เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 6543 เรียนถามคุณ V_Mee เรื่องพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


 เมื่อ 06 มิ.ย. 08, 12:33

หวังพึ่งคุณ V_Mee  ค่ะ

อยากทราบที่มาดั้งเดิมของพระราชนิพนธ์เรื่อง  "รัฐสภาในอนาคต"
ว่าอยู่ในหนังสืออะไร  ตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในปีอะไร


เรื่องนั้นได้อ่านแล้วเป็นเรื่องที่สนุกสนาน
โดยเฉพาะผู้ที่คุ้นเคยกับบทความของ ก.ศ.ร.กุหลาบและ นายวรรณจะเข้าใจในพระปรีชาสามารถ


ที่บังอาจมาถาม ณ ที่นี้ก็หวังว่าคงมีประโยชน์กับผู้อื่น
ตั้งใจจะเก็บหลักฐานไว้อ้างอิงสืบต่อไป
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 06 มิ.ย. 08, 18:10

เรื่องนี้ผมไม่เคยผ่านตาเลยครับ  ขออนุญาตสอบค้นกับหอวชิราวุธานุสรณ์ในวันจันทร์อีกทีครับ  ได้ผลประการใดจะเรียนให้ทราบอีกครั้งครับ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 06 มิ.ย. 08, 22:08

ขอบพระคุณค่ะ

วงนักเลงหนังสือสมัยก่อนมักจะทดลองภูมิปัญญากัน โดยไม่แจ้งที่มาของเอกสารหรือบทความ
ต่อมาท่านผู้ใหญ่ก็หลงลืมไป   ผู้นำไปใช้ก็ไม่มีทางค้นเสียแล้ว


บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 11 มิ.ย. 08, 12:17

ตรวจสอบจากทะเบียนเอกสารที่หอวชิราวุธานุสรณ์แล้วไม่พบเอกสารชื่อนี้เลยครับ
ในความเห็นส่วนตัว  คำว่า "รัฐสภา" ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ก็ไม่พบว่ามีการใช้คำนี้  หากจะใช้คำในความหมายเดียวกันนี้ก็จะใช้ว่า "ปาเลียร์เมนท์" เป็นการทับศัพท์คำว่า Paliarment  ดังนั้นเรื่อง "รัฐสภาในอนาคต" จึงไม่น่าจะใช้พระราชนิพนธ์  แต่มีที่ทรงพระราชวิจารณ์ถึงรัฐมนตรีสภา  ซึ่งกล่าวถึงใน "ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖" และพระราชหัตถเลขาที่พระราชทานไปยังสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ซึ่งสามารถติดตามอ่านได้ใน  http://www.pantip.com/cafe/library/topic/K6609496/K6609496.html

นอกจากนั้นก็มีที่ทรงพระราชวิจารณ์ระบอบการปกครองเปรียบเทียบในสมุดจดพระราชบันทึกรายวันส่วนพระองค์  ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าชัชวลิต  เกษมสันต์  เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕  ในพระราชบันทึกดังกล่าวทรงเปรียบเทียบระบอบการปกครองแบบบอลเชวิกที่กำหนดให้ทรัพย์สินทั้งหมดเป็นของรัฐ  และรัฐเป็นผู้เลี้ยงดูเยาวชนว่า เป็นระบบที่ไม่สามารถเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ  เพราะไม่เกิดแรงจูงใจให้เกิดการผลิต  ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาก็ทรงชี้ให้เห็นผลร้ายของการเลือกสมาชิกผู้แทน  หากมีผู้สมัครเป็นผู้แทนใช้เงินหรือทรัพย์สินหรืออิทธิพลจูงใจให้ประชาชนเลือกเข้าไปเป็นผู้แทนแล้ว  ผู้แทนนั้นย่อมใช้อำนาจที่ได้รับมาแสวงหาประโยชน์ใส่ตน  ส่วนระบอบราชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้ทศพิธราชธรรมนั้น  เป็นระบอบปกครองที่เหมาะกับคนไทย  เพราะพระมหากษัตริย์ต้องทรงคำนึงถึงประโยชน์สุขของประชาชนเป็นสำคัญ  ยามใดที่พระมหากษัตริย์ทรงละทิ้งทศพิธราชธรรม  ประชาชนก็จะถอดถอนพระมหากษัตริย์พระองค์นั้นดังเช่นที่เกิดมาแล้วในอดีต 

เรื่อง "รัฐสภาในอนาคต" นั้น  น่าจะเป็นการตัดตอนมาจากพระราชบันทึกทรงพระราชวิจารณ์เรื่องการปกครองดังกล่าวนี้หรือเปล่าครับ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 11 มิ.ย. 08, 21:37

ขอบพระคุณในความกรุณาของ คุณ V_Mee ค่ะ


ขอเรียนว่า ตอนนี้คิดว่าเป็น ทวีปัญญา ค่ะ  บทความบอกใบ้ไว้แล้วอ่านไม่ตีความเอง
แต่ไม่ทราบว่าเล่มใด  เป็นหัสนิยายเรื่องสั้นประมาณ ๘ หน้า

ผู้เล่าเรื่องคือ ข้าพเจ้า  ได้รับคำสั่งท่านสาราณียกร ให้ไปฟังการประชุมในปาลิเมนต์เรื่องงบประมาณทหาร

เรื่องนี้ เมมเบอร์สองรายคือนายเกศร์ได้ลุกขึ้นพูดอ้างอิงประวัติศาสตร์ยาวเหยียด
และนายทวนได้กล่าวสุนทรกถาหลายสิบข้อ ที่ขึ้นต้นว่า  เราต้องการที่สุด
เป็นเรื่องล้อเลียน ก.ศ.ร.กุหลาบกับนายวรรณอย่างสนุกสนาน
คนที่เคยผ่านตาสำนวนของก.ศ.ร.กุหลาบ และ นายวรรณ จะนึกขำในใจ
ผู้ที่ไม่คุ้นก็คงขบขัน เมมเบอร์หัวก้าวหน้าอยู่ดี

คำศัพท์มี

ศิวิไลซ์
ปาลิเมนต์
ไปรมีนีสเตอร์
ประธาน(สปีเกอร์)
ฮีสตอเดรอยนารายณ์
ออโตโมไบต์


ขอเวลาไปตามหาหนังสือก่อนค่ะ   ท่านผู้ใดได้มาก่อนกรุณาบอกเล่ม และปีพิมพ์ด้วยนะคะ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 31 มี.ค. 10, 09:59

ชื่อเรื่องคือ "รายงานการประชุมปาลิเมนต์สยาม" (ตอบโต้งานของเทียนวรรณ เรื่อง ความฝันละเมอแต่มิใช่นอนหลับ ที่เรียกร้องให้ประเทศไทยมีการปกครองแบบรัฐสภา) ลงพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือทวีปัญญา ไม่ทราบเล่ม และปีที่พิมพ์

เมื่อเร็ว ๆ นี้ข้าพเจ้าอ่านหนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่งพบ "เมื่อไรหนอ" ต่าง ๆ ข้าพเจ้าเป็นคนชอบอ่าน "เมื่อไรหนอ" เพราะธรรมดาคนที่รู้สึกตนว่าโง่ ย่อมพอใจชมบุญผู้ฉลาด ข้าพเจ้าเชื่อแน่นอนอยู่ว่าท่านผู้ถาม "เมื่อไรหนอ" นั้นต้องเป็นคนฉลาด ถ้ามิฉะนั้นที่ไหนจะคุ้ยหาข้อความเก่งๆมาถามได้มากมายเช่นนั้น ข้อที่จับใจข้าพเจ้าที่สุด คือข้อที่ถามว่า "เมื่อไรหนอเราจะมีปาลิเมนต์" จริงทีเดียว ทำไม เราก็ศิวิไลซ์แล้ว จะมีปาลิเมนต์บ้างไม่ได้ทีเดียวหรือ แต่ญี่ปุ่นยังมีได้ ...

วันนั้นเป็นวันร้อนมาก ข้าพเจ้านอนอ่านหนังสือพิมพ์เรื่อยสบายอยู่ก็พอได้รับคำสั่งท่านสาราณียกรให้ไปฟังการประชุมในปาลิเมนต์ เรื่องงบประมาณทหาร ข้าพเจ้าก็รีบเตรียมตัวไป เมื่อข้าพเจ้าออกจากบ้านนั้นบ่ายสัก ๕ โมงแล้ว เพราะฉะนั้น ต้องรีบร้อนมาก ที่ประชุมเปิดตั้งแต่บ่าย ๓ โมงแล้ว ข้าพเจ้าไปก็ตรงไปที่เฉลียงสำหรับพวกหนังสือพิมพ์ เห็นแผ่นกระดาษวางอยู่บนโต๊ะทุก ๆ โต๊ะ เขียนชื่อหนังสือพิมพ์ไว้ ข้าพเจ้าตรงไปที่มีกระดานเขียนชื่อ "ทวีปัญญา" แล้วนั่งลง เมื่อข้าพเจ้าไปถึงท่านอัครมหาเสนาบดี (ไปรม์มีนิสเตอร์) กำลังชี้แจงเรื่องงบประมาณนั้นอยู่ ข้าพเจ้าบันทึกคำพูดของท่านพวกเมมเบอร์ต่าง ๆ ไว้ดังต่อไปนี้

อัครมหาเสนาบดี.- "ตั้งแต่ดั้งเดิมมา การทหารนับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะเป็นธรรมดาชาติใดที่มีความประสงค์จะเป็นไท ย่อมต้องคิดการป้องกันบ้านเกิดเมืองบิดร โบราณราชประเพณีท่านจึงได้จัดให้บรรดาชายฉกรรจ์เป็นทหารทั้งสิ้นไม่เว้นหน้า ..."

นายเกศร์.- "ข้าพเจ้าขอรับรองในข้อที่ท่านอัครมหาเสนาบดีกล่าว ข้าพเจ้าอาจชักจูงสิ่งซึ่งจะให้เห็นเป็นพยานได้ดังนี้คือ เมื่อครั้งสมเด็จพระนารายณ์ ..."

ประธาน.- (สปีเกอร์) "รอก่อน รอก่อน ยังไม่ถึงเวลาที่ท่านจะแสดงโวหาร"

อัครมหาเสนาบดี.- "ข้าพเจ้ากล่าวอยู่ว่าบรรดาชายฉกรรจ์ต้องเป็นทหารทั่วหน้า ก็เมื่อแต่โบราณกาลยังเป็นเช่นนี้แล้ว ทำไมในกาลบัดนี้เราจะยับยั้งอยู่หรือ ก็การทหารซึ่งเป็นการสำคัญครั้งนั้น ครั้งนี้ไม่สำคัญหรือ ก็สำคัญเหมือนกัน ถ้าเราตกลงเห็นเช่นนี้แล้ว เราจะควรทำอะไรก็ควรต้องคิดอ่านบำรุงการทหารให้เจริญเทียมทันชาติอื่นเขาบ้างจึงจะถูก แต่ก่อนอำนาจเป็นใหญ่ จะจัดการสิ่งใดก็ล้วนจะสำเร็จได้เพราะอำนาจ เดี๋ยวนี้อะไรเป็นใหญ่ เงินเป็นใหญ่ไม่ใช่หรือ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วที่ประชุมคงจะเห็นได้ว่า ถ้าประสงค์ความเจริญของทหารซึ่งเป็นความเจริญของบ้านเมืองแล้ว ก็ต้องช่วยให้รัฐบาลได้จัดการทหารให้ดำเนินไปโดยสะดวกตามที่ได้กะไว้ แลได้อ่านให้ท่านฟัง แล้วขอให้ที่ประชุมพร้อมกันอนุญาตให้รัฐบาลใช้เงินแผ่นดินสำหรับการทหารตามที่ขอนั้นเถิด"

นายเกศร์.- "ข้าพเจ้าขอกล่าวแสดงให้แจ้งเหตุผลว่า เหตุไรข้าพเจ้าจึงรับรองลงเนื้อเห็นด้วยกับท่านอัครมหาเสนาบดีในที่นี้ ข้าพเจ้าจะขอเล่าเรื่องราวของสมเด็จพระนารายณ์ราชาธิราชเจ้า

สมเด็จพระนารายณ์ราชาธิราชเจ้า คือเป็นพระเจ้าอยู่หัวครองสิริราชสมบัติอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา คือกรุงเก่า

กรุงเก่าคือสมเด็จพระเจ้ารามาธิบดีทรงสร้าง สมเด็จพระเจ้ารามาธิบดี คือที่เรียกกันว่า พระเจ้าอู่ทอง

พระเจ้าอู่ทองนี้เสด็จมาจากเมืองเทพนคร เพื่อเสด็จมาหาที่สร้างพระนครใหม่

พระนครใหม่นี้คือกรุงศรีอยุธยา กรุงศรีอยุธยาคือกรุงเก่า สมเด็จพระนารายณ์ราชาธิราชนั้น เป็นพระเจ้าแผ่นดินเสวยราชสมบัติ ณ กรุงเก่าองค์หนึ่ง ข้อนี้มีหลักฐานแน่นอน คือ ได้ความจากจดหมายเหตุของเจ้าแม่วัดดุสิต

เจ้าแม่วัดดุสิตได้จดหมายเหตุเรื่องราวไว้พิสดารเป็นราชประวัติกรุงเก่า มีข้อความแปลกประหลาดดียิ่งกว่าข้อความที่มีอยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ที่ตีพิมพ์ไว้แล้วนั้นหลายพันหลายหมื่นส่วน ประวัตินี้แต่งโดยเจ้าแม่วัดดุสิต เมื่อจุลศักราช ๙๙๒ ปี ต้นฉบับเดิมของจดหมายเหตุนั้นอยู่ที่เราเอดิเตอร์ โอย ขอรับประทานโทษ เผลอไป ... อยู่ที่ข้าพเจ้า ไม่ใช่แต่เท่านั้น ข้าพเจ้ายังมีสมุดภาษาฝรั่งเศสอีกเล่มหนึ่ง เรื่องสมเด็จพระนารายณ์ เรียกชื่อตามภาษาฝรั่งเศสดังนี้ คือ "ฮิศตอเดรอยนารายณ์" ดังนี้

หนังสือเล่มนี้แต่งโดยคนชาวชาติฝรั่งเศสคนหนึ่ง ซึ่งได้มาอยู่ด้วยกับท่านเจ้าพระยาวิไชยเยนทร์ เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์คือคนชาวชาติฝรั่งเศส ชื่อเดิมชื่อ "ฟอลคอน" ดังนี้ ชายชาวชาติฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้แต่งหนังสือชื่อ ฮิศตอเดรอยนารายณ์นั้นเป็นคนชอบพอคุ้นเคยกับท่านเจ้าพระยาวิไชยเยนทร์ ฟอลคอน หนังสือซึ่งแต่งโดยชายชาวชาติฝรั่งเศสนั้น เป็นหนังสือฝรั่งเศส แปลโดยท่านสังฆราชปัลละกัวบิฉบ เป็นภาษาไทย หนังสือชื่อ "ฮิศตอเดรอยนารายนณ์" ซึ่งแต่งโดยชายชาวชาติฝรั่งเศส ซึ่งเป็นคนชอบพอกับเจ้าพระยาวิไชยเยนทร์นั้น มีข้อความพิสดารน่าอ่านน่ารู้น่าฟังยิ่งกว่าที่มีในพระราชพงศาวดารกรุงเก่าหลายร้อยเท่า ในหนังสือจดหมายเหตุแต่งโดยเจ้าแม่วัดดุสิตกับหนังสือภาษาฝรั่งเศสนั้น มีกล่าวข้อความพิสดารถึงการเสด็จประพาสของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าพระนารายณ์ราชกุมาร มีสิ่งน่าอ่านน่าฟังอยู่มาก แต่ที่น่าประหลาดนักคือมีเรื่องกล่าวถึงสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าพระนารายณ์ราชกุมารเสด็จเที่ยวทรงขับยานชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นที่น่าพิศวงแก่ชาวกรุงเก่าแลชาวลพบุรีมาก คือสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าพระนารายณ์ราชกุมารนั้น ได้ทรงโปรดฯ ให้ชายชาวชาติฝรั่งเศสผู้หนึ่งเข้าเฝ้า ชายชาวชาติฝรั่งเศสนี้เป็นพ่อค้า มาตั้งห้างค้าขายอยู่ที่ตำบลท่ากระโหมกรุงเก่า

ชายชาวชาติฝรั่งเศสคนที่ดังได้กล่าวมาแล้วนี้ ได้นำยานอย่างใหม่มาถวายสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าพระนารายณ์ราชกุมาร เรียกตามภาษาฝรั่งเศสว่า ดังนี้ คือ "ออโตโมไปล์" ดังนี้ ยานชนิดที่ฝรั่งเศสเรียกว่า "ออโตโมไปล์" นี้ คือเป็นรถชนิดหนึ่งซึ่งเดินไปด้วยไม่อาศัยแรงม้าเลย ใช้อาศัยน้ำมันมะพร้าวทำให้เกิดเป็นแก๊สขึ้น เดินไปเปรียบคล้ายรถไฟที่มีอยู่เดี๋ยวนี้ รถชนิดที่ฝรั่งเศสเรียกว่า ออโตโมไปล์นี้ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าพระนารายณ์ราชกุมาร ได้ทรงประพาสพอพระทัยเสด็จไปเที่ยวแต่จำเพาะข้าหลวงเดิม ๙ คน คุณเล็ก ๑ คุณปาน ๑ ทั้งสองคนนี้เป็นบุตรหม่อมเจ้าบัว พระนมเอก นายทองคำบุตรเปรม พระนมรอง ๑ นายสัง บุตรเจ้าพระยาพิษณุโลก ๑ นายเรือง มอญ บุตรเจ้าพระยารามจัตุรงค์ ๑ นายหวาน แขก บุตรเจ้าพระยาไทรบุรี ๑ นายน้อย ยะทิปะ แขก บุตรพระยาราชวังสัน แขก ๑ นายเผื่อนบุตรพระยามหาอำมาตย์ ๑ นายบุนนาค บุตรพระยาเพ็ชรพิไชย ๑ รวมข้าหลวงเดิมที่พอพระทัย ๙ นายด้วยกัน แต่ข้าหลวงเดิม ๙ คนนี้ล้วนเป็นเด็กมีอายุคล้ายๆ กันกับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าพระนารายณ์ราชกุมารทั้งนั้น ..."

ผู้ส่งข่าวของเราไม่ได้จดคำพูดของนายเกศร์ต่อไป เพราะแลไม่เห็นว่ามีข้อความเกี่ยวข้องกับงบประมาณทหารอย่างไร ส่วนนายเกศร์นั้นพูดเรื่อยไปประมาณเกือบชั่วโมงหนึ่ง

ประธาน.- "ข้าพเจ้าฟังท่านสมาชิกมานานแล้ว ก็ยังไม่เห็นกล่าวข้อความอะไรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่กำลังปรึกษากันอยู่เลย"

นายเกศร์.- "ถ้าท่านยอมให้ข้าพเจ้ามีเวลาอีกหน่อย ข้าพเจ้าก็จะได้ตั้งใจพยายามที่จะกล่าวถึงทหาร เมื่อครั้งสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้าตามที่มีกล่าวถึงในประวัติ แต่งโดยเจ้าแม่วัดดุสิตกับ ..."

เสียงจากหลังประธาน.- "เลิกที เลิกที"

นายเกศร์.- "ข้อความในประวัติแต่งโดยเจ้าแม่วัดดุสิตกับหนังสือภาษาฝรั่งเศสชื่อ ..."

เสียงจากหลังประธาน.- "พอแล้ว พอแล้ว"

ประธาน.- "เงียบ เงียบ"

นายเกศร์นั่งลง แสดงกิริยาไม่สู้พอใจนัก

ต่อไปนี้มีเมมเบอร์แสดงโวหารอีกหลายท่าน แต่จะเป็นเพราะเหตุไรไม่ทราบ ผู้ส่งข่าวของเราจำไม่ได้ หรือลืมจดอะไรอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นมาได้อีกต่อมาเมื่อฝ่ายพวกคัดค้านพูดดังต่อไปนี้

นายทวน.- "ข้าพเจ้าจะขอกล่าวสุนทรกถาแต่พอสมควรแก่เวลาดังต่อไปนี้"

ข้อ ๑ เราต้องการที่สุด ขอให้เจ้านายของเราทรงพระราชดำริถึงตัวข้าพเจ้าผู้มีอายุมาก

ข้อ ๒ เราต้องการที่สุด เพื่อให้ชนทั้งหลายเข้าใจว่า เราเป็นผู้มีสติปัญญากตัญญูต่อแผ่นดิน

ข้อ ๓ เราต้องการที่สุด เพื่อให้เปิดทางให้ผู้มีสติปัญญากตัญญูต่อแผ่นดินเช่นตัวเรา ออกตัวออกหน้าอาสาแสดงสติปัญญาความดีได้โดยสะดวก มิให้มีที่กีดขวางจนไม่ต้องแลดูเสียก่อนว่าลมพัดมาทางไหน

ข้อ ๔ เราต้องการที่สุด ในการที่เปิดปากมนุษย์ให้แสดงโวหารอธิบายได้ตามสติปัญญา โดยไม่ต้องกลัวติดคุก

ข้อ ๕ เราต้องการที่สุด ในตัวบุคคลสามารถ คือ เสนาบดีแลอธิบดี เจ้ากรม ปลัดกรม ผู้ช่วย แม่ทัพนายทหาร พลทหารที่รู้จักหน้าที่ของตน คือรู้จักว่าใครเป็นผู้มีสติปัญญากตัญญูต่อแผ่นดินแล้ว แลฟังเสียงผู้นั้น

ข้อ ๖ เราต้องการที่สุด ในผู้ที่ตั้งอยู่ในยุติธรรม เพื่อเป็นความสุขแก่มนุษย์ คือเป็นต้นว่าผู้พิพากษาตุลาการ เมื่อถูกติเตียนโดยผู้มีสติปัญญากตัญญูต่อแผ่นดิน อย่าตัดสินกักขังผู้ตักเตือน ๗ วัน ฐานหมิ่นประมาทศาล

ข้อ ๗ เราต้องการที่สุด ในท่านผู้มีสติปัญญาแลรู้วิชาเก่าแก่กว่าผู้อื่นจริง สำหรับเป็นผู้ช่วยแนะนำในราชการบ้านเมืองทั่วไปให้มีความเจริญโดยฉับไวทันเวลา

ข้อ ๘ เราต้องการที่สุด ในพวกเราให้รู้วิชาลึกซึ้งจริงๆ ทุกคนควรตั้งใจเรียนให้มีความรอบรู้ แม้อย่างน้อยเพียงเสมอตัวเรา

ข้อ ๙ เราต้องการที่สุด ให้ตัวเรามีความนับถือแม่หญิงทุกคน แลให้แม่หญิงมีความรู้วิชา แลมีความดีเท่าแก่บุรุษทั้งหลาย

ข้อ ๑๐ เราต้องการที่สุด ให้พวกเรามีความรู้สึกในความรักชาติ ศาสนาแลประเทศที่เกิดของตน แลให้มีความอายแก่ชาติชาวต่างประเทศ แลอย่าอวดดีเย่อหยิ่งว่าเรารู้มากแล้วพอแล้ว ไม่ต้องฟังเสียงใครอีก

ข้อ ๑๑ เราต้องการที่สุด ที่จะให้คนทั้งหลายเห็นว่าเราเป็นคนกล้าหาญ หมั่นเพียรแลกตัญญูต่อชาติ แลเต็มใจที่จะรับหน้าที่ทำการใหญ่ทุกอย่างทุกสิ่ง

ข้อ ๑๒ เราต้องการที่สุด เพื่อให้ประเทศบ้านเมืองอันเป็นที่เกิดของเราเป็นศิวิไลซ์โดยไม่ต้องอาศัยผู้อื่น นอกจากผู้มีสติปัญญากตัญญูต่อชาติ ศาสนา แลบ้านเมืองของเราเอง

ข้อ ๑๓ เราต้องการที่สุด ในการที่คนเราจะไม่ไว้ใจคนที่ดีแต่พูดอ้างตำรับตำราฝรั่งโดยไม่มีจริงเลยนั้น

ข้อ ๑๔ เราต้องการที่สุด ให้ท่านทั้งหลายเห็นว่ามีแต่ผู้ปกครองก็ไม่ได้ มีแต่ไพร่พลเมืองก็ไม่ได้ ต้องมีทั้งสองจำพวกต้องอาศัยกันแลกัน

ข้อ ๑๕ เราต้องการที่สุด เพื่อให้ท่านทั้งหลายเห็นว่าทั้งผู้ปกครอง ทั้งไพร่พลเมือง ต้องอาศัยผู้มีสติปัญญากตัญญูต่อชาติ ช่วยแนะนำให้เดินไปในมรรคาอันถูกต้อง

ข้อ ๑๖ เราต้องการที่สุด ที่จะให้ท่านทั้งหลายเห็นว่า ร่างกายของมนุษย์ก็ดี สัตว์เดียรัจฉานก็ดี ถ้าไม่บริบูรณ์ก็ย่อมไม่เป็นที่เจริญตา

ข้อ ๑๗ เราต้องการที่สุด ให้ท่านทั้งหลายเห็นว่าในสมัยนี้เมืองเรายังมีข้อบกพร่องสำคัญอยู่ คือยังไม่ได้ฟังคำแนะนำตักเตือนแห่งผู้มีวิชาจริงเช่นตัวเรา

ข้อ ๑๘ เราต้องการที่สุด เพื่อให้ท่านผู้มีหน้าที่ปกครองพวกเราทอดพระเนตรเห็นความดีความสามารถของผู้มีความดีความสามารถ

ข้อ ๑๙ เราต้องการที่สุด ที่จะให้ผู้มีความดีความสามารถจริง ได้มีโอกาสจัดการงานทั่วไปแม้อย่างน้อยสัก ๓ วัน

ข้อ ๒๐ เราต้องการที่สุด ให้ผู้ที่มีทรัพย์ใช้เงินค่าหนังสือของเรา

ข้อ ๒๑ เราต้องการที่สุด ให้ผู้ที่ยังไม่ได้ซื้อหนังสือของเราคิดอ่านลงชื่อซื้อทันที

ข้อ ๒๒ เราต้องการที่สุด เพื่อให้ที่ประชุมนี้มีความเห็นตามเราผู้มีสติปัญญากตัญญูต่อบ้านเมือง

ข้อ ๒๓ .............

เสียงจากหลังประธาน.- "ยังมีอีกกี่ข้อ"

นายทวน.- "ยังมีอีกสองสามข้อ ข้อ ๒๓ ...... "

เสียงจากหลังประธาน.- "เราต้องการที่สุดที่จะฟังคนอื่นพูด"

นายทวน.- "ข้าพเจ้าขอให้ท่านผู้เป็นประธาน ได้โปรดใช้อำนาจให้ข้าพเจ้าได้มีโอกาสพูดให้จบ"

ประธาน.- "ได้ แต่ขอให้ท่านพูดในประเด็น"

นายทวน.- "ข้าพเจ้าก็พูดในประเด็นอยู่แล้ว"

เสียงจากหลังประธาน.- "เถียงนายก เถียงนายก"

ประธาน.- "เงียบ เงียบ"

นายทวน.- "ข้อ ๒๓ เราต้องการที่สุด ..."

เสียงจากหลังประธาน.- "ไม่จริง เราไม่ต้องการเลย"

เสียงจากที่อื่นๆ.- "เลิกที เลิกที"

ประธาน.- (ตบโต๊ะ) "เงียบ เงียบ"

อัครมหาเสนาบดี.- "ข้าพเจ้าขอแนะนำว่าให้งดการแสดงโวหารเสียที มิฉะนั้นจะเสียเวลามากไป"

นายทวน.- "อะไร ท่านอัครมหาเสนาบดีจะปิดปากเมมเบอร์ไม่ให้พูดทีเดียวหรือ นี่อิสรภาพแห่งที่ประชุมนี้ไปอยู่ที่ไหน นี่จะเอาคนพูดถูกๆ เข้าคุกอย่างแต่ก่อนหรือ"

เสียงพวกฝ่ายขวา.- "เลิก เลิก"

เสียงพวกฝ่ายซ้าย.- "ว่าไป ว่าไป"

ประธาน.- "เงียบ เงียบ"

เสียงพวกฝ่ายขวา.- "หยุด หยุด"

เสียงพวกฝ่ายซ้าย.- "พูดไป พูดไป"

เสียงพวกจีน.- "ลักทะบางฉิบหาย"

ประธาน.- "เงียบ เงียบ"

เสียงพวกจีน.- "ลักทะบางข่มเหงอ้า"

ต่อนี้ไป ต่างคนต่างพูดกันอึงเต็มเสียง จนจับเนื้อความไม่ได้ อัครมหาเสนาบดีลุกขึ้นพูด แต่ไม่ได้ยินว่าพูดว่ากระไร ได้ยินแต่ "เลิก เลิก" บ้าง "ว่าไป ว่าไป" บ้าง กับเสียงพวกจีนร้องตะโกนโล้เล้ ๆ ต่าง ๆ ลงปลายประธานลุกขึ้นยืนกวักมือ พลตระเวนรูปร่างล่ำสัน พากันเข้ามาอุ้มพวกเมมเบอร์จีนออกไป คนอื่นเปล่งเสียงอื้อราวกับจะตีกัน เอะอะเหลือเกิน แล้วข้าพเจ้าก็ตกใจตื่น หัวเราะเสียพักใหญ่

 ยิงฟันยิ้ม

บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 31 มี.ค. 10, 19:18

อ่านรายละเอียดที่ท่านอาจารย์เทาชมพูคัดลอกมาแล้ว  คิดว่าบทความเรื่องนี้น่าจะพิมพ์ใน "ชวนหวว" มากกว่า "ทวีปัญญา" ครับ  เพราะลองค้นดูในทวีปัญญาแล้วไม่พบครับ  เลยขออนุญาตคัดลอกพระราชบันทึกซึ่งทรงพระราชวิจารณ์เรื่องระบอบประชาธิปไตย  ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในสมุดจดหมายเหตุรายวันส่วนพระองค์ภายหลังเกิดกบฏ ร.ศ. ๑๓๐ มาได้ไม่นานครับ 

เนื้อความใดงนี้

มีนาคม

.....เรื่องราวของผู้อื่นก็จะเห็นฃันอยู่บ้าง  คือจะเห็นฃันว่าคนยังมีความฤศยาหยุมหยิมอยู่ฉนี้ฤา  จะเปนผู้ที่จัดการปกครองชาติบ้านเมืองอย่างริปับลิคได้  อย่าว่าแต่ริปับลิคเลย  ถึงแม้จะปกครองอย่างลักษณเจ้าแผ่นดินมีคอนสติตูชั่นก็ไม่น่าจะทำไปได้  ยังไม่รู้จักเอาความรักชาติเข้าฃ่มความฤศยาในใจตนเองแล้ว  จะทำการให้เปนประโยชน์แก่ชาติฝ่ายเดียวอย่างไร
ถ้ามีผู้ต้องการ “คอนสติตูชั่น” จริงๆ และเปนไปได้จริง  จะเปนคุณอย่างใดฤาไม่  แต่ถ้าแม้ต่างว่ามีคนอยู่จำพวก ๑  ซึ่งตั้งใจดีจริง  มีความมุ่งดีต่อชาติจริง จะมาร้องฎีกาขึ้นโดยตรงๆ ขอให้มีคอนสติตูชั่น  เราเองจะไม่มีความแค้นเคืองเลย  ตรงกันข้าม  เราจะยอมพิจารณาดูว่า  จะสมควรยอมตามคำขอร้องของคนนั้นฤาไม่  ถ้ายิ่งมีคอนสติตูชั่นได้จะยิ่งดี  เพราะเรารู้สึกอยู่แล้วเหมือนกัน  ว่าการที่มอบการปกครองไว้ในมือเจ้าแผ่นดินคนเดียวผู้มีอำนาจสิทธิ์ฃาดนั้น  ดูเปนการเสี่ยงบุญเสี่ยงกรรมอยู่  ถ้าเจ้าแผ่นดินเปนผู้ที่มีสติปัญญาสามารถและมีความตั้งใจมั่นอยู่ว่า  จะทำการให้บังเกิดผลอันดีที่สุดแก่ชาติบ้านเมืองฉนี้แล้วก็จะเปนการดีที่สุด  จะหาลักษณปกครองอย่างใดมาเปรียบปานได้โดยยาก  แต่ถ้าแม้เจ้าแผ่นดินเปนผู้ที่โฉดเขลาเบาปัญญา  ฃาดความสามารถ  ฃาดความพยายาม  เพลิดเพลินไปแต่ในความศุขส่วนตัว  ไม่เอาใจใส่ในน่าที่ของตน  ฉนี้ก็ดี  ฤาเปนผู้ที่มีน้ำใจพาลสันดานหยาบดุร้ายและไม่ตั้งอยู่ในราชธรรม  เห็นแก่พวกพ้องและบริวารอันสอพลอและประจบ  ฉนี้ก็ดี   ประชาชนก็อาจจะได้รับความเดือดร้อน  ปราศจากความศุข  ไม่มีโอกาศที่จะเจริญได้  ดังนี้จึงเห็นได้ว่าเปนการเสี่ยงบุญเสี่ยงกรรมอยู่
แสดงคุณแห่งลักษณปกครอง  โดยมี “คอนสติตูชั่น”  ส่วนการมีคอนสติตูชั่นนั้น  เปนอันตัดความไม่แน่นอนไปได้มาก  เพราะอำนาจมิได้อยู่ในมือคนๆ เดียว  ซึ่งถึงแม้ว่าจะดีฤาชั่วปานใดก็เปลี่ยนไม่ได้  ประชาชนได้มีเสียงในการปกครองชาติบ้านเมืองของตนเอง  เสนาบดีผู้รับตำแหน่งน่าที่ปกครองก็รับผิดรับชอบต่อประชาชน  จำเปนต้องทำการให้เปนไปอย่างดีที่สุดที่จะเปนไปได้  เพราะถ้าแม้ว่าทำการในน่าที่บกพร่อง  ประชาชนไม่เปนที่ไว้วางใจต่อไป  ก็อาจจะร้องขึ้นด้วยกันมากๆ จนเสนาบดีต้องลาออกจากตำแหน่ง  คนที่ประชาชนไว้วางใจก็จะได้มีโอกาศเฃ้ารับตำแหน่งน่าที่  ทำการงานให้ดำเนินไปโดยทางอันสมควรและถูกต้องตามประสงค์แห่งประชาชน  เช่นนี้เปนการสมควรอย่างยิ่ง  และถ้าแม้จะกล่าวไปแต่โดยทางว่าเปนแบบแผนดีฤาไม่คงไม่มีใครเถียงเลย  คงต้องยอมรับว่าดีทั้งนั้น  แต่แบบอย่างใดๆ ถึงแม้ว่าจะดีที่สุดเมื่อเขียนอยู่ในกระดาษ  เมื่อใช้จริงเฃ้าแล้วบางทีก็มีที่เสียหายปรากฏขึ้น  ดังปรากฏอยู่แก่ผู้ที่ได้ศึกษาและรู้เหตุการณ์ที่เปนไปในนานาประเทศ  เพราะเหตุหลายประการ  จะยกมาว่าแต่พอเปนสังเขปก็มีอยู่คือ
แสดงโทษอันอาจจะมีมาได้  แม้เมื่อใช้ลักษณปกครองมี “คอนสติตูชั่น”  ๑.  ประชาชนยังไม่มีความรู้พอที่จะทำการปกครองตนเองได้  เพราะฉนั้นอาจที่จะใช้อำนาจอันอยู่ในมือตนในหนทางที่ผิดวิปลาศ  บางทีสิ่งซึ่งต้องการให้มีขึ้นฤาให้เปนไป  จะไม่เปนสิ่งที่ซึ่งนำประโยชน์มาสู่ชาติ  ฤากลับจะให้โทษ  แต่ประชาชนมีความเห็นพร้อมๆ กันมาก  ก็ต้องเปนไปตามความเห็นของพวกมาก  ต่อเมื่อกระทำไปแล้วจึ่งแลเห็นว่าให้ผลร้ายเพียงใด  จะยกอุทาหรณได้อย่าง ๑  คือต่างว่ามีสาเหตุเกิดวิวาทบาดหมางกันกับชาติอีกชาติ ๑  ซึ่งถ้าแม้ทำความเฃ้าใจกันเสียแล้วก็อาจจะเปนที่เรียบร้อยไปได้  แต่ประชาชนพากันเห็นไปว่า  ถ้าแม้ยอมผ่อนผันให้จะเปนการเสียเกียรติยศเสียรัศมีของชาติ  ก็อาจจะพากันร้องเซ็งแซ่ให้ทำสงครามได้  การทำสงครามนั้นในขณที่กำลังรบพุ่งกันอยู่ไม่สู้จะกระไรนัก  เพราะใจประชาชนกำลังฮึกเหิม  คิดแต่ถึงส่วนการต่อสู้และหวังเอาไชยแก่สัตรูเท่านั้น  ต่อเมื่อสงบศึกแล้ว  จึ่งจะรู้สึกโทษแห่งการสงคราม  คือการทำมาหาเลี้ยงชีพจะฝืดเคือง  การค้าขายซึ่งต้องงดไว้ในระหว่างสงครามนั้น  มาจับลงมือทำขึ้นอีกก็ย่อมจะไม่สดวกเหมือนแต่ก่อน เปรียบเหมือนเครื่องกลไกอันจักร์และใยเคลื่อนที่เสียหมดแล้ว  กว่าจะแก้ไขให้เดินดีและเรียบร้อยอย่างเดิมก็เปนการยากนัก  ทั้งการปกครองท้องที่ก็ต้องจัดการเอาลงระเบียบอีก เมื่อแลเห็นผลแห่งสงครามฉนี้แล้ว  ประชาชนจึ่งรู้สึกตัว  ถ้ายิ่งในกาลสงครามนั้นได้พ่ายแพ้แก่สัตรูภายนอกด้วย  ความลำบากยากเข็ญต่างๆ อันจะมีมาเปนเครื่องตามหลังก็จะยิ่งมากขึ้นเปนทวีคูณเปนแน่แท้  ที่กล่าวมาแล้วนี้เปนโทษแห่งการที่ประชาชนอันไม่รู้จักใช้อำนาจจะใช้เองในที่ผิด  แต่ยังมีอยู่อีกประการ ๑  ซึ่งควรคำนึงและพิจารณาดูเหมือนกันคือ
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 31 มี.ค. 10, 19:18

๒. ประชาชนรู้สึกตนว่าไม่มีความสามารถพอที่จะถืออำนาจและใช้อำนาจทุกๆ คน  จึ่งไว้ใจมอบอำนาจให้บุคคลบางคนถืออำนาจและใช้อำนาจนั้นแทน  บุคคลเหล่านี้คือที่เลือกสรรให้เฃ้าไปนั่งในรัฐสภา (ปาร์ลิย์เมนต์) เปนผู้แทนประชาชน  ผู้แทนเช่นนี้  ถ้าแม้ว่าประชาชนรู้จักจริง  รู้แน่นอนว่าเปนคนดีจริงแล้ว  จึ่งเลือกเฃ้าไปเปนผู้แทนตน  ดังนี้จะไม่มีที่เสียหายจะบังเกิดขึ้นได้เลย  แต่ตามความจริงหาเปนเช่นนั้นไม่  ตามความจริงนั้น  ประชาชนโดยมากก็มีกิจธุระทำมาหาเลี้ยงชีพอยู่ด้วยกันทุกคน  จะมัวสละเวลาเพื่อกระทำความวิสาสะกับผู้ที่จะเปนผู้แทนตนในรัฐสภาก็ไม่ได้อยู่เอง  เพราะฉนั้นแบบธรรมเนียมจึ่งมีอยู่ว่า  เมื่อถึงเวลาจะต้องเลือกผู้แทนเฃ้านั่งในรัฐสภา  ก็มีคน๒ คน ฤา ๓ คน มายืนขึ้นให้เลือก  ว่าจะชอบคนไหนใน ๒  ฤา ๓ คนนั้น  เมื่อชอบคนไหนก็เลือกคนนั้นโดยต่างคนต่างให้คะแนนของตน  ใครได้คะแนนมากก็ได้เฃ้าไปนั่งในรัฐสภาดังนี้  แต่ถ้ามีผู้ที่มารับเลือกแต่คนเดียว  ก็นับว่าไม่เปนปัญหา  ประชาชนไม่ต้องลงคะแนน  คนๆ นั้นเปนอันได้เฃ้านั่งในรัฐสภาทีเดียว  ส่วนการที่จะจัดให้มีคนมารับเลือกนั้น  ตามคอนสติตูชั่นว่า  ให้มีผู้ใดผู้ ๑ ในเขตรนั้นๆ เปนผู้นำขึ้นว่าผู้ใดควรได้รับเลือก  ถ้าไม่ผู้อื่นนำเสนอนามใครขึ้นอีกคน ๑ แล้ว  คนที่ ๑  ก็เปนอันได้เฃ้ารัฐสภาอยู่เอง  แต่ถ้ามีผู้เสนอนามบุคคลขึ้นอีกคน ๑  จึ่งต้องนัดวันให้ประชาชนในเขตร์นั้นลงคะแนนในระหว่างคน ๒ คน  ที่ได้มีผู้เสนอนามขึ้น ดูเผินๆ เพียงนี้ก็ยังดีอยู่  แต่ตามความจริงนั้น ไม่ใช่ว่าใครๆ สักแต่เปนมนุษย์แล้วก็จะมีโอกาศได้รับเลือกได้  ผู้ที่หยิบยกตัวบุคคลมาให้ราษฎรเลือกนั้น  คือคณะฤาปาร์ตี  ซึ่งมีแบ่งกันอยู่ตั้งแต่ ๒ ขึ้นไป  การที่ต้องมีปาร์ตีนั้น  เพราะถ้าแม้ผู้ที่เฃ้าไปนั่งประชุมในรัฐสภา  ต่างคนต่างพูดไป  แสดงความเห็นไปตามอัตโนมัตของตนๆ ทุกคน  ก็คงจะไม่มีความตกลงกันได้ในเรื่องใดเลยสักเรื่องเดียว  จึ่งต้องเกิดใช้วิธีจัดรวมเปนคณะ  คือผู้ที่มีความเห็นพ้องกันในปัญหาสำคัญๆ รวมกันเฃ้าเปนคณะฤาปาร์ตี  เพื่อจะได้ช่วยกันลงความเห็นเหมือนๆ กันมากๆ  ในเมื่อเฃ้าที่ประชุมรัฐสภา  ดังนี้เปนที่ตั้ง  ครั้นเมื่อเวลาจะมีการเลือกสมาชิกเฃ้ามาใหม่  ต่างคณะก็ย่อมจะต้องมีความประสงค์ที่จะให้ผู้มีความเห็นพ้องกับคณะตนได้รับเลือก  ต่างคณะจึ่งต่างจัดหาบุคคลอันพึงประสงค์ไปให้รับเลือก  และต่างคณะจึ่งต่างคิดดำเนินการให้คนของตนได้รับเลือก  วิธีดำเนินอันถูกต้องตามกฎหมายนั้น  คือแต่งสมาชิกแห่งคณะไปเที่ยวพูดจาเกลี้ยกล่อมราษฎรให้แลเห็นผลอันดีที่จะพึงมีมา  โดยทางที่ให้คณะได้มีโอกาสทำการโดยสดวก  เมื่อกล่าวมาถึงแค่นี้แล้ว  ก็ยังไม่มีสิ่งไรที่นับว่าเสียหายอันจะบังเกิดมีมาได้จากการใช้วิธีเช่นนี้  และถ้าความจริงเปนไปแต่เพียงเท่านี้  ก็เปนอันไม่มีที่ติ  แต่ความจริงมิได้หมดอยู่เพียงแค่นี้  คือการเกลี้ยกล่อมมิได้ใช้แต่เฉพาะทางเที่ยวพูดจา  ไม่ได้ใช้ฬ่อใจราษฎรแต่ด้วยถ้อยคำเท่านั้น  ยังมีฬ่อใจโดยทางอื่นๆ อีก  ตั้งแต่ทางเลี้ยงดู  จัดยานพาหนะให้ไปมาโดยสดวกและไม่ต้องเสียทุนทรัพย์  จนถึงติดสินบนตรงๆ เปนที่สุด  คณะใดมีทุนมากจึ่งได้เปรียบมากอยู่  ก็ตกลงรวบรวมใจความว่า  ราษฎรไม่ได้เลือกผู้แทนของตน  เพราะรู้แน่ว่าเปนคนดี  สมควรจะเปนผู้แทนตนด้วยประการทั้งปวงฉนี้เลย  ตามจริงเลือกบุคคลผู้นี้เพราะมีผู้บอกให้เลือกฤาติดสินบนให้เลือกเท่านั้น  เมื่อเปนเช่นนี้แล้ว  ก็นับว่าผิดความมุ่งหมายเดิมของคอนสติตูชั่นแล้ว  คืออำนาจไม่ได้อยู่ในมือประชาชนจริงๆ  แต่ไปอยู่ในมือแห่งคนส่วน ๑  ซึ่งเปนส่วนน้อยแห่งชาติเท่านั้น  แต่ถ้าคนเหล่านี้มีความตั้งใจดีอยู่  และเปนผู้ที่มีความรักชาติบ้านเมืองของตน  ก็คงจะอุส่าห์พยายามกระทำการงานไปตามน่าที่อันได้รับมอบไว้นั้นโดยสุจริต  แต่ผู้ที่มีความคิดซื่อตรงต่อชาตืฝ่ายเดียว  ไม่คิดถึงตนเองฤาผลประโยชน์ของตนเองมีอยู่บ้างฤาเฃ้าใจว่าถึงจะมีก็จะไม่มากปานใด  คนโดยมากถึงว่าจะรักชาติบ้านเมืองก็มักจะมีความคิดถึงประโยชน์ส่วนตัวเจือปนอยู่เปนอันมาก  คงยังมีความต้องการอำนาจและต้องการผลอันจะพึงมีมาแต่การเปนผู้มีอำนาจต้องการโอกาศที่จะได้อนุเคราะห์แก่ญาติพี่น้องฤาคนชอบพอกันบ้างเปนธรรมดาอยู่  ความประสงค์อันนี้ทำให้เกิดมีผลอัน ๑  ซึ่งเชื่อว่าผู้ที่ริเริ่มคิดวิธีปกครองด้วย “คอนสติตูชั่น”  มิได้ตั้งใจไว้ว่าจะให้มี คือ
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 31 มี.ค. 10, 19:19

๓. เกิดมีคนจำพวก ๑  ซึ่งเอาการบ้านเมือง (ปอลิติค) เปนทางหาชื่อเสียง  เอาเปนงานประจำสำหรับทำ เอาเปนทางเลี้ยงชีพทีเดียว  ที่มีบุคคลทำเช่นนี้ได้ถนัดก็เพราะเหตุผลอันได้กล่าวมาแล้วในข้อ ๒  คือโดยเหตุที่ประชาชนโดยมากมีธุระและกิจการประจำต้องกระทำอยู่  ไม่มีเวลาพอที่จะดูแลฤาดำริหในทาง “ปอลิติค”  จึ่งยอมให้ผู้ที่เฃามีเวลาจะดำริห์ทาง “ปอลิติค” นั้น  นึกแทนพูดแทนไป  การที่มีบุคคลจำพวก ๑  ซึ่งทำการคิดการทาง “ปอลิติค” ขึ้นนี้  ถ้าจะว่าไปตามตำราก็ต้องว่าไม่สมควร  เพราะตำราว่าการบ้านเมืองให้เปนไปตามแต่ประชาชนจะเห็นชอบพร้อมกันต่างหาก  การที่มีบุคคลจำพวก ๑ ซึ่งหาชื่อทาง “ปอลิติค” มาเปนผู้คิดแทนดังนี้  ก็กลายเปนอำนาจอยู่ในมือคนจำพวกนี้โดยเฉภาะ  จำพวกอื่นถึงจะต้องการอะไรๆ ก็ไม่ได้สมประสงค์  นอกจากที่ความปรารถนาจะไปตรงเฃ้ากับพวกนักเลงปอลิติค  ถ้าจะเถียงว่า  การที่เปนเช่นนี้มีทางแก้ได้ง่ายๆ คือจัดหาคนที่ไม่ใช่พวก “ปอลิติเชียน”  เฃ้าไปรับเลือกเสียบ้างก็แล้วกัน  ฉนี้ไซร้ก็ต้องตอบว่า  ขอให้ดูความเปนจริงว่าเปนไปได้ฤาไม่  บุคคลที่เรียกตนว่า “อิศระ” (อินดิเปนเดนท์)  คือไม่ได้อยู่ในปาร์ตีใดปาร์ตี ๑ นั้นนานๆ จะหลุดเฃ้าไปนั่งเปนสมาชิกแห่งรัฐสภาได้สักคน ๑ ฤา ๒ คน  แต่ถึงเฃ้าไปได้แล้วก็ไม่เฃ้าไปทำประโยชน์อะไร เพราะการงานใดๆ ที่จะบรรลุถึงซึ่งความสำเร็จได้ก็โดยปรากฏว่าคนโดยมากเห็นชอบพร้อมกัน  คือเมื่อตั้งเปนปัญหาขึ้นในที่ประชุมปาร์ลิยเมนต์แล้ว  เมื่อถึงเวลาลงคะแนนกัน  ก็ต้องเปนไปตามความเห็นของคะแนนฃ้างมากเสมอ  ก็ผู้ที่จะลงคะแนนนั้น  โดยมากก็คงจะลงคะแนนตามๆ กัน  สุดแต่หัวน่าแห่งคณะฃองตนจะบอกให้ลงทางไหน  ผู้ที่เรียกตนว่า “อิศระ” นั้น  ไม่มีพวกมีพ้องที่จะนัดจะแนะกัน  เพราะฉนั้นถึงแม้ว่าจะมีความคิดความเห็นดีปานใดก็ตาม  แต่ก็คงไม่สามารถจะบันดาลให้การเปนไปตามความคิดความเห็นของตนได้  เมื่อการเปนอยู่เช่นนี้แล้ว  จะหาผู้ที่สมัคเฃ้าไปเปนสมาชิกอิศระเช่นนั้นก็ยาก  ผู้ที่ประสงค์เฃ้าปาร์ลิยเมนต์โดยมากจึ่งมักแสดงตนว่าเปนผู้เห็นพ้องด้วยปาร์ตีใดปาร์ตี ๑  แล้วแต่จะเปนการสดวกและตรงความเห็นของตนในขณะนั้น  ลักษณะปกครองเช่นนี้จึ่งมีนามปรากฏว่า “ปาร์ตี สิสเต็ม” (ลักษณะปกครองด้วยคณะ)  คณะผลัดเปลี่ยนกันเฃ้ารับน่าที่ปกครอง  ฤาเรียกตามภาษาของเขาว่าเปน “รัฐบาล” (เคาเวอร์นเมนต์)  อีกคณะ ๑ เรียกว่าเปน “ผู้คัดค้าน” (ออปโปสิชั่น)  คณะที่เปนรัฐบาลนั้นคือคณะที่มีพวกมากในที่ประชุมปาร์ลิย์เมนต์  สามารถที่จะเชื่อใจได้อยู่ว่าการใดๆ ที่จะคิดจัดขึ้น  แม้ว่าจะเกิดเปนปัญหาขึ้นในที่ประชุมบ้าง  ก็สามารถที่จะท้าให้ลงคะแนนกันได้  โดยไม่ต้องวิตกว่าจะต้องแพ้กันในทางจำนวนคะแนน  พอเมื่อใดไม่มีความเชื่อได้แน่นอนในข้อนี้แล้ว  ฤาเมื่อท้าลงคะแนนกันแล้วแพ้ฃ้างฝ่ายผู้คัดค้าน ฝ่ายรัฐบาลก็ลาออกจากตำแหน่ง  ผู้คัดค้านเฃ้ารับตำแหน่งแทนต่อไป  กลับกันไปมาอยู่เช่นนี้  อีกประการ ๑  ในขณะเมื่อปาร์ตีใดได้รับน่าที่ปกครอง  ฤาพูดตามศัพท์อังกฤษว่า “ถืออำนาจ” (อินเปาเวอร”)  ปาร์ตีนั้นก็เลือกเอาแต่คนที่มีความเห็นพ้องกับตนไปตั้งแต่งไว้ในตำแหน่งน่าที่ต่างๆ ในรัฐบาล  เปนทางรางวัลผู้ที่เปนพวกพ้องและที่ได้ช่วยเหลือปาร์ตีในเมื่อกำลังพยายามหาอำนาจอยู่นั้น  พอเปลี่ยนปาร์ตีใหม่ได้เฃ้าถืออำนาจ  เจ้าน่าที่ต่างๆ ก็เปลี่ยนไปด้วยทั้งชุด  ตั้งแต่ตัวเสนาบดีลงไป  การเปลี่ยนเจ้าน่าที่ทำการงานของรัฐบาลทั้งชุดเช่นนี้  ถ้ายิ่งเปลี่ยนบ่อยเท่าใดก็ยิ่งชอกช้ำมากเท่านั้น  การงานก็อาจที่จะเสียหายไปได้มากๆ  เพาะบางทีคนพวก ๑ ได้เริ่มคิดไว้แล้ว  แต่ยังมิทันจะได้กระทำไปให้สำเร็จก็มีคนอื่นเฃ้ามารับน่าที่เสียแล้ว  จึ่งต้องจัดให้มีคนจำพวก ๑  ซึ่งเรียกว่า “ฃ้าราชการประจำ” (“เปอรมะเนนต์ ออฟฟิเชียล”) ไว้ในกระทรวงและกรมต่างๆ ทุกแห่ง  เพื่อเปนผู้ดำเนินการงานของรัฐบาลไปตามระเบียบเรียบร้อย  ซึ่งไม่ผิดอะไรกันกับวิธีจัดระเบียบราชการในรัฐบาลแห่งเมืองอันพระเจ้าแผ่นดินมีอำนาจเต็มเปนผู้ปกครองนั้นเอง  เสนาบดีฤาพวกหัวน่ากรมกระทรวงที่ผลัดกันเฃ้าออกอยู่นั้น  เปนแต่ผู้คิดทางการที่จะดำเนินต่อไปอย่างไร  เมื่อคิดแล้วก็ต้องมอบให้พวกฃ้าราชการประจำเปนผู้ทำต่อไป  จะทำได้แค่ไหนก็แค่นั้น  พวกฃ้าราชการประจำเหล่านี้คือผู้ที่ต้องเหน็จเหนื่อยจริง กรากกรำลำบากจริง  นั่งออฟฟิซจริง  ทำการงานของรัฐบาลจริง  แต่พวกเหล่านี้ฤาได้รับบำเหน็จรางวัลลาภยศฤาถานันดรศักดิ์  หามิได้เลย  ผู้ที่ได้รับบำเหน็จรางวัลคือผู้ที่มาขี่หลัง  คือผู้ที่เฃ้ามาครอบ  คือผู้ที่เปนพวกพ้องของหัวน่าปาร์ตีที่ถืออำนาจ  ถ้าแม้ว่าใครๆ ที่มีความรู้พอและพยายามพอที่จะอ่านหนังสือพิมพ์ต่างประเทศอยู่เนืองๆ  และหมั่นตรวจดูอยู่ว่าผู้ที่ได้รับบำเหน็จมีเลื่อนยศ  รับยศใหม่  รับตรา เปนต้นเหล่านี้  คือใครบ้าง  แล้วและสืบสาวดูว่าบุคคลนั้นๆ  ได้กระทำความชอบแก่บ้านเมืองอย่างไร  คงจะได้แลเห็นว่า  ในจำพวกที่รับบำเหน็จนั้น  มีผู้ที่ปรากฏว่าได้ทำประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองจริงๆ เปนส่วนน้อย  (และทหารบกทหารเรือนานๆ จะมีนามอยู่ในหมู่ผู้รับบำเหน็จสูงๆ สักคราว ๑)  โดยมากเปนผู้มีทรัพย์เท่านั้น  ซึ่งเห็นได้ว่าการมีทรัพย์นั้นแลเปนเครื่องที่จะบันดาลให้คนได้รับบำเหน็จ  ดูๆ ไปก็คล้ายๆ ซื้อบำเหน็จกันได้  วิธีซื้อนั้น  ไม่ใช่ซื้อกันตรงๆ มักเปนไปทางอ้อม  คือทางส่งเงินไปเฃ้าเรี่ยรายในเงินกองกลางของปาร์ตี  ปาร์ตีใช้เงินกองกลางนี้สำหรับใช้จ่าย  ในเมื่อจัดให้คนพวกของตนไปรับเลือกเปนเมมเบอร์ปาร์ลิยเมนต์  นับว่าเปนอันได้ช่วยโดยทางอ้อมเพื่อให้ปาร์ตีได้ถืออำนาจ  ยกเอาว่าเปนความชอบแก่รัฐบาล  จึ่งให้บำเหน็จเพื่อแสดงความพอใจของปาร์ตี  เมื่อเปนเช่นนี้แล้ว  ก็ไม่ผิดอะไรกันกับเจ้าแผ่นดินบำเหน็จรางวัลแต่พวกพ้องของตนที่ประจบประแจง  บำเหน็จรางวัลก็คงเปนอันไปได้แก่คนหัวประจบอีก  ไม่ใช่ได้แก่ผู้ที่ทำการงานจริงๆ  คราวนี้ก็จะต้องแก้ขึ้นว่าถึงแม้ว่าจะเปนไปได้เช่นนั้นก็ตาม  แต่ถ้าเมื่อใดปรากฏขึ้นว่าคณะซึ่งเปนรัฐบาลมีความลำเอียงฤาประพฤติไม่เปนยุติธรรม  ราษฎรก็อาจจะร้องขึ้นได้  และอาจที่จะร้องให้คณะนั้นออกจากน่าที่รัฐบาลเสียได้  เพราะฉนั้น คณที่เปนรัฐบาลจำจะต้องระวังอยู่  ข้อนี้จริงและถูกต้องทุกประการตามตำรา  แต่ตามความจริงนั้นเปนอยู่อย่างไร?  ประชาชนจะร้องทักท้วงขึ้นได้ก็โดยอาไศรยปากแห่งผู้แทนซึ่งได้เลือกให้เข้าไปเปนสมาชิกแห่งรัฐสภาอยู่แล้ว  ก็ในที่ประชุมปาร์ลิยเมนต์นั้น  แล้วแต่คะแนนมากและน้อยมิใช่ฤา  พวกรัฐบาลเฃามีอยู่มาก  ถึงใครๆ จะร้องจะว่าเฃาอย่างไรๆ  เมื่อท้าลงคะแนนกันเฃ้าเมื่อใดก็ต้องแพ้เฃาเมื่อนั้น  อีกประการ ๑ การให้บำเหน็จรางวัลผู้ที่ให้เงิน “ลงขัน” กองกลางของปาร์ตีนั้น  มิใช่ว่าจะกระทำอยู่แต่เฉภาะปาร์ตีเดียว  ย่อมจะกระทำอยู่ด้วยกันทุกปาร์ตี  เพราะฉนั้นปาร์ตีใดจะร้องติเตียนอีกปาร์ตี ๑  ก็ไม่ใคร่ถนัด  เปนเรื่อง “ไก่เห็นตีนงู  งูเห็นนมไก่” อยู่ฉนี้  จึ่งเปนการยากที่จะแก้ไขให้หายไปได้  ข้อที่แสดงมาแล้วนี้  ก็นับว่าร้ายอยู่แล้ว  แต่ยังมีต่อไปอีกขั้น ๑ คือ
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 31 มี.ค. 10, 19:20

๔. คณะฤาปาร์ตีทั้ง ๒ ฝ่ายต่างตกลงกันเสียว่าจะผลัดเปลี่ยนกันเฃ้าเปนรัฐบาล  ผลัดเปลี่ยนกันมีโอกาศได้อุดหนุนพวกพ้องของตน  เมื่อได้ตกลงกันเช่นนี้แล้วเมื่อใด  ก็แปลว่าถึงที่สุดแห่งความเลวทราม  เพราะเปนอันหมดทางที่แก้ไขได้  ในระหว่างที่ปาร์ตี “ก” เปนรัฐบาล  ก็อุดหนุนพวกพ้องของตนเสียเต็มที่  ฝ่ายปาร์ตี “ข”  ก็ไม่คัดค้านจริงจังอันใด  จะคัดค้านบ้างก็แต่พอเปนกิริยา  เพราะนึกอยู่ว่าไม่ช้าก็จะถึงคราวฝ่ายตนได้เฃ้าไปนั่งกินบ้าง  ความเสียหายอันนี้มีอยู่แก่ปาร์ลิยเมนต์แทบทุกเมือง  แม้แต่ที่เมืองอังกฤษซึ่งนิยมกันว่าเปนประเทศซึ่งมีปาร์ลิย์เมนต์อันดีที่สุด  ก็ยังมีคนอังกฤษเองร้องติอยู่ว่า ในเรื่อง “ฃายบำเหน็จ” นั้น  ถึงแม้ใครๆ จะร้องขึ้นในปาร์ลีย์เมนต์ก็ไม่เปนผลอันใด  เพราะทั้งคณะลิเบอรัลและคอนเซอร์วะติฟพากันตัดรอนปัญหาเสีย  มิได้ทันต้องถึงได้ปฤกษากันฤาลงคะแนนกันเลย  ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินนั้น  ถึงแม้ว่าจะทรงทราบเรื่องนี้  ก็ไม่มีอำนาจจะทรงแก้ไขอย่างใดได้  การที่จะประทานบำเหน็จรางวัลแก่ผู้ใด  ก็ต้องเปนไปตามความแนะนำของเสนาบดีเปนพื้น  จะมีที่เลือกประทานเองได้บ้างก็แต่พวกฃ้าราชการในราชสำนักนี้เท่านั้น  ก็เมื่อในประเทศอังกฤษเปนเช่นนี้แล้ว  ในประเทศอื่นจะเปนอย่างไร
การมีปาร์ลีย์เมนต์  ฤาเปนรีปับลิคไม่ตัดการฉ้อโกงฤาการไม่สม่ำเสมอให้หมดได้  แต่ว่า-ข้อความที่ได้กล่าวมาแล้วนี้  ก็เปนแต่หัวข้อบางข้อ  ซึ่งตามความเห็นของเราเห็นว่าเปนสำคัญ  และโทษทั้งปวงที่ได้แสดงมาแล้วนั้น  อาจจะมีได้ไม่เฉภาะแต่ที่ในประเทศซึ่งใช้ลักษณปกครองเปน “ลิมิเต็ดมอนาร์คี”  ถึงในประเทศที่ใช้ลักษณปกครองเปน “รีปับลิค” ก็มีได้เหมือนกัน  การมีปาร์ลิยเมนต์ก็ดี  ฤาถึงแม้ว่าจะเปลี่ยนลักษณปกครองเปนรีปับลิคไปทีเดียวก็ดี  ไม่ตัดการฉ้อโกงฤาการไม่สม่ำเสมอให้หมดไปได้เลย  ถ้าผู้ถืออำนาจยังมีทางที่เลือกให้บำเหน็จรางวัลแก่ใครๆ ได้ตามใจอยู่ตราบใด  คนสอพลอและหัวประจบก็คงยังต้องมีอยู่ตราบนั้น  จะผิดกันก็แต่ชื่อที่เรียกผู้มีอำนาจเท่านั้น  แต่ว่ามันก็มีข้อที่ควรคำนึงต่อไปอยู่บ้าง  และถึงแม้ว่าจะเปนข้อที่ไม่พึงใจก็จำจะต้องมองดูตรงๆ คือ
“เสียงประชาคือเสียงของเทวดา”   ความนิยมของคนโดยมากในสมัยนี้ทั่วไปมีอยู่ว่า  การที่มอบอำนาจไว้ในมือบุคคลคนเดียว  ให้เปนผู้จัดการปกครองชาติบ้านเมืองคนเดียวนั้น  ต้องได้คนที่ ดีจริง เก่งจริง สามารถจริง  จึ่งจะควรไว้ใจให้เปนผู้ครอบครองได้  โดยไม่ต้องเกรงว่าบุคคลผู้นั้นจะใช้อำนาจในที่ผิดและไม่เปนประโยชน์ฤาความศุขแห่งประชาชน  แต่การที่จะหาคนเช่นนี้ก็มิใช่ง่าย  และถ้าพระเจ้าแผ่นดินไม่เปนผู้ที่เหมาะแก่น่าที่แล้ว  จะเปลี่ยนตัวก็ยาก  นอกจากที่เจ้าแผ่นดินนั้นเองจะมีความรู้สึกว่าตนไม่มีความสามารถพอที่จะทำน่าที่ได้  และมีความรักชาติพอ  มีใจเด็ดเดี่ยวพอที่จะสละอำนาจ  สละลาภยศและราไชสวรรย์จึ่งหลีกไปเสีย  เพื่อให้ผู้ที่ประชาชนนิยมมากกว่าได้มีโอกาศทำการเพื่อบังเกิดผลอันใหญ่ยิ่งขึ้นแก่ชาติบ้านเมือง  แต่เจ้าแผ่นดินที่จะรู้สึกตัวว่าไม่สามารถนั้นก็หายาก  และถึงแม้ว่าจะมีบ้าง  การที่จะออกจากน่าที่ก็ใช่ว่าจะทำไปได้โดยง่าย  อาจจะมีเครื่องขัดขวางอยู่หลายประการ  เมื่อเปนเช่นนี้แล้ว  มหาชนจึ่งได้พากันค้นหาทางแก้ไขความไม่แน่นอนแห่งลักษณปกครองโดยมีเจ้าแผ่นดินถืออำนาจสิทธิ์ฃาดนั้นโดยวิธีใดวิธี ๑  บางเมืองก็แก้ไปทางมี “คอนสติตูชั่น” ขึ้น  และตัดอำนาจเจ้าแผ่นดินเสียทั้งหมด  คงเหลือให้ไว้แต่อำนาจที่จะห้ามกฎหมาย (“วีโต”) บางครั้งบางคราว  กับการทำสงครามและเลิกสงคราม  แต่ถึงแม้อำนาจทั้ง ๓ นี้  ก็ไม่ได้ใช้โดยลำพัง  คงต้องใช้ได้ด้วยความแนะนำของคณะเสนาบดีโดยมาก  แต่ถึงแม้ตัดอำนาจเจ้าแผ่นดินลงไปปานนี้แล้ว  บางชาติก็เห็นไม่พอ  จึ่งเลยเปลี่ยนเปนรีปับลิคไปอีกชั้น ๑  จึ่งเห็นได้ว่า  ความนิยมของมหาชนเวลานี้เดินไปหาทางประชาธิปตัย  คือทางให้อำนาจอยู่ในมือของประชาชนเอง  ต้องการที่จะมีเสียงฤามีส่วนในการปกครองชาติบ้านเมืองของตนเองให้มากที่สุดที่จะเปนไปได้  และเมื่อความเห็นของคนมากๆ ตรงกันเฃ้าแล้ว  ก็ยากที่จะทัดทานฤาคัดค้านไว้ได้  คงจะต้องเปนไปตามความเห็นอันนั้นคราว ๑  จะผิดกันก็แต่เวลาจะช้าฤาเร็วเท่านั้น  นักปราชญ์โรมันจึ่งได้แสดงเปนภาษิตไว้ว่า “Vox populi vox dei”  แปลว่า “เสียงประชาคือเสียงเทวดา”  ขยายความว่าเทวดาเปนผู้ที่นิยมกันว่ามีอานุภาพใหญ่สามารถจะบันดาลให้สิ่งทั้งปวงเปนไปตามปรารถนาทุกประการ  อันประชาชนซึ่งมีความประสงค์ตรงกันอยู่แล้วโดยมาก  และได้แสดงความประสงค์อันนั้นให้ปรากฏชัดแล้ว  ก็ไม่มีผู้ใดจะสามารถทัดทานได้  จึ่งนับว่ามีอานุภาพเปรียบด้วยเทวดาฉนี้  เมื่อปรากฏอยู่เช่นนี้แล้ว  ก็ไม่มีข้อควรสงไสยเลยว่า  เมืองไทยเรานี้คงจะต้องเปนไปอย่างประเทศอื่นๆ ได้เปนมาแล้ว  คงจะต้องมี “คอนสตูติชั่น”  อัน ๑ เปนแน่แท้  ถึงแม้การมี “คอนสตูติชั่น” จะมีโทษเช่นที่กล่าวมาแล้วก็ตาม  แต่ลักษณะปกครองโดยมอบอำนาจไว้ในมือพระเจ้าแผ่นดินผู้เดียวก็มีโทษอยู่เหมือนกัน  (ซึ่งในเวลาบัดนี้มีผู้แลเห็นและรู้สึกอยู่หลายคน!)  จึ่งตกอยู่ในปัญหาว่าจะเลือกเอาอย่างไหน  และคำตอบปัญหาอันนี้  ก็มีอยู่ว่าแล้วแต่ประชาชนจะเห็นชอบและประสงค์ทั่วกันเถิด  ส่วนตัวเราเองนั้นย่อมรู้สึกอยู่ดีว่า  การเปนเจ้าแผ่นดินมีความลำบากปานใด  คับใจเพียงใด  ที่ยังคงอุส่าห์ทำการไปโดยเต็มสติกำลังและความสามารถก็โดยหวังใจให้บังเกิดผลอันดีที่สุดแก่ชาติบ้านเมืองของเราเท่านั้น  การใดๆ ที่เราจะทำไปให้บรรลุถึงซึ่งความสำเร็จได้  ก็ด้วยอาไศรยความพร้อมใจแห่งฃ้าราชการอันเปนผู้รับน่าที่ทำการงานของรัฐบาล  ตั้งแต่เสนาบดีลงไปจนถึงผู้มีตำแหน่งน่าที่น้อยๆ  อาไศรยความไว้ใจแห่งท่านเหล่านี้อันมีอยู่ในตัวเรา  ไว้ใจว่ามีความมุ่งดีและมีความสามารถพอที่จะเปนหัวน่าเปนนายเหนือเฃาทั้งหลายได้  ถ้าเมื่อใดความไว้ใจอันนี้เสื่อมถอยลงไป  ฤาสิ้นไปแล้ว  ตัวเราก็เท่ากับท่อนไม้อัน ๑  ซึ่งบุคคลได้ทำขึ้นไว้เปนเตว็ดตั้งไว้ในศาล  จะมีผู้เคารพนับถือก็แต่ผู้ที่มีปัญญาถ่อยปราศจากความคิดเท่านั้น.
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 31 มี.ค. 10, 21:38

อยู่ในทวีปัญญา ฉบับที่ ๑๘  เดือนกันยายน  ร.ศ. ๑๒๔ ค่ะ



สารบัญ แจ้งว่า ผู้เขียนคือ น้อยลา  ค่ะ




นายเกศร์นั้น  ล้อเลียน นายกุหลาบค่ะ  เพราะนายกุหลาบเขียนย้ำครึ่งประโยคแรกอยู่เรื่อยๆ

น้อยลา  ปรีชาชาญยิ่งนัก   เถือนายกุหลาบได้หลายจุด
เช่น เรื่องเจ้าแม่วัดดุสิต  กับหนังสือฝรั่งเศสชื่อ...............


เรื่องนายทวนก็เหมือนกัน เพราะมีสมาชิกท่านอื่นๆประท้วงกลายๆอยู่เบื้องหลัง
นายวรรณ หรือ เทียนวรรณท่านเขียนแบบนี้จริง

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 31 มี.ค. 10, 22:11

หนังสือสนุก
พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร  ทรงพระนิพนธ์คำนำ

ส. ศิวลักษณ์ รวบรวมและคำอธิบาย

สำนักพิมพ์สังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย
พิมพ์ครั้งที่ ๔  มิถุนายน ๒๕๔๐



"การที่ข้าพเจ้าไม่บอกต้นตอของเรื่องที่นำมาลงพิมพ์ไว้ใน หนังสือสนุกนั้นก็เพราะ
(๑)  หมั่นไส้พวกนักวิชาการจากต่างประเทศ  โดยเฉพาะก็พวกสำนักสหรัฐอเมริกา  ที่เขียนข้อความอะไรสักประโยค ๑
วรรค ๑  ก็ต้องลงเชิงอรรถ  และ

(๒)  คนไทยแต่ก่อน  เขาชอบลองภูมิปัญญากันโดยไม่บอกให้รู้ว่า  ข้อเขียนชิ้นนี้มาจากไหน  เพื่อให้ทายกันในวงนักเลงหนังสือ

แต่ก็ต้องขอยอมรับ  ว่าบางทีก็ผิดพลาด  เพราะหนักเข้า เจ้าตัวเองก็ลืม  หาต้นตอไม่พบ


ดังเช่น  พระราชนิพนธ์ล้นเกล้า ฯ รัชกาลที่ ๖  เรื่อง  "รัฐสภาในอนาคต"นั้น         นายชัยอนันต์  สมุทวณิชคัดตัดตอนไปลงต่อไว้ในเอกสารการเมืองของเขา
เขาถามว่าข้าพเจ้าได้มาจากไหน

ตอบเขาไม่ได้

เขาก็เลยเอาไปลงต่อไว้ โดยไม่ทราบที่มาชั้นเดิมเหมือนกัน


รู้แต่ว่า  ทรงพระราชนิพนธ์เพื่อ "ถอนรัศมี" นายเทียนวรรณ และนายก.ศ.ร. กุหลาบ
แสดงจุดยืนต่อต้านประชาธิปไตยของพระองค์ท่าน   แต่ที่ทรงพยากรณ์ไว้นั้น  ก็มีส่วนถูกไม่น้อย"

บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 31 มี.ค. 10, 22:23

เคยอ่าน รัฐสภาในอนาคต ฉบับก่อนมาแล้ว

เข้าใจว่าพิมพ์ใน ทวีปัญญา แน่นอน

แต่หา ทวีปัญญาไม่ได้ในเวลานั้น

ต่อมา ตามเก็บ ทวีปัญญารวมเล่มที่ มูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย  ในพระบรมราชูปถ้มภ์
จัดพิมพ์

ได้มาเพียงเล่ม ๑ - ๔ เท่านั้น

กำลังค้นข้อมูลจากคลังหนังสือแห่งหนึ่งอยู่ ว่าจริงแล้ว ทวีปัญญามีกี่เล่ม และมีเรื่องสนุก ๆ ทวีปัญญาอะไรบ้าง


ทราบเพียงเท่านี้ค่ะ


บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 01 เม.ย. 10, 08:14

ต่อมา ตามเก็บ ทวีปัญญารวมเล่มที่ มูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย  ในพระบรมราชูปถ้มภ์
จัดพิมพ์
ได้มาเพียงเล่ม ๑ - ๔ เท่านั้น
กำลังค้นข้อมูลจากคลังหนังสือแห่งหนึ่งอยู่ ว่าจริงแล้ว ทวีปัญญามีกี่เล่ม และมีเรื่องสนุก ๆ ทวีปัญญาอะไรบ้าง


ทวีปัญญาที่มูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย  ในพระบรมราชูปถ้มภ์พิมพ์ มีทั้งหมด ๖ เล่มครับ เจ๋ง 
แถมอีกนิด  ดุสิตสมิต ที่มูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย  ในพระบรมราชูปถ้มภ์ มีทั้งหมด ๑๑ เล่มครับ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 01 เม.ย. 10, 10:41

ขอบคุณค่ะ  คุณหลวง


คำแนะนำของคุณหลวงมีประโยชน์จริง ๆ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.081 วินาที กับ 19 คำสั่ง