Wandee
|
ความคิดแรกที่เข้ามาคือ ปี่แก้ว
ต่อมาคิดว่าไม้เนื้อแข็งเพราะพระอภัยมณีเดินทางไกลหลายครั้ง อาจเป็นไม้ชิงชันตามตำราว่าหรือ
ที่คิดว่าปี่แก้วก็เพราะอาจารย์ของเตียวเหลียงที่อยู่เมืองแหเฝือ ชำนาญเป่าปี่แก้ว ครูเล่าให้เตียวเหลียงฟังว่า ปี่ไม้ไผ่อันแรกยาว ๒๒ นิ้วกึ่ง ยังไม่ได้ตรวจสอบกับไคเภ็กเลย
เรื่องราชบุตรีจิ้นอ๋องนางลั่งหยกที่หลงใหลการเป่าปี่ จนไปเจอเซียวซู้ผู้เป่าปี่อยู่บนภูเขาสามารถเรียก หงส์และนกยูงมารำได้ ีคู่นี้เป่าปี่แก้ว
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
Wandee
|
ความคิดเห็นที่ 1 เมื่อ 23 พ.ค. 08, 05:43
|
|
ที่บ้านจันตคาม ครูของพระอภัยมณีเป็นพราหม์เผ่าพฤฒา (เรียนถามคุณเทาชมพู(ถ้า้่ว่างนะคะ)ว่า พราหมณ์เผ่านี้มีหน้าที่ี้ทำอะไร)
เวลาสอนปี่ก็พานักเรียนขึ้นไปเป่าบนภูเขาเหมือนครูของเตียวเหลียง คนที่หัดใหม่ๆคงส่งเสียงตะริดตี๊ดๆต่อยๆรำคาญโสตชาวบ้าน
พระอภัยมณีเรียนอยู่เจ็ดเดือนก็สำเร็จ
สิ้นความรู้ครูประสิทธิ์ไม่ปิดบัง จึงสอนสั่งอุปเท่ห์เป็นเล่ห์กล ถ้าแม้นว่าข้าศึกมันโจมจับ จะรบรับสารพัดให้ขัดสน เอาปี่เป่าเล้าโลมน้ำใจคน ด้วยเล่ห์กลโลกาห้าประการ คือรูปรสกลิ่นเสียงเคียงสัมผัส เกิดกำหนัดลุ่มหลงในสงสาร ให้ใจอ่อนนอนหลับดังวายปราณ จึงคิดอ่านเอาไชยเหมือนใจจง
แล้วให้ปี่ที่เพราะเสนาะเสียง ยินสำเนียงถึงไหนก็ใหลหลง
ปี่พระอภัยได้รับมาจากพราหมณ์ ก็ปี่แขก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
Wandee
|
ความคิดเห็นที่ 2 เมื่อ 23 พ.ค. 08, 06:04
|
|
ตอนนี้ต้องอ้างอิงแล้วค่ะ เพราะคงมีคนถามว่าไปเอามาจากไหน ทำไมไม่เคยได้ยิน
พระอภัยมณีของสุนทรภู่ ภาคจบบริบูรณ์ กรมศิลปากรชำระเพิ่มเติม สำนักพิมพ์ก้าวหน้า ๒๕๐๘ ไม่แจ้งจำนวนพิมพ์
อีกเจ็ดปีต่อมา สำนักพิมพ์แพร่พิทยาพิมพ์เป็นครั้งที่สอง ๑,๐๐๐ เล่ม
ตอน ๖๙ หน้า ๗๓ - ๘๙ ฉบับก้าวหน้านะคะ พระอภัยมณีเยี่ยมศพนางมณฑา เมืองผลึก
ย่อเรื่อง นางมณฑาสวรรคตเมื่อเดือนยี่ปีขาล สินสมุทรแจ้งข่าวไปลังกา พระอภัยมณี นางสุวรรณมาลีและนางละเวงวัณฬาซึ่งบวชเป็นฤๅษีไปเยี่ยมศพนางมณฑาที่เมืองผลึก เรือพระอภัยมณีถูกคลื่นซัดไปเกาะกัลปังหา พระอภัยมณีเป่าปี่ห้ามปลามาหนุนเรือ สามพี่น้องลูกเทพารักษ์เจ้าเกาะเข้าเฝ้า
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 3 เมื่อ 23 พ.ค. 08, 06:14
|
|
อยากอ่านพระอภัยมณี ภาคท้าย มานานแล้วค่ะ ไม่รู้ว่าฉบับของแพร่พิทยายังเหลืออยู่หรือเปล่า จะต้องไปเดินหาเสียแล้ว
พฤฒา แปลว่าเฒ่า ไม่ได้ระบุว่าเผ่าไหน อ่านจากบริบทน่าจะเป็นพราหมณ์ที่เรียกกันว่าพฤฒาจารย์ หมายถึงครูเฒ่า ถ้าเป็นสมัยนี้คงระดับโปรเฟสเซอร์ หรือนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทางความรู้ ถ้าเป็นพราหมณ์พฤฒิบาศละก็ รู้ เป็นพราหมณ์ที่ทำหน้าที่ในพิธีคล้องช้าง ว่ากันว่าเป็นต้นสกุลบุณยรัตพันธุ์
ความเห็นส่วนตัว สุนภรภู่เอาเรื่องจีนมาผสมฉากอินเดีย ได้เนียนมาก เพราะอินเดียเป็นแม่บทศิลปวิทยาการของไทยมาตั้งแต่อยุธยา ไปเรียนวิชาก็ต้องไปอินเดีย โก้เหมือนคุณชายกลางไปเรียนที่อังกฤษ สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ กำลังนึกว่าอินเดียมีวรรณคดีเรื่องไหนพูดถึงปี่บ้าง ยังนึกไม่ออก ปี่นั้นเป็นของจีนมากกว่าอินเดีย อย่างในไซ่ฮั่น ส่วนอินเดีย นึกออกแต่ขลุ่ยไม้อ้อ พิณ พวกนี้ละค่ะ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
Wandee
|
ความคิดเห็นที่ 4 เมื่อ 23 พ.ค. 08, 09:23
|
|
ขอบคุณค่ะที่กรุณาแวะมาตอบ
พระอภัยมณีฉบับก้าวหน้า หน้า ๗๗
ฝ่ายนางเทพเทพินนิลกัณฐี ทั้งเจ้าตรีพลำเล่นน้ำไหล ยินสำเนียงเสียงเพราะเสนาะใน จับจิตใจเจียนจะหลับนั่งตรับฟัง เห็นกำปั่นนั้นแล้วแจ้วแจ้วจอด เสียงฉอดฉอดพลอดสัมผัสประหวัดหวัง จึงขับปลามาในน้ำด้วยกำลัง พูดภาษาฝรั่งร้องถามไป นี่แน่คนบนลำเรือกำปั่น ท่านพากันมาแ่ต่หนตำบลไหน เมื่อตะกี้นี้สำเนียงเสียงอะไร ใครทำไมไพเราะเสนาะดี
............................. .............................
ฝ่ายสามองค์ทรงฟังสังระเสริญ ทั้งเชื้อเชิญชื่นชมด้วยสมหวัง จึ่งขึ้นลำกำปั่นนั่งบรรลังก์ มุนีนั่งทั้งสามบอกตามตรง เป่าที่เรือเมื่อตะกี้นั้นปี่แก้ว ให้ดูแล้วปลอบถามตามประสงค์ ดูรูปร่างช่างงามทั้งสามองค์ เป็นเชื้อวงศ์เทวาหรือมานุษย์
ตกลง ปี่แก้ว ค่ะ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
Wandee
|
ความคิดเห็นที่ 5 เมื่อ 23 พ.ค. 08, 09:49
|
|
ขออนุญาต คัด คำนำ ของ อาจารย์ธนิต อยู่โพธิ ดังต่อไปนี้
"..มีตอนที่หอพระสมุดสำหรับพระนครมิได้ชำระและมิได้จัดพิมพ์ไว้............... ................................................................ ดำเนินเรื่องต่อจากฉบับที่หอพระสมุด ฯ ชำระไว้ เกือบอีกเท่าตัว กล่าวคือ เป็นหนังสืออีก ๒๓,๕๘๘ คำกลอน หรืออีก ๔๕ เล่มสมุดไทย .............................. .............................. ข้าพเจ้ามีความเห็นเช่นเดียวกับกรรมการหอพระสมุด ฯ ในข้อที่ว่า ในตอนหลังนี้ ท่านสุนทรภู่มิได้ตั้งใจแต่งโดยประณีตเหมือนตอนก่อน ทั้งนี้ก็คงจะเนื่องจากการที่กล่าวกันมาว่า กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพมีรับสั่งให้ท่านสุนทรภู่แต่งถวายเดือนละ ๑ เล่มสมุดไทย ............................... ...............................
คำกลอนที่เขียนลงไว้ในสมุดไทยแต่ละเล่มนั้น นอกจากจะมีจำนวนคำกลอนไม่เท่ากันแล้ว ยังมีจำนวนแตกต่างกันมาก บางเล่มก็มีเพียง ๓๔๘ คำกลอนบ้าง ๔๑๐ คำกลอนบ้าง ยิ่งกว่านั้นยังได้พบหลายตอนที่คำกลอนไม่รับและส่งสัมผัสกัน แต่ในการชำระจัดพิมพ์ครั้งนี้ ได้ช่วยกันแก้ไขให้รับและส่งสัมผัสกันแล้ว ..............................
แม้นว่าคำกลอนเรื่องพระอภัยมณีตอนหลังนี้ จะมีสำนวนคนอื่นปะปนอยู่และไม่ประณีตเหมือนตอนก่อน แต่ก็ยังเหมือนเพชรเม็ดใหญ่ที่ช่างยังมิได้เจียรนัย...."
คงมีโอกาสนำตอนที่สนุกสนานอื่นๆมาฝากเรือนไทยอีก จำได้ว่าคุณ เทาชมพู ได้พูดถึง อภัยณุราช จึงหยิบขึ้นมาอ่านอีก พบว่าได้อรรถรสเรื่องจีนพราวพราย
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 6 เมื่อ 23 พ.ค. 08, 09:52
|
|
อ่าน "ห้องสิน" ดู ก็จะเห็นอภัยนุราช ฉบับจีน ค่ะ
คิดว่าคนแต่งพระอภัยมณีตอนท้าย ไม่ใช่สุนทรภู่ จะเป็นหนูพัดหนูตาบหรือศิษย์คนไหนยังไม่รู้ สำนวนกลอนที่อ่าน ไม่ใช่โวหารท่าน
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
SILA
|
ความคิดเห็นที่ 7 เมื่อ 23 พ.ค. 08, 11:39
|
|
วันนี้ในมติชนคุณสุจิตต์ วงษ์เทศก็เขียนเรื่องปี่พระอภัย ครับ ปี่พาทย์มาจากไหน? "ปี่พระอภัย" หมายถึง ปัญญา ..... สุนทรภู่ แต่งให้พระอภัยมณีเรียนเพลงดนตรีวิชาเป่าปี่ เป็นเจตนาให้เพลงดนตรีเป็นสัญลักษณ์ของสติปัญญา ที่ไม่แก้ปัญหาด้วยความรุนแรง เหตุที่คิดเช่นนั้น เพราะสุนทรภู่เป็น "คนปี่พาทย์" ในวัยหนุ่มเคยรับจ้างบอกบทละคร (คณะนายบุญยัง บ้านพรานนก) อยู่หน้าวงปี่พาทย์ (นายเส็งบ้านขมิ้น ตีระนาดเอก) ถึงคนร้ายขโมยปี่พระอภัยที่ระยอง แต่ความหมายก็เหมือนเดิมและไม่เกี่ยวข้องกับทะเลอ่าวไทย แต่เกี่ยวข้องทะเลอันดามัน .... http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01pra03230551&day=2008-05-23§ionid=0131
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
pipat
|
ความคิดเห็นที่ 8 เมื่อ 24 พ.ค. 08, 01:02
|
|
จำได้ว่าสมเด็จเคยประทานคำอธิบายเรื่องพราหมณ์ในประเทศไทยแบ่งเป็นกี่พวก เสียดายที่ไม่มีหนังสืออยู่กับตัว คิดว่าจะอยู่ในนิทานโบราณคดี ตอนเที่ยวเมืองพาราณสี หรือมิเช่นนั้นก็อยู่ในตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช
วานคุณห้องสมุดเดินได้ ช่วยค้นหน่อยเถิดครับ
|
|
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 24 พ.ค. 08, 05:05 โดย เทาชมพู »
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
Wandee
|
ความคิดเห็นที่ 9 เมื่อ 24 พ.ค. 08, 07:02
|
|
เที่ยวเมืองพาราณสี
"คำของพวกพราหมณ์ในเมืองไทย ซึ่งว่าบรรพบุรุษบอกเล่ากันสืบมาว่า พราหมณ์พวกโหราจารย์ที่เมืองพัทลุง เดิมอยู่เมืองพาราณศรี และพวกพราหมณ์พิธีที่เมืองนครศรีธรรมราช ว่าเดิมอยู่เมืองรามนคร"
พบเรื่อง บ่อโทนแขก กับ มหาราชาได้รับพระราชทานกริชฝักทองจากสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง
ในมหามุขมาตยานุกูลวงศ ศก ๑๒๔ เล่า้เรื่องพราหมณ์ไว้์ว่า
"มีชีพ่อพราหมณ์พราหมณ ๔ ตระกูลคือ พราหมณ์รามราช พราหมณ์พฤติบาศ พราหมณ์นาฬีวรรณ พราหมณ์มะหรรต์วมพราหมณ์
จัดว่าเป็นวงศ์ตระกูลอันสูงศักดิ์อรรคถาน สืบเนื่องเชื้อสายฝ่ายโลหิตติดต่อมาจาก พงศ์พรหมมินทรพระอิศวรศักดานุตระกูล มีมูลเหตุอุทาหรณ์แต่กาลก่อนมีในประเทศฮินดูสถาน เปนพราหมณ์อะวะตารมาสู่กรุงศรีสัชนาลัยศุโขทัยราชธานีที่เปนประฐมสยามเอกราชฝ่ายเหนือ เมื่อก่อนกรุงเก่าขึ้นไปหลายร้อยปี"
ไม่แน่ใจค่ะ เพราะ ก.ศ.ร.กุหลาบตอบได้ทุกเรื่อง(สงบ สุริยินทร์ บุรุษรัตนของสามัญชน เทียนวรรณ รวมสาส์น พิมพ์ครั้งที่สาม ๒๕๔๓ หน้า ๒๗๔) ไม่มีหนังสือลึกไปกว่านี้
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
pipat
|
ความคิดเห็นที่ 10 เมื่อ 24 พ.ค. 08, 10:00
|
|
ขอบคุณยิ่งครับ คงต้องพึ่งสาส์นสมเด็จเป็นลำดับต่อไป
ในเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา มีกล่าวถึงศัพท์นี้
ฝ่ายองค์พระบรมราชา ครองขันธสีมาเป็นสุข ด้วยพระกฤษฎีกาทำนุก จึงอยู่เย็นเป็นสุขสวัสดี เป็นที่อาศัยแก่มนุษย์ในใต้หล้า เป็นที่อาศัยแก่เทวาทุกราศี ทุกนิกรนรชนมนตรี คหบดีพราหมณพฤฒา
สังเกตดูว่า อาจจะแบ่งเป็น พราหมณฝ่ายหนึ่ง และพฤฒา อีกฝ่ายหนึ่งก็ได้ คำว่าพฤฒา ยังขยายออกมาเป็นพฤฒาจารย์ และเป็นราชทินนามฝ่ายราชบัณฑิตอีก เห็นจะต้องไปรบกวนถึงที่โบสถ์พราหมณเสียละกระมัง
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
Hotacunus
|
ความคิดเห็นที่ 11 เมื่อ 25 พ.ค. 08, 00:21
|
|
ถ้าเป็น ปี่ กับ แขก นี้ ผมนึกถึง แขกเป่าปีเรียกงู ครับ  คิดมุมกลับคือ สุนทรภู่ เอาละครปาหี่ของแขก เป่าปี่สะกดงู มาเปรียบเหมือนเป่าปี่สะกดคน แต่จะให้พระอภัยมณี ซึ่งเป็นเจ้าชายไปเรียนกับอาบังก็กระไรอยู่ ก็เลยให้ไปเรียนกับพราหมณ์เสีย (แขกเหมือนกัน) ดูดีมีภาษีกว่าเยอะ  ... อันนี้ ขำๆ นะครับ อิอิ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33477
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 12 เมื่อ 25 พ.ค. 08, 00:47
|
|
วิชาเป่าปี่ของพระอภัย มีคุณสมบัติวิเศษเช่นเดียวกับปี่ของเตียวเหลียงในไซฮั่น น่าจะเป็นอิทธิพลที่เห็นได้ค่ะ สุนทรภู่นี่ล้ำสมัยนะคะ อย่าว่าพูดเล่น เพราะถ้าย้อนกลับไปสมัยอยุธยา อาจจะเป็น "ปี่วิเศษ" ไม่ใช่ "วิชา" ที่แตกต่างกันคือเมื่อก่อน นิยมแต่งให้มีของวิเศษ เรียกว่าใครหยิบขึ้นมาใช้ก็ได้ความวิเศษนั้นไป ไม่เลือกเจ้าของ แต่ปี่ของพระอภัย ถ้าศรีสุวรรณหยิบไปใช้ก็คงไม่มีประโยชน์ เพราะศรีสุวรรณไม่รู้วิชาเป่าปี่ นอกจากพระอภัยก็ดูเหมือนจะมีสินสมุทรนี่แหละพอเป่าได้ เพราะเคยเห็นพ่อเป่า
มาแถมกับคุณวันดีว่า ตำนานเรื่องสกุลบุณยรัตพันธุ์มาจากพราหมณ์พฤฒิบาศ สมัยพระเจ้าปราสาททอง ดูเหมือนจะมาจากตำราของนายกุหลาบน่ะค่ะ เพราะในยุคนั้นมีคนนิยมถามเข้าไปในแมกกาซีนของนายกุหลาบ ว่าสกุลตัวเองมีบรรพบุรุษมาจากไหน นายกุหลาบตอบได้หมดเลย
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
Hotacunus
|
ความคิดเห็นที่ 13 เมื่อ 25 พ.ค. 08, 01:13
|
|
เคยค้นๆ เรื่องเมืองต่างๆ ที่กล่าวถึงในพระอภัยมณี เลยมีคำกลอนบางบทมาฝากครับ (เกี่ยวกับพราหมณ์)
๏ สิบห้าวันดั้นเดินในไพรสณฑ์ ถึงตำบลบ้านหนึ่งใหญ่หนักหนา เรียกว่าบ้านจันตคามพราหมณ์พฤฒา มีทิศาปาโมกข์อยู่สองคน
ข้างพวกพราหมณ์ข้ามไปเมืองสาวถี เวสาลีวาหุโลมโรมวิสัย กบิลพัสดุ์โรมพัฒน์ถัดถัดไป เมืองอภัยสาลีเป็นที่พราหมณ์
จากบทกลอนจะเห็นได้ว่า สุนทรภู่คงไม่ได้เจาะจงว่าเป็นพราหมณ์ตระกูลไหน การที่ท่านใช้คำว่า "พราหมณ์พฤฒา" ก็คงเพราะให้เข้ากับสัมผัสระหว่างบทมากกว่าครับ เพราะคำว่า "พราหมณ์พฤฒา" นี้ เป็นคำกว้างๆ หมายถึง พราหมณ์ที่เป็นอาจารย์นั่นเอง
อีกบทหนึ่งที่ให้ความหมายทำนองเดียวกันคือ ฉากที่เดินทางกลับของไพร่พล ของพระอภัยมณี จะเห็นว่า เมืองต่างๆ ที่พวกพราหมณ์เดินทางกลับนั้น นำมาจากคัมภีร์ทางพุทธศาสนาทั้งสิ้น ไม่ได้เป็นเมืองร่วมสมัย เหมือนเมืองอื่นๆ ที่ทหารชาติอื่นๆ เดินทางกลับ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
pipat
|
ความคิดเห็นที่ 14 เมื่อ 25 พ.ค. 08, 01:31
|
|
ยกมือค้าน อย่าหมิ่นว่ากลอนพาไป "เรียกว่าบ้านจันตคามพราหมณ์พฤฒา มีทิศาปาโมกข์อยู่สองคน" เห็นใหมครับว่า พราหมณ์พฤฒา ท่านต่อด้วย ทิศาปาโมกข์ อยู่สองคน แต่ตรงอื่น บอกแค่พราหมณ์เฉยๆ ในยุคที่ภาษาไม่ค่อยแปร่ง และยังเป็นทาสของนายภาษา ข้อหากลอนพาไป อย่าเพิ่งด่วนยัดเยียดครับท่าน..... 
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|