เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 9
  พิมพ์  
อ่าน: 77580 ตำนานนักกลอน
jomyutmerai
อสุรผัด
*
ตอบ: 51

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 09 ส.ค. 08, 12:39

เรือเร่

ในคืนมืดยืดยาวราวโลกดับ
ทั่วหล้าหลับลงซบสงบเหงา
แสงดาวเลือนเดือนลางกลางฟ้าเทา
ลมเบาเบาโบกไล้ทิวไม้เอน

รอวันใหม่ลอยมากับฟ้ารุ่ง
คอยวันพรุ่งพรายรวีเจิมสีเสน
เริ่มชีวิตกิจความตามกฎเกณฑ์
ก่อนสุเมรุหมื่นโยชน์ดับโชติดวง

เหมือนเรานำลำเรือหางเสือขาด
ถูกน้ำสาดซัดเร่ทะเลหลวง
ลู่ใบพับกับเสาอย่างเศร้าทรวง
นี่จะล่วงลอยคว้างไปทางใด

ไร้เข็มทิศลายแทงแสงเดือนส่อง
แม้แสงทองของเทียนหรี่เจียนไหม้
แม้แสงดาวเหนือนำเพียงรำไร
คงเร่ไปให้รับความอัปปาง

ฝ่าม่านดำค่ำคืนและคลื่นโหด
รอวันโรจน์รุ่งรวีที่ฟ้าสาง
พบท่าจอดทอดสมอรอกึ่งทาง
ก่อนจะกางกู้ใบใหม่อีกที

ในคืนมืดยืดยาวราวโลกดับ
เห็นน้ำกับฟ้ากว้างทุกทางที่
เราเหมือนเรือไร้ท่าคนปรานี
รอใบคลี่คลุมทบเหนือศพเรา

สุรศักดิ์ ศรีประพันธ์

http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=jomyutmerai&month=10-2007&date=19&group=1&gblog=4

เรือเร่ เป็นงานของ สุรศักดิ์ ศรีประพันธ์ อีกชิ้นที่ผมชอบมาก เลยขอนำมาแจมไว้ด้วยครับ
บันทึกการเข้า
jomyutmerai
อสุรผัด
*
ตอบ: 51

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 09 ส.ค. 08, 13:13

อดุลย์  จันทรศักดิ์ ถือเป็นนักกลอนในดวงใจผมอีกท่านหนึ่ง บทกลอนชิ้นหนึ่ง
ที่ผมชอบมาก คือ เพลงชาวเรือ ซึ่งท่านแต่งในนามปากกา ธารี ลองอ่านดูครับ

เพลงชาวเรือ

แช่มช้าเหมือนดอกไม้สยายกลีบ
ดาวแห่งชีพโคจรโดยร่อนเร่
กลางเปลวแดด แสงดาว แห่งชาวเล
ใสเสน่ห์ดาวเหนือเมื่อเดินทาง

วัยหนุ่มฉานโชนไฟให้ต่อสู้
วันนี้รู้แล้วว่าขอบฟ้ากว้าง
จุมพิตความจำเจ ทะเลร้าง
สัมผัสความอ้างว้างทั้นคืนวัน

ฟังดนตรีที่คลื่นสะอื้นอ้อน
แทนเพลงพรแผ่วในหัวใจฝัน
ฟังเสียงลมร่ายริ้วเลื่อนลิ่วนั้น
ต่างเสียงบรรจงปลอบจากขอบฟ้า

ช่อดอกไม้จากผู้อยู่บนฝั่ง
แทนถ้อยสั่งที่ให้กลับไปหา
หวิววิญญาณชาวเรือเมื่ออำลา
หวานแววตาเยือกเย็นอย่างเร้นลับ

ขอแสงนิลเนตรแห่งหนึ่งแรงห่วง
ส่องแทนดวงดาวเมื่อดาวเหนือหลับ
ขอเก็บช่อดอกไม้ที่ได้รับ
ไว้ประทับจูบสุดท้ายกลางสายน้ำ

...กองทัพคลื่นบ้าคลั่งกำลังโหด
พายุโลดเข้าปะทะโหมกระหน่ำ
ลูกน้ำเค็มประคองเรือเมื่อโยนลำ
มิอาจนำเรือพบที่หลบภัย

เพลงชาวเรือร่ำท้าความว้าเหว่
ก่อนทะเลหยุดบ้า ก่อนฟ้าใส
ดับดวงดาวสองดวงโดยห่วงใย
จูบดอกไม้สีขาวจากสาวน้อย...

ธารี ๒๕๑๒ (จากหนังสือ ใบไม้แห่งนาคร)
บันทึกการเข้า
jomyutmerai
อสุรผัด
*
ตอบ: 51

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 09 ส.ค. 08, 13:28

อำพล สุวรรณธาดา เป็นชาวมหาสารคาม เข้าจุฬาในคณะวิทยาศาสตร์ แล้วมาจบ
คณะครุศาสตร์ นอกจากเป็นนักกิจกรรมตัวยงแล้ว บทกลอนในนาม "ทิดก้อน  อินคำ"
ก็เสียดแทงผู้อ่านในยุคต้น พ.ศ. ๒๕๐๐ พอดู ขอยกตัวอย่างงานของ อำพล สุวรรณธาดา
สักชิ้นแล้วกัน ครับ

อยากเป็นอิฐ

เบื้องหน้าฉันนั้นเห็นเป็นน่านน้ำ
เหลือลึกล้ำแลไปกว้างไพศาล
รับน้ำมามากหลายจากสายธาร
แม้เนิ่นนานนับกัลป์ไม่ผันแปร

ไม่เคยท่วมท้นฝั่งสักครั้งหนึ่ง
ไม่งวดถึงแห้งขอดวอดกระแส
สัตว์น้ำชุกชุมเหลือหลากเรือแพ
มีมากแม้แร่เกลือเจือละลาย

เมื่อผิวน้ำสงบนิ่งไม่ติงไหว
อิฐทิ้งไปก็กระเด็นกระเซ็นสาย
ละลอกพริ้วผิวกระเพื่อมเป็นเลื่อมพราย
แล้วกลับกลายเกลื่อนกลบสงบไป

อิฐนั้นไม่อาจจมถมน่านน้ำ
ไม่อาจทำระดับเพิ่มกว่าเดิมได้
แต่พอทิ้งอิฐส่งลงเมื่อใด
ยังผลให้ไหวพริ้วผิวนที

ฉันอยากเป็นเช่นอิฐก้อนนิดหนึ่ง
คงไม่ถึงถอยค่าเสื่อมราศี
ไม่อาจเพิ่มเสริมส่งวงกวี
แต่พอที่จะทำให้เกิดไหวตัว

อำพล  สุวรรณธาดา 
ตุลาคม ๒๕๐๓
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 09 ส.ค. 08, 18:14

สวัสดีค่ะ คุณจอมยุทธเมรัย
ขอบคุณสำหรับบทกวีของพี่อำพล สุวรรณธาดา  หามานานแล้ว ไม่เจอ

บทกวี "เพลงชาวเรือ" เคยเขียนเอาไว้ในกระทู้ "คนเขียนเพลง"
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2633.15
ว่า

อ้างถึง
ย้อนมาเรื่องเพลงสุนทราภรณ์ 
เขียนเนื้อเพลงให้สุนทราภรณ์หลายเพลงแล้ว     จะค่อยๆทยอยมาเล่าให้ฟัง   ขอส่งเพลงล่าสุดที่เพิ่งแต่งเสร็จไม่ถึงเดือนมานี้ให้อ่านกันค่ะ

ใครที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของสุนทราภรณ์คงจำเพลง "พรานทะเล" ได้   กองทัพเรือขอเพลงนี้ไปเป็นเพลงประจำ 
เนื้อร้องของเดิมแต่งด้วยฝีมือยอดขุนพลเพลงของสุนทราภรณ์ ครูแก้ว อัจฉริยะกุล   แต่งออกมางดงาม ไม่มีที่เสมอเหมือน
แต่ที่มีเพลงใหม่ ชื่อ "เพลงชาวเรือ" ด้วยฝีมือ ว.วินิจฉัยกุล นั้น  มีความเป็นมา....

นานมาแล้ว  "พรานทะเล" เป็นเพลงโปรด ที่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กวีชาวจุฬาฯ คนหนึ่ง นำไปแต่งบทกวี ชื่อ "เพลงชาวเรือ" 

เมื่อดิฉันอ่านพบบทกวี" เพลงชาวเรือ" ที่ไพเราะมาก  เกิดแรงบันดาลใจ  แต่งเป็นเพลงสุนทราภรณ์ขึ้นใหม่อีกทีหนึ่ง  จึงได้รู้ถึงความเป็นมาเรื่องนี้ ตั้งแต่เริ่มลงมือแต่งเนื้อ
เมื่อเป็นเช่นนี้  เพลงใหม่นี้ ก็ไม่เหมาะจะใช้ทำนองอื่น นอกจาก "พรานทะเล" เพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าของบทกวี   และเป็นอนุสรณ์ถึงที่มาตั้งแต่แรก
 
"เพลงชาวเรือ" ในทำนอง "พรานทะเล" จึงเกิดขึ้นมา

ใครอยากร้อง มีเพลงมิดี้อยู่ในเว็บนี้ค่ะ
http://www.music4thai.com/music/lyric/?sid=8798

เพลงชาวเรือ

   
ชีวิตเริ่มต้นสู่โพ้นทะเล                   
ลอยล่องร่อนเร่ก็คล้ายนาวา
สู้คลื่นลมแรงคน ทุกข์ทนก็ดิ้นรนฝ่า     
ปรารถนาขอบฟ้าไกล

ดาวเหนือดวงหนึ่งสวยซึ้งไม่จาง       
คอยส่องนำทางหว่างฟ้าอำไพ
จูบดอกไม้ไมตรี  น้ำใจคนดียื่นให้       
ค่อยแจ่มใสขึ้นอีกครา

* กระหน่ำคลื่นคม ลมแรง                 
ฟ้ามืดดังแกล้ง  ไร้แสงดารา
หวิวหวั่นความหวังลับฟ้า จะเหลียวมองหน้า 
สุดแลหาอีกไม่มี

ดอกไม้ขาวปลิด  โปรยสายปลายชล     
ฝากแก้วกมล       ฝั่งพื้นธาตรี
ก่อนนาทีสุดท้าย  ฝังกายลงใต้นที   
ส่งใจนี้มอบแด่เธอ


เอ็ม เชี่ยวชาญ กิจสมบัติไชย คลื่นลูกใหม่ของสุนทราภรณ์ เป็นคนขับร้องเพลงนี้
ดิฉันมีเพลง MP 3 แต่ไม่ทราบวิธีที่จะเอาขึ้นเว็บให้เปิดฟังกันได้   ไม่งั้นจะให้ลองฟังเสียงของเอ็ม ดูบ้าง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 20 ส.ค. 08, 13:28

เจอกลอนของประยอม ซองทอง ในนามแฝง "ปรง เจ้าพระยา"  เลยขอนำมาลงไว้ในกระทู้

http://www.naewna.com/news.asp?ID=98344

"เธอมีชื่อว่า "ข้าราชการ"
 สนองงานจอมราช "พระเจ้าอยู่หัว"
 ซึ่งทรงใช้อธิปไตยไว้แทนตัว
 ของปวงชนถ้วนทั่วประเทศไทย

เธอมิใช่ขี้ข้าบริษัท
ที่อยู่ใต้อาณัติสัตว์ป่าไหน
ให้ย่ำยีไร้เหตุผลผิดกลไก
คุ้มครองได้ ณ ที่นั่นศาลปกครอง"
.......................................

"เมื่อเธอถูกขับไล่ให้ต้องเลือก
จงตัดเชือกสายรักสมัครสมาน
บอกเขาไปว่าไม่อยู่ข้างหมู่มาร
ไม่เลือกข้างเผ่าพาลปล้นบ้านเมือง"
บันทึกการเข้า
jomyutmerai
อสุรผัด
*
ตอบ: 51

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 21 ส.ค. 08, 21:15

นักกลอนอีกท่านที่มีลีลากลอนเฉพาะตัว ที่ว่ากันว่าลีลากลอนของท่านบ่งบอกถึงบุคลิก
พิเศษของท่านอย่างชัดแจ้ง เป็นนักกลอนรุ่นเดียวกับ เนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์ เรียนจบมา
ทางนาฏศิลป์ ก่อนมาเป็นอาจารย์ถ่ายทอดวิชานาฏศิลป์ที่สถาบันเดียวกัน นักกลอนท่านนี้
คือ สุรินทร์  ประสพพฤกษ์ ขอนำงานกลอนท่านมาวางไว้ในตำนานนักกลอนด้วย ครับ

เห่เรือหงส์

หงส์ระเหิดเฉิดฉายแหวกว่ายฟ้า
เลื่อนลงหล้าลอยฟ่องล่องกระสินธุ์
ละอาศน์พรหมล่มฟ้ามาสู่ดิน
ประทีปถิ่นแดนด้าวของชาวพุทธ

เสียเห่โห้โอ้ช้าแล้วว่าเห่
เชิญเสน่ห์แห่งสวรรค์อันพิสุทธิ์
มาสร้างสรรค์ขันแต่งแข่งมนุษย์
ให้ประดุจหงส์ทองฟ่องพิมาน

ช้าแลเรือแม่รามหาหงส์
เชิญอนงค์ชำระสระสนาน
ฝีพายเรียงเคียงคู่คอยอยู่งาน
ขับสำนานมูลเห่เพลาทรง

มโหรทึกแตรสังข์ทั้งบัณเฑาะว์
ประคองเคาะเรื่อยรับขับร้องส่ง
ศรีชัยเอยแม่ย่านางสำอางองค์
เชิญแม่ลงเรือประเทียบเลียบสาคร

จะเห่นำเรือทรงองค์กฐิน
ลอยวารินลิ่วเลื่อนเหมือนเก่าก่อน
ขวัญแม่เอยขวัญแก้วอย่าแคล้วจร
เชิญรับพรมงคลชัยไว้ชื่นเชย

เจ้าแม่ศรีสุพรรณหงส์ทรงสะอื้น
ทั่วภาคพื้นเจ้าพระยาจะผ่าเผย
สาครครืนครื้นคร่ำส่ำสังเวย
รอหงส์เกยเทียบท่าวาสุกรี

สุรินทร์  ประสพพฤกษ์
บันทึกการเข้า
jomyutmerai
อสุรผัด
*
ตอบ: 51

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 21 ส.ค. 08, 21:20

มาอ่านงานของนักกลอนอีกท่านครับ

สุรีย์ พันเจริญ เขียนกลอนในนามปากกา "ลาวแพน"  แต่บางครั้งก็ไม่ใส่ชื่อเมื่อเขียนบรรยายภาพใน
"อนุสารวรรณศิลป์" ปีแรก ๆ ของสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้จัดทำวารสารนั้น
และที่สำคัญอีกอย่างคือ ท่านได้ชื่อว่าเป็นประธานชุมนุมวรรณศิลป์คนแรกของระดับมหาวิทยาลัย
ในประเทศไทย ขอยกงานกลอนของท่านมาสักชิ้นแล้วกันครับ

หัวใจที่ชาเย็น

เธอแย้มเยื้อนเย้ากมลจนไหวหวั่น
ทุกทุกวันซึ้งสนิทเกินปลิดหาย
จะกี่เดือนกี่ปีไม่มีคลาย
เหมือนกับสายเจ้าพระยาตราบตาปี

เราจากกันแต่ตัวหัวใจซึ้ง
ครุ่นคะนึงห่วงถวิลทุกถิ่นที่
นานเหมือนนับกัปกัลป์พันทวี
เมื่อเรามีโอกาสใกล้ใหม่อีกครั้ง

หวิวและหวามความสัมพันธ์วันเก่าเก่า
รุกรุมเร้าหัวใจให้ความหวัง
หวังให้หวังครั้งนี้อยู่จีรัง
เสมือนดังตั้งจิตเตือนติดตา

คิดว่ารักจักอยู่เคียงคู่รัก
คิดว่าหลักคงไม่คลอนรอนคุณค่า
คิดว่าแกร่งเกินแผนแผ่นศิลา
และคิดว่ามั่นคงจำนงนัย

แต่ชีพกร้านกร้าวฉกรรจ์ทุกวันนี้
ไม่เหมือนที่จิตฉันเคยหวั่นไหว
กลับคล้ายลมพลิ้วเฉยผ่านเลยไป
ในหัวใจชาเย็นเหมือนเช่นเดิม

สุรีย์ พันเจริญ

ขอบคุณ คุณเทาชมพูมากครับที่ตั้งกระทู้นี้ขึ้นมา ทำให้ผมต้องหันกลับมาอ่านหนังสือกลอนเก่า ๆ ที่มีอยู
เลยพอมีข้อมูลมาแลกเปลี่ยนนิดหน่อยครับ และคงจะมีงานของนักกลอนท่านอื่นมาฝากเรื่อย ๆ ครับ 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 25 ส.ค. 08, 17:34

ขอบคุณคุณจอมยุทธเมรัย ที่มาช่วยทบทวนความจำถึงนักกลอนหลายๆท่าน
กลอนของคุณสุรินทร์ ลีลาสง่างามมาก    ยังไม่เห็นใครเขียนได้เหมือน
สงสัยอยู่ตอนเดียวว่าทำไมใช้คำนี้  หมายความว่าอะไร ยังไม่เข้าใจว่าเข้ากับวรรคที่สองอย่างไร

เจ้าแม่ศรีสุพรรณหงส์ทรงสะอื้น
ทั่วภาคพื้นเจ้าพระยาจะผ่าเผย

ดิฉันกำลังอ่าน " เงาสะท้อน" รวมบทกวีแห่งชีวิตของปิยะพันธ์ จัมปาสุต      เป็นบทกวีที่อหังการ์อีกแบบหนึ่ง ไม่ซ้ำกับลีลาของนักกลอนอื่นๆของจุฬาหรือธรรมศาสตร์
บทนี้  แต่งเมื่อ ๒๕๑๔  รวมอยู่ใน "ใบไม้แห่งนาคร" คุณจอมยุทธเมรัยมีเล่มนี้แล้ว  บทนี้ขอเอาลงให้คนอื่นๆที่ยังไม่มีหนังสือ ได้แวะเข้ามาอ่าน

จุดจบของปริญญาชน

เด็กสาวและเด็กหนุ่มผู้รุมร้อน                               ซึ่งซับซ้อนสับสนและค้นหา
ผ่านช่วงแห่งวัยวันสั้นสั้นมา                                  รอเวลาช่วงยาวก้าวต่อไป

จากจุดเริ่มเดินทางที่ย่างผ่าน                                ประสบการณ์คือครูผู้ยิ่งใหญ่
โดยสมองตรองตรึกบันทึกไว้                                 ถ่ายทอดสู่หัวใจในนานวัน

และคุมขังมันไว้ให้สงบ                                          กับการพบชวนทึ่งน่าพรึงพรั่น
มองทุกอย่างอย่างรับรู้และรู้ทัน                             เพื่อนาทีที่ฝันจะพลันจริง

เมื่อสาวหนุ่มรุมร้อนและอ่อนโลก                            เริ่มโชนโชกพร้อมสรรพกับทุกสิ่ง
รับการปลดปล่อยจากค่ายพักพิง                            โดยมีมิ่งปริญญาเป็นอาวุธ

เบื้องหน้าคือฝูงชนค้นบ้าคลั่ง                                ซึ่งกำลังทำลายไม่ยอมหยุด
ความป่าเถื่อน การแก่งแย่ง การแย้งยุทธ                 นับเป็นจุดพัฒนาที่น่าชม

ริ้วขบวนเหยียดยาวแห่งสาวหนุ่ม                            เสื้อครุยคลุมสวมร่างอย่างเหมาะสม
เคลื่อนสู้เกลียวคลื่นคลั่งของสังคม                          แล้วก็จมทีละคน..ทีละคน
บันทึกการเข้า
jomyutmerai
อสุรผัด
*
ตอบ: 51

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 26 ส.ค. 08, 14:33

ขอบคุณคุณจอมยุทธเมรัย ที่มาช่วยทบทวนความจำถึงนักกลอนหลายๆท่าน
กลอนของคุณสุรินทร์ ลีลาสง่างามมาก    ยังไม่เห็นใครเขียนได้เหมือน
สงสัยอยู่ตอนเดียวว่าทำไมใช้คำนี้  หมายความว่าอะไร ยังไม่เข้าใจว่าเข้ากับวรรคที่สองอย่างไร

เจ้าแม่ศรีสุพรรณหงส์ทรงสะอื้น
ทั่วภาคพื้นเจ้าพระยาจะผ่าเผย


ตรงนี้ผมก็ไม่มั่นใจว่าผู้แต่งต้องการสื่อถึงอะไร แต่ตามความเข้าใจของผมจากการอ่านกลอนชุดนี้
ที่ว่า เจ้าแม่ศรีสุพรรณหงส์ทรงสะอื้น คงแสดงถึงความเศร้าของ แม่ย่านาง
ประจำเรือสุพรรณหงส์ นะครับ ลองอ่านดูตรงนี้นะครับ

ศรีชัยเอยแม่ย่านางสำอางองค์
เชิญแม่ลงเรือประเทียบเลียบสาคร

จะเห่นำเรือทรงองค์กฐิน
ลอยวารินลิ่วเลื่อนเหมือนเก่าก่อน

จะเห็นว่าเรือสุพรรณหงส์ เป็นแค่เรือประเทียบ ไม่ใช่เรือพระที่นั่งหลัก ตรงนี้ก็คงเป็นที่น้อยใจของ
เจ้าแม่ศรีสุพรรณหงส์นะครับ แต่ถึงแม้จะน้อยใจหรือทรงสะอื้นอย่างกวีว่า แต่เรือสุพรรณหงส์ก็ยัง
ร่วมในขบวนแห่ จึงทำให้ "ทั่วภาคพื้นเจ้าพระยาจะผ่าเผย" อันเป็นวรรคถัดมาของกลอนชุดนี้

ผิดถูกอย่างไรไม่มั่นใจนะครับ

ว่างๆ จะมานำเสนอนักกลอนท่านอื่น ๆ ต่อไปครับ
บันทึกการเข้า
jomyutmerai
อสุรผัด
*
ตอบ: 51

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 26 ส.ค. 08, 22:07

ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๐๗ - พ.ศ. ๑๕๑๓ งานหลักอย่างหนึ่งของชมรมวรรณศิลป์
สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คืองานคัดเลือกรางวัลเกียรตินิยมวรรณศิลป์
โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นการสนับสนุนส่งเสริมงานเขียนภายในมหาวิทยาลัย
แบ่งประเภทงานที่จะได้รับการพิจารณา ๕ ประเภทคือ เรื่องสั้น สารคดี กลอนเปล่า
บทร้อยกรองและบทวิจารณ์ทั่วไปเกี่ยวกับงานของนิสิตจุฬาฯ โดยงานประเภทบทกลอน
ชิ้นแรกที่ได้รับรางวัลเกียรตินิยมวรรณศิลป์ คือ บทกลอนที่ชื่อว่า น้ำค้างหยดเดียว
ซึ่งเป็นผลงานของ อัจฉรา  ตันสงวน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ผมขอคัดบทกลอนชุดนี้มา
ให้อ่านแล้วกันครับ

น้ำค้างหยดเดียว

น้ำค้างใสหยดเดียวบนเรียวหญ้า
ณ เบื้องหน้ากลอกกลิ้งประกายฉาย
ดังรวมรุ้งเพชราแววตาทราย
สะท้านพรายน้ำพร่างกระจ่างดวง

สุรีย์มาศแผดแสงเริ่มแรงกล้า
ฉันผวาหัตถ์ป้องเปรียบของหวง
แรงฤทธิ์ร้อนจะแผดเผาเจ้าตรมทรวง
ฉันเต็มดวงโศกประดังเกรงหวังวาย 

แม้หัตถ์ไหม้ให้แสงแรงกว่านี้
หรือลมปรี่ฉันไม่ร้างไปห่างหาย
แต่ตะวันแผดแสงอันแรงพราย
เหมือนมุ่งหมายบั่นเจ้าให้เศร้าลง

ฉันสุดหวงห่วงประกายสายน้ำนิ่ง
เห็นแล้วยิ่งบีบหทัยให้เป็นผง
น้ำค้างอ้อนซ้อนเศร้าเฝ้าพะวง
ดูเหมือนคงพูดด้วยว่า "ช่วยที"

อันน้ำน้อยย่อมแพ้ไฟไม่สิ้นสุด
ไร้อาวุธต้านอำนาจมิอาจหนี
สุดจะกันเจ้าจากแสงแรงรวี
โอ้สุดลี้ความแกร่งแห่งกฎกรรม

อัจฉรา  ตันสงวน ๒๕๐๗

โดยรางวัลเกียรตินิยมวรรณศิลป์ ประเภทบทกลอนในปีต่อ ๆ มา ผู้ได้รับรางวัล คือ
ปี ๒๕๐๘  ผลงานชื่อ ความลับ ของ สุรศักดิ์  ศรีประพันธ์
ปี ๒๕๐๙  ผลงานชื่อ ช่วงแห่งความมืดมิด  ของ ปิยะพันธุ์  จัมปาสุต
ปี ๒๕๑๐  ผลงานชื่อ  จุดมืด  ของ พิบูลย์ชัย  พันธุลี
ปี ๒๕๑๑  ผลงานชื่อ  มัน  ของ ปิยะพันธุ์  จัมปาสุต
ปี ๒๕๑๒ ไม่มีรางวัลเกียรตินิยมโดยเหตุผลบางประการ
ปี ๒๕๑๓  ผลงานชื่อ หรือจะเป็นเพียงความฝัน (บรรพ ๑-๔) ของ พวงแสด
 
ปี ๒๕๑๓ เป็นปีสุดท้ายของรางวัลเกียรตินิยม

ที่มา หนังสือเกียรตินิยมวรรณศิลป์ จัดพิมพ์โดย ชมรมวรรณศิลป์ ส.จ.ม. ๒๕๑๖

ปล. ในวรรค  ฉันเต็มดวงโศกประดังเกรงหวังวาย  ไม่แน่ใจว่าหนังสือพิมพ์ผิดหรือเปล่า ผมว่าน่าจะแก้ ฉันเต็มดวง เป็น ฉันเป็นห่วง
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 27 ส.ค. 08, 16:21

       คุณอัจฉรา ตันสงวน เป็นพี่สาวของเพื่อนร่วมงาน(ผู้อาวุโส) ครับ
เป็นบุตรีของศาสตราจารย์เตียง ตันสงวน อดีตคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ
(เพิ่งมีงาน ๑๐๐ ปี ศรีศตวรรษ เตียง ตันสงวนไปเมื่อปีที่แล้ว)
จบการศึกษาจากคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ และน่าจะเป็นลูกไม้ใต้ต้นคุณพ่อครับ เพราะ
อาจารย์เตียงท่านชอบแต่งกลอน(เป็นภาษาอังกฤษ)ไว้มากมาย
       ปัจจุบันทำธุรกิจส่วนตัวที่ภาคเหนือ และยังมีร้านอาหารในกรุงเทพฯ ด้วย
บันทึกการเข้า
jomyutmerai
อสุรผัด
*
ตอบ: 51

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 28 ส.ค. 08, 17:53

ขอบคุณ คุณ SILA ครับ ที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ คุณอัจฉรา  ตันสงวน
ไม่ทราบว่าเดี๋ยวนี้ท่านยังเขียนกลอนอยู่หรือเปล่า?

ถึงตรงนี้ขอนำทุกท่านมารู้จักกับนักกลอนอาวุโสอีกท่านหนึ่ง คือ คุณประสิทธิ์ โรหิตเสถียร
ซึ่งถือว่าเป็นนักกลอนรุ่นบุกเบิกของชมรมนักกลอน ก่อนจะเปลี่ยนเป็นสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทย
ในปัจุบัน ขอยกผลงานกลอนที่ถือว่าดีเด่นชุดหนึ่งของท่านมานำเสนอแล้วกันครับ

 เลือดสุพรรณ

โอ้,สุพรรณวันนี้ไม่มีพิม
มาเยือนยิ้มพริ้มพรายให้ชายหลง
สิ้นขุนแผนแสนสะท้านชาญณรงค์
เหลือแต่พงศาวดารตำนานรัก

ขาดริปูคู่ศึกที่ฮึกหาญ
เคยรุกรานผลาญย่ำกระหน่ำหนัก
ไม่เห็นศพซบก่ายหมายพิทักษ์
เหลือเพียงหลักฐานชี้ความดีงาม

เป็นสุสานทหารผู้ไม่รู้ชื่อ
แต่เกียรติลือเลอลบจบสยาม
ทิ้งกองเถ้าเจดีย์นิรนาม
ประทับความดีอาบกำซาบใจ

เห็นหย่อมตาลลานตา ณ ครานี้
เสียดยอดชี้ฟ้าครามงามสดใส
ซ้ำรสตาลหวานติดสนิทใน
ด้วยเลือดไทยหลากทุ่งบำรุงตาล

เลือดสุพรรณวันก่อนเคยร้อนรุ่ม
หลั่งลงชุ่มฉาบดินทุกถิ่นฐาน
บัดนี้เย็นเป็นสุขทุกประการ
เพราะไทยหาญหวงถิ่นไว้ให้ไทยเอย

ประสิทธิ์  โรหิตเสถียร  ๒๕๐๕
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 29 ส.ค. 08, 14:18

      ตอบคุณจอมยุทธ ว่าหลังจบการศึกษาช่วงที่คุณอัจฉราเป็นอาจารย์สอนหนังสือ
ก็ยังเขียนกลอนอยู่บ้าง ตอนนี้ไม่ได้เขียนนานมากแล้ว ผลงานเก่าๆ ก็ไม่ทราบว่าเก็บอยู่ตรงไหน
ถาม(ทางโทรศัพท์)ถึงกลอนน้ำค้างหยดเดียว คุณอัจฉราจำได้แน่นอน แต่ตรงวรรคนี้
       
อ้างถึง
ฉันเต็มดวงโศกประดังเกรงหวังวาย

คุณอัจฉราจำรายละเอียดไม่ได้ ครับ
       โดยส่วนตัวอ่านแล้วเข้าใจว่า ความโศกประดังเข้ามาที่ฉันอย่างเต็มที่(เหมือนพระอาทิตย์เต็มดวง
ที่แผดเผาน้ำค้าง)

       
 
บันทึกการเข้า
jomyutmerai
อสุรผัด
*
ตอบ: 51

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 01 ก.ย. 08, 21:15

ลอยลำไปกับเรือเพลง

ในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ สนธิกาญจน์  กาญจนนาสน์ ได้ประสานงานมิตรสหายนักกลอนในสมัยนั้นเพื่อนัดหมายลงเรือ
โดยเฉพาะในวันลอยกระทง โดยใช้ชื่อการชุมนุมนั้นว่า "ลอยลำไปกับเรือเพลง" การจัด "เรือเพลง" นั้น นอกจาก
จะเป็นที่ชุมนุมมิตรสหายนักกลอนส่วนมากแล้ว ยังเป็นที่ชุมนุมนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์อีกด้วย "เรือเพลง"
ดำเนินงานมาประมาณ ๑๒ ครั้ง แต่ละครั้งมีการประกวดกลอน ได้กลอนดี ๆ ได้พบเพชรงาม ๆ เช่น เนาวรัตน์
พงษ์ไพบูลย์ , นิภา  บางยี่ขัน , ทวีสุข  ทองถาวร , ศิริพงษ์  จันทร์หอม , วรา  จันทกูล , ปิ่นฤทัย  รวิปรีชา ,
สุรินทร์  ประสพพฤกษ์ เป็นต้น

บทกลอนดี ๆ จากการจัด "เรือเพลง" ทั้ง ๑๒ ครั้ง ผมขอคัดบางส่วนมาให้อ่านเท่าที่หาได้ในตอนนี้นะครับ

บทกลอนชุดแรกที่ผมจะขอคัดมาให้อ่าน คือชุด "เรือเพลง" ผลงานของ สนธิกาญจน์  กาญจนนาสน์ เจ้าของ Project
จากการ "ลอยลำไปกับเรือเพลง" เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๙

เรือเพลง

โลดเถลิงเริงเล่นอยู่เป็นนิจ
ล้อชีวิตกับความจนอย่างคนเก่ง
ลอยอยู่กลางทะเลรักอย่างนักเลง
เล่นกับเพลงหลอกล่อมาพอควร

เคยมีรักหลายหนจนประจักษ์
แต่จากรักคราใดไม่เคยหวล
หลายครั้งที่รักชะลอก็รัญจวน
แต่มิครวญเมื่อรักลาถลาลอย

จะว่าหยิ่งก็หยิ่งเกินเมินดอกหญ้า
แต่ดอกฟ้าก็เฉยเฉยไม่เคยสอย
คราวจะไปใครให้รอก็ไม่คอย
ใครจะถอยหนีไปก็ไม่ตาม

ใครจะมีรักใหม่ไม่อยากรู้
ใครจะอยู่กับใครไม่อยากถาม
ใครจะกล่าวถางถากไม่อยากปราม
ใครจะห้ามเล่นกับไฟไม่อยากฟัง

มิหลงเหลิงกับความฝันของวันใหม่
มิเสียใจกับความทรามของความหลัง
ใครจะเลวเหลวไหลไม่อยากชัง
ใครมอบหวังดีให้ไม่อยากรับ

ใช้ชีวิตเหมือนเรือเพลงบรรเลงล่อง
เช้าก็ท่องลอยลำค่ำก็กลับ
ชมฟ้ารุ่งเดือนฉายประกายระยับ
ฟังคำขับร้อยกรองร้องเพลงเรือ

สนธิกาญจน์  กาญจนาสน์  ๒๕๐๙

จริง ๆ แล้ว บทกลอนชุดนี้มีเผยแพร่อยู่ในเน็ตเยอะพอสมควร สามารถ Search หาได้ไม่ยากนัก แต่เนื่องจาก
ตอนที่ผมคัดบทกลอนชุดนี้เผยแพร่ใน กระทู้ "บันทึกไว้ในวงวรรณ" ที่ถนนนักเขียน พันทิป เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๖
กลอนบทสุดท้ายวรรคแรก ผมตกคำว่าเรือไปหนึ่งตัว กลายเป็นว่า " ใช้ชีวิตเหมือนเพลงบรรเลงล่อง"ดังนั้นกลอนชุดนี้
ที่ค้นเจอในเน็ตเลยตกคำว่า "เรือ" ในบทสุดท้ายวรรคแรก ตามกันไปหมด
บันทึกการเข้า
jomyutmerai
อสุรผัด
*
ตอบ: 51

ทำงาน


ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 01 ก.ย. 08, 21:17

บทกลอนชุดต่อไปที่ผมจะคัดมาให้อ่าน เป็นสำนวนชนะเลิศ "ลอยลำไปกับเรือเพลง ครั้งที่ ๑" เมื่อวันที่
๖ พ.ย. ๒๕๐๓ ได้รับรางวัลจากชมรมนักกลอน กรรมการตัดสิน คือ กิจจา  ปูรณัน , สวัสดิ์  ธงศรีเจริญ
และอนันต์  สวัสดิพละ

ภาพพิมพ์ใจสองฝั่งเจ้าพระยา

ระรื่นชื่นชมด้วยลมพริ้ว
ละลิ่วลิ่วริ้วคลื่นครืนผวา
ละลอกเรื่อยกระทบกระทั่งฝั่งสุธา
ละลานตารวิวาบอาบนที

พงอ้อออดพลอดพร่ำกับลำน้ำ
สลับซ้ำแซมใผ่ใบเสียดสี
เจ้าพระยาพาชื่นรื่นฤดี
สกุณีเวียนว่อนร่อนเริงลม

แลหมู่บ้านลานตาน่าชื่นจิต
กระท่อมนิดเรือนน้อยค่อยสุขสม
ไม่ใหญ่โตโอ่อ่าน่านิยม
ก็ชื่นชมว่าเป็นถิ่นแผ่นดินไทย

อารามหลวงอารามราษฎร์แลดาษดื่น
เจดีย์ยื่นเสียดฟ้าท้าไถง
เป็นภาพพิมพ์สลักซึ้งตรึงหว่างใจ
ฝังฤทัยระลึกอยู่มิรู้ลืม

นิภา  บางยี่ขัน  ๒๕๐๓
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 9
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.137 วินาที กับ 19 คำสั่ง