เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3
  พิมพ์  
อ่าน: 26302 ปี่พระอภัยเป็นปี่แบบไหน ทำด้วยอะไร
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 25 พ.ค. 08, 02:41

ประเด็นที่ผมกล่าวไปคือ เรื่อง พราหมณ์มาจากเผ่าไหน ?
ซึ่งผมตอบไปว่า สุนทรภู่ไม่ได้ระบุครับว่าเป็นพราหมณ์เผ่าไหน หรือมาจากเมืองไหน เพราะจากคำกลอนไม่ได้บอกว่ามาจากเมืองไหน หรือเผ่าไหน เพราะการที่ท่านใช้ "พฤฒา" นี้ เป็นคำกลางๆ ไม่ได้ระุบุว่าอยู่สายงานใด หรือ มาจากเผ่าใด แต่แน่นอนว่า เป็นอาจารย์ผู้มีวิชาแก่กล้า และสูงอายุ

ส่วนประเด็นที่คุณพิพัฒน์เสนอคือ สุนทรภู่บอกว่า พราหมณ์ในบทแรกเป็นอาจารย์ ส่วนในบทที่สอง ไม่ได้บอก แล้วบอกว่าผมยัดเยียดว่ากลอนพาท่านไปเสียแล้ว

คนละประเด็นกันครับ  ยิงฟันยิ้ม

ดังนั้นผมจึงไม่ได้หมิ่นแต่อย่างใด  เจ๋ง

-----------------------------------------

ถ้าพูดเรื่องประเด็นการใช้คำว่า "พฤฒา" ก็ต้องคุยกันอีกแบบครับ

ทิศาปาโมกข์    น. อาจารย์ผู้มีความรู้และชื่อเสียงโด่งดัง.
พฤฒ, พฤฒา    [พฺรึด, พฺรึดทา] ว. เจริญ, แข็งแรง, ใหญ่; แก่, เฒ่า, พฤทธ์ ก็ว่า. (ส.).

ก็มีความหมายเดียวกับ "พราหมณ์พฤฒา" หรือ "พฤฒาพราหมณ์" ครับ นัยคือ อาจารย์พราหมณ์ผู้สูงอายุ

่แน่นอนว่า บทแรกสุนทรภู่สื่อว่าเป็นอาจารย์เฒ่าผู้มีความรู้แก่กล้า ส่วนบทหลังไม่ได้ระบุ อาจเป็นพราหมณ์หนุ่มพราหมณ์แก่ก็ได้ครับที่ร่วมไปในกองทัพ

ถ้าให้ผมมองการใช้คำว่า "พฤฒา" ก็เพราะต้องการคำว่าที่ลงด้วย "อา" และมีควาหมายถึงอาจารย์ด้วย ซึ่งไม่ใช่กลอนพาไปครับ แต่เป็นการเลือกคำอย่างจงใจ เพราะต้องลงเสียงอา

===============================

มาเรื่องพราหมณ์สี่เผ่าครับ

พราหมณ์รามราช เข้าใจว่าเพี้ยนมาจากชื่อ รามราษฏร์ = รามรัฐ ซึ่งน่าจะตรงกับเมือง Rameswaram (ราเมศวรัม), อำเภอ Ramanathapuram (รามนาถปุรัม) รัฐทมิฬนาดู (ได้ชื่อตามเมืองที่มา)
ชื่อเมืองราเมศวรัมนี้ มีปรากฎอยู่ในจารึกโคลง ๓๒ ชนชาติ ที่วัดโพธิ์ด้วยครับ อ.ทวี เผือกสม ได้สรุปความไว้ว่า

พราหมณ์รามเหศร์ - เป็นพวกชาติเชื้อ รามรัฐ นับถือพระศิวะ ชำนาญใน "ทวาทศพิธียัชชุเวท" และเก่งในทางเวทมนตร์ นุ่งผ้าขาวมีเชิง เกล้ามวยผม สวมสายธุรำใส่ตุ้มหู สวยเสื้อครุย คอยทำหน้าที่สะเดาะเคราะห์ร้าย

พราหมณ์พฤติบาศ พราหมณ์ผู้ประกอบพิธีกรรมการคล้องช้าง (บาศ คือ บ่วง, เชือก) (ได้ชื่อตามสายงาน)

พราหมณ์นาฬีวรรณ อันนี้ไม่ทราบครับ ตามศัพท์ แปลได้ว่า
   นาฬี - (หรือ นาลี) หลอด, ก้าน, ลำ, ช่อง, ทะนาน
   วรรณ - สี, ชนชั้น
   ไม่ทราบความหมายครับ หรือ อาจหมายถึง พราหมณ์ที่มีหน้าที่ประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับดินฟ้าอากาศ เพื่อผลผลิตทางการเกษตร เทียบจาก ทะนาน ที่ใช้ตวงเมล็ดธัญญาพืช  ฮืม (ได้ชื่อตามสายงาน ?)

พราหมณ์มะหรรต์วม ตัวสะกดอ่านไม่เป็นคำครับ "มะ-หัน-วัม" ? ผมคิดว่า ต้นฉบับอาจพิมพ์ผิดมาจากฉบับเขียนด้วยลายมือว่า "มะหรรศวม" คือ เห็น "ศ" เป็น "ต์" ถ้าเป็นชื่อ มะหรรศวม ก็น่าจะเพี้ยนมาจากชื่อ มเหศวรัม ซึ่งน่าจะเป็นชื่อเมืองครับ

ค้นใน google พบชื่อเมืองนี้สองเมือง (อาจมีอีกก็ได้ ?) คือ Maheshwar ในรัฐมัธยประเทศ กับ Maheswaram เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ในรัฐอันธารประเทศ ดูจากรูปการแล้ว ถ้า มะหรรต์วม เพี้ยนมาจาก มเหศวรัม จริง ก็น่าจะหมายถึงเมือง Maheshwar มากกว่าครับ เพราะเป็นเมืองที่ใหญ่ ส่วนเรื่องเสียงลงท้าย -รัม นั้น ก็อาจเป็นได้ว่า ผู้บันทึกได้ยินจากปากของคนที่มาจากอินเดียใต้ ซึ่งมักลงเสียงท้ายด้วย -am เมือง Maheshwar จึงกลายเป็น Maheshwaram ในภาษาของทางอินเดียใต้ (ได้ชื่อตามเมืองที่มา ?)

เห็นที่สี่เผ่าดังกล่าวคงไม่ใช่ข้อมูลขั้นสรุปครับ เพราะมีทั้งจำแนกตาม เมืองที่มา และ สายงานที่ทำ

ไปค้นดูใน wiki ดูเหมือนว่าตามประเพณีของอินเดียโบราณแล้ว ในคัมภีร์ได้จำแนกเผ่า (หรือ ชุมชน) ของพราหมณ์ในอินเดียออกเป็น เขตเหนือ กับเขตใต้ ครับ และจำแนกย่อยออกไปอีกมากมายตามเมืองต่างๆ แต่ผมดูคราวๆ ไม่พบชื่อเมืองรามราษฏร์ และ มเหศวรัม แต่อย่างใด

http://en.wikipedia.org/wiki/Brahmin_communities
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 25 พ.ค. 08, 04:12

พฤฒา = senior ?
พราหมณ์พฤฒา  = senior scholar(s)
ไม่ใช่เผ่า หรือชนิดของพราหมณ์
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 25 พ.ค. 08, 07:07

ขอบคุณ คุณเทาชมพู สำหรับของแถมค่ะ   ชอบที่สุด

ขอบคุณคุณโฮค่ะที่อธิบายขยายความ
อ่านหนังสืออยู่คนเดียว แหะๆ...ปล่าวเปลี่ยวหัวใจค่ะ
เหมือนได้เข้าห้องเรียนเลย
บันทึกการเข้า
saksiri2498
อสุรผัด
*
ตอบ: 1


รักนี้อยู่นิรันดร์รักมิเปลี่ยนผันแปรใจรักแท้ซื่อตรงเสมอ


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 09 ธ.ค. 09, 01:15

 :)สงสัยว่าจะเป็นปี่ที่สุนทรภู่ได้เห็นได้ยินไ้ด้ฟังในวังนั่นละครับ ปี่ในของพระประดิษฐ์ไพเราะกระมังครับ
บันทึกการเข้า

โอ ค่ำคืนครั้งนั้นพระพุทธองค์ ทรงตรัสรู้อริยสัจจ์สี่
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 09 ธ.ค. 09, 06:58

สวัสดีค่ะ คุณ saksiri2498


ลองดูจากเวลานะคะ


ครูมีแขก หรือ พระประดิษฐไพเราะ(มี ดุริยางกูร) ที่บทไหว้ครูเสภาว่า

"ครูมีแขกคนนี้เขาดีครัน  เป่าทยอยลอยลั่นบรรเลงลือ"



ครูปี่พาทย์ ตาม ตำนานเสภา ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เล่าว่า

"ครูปี่พาทย์ชื่อว่าครูมีแขก  คือเป็นเชื้อแขก  ชื่อมี
ว่าเล่นเครื่องดุริยางค์ได้เกือบทุกอย่าง   เป็นคนฉลาด
สามารถแต่งดนตรีด้วย     มีชื่อเสียงร่ำลือ

เพลงของครูมีนี้คือ  ทยอยใน   ทยอยนอก ๓ชั้น  เป็นต้น


ครูมีนี้ดีมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๓

ในรัชกาลที่ ๔ ครูมีได้เป็นครูปี่พาทย์ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
จึงพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็นที่ พระประดิษฐไพเราะ  ตำแหน่งปลัดจางวางมหาดเล็ก
ได้ว่าการกรมปี่พาทย์ฝ่ายพระบวรราชวัง

อยู่มาถึงรัชกาลที่ ๕   ได้เป็นครูมโหรีของสมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร"



เป็นครูของครูสิน  สมุทรสงคราม บิดาของ ครูหลวงประดิษฐไพเราะ(ศร ศิลปบรรเลง)




หนังสือ หลวงประดิษฐไพเราะ(ศร ศิลปบรรเลง) ของ คุณ อานันท์ นาคคง กับ คุณ อัษฎาวุธ  สาคริก
พิมพ์ครั้งแรก  สิงหาคม ๒๕๔๔  หน้า ๘  เล่าว่า

"สามารถแต่งเพลงให้มีลีลาที่วิจิตรพิสดารออกไปได้มากมาย  โดยเฉพาะลูกล้อลูกขัด
ที่เน้นการปรุงแต่งลีลาของทำนองลูกโยนต่าง ๆ
..................................................
..................................................
ผลงานเพลง เชิดจีน ซึ่งถือว่าเป็นเลิศในกระบวนเพลงลูกล้อลูกขัดหรือเพลงโยนทั้งหลาย
ได้ส่งผลให้ท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระประดิษฐไพเราะ ในปี ๒๓๙๖"



บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 09 ธ.ค. 09, 08:42

อุเหม่! ช่างเป็นการตั้งกระทู้ได้ถูกใจจริง เพราะกำลังอ่านพระอภัยมณีตอนปลายอยู่พอดี 

เรียนคุณเทาชมพู  พระอภัยมณีตอนปลาย ตอนนี้ก็ยังซื้ออ่านได้ครับ
เพราะมีการนำมาพิมพ์ใหม่ น่าจะเป็นสำนักพิมพ์ศิลปาบรรณาคารนั่นแหละ
เอามาพิมพ์ใหม่ ๔ เล่มจบ  รวมทั้งภาคต้นภาคปลาย 
ส่วนฉบับพิมพ์ก้าวหน้า (ซึ่งปิดกิจการไปแล้วนั้น) เข้าใจว่าพิมพ์ครั้งเดียว
นัยว่าเป็นการพิมพ์เพื่อให้ครบบริบูรณ์  และว่าพิมพ์เป็นการกุศลด้วย

เรื่องปีของพระอภัยมณี  จริงอยู่ว่าปี่ของพระอภัยมณีอาจจะได้อิทธิพลจากปี่ของเตียวเหลียงในเรื่องพงศาวดารจีนเรื่องไซ่ฮั่น
บางคนตีความว่า ปี่พระอภัยมณี คือ ปัญญา   
ความเห็นส่วนตัว  ถ้าเราอ่านพระอภัยมณีแต่ต้นจนจบ  พระอภัยมณีไม่ได้เป่าปี่เล่นพร่ำเพรื่อ 
ทุกครั้งที่พระอภัยมณีเอาปี่ออกมาเป่ามักจะมีนัยยะหรือมีสถานการณ์บางอย่างให้เอาปี่นั้นออกมาใช้
การตีความว่า ปี่พระอภัยมณ๊ คือ ปัญญา  ก็น่าจะใช้ได้เหมือนกัน 
แต่ในแง่หนึ่ง  ปี่ของพระอภัยมณี ยังมีลักษณะเป็นโลกียวัตถุ 
คือ เป็นเครื่องดนตรีที่อาศัยเสียงเป็นสื่อเล้าโลมใจคนฟังให้เคลิบเคลิ้ม 
ซึ่ง เสียงดนตรี ก็เป็นหนึ่งในรสสัมผัสทางกามตัณหา 
เมื่อ ปี่เป็นต้นกำเนิดแห่งกามตัณหา  เสียงดนตรีที่ออกมาจากปี่ย่อมไม่น่าจะปัญญา

ถ้าปี่พระอภัยไม่ได้หมายถึงปัญญา แล้วจะหมายถึงอะไร 
ในความเห็นส่วนตัว  การเป่าปี่ของพระอภัยมณี เป็นการคิดในเชิงปรัชญาพุทธอยู่เหมือนกัน
คือ สุนทรภู่ให้พระอภัยพอใจที่จะเรียนวิชาปี่แทนที่จะให้เรียนวิชาการของกษัตริย์ (ผู้ปกครองและนักรบ)
อาจจะเป็นเพราะสุนทรภู่เห็นว่า แทนที่จะให้พระอภัยมณีมีอาวุธหรือชำนาญอาวุธต่างๆ อย่างวิเศษ เช่นวรรณคดีอื่นๆ
ซึ่งหนีไม่พ้นเรื่องต้องผจญภัย รบราฆ่าฟัน 
ก็ให้พระอภัยมณี  เป็นคนรูปงาม อ่อนแอ อ่อนโยน รักและมีความรู้เสียงดนตรี  รู้จักใช้ดนตรี(เสียง โลกียวัตถุ)
ในการกล่อมใจคน  (ถ้าเป็นอาวุธก็เหมือนเอาอาวุธไปข่มขู่บังคับเขา) และฆ่าคน (เช่นนางผีเสื้อสมุทร)
ในลักษณะนี้ พระอภัยมณีเป็นตัวละครที่สุนทรภู่สร้างขึ้นมาเพื่อให้รู้จักวิสัยของมนุษย์ปุถุชนที่ยังหลงในรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส 
และเอารูปรสกลิ่นเสียงสัมผัสนั้นมาเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา  ถ้าปี่นั้นคือ ปัญญา  ก็คงเป็นปัญญา หรือความฉลาดในระดับโลกียะ
ซึ่งบางครั้งก็แก้ปัญหาได้  แต่บางครั้งก็สร้างปัญหาแก่ตัวพระอภัยมณีเอง 
เพราะอภัยมณีก็ยังเป็นปุถุชนที่ยังหนีไม่พ้นเรื่องรูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส  ย่อมหนีไม่พ้นความหลงใหลเรื่องโลกียสุขไปได้
ถึงพระอภัยมณีไม่หลงเรื่องเสียง แต่พระอภัยมณีก็หลงรูป  ฉะนั้นพระอภัยมณีจึงมีเมียหลายคน
ในตอนท้าย พระอภัยมณีออกบวช  ถ้าจะตีความก็อาจจะตีความได้ว่า พระอภัยมณีคงจะเบื่อหน่ายในเรื่องโลกียสุข
จึงละปัญญาในระดับโลกียะ ไปแสวงหาปัญญาในระดับโลกุตตระแทน

ปี่พระอภัยมณี จึงมีความหมายลึกซึ้งมากเมื่อตีความในแง่ปรัชญาพุทธ


บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 09 ธ.ค. 09, 09:20

เรื่องพราหมณ์นี่  เห็นจะต้องไปค้นและคุยกันยาวๆ  เพราะมีเอกสารให้ค้นมาก
แต่อย่าเพิ่งดีใจเพราะเอกสารแต่ละชิ้นให้ความกระจ่างไม่ได้ทั้งหมด

พราหมณ์พฤฒา   น่าจะหมายถึง พราหมณ์เฒ่าผู้มีความรู้เท่านั้น 
ส่วน พฤฒา จะเป็นคำที่ตัดมาจาก พฤฒาจารย์ หรือเปล่าอันนี้ก็อาจจะเป็นไปได้

(พฤฒา เป็นคำแผลงแบบไทย คงแผลงมาจาก วุฒ หรือ วุฒิ)

พราหมณ์ ไม่เรียกเป็นเผ่า แต่เรียกเป็นโคตร(ตระกูล) แต่บางทีไทยก็เรียกตามชื่อเมืองที่พราหมณ์นั้นมา
ในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือนางนพมาศ กล่าวถึงเรื่องพราหมณ์ต่างๆ ไว้มากเหมือนกัน น่าจะลองค้นดู

พราหมณ์ นาลิวัน หรือ นาฬิวัน (นาฬิวรรณ คงเป็นคำที่เขียนตามความเข้าใจของคนไทย)
น่าจะแปลง่ายๆ ว่า  พราหมณ์ที่อยู่ในสวนมะพร้าว  สันนิษฐานว่า มาจากอินเดียใต้ แถบรัฐทมิฬนาฑู
พราหมณ์นาลิวัน เป็นพราหมณ์ที่เกี่ยวข้องในการพระราชพิธีตรียัมปวาย ตรีปวาย โล้ชิงช้า 
นัยว่า พราหมณ์เหล่านี้ขึ้นต้นมะพร้าวสูงๆ ได้เลยไม่กลัวเรื่องต้องโล้ชิงช้าสูงๆ 
พราหมณ์พวกนี้ น่าจะเป็นพราหมณ์กลุ่มหลักที่เข้ามาในเมืองไทย 
เพราะพิธีพราหมณ์ในไทยมีลักษณะเหมือนและคล้ายพิธีพราหมณ์ทางอินเดียใต้มากอยู่
กระทั่งบทสวดของพราหมณ์ไทยบางอย่างก็เป็นภาษาทมิฬเขียนด้วยอักษณคฤนถ์และอักษรทมิฬ

เอ... ผมว่าคุณเทาชมพูเปิดกระทู้ชาติพันธุ์วรรณนาในเรื่องพระอภัยมณี ก็น่าจะดีนะครับ 
ท่าทางจะสนุกเหมือนชาติพันธุ์วรรณนาในเรื่องขุนช้างขุนแผน
  ยิงฟันยิ้ม ยิ้มเท่ห์
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 10 ธ.ค. 09, 06:36

เรื่องพราหมณ์เก็บมะพร้าวท่าจะสนุก


เดิมมาดิฉันไม่สนใจ พระอภัยมณี  เท่าไร
อ่านพอรู้เรื่อง ว่าใครเป็นใคร และอ่านตอนที่กลอนเพราะ

มีเพื่อนอเมริกันคนหนึ่ง สนใจมาก ถึงกับวางแผนจะเดินทางตามรอยพระอภัยมณี
เพื่อนคนนี้เชียวชาญพูดอ่านเขียนไทย เขมร และ จีนได้ในระดับผู้เชี่ยวชาญระดับโลก
ถ้าไม่มีเรื่องหนังสือหนังหาแล้ว คงไม่มีโอกาสได้สนทนากันเพราะฐานะทางสังคมและการงานของเขาสูงส่ง

เมื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกัน  ฝรั่งก็ดูจะสงสารดิฉันอยู่
ทนฟังไม่ได้ค่ะที่ฝรั่งจะมารู้จัก พระอภัยมณี ดีกว่าเราคนไทย
 
ดิฉันก็กลับมาสนใจพระอภัยมณี  หยิบมาอ่านบ่อยหน่อย

ก็ค่อย ๆ เรียนรู้ทีละน้อย  ว่า  สุนทรภู่เป็นนักอ่านที่อ่านพงศาวดารจีน
ท่านเป็นอาลักษณ์  จึงเข้าถึงเอกสารได้ง่าย
คนสมัยนั้นจะเปรียบเทียบผู้ใด   ก็จะเอ่ยเป็นตัวละครในวรรณคดีสำคัญๆ  รวมพงศาวดารจีนเข้าด้วย


นายวรรณหรือเทียนวรรณนั้น  ยกย่องชมเชยพระอภัยมณีไว้มาก
ดิฉันก็แกะรอยตามมา
ยังอ่านได้เรื่อยๆค่ะ
บันทึกการเข้า
luanglek
นิลพัท
*******
ตอบ: 2894


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 11 ธ.ค. 09, 08:27

คุณวันดีครับ  ผมใคร่ถามคุณสักน้อยหนึ่งว่า ในฐานะที่คุณเป็นเซียนหนังสือเก่า
คุณเคยเห็นหรือเคยอ่านหนังสืองานศพของพราหมณ์เก่าๆ สมัยรัชกาลที่ ๕-๖-๗ บ้างหรือไม่
ที่ถามเช่นนี้ เพราะอยากจะทราบความเป็นมาของตระกูลพราหมณ์ในเมืองไทย
ผมมีแต่หนังสืองานศพของพราหมณ์ในรัชกาลปัจจุบัน
ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดความเป็นมาของตระกูลพราหมณ์ไว้

เอ...นายกุหลาบได้เคยเล่าเรื่องตระกูลพราหมณ์ไว้บ้างหรือเปล่าครับ.

เรื่องพระอภัยมณี  เคยทราบมาว่า  ฝรั่งอ่านกันมาก 
(แต่ไม่แน่ใจว่าอ่านจากฉบับไทยกันมากน้อยเท่าใด
หรืออาจจะอ่านจากฉบับแปลเป็นภาษษอังกฤษ)

สุนทรภู่แต่งเรื่องพระอภัยมณี  โดยใช้วัตถุดิบหลายทาง 
ทั้งเรื่องจากประสบการณ์ชีวิตของท่านเอง  เหตุการณ์บ้านเมืองร่วมสมัย
หนังสือต่างๆ ทั้งพงศาวดารจีน (ในช่วงรัชกาลที่ ๑-๒
มีพงศาวดารจีน แปลเป็นภาษาไทยไม่กี่เรื่องมาแปลมากในสมัยรัชกาลที่ ๓ ที่ ๔ 
แต่เรื่องพงศาวดารจีนที่แปลในรัชกาลที่ ๓ ที่ ๔ ท่านน่าจะไม่ได้อ่านเท่าใด)
พงศาวดารไทย  และอาจจะรวมไปถึงเอกสารจดหมายเหตุในหอหลวงทั้งปวง
ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมพระอาลักษณ์  บวกกับจินตนาการตามแบบฉบับวรรณคดีจักรๆวงศ์ๆ

เรื่องหนึ่งที่แปลกใจมากเมื่ออ่านพระอภัยมณีตอนปลาย
ปรากฏคำกลอนที่เป็นการโต้ตอบเกี่ยวกับเรื่องความคิดความเชื่อทางศาสนาระหว่างพุทธกับคริสต์
ตรงนี้น่าจะสะท้อนการประทะทางความคิดระหว่างมิสชันนารีและพระสงฆ์ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้เป็นอย่างดี
ดีไม่ดี สันทรภู่ นี่แหละอาจจะเป็นคนไทยคนแรกๆ ที่บันทึกเรื่องการดต้เถียงกันเรื่องความคิดเห็นแตกต่างระหว่างศาสนาไว้ในงานเขียนไว้ได้อย่างแนบเนียนทีเดียว



บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 11 ธ.ค. 09, 10:09

มิกล้ารับคำว่า เซียนหนังสือเก่าค่ะ   เพราะความรู้ย่อมร่ำเรียนกันมิสิ้นสุด  ที่ไม่ทราบก็มีอีกมากมาย
พวกเราทุกคนต่างรู้ต่างมีหลักฐานกันคนละส่วน  เติมเต็มให้กันได้

แค่หนังสือสามก๊กของครูสมิทมีจริงหรือ  ก็ตกเป็นเรื่องถกเถียงกันไม่สิ้นสุด
ประวัติการพิมพ์พิสดารมาก  เพราะครูเปิดมาพิมพ์เล่มสองเลย
เนื่องมาจากหนังสือสามก๊กเล่มหนึ่งของบรัดเลยังมีอยู่ในตลาด

มีสหายที่เคารพนับถือมาถามต่อว่าบรัดเลได้พิมพ์เล่ม ๒ หรือไม่
ตอบได้สบายเลยค่ะ  ว่าบรัดเลพิมพ์ครบสี่เล่ม


เพียงแต่รักการอ่าน  สนใจสะสมหนังสือเก่า
อย่างน้อยที่สุดขออ่านเป็นพอ


ไม่ค่อยมีหนังสืออนุสรณ์ค่ะ   หาไม่ทัน


อ่านประวัติบุคคลสำคัญ  หลายท่านก็อ้างต้นสกุลมาจากพราหมณ์
สกุลขุนนางจีน  ก.ศ.ร.ก็เล่าไว้มากมาย  เพราะก.ศ.ร.รู้จักคนเยอะเนื่องจากท่านเป็นกัมปะดอร์บริษัทสีข้าวเรศลิก
ตอนนั้นเรศลิกมีเรือส่งของไปขายเมืองจีน  ชื่อ ดันนูป  กับ ราชาณัตยานุหาร
กัมปะดอร์มีอำนาจเต็มในการซื้อขายนะคะ
ถ้าก.ศ.ร. กุหลาบไม่หลงเก็บหนังสือและใฝ่ฝันจะพิมพ์หนังสืออยู่ทั้งชีวิต
ป่านนี้สกุลท่านเป็นมหาเศรษฐีไปแล้วแน่นอนค่ะ


เพื่อนฝรั่งอ่านหนังสือไทยเสียงแจ๋วเลยค่ะ
เคยนำหนังสือวัดเกาะ พระอภัยมณี ไปให้เพื่อนดู มีรูปนางพระกำนัลของนางลเวงมาปรนนิบัติพระอภัย
สหายผู้สง่างามในวงการทูตหัวเราะกันเหมือนเด็กๆเลยค่ะ  คือดิ้นปัด ๆ  ชี้แล้วชี้อีก  ยกเล่มขึ้นมากอดแนบอก
วรรณกรรมนี่สากลจริงนะคะ
เพราะท่านที่วาดปก วาดรูปแหม่มใส่เสื้อแขนพองแล้วมีผ้ากันเปื้อนด้วยค่ะ  คงจำมาจากแหม่มมิชชันนารี


สุนทรภู่เข้าใจการเมืองไทยและการเข้ามาของบาดหลวงดีมากค่ะ  ไม่งั้นจะมี บาดหลวงปีโป หรือคะ  เล่นคำเสียด้วย
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 11 ธ.ค. 09, 11:03

สุนทรภู่เข้าใจการเมืองไทยและการเข้ามาของบาดหลวงดีมากค่ะ  ไม่งั้นจะมี บาดหลวงปีโป หรือคะ  เล่นคำเสียด้วย

POPE ----> PEPO

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 12 ธ.ค. 09, 21:21

อันดนตรีมีคุณทุกอย่างไป         ย่อมใช้ได้ดังจินดาค่าบุรินทร์
ถึงมนุษย์ครุฑทาเทวราช          จัตุบาทกลางป่าพนาสิน
แม้นปี่เราเป่าไปให้ได้ยิน          ก็สุดสิ้นโทโสที่โกรธา ...

อย่างหนึ่งที่แน่ๆคือ ปี่พระอภัยในที่นี้ ใช้เป็น Music Therapy ดนตรีบำบัด ค่ะ
บันทึกการเข้า
manit peuksakondh
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 15 ธ.ค. 09, 10:39

ผมอ่านพลาดไปหรือเปล่าไม่แน่ใจ ถ้าพลาดก็ขออภัยนะครับ คือ ปี่แก้ว กับ ปี่แขก นี่มันเป็นอย่างไรครับ ต่างกันอย่างไรครับ และทำด้วยอะไร ครับผม (ตอนเรียนหนังสือ ครูท่านเคยว่าผม ว่า "มานิต เธอทานแกงเขียวหวาน เธอไม่ต้องไปรู้หรอกว่ามันใส่อะไรบ้าง" (แต่ตอนนี้ครูท่านไม่อยู่แล้ว ผมขอถามหน่อยนะตรับผม ฮิ ฮิ))
มานิต
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 15 ธ.ค. 09, 21:57

ขอบพระคุณ คุณมานิตที่กรุณาแวะมาคุยค่ะ


         ตามความเข้าใจของดิฉัน  พระอภัยได้รับมอบปี่ที่ทำด้วยแก้วจากพราหมณ์ค่ะ
ที่มือเร็วพิมพ์ว่าปี่แขกลงไปนั้น  เพราะคิดว่าไม่ใช่ปี่ชะวาหรือปี่มอญเพราะลักษณะไม่ใช่

เท่าที่เห็นในภาพเขียนหรือรูปปั้นก็คงเป็นไม่ปี่ในหรือปี่นอก

ของไทยแท้ ๆก็มีปี่นอกที่ขนาดสั้นและเสียงแหลม   ปี่ในมีขนาดยาวกว่าและมีต่ำกว่าปี่นอก


เสียงปี่ของพระอภัยนั้น วังเวงแว่วแจ้วจับใจ
นางผีเสื้อฟังก็ วิเวกแว่ววังเวง เกิดป่วนฤดีดาลดิ้นถวิลหวัง  แสดงว่านางฟังออกว่าเป็นเพลงรัก ที่พระอภัยส่งสาร
ออกไปว่า  แล้วจะค่อยประคองเคย   ถนอมเชยชมโฉมประโลมลาน
เจ้าพราหมณ์ทั้งสามฟังก็​ซาบซ่าเสียวสดับจนหลับไป

สินสมุทรเป่าก็วิเวกวังเวงใจ  คนฟังหลับหมด

ตอนพระอภัยมณีเป่าเพื่อผลาญนางให้วางวายนั้น  เสียงปี่ เสียวซ่านซับซาบวาบหัวใจ 
นางยักษ์เลยขาดใจตาย(แต่ที่จริงเป็นวิญญานมาช่วยลูกหลานทีหลัง)

น่าจะเป็นปี่นอกกระมังคะ
บันทึกการเข้า
manit peuksakondh
พาลี
****
ตอบ: 216


ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 16 ธ.ค. 09, 11:55

ขอบพระคุณครับผม
มานิต
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.082 วินาที กับ 20 คำสั่ง