เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9
  พิมพ์  
อ่าน: 77591 ตำนานนักกลอน
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 105  เมื่อ 21 ก.ย. 09, 15:46

เรื่องของน้องหม่อง ทองดี

 

1…เมื่อหนูเริ่มลืมตามาดูโลก

ธงไทยก็สะบัดโบกอยู่เหนือหัว

พ่อแม่หนูจำทิ้งถิ่นแผ่นดินตัว

ไฟสงครามลามทั่วจนกลัวภัย

 

  หนูกำเนิดอย่างคนไทยในสยาม

ในแดนดินถิ่นไทยงาม  จำความได้

หนูมองเห็นตัวตนเป็นคนไทย

เพียงเชื้อสายไทใหญ่ในก่อนกาล

 

เกิดเมืองไทยก็หวังอยู่คู่เมืองไทย

ไม่เคยคิดหลบหนีไปไกลจากบ้าน

ไม่ทำร้ายแผ่นดินไทยให้ร้าวราน

ไม่เคยก่อความร้าวฉานให้ประชา

 

หวังใช้เพียงมันสมองสองมือน้อย

  ไว้ค่อยค่อยสร้างสรรค์งานสานคุณค่า

สร้างชื่อเสียงด้วยสติและปัญญา

เพื่อเชิดชูหน้าตาประเทศไทย

 

อนิจจา ผู้ใหญ่เห็นเป็นปัญหา

หนูถูกเรียกว่าพม่า ใช่ไทยไม่

หนูน้ำตานองหน้า ด้วยเสียใจ

เหมือนหนูถูกขับไล่ ไม่น่าเป็น

 

ขอวิงวอนให้เมตตาอย่าผลักไส

เด็กอย่างหนู มีค่าไหม  โปรดได้เห็น

พิจารณาให้เข้าใจในประเด็น

เด็กดีเด่น ควรหรือขาด สัญชาติไทย?

                                        “ณ ปลายฟ้า”

 

2....หนูคือคุณค่าของแผ่นดิน

เป็นทรัพย์สินทางปัญญาแห่งยุคสมัย

หนูจึงอย่าสะทกสะเทือนใจ

กับผู้ใหญ่ที่ขาดพุทธิปัญญา

 

ผู้อ้างแต่ตัวบทของกฎหมาย

ผู้ทำเรื่องง่ายง่าย  ให้เป็นปัญหา

ผู้อ้างข้อขัดข้องอันค้างคา

ผู้ตีความรายมาตราเอาตามใจ

 

หนูผิดที่เกิดในประเทศนี้

บางอย่างที่ไม่น่าเกิด  ก็เกิดได้

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม หนูต้องไป

สู่ความใฝ่ความฝันอันงดงาม

 

ไปเป็นตัวแทนประเทศไทย

ไปเด็ดดอกไม้ในดงหนาม

ไปชิงชัย ไปสร้างชื่อ ให้ลือนาม

ไปด้วยความสามารถของ หม่อง ทองดี

 

ซึ่งบทเพลงพร้องขับ วันกลับบ้าน

จะขับขานคอยหนูอยู่ที่นี่

ด้วยฝีมือทั้งหมดที่หนูมี

วันพรุ่งนี้จะเป็นของหนู เมื่อสู้มัน

                                         อัคนี  หฤทัย

ลงในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 56 ฉบับที่ 51  ศุกร์ที่  11– พฤหัสบดี ที่ 17 กันยายน  2552

 
 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 106  เมื่อ 25 ก.ย. 09, 20:52

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์มีจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน    คือฝ่ายพันธมิตร   กลอนบทนี้สะท้อนความคิดเห็นทางการเมืองได้ว่า เขาเห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยในเรื่องใดบ้าง

http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9520000086591
@เจ้ากรรม-นายเวร @
       
      @ เจ้าก่อกรรม ทำกรรม เป็นความผิด
       ทุจริต บ้านเมือง ถึงเคืองเข็ญ
       ล้วนสาหัส มากมาย หลายประเด็น
       เจ้าจึ่งเป็น “เจ้ากรรม” มิใช่ใคร
       
       ผู้รับกรรม ซ้ำซาก อยู่หนักหนา
       คือประชา ตาดำดำ ถูกยำใหญ่
       ส่วนนายผู้ รู้เห็น ความเป็นไป
       แต่ไม่ยอม ทำอะไร แหละ“นายเวร”
       
       เจ้าก่อกรรม จะ“ตัดกรรม” กระไรได้
       ตกกระได พลอยโจน โดนตาเถร
       เล่นคว่ำบาตร หงายบาตร ประหลาดพิเรนทร์
       ไม่เคยมี ก็มาเกณฑ์ ให้เป็นมี
       
       มารับผล กรรมเก่า เถิด “เจ้ากรรม”
       มารับโทษ ที่กระทำ ขะลำผี
       เทวดา ฟ้าดิน ได้ยินดี
       เป็นเศรษฐี ฟอกถ่าน อายบ้านเมือง
       
       ส่วน“นายเวร” เล่นอะไร ยังไม่รู้
       จะออกหมู่ ออกจ่า ล้วนหน้าเหลือง
       กระดานเก่า หมากเก่า ก็เปล่าเปลือง
       เป็นขิงอ่อน เคี้ยวเอื้อง เยื้องยึกยัก
       
       สงสารแต่ ปวงประชา ต้องหน้าดำ
       ทั้งโรคซ้ำ กรรมซัด วิบัติหนัก
       ระวังเถิด “นายเวร” เล่นล้วงลัก
       จะถูกผลัก ให้เป็น.... ไอ้เวรตะไล!
       
       เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
       จ. ๒๗ / ๗ / ๕๒
       
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 107  เมื่อ 28 ก.ย. 09, 19:17

ขอนำบทความ "เทวาลัย" ของคุณประยอม ซองทอง  มาลงไว้
เป็นบันทึกถึงนักกลอนจุฬา เห็นบรรยากาศเมื่อ ๕๐ ปีก่อน  หาอ่านได้ยากแล้วในยุคนี้   
จะได้เห็นถึงฝีมือกลอน ที่อาจหาอ่านไม่ได้แล้วในบรรดากวีรุ่นปัจจุบัน

เทวาลัย

         เมื่อปีการศึกษา ๒๔๙๙ เด็กหนุ่มคนหนึ่งเดินเข้าสู่ตำหนักอักษรศาสตร์  พร้อมเพื่อนชายประมาณ ๒๕ คน  ซึ่งเป็นรุ่นที่มีผู้ชายมากเป็นประวัติการณ์  นอกนั้นเป็นสาว ๆ ส่วนมากสวย ๆ และเรียนเก่ง ๆ ทั้งนั้น  ความที่เป็นเด็กมาจากโรงเรียนประจำ  ซึ่งมีแต่เด็กผู้ชาย  แถมเป็นคนขี้อายและรู้สึกตัวเองว่าทำอะไรไม่ทันเพื่อน  เพราะเป็นเด็กยากจนจากต่างจังหวัดมาก่อน  ทำให้เขาสงบเสงี่ยมมาก  การแสดงออกของเขาจึงเป็นทางด้านการเขียนหนังสือ  โดยเฉพาะบทกลอน
        เขาเป็นคนฝังใจบทกลอนที่ได้อ่านมาตั้งแต่เด็ก ๆ เมื่อแรงเชียร์จากอาจารย์คนหนึ่งที่จบจากคณะอักษรศาสตร์ ( ซึ่งสมัยก่อนมีแต่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแห่งเดียว ) ทำให้เขาฝันอยากเรียนในคณะที่อาจารย์ที่เขาเคารพนับถือมากนั้นเคยเรียนมา  พอเรียนจบจากโรงเรียนฝึกหัดครู  แทนที่เขาจะกลับไปสอนเด็กตามภาระนักเรียนทุนจังหวัดจะต้องทำ  เขากลับสอบเข้าเรียนในคณะอักษรศาสตร์ และสอบได้  ทั้ง ๆ ที่ยังไม่รู้ว่าพี่ ๆ จะมีกำลังส่งให้เรียนหรือไม่
       จากคนขี้อายที่ต่อมากลายเป็นคนที่ใคร ๆ รู้จัก  เพราะการเขียนกาพย์กลอนประกอบกับมีรุ่นพ่อแม่  รุ่นพี่มีชื่อเสียงทางการเขียนหนังสือเป็นแรงจูงใจ  ยิ่งมีเพื่อน ๆ ในรุ่นใกล้เคียงกันเขียนบทกลอน - เล่นสนุกกับการเขียนกลอนกัน  เขาก็เลยเป็นคนหนึ่งที่มุ่งมั่นเอาดีทางเขียนกลอน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 108  เมื่อ 28 ก.ย. 09, 19:20

แล้วอยู่มาวันหนึ่งเมื่อเขาอยู่ชั้นปีที่ ๓ - พ.ศ.๒๕๐๑ ในขณะที่เขาเป็นสาราณียกรของสโมสรนิสิตทั้งมหาวิทยาลัย  เขาก็รับหน้าที่สาราณียกรทำหนังสือให้เพื่อนที่เป็นนายกชุมนุมนิสิตหญิงด้วย
          มีหน้ากระดาษว่างอยู่ครึ่งหน้า  เขาจึงหยิบกลอนที่เขียนไว้จากแรงบันดาลใจ  ที่อยู่คณะมาถึง ๓ ปี  ลงพิมพ์ในหนังสือ " ชุมนุมนิสิตหญิง ๒๕๐๑ " โดยที่กลอนชิ้นนั้นเขาเคยส่งไปลงให้นิตยสาร "สตรีสาร " พิจารณา  แต่ยังไม่ได้คำตอบ  และในช่วงนั้นเองมิตรผู้อาวุโสในวงการหนังสือ  ซึ่งคุมคอลัมน์กลอนในนิตยสารรายสัปดาห์เล่มใหม่ของ บริษัท ไทย-พณิชยการชื่อ " เพื่อนบ้าน " ขอให้เขาส่งกลอนไปให้  เขาเลยหยิบกลอนชิ้นนั้นส่งไป  เมื่อ ได้ลงใกล้เคียงกับที่ตีพิมพ์ใน " สตรีสาร " กลอนชิ้นนั้นจึงทำให้เขาดังขึ้นมาทันที
        ความจริงกลอนชิ้นนั้น  ถ้าพิจารณาในยุคนี้ก็คงไม่น่าตื่นเต้นอะไรมาก  แถมยังมีข้อบกพร่อง คือ มีสัมผัสซ้ำถึง ๒ แห่ง  แต่ " ความ " ในบทกลอนชิ้นนั้นคงจะ " กระทบใจ " คนอ่าน  ซึ่งอยู่ในรุ่น - และยุคนั้น ( ซึ่งเรียกกันว่า " ยุคสายลม-แสงแดด " ) จึงทำให้มีคนชอบ  และเป็นกลอนที่คนที่มาเข้าเรียนในคณะอักษรศาสตร์รุ่นต่อ ๆ มา  นำมาท่องกันเล่นได้อย่างขึ้นใจ   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 109  เมื่อ 28 ก.ย. 09, 19:24

        กลอนชิ้นนั้นมีชื่อว่า " เพื่อและจาก...เพื่อนใจ " ซึ่งเพื่อนรักของเขา ซึ่งเป็นนักกลอนมีชื่อคือ เจษฎา วิจิตร ( บัดนี้จากไปยังภพไกลโพ้นแล้ว ) และ รงค์ วิษณุ เคยพูดถึงไว้ในรายการวิทยุ " คนเขียนฝัน " ว่า
        " และแล้วข้าพเจ้าก็ได้บทกลอนชิ้นหนึ่ง  ที่เห็นว่าดีเด่นที่สุดเท่าที่เคยอ่านกลอนยุคใหม่ ๆ นี้มา  ดูเหมือนจะเป็นในหนังสือชุมนุมนิสิตหญิงของจุฬา...จากกลอนชิ้นนี้ข้าพเจ้าไม่ลังเลใจเลย  ในการยอมรับว่า ( เขา ) เป็นคนหนึ่งที่เขียนกลอนได้ดีที่สุด... "
        นั่นคือคำวิพากษ์จากคนที่มีประสบการณ์ในการเขียน  และควบคุมคอลัมน์กลอนมานาน  พูดและเขียนถึงเขาไว้ในปี ๒๕๐๕
         " เพื่อและจาก...' เพื่อนใจ ' " ขึ้นต้นปูบรรยากาศดังนี้
         ยินระฆังยามค่ำย่ำโครมครึก                       ความรู้สึกสับสนปนโศกศัลย์
       พิกุลทองพร้องพร่ำร่ำจาบัลย์      " รอรับวันเธอเยือนเป็น ' เพื่อนใจ ' "
          เพื่อนชีวิต                                   เมื่อโลกมิดเช่นนี้อยู่ที่ไหน
      จะกระเจิงเหลิงหลงกลางพงไพร   หรือ ' อ้อมใจ ' สุขสถิตในนิทรา
      จะอยู่ไหนขอให้นึกระลึกถึง      คนที่ซึ่งห่วง - รักเธอหนักหนา
      แม้ปีกาลผ่านเลือนไม่เคลื่อนคลา   รอเธอมาชื่นชมสู้ตรมทน
        มิ่งมิตรเอ๋ย      แม้ไม่เคยเอ่ยคำรักเลยสักหน
      แต่แววตาที่กล้าหวังด้วยกังวล      นฤมลน่าจะแจ้งจากแรงใจ..."

      เพียงเท่านั้นยังบีบหัวใจไม่ชัดเจนนัก  เขาได้ใช้จินตนาการผสมลงไปเสมือนมีภาพจริง  จนคนเขียน - อ่านกลอนรุ่นหลัง ๆ ในอาณาจักร " สีชมพู " ได้ทำในทำนองเดียวกันนั้น...โดยบทสะเทือนใจตอนท้ายนั้นมีว่า

                               " อย่าลืมร่ม ' จามจุรี ' ที่เคยนั่ง
      ' เทวาลัย ' ในความหลังยังสดใส
      ' สวนอักษร ' ตอนนี้ไม่มีใคร
      คอย ' เพื่อนใจ ' กลับไปเยือนเหมือนอย่างเคย
      ชงโคบานข้างบันไดปีใหม่นี้
      ใครจะชี้ชวนชิดเล่ามิตรเอ๋ย
      ใครคนอื่นหมื่นแสนไม่แม้นเลย
      รอรักเชยชื่นจิตนิจนิรันดร์ "
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 110  เมื่อ 28 ก.ย. 09, 21:48

นั่นจึงเกิดคำถามจากน้อง ๆ ว่า " เทวาลัย " ในความหมายของชาวอักษรศาสตร์รุ่นเก่านั้น  มีความหมายลึกซึ้งเพียงไร
     คนเก่าคนแก่เล่าว่า  ผู้มีความหลังที่ตึกอักษรศาสตร์  ซึ่งเป็นอาคารหลังแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสืบทอดพระเจตนารมณ์ของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระราชบิดาของพระองค์ในการประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้แก่ไพร่บ้านพลเมืองทุกชั้น  นับแต่พระราชโอรสพระ-
ราชธิดาของพระองค์ลงไปจนถึงประชาสามัญชน  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงวางศิลาพระฤกษ์อาคารแห่งนั้น  ณ วันที่ ๓ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๘ โดยมีพระราชดำรัสในครั้งกระนั้นว่าดังนี้ : -
     " วันนี้เรายินดีที่ได้รับอัญเชิญให้มาวางศิลาฤกษ์สำหรับมหาวิทยาลัยนี้  ซึ่งเป็นกิจอันหนึ่งซึ่งเราปรารถนาอยู่นานแล้ว  ที่จะยังการให้เป็นผลสำเร็จ  ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระองค์ได้ทรงพระราชปรารถนามานานแล้วในเรื่องที่จะให้มีมหาวิทยาลัยขึ้น  สำหรับเป็นสถานอุดมศึกษาของชาวสยาม...ตัวเราเป็นรัชทายาทจึงรู้สึกเป็นหน้าที่อันหนึ่ง  ที่จะต้องทำการนั้นให้สำเร็จตามพระราชประสงค์...เรามีความยินดีที่ได้เห็นการดำเนินล่วงมาได้มากแล้ว  ในบัดนี้เราได้วางศิลาฤกษ์ด้วยความหวังที่ได้แลเห็นความดีงามในอนาคตกาลแห่งมหาวิทยาลัยนี้..."
       นั่นเป็นพระราชดำรัสซึ่งยืนยันพระราชดำริของ " สมเด็จพระปิยมหาราช " ที่ทรงมีพระราชหัตถเลขาดำรัสไว้ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๒๗ ไว้ตอนหนึ่งว่า
         " เจ้านายราชตระกูลตั้งแต่ลูกฉันเป็นต้นลงไป  จนถึงราษฎรที่ต่ำที่สุด  จะให้ได้มีโอกาสเล่าเรียนได้เสมอกัน  ไม่ว่าเจ้าว่าขุนนาง  ว่าไพร่  เพราะฉะนั้นจึงขอบอกไว้ว่าการเล่าเรียนในบ้านเมืองเรานี้  จะเป็นข้อสำคัญที่หนึ่ง  ซึ่งฉันจะอุตส่าห์จัดให้เจริญขึ้นให้จงได้ "
        อาคารหลังแรกทรงไทยอันงดงาม  ประดับด้วยศิลปลายไทย  อันเป็นเอกลักษณ์เชิดชูฝีมือช่างของชาติ  จึงปรากฏเป็นตึกแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เป็นที่กำเนิดของคณะวิศวกรรมศาสตร์  คณะวิทยาศาสตร์ ในกาลต่อมา
          ครั้งแรกที่สร้างตึกที่เคยเป็นตึกคณะอักษรศาสตร์ ๑ สำเร็จ  ยังไม่มีการก่อสร้างช่องทางเดินระหว่างตึกอักษรศาสตร์ ๑ ไปยังตึกหอสมุดกลาง ( ซึ่งต่างมาสร้างขึ้นภายหลังหลายปีต่อมา ) ตึกอักษรศาสตร์จึงเป็นตึกโดดเดี่ยว  มีมุขร้างก่อนจะเป็นที่ต่อทางเดินไปสู่หอสมุดกลาง  มุขร้างแห่งนั้นชาวอักษรศาสตร์เก่า ๆ พากันขนานนามว่า " เทวาลัย " ซึ่งหมายถึง " สถานที่สิงสถิตของเทวดา "
        " แต่เราหาได้หมายความว่าพวกเราเป็นเทวดาไม่  หากมีนัยประหวัดไปถึงเทวสถาน  ' เทวาลัย ' อันเป็นสถานศักดิ์สิทธิ์ที่สำหรับบวงสรวงเทวดาในเรื่อง กามนิต  นิยายอมตะที่ท่านอาจารย์ที่เคารพ  และภาคภูมิใจที่ได้เป็นศิษย์ของท่าน คือ " ท่านอาจารย์เจ้าคุณ "หรือ " พระยาอนุมานราชธน " ได้รจนาไว้ในนาม " เสฐียรโกเศศ " ร่วมกับมิตรรักของท่าน
ในนามแฝง " นาคประทีป " หรือนามจริงว่า พระสารประเสริฐ... ใคร ๆ ที่อ่านอมตนิยายเรื่องนี้คงจำได้ว่า วาสิฏฐีได้พบกามนิตที่นั่น  เป็นความตรึงใจจากนิยายเอกเรื่องนั้น  ชาวอักษรศาสตร์จึงขนานนามมุขร้างของตึกมุมนั้นว่า ' เทวาลัย ' ซึ่งกลายเป็นตำนานทั้งความซาบซึ้ง - ความอบอุ่นและขมขื่นนานัปการ...เป็นที่เกิดของนิยาย เข่น " พระจันทร์ขึ้นที่ตึกอักษร "  " ความทรงจำที่เทวาลัยร้าง " และรวมทั้งกลอนของหนุ่มวัย ๒๔ ปีคนหนึ่ง  ซึ่งจารึกความฝังใจไว้ที่ตึกนั้น...เป็นตำนานอันยากลืมเลือนของใคร ๆ ที่ผ่านมาในตำหนักอักษรศาสตร์  แม้ " เทวาลัย " แห่งนั้นจะไม่ร้างแล้วในยามนี้  เพราะกลายเป็นทางเดินอันพลุกพล่านมีชีวิตชีวา  แต่ทุกคนก็จะรับเอานัยของ " เทวาลัย " ไว้แทนความรู้สึกที่มีต่อตึกอักษรศาสตร์แห่งนั้นไว้ตราบนิรันดร..."
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 111  เมื่อ 28 ก.ย. 09, 21:50

    เยาวสตรีที่ถามคำถามถึงกลับนั่งนิ่งไปนาน  ก่อนจะรำพึงออกมาเบา ๆ ว่า
    " แต่บัดนี้คำว่า ' เทวาลัย ' นอกจากจะหมายถึงตึกเก่าแก่แห่งแรกของมหาวิทยาลัย  หมายถึง คณะอักษรศาสตร์  และยังหมายถึงบริเวณลานระหว่างเสา ๔ ต้นหน้าตึก " บรมราชกุมารี " ตึกใหม่ที่เปลี่ยนศักราชใหม่ในอาณาจักรอักษรศาสตร์  แทบจะโดยสิ้นเชิง ! "
     ใครเลยจะนึกว่า  เวลาผ่านไปนานเหลือเกิน...๘๑ ปีแล้ว  ที่ตึกอักษรศาสตร์หรือ" เทวาลัย " ที่รักของชาวอักษรและชาวจุฬาลงกรณ์ทั้งมวล  หลังจากผลิตบัณฑิตอักษรศาสตร์ออกไปถึง ๖๐ รุ่นแล้ว  นับจำนวนคนเป็นหมื่น  เทวาลัยได้ทรุดโทรมลงไปตามกาลเวลา...
     มีรอยแยกของตึกตรงโน้นตรงนี้  มีรอยทรุดของฐานบางแห่ง  สีที่เคยฉาบอาบอิ่มขรึมขลัง  กลับเป็นคราบเป็นรอยด่าง  รอยแตกร้าว  บ้างก็มีตะไคร่น้ำจับบอกความชรา...
     บางครั้งดวงไฟบนเพดานที่มีดอกดวงงดงาม  ก็หลุดหล่นลงมาเกือบทำร้ายบุคลากรในตึก  ก่อนที่เรื่องเศร้าของตึกจะทรุดเพราะความโทรม...มหาวิทยาลัยจึงสร้างตึกใหม่ให้อาจารย์และนิสิตไปสิงสถิตบนแห่งใหม่  แล้วมหาวิทยาลัยก็จะดำเนินการซ่อมแซมตึกอันน่าภาคภูมิใจนั้นอย่างจริงจัง     ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลานานกว่าจะซ่อมแซมได้สำเร็จ  เพราะคงต้องใช้อุปกรณ์การซ่อมแบบสมัยใหม่  ที่จะล้วงลึกไปสู่ฐานราก  ไปจนถึงเพดานและหลังคา   ...คงจะต้องการงบประมาณเป็นเงินไม่น้อย  นับสิบนับร้อยล้าน  เพื่อซ่อมแซมแล้วสถาปนาขึ้นใหม่  ไว้เป็นศูนย์ข้อมูลอันควรศึกษาค้นคว้าของชาวไทยและชาวโลก  เพื่อเป็นอนุสรณ์อันน่าภาคภูมิใจ  ของอาคารแห่งแรกแห่งมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศ  และแห่งเดียวที่มีที่มาอันเกี่ยวเนื่องด้วยพระบรมมหากษัตริยาธิราชถึง ๒ พระองค์  ตึกแรกของมหาวิทยาลัยที่สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์แรก  ได้ทรงศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของไทย  ด้วย ช่วงเวลาอันงดงามในพระชนมชีพ  ที่ทรงมีความสุข ความอบอุ่น ความประทับใจพระทัย ยากยิ่งที่จะทรงลืมเลือน  และเป็นความภาคภูมิใจของชาวสีชมพูอย่างไม่รู้ลืมบูชาในพระ-องค์  และแหล่งสถานศึกษาแห่งนี้...
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 112  เมื่อ 28 ก.ย. 09, 21:54

       สมาคมนิสิตเก่าอักษรศาสตร์  และคณะอักษรศาสตร์ได้ริเริ่มขึ้นแล้ว  ในการระดมทุนเพื่อการซ่อมแซมและปฏิสังขรณ์ตึกอันเป็นมรดกล้ำค่าของชาติแห่งนี้  ตึกอักษรไม่เพียงแต่เป็นสมบัติของชาวอักษร  หากเป็นสมบัติของมหาวิทยาลัย  ที่ชาวจุฬาทั้งปวงจะต้องช่วยกันระดมทุนมาช่วยกันซ่อม  ขณะเดียวกันก็เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติ  ที่กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติล้ำค่าทางประวัติศาสตร์ของไทย  ที่ควรแล้วที่ชาวไทยทั้งหลายจะเหลียวมอง  และมีส่วนร่วมกันจรรโลงไว้...
       มิใช่เพื่อชาวอักษรศาสตร์เท่านั้น  หากเพื่อชาวจุฬา...เพื่อประชาชาติไทย  และเพื่อชาวโลกทั้งมวลจะได้ใช้ประโยชน์จากการศึกษาหาความรู้จากตึกนั้นต่อไปในอนาคต  เพราะตึกนั้นจะเป็นแหล่งสะสมวิทยาการนานัปการจะพึงมีในอนาคตไว้  เพื่ออนุชนของโลกในภายภาคหน้า
        ไม่ว่าท่านจะเป็นชาวอักษร  ชาวจุฬา  หรือชาวไทยทั่วไป  ท่านย่อมมีสิทธิที่จะร่วมจรรโลงสมบัติของชาติแห่งนั้นไว้  โดยบริจาคคนละเล็กละน้อยตามกำลังศรัทธา  ไปยังคณะอักษรศาสตร์  จุฬา ฯ โดยจะติดต่อไปยังคณะอักษรศาสตร์ ๒๑๘-๔๘๕๔-๕๕ , ๒๑๘-๔๘๗๙  หรือฝากเงินบริจาคเข้า " กองทุนบรมราชกุมารี " บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกสิกรไทย สาขาสยามสแควร์  เลขที่ ๐๖๒-๒-๔๒๖๐๖-๘ ย่อมจะได้กุศลผลบุญไม่แพ้กัน...ไม่ว่าจะบริจาคมากหรือน้อย

         ความทรงจำรำลึกถึง ' เทวาลัย ' ของใคร ๆ ที่มีต่อสถานแห่งนั้น  อาจจะมากน้อยต่างกัน  อย่างชายหนุ่มคนนั้นซึ่งหลังจากเดินออกจากคณะไปเมื่อปี ๒๕๐๓ แล้วไปเป็นครูอยู่ต่างจังหวัดแดนไกล  เขาได้เขียนถึง " เทวาลัย " ไว้  ทำให้คนได้ท่องกลอนนั้นอีกครั้ง  ในบทกลอนชื่อ " ถึง - เทวาลัย " ดังนี้ :
                " กระดึงดังวังเวงดั่งเพลงขับ          ทุกคืนที่ได้สดับก่อนหลับใหล
      สะท้อนจิตนิมิตเหมือนเสียงเพื่อนใจ       มาติดตามถามไถ่ถึงความทุกข์
      มิ่งมิตรเอ๋ย             อย่าถามเลยว่าอยู่นี่มีหรือสุข
      เมื่อทุกอย่างหนักเบาต้องเข้าคลุก      เหมือนมาซุกชีพให้ป่นอยู่คนเดียว
      ยามเจ็บไข้ไหนจะมีเพื่อนชีวิต         ยามพลาดผิดไหนจะได้ใครแลเหลียว
      ทุกวันนี้ยากเข็ญตัวเป็นเกลียว         ทั้งเปล่าเปลี่ยวไร้มิตรคู่คิดกลอน
      ถึงที่นี่จะมีหางนกยูงอยู่         ไหนจะสู้ชงโคบานลานอักษร
      ถึงริมโขงจะเป็นบ้านเมืองมารดร      ให้อาวรณ์หรือจะเท่าเจ้าพระยา
      ทั่วโลกนี้จะหาได้ที่ไหนบ้าง         จะสุขอย่าง ' เทวาลัย ' อย่าใฝ่หา
      วันที่ตัดใจจากจำพรากมา         เหมือนชีวาจะยับแยกแหลกยามนั้น
      กระดึงดังวังเวงดั่งเพลงขับ                 ทุกคืนนี้ได้สดับแม้หลับฝัน
      ก็สะอื้นฝืนระงับเฝ้านับวัน         ใจยังมั่น..ชีพไม่ดับจะกลับคืน
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 30 ก.ย. 09, 20:22 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 113  เมื่อ 30 ก.ย. 09, 20:23

      กลอนบทนี้จารึกไว้ในหนังสือรวมบทกลอนชื่อ " สุดสงวน " ว่าเขียนเมื่อ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๐๓ 
      ทุกวันนี้ชายหนุ่มคนนั้นเริ่มมีผมสีดอกเลา  และหล่นหายไปหลายเส้นเหมือนหนุ่ม ๆ ชาวอักษรส่วนมาก  แต่ก็ยังขยันผ่านตึกอักษรอยู่บ่อย  เพื่อจะได้ยกมือคารวะตึก - คารวะวิญญาณของตึก...คารวะบุญคุณครูบาอาจารย์ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นตึกที่เรียก " เทวาลัย "
     โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระบรมฉายาลักษณ์ของ พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช และ
พระบาทสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ผู้ทรงมี " พระคุณยิ่ง " ให้ชาวจุฬา " แนบไว้นิรันดร... "
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 114  เมื่อ 06 ต.ค. 09, 19:34

กวีทั้งสาม ยังคงมีไฟแรงอยู่ในวันนี้   เขียนบทกวีลงเป็นประจำในหน้าหนังสือพิมพ์ สะท้อนสังคมและแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ด้วยจุดยืนอย่างเป็นตัวของตัวเอง
คุณเนาวรัตน์เขียนในเดลินิวส์ นำลงในผู้จัดการออนไลน์       คุณประยอม  เขียนลงในแนวหน้าและไทยโพสต์   ส่วนคุณอดุล เขียนลงในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์
ยังคงมีแฟนประจำติดตามอยู่อย่างเหนียวแน่น
ขอยกของประยอม ซองทองมาให้อ่านกันค่ะ

http://www.naewna.com/news.asp?ID=180537

กรรมติดจรวด (กวีวิพากษ์) 
 
 
 

นิยายจีนว่าไว้ "ใครชักดาบ
ย่อมตายราบด้วยดาบ" เป็นแม่นมั่น
ตำนานเก่าเล่าให้เห็นเป็นสำคัญ
"ปลูกพืชใดได้ผลอันนั้นแน่นอน"

ใครใช้ "เงิน" หว่านซื้อเสียงเลี่ยงกฎหมาย
ยังไม่ตาย "เงิน"ก็ย้ำกรรมสังหรณ์
ยิ่งทวง "เงิน" เงินยิ่งเชือดให้เดือดร้อน
ผลเจ็บย้อนคมยับอัปมงคล

คนผู้ใดเคยใช้ "ม็อบ" ก่อกอปรการ
มีผลงานพอใจได้หลายหน
ย่อมผลกรรมทำไว้นั้นมักผันวน
หนีไม่พ้นผล"ม็อบ" กลับมาสับตัว

ใครก่อกรรมใช้ "อำนาจตำแหน่ง"ปล้น
เวรจักดลผลกรรมตามจิกหัว
ต่อให้พ้นตำแหน่งไปไม่ต้องกลัว
ผลแห่งชั่วจะพัวพันตัวมันเอง

ใครกล้าโกง "สมบัติชาติ"กวาดเข้าตน
กรรมพลิกผลเห็นทันใจไม่ต้องเร่ง
ต่อใช้เงินผูกทาสไว้ให้ยำเยง
ทาสแหละเร่งให้ "ตอ"โผล่โชว์ทันใจ

ใครพลิกแพลงบ่ายเบี่ยงเลี่ยงกติกา
"ฟ้ามีตา" จักธำรงความโปร่งใส
อาจยักยอกหลอกรากหญ้าบังตาไว้
แต่ "สัจจริง"ย่อมยิ่งใหญ่ในพิภพ

คนยักยอก "ที่ดิน" ทรัพย์สินวัด
ย่อมวิบัติผลแห่งกรรมนำบรรสบ
นรกเรียกร้องร่ำทุกคำรบ
ยากบรรจบสุขได้จริงใจเลย

ใคร "ฉ้อราษฎร์บังหลวง" ตวงทรัพย์สิน
ทรัพย์แผ่นดินอย่าหวังได้ไปเฉยเฉย
ยิ่งกินแรงลูกน้องจนงอกเงย
กรรมจักเกยกวาดโคตรยับอัปรมาน

เพราะ "กรรมยุคดิจิทัล" มันติดจรวด
จักตามกวาดต่อติดปีกหลีกถิ่นฐาน
เทวดาฟ้าดินเห็นเป็นพยาน
ถูกซาตานกวักมือให้ไปใช้กรรม !!!


ราตรี ประดับดาว 
 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 115  เมื่อ 06 ต.ค. 09, 19:38

บทกวีในเดือนตุลา ๒๕๕๒  ของคุณเนาวรัตน์
http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9520000117684

@ปณิธานพันธมิตร @
โดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

       @ พลังแห่งมวลมหาประชาชน
       พลังของผู้คนทุกหนแห่ง
       พลังความเป็นธรรมอันสำแดง
       พลังแรงที่รวมใจเป็นใจเดียว

       ใจที่จับมือกันประสานชัย
       ใจต่อใจสัมพันธ์อันแน่นเหนียว
       ใจประชาธิปไตยใจกลมเกลียว
       ใจเด็ดเดี่ยวมุ่งมั่นใจพันธมิตร
       
       @ เราจะถือธงธรรมเป็นอำนาจ
       ร่วมกู้ชาติกู้ประชาคือภารกิจ
       สร้างประชาธิปไตยให้ถูกทิศ
       ขจัดพิษแสบเผ็ดเผด็จการ

       ร่วมสร้างการเมืองใหม่ให้เป็นผล
       การเมืองภาคประชาชนบันดลผสาน
       อหิงสาสันติพิชิตพาล
       นี่คือปณิธานของพันธมิตร
       
       เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์     
 
 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 116  เมื่อ 06 ต.ค. 09, 19:45

http://www.thaipoet.net/index.php?lay=boardshow&ac=webboard_show&WBntype=1&Category=thaipoetnet&thispage=1&No=1240611
ส่วนบทนี้ ของ อดุล จันทรศักดิ์

ดอกไม้แทบพระบาท

1   แต่ละวรรค แต่ละวรรค ค่อยวาดไหว
เป็นดอกไม้ เป็นบทเพลง แห่งพรศรี
แต่ละบทรจนาภาษากวี
ล้วนภาพพระจักรี  อยู่กลางใจ

ไม่ต้องรอให้ใครมาบอกกล่าว
เพียงรู้ข่าวที่ทรงประชวรไข้
แม้มิได้มากราบเพราะอยู่ไกล
ใจก็แล่นไปใกล้พระอาการ

หลับตาอยู่หน้าภาพ ค่อยพึมพำ
พุทธคุณแต่ละคำค่อยสวดขาน
เอามโน และศิระกราน
แผ่วช้า เนิ่นนาน ภาวนา

ภาษาใจจักร่ำอาศิรวาท
กราบเบื้องยุคลบาท พระเจ้าข้า
บันทึกไว้ ใน “เหนือกาลเวลา”
จากหัวใจ  “ณ ปลายฟ้า” และ  “อัคนี”

อัคนี  หฤทัย

2...... ดอกไม้เหลืองเรียงรายใกล้พระบาท
คือดวงใจประชาราษฎร์ทุกถิ่นที่
ทั้งใกล้ไกล   ถวายด้วยรักและภักดี
อยู่ใต้ร่มพระบารมีตลอดมา

จะเป็นสุข  เมื่อเห็นทรงเป็นสุข
เมื่อทรงทุกข์  ก็พลอยทุกข์กันถ้วนหน้า
เมื่อโรคภัยทรงมี  มาบีฑา
ก็เหมือนว่าไข้จับทั่วทุกตัวคน

เหมือนเมฆมืดผ่านมาบนฟ้ากว้าง
พยับฝนปิดทางกลางฟ้าหม่น
แถลงการณ์แต่ละครั้งใจกังวล
เฝ้ารอคอยเมฆลอยพ้นหนทางจร

ขอไหว้วอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทุกทิศา
พระสยามและเทวาสโมสร
โปรดดับทุกข์ในหัวอกพสกนิกร
ที่รุมร้อนให้กลับเย็นเช่นก่อนกาล

ถวายกุศลผลบุญเท่าที่มี
ถวายเป็นราชพลีสมัครสมาน
ถวายใจผ่านบรรดาสุมามาลย์
ถวายบทสาธุการมาบูชา

“ณ   ปลายฟ้า”
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 117  เมื่อ 07 ต.ค. 09, 12:21

แด่...ความฝันของคนหนุ่มสาว

1   ชายหนุ่มและหญิงสาว         มีถนนไปสู่ดวงดาวอยู่เบื้องหน้า
ให้เธอบันทึก ถึงเรื่องราวและกาลเวลา      ที่เธอเดินทางมา และมุ่งไป
   เธอมีเรี่ยวมีแรง กล้าปลุกเร้า      หกล้ม ก็ชันเข่า ขึ้นมาใหม่
ด้วยว่าเธอปฏิเสธจะท้อใจ         เมื่ออยู่ในวิถีนักเดินทาง
   เธอมีรุ่งพรุ่งนี้ของชีวิต         โดยรู้ทางรู้ทิศทุกก้าวย่าง
เคยร้าวเคยรอนก็ซ่อนพราง         รู้ปล่อย รู้วาง ในบางที
   เธอมีใจและมีจินตนาการ      เป็นความหวังความหวานซึ่งไหวถี่
เป็นนักสู้ผู้เสพสุนทรีย์            เชื่อมั่นว่ายังมีดอกไม้บาน

2   ซึ่งความงามความฝันจะบรรเจิด      พาไปสู่ความเป็นเลิศในทุกด้าน
จะค่อยเริ่มนฤมิตจิตวิญญาณ         ประสบการณ์ก็จะเกื้อเป็นเชื้อไฟ
สร้างดาวคนละดวงให้ช่วงแสง         ยิ่งไฟแรง ดวงดาวยิ่งวาวไสว
ใช้ความรักเป็นน้ำเลี้ยงกำลังใจ         เดินผ่านดงดอกไม้ลดามาลย์
   เธอจะเขียนคำกวี วาดและไหว      เล่าเรื่องแห่งหัวใจ สวย อ่อนหวาน
ณ คืนวัน ที่ช่วงวัยโชติชวาล         เป็นทิพย์ธารน้ำใสให้ซึมซับ
   มีแสงนิลเนตรแห่งหนึ่งแรงห่วง      ส่องแทนดวงดาวเมื่อดาวเหนือหลับ
มีความรักรินหยาด ระยิบระยับ         เป็นแรงขับ จากใครเพียงหนึ่งคน

3   เธอต้องเติบตนจากต้นกล้า      ผ่านยุคการแสวงหาอันสับสน
พบต้นแบบ ผ่านบทการอดทน         จนรู้เหตุรู้ผลโดยพ้องพาน
   ต้องรู้ ผ่านร้อนและผ่านหนาว      หล่อหลอมจนเป็นหนุ่มสาว กร้าวและกร้าน
หลุดพ้นจากพันธนาการ                         โดยเสรี จะโลดทะยานผ่านกาลเวลา
   เดินทางไปตามความคิดฝัน      ให้ชีวิตมีสีสัน ตามปรารถนา
พบดวงดอกไม้ในดวงตา         ซึ่งจะมาประดอกในดวงใจ
   ขอให้เธอก้าวผ่านและหลุดพ้น      ผ่านถนนของหนุ่มสาวร่วมสมัย
ขอให้เธอมีฝันและมีไฟ            เป็นแรงส่งให้เธอไปถึงดวงดาว

ลงในคอลัมน์ กวีลีลา  นิตยสาร ALL Magazine ปีที่ 4 ฉบับที่ 5 / กันยายน 2552

บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 118  เมื่อ 09 ต.ค. 09, 10:10

          ช่วงนี้หน้าแวดวงหนังสือของ นสพ. เขียนถึงบทกวีของ นภาลัย สุวรรณธาดา (ฤกษ์ชนะ)
ที่ออกอากาศเผยแพร่ทางโทรทัศน์

             นอกจากประเด็นเรื่องคุณค่าของเนื้อหากระแทกใจ และความไพเราะแล้ว ยังมีประเด็นเรื่อง
การนำไปใช้โดยไม่ได้บอกกล่าวขออนุญาต หรือระบุชื่อของผู้แต่งเลย ทั้งที่เป็นการดำเนินการของภาครัฐ
ซึ่งน่าจะรู้ควร ไม่ควร

บทกวีนี้คือ                            
                                          เพลงชาติ

      ธงชาติไทยไกวกวัดสะบัดพลิ้ว
แลริ้วริ้วสลับงามเป็นสามสี
ผ้าผืนน้อยบางเบาเพียงเท่านี้
แต่เป็นที่รวมชีวิตและจิตใจ

      ชนรุ่นเยาว์ยืนเรียบระเบียบแถว
ดวงตาแน่วนิ่งตรงธงไสว
"ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย"
ฟังคราวใดเลือดซ่านพล่านทั้งทรวง

      ผืนแผ่นดินถิ่นนี้ที่พำนัก
เราแสนรักและแสนจะแหนหวง
แผ่นดินไทยไทยต้องครองทั้งปวง
ชีพไม่ล่วงใครอย่าล้ำมาย่ำยี

      เธอร้องเพลงชาติไทยมั่นใจเหลือ
พลีชีพเพื่อชาติที่รักทรงศักดิ์ศรี
เพลงกระหึ่มก้องฟ้าก้องธาตรี
แม้ไพรีได้ฟังยังถอนใจ

      แต่สิ่งหนึ่งซึ่งไทยร้าวใจเหลือ
คือเลือดเนื้อเป็นหนอนคอยบ่อนไส้
บ้างหากินบนน้ำตาประชาไทย
บ้างฝักใฝ่ลัทธิชั่วน่ากลัวเกรง

      ทุกวันนี้ศึกไกลยังไม่ห่วง
แต่หวั่นทรวงศึกใกล้ไล่ข่มเหง
ถ้าคนไทยหันมาฆ่ากันเอง
จะร้องเพลงชาติไทยให้ใครฟัง!


         ข้อมูลระบุว่าบทกลอนนี้แต่งขึ้นในปี ๒๕๑๐ เมื่อครั้งคุณนภาลัยเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  
         เวลาผ่านไปแสนนาน เกิดเหตุการณ์สำคัญในบ้านเมืองหลายครั้งหลายครา กลอนบทนี้ก็ยังคงเป็นที่กล่าวถึงและ
ถูกนำมาใช้กระตุก ปลุกสำนึกคนไทยในวันนี้

ภาพจากนสพ. คมชัดลึก


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 119  เมื่อ 09 ต.ค. 09, 10:15

กิเลน ประลองเชิง เขียนไว้ในไทยรัฐ

กลอน (เพลง) ชาติ

         การเล่นกลอนสด สมัยนี้พอมีประปราย สมัยก่อนกลอนธรรมศาสตร์เป็นมหาอำนาจ มาเสียท่าทีมจุฬาฯ
สมัยคุณ อดุลย์ จันทรศักดิ์ กับคุณปิยะพันธ์ จัมปาสุต ตอนหลัง

         เรื่องลึกๆอย่างนี้ นักกลอนบ้านนอกไม่เคยรู้ ผมก็เพิ่งมารู้ เอาตอนอ่าน ณ กาลเวลา รวมบทกวีของท่านอดุลย์ จันทรศักดิ์
เมื่อสองสามปีมานี่เอง
         ทีมจุฬาฯใช้แม่ไม้...ชิงแชมป์กลอนสดจากธรรมศาสตร์ไปได้อย่างไร เด็กรุ่นใหม่ที่สนใจกลอนอยากได้วิชา
ต้องไปหาหนังสืออ่านกันเอาเอง

         ก็เพิ่งรู้อีกล่ะครับ งานแข่งกลอนสดเลิกไปหลัง 14 ตุลาฯ 16... ผมแปลกใจ วันที่ฟ้าสีทองผ่องอำไพแล้ว...งานแข่งกลอน
สืบสานวิถีชีวิตแบบไทยๆ น่าจะรุ่งโรจน์โชติชัชวาลต่อไปอีก

ทำไม กลับวูบวับดับหายไปเสีย

            ถ้าจะให้เดา...ก็ต้องเดา...เนื้อหาในบทกลอนตอนนั้น มีบางคนอย่าง โฉม ปาริษา เขียนค่อนขาดว่า
"เขียนหาผัวเมียกันเท่านั้นเอง"

หลัง 14 ตุลาฯ แนวกลอนรักหวาน ก็ดูจะเปลี่ยนเป็นแนวกลอนเพื่อชีวิต ถ้าไม่เขียนแบบ
            "คนกับควายทำนาประสาควาย คนกับควายความหมายมันลึกล้ำ" แล้วถือว่าเป็นพวกศักดินาล้าหลัง

แต่เด็กบ้านนอกที่ต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอด ไม่ประสีประสากับการเมืองกับเขาอย่างผม ก็ยังติดอยู่กับท่วงทำนองรักหวานๆ แบบเดิมๆอยู่

              ทวนบท "ลำนำจากเจ้าพระยามากล่อมใจ คิดถึงใครคนหนึ่งซึ่งไม่มี" กลอนยุคแรกๆ ของอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
ทีไร หันมาเขียนกลอนเอง ก็อาย ต้องเลิกเขียนไปเป็นแรมปี

               สุภาพ คลี่ขยาย เขียนถึงกลอนของ "ธารี"  "ความหนาวเย็นรวมตัวเต็มหัวใจ คิดถึงใครคนหนึ่งซึ่งไม่มา"
แล้วตั้งคำถาม "สมองส่วนไหนของเขาหนอ ที่คิดคำเรียงร้อยออกมาได้กินใจถึงปานนี้"

ผมพยายามเทียบเคียง ระหว่างบาท "คิดถึงใครคนหนึ่ง ซึ่งไม่มี" ของเนาวรัตน์ กับ "คิดถึงใครคนหนึ่งซึ่งไม่มา" ของธารี...
ใครไพเราะกว่าใคร...อ่านบาทอื่นๆประกอบแล้ว...ก็ตัดสินไม่ถูก

               ถ้าถามว่า กลอนบทไหน...มีคนอ่านแล้วจำได้มากกว่า "ดอกรักบานในหัวใจใครทั้งโลก แต่ดอกโศกบานในหัวใจฉัน"
ผมเชื่อว่า วรรคทองวรรคนี้ของเฉลิมศักดิ์ ศิลาพร (หยก บูรพา) คะแนนมากกว่า

แต่หากจะวัดกันด้วยเนื้อหา ที่ให้คุณค่าต่อจิตใจคนไทยทุกยุคทุกสมัย กลอนบทหนึ่ง ซึ่งตอนนี้มีเสียงเด็กอ่านออกทีวีทุกวัน

             "ทุกวันนี้ศึกไกลยังไม่ห่วง แต่หวั่นทรวงศึกใกล้ไล่ข่มเหง ถ้าคนไทยหันมาฆ่ากันเอง จะร้องเพลงชาติไทยให้ใครฟัง"

            กลอนของคุณนภาลัย ฤกษ์ชนะ (สุวรรณธาดา) วรรคนี้ เป็นกลอนอมตะ ไม่มีวันตาย ผมเองอ่านมาตั้งแต่สมัยเป็นวัยรุ่น
จนผมหงอกเต็มหัวแล้ว ก็ยังจำได้ไม่เคยลืม

สักปีที่แล้ว ผมเพิ่งเห็นหน้าคุณนภาลัย ในงานกลอนสักวาพระอภัยมณี ที่สวนผักกาด อีกไม่กี่วันต่อมา ก็มีข่าวว่าท่านอดุลย์ จันทรศักดิ์
ซึ่งเล่นสักวาอยู่ด้วย ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ

             ผมไม่รู้ว่าคุณนภาลัยมีงานอื่นที่มีคุณค่าอยู่กี่มากน้อย แต่คนที่เขียนกลอนให้คนจำได้ น้องๆเพลงชาติ...ขนาดนี้
น่าจะได้รับการเชิดชูให้เป็นอะไรๆดีๆ แบบท่านอดุลย์บ้าง

             เนื้อหากลอนบทนี้ ให้ความรู้สึกลึกซึ้งมาก คนที่ จำกลอนบทนี้ได้ ผมเชื่อว่ารักบ้านเมืองมากกว่าคน คนที่ถูกเกณฑ์
ไปร้องเพลงชาติตอนหกโมงเย็นหลายเท่า.

กิเลน ประลองเชิง
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.074 วินาที กับ 19 คำสั่ง