เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 24419 พระเจ้าเอกทัศกับวาระสุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
 เมื่อ 04 มิ.ย. 08, 18:43

"ครั้น ณ วันอังคารเดือน ๕ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีกุรนพศก (จ.ศ.๑๑๒๙ พ.ศ.๒๓๑๐) เพลาบ่าย ๔ โมง พะม่ายิงปืนป้อมสูงวัดการ้อง วัดแม่นางปลื้ม ระดมเข้ามาในกรุง แล้วเอาเพลิงจุดเชื้อที่รากกำแพงครั้นเพลาค่ำกำแพงซุดลงหน่อยหนึ่ง พะม่าก็เข้ากรุงได้ เข้าเผาพระราชวังและวัดพระศรีสรรเพ็ชญ์ แล้วกวาดเอากษัตริย์ขัตติยวงศ์ แลท้าวพระยาเสนาบดี อพยพครอบครัวทั้งปวงพาไป แต่พระเจ้าแผ่นดินนั้นหนีออกจากพระนครแต่พระองค์เดียว ได้ความลำบากก็ถึงซึ่งพิราลัยไปสู่ปรโลก ชนทั้งปวงจึงเอาศพมาฝังไว้"

ปัจฉิมบทของพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) บรรยายวาระสุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา -นครอันไร้ผู้ต่อตี- เอาไว้อย่างกระชับทว่าเห็นภาพชัดเจน กระทบจิตใจคนไทยทุกครั้งที่ได้อ่านแม้วาระแห่งความล่มสลายนั้นได้ผ่านไปนานมากกว่าสองร้อยปีแล้ว

ความโกรธแค้นที่มีต่อผู้รุกรานและความผิดหวังต่อผู้นำบ้านเมืองที่ฝังอยู่ในใจของผู้คนในยุคสมัยนั้น ถูกนำมาขยายในยุคปลุกกระแสชาตินิยมในอีกร้อยกว่าปีต่อมา สร้างภาพพระเจ้าเอกทัศให้เป็นผู้ร้ายในประวัติศาสตร์ชาติไทย ถึงขนาดที่ว่าพระนามเอกทัศอันเฉลิมพระนามตามพระโพธิสัตว์กลับถูกบิดเบือนเลือนเลอะ กลายเป็น เอกทัศน์ -อ้ายตาเดียว- ให้คนรุ่นหลังหัวเราะเยาะเล่นกัน

นี่คือสิ่งที่พระองค์สมควรได้รับแล้วจริงๆหรือ?

ถึงมีผู้ได้ทำการศึกษาวาระสุดท้ายของกรุงศรีอยุธยามาแล้วหลายครั้ง แต่ผมอยากจะยกขึ้นมาให้ร่วมพิจารณากันอีกสักครั้ง ให้เห็นวาระสุดท้ายของกรุงศรีอยุธยากันชัดๆ กรุงแตกเพราะอะไร พระเจ้าเอกทัศป้องกันกรุงศรีอยุธยาอย่างไร ดีแค่ไหน ขอเชิญมาช่วยกันปะติดปะต่อภาพแห่งอดีตนี้ขึ้นมาใหม่เถอะครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 04 มิ.ย. 08, 21:04

เย้.......อยากรู้เหมือนกัลล์ครับ คุณน้องภารโรง
อย่าลืมลงแผนที่แยะๆ นะครับ ชอบมาก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 04 มิ.ย. 08, 23:58

สาเหตุไม่ใช่สาเหตุเดียว    ส่วนการมองว่าประเด็นไหนใหญ่สุด ก็อย่าลืมว่ามองจากมุมของใครด้วย
ถ้ามองจากมุมของพม่า  กรุงศรีอยุธยาปกป้องตัวเองได้แข็งแกร่งมาก   แต่เผอิญ..พม่าเข้มแข็งกว่า  จึงสู้พม่าไม่ได้

ถ้ามองจาก มหาดเล็กหนุ่มคนหนึ่งซึ่งมองเห็นตื้นหนาบางในวังหลวง ก็มองเห็นขุนนางชั่ว ไร้ฝีมือ แต่ได้ดิบได้ดี เพราะกษัตริย์ไม่รู้จักเลือกว่าใครเก่งจริงไม่เก่งจริง
ว่าสิ่งนี้เป็นจุดอ่อนที่ทำให้หาขุนพลมือดีของจริงไม่ได้ ในยามบ้านเมืองเกิดศึก

เพราะไม่ฟังตำนานโบราณมี               จึงเสียทีเสียวงศ์กษัตรา 
เสียยศเสียศักดิ์นคเรศ                      เสียทั้งพระนิเวศน์วงศา 
เสียทั้งตระกูลนานา                           เสียทั้งไพร่ฟ้าประชากร 

ยังมีมุมอื่นๆอีกค่ะ  เช่นการเอาใจออกห่างของเจ้าเมืองใหญ่  ไม่พร้อมเพรียงในการสู้ศึก
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 05 มิ.ย. 08, 13:15

จะว่าไปกระทู้นี้ควรตั้งเมื่อหลายวันมาแล้ว แต่ผมเรียบเรียงไม่ถูก เพราะมีแง่มุมที่ต้องคำนึงถึงมากมาย ไม่รู้จะหยิบอันไหนมาเรียงต่อกันยังไงให้เข้าใจได้ง่าย แน่นอนว่าข้อมูลที่มีนั้น มองจากมุมมองแต่ละฝ่าย มีความขัดแย้งกันอยู่ไม่น้อย เรื่องเชิงปริมาณ หรือพรรณนาความเก่งกล้าสามารถ(หรืออ่อนแอ)นั้น ผมเห็นด้วยว่าต้องพิจารณาอย่างระมัดระวังเป็นพิเศษ นอกจากผู้เรียบเรียงอาจมีใจเอนเอียงแล้ว ยังต้องคำนึงถึงด้วยว่าผู้เรียบเรียงหรือเล่าเรื่องนั้นอยู่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์แค่ไหน เป็นคนในเหตุการณ์ ฟังเขาเล่ามา หรือคิดเติมเสริมแต่งเรื่องเอาเองตามวิจารณญานของตน

เฉพาะหลักฐานพงศาวดารไทย หากใช้เกณฑ์ความร่วมสมัย ฉบับพันจันทนุมาศเป็นฉบับที่ใกล้เหตุการณ์ที่สุด (พ.ศ.๒๓๓๘) แต่เห็นได้ว่าพงศาวดารฉบับที่ยิ่งเก่า รายละเอียดยิ่งน้อย (น่าสงสัยว่าคนที่อยู่ในเหตุการณ์จริง ส่วนมากน่าจะตายหรือไม่ก็ถูกพม่าจับไปเป็นเชลย ไม่รอดมาเล่าให้ฟัง) ฉบับที่มีรายละเอียดมากที่สุดคือฉบับพระราชหัตถเลขาซึ่งชำระขึ้นหลังเหตุการณ์เกือบหนึ่งร้อยปี พิจารณาจากความที่ปรากฏ รายละเอียดหลายอย่าง เห็นได้ว่าไม่ใช่เขียนขึ้นเองลอยๆ น่าจะมีหลักฐานอื่นหรือคำบอกเล่ารองรับ จนใจผู้ชำระ (กรมหลวงวงศาธิราชสนิท) ไม่ได้กำกับไว้ว่าได้ข้อมูลจากแหล่งไหน น่าเชื่อถือแค่ไหน เมื่อนำข้อมูลมาใช้ศึกษาต่อก็ลำบากใจ แต่ครั้นจะทิ้งไปเฉยๆก็เสียดาย เพราะความส่วนที่เพิ่มเติมขึ้นมาในพงศาวดารฉบับนี้ทิ้งร่องรอยหลายอย่างที่สำคัญต่อการประเมินสถานการณ์ศึกก่อนในช่วงเวลาก่อนเสียกรุง

ดังนั้นคงต้องใช้หลักฐานทั้งหมดที่มีอยู่ โดยประเมินความน่าเชื่อถือของหลักฐานเหล่านั้นตามที่เป็นจริงครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 05 มิ.ย. 08, 15:05

เพลงยาวของกรมพระราชวังบวรฯคราวเสด็จทัพพม่า พ.ศ.๒๓๓๖ เป็นมุมมองของคนร่วมสมัยในคราวกรุงแตก ชื่อเดิมของกรมพระราชวังบวรฯคือ นายบุญมา เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๒๘๖ ถวายตัวเป็นมหาดเล็กเมื่อใด รัชกาลไหน ไม่ทราบได้ (ข้อมูลจากบางเว็บบอกว่าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระเจ้าเอกทัศเมื่ออายุ ๑๖ ปี แต่ไม่ทราบว่าได้ข้อมูลมาจากไหน) แต่คงได้เลื่อนขึ้นเป็นนายสุดจินดาหุ้มแพรในแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศนี้เป็นแน่ คราวศึกอลองพญา พ.ศ. ๒๓๐๒ - ๒๓๐๓ อายุเพียง ๑๖ - ๑๗ ปี คงจะยังเป็นมหาดเล็กผู้น้อยอยู่ ถึงคราวเสียกรุง ๒๓๑๐ อายุได้ ๒๔ ปี ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าอยู่ในกรุงเมื่อคราวกรุงแตกหรือไม่ พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวเพียงว่า
"นายสุดจินดามหาดเล็กนั้นหนีออกไปสำนักอยู่ ณ เมืองชลบุรี ครั้นรู้ข่าวว่าเจ้าตากออกไปตั้งอยู่ ณ เมืองจันทบูร จึงพาพวกบ่าวไพร่เดินบกออกไปเข้าพึ่งอยู่ด้วยเจ้าตาก เจ้าตากก็ชุบเลี้ยงตั้งเป็นพระมหามนตรี เพราะรู้จักคุ้นเคยกันมาแต่ก่อนกรุงยังไม่เสียนั้น"
พงศาวดารฯ ไม่ได้ระบุวันเวลาไว้ แต่พระเจ้าตากตีจันทบูรได้เมื่อราว ๒ เดือนหลังเสียกรุง และเสด็จออกจากจันทบูรราวเดือน ๑๑ พอจะกำหนดได้ตามพงศาวดารฉบับนี้ว่านายบุญมามาถึงจันทบูรระหว่างเดือน ๗ ถึงเดือน ๑๑ พ.ศ.๒๓๑๐

พงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศและฉบับบริติชมิวเซียมไม่มีความตอนนี้ แต่ปรากฏชื่อพระมหามนตรีครั้งแรกคราวตีก๊กเจ้าพิมายในปีถัดมา

ขอยกกลอนส่วนที่ทรงวิจารณ์การปกครองก่อนเสียกรุงมาเต็มๆดังนี้นะครับ

ทั้งนี้เป็นต้นด้วยผลเหตุ               จะอาเพศกษัตริย์ผู้เป็นใหญ่
มิได้พิจารณาข้าไท                    เคยใช้ก็เลี้ยงด้วยเมตตา
ไม่รู้รอบประกอบในราชกิจ             ประพฤติการแต่ที่ผิดด้วยอิจฉา
สุภาษิตท่านกล่าวเป็นราวมา          จะตั้งแต่งเสนาธิบดี
ไม่ควรอย่าให้อัครฐาน                  จะเสียการแผ่นดินกรุงศรี
เพราะไม่ฟังตำนานโบราณมี           จึงเสียทีเสียวงศ์กษัตรา
เสียยศเสียศักดิ์นัคเรศ                  เสียทั้งพระนิเวศน์วงศา
เสียทั้งตระกูลนานา                     เสียทั้งไพร่ฟ้าประชากร
สารพัดจะเสียสิ้นสุด                    ทั้งการยุทธก็ไม่เตรียมฝึกสอน
จึงไม่รู้กู้แก้พระนคร                      เหมือนหนอนเบียนให้ประจำกรรม
อันจะเป็นเสนาธิบดี                     ควรที่จะพิทักษ์อุปถัมภ์
(* กลอนตรงนี้เหมือนขาดหายไปช่วงหนึ่ง - CrazyHOrse)
ประกอบการหว่านปรายไว้หลายชั้น    ป้องกันปัจจาอย่าให้มี
นี่ทำหาเป็นเช่นนั้นไม่                   เหมือนไพร่ชาติชั่วช้ากระทาสี
เหตุภัยใกล้กรายร้ายดี                  ไม่มีที่จะรู้สักประการ
ศึกมาแล้วก็ล่าไปทันที                  มิได้มีเหตุเสียจึงแตกฉาน
ตีกวาดผู้คนไม่ทนทาน                  เผาบ้านเมืองยับจนกลับไป
ถึงเพียงนี้ละไม่มีที่กริ่งเลย              ไม่เคยรู้ล่วงลัดจะคิดได้
ศึกมาชิงล่าเลิกกลับไป                  มิได้เห็นจะฝืนคืนมา
จะคิดโบราณอย่างนี้ก็หาไม่             ชาติไพร่หลงฟุ้งแต่ยศถา
ครั้นทัพเขากลับยกมา                   จะองอาจอาสาก็ไม่มี
แต่เลี้ยวลดปดเจ้าทุกเช้าค่ำ            จนเมืองคร่ำเป็นผุยยับยี่
ฉิบหายตายล้มไม่สมประดี               เมืองยับอัปรีย์จนทุกวันฯ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 05 มิ.ย. 08, 18:22

ถ้าคำนึงถึงชัยภูมิของกรุงศรีอยุธยาที่เป็นเมืองที่มีน้ำล้อมรอบ  เมื่อถึงฤดูน้ำหลากน้ำจะท้วมพื้นที่รอบเกาะเมืองทุกด้าน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งแถบทุ่งภูเขาทองและทุ่งมะขามหย่องทางทิศตะวันตกของกรุงศรีอยุธยานั้น  เมื่อถีงฤดูน้ำหลาก  น้ำจะท่วมพื้นที่แถบนี้ชนิดหลายช่วงตัวคนเลยทีเดียว  เมื่อย้อนกลับไปดูทัพพม่าที่ยกเข้ามาล้อมกรุงศรีอยุธยาในอดีต  เมื่อน้ำหลากลงมาท่วมท้องทุ่งรอบกรุงศรีอยุธยา  ทัพพม่าและหัวเมืองใหญ่น้อยที่ถูกเกณฑ์มาก็มักจะล่าถอยกลับไป  เพราะไม่ชินกับการอยู่กับน้ำเช่นชาวกรุงศรีอยุธยาและหัวเมืองใหญ่น้อย  คราวพม่ายกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๐๘ นั้น  ชาวกรุงศรีอยุธยาก็คงคิดว่าพม่าจะถอนทัพกลับไปเมื่อถึงฤดูน้ำหลากเช่นทุกครั้ง  แต่การหาเป็นเช่นนั้นไม่  เมื่อน้ำเหนือหลากลงมาพม่าก็ต่อแพและคงล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่เช่นนั้น  ครั้นน้ำลดจนดินแห้งแล้วพม่าซึ่งตั้งล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่ถึง ๑๕ เดือนก็ตีหักเอากรุงศรีอยุธยาได้  การเสียกรุงครั้งที่ ๒ นี้จึงน่าจะเป็นเพราะความประมาทของชาวกรุงศรีอยุธยาที่ไม่คาดคิดว่าพม่าจะมาตั้งทัพล้อมกรุงอยู่นานเช่นนี้มากกว่า
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 05 มิ.ย. 08, 20:57

ความในเพลงยาวกรมพระราชวังบวรฯเฉพาะท่อนนี้ครอบคลุมเหตุการณ์เรียกได้ว่าทั้งรัชกาลพระเจ้าเอกทัศเลยทีเดียว สรุปได้ดังนี้
พระมหากษัตริย์ตั้งเอาแต่ข้าเก่าขึ้นเป็นเสนาบดี โดยมิได้พิจารณาว่าบุคคลเหล่านี้ไม่มีความสามารถและขาดความสุจริต เสนาบดีเหล่านี้ไม่รู้จักตระเตรียมการรับศึก ไม่ฝึกทหาร ไม่เตรียมการป้องกัน คราวศึกอลองพญา พม่ามาแล้วก็ล่าถอยไปเอง โดยทำลายบ้านเมืองจนป่นปี้แถมกวาดต้อนผู้คนไปอีก เช่นนี้แล้วเหล่าเสนาบดียังไม่รู้จักคิดว่าพม่าจะกลับมาอีก ครั้นพม่ากลับมาใหม่ในสงครามคราวเสียกรุง ก็ไม่มีใครคิดอาสาออกทำศึก ปกปิดข้อเท็จจริงจนกรุงแตกในที่สุด

เรื่องเด็กเส้นนี้มีปรากฏร่องรอยอยู่ให้เห็นบ้างในช่วงต้นรัชกาลพระเจ้าเอกทัศ

พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาระบุว่าหลังจากพระเจ้าเอกทัศทรงได้ราชสมบัติไม่นาน พระองค์ทรง "ตั้งนายปิ่นผู้พี่เจ้าจอมเพงเจ้าจอมแมนสนมเอกนั้น เป็นพระยาราชมนตรีบริรักษ์จางวางมหาดเล็ก ตั้งนายฉิมผู้น้องเป็นหมื่นศรีสรรักษ์"

* แต่ข้างต้นความนี้ไม่ปรากฏในพงศาวดารฉบับอื่นเลยนะครับ ต้องพิจารณาอย่างระมัดระวังเป็นพิเศษ

พงศาวดารฉบับราชหัตถเลขาระบุต่อไปว่านายปิ่นพระยาราชมนตรีทำจ้วงจาบหยาบช้าจนทำให้ขุนนางกลุ่มหนึ่งไม่พอใจ ขุนนางกลุ่มนี้ซึ่งประกอบด้วย เจ้าพระยาอภัยราชา พระยายมราช พระยาเพชรบุรี หมื่นทิพเสนา นายจุ้ย นายเพงจัน พากันไปปรึกษากรมหมื่นเทพพิพิธ จะก่อการกบฏ ชิงราชสมบัติจากพระเจ้าเอกทัศแล้วเชิญพระเจ้าอุทุมพรให้เสด็จกลับขึ้นครองราชย์แทน แต่พระภิกษุพระเจ้าอุทุมพรเห็นว่าหากขุนนางกลุ่มนี้ทำการสำเร็จ จะยกกรมหมื่นเทพพิพิธขึ้นแทน ทั้งพระเจ้าเอกทัศและพระองค์เองก็จะพากันตาย จึงทรงส่งข่าวกบฏให้พระเจ้าเอกทัศทรงทราบ ผลคือกรมหมื่นเทพพิพิธถูกเนรเทศไปลังกา เจ้าพระยาอภัยราชา พระยายมราช พระยาเพชรบุรี นายจุ้ย ถูกจับได้ ให้ลงอาญาเฆี่ยนแล้วจำไว้ หมื่นทิพเสนากับนายเพงจันหนีรอดไปได้

พงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศกับฉบับบริติชมิวเซียมระบุความไว้ใกล้เคียงกันแค่ว่า กลุ่มขุนนางกลุ่มนี้ (ขาดชื่อพระยายมราชหนึ่งคน) คิดการกบฏจะยกราชสมบัติให้กรมหมื่นเทพพิพิธ ไม่ระบุเหตุว่ามาจากพระยาราชมนตรี หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับพระเจ้าอุทุมพร แต่บทสรุปนั้นตรงกัน

จดหมายของมองซิเออร์บริโกต์ ลงวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ค.ศ.๑๗๖๐ (พ.ศ. ๒๓๐๓) กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่า
"เมื่อปีกลายนี้พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ได้ให้ลงพระราชอาญาแก่ข้าราชการผู้ใหญ่เกือบทุกคน เพราะข้าราชการเหล่านี้คบคิดกันจะเชิญพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงผนวชให้กลับมาครองราชสมบัติอีก  ข้าราชการที่ไม่ต้องรับพระราชอาญาก็มีแต่เจ้าพระยาพระคลังคนเดียวเท่านั้นและที่รอดตัวมาได้ก็เพราะได้เอาของถวายมากต่อมากนอกจากการในหน้าที่ประจำแล้วเจ้าพระยาพระคลังได้รับหน้าที่รักษาพระราชลัญจรด้วย ยังมีพระองค์เจ้าต่างมารดาอีกองค์๑ ทรงปนวชอยู่ ได้คบคิดกับข้าราชการในเรื่องที่จะถวายราชสมบัติแก่เจ้าพระ จึงต้องถูกเนรเทศไปเมืองลังกา แต่เรือที่พาเจ้าองค์นี้ไปเมืองลังกานั้น ได้ถูกซัดไปเข้าเฝ้าเกาะสุมาตรา เจ้าองค์นี้จึงได้ขึ้นไปอาศรัยอยู่ที่เกาะสุมาตราได้สักหน่อย แล้วก็ได้เลยเสด็จไปเกาะมาลากา มีคนเปนอันมากอยากจะให้เจ้าองค์นี้ได้ครองราชสมบัติ และบางทีพวกฮอลันดาก็จะช่วยให้ได้สมประสงค์ก็จะเปนได้"

ก็ไม่ได้พูดถึงนายปิ่นอยู่ดี ความเรื่องนายปิ่นพระมหามนตรี เด็กเส้นพระเจ้าเอกทัศจึงยังเป็นความที่ยังน่าสงสัยอยู่ต่อไป

ครั้นถึงศึกอลองพญา พระเจ้าอุทุมพรลาผนวชมาช่วยบัญชาการรบ พงศาวดารทั้งสามฉบับข้างต้นกล่าวตรงกันว่าทรงโปรดให้ถอด เจ้าพระยาอภัยราชา พระยายมราช พระยาเพชรบุรี จากพันธนาการ มาช่วยรบพม่า หลังจากนั้นจึงจับกุมพระยาราชมนตรี และจมื่นศรีสรรักษ์ด้วยข้อหาทำชู้กับนางใน ให้ลงพระราชอาญา เฆี่ยนแล้วเอาไปจำไว้ ได้ ๓ วัน นายปิ่นพระยาราชมนตรีก็ตาย ให้เอาไปเสียบประจานไว้ที่ประตูชัย ไม่มีการเอ่ยถึงจมื่นศรีสรรักษ์อีก

ไม่ว่านายปิ่นจะเป็นเด็กเส้นจริงหรือไม่ แต่ที่แน่ๆนายปิ่นยุติบทบาทลงเพียงเท่านี้ ตั้งแต่ต้นรัชกาลพระเจ้าเอกทัศนี่แหละครับ และหากพิจารณาความในพงศาวดารอีกตอนหนึ่งที่ว่า
"ฝ่ายทัพหน้าพะม่ายกมาตีค่ายซึ่งตั้งอยู่ตาลานแตกพ่ายเข้ามาพระยากลาโหมขึ้นช้างหนีมาถึงทุ่งวัดนนทรี  พะม่าควบม้าไล่ตามมาทันแทงพระยากลาโหมตาย พระยมราชนั้นต้องหอกซัดเป็นหลายแห่งหนีเข้ามาได้ อยู่ได้  ๙  วัน  ๑๐  วันตาย  พระยาราชวังสันนั้นยิงปืนแย้งเอากองพระยารัตนาธิเบศ  ครั้นแตกหนีเข้ามาถึงแล้วหาเฝ้าไม่  เป็นพวกปิ่นราชมนตรี  ให้ไปสืบได้ตัวมาลงพระราชอาชญาเฆี่ยนยกหนึ่ง  แล้วให้พันธนาไว้ประมาณ  ๘  วันก็ตาย  จึงเอาไปเสียบไว้ประตูชัย"

เห็นว่าโทษนายปิ่นราชมนตรีผู้นี้ คงไม่ใช่แต่เพียงเรื่องชู้สาวกับนางในเท่านั้นละมังครับ เพราะโทษชู้สาวเป็นความผิดเฉพาะตัว พระยาราชวังสันไม่เห็นจะต้องไปกลัวติดร่างแหไปด้วย น่าจะเป็นการเมืองในสมัยนั้นเสียมากกว่า แต่ถ้าจะสรุปว่านายปิ่นเป็นเด็กเส้นพระเจ้าเอกทัศ ก็ดูเหมือนพระองค์จะไม่เดิอดร้อนอะไรด้วย หากจะแย้งว่าเวลานั้นพระเจ้าอุทุมพรเป็นใหญ่เหนือพระองค์ ก็ไม่มีหลักฐานอะไรที่บ่งชี้ถึงขนาดนั้น ที่เห็นชัดๆคือ เสร็จศึกอลองพญา พระเจ้าอุทุมพรก็ออกผนวชอีก ยุติบทบาทของพระองค์แต่เพียงนี้ จะมีก็แต่พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาเท่านั้นที่กล่าวว่าถึงสงครามคราวเสียกรุงมีผู้ไปร้องขอให้พระองค์ลาผนวชมาช่วยป้องกันบ้านเมือง แต่พระองค์ทรงปฏิเสธ

ทีนี้ลองพิจารณาขุนนางกลุ่มก่อการแต่ละคน ว่ามีชีวิตราชการอย่างไรต่อไป

คนแรกคือเจ้าพระยาอภัยราชา น่าสนใจว่าในรัชกาลพระบรมโกศ เมื่อครั้งจะตั้งกรมขุนพรพินิตเป็นกรมพระราชวังบวร ความในพงศาวดารทุกฉบับเอ่ยถึงเจ้าพระยาอภัยราชาคล้ายกันดังนี้ (ยกมาจากฉบับบริติชมิวเซียม)
"ถึง ณ เดือน ๕ ปีฉลู นพศก กรมหมื่นเทพพิพิธปรึกษาด้วยเจ้าพระยาอภัยราชา พระยากลาโหม พระยาพระคลัง แล้วกราบทูลว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนพรพินิต จะขอพระราชทานให้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ฝ่ายกรมขุนพรพินิตทำเรื่องราวถวายว่า พระเชษฐากรมขุนอนุรักษ์มนตรีมีอยู่ จะขอพระราชทานให้เป็นกรมพระราชวัง พระเจ้าอยู่หัวดำรัสว่า กรมขุนอนุรักษมนตรีนั้น เป็นวิสัยพระทัยปราศจากความเพียร ถ้าจะให้ดำรงฐานาศักดิ์อุปราช สำเร็จราชกิจกึ่งหนึ่ง ก็จะเกิดวิบัติฉิบหายเสีย เห็นแต่กรมขุนพรพินิต กอปรด้วยสติปัญญาเฉลียวฉลาด ควรจะดำรงเศวตฉัตรรักษาแผ่นดินได้ จึ่งพระราชทานฐานาศักดิ์เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล อยู่วังจันทร์เกษม"

อ่านความตามนี้เจ้าพระยาอภัยราชาเป็นผู้สนับสนุนพระเจ้าอุทุมพรมาแต่แรก เห็นได้ว่าในกลุ่มนี้มีพระยาพระคลัง ซึ่งน่าจะเป็นคนเดียวกับเจ้าพระยาพระคลังในรัชกาลพระเจ้าเอกทัศที่บริโกต์พูดถึงว่ารอดโทษไปได้เพราะเอาของถวายมากต่อมาก หลังศึกอลองพญา ไม่มีการกล่าวถึงเจ้าพระยาอภัยราชาอีกเลย แต่บริโกต์ยังเล่าเรื่องราวของเจ้าพระยาพระคลังต่อมาอีกดังนี้

"เมื่อวันที่ ๘ เดือนเมษายน (พ.ศ.๒๓๐๒) ข้าศึกได้ยกทัพมาประชิดเมือง ห่างกับเมืองประมาณ ๒ ไมล์เท่านั้น ไทยจึงได้จัดกองสอดแนมให้ออกไปสืบข่าวข้าศึก เมื่อวันที่ ๙ (เมษายน) เราได้เห็นเพลิงไหม้ในกรุงถึง ๓ แห่ง พระเจ้ากรุงสยามไม่ไว้พระทัยผู้ใดเลย จึงได้ให้เอาเจ้าพระยาพระคลังและบิดาเลี้ยงของพระองค์ไปขังคุกเสีย"

"เมื่อวันที่ ๒๙(เมษายน) ได้โปรดปล่อยให้เจ้าพระยาพระคลังพ้นออกจากคุก และได้มีรับสั่งให้เจ้าพระยาพระคลังไปบวชเสียเพื่อลบล้างความผิดที่ทำไว้ แต่ในเวลานี้เจ้าพระยาพระคลังได้สึกออกมาแล้ว และได้กลับเข้ารับหน้าที่ตามเดิม การที่เปนเช่นนี้กระทำให้พวกข้าราชการผู้ใหญ่ยินดีเปนอันมาก แต่การที่ยินดีนี้ก็ไม่มากเท่าไรนัก  เพราะเหตุว่าพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ ได้กลับทรงผนวชอีกครั้ง ๑ เมื่อวันที่ ๑๔ เดือนกรกฎาคม เพราะเหตุว่าไม่ทรงถูกกันกับพระเชษฐา พวกข้าราชการกำลังระส่ำระสายกันมาก"

"และเมื่อวันที่ ๓๐ เดือนพฤษภาคม เราได้ไปหาเจ้าพระยาพระคลังคนใหม่ และเจ้าพระยาพระคลังก็ได้ลงจากแท่นมาต้อนรับเรา พูดว่าในคราวสงครามกับพม่าครั้งนี้พวกเราได้ช่วยไทยมากกว่าบาดหลวงแต่ก่อนๆ"


กลายเป็นว่าพระยาพระคลังที่ถวายของมากต่อมาก ก็โดนโทษได้อยู่ดี จนใจที่ไม่รู้ว่าเป็นโทษเรื่องอะไร แต่ถึงที่สุดแล้วหลังจากนั้นก็ได้มีการเปลี่ยนตัวเจ้าพระยาพระคลัง ทั้งนี้เจ้าพระยาพระคลังคนเก่าจะได้โยกย้ายไปรับผิดชอบด้านอื่นหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ เพราะไม่มีการเอ่ยถึงอีกครับ

พระยายมราชตายในศึกอลองพญาดังความในพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ ตอนเดียวกับที่พระยาราชวังสันเป็นโทษที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว

ที่น่าสนใจคือพระยาเพชรบุรี ยีงมีบทบาทอยู่ต่อมา จนตายในสงครามคราวเสียกรุง ไม่รู้ว่ายังเป็นคนเดิมหรือไม่ แต่ไม่มีระบุว่ามีการเปลี่ยนตัวครับ

หลังศึกอลองพญาแล้ว ไม่มีความในพงศาวดารตอนไหนที่ตีความได้เป็นเรื่องขุนนางข้าเก่าเด็กเส้นอีกเลยครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 06 มิ.ย. 08, 00:13

เรื่องการศึกคราวพระเจ้าอลองพญานั้น พงศาวดารทุกฉบับให้รายละเอียดไว้ใกล้เคียงกันว่า พระเจ้าอลองพญานำทัพมาเองโดยเริ่มต้นจากการตีหัวเมืองมอญริมชายฝั่งทะเลอันดามัน

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องขยายความสักนิดหนึ่งก่อน ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลางมาถึงตอนปลาย การค้าต่างประเทศทวีความสำคัญขึ้นมาก ผลประโยชน์จากการค้าทางทะเลอันดามันน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่พม่าขัดแย้งกับอยุธยา ผลประโยชน์ต่างประเทศเหล่านี้ทำให้ผลประโยชน์ที่ได้จากแรงงานไพร่ในสังกัดลดความสำคัญลง พงศาวดารระบุว่าในรัชกาลพระบรมโกศ
"ครั้นปีจอ จัตวาศก พระยาอภัยมนตรี ว่าที่สมุหนายกถึงแก่กรรม ทรงพระกรุณาให้พระยาราชภักดีเป็นเจ้าพระยาราชภักดี ว่าที่สมุหนายกด้วย แล้วให้เกลี้ยกล่อมเลกวัดพระกับไพร่หัวเมืองวิเศษไชยชาญ เมืองสุพรรณบุรี เมืองนครชัยศรี เมืองอินทรบุรี เมืองพรหม เมืองสิงห์บุรี เมืองสมี เมืองชัยนาท เมืองมโนรมย์ เมืองอุทัย เมืองนครสวรรค์" พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาระบุเพิ่มเติมว่าได้เลกหลายหมื่น

เห็นได้ว่า มีไพร่หลุดรอดสังกัดมูลนายอยู่เป็นจำนวนมาก ตัวอย่างที่เห็นชัดมากที่สุดคือในสงครามชาวเสียกรุง ที่ชาวบ้านระจันตั้งชุมนุมเป็นอิสระจากการควบคุมของกรุงศรีอยุธยา ทั้งๆที่ในยามสงคราม ไพร่ทุกคนต้องเป็นทหารใต้สังกัดมูลนายของตนเอง

กลับไปที่ศึกพระเจ้าอลองพญา หลังจากทัพพระเจ้าอลองพญาปราบปรามหัวเมืองมอญเสร็จสิ้นแล้วก็ยกทัพเข้ามาทางตะนาวศรี นอกจากพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศแล้ว พงศาวดารฉบับอื่นว่าพระเจ้าเอกทัศให้คนสืบข่าวได้ความว่าพม่ายกมาสามทางคือทางเชียงใหม่ ท่ากระดาน และมะริด(ตะนาวศรี) "ที่จริงนั้นพม่ายกมาแต่ข้างมะริดทางเดียว พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงทราบแน่ ก็ตกพระทัย ด้วยมิได้มีวิจารณ์พระเชาวญาณ ก็พาลเขลาทรงเชื่อเอาทั้ง ๓ ทาง" จึงส่งทัพไปจุกทั้ง ๓ ทาง

ผลคือทัพที่ส่งไปขัดพม่าแตกมาตลอดทาง ระหว่างนี้พระเจ้าอุทุมพรลาผนวชมาช่วยว่าราชการ แต่เห็นได้ว่ายุทธวิธีที่ใช้ไม่ได้แตกต่างกันอย่างไร เป็นแต่ส่งทัพไปขัดเป็นระยะๆและแตกมาตลอด จนในที่สุด "ครั้น ณ เดือน ๕ แรม ๑๔ ค่ำ พม่าเอาปืนใหญ่มาตั้ง ณ วัดราชพลี วัดกระษัตรา ยิงเข้ามาในกรุง พระเจ้าอยู่หัวเสด็จทรงช้างต้นพลายแสนพลพ่าย ไปทอดพระเนตรกำชับหน้าที่ ณ วัดสวนหลวงศพสวรรค์ และป้อมมหาชัย ครั้นเพลาเย็น พม่าเลิกข้ามฟากไปข้างวัดภูเขาทอง ถึงเพลาเช้า ขึ้นค่ำหนึ่ง เดือน ๖ พม่าเอาปืนใหญ่เข้ามาตั้ง ณ วัดหน้าพระเมรุ จังก้ายิงระดมเอาพระราชวังและพระที่นั่งสุริยาสอมรินทร์ทั้งกลางวันกลางคืน พอพระเจ้าอังวะทรงประชวรลง จึ่งให้ถอยทัพไปทางเมืองเหนือ"

นี่เองที่กรมพระราชวังบวรทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า
ศึกมาแล้วก็ล่าไปทันที                  มิได้มีเหตุเสียจึงแตกฉาน
ตีกวาดผู้คนไม่ทนทาน                  เผาบ้านเมืองยับจนกลับไป
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 06 มิ.ย. 08, 09:49

สงครามคราวเสียกรุง กล่าวโดยย่นย่อก็อาจเป็นอย่างที่คุณ V_Mee ตั้งข้อสังเกตไว้ครับ ทัพพม่าใช้เวลาตีหัวเมืองเหนือใต้หลายเดือน พอพ้นฤดูน้ำหลากก็ยกเข้าตั้งล้อมกรุงทันที จึงมีเวลาหลายเดือนก่อนจะถึงฤดูน้ำหลากอีกครั้ง

น่าคิดว่าคราวนี้กรุงศรีอยุธยาสามารถต้านเอาไว้ได้หลายเดือน โดยไม่ได้บอบช้ำอย่างคราวศึกอลองพญา จนถึงหน้าน้ำหลากอีกครั้ง ซึ่งทัพพม่าไม่ยอมถอย เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวตลอด ๔๑๗ ปีของกรุงศรีอยุธยาที่ข้าศึกทนตั้งทัพอยู่ ไม่ถอยไปในฤดูน้ำหลาก

กรุงศรีอยุธยายังสามารถตั้งรับพม่าจนพ้นช่วงฤดูน้ำหลากไปได้อีกหลายเดือนกว่ากรุงจะแตก ระหว่างการปิดล้อมที่ยาวนานนี้สภาพการณ์เป็นอย่างไร? ฝ่ายไทยสรุปว่าการป้องกันอ่อนแอ ฝ่ายพม่าว่าไทยตั้งรับกล้าแข็ง แต่เรื่องเหล่านี้นอกจะเป็นมุมมองที่แตกต่างแล้ว ยังมีเรื่องอคติของผู้เรียบเรียงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่สิ่งที่หลอกลวงเราไม่ได้ คือข้อเท็จจริงที่ปรากฏในพงศาวดารและหลักฐานร่วมสมัยอื่นๆ

เชิญพิจารณาการศึกครั้งนี้ด้วยสายตาของเราเองดีกว่าครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 06 มิ.ย. 08, 11:56

แผนที่ตำแหน่งที่พงศาวดารระบุว่าพม่าตั้งค่ายประชิด ยิงปืนใหญ่เข้ามาในเมืองและพระบรมมหาราชวังในคราวศึกอลองพญา ๒๓๐๒-๒๓๐๓ ครับ พม่า
หลายท่านไม่ต้องดูก็คงนึกภาพออกอยู่แล้วว่าอะไรอยู่ตรงไหน พม่าตั้งประชิดเมืองขนาดไหน (จากมะริดมาจนตั้งค่ายประชิดเมือง พม่าใช้เวลาราว ๓ เดือนเท่านั้นเอง)
ท่านที่นึกไม่ออกก็เชิญดูเลยดีกว่าครับ



บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
cannavaro
อสุรผัด
*
ตอบ: 37



ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 10 มิ.ย. 08, 14:42

เจ๋งมากเลยครับ

มารออ่านอีก
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 10 มิ.ย. 08, 16:48

เหตุการณ์ตอนต่อจากนี้ต่อเนื่องกันยาว และมีความสับสนเรื่องวันเวลาอยู่มาก สมัยนั้นเราขึ้นปีใหม่ตอนเดือน ๕ คนรุ่นใหม่ที่ไม่คุ้นเคยจะงง ครั้นจะเปลี่ยนมาเป็นแบบปัจจุบัน นอกจากจะ"ผิด"แล้ว คนรุ่นเก่าจะพลอยสับสนไปด้วย ดังนั้น ผมจะกำกับเป็นปีฝรั่ง ค.ศ.แทน ขอปักหลักเวลาไว้เป็นที่สังเกตดังนี้นะครับ
สงครามอลองพญาเสร็จสิ้น พ.ศ. ๒๓๐๓ ก็ ค.ศ.๑๗๖๐
กรุงแตกขึ้น ๙ ค่ำเดือน ๕ พ.ศ.๒๓๑๐ ตรงกับวันที่ ๗ เมษายน ค.ศ.๑๗๖๗


ค.ศ. ๑๗๖๐
หลังจากศึกอลองพญา พระเจ้ามังลอกขึ้นครองราชย์ พม่ามีปัญหาทันที นอกจากสงครามชิงราชสมบัติแล้ว หัวเมืองที่ตีได้ในรัชกาลพระเจ้าอลองพญาพากันตั้งแข็งเมือง โดยเฉพาะพวกมอญ ตั้งแต่หงสาวดีลงมาจนถึงมณฑลตะนาวศรี (ทวาย มะริด ตะนาวศรี)

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.๑๗๖๑
จดหมายของบริโกต์(บาทหลวงฝรั่งเศส) บอกว่าพม่ายกมาตีทวาย (ซึ่งคงจะตั้งแข็งเมืองเมื่อครั้งพระเจ้ามังลอกขึ้นครองราชย์ ในขณะที่พงศาวดารไทยระบุผิดพลาดว่าแข็งเมืองเมื่อคราวพระเจ้ามังระขึ้นครองราชย์ในอีก ๓ ปีต่อมา) เจ้าเมืองทวาย (ไทยว่าชื่อหุยตองจา) ขอความช่วยเหลือจากอยุธยา พระเจ้าเอกทัศให้มองตัตเจ้าเมืองตะนาวศรีส่งทัพไปช่วย แต่ไปยังไม่ทันถึงทวายสามารถเอาชนะกองทัพพม่าได้ก่อน เจ้าเมืองทวายกลัวพม่าจะมาอีก จึงถวายดอกไม้เงินดอกไม้ทองเข้ามาที่อยุธยา

ก่อนเดือนพฤษภาคม ค.ศ.๑๗๖๑
บริโกต์บอกว่า อยุธยาได้ข่าวว่าพม่ามาทำดินปืนที่เมืองเหนือ จึงได้มีรับสั่งให้เจ้าพนักงานเกณฑ์ผู้คนเพิ่มเติมขึ้นอีกและให้ถมชานกำแพงพระนครให้ใหญ่ออกไปอีก มีข่าวจากเชลยที่จับได้ว่าพม่าเตรียมการจะตีอยุธยาอีก

ก่อนเดือนธันวาคม ค.ศ.๑๗๖๒
บริโกต์บอกว่ากรมหมื่นเทพพิพิธที่ถูกเนรเทศไปลังกากลับมาที่มะริด จะขอกลับมาที่อยุธยา พระเจ้าเอกทัศทรงคิดจะสำเร็จโทษ ขุนนางต่างสนับสนุน เว้นแต่พระยาเพชรบุรีที่รวบรวมคน ๕๐๐ เดินทางไปมะริดเพื่อสนับสนุนกรมหมื่นเทพพิพิธให้ก่อกบฏ พระยาเพชรบุรีถูกจับได้ระหว่างทางและถูกนำกลับมาลงอาญาที่ในกรุง ข้างพงศาวดารไทยลงปีผิด (ช้าไปหนึ่งปี) ไม่เอ่ยถึงพระยาเพชรบุรี แต่บอกว่าให้กรมหมื่นเทพพิพิธไปอยู่ที่ตะนาวศรี และส่งข้าหลวงไปกำกับ

๒๙ พฤศจิกายน ค.ศ.๑๗๖๓
พงศาวดารพม่าระบุว่าพระเจ้ามังลอกเสด็จสวรรคต พระเจ้ามังระพระอนุชาขึ้นครองราชย์ (พงศาวดารไทยลงปีผิด ช้าไปปีหนึ่งบ้าง สองปีบ้าง) พม่ายกไปตีเชียงใหม่ (พงศาวดารไทยลงปีผิด เร็วไปสองปี) พงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศระบุว่าทางเชียงใหม่ขอความช่วยเหลือมายังอยุธยา พระเจ้าเอกทัศให้พระยาพิษณุโลกยกพล ๕๐๐๐ ไปช่วย แต่ไปถึงระแหง (ตาก) ได้ข่าวว่าเชียงใหม่แตกแล้ว จึงส่งคนมาแจ้งข่าวที่อยุธยา  พระเจ้าเอกทัศให้เลิกทัพกลับได้ ปีนั้พม่าค้างฤดูน้ำอยู่ที่เชียงใหม่

พฤศจิกายน-ธันวาคม ค.ศ. ๑๗๖๔ (เดือนอ้าย พ.ศ. ๒๓๐๗)

พงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศว่า พระเจ้าเอกทัศ "ให้พระวิสูตรโยธามาตย์  ฟั่นเชือกน้ำมันทำรอกไว้ให้มาก ถ้ามีการศึกมาจะเอาไม้ตั้งขาหย่างบนป้อมและเชิงเทินแล้วจะเอารอกติดเอาปืนกระสุน  ๓-๔  นิ้วชักขึ้นไปให้สูง  แล้วจะล่ามชะนวนยิงมิให้ข้าศึกเข้ามาใกล้" ทางอยุธยาคงเห็นว่าพม่าจะมาแน่แล้ว จึงเตรียมการรับศึก

๒ มกราคม ค.ศ.๑๗๖๕
บันทึกบาทหลวงฝรั่งเศสอาลารี ที่อยู่ที่เมืองมะริด ระบุว่าเจ้าเมืองทวาย(หุยตองจา) หนีมาที่มะริดเพราะพม่ามาจะตีเมืองทวาย

๑๑-๑๒ มกราคม ค.ศ.๑๗๖๕

อาลารีบันทึกว่า มะริดแตก อาลารีถูกจับ พม่าต่อยกไปตะนาวศรี ขังอาลารีไว้ ๑๕ วันจึงกลับมา แล้วส่งตัวอาลารีลงเรือไปย่างกุ้ง อาลารีเขียนบันทึกนี้ระหว่างอยู่ในเรือ

มกราคม-กุมภาพันธ์ ค.ศ.๑๗๖๕ (เดือนอ้าย พ.ศ.๒๓๐๗)

พงศาวดารไทยว่า มังมหานรทาตีทวาย มะริด ตะนาวศรี แตก หุยตองจาหนีเข้ามาทางชุมพร พม่าตามมาเผาเมืองชุมพร หุยตองจาไปอยู่ชลบุรี กรมหมื่นเทพพิพิธไปอยู่จันทบุรี พระเจ้าเอกทัศให้พระพิเรนทรเทพไปตั้งรับศึกพม่าที่กาญจนบุรี


เห็นได้ว่า หลังจากศึกอลองพญา พม่าวุ่นวายกับการปราบปรามศึกใน และหัวเมืองที่เกิดกบฏ กรุงศรีอยุธยาทำตัวเป็นพี่ใหญ่ ให้ความอนุเคราะห์กับรัฐเล็ก(ในเวลานั้น) อย่างเชียงใหม่และทวาย ถึงจะให้ความช่วยเหลือได้ไม่ทันการณ์ แต่ก็ยินดีให้ที่พักพิงแก่ตัวเจ้าเมืองอย่างหุยตองจา สถานการณ์อย่างนี้เท่ากับเป็นใจให้กับกลุ่มที่สร้างความวุ่นวายต่อพม่า พงศาวดารฉบับราชหัตถเลขากล่าวถึงเรื่องที่ว่าพระเจ้ามังลอกมีความคิดจะตีอยุธยามาตั้งแต่ก่อนปราบกบฏที่หงสาวดี ซึ่งก็รับกันดีกับเรื่องที่อยุธยาให้ความช่วยเหลือกับทวาย (และอาจจะยังมีอื่นๆที่ไม่ได้มีบันทึกไว้อีกก็เป็นได้)

ในขณะที่ฝ่ายไทยเองก็ไม่ได้ประมาทพม่า ยังมีการเตรียมรับศึกอยู่บ้าง แต่เห็นจะไม่ดีถึงระดับที่ฝรั่งอย่างบริโกต์ที่มาจากประเทศที่มีกองทหารอาชีพ หรือยอดนักรบที่กรำศึกมาเกือบตลอดชีวิตอย่างกรมพระราชวังบวรฯคาดหวังไว้ครับ


บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 11 มิ.ย. 08, 00:11

กลับมาคิดทบทวนอีกที เรื่องพม่าตีเชียงใหม่ ที่ผมตั้งข้อสังเกตว่าพงศาวดารไทยระบุปีผิด เร็วไปสองปีนั้น เป็นไปได้เหมือนกันว่าอาจเป็นศึกคนละครั้ง พระเจ้ามังลอกอาจจะเคยยกมาปราบเชียงใหม่ครั้งหนึ่งเมื่อปีพ.ศ.๒๓๐๔ แล้วเกิดกบฏให้พระเจ้ามังระมาปราบอีกครั้งในปี ๒๓๐๖ แต่ที่พงศาวดารไทยบอกว่า ๒๓๐๔ ให้มองหม่องราชบุตรพระเจ้ามังลอกเป็นคนนำทัพมานั้น อันนี้ผิดแน่นอน เพราะตอนนั้นมองหม่องยังไม่เกิดเลย ตอนพระเจ้ามังลอกสวรรคตปลายปี ๒๓๐๖ มองหม่องเพิ่งจะอายุได้ ๒ เดือนเท่านั้นเองครับ

อีกเรื่องหนึ่ง ผมเคยพูดถึงก่อนหน้านี้ว่าพระยาเพชรบุรีตายในสงครามคราวเสียกรุงนี้ แต่ถ้าจดหมายของบริโกต์ถูกต้อง ก็มีพระยาเพชรบุรีคนใหม่แล้วครับ จะว่าไปหลักฐานก็รับกันดี เพราะพระยาเพชรบุรีผู้นี้เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ก่อการที่สนับสนุนกรมหมื่นเทพพิพิธมาแต่ต้นครับ นอกจากนี้ ฝ่ายคู่กรณี จมื่นศรีสรรักษ์ น้องชายเจ้าจอมเพง ที่คิดว่าหมดบทบาทไปแล้ว พอละเลียดอ่านก็เจอเรื่องที่น่าสนใจและน่าแปลกใจเข้าให้ ส่วนจะเป็นอย่างไรนั้น โปรดติดตามต่อไปครับ



มีนาคม ค.ศ.๑๗๖๕
บริโกต์ว่าพม่ายกทัพจากทวายมาตี เพชรบุรีและกาญจนบุรีแตก แล้วพม่ามาตั้งทัพที่ Michong เป็นที่แม่น้ำสองสายมาชนกัน (เข้าใจว่าน่าจะเป็นปากแพรกตรงเมืองกาญจนบุรีในปัจจุบัน) แต่พงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศว่าพม่ายกมาตีทางนี้ในอีกราว ๒ เดือนต่อมา

๗ เมษายน ค.ศ.๑๗๖๕
บริโกต์ว่าตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงเดือนมิถุนายน ทางอยุธยาเตรียมการรับศึก ระหว่างนี้มีคนบ้านนอกอพยพเข้ามาในกรุงจำนวนมาก

๑๙ พฤษภาคม ค.ศ.๑๗๖๕
บาทหลวงฝรั่งเศสแคแฮแว ระบุว่าคิดหนีจากกรุงศรีอยุธยา แต่เรือออกไม่ได้เพราะพม่ายกมา (ไม่ได้บอกว่าไทยไม่ให้ออก ให้่ทัพพม่าคุมเส้นทางไว้ได้แล้ว) ระหว่างนี้มีพระบรมราชโองการผ่านเจ้าพระยาพระคลังให้แคแฮแวช่วยทำป้อมและฝึกทหารยิงปืนใหญ่ แคแฮแวไม่อยากช่วย แต่จำใจต้องทำเพราะเพื่อนบาทหลวงต้องการให้เอาใจทางไทยไว้ เพื่อจะขอรับพระราชทานที่ดินมาทำโรงเรียนอีกแห่งหนึ่ง

พฤษภาคม-มิถุนายน ค.ศ.๑๗๖๕ (เดือน ๗ พ.ศ.๒๓๐๘)
พงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศว่า มังมหานรทาให้แจ้วไปทางอังวะว่าตีทวายได้แล้ว เห็นควรจะไปตีอยุธยาต่อไป พม่ายกเข้ามาตีเพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี พงศาวดารฉบับบริติชมิวเซียมขยายความว่า "ให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราชเร่งยกออกไปปิดทางข้างเมืองมะริดไว้ แล้วให้เจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพใหญ่ ถือพล ๑๕,๐๐๐ ยกออกไป  ตั้งรับที่เมืองราชบุรีทัพ ๑ เพชรบุรีทัพ ๑ แก่งตั้งทัพ ๑ พระยากลาโหมคุมคน ๗,๐๐๐ ยกไปตั้งรับทางท่ากระดาน ๆ นี้พม่าหาได้ยกมาไม่ ให้พระยามหาเสนาคุมพล ๑๒,๐๐๐ ยกไปตั้งรับนครสวรรค์ พระยาอำมาตยคุม์พล ๑๕,๐๐๐ ยกไปตั้งรับไว้ชัยนาท ฝ่ายกองทัพพม่าก็ยกตีดาเข้ามาทุกทาง" (ท่ากระดานเป็นตำบลในเส้นทางด่านเจดีย์สามองค์ น่าสังเกตว่าทางนครสวรรค์และชัยนาทยังไม่น่าจะมีทัพพม่ามาถึงตอนนี้)
พม่าตีเพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี ได้แล้วมาบรรจบกันที่ลูกแก ตั้งค่ายที่ตอกระออมและดงรังหนองขาว (หนองขาวอยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี อยู่ระหว่างเส้นทางบกที่สำคัญ ส่วนตอกระออมไม่ทราบว่าอยู่ไหน แต่พบว่ามีคอกระออมอยู่ในแม่น้ำเพชรบุรี ดูจะไกลไปหน่อย แต่อยู่ในเส้นทางเดินทัพจากตะนาวศรีผ่านช่องสิงขรจะไปเมืองเพชรบุรีได้สะดวก)
ฝ่ายไทยเกณฑ์ทัพหัวเมืองปากใต้ตั้งรับที่บำหรุ ทัพเรืออยู่บางกุ้ง ทัพพิษณุโลกตั้งวัดภูเขาทอง ทัพโคราชตั้งวัดเจดีย์แดง แล้วให้พระยาธารมาคุมทัพโคราชลงมาตั้งรับที่ธนบุรี (พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาบอกว่าบำหรุอยู่ราชบุรี ในขณะที่การรับรู้โดยทั่วไปบำหรุคือบางบำหรุตอนเหนือของบางกอกน้อย)
พระยาพิษณุโลกให้พระยาพลเทพกราบทูลพระกรุณา  ลากลับขึ้นไปปลงศพมารดา  ให้หลวงโกษา พระมหาดไทย  หลวงเทพเสนา  คุมกองทัพอยู่ณวัดภูเขาทองแทน

ปลายเดือนมิถุนายน ค.ศ.๑๗๖๕
บริโกต์บอกว่า สังฆราชฝรั่งเศสเห็นว่าไม่พ้นอันตราย ให้แคแฮแวกับอาโต พานักเรียนหนีไปจันทบุรี หลังจากนั้นไม่นานไทยปิดด่าน ห้ามเข้าออก

สิงหาคม-กันยายน ค.ศ.๑๗๖๕ (เดือน ๑๐ พ.ศ.๒๓๐๘)
พงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศบอกว่า พม่ายกมาตีค่ายบางบำหรุแตก แล้วยกมาตีกรุงธนบุรีได้ พักพลที่วัดสลัก (วัดมหาธาตุยุวราษฎร์รังสฤษฏ์) ๓ วัน แล้วเลิกทัพกลับไปคอกระออม บริโกต์บันทึกไว้ตรงกันว่าพม่าทำลายป้อม เผาสวนและบ้านเรือนที่บางกอก

๒๕ กันยายน ค.ศ.๑๗๖๕
พงศาวดารพม่าว่า เนเมียวสีหบดีคุมพลพม่าล้านนาล้านช้างรวมกัน ๔๐,๐๐๐ ยกลงมาจากเชียงใหม่ ตีหัวเมืองรายทาง สวรรคโลก สุโขทัย พิชัย พิจิตร

เดือน ๑๒ ตุลา-พฤศจิกายน ค.ศ.๑๗๖๕
พงศาวดารพม่าว่า มังมหานรธายกทัพพม่ามอญทวายรวมกัน ๓๐,๐๐๐ มาทางด่านเจดีย์สามองค์


สรุปได้ว่าการศึกในช่วงหน้าแล้งของปีนี้ พม่ายกมาทำการจากทางใต้ก่อน โดยยกมาจากทวายผ่านตะนาวศรีเข้ามาทางด่านสิงขร ตีเมืองเพชรบุรี ราชบุรี และกาญจนบุรี รวมถึงเมืองเล็กน้อยทั้งทางใต้และในเส้นทางด่านเจดีย์สามองค์ เพื่อเปิดเส้นทางรอรับทัพใหญ่ที่มังมหานรทาจะยกตามมา ทั้งนี้หากพม่าเข้ามาในเดือน ๗ จริง ก็เป็นเรื่องที่แปลกมาก เพราะมาทำการเอาตอนฤดูน้ำหลากใกล้จะมาถึงแล้ว จะมีเวลาน้อย (ปกติฤดูน้ำหลากจะเป็นราวเดือน ๘ จนถึงเดือน ๑๒) เป็นไปได้ว่าพม่าเข้ามาในเดือนมีนาคม (ราวเดือน ๔ - เดือน ๕) อย่างที่บริโกต์ว่า โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะทำลายหัวเมืองทางใต้เพื่อเปิดเส้นทางให้ทัพของมังมหานรทายกตามมาได้สะดวก นอกจากนี้ก็คงเพื่อรอเนเมียวสีหบดีให้เสร็จศึกปราบกบฎที่เชียงใหม่ยกทัพลงมาสมทบกันเมื่อพ้นฤดูน้ำหลากด้วย

น่าสังเกตว่าระหว่างฤดูน้ำหลากนี้ พม่าพยายามใช้ทัพเรือโจมตีทางด้านใต้ โดยสามารถตีเมืองธนบุรีได้ แต่คงจะไม่สามารถรักษาไว้ได้นาน พงศาวดารข้างไทยบอกพม่าเลิกทัพมา แต่การศึกหลังจากนี้จะเห็นได้ว่าไทยกลับมาควบคุมเมืองธนบุรีไว้ได้อีกแล้ว


บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 12 มิ.ย. 08, 12:45

อย่างแรกคือ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ไม่ใช่ยุวราษฎร์อย่างที่เบลอเขียนไว้ใน คคห. ก่อนหน้านี้นะครับ

ยังมีเหตุการณ์ใน ค.ศ.๑๗๖๕ ที่ยังตกหล่นอยู่บ้างคือ

เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ค.ศ.๑๗๖๕ (เดือน ๔ พ.ศ.๒๓๐๗)
พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า เีนเมียวสีหบดีให้ทัพห้า ๕๐๐๐ ยกล่วงหน้าลงมาที่กำแพงเพชร ไม่มีใครสู้รบจึงตั้งมั่นเตรียมต่อเรือและเตรียมเสบียงอาหาร

เห็นได้ว่าทัพหน้าที่ล่วงหน้าเข้าก่อนฤดูน้ำหลากปี ค.ศ.๑๗๖๕ นี้มีหน้าที่สำคัญอีกอย่างคือเข้ามาตั้งทำนา เตรียมเสบียงอาหารครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
cannavaro
อสุรผัด
*
ตอบ: 37



ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 12 มิ.ย. 08, 15:48

สนุกมากครับ เห็นความพยายามของพม่าที่จะมาทำศึก
สมัยก่อนเดินเท้าระยะทางไม่ใช่ใกล้ๆ

เห็นแต่เจ้าเมืองเล็กๆ มาขอพึ่งอยุธยา
แล้วตอนอยุธยาจะถูกพม่าตี

อยุธยาเคยขอช่วยเหลือจากจีนบ้างไหมครับ
ตอนนั้นเราก็จิ้มก้องอยู่ไม่ใช่เหรอ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.059 วินาที กับ 19 คำสั่ง