูกชาย เห็นจะได้เป็นเจ้าพระยาเป็นแน่
ถือว่าห่างชั้นจากอาลักษณ์(แก่ๆ) แห่งวังหน้ามิใช่น้อย
อีกประการหนึ่ง ท่านสนใจกลไกและการช่าง ไม่เอ่ยถึงกวีจึงไม่แปลกครับ

คำให้การเรื่องอาชีวะของท่านสุนทรภู่ ยังขัดแย้งกับตำนานความยากจนข้นแค้นของมหากวี ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ
ตอนท้ายเล่ม จะมีคำให้การของอีกท่านหนึ่ง บอกว่าท่านสุนทรไปซื้อสวนไว้ และมีหลานอยู่คน ถูกตีเจียนตายประจำ
ก็บ่งบอกว่า ท่านภู่ของผม เป็นนักเขียนมือทองไม่แพ้นักประพันธ์ไส้ไม่แห้งยุคปัจจุบัน
รวยพอจะตั้งตัวเป็นหลักฐาน

ก่อนเสียชีวิต ศาสตราจารย์เวลล่า กำลังทำวิจัยประวัติสุนทรภู่
ทราบว่าท่านดั้นด้นเข้าในสวนบางกอกน้อย จนไปเจอญาติสุนทรภู่
ได้เก็บข้อมูลไว้ แต่ก็มาโดนรถเมล์สาย 15 ทับตายอย่างน่าสยอง
เป็นอันสิ้นสุดการหาข้อมูลจากวงศ์วารว่านเครือตัวเป็นๆ แต่เพียงเท่านั้น
หวังว่าสักวันหนึ่ง เอกสารของท่านศาสตราจารย์อาจจะเผยออกมาบ้างกระมัง

เมื่อตอนที่ผมเริ่มตีความประวัติท่านสุนทรภู่เสียใหม่
งานของพระยาปริยัติฯ ช่วยส่งเสริมให้ผมรื้อคุ้ยมติเดิมกระจุยกระจาย สนุกสนาน
แต่ประหลาดใจที่กรมศิลปากร ไม่รับมติของท่านเจ้าคุณเอาเลย

อ้างอย่างเดียวว่าไม่ตรงกับพระนิพนธ์สมเด็จดำรง
เป็นผม จะอ้างว่าพระนิพนธ์ ไม่ตรงกับข้อมูลของท่านเจ้าคุณ(ตะหาก....ฮือๆๆๆๆ)
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 26 มิ.ย. 08, 11:36

อ้างถึง
เวลาพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้อุปราชาภิเษกแล้ว  ราวสัก ๗ ปี
รู้สึกว่าท่านสุนทรภู่ท่านมีอายุ ๑๘  ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก  ได้รับราชการอยู่อายุก็จวนจะหง่อม ๆ  ราว ๗๐ เศษ
เพราะว่าเวลาเดิน มีหลานชายคอยประคองปีกในที่บางแห่งอยู่เสมอ

ยังมีอะไรแย้งๆกันอยู่ เรื่องอายุและ พ.ศ.
แต่ที่แน่ๆ
ตรงนี้ไม่ได้แปลว่าสุนทรภู่อายุ ๑๘ ถวายตัวเป็นมหาดเล็ก เมื่อสมเด็จพระปิ่นเกล้าอุปราชาภิเษกได้ ๗ ปี
แต่หมายความว่า
" สุนทรภู่ ถวายตัวเป็นมหาดเล็กเจ้าฟ้าจุฑามณี  ตั้งแต่อายุได้ ๑๘     
เมื่อเจ้าฟ้าทรงขึ้นเป็นสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ  ได้ ๗ ปี    ตัวสุนทรภู่ยังรับราชการอยู่ หง่อมขนาดอายุ ๗๐ เศษแล้ว"

มาเรียงลำดับใหม่
สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ อุปราชาภิเษกได้ ๗ ปี   คือพ.ศ. ๒๓๙๕+๗ = ๒๔๐๒
สุนทรภู่อายุเจ็ดสิบกว่า  ตีเสียว่า ๗๒ ปี
แปลว่าท่านเกิดประมาณ  ๒๓๓๐ บวกลบนิดหน่อย
เกิดในรัชกาลที่ ๑ 
อายุ ๑๘ ก็ ๒๓๔๘  ถวายตัวเป็นมหาดเล็กเจ้าฟ้าจุฑามณี
แต่ว่าเจ้าฟ้าจุฑามณี ประสูติ ๒๓๕๑

เพราะฉะนั้นสุนทรภู่ต้องอายุ ๑๘ หลังปี ๒๓๕๑ แน่ๆ ถัดมาอีกหลายปีด้วย  คือเจ้าฟ้าต้องทรงโตพอจะวิ่งเล่นได้แล้ว ถึงมีมหาดเล็ก



บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 26 มิ.ย. 08, 11:48

มีการกล่าวถึง หลวงพินิจอักษร  เสมียนตรากรมมหาดไทยผู้เป็นศิษย์

หน้า ๑๑



"ท่านสุนทรเวลานั้นบวชอยู่ที่วัดมหาธาตุ  กำลังเชี่ยวชาญกลกลอนมีชื่อเสียงมาก
มีศิษย์หาพอใจนับถือบูชาอยู่บ้างเซ็งแซ่

วันหนึ่งกำลังแต่งเรื่องพระอภัยมณี   มาถึงตอนที่เกษราเป็นไข้
ศรีสุวรรณแปลงเป็นพราหมณ์หมอเข้าไปรักษา

ในคำกลอนตอนที่กล่าวนั้นว่าดังนี้

สว่างช่วงดวงเดือนช่างเหมือนแม่           ไม่มีแผลบาดกายเท่าปลายเข็ม


ก็ชะงักติดอยู่ตั้งแต่ฉันเช้าจนเพลก็ยังไม่ออก     มีกล่าวว่า   หลวงพินิจอักษร
เสมียนตรากรมมหาดไทยผู้เป็นศิษย์  เคยไปเยี่ยม  นั่งคอยอยู่ที่เคยฉันเพล  นานแล้วไม่เห็นออกมาฉัน
จึงได้โผล่เข้าไปดู     เห็นพระอาจารย์ภู่นอนค้ำพังพาบอยู่

ก็พูดจาไต่ถามสนทนากัน

ท่านอาจารย์บอกว่าติดกลอนเลยไม่ฉัน


ท่านศิษย์เลยขอดูแล้วต่อให้  ว่าดังนี้

ดอกไม้หนิดกรีดเล็บเฝ้าเก็บเล็ม             ยังตกเต็มอยู่นะเจ้าเยาวมาลย์



นัยว่าพ่อเอ๋ย  แหวกม่านให้เท่านี้   ต่อนั้นไปท่านอาจารย์ก็ว่าฉุยเป็นเกลียวเข้าไปทีเดียว
ในระยะนี้  ท่านเสมียนตราต้องกลับเป็นผู้เขียนตามบอกจนอ่อนหู

เขาว่าเป็นอยู่เช่นนั้นในนิสัย  คือถ้าติดอยู่แล้วหลุดออกไปได้
เลยดันพังไหลเป็นทะลักทะเลไปทีเดียว"
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 26 มิ.ย. 08, 11:55

จะเก็บแนวทางที่คุณเทาชมพูแนะนำไว้กำกับการอ่านต่อไปค่ะ
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 26 มิ.ย. 08, 11:59

         บทความจากนสพ. มติชนวันนี้ ครับ

http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01pra01260651&day=2008-06-26&sectionid=0131

       มหิดลปัดฝุ่น"ประวัติสุนทรภู่" ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา ฉลอง222ปีมหากวีรัตนโกสินทร์

        ประวัติสุนทรภู่ ฉบับพระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) ซึ่งถือเป็นผลงานการค้นคว้าประวัติชีวิตสุนทรภู่
ฉบับแรก คือ เมื่อ พ.ศ.2456...
       สาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลจึงจัดได้พิมพ์ขึ้น เป็นการเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาส
222 ปีชาตกาล "มหากวีสุนทรภู่"

       สิ่งหนึ่งที่ถือว่ามีความ "พิเศษ" กว่าประวัติสุนทรภู่ฉบับอื่นๆ คือ การได้รวบรวมเอาเกร็ดประวัติต่างๆ ไว้ได้ค่อนข้างมาก
ซึ่งจะไม่พบในประวัติสุนทรภู่ฉบับอื่นๆ ด้วยเพราะได้ข้อมูลจากบุคคลที่คุ้นเคยกับสุนทรภู่และอยู่ร่วมสมัยกับสุนทรภู่หลายท่าน

         ตัวอย่างเช่น เกร็ดเรื่องรัชกาลที่ 2 จะทรงเล่นต่อกลอน แต่จะหาใครเล่นด้วยแล้วสนุกเช่นสุนทรภู่เป็นไม่มี
จึงรับสั่งให้เอาบทพระราชนิพนธ์ที่ทรงเป็นกระทู้ไว้ไปพระราชทานให้สุนทรภู่แต่งต่อ ซึ่งขณะนั้นสุนทรภู่ยังถูกจำอยู่ในคุก

... เล่าว่ารัชกาลที่ ๒ ทรงพระกระทู้ต้นบทไว้ว่า กะรุ่งกะริ่ง กะฉุ่งกะฉิ่ง แล้วให้ใครต่อก็ไม่ออก ไม่รู้หนเหนือหนใต้ว่าจะต่อ
ไปทางไหน จึงรับสั่งให้เอาไปให้สุนทรภู่ ซึ่งก็ต่อกลอนมาว่า "เข็ดแล้วจริงๆ ไม่ทำต่อไป" อ่านรวมว่า
"กะรุ่งกะริ่ง กะฉุ่งกะฉิ่ง เข็ดแล้วจริงๆ ไม่ทำต่อไป" ครั้นนำทูลเกล้าถวาย ก็ทรงพระราชทานโทษให้หลุดจากเวรจำแต่วันนั้นตามขอ ...

        นอกจากนี้ ยังมีเกร็ดเรื่องพระครูวัดพระปฐมเจดีย์ประชันกลอนกับสุนทรภู่ ที่แสดงให้เห็นถึง "อหังการ์กวี"
ระหว่าง "กวีเมืองกรุง" กับ "กวีบ้านนอก" เป็นเรื่องที่ได้จากการสัมภาษณ์ พระยาสโมรสรฯ มีใจความว่า

          เจ้าคุณสโมสรฯกล่าวว่า ครั้งหนึ่งท่านอาจารย์สุนทรภู่ออกไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ ท่านพระครูปฐมเจดีย์นั้นเอง
เป็นจินตกวีอยู่ในถิ่นนั้นเอง ทั้งชำนาญภาษาบาลีด้วย จึงนึกว่าจะลองเล่นเพลงมคธกับสุนทรภู่ ดูทีว่าหรือจะดีแต่กลกลอนเท่านั้น
หรือจะดีทั้งสองอย่าง ถ้าเช่นนั้นท่านพระครูก็จะได้รับความชมเชยบ้างว่า ตนก็เป็นปราชญ์พอใช้เหมือนกัน

แต่ความมุ่งหมายผิดไปถนัด คือ เมื่อเยี่ยมท่านอาจารย์ ก็กล่าวธรรมปฏิสันถารขึ้นดังนี้ว่า
           "สุนฺทฺราอาคเตเมปุจฺฉา อหํกิรวจนฝูงชนา ปสํสาศุภสารสะท้านดินฯ.."
 
แล้วส่งสำเนาเขียนให้ท่านสุนทร สุนทรที่จะไม่พอใจจะเห็นเป็นว่าพระบ้านนอกขอกนามาหาก็ผิดประเพณีเยี่ยมเยียน
หรือจะติว่าอวดรู้สู้รู้ปั้นล่ำ ธรรมเนียมคนจะไปมาหาสู่กันก็จะต้องทักทายปราศรัยจนมีโอกาสต่อกันได้แล้ว จึงจะควรพูด
ควรสนทนาเรื่องปัญหาน้อยใหญ่ทางสมณประเพณี จึงจะเป็นสิริมงคล จึงเขียนตอบพุ่งลงไปว่า
           "..ถึงเป็นปราชญ์ก็เป็นปราชญ์นอกประเทศ เป็นเชื้อเปรตมิใช่ปราชญ์ในราชฐาน"
แล้วส่งให้ท่านพระครู จะได้แสดงกิริยาอย่างไรต่อไปก็เป็นหมดคำกล่าวเพียงเท่านี้

           สุนทรภู่ก็เป็นนักเลงเก่งในเรื่องฝีปากสังวาสแลกลอนสังวาส ไม่มีตัวสู้ พวกหนุ่มจะไปรักหญิงที่ไหนก็มาหาท่านสุนทรภู่
หรือได้รับเพลงยาวเข้าก็มาหาท่านสุนทรภู่ ท่านสุนทรภู่จึงรุ่มรวยมีเงินทองใช้สอยถึงไม่ได้ทำเรือกสวนไร่นาค้าขายอะไร

           พระยาปริยัติธรรมธาดาเขียนไว้ว่า วิธีแต่งเพลงยาวของสุนทรภู่นั้น นัยว่ามีกติกาอยู่ ๓ บท เท่านั้นไม่มากมาย
โดยใบที่ 1 เรียกค่าใบแรก 5 ตำลึง ใบที่ 2 เป็น 10 ตำลึง ใบที่ 3 หนึ่งชั่ง ถึงใบสามสัญญาเป็นได้ตัว

           ในบั้นปลายชีวิตสุนทรภู่ได้กราบถวายบังคมลาออกนอกราชการแล้วไปซื้อสวนอยู่ตำบลบางระมาด
หากินทางแต่งหนังสือบทกลอนเพลงยาวจนกระทั่งถึงแก่กรรม ที่บ้านสวนบางระมาดนั้นเอง
           นอกจากนี้พระยาปริยัติธรรมธาดายังได้กล่าวถึง "หนูพัด" ซึ่งเป็นทายาทคนสุดท้ายของ สุนทรภู่ไว้ด้วย

           มีบุตรที่ปรากฏชื่อเสียง คือเณรหนูพัดนั้น เวลานี้ว่ายังมีตัวอยู่ แต่ยังสืบไม่พบ คำกล่าวเล่าลือว่า
หมอสมิทได้ตั้งโรงพิมพ์เก็บหนังสือของท่านอาจารย์ มีพระอภัยมณี เป็นต้น พิมพ์ขายจนรุ่มรวยแล้วคิดถึงท่านอาจารย์สุนทรภู่
เที่ยวสืบหาพระทายาทจะรางวัล ก็ได้ตัวท่านพัดมาบำเหน็จบำนาญไปจนเต็มใจรักที่จะให้ได้


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.09 วินาที กับ 19 คำสั่ง