เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 16080 เจ้าต่างกรม
พระยาสุเรนทร์
มัจฉานุ
**
ตอบ: 71


 เมื่อ 29 พ.ค. 08, 23:46

ยศเจ้านาย นั้นมี 2 ประเภท สกุลยศ คือ ยศที่เกิดเป็นเจ้าชั้นใดในเบื้องต้น เจ้านายที่เกิดในสกุลยศชั้นใด ก็อยู่ในชั้นยศชั้นนั้น เป็นยศที่ได้โดยการเกิด และ อิสริยยศ คือยศที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานให้ในภายหลัง

สกุลยศ
บรรดาเจ้านายที่เกิดในราชตระกูลจะเป็นราชบุตร ราชธิดา หรือ ราชนัดดาก็ตาม จะเรียกว่า เจ้า สกุลยศนั้น แบ่งออกเป็น 5 ระดับดังนี้
1.   เจ้าฟ้า
2.   พระองค์เจ้า
3.   หม่อมเจ้า
4.   หม่อมราชวงศ์
5.   หม่อมหลวง
สกุลยศชั้นที่ 4 และ 5 เป็นเพียงราชนิกุล เป็นสามัญชน ไม่นับเป็นเจ้า

อิสริยยศ
คือยศ ที่พระเจ้าแผ่นดิน สถาปนาเจ้านายให้มีศักดิ์สูงขึ้น อิสริยยศสูงสุด คือ พระราชกุมารที่เกิดกับพระอัครมเหสีเอก และจะได้รับราชสมบัติสืบต่อไป โดยมีกฎมณเฑียรบาล พ.ศ. 2001 บัญญัติเอาไว้ว่า พระราชกุมารอันเกิดด้วย พระอัครมเหสี (มียศ) เป็นสมเด็จหน่อพุทธเจ้า พระราชกุมารอันเกิดแต่พระแม่หยั่วเมืองเป็นพระมหาอุปราช
อิสริยยศ รองลงมาจาก สมเด็จพระมหาอุปราช พระเจ้าแผ่นดินสถาปนาให้มีคำว่า "พระ" นำหน้า เช่น "พระราเมศวร พระนเรศวร พระมหินทร์ พระเอกาทศรถ พระอาทิตยวงศ์ พระศรีศีลป์ เป็นต้น
ต่อมาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้มีประเพณีอย่างใหม่สำหรับการสถาปนายศเจ้านาย โดยเรียกพระนามตามกรม หรือตั้งให้ "ทรงกรม" โดยสถาปนาพระน้องนางเธอ เจ้าฟ้าศรีสุพรรณ เป็น เจ้ากรมหลวงโยธาทิพ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงสุดาวดี เป็น เจ้ากรมหลวงโยธาเทพ นับเป็นเจ้านายสองพระองค์แรกที่ได้สถาปนาขึ้นทรงกรม สาเหตุที่มีการเปลี่ยนแปลงการ สถาปนาอิสริยยศเจ้านายขึ้น เป็น "พระ" ตามประเพณีเดิมนั้น เนื่องจากในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ทรงเป็นอริกับ เจ้าฟ้าชายหลายพระองค์ที่มีมาตั้งแต่ยุคสมเด็จพระเจ้าประสาททอง จึงไม่ทรงยกย่อง เจ้าฟ้าผู้ใดให้มียศสูงขึ้น จากจดหมายเหตุของมองสิเออร์ลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสนั้น กล่าวว่า สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงยกย่องพระราชธิดาให้มีข้าคนบริวารและมีเมืองส่วยขึ้น เท่ากับพระอัครมเหสี ดังนั้น การสถาปนา เจ้าหญิงทั้งสองพระองค์นี้ ในแต่เดิม ไม่ได้เป็นการสถาปนาพระอิสริยยศ แต่เป็นการรวบรวมกำลังคนในระบบไพร่ ตั้งกรมใหม่ขึ้นสองกรม คือ กรมที่มีหลวงโยธาทิพ และหลวงโยธาเทพ เป็นเจ้ากรม และโปรดให้ไปขึ้นกับ เจ้าฟ้าหญิงทั้งสองพระองค์นั้น และคนไทยโบราณ ไม่นิยมเรียกชื่อ เจ้านาย ตรงๆ จึงเรียกเป็น กรมหลวงโยธาทิพ หรือ กรมหลวงโยธาเทพเป็นต้น การทรงกรม จึงเทียบได้กับ การกินเมือง (การกินเมือง คือ การมีเมืองส่วยขึ้นในพระองค์เจ้านาย ประชาชนในอาณาเขตของเมืองนั้นๆ ต้องส่งส่วยแก่เจ้านาย) ในสมัยโบราณ คือแทนที่จะส่งเจ้านายไปปกครองหัวเมืองต่างๆ ก็ทรงให้อยู่ในพระนคร และให้มีกรมขึ้นเพื่อเป็นรายได้ ของเจ้านายนั้นๆ

พระอิสริยศในสมัยกรุงศรีอยุธยา และกรุงธนบุรี มี 4 ชั้นคือ
1.   ชั้นที่ 1 กรมพระ เป็นอิสริยยศสำหรับ พระพันปีหลวง (พระราชมารดา) พระมหาอุปราช และวังหลัง
2.   ชั้นที่ 2 กรมหลวง เป็นอิสริยยศ สำหรับ พระมเหสี โดยมากกรมหลวงมักมีแต่ พระองค์หญิง
3.   ชั้นที่ 3 กรมขุน เป็นอิสริยยศสำหรับ เจ้าฟ้าราชกุมาร
4.   ชั้นที่ 4 กรมหมื่น เป็นอิสริยยศสำหรับ พระองค์เจ้า

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่มีการเลื่อนชั้น อิสริยยศเจ้านาย จากที่ได้รับแต่เดิมแต่ประการใด (ยกเว้นการเลื่อนกรมพระราชมารดา หรือผู้ที่ขึ้นเป็นพระมหาอุปราชขึ้นเป็น กรมพระ) ประเพณี การเลื่อนอิสริยยศเจ้านายเกิดขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชการที่ 2 ให้เรียก กรมของสมเด็จพระบรมราชชนนีว่า "กรมสมเด็จพระ" ต่อมาในรัชกาลที่ 3 โปรดให้ พระองค์เจ้าทรงกรมชั้นผู้ใหญ่เลื่อนขึ้นไปได้เป็น "กรมสมเด็จพระ" สูงกว่า "กรมพระ" เดิม และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ให้แก้ไข "กรมสมเด็จพระ" เป็น "กรมพระยา" ดังนั้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทธิ์ อิสริยยศเจ้านายจึงมี 5 ชั้นคือ
1.   ชั้นที่ 1 กรมพระยา หรือ กรมสมเด็จพระ (ในรัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ใช้ว่า "สมเด็จพระ" แทน "กรมสมเด็จพระ" สำหรับเจ้านายฝ่ายใน--ผู้หญิง)
2.   ชั้นที่ 2 กรมพระ นอกจากเป็นกรมสำหร้บพระราชมารดา วังหน้า และวังหลัง แล้วรัชกาลที่ 1 ยังตั้งสมเด็จพระพี่นางเธอให้ดำรงพระอิสริยยศนี้
3.   ชั้นที่ 3 กรมหลวง สำหรับเจ้าฟ้าชั้นใหญ่ และทั้งพระองค์ชายและพระองค์หญิง
4.   ชั้นที่ 4 กรมขุน สำหรับเจ้าฟ้าชั้นเล็ก แล้วจึงเลื่อนเป็นกรมหลวง
5.   ชั้นที่ 5 กรมหมื่น สำหรับพระองค์เจ้า
เจ้าทรงกรม จะมีขุนนางเป็น เจ้ากรม ปลัดกรม และสมุห์บัญชี โดยบรรดาศักดิ์ของเจ้ากรม คือบรรดาศักดิ์สูงสุดของอิสริยยศนั้น เช่น กรมพระยาดำรงค์ราชานุภาพ มี เจ้ากรม บรรดาศักดิ์เป็น พระยาดำรงค์ราชานุภาพ ศักดินา 1,000 ไร่ ปลัดกรม คือ พระปราบบรพล ศักดินา 800 ไร่ สมุห์บัญชี คือ หลวงสกลคณารักษ์ ศักดินา 500 ไร่

การเฉลิมพระยศเจ้านาย
ประเพณีการเฉลิมพระยศ เจ้านายแต่โบราณ ถือเอาการสองอย่างเป็นหลัก คือ การอภิเษกอย่างหนึ่ง และ การจารึกพระสุพรรณบัฎอย่างหนึ่ง
การอภิเษก คือ ผู้มีอำนาจแต่งตั้ง(คือพระเจ้าแผ่นดิน) รดน้ำให้บนศีรษะ คือ สัญลักษณ์ของการมอบหมายทั้งยศและหน้าที่
พระสุพรรณบัฎ คือ แผ่นทองจารึกพระนามของเจ้านายพระองค์นั้น และจะทรงพระราชทานจากพระหัตถ์ ให้แก่เจ้านายที่ได้รับการเฉลิมพระยศ

การเฉลิมพระยศเจ้านายนั้น ถือเอาการ จารึกพระสุพรรณบัฏ เป็นสำคัญ โดยจะต้องทำพิธีสำคัญดังต่อไปนี้
1.   ต้องหาวันฤกษ์งามยามดีที่จะจารึก
2.   ต้องทำพิธีจารึกในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น ในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสนดาราม
3.   ต้องมีสมณะและพราหมณ์พร้อมกันอวยขัยในพิธี
4.   ต้องประชุมเสนาบดีนั่งเป็นสักขีพยาน

ในสมัยรัชกาลที่ 5 หลังจากทรงยกเลิกระบบไพร่แล้ว การ "ทรงกรม" ของเจ้านาย จึงเป็นเพียงแต่การให้พระเกียรติยศ แก่เจ้านายพระองค์นั้น แต่ไม่มีไพร่สังกัดกรมแต่อย่างใด
ส่วนพระนามของเจ้านายที่ทรงกรมนั้น ในสมัยรัชกาลที่ห้าได้แบบธรรมเนียมมาจากยุโรป โดยทรงตั้งพระนามเจ้านายที่ทรงกรมตามชื่อเมืองต่าง ๆ เช่น สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ,สมเด็จเจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์ เป็นต้น
เจ้าทรงกรม พระองค์ล่าสุดคือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ แต่ไม่มี ประเพณี เจ้ากรม ปลัดกรม ตามโบราณ เนื่องจากไทยได้ยกเลิกระบบไพร่ซึ่งสังกัดกรมเจ้านาย ไปแล้วรัชกาลที่ 5 และเลิกบรรดาศักดิ์ของขุนนางไปแล้วในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม

รายนามเจ้าต่างกรมในสมัยกรุงศรีอยุธยา
แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
1.   สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าศรีสุพรรณ กรมหลวงโยธาทิพ
2.   สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสุดาวดี กรมหลวงโยธาเทพ

แผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา
1.   ขุนหลวงสรศักดิ์ (คือสมเด็จพระเจ้าเสือ)เป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ที่พระมหาอุปราช
2.   นายจบคชประสิทธิ์ ทรงบาศขวา กรมช้าง (เป็นคู่คิดเอาราชสมบัติ)เป็น กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข
3.   พระองค์เจ้าหญิงแก้ว พระเจ้าลูกเธอในสมเด็จพระนารายณ์ เป็น กรมขุนเสนาบริรักษ์

แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเสือ
1.   พระมเหสีกลางของสมเด็จพระเพทราชาที่เป็นพระราชมารดาเลี้ยง เป็น กรมพระเทพามาตย์
2.   เจ้าฟ้าเพชร พระราชโอรสองค์ใหญ่ (คือพระเจ้าท้ายสระ) เป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ที่พระมหาอุปราช
3.   เจ้าฟ้าพร เป็นพระบัณทูรน้อย แต่ไม่ปรากฏพระนาม

แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
1.   เจ้าฟ้าพร พระอนุชาธิราช (คือพระเจ้าบรมโกศ) เป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ที่พระมหาอุปราช
2.   เจ้าท้าวทองสุก พระราชชายาเดิม ยกเป็นพระอัครมเหสี กรมหลวงราชานุรักษ์
3.   เจ้าฟ้านเรนทร์ พระราชโอรส เป็น กรมขุนสุเรนทรพิทักษ์

แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
1.   พระองค์ขาว พระราชชายาเดิม ยกเป็นพระอัครมเหสีขวา ทรงกรมเป็น กรมหลวงอภัยนุชิต
2.   พระองค์พลับ พระราชชายาเดิม ยกเป็นพระอัครมเหสีซ้าย ทรงกรมเป็น กรมหลวงพิพิธมนตรี
3.   เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (คือเจ้าฟ้ากุ้ง) ราชโอรส เป็น กรมขุนเสนาพิทักษ์ ภายหลังเป็น กรมพระราชวังบวรเสนาพิทักษ์ ที่พระมหาอุปราช
4.   เจ้าฟ้าเอกทัศ ราชโอรส (คือพระเจ้าสุริยามรินทร์)เป็น กรมขุนอนุรักษ์มนตรี
5.   เจ้าฟ้าอุทุมพร ราชโอรส (คือพระเจ้าอุทุมพรราชา ขุนหลวงหาวัด) เป็น กรมขุนพรพินิต
6.   เจ้าฟ้าบรม พระราชธิดา เป็น กรมขุนเสนีย์นุรักษ์
7.   เจ้าฟ้านุ่ม พระราชธิดา (ร่วมพระมารดาเจ้าฟ้ากุ้ง) ภายหลังพระราชทานให้เป็นพระชายา กรมพระราชวังบวรเสนาพิทักษ์ เป็น กรมขุนพิศาลเสนี
8.   เจ้าฟ้าจีด พระองค์เจ้าแก้วพระเจ้าลูกยาเธอสมเด็จพระเพทราชาเป็น พระบิดา เจ้าฟ้าเทพพระธิดาพระเจ้าท้ายสระ เป็นพระมารดา เป็น กรมขุนสุรินทรสงคราม
9.   พระองค์เจ้าแขก พระเจ้าลูกยาเธอ เป็น กรมหมื่นเทพพิพิธ
10.   พระองค์เจ้ามังคุด พระเจ้าลูกยาเธอ เป็น กรมหมื่นจิตรสุนทร
11.   พระองค์เจ้ารถ พระเจ้าลูกยาเธอ เป็น กรมหมื่นสุนทรเทพ
12.   พระองค์เจ้าปาน พระเจ้าลูกยาเธอ เป็น กรมหมื่นเสพภักดี
13.   เจ้าพระพิไชยสุรินทร์ ราชนิกูล ที่มีความชอบครั้งถวายราชสมบัติแก่พระเจ้าเสือ เป็น กรมหมื่นอินทรภักดี

แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยาสน์อมรินทร์
1.   เลื่อนกรมหลวงพิพิธมนตรี พระราชชนนี เป็น กรมพระเทพามาตย์
2.   พระองค์เจ้าแมลงเม่า พระอัครมเหสี เป็น กรมขุนวิมลภักดี
3.   พระองค์เจ้าอาทิตย์ ในกรมพระราชวังบวรเสนาพิทักษ์ เป็น กรมหมื่นพิทักษ์ภูเบศร์

รายนามเจ้าต่างกรมสมัยกรุงธนบุรี
1.   พระราชชนนี เป็น กรมพระเทพามาตย์
2.   พระมหสีเดิม เป็น กรมหลวงบาทบริจาริกา
3.   พระญาติวงศ์ ไม่ทราบว่าชั้นใด เป็น กรมขุนอินทรพิทักษ์ (สิ้นพระชนม์ในเวลาไม่นาน)
4.   เจ้าฟ้าจุ้ย พระราชโอรส เป็น กรมขุนอินทรพิทักษ์ (องค์ที่ 2)
5.   เจ้าบุญมี ซึ่งเป็นเจ้ารามลักษณ์ ตำแหน่งราชนิกูลอยู่ก่อนแล้ว เป็น กรมขุนอนุรักษ์สงคราม
6.   เจ้าบุญจันทร์ หลานเธอ เป็น กรมขุนรามภูเบศร

รายนามเจ้าต่างกรมสมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
1.   สมเด็จพระอนุชาธิราช เป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคลมหาสุรสิงหนาท(ในรัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกพระนามาภิไธยว่า สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท)
2.   สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์ใหญ่ เป็น กรมพระยาเทพสุดาวดี (ซึ่งทรงเทียบที่กรมพระเทพามาตย์ พระบรมราชชนนีแต่ก่อนกาล)
3.   สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์รอง เป็น กรมพระศรีสุดารักษ์ (ซึ่งทรงเทียบที่กรมพระเทพามาตย์ พระบรมราชชนนีแต่ก่อนกาล)
4.   สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าทองอิน (พระโอรสพระพี่นางองค์ใหญ่) เป็น กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ ต่อมาเลื่อนเป็น กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ที่วังหลัง หลังจากมีความชอบรบชนะพม่าในสงครามปราบพม่าในหัวเมืองเหนือ
5.   สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าบุญเมือง (พระโอรสพระพี่นางองค์ใหญ่) เป็น กรมหลวงธิเบศร์บดินทร
6.   สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าทองจีน (พระโอรสพระพี่นางองค์ใหญ่) เป็น กรมหลวงนรินทรรณเรศร์
7.   สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าลา เป็น กรมหลวงจักรเจษฎา
8.   สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าฉิม (คือรัชกาลที่ 2) เป็น กรมหลวงอิศรสุนทร
9.   สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าตัน (พระโอรสพระพี่นางเธอองค์น้อย) เป็น กรมหลวงเทพหริรักษ์
10.   หม่อมมุก พระสามีพระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้ากุ เป็น กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์
11.   หม่อมเรือง (พี่น้องร่วมสาบานกรมพระราชวังบวรฯ ในรัชกาลที่ 1) เป็น กรมหมื่นสุนทรภูเบศร์
12.   สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงแจ่ม เป็น กรมหลวงศรีสุนทรเทพ
13.   สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุ้ย เป็น กรมขุนเสนานุรักษ์
14.   สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงประไพวดี เป็น กรมขุนเทพยวดี
15.   สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าจุ้ย(พระโอรสพระพี่นางองค์น้อย) เป็น กรมขุนพิทักษ์มนตรี
16.   สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าสุพันธวงศ์ หรือเจ้าฟ้าเหม็น(พระโอรสพระเจ้ากรุงธนบุรี และพระธิดาองค์ใหญ่) เป็น กรมขุนกษัตรานุชิต (ถูกประหารชีวิตในสมัย ร. 2 ในข้อหากบฏ)
17.   สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าเกศ (พระโอรสพระพี่นางองค์น้อย)เป็น กรมขุนอิศรานุรักษ์
18.   พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอภัยทัต เป็น กรมหมื่นเทพพลภักดิ์
19.   พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอรุโณทัย เป็น กรมหมื่นศักดิพลเสพ
20.   พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าปาน ในกรมพระราชวังหลัง เป็น กรมหมื่นนราเทเวศร์
21.   พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าบัว ในกรมพระราชวังหลัง เป็น กรมหมื่นนเรศร์โยธี
22.   พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าแตง ในกรมพระราชวังหลัง เป็น กรมหมื่นเสนีบริรักษ์
23.   สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าหญิงพิกุลทอง ในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เป็น กรมขุนศรีสุนทร
24.   พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอสุนี ในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เป็น กรมหมื่นเสนีเทพ


อนึ่ง รายนาม เจ้าทรงกรม ในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลต่อมานั้นมีเป็นจำนวนมาก จึงไม่อาจเอามาลงไว้ในที่นี้ได้ โปรด ค้นคว้าเพิ่มเติมได้จากหนังสือเรื่อง "เฉลิมพระยศเจ้านาย" เล่ม ๑ และเล่ม ๒ ของกรมศิลปากร

เกร็ดย่อย
มีเจ้านายพระองค์ ที่ประสูติเป็นสามัญชนนอกพระราชวงศ์จักรี แต่ได้รับพระราชทานสถาปนาให้เป็นเจ้าในพระราชวงศ์
เช่น ในรัชกาลที่ ๑ ได้แก่
1.   หม่อมเรือง (กระทำสัตย์เป็นพี่น้องร่วมสาบานกับสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เมื่อครั้งกรุงแตก) เป็นเจ้าบำเรอภูธร ต่อมาเลื่อนเป็น กรมหมื่นสุนทรภูเบศร์
2.   กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์ (พระนามเดิม หม่อมมุก) ทรงเป็นพระสวามีในพระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าหญิงกุ
3.   พระองค์เจ้าขุนเณร (พระเชษฐาหรือพระอนุชาร่วมพระบิดากับกรมพระราชวังหลัง กล่าวคือเป็น "ลูกเลี้ยง" ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์ใหญ่) ได้ทรงรบทัพจับศึกมาก จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระองค์เจ้าขุนเณร
รัชกาลที่ ๒ ทรงสถาปนา สมเด็จพระบรมราชชนนีเป็น กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ ตามอย่างกรมพระเทพามาตย์ พระบรมราชชนนีแต่โบราณ
รัชกาลที่ ๓ สถาปนาเจ้าคุณจอมมารดาเรียม สมเด็จพระราชชนนีเป็นกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย (สมเด็จพระศรีสุลาลัย)
รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา
1.   เจ้าจอมมารดา เจ้าดารารัศมี ณ เชียงใหม่ ขึ้นเป็นพระราชชายาเจ้าดารารัศมี
(นอกจากนี้ยังทรงสถาปนาพระราชปนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เป็นพระนัดดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงศ์ และสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข ซึ่งมีพระชาติแรกประสูติเป็นหม่อมราชวงศ์ ให้ดำรงฐานันดรศักดิ์เป็นหม่อมเจ้าหลายพระองค์)
ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา
1.   เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม (พระอัยกี) เป็นสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา
2.   พระอินทรานี (ประไพ สุจริตกุล) เป็นพระวรราชชายาเธออินทรศักดิ์ศจี และต่อมาทรงเลื่อนเป็น สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี พระบรมราชินี ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ออกพระนามาภิไธยว่า สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา
3.   เจ้าจอมสุวัทนา (เครือแก้ว อภัยวงศ์) เป็น พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี
ในรัชกาลที่ ๘ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา หม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา ในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก(พระอิสริยยศในขณะนั้นคือ สมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ) เป็น พระราชชนนีศรีสังวาลย์ ต่อมาพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพย์อาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการทรงรับพระบรมราชโองการให้สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ และในรัชกาลปัจจุบันสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
ในสมัยรัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา
1.   ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ (หลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี และภายหลังทรงสำเร็จราชการแผ่นดินเป็น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
2.   ม.ล.โสมสวลี กิติยากร ขึ้นเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ
3.   หม่อมศรีรัศมิ์ มหิดล ณ อยุธยา หม่อมใน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งเป็นสามัญชน ขึ้นเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ

การอ่านออกเสียง
การอ่านออกเสียงนามเจ้านายทรงกรม อ่านออกเสียงดังนี้
1. กรม อ่าน กรม-มะ ได้แก่
    กรมหมื่น อ่าน กรม-มะ-หมื่น
    กรมขุน อ่าน กรม-มะ-ขุน
    กรมหลวง อ่าน กรม-มะ-หลวง
    กรมพระ อ่าน กรม-มะ-พระ
2. กรม อ่าน กรม ได้แก่
    กรมพระยา อ่าน กรม-พระ-ยา
    กรมพระราชวังบวร อ่าน กรม-พระ-ราด-ชะ-วัง-บะ-วอน
    กรมสมเด็จพระ อ่าน กรม-สม-เด็ด-พระ

หมายเหตุ
สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีนี้ในรัชกาลที่ ๑ มิได้ปรากฏว่าทรงสถาปนาพระอิสริยยศแต่ประการใด เพียงแต่ว่าทรงให้เป็นเจ้า เพื่อให้สมกับที่เป็นพระมารดาเจ้าฟ้าเท่านั้น มาถึงรัชกาลที่ ๒ จึงได้ทรงสถาปนาย้อนหลังให้เป็น กรมสมเด็จพระ ตามโบราณราชประเพณี ในรัชกาลที่ ๖ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ออกพระนามาภิไธยว่า สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี

อ้างอิง
http://th.wikipedia.org/wiki/พระสุพรรณบัฎ#.E0.B8.81.E0.B8.B2.E0.B8.A3.E0.B9.80.E0.B8.89.E0.B8.A5.E0.B8.B4.E0.B8.A1.E0.B8.9E.E0.B8.A3.E0.B8.B0.E0.B8.A2.E0.B8.A8.E0.B9.80.E0.B8.88.E0.B9.89.E0.B8.B2.E0.B8.99.E0.B8.B2.E0.B8.A2

ถ้าข้อมูลผิดพลาดประการใดก็ขอให้ทุกท่านช่วยกันแก้ไขด้วยนะครับ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.077 วินาที กับ 19 คำสั่ง