เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
อ่าน: 12842 ๑๐๐ ปี รำลึกรัตน์ เปสตันยี
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


 เมื่อ 16 พ.ค. 08, 16:36

         แต่แรกตั้งใจจะเสนอเป็นเพียงความเห็นรายงานข่าวสั้นๆ แต่เมื่อเรียบเรียงจาก นสพ.บางกอกโพสต์
และจากเว็บต่างๆ แล้ว ปรากกว่ามีเรื่องราวมากพอสมควร จึงขอนำเสนอเป็นกระทู้รวมความ(เรียบ)เรียง
เรื่องของคุณรัตน์  ครับ

           อ่าน นสพ. บางกอกโพสต์ วันนี้ มีบทความเนื่องในวาระครบหนึ่งร้อยปีชาตกาลของคุณรัตน์ เปสตันยี
(Ratana Pestonji - ชื่อตามที่ปรากฏใน imdb.com) ชาตะ  ๒๒ พฤษภาคม ๑๙๐๘

         ผลงานของท่านอยู่ในช่วงปี ๑๙๔๙ (พ.ศ. ๒๔๙๒) ถึง ๑๙๖๔ (พ.ศ. ๒๕๐๗) ทำให้ไม่มีโอกาสได้ชม
ในโรงหนัง
         จำความได้ว่า ตอนเป็นเด็กได้ดูหนังของท่านเรื่องแรกทาง ช่องเจ็ดสี เรื่อง แพรดำ ฉายเป็นรายการสุดท้าย
         แพรดำ เป็นหนังชีวิตคุณภาพ ที่แตกต่างโดดไปจากหนังไทยในยุคนั้น นางเอกไม่ใช่ดาราดังแต่คือลูกสาว
ของคุณรัตน์เอง เนื้อเรื่องเครียดมาก และจบแบบไม่แฮ็ปปี้ เอนดิ้ง
         แต่ความแตกต่างนี้เองที่จูงใจให้ต้องติดตามดูจนดึกดื่นถึงตอนจบอย่างประทับใจ
   
         อีกเรื่องหนึ่งคือ น้ำตาลไม่หวาน ซึ่งเป็นงานชิ้นสุดท้ายของท่าน เรื่องนี้ได้ดูบนจอใหญ่ฉายในวัดที่ต่างจังหวัด
คุณสมบัติ เป็นพระเอกคู่กับคุณเมตตา ท่านทำออกมาเป็นหนัง"แนวตลาด" เบาๆ ตลกๆ ซึ่งใน thaifilm กล่าวว่า
         เป็นงานที่รวบรวมองค์ประกอบของหนังตลาดเข้าไว้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง รัก ตลก โป๊ และเพลงประกอบ
แต่ในเวลาเดียวกันภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เสียดสีการเป็นหนังตลาดได้อย่างเจ็บแสบเช่นกัน

         ผลงานเรื่องอื่นๆ ที่ได้รับการยกย่องและกล่าวถึงที่หลายคนคงคุ้นเคยได้แก่    สันติ วีณา, ชั่วฟ้าดินสลาย, โรงแรมนรก
และ สวรรค์มืด

         สุดท้ายที่ยังจำได้ดีคือข่าวหน้าหนึ่งในวัยเด็กที่กล่าวถึงการจากไปของท่าน เมื่อ ๑๗ ส.ค.๑๙๗๐ ด้วยอาการหัวใจวาย
ขณะที่ท่านกำลังกล่าวเรียกร้องให้รัฐบาลเหลียวแลมาเห็นความสำคัญของหนังไทยที่ท่านรักและทุ่มเท

บทความจากบางกอกโพสต์วันนี้ Remembering the master โดย Kong Rithdee
สดุดีท่านไว้อย่างงดงาม

          Ratana was an experimenter before experimentalism had even arrived
on these shores; New-Wave when there was no old wave; a pioneer despite
reluctance for anyone to follow him to new-found lands.

      คือหนึ่งในศิลปินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาติ ที่ถูกลืม

      ผู้กำกับมีชื่อเป็นเอกกล่าวว่า - there is dignity in all the films he made.


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 16 พ.ค. 08, 16:45

          คุณรัตน์เกิดในครอบครัวเชื้อสายชาวเปอร์เซีย บรรพบุรุษมาจากกรุงเตหะราน เข้ามาค้าขายในไทยกว่าร้อยปี
ท่านเข้ารับการศึกษาจากอัสสัมชัญ แล้วเดินทางไปศึกษาต่อที่อินเดียและอังกฤษ สำเร็จการศึกษาปริญญาวิศวกรรมเครื่องกล
ในปี ๒๔๗๕
          ท่านเริ่มต้นสนใจในการถ่ายภาพตั้งแต่วัยเด็ก ส่งผลงานเข้าประกวดทั้งที่อินเดียและอังกฤษ
ในปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ผลงานหนังสั้นของท่านเรื่อง แตง ได้รับรางวัลอัลเฟร็ด ฮิทช์ค็อคที่กรุงกลาสโกลว และเรื่อง เรือใบสีขาว
ที่นิวยอร์ก (บทความในบางกอกโพสต์ลงรูปท่านถือรางวัลยืนคู่กับ Hitchcock)

         เมื่อกลับมาเมืองไทย ท่านเข้าทำงานที่บริษัทนายเลิศ และบริษัทดีทแฮล์มกว่าสิบปี ก่อนที่ท่านจะได้รับการชักชวน
จากพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ ยุคล แห่งอัศวินภาพยนตร์ให้มาเป็นช่างภาพ (ความจริงต้องเรียกว่า ท่านกำกับภาพถึงจะถูก)
ในหนังเรื่อง พันท้ายนรสิงห์ เมื่อปี ๑๙๔๙
           ต่อมาคุณรัตน์เริ่มต้นทำหนังเรื่องแรกของตัวเองเรื่อง “ตุ๊กตาจ๋า” ในปีพ.ศ.2494 รับหน้าที่ทั้งกำกับการแสดง
เขียนบท และกำกับภาพ โดยใช้บริเวณบ้านที่ถนนวิทยุ เป็นสถานที่ในการถ่ายทำ เมื่อหนังเรื่อง “ตุ๊กตาจ๋า” ออกฉาย
ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เป็นเหตุให้คุณรัตน์ ตั้งโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงมาตราฐาน 35 มม. ในนามบริษัทหนุมานภาพยนตร์
(ท่านเกิดปีวอก) สั่งเครื่องมือจากฮอลลีวู้ดทั้งหมด และ
           สันติ-วีณา คือหนังเรื่องแรก ของหนุมานภาพยนตร์ โดยมีท่านกำกับภาพ, ครูคุณาวุฒิเขียนบท และ ครูมารุตกำกับ
           สันติ วีณา ประสบความสำเร็จอย่างสูงในปี ๑๙๕๕ เมื่อได้เป็นหนังไทยที่ได้เข้าประกวดในเทศกาลภาพยนตร์ที่กรุงเบอร์ลิน
และ ที่ญี่ปุ่น
           - ข้อมูลที่อื่นกล่าวถึงแต่เพียงว่าได้รับ ๓ รางวัลจากงานภาพยนตร์นานาชาติแห่งเอเชียอาคเนย์ที่ญี่ปุ่น เมื่อพ.ศ. ๒๔๙๗
ได้แก่
             รางวัลถ่ายภาพยอดเยี่ยม (รัตน์ เปสตันยี) และรางวัลกำกับศิลป์ยอดเยี่ยม (อุไร ศิริสมบัติ) และ
           ยังได้รางวัลพิเศษจากสมาคมผู้สร้างภาพยนตร์แห่งอเมริกาเป็นกล้อง Mitchell BNC ในฐานะที่เป็นภาพยนตร์
ที่แสดงออกซึ่งวัฒนธรรมและประเพณือันดีงามของชาวตะวันออกให้ชาวตะวันตกได้เข้าใจ

           แต่กลับเป็นการสูญเสียอย่างยิ่งสำหรับวงการหนังไทย เมื่อฟิล์มหนังเรื่องนี้สูญหายไปในความมืดมนของอดีตกาล

           คุณรัตน์เดินทางกลับมาจากญี่ปุ่นพร้อมรางวัลเป็นกล้อง Mitchell และฟิล์มหนัง ทางการต้องการเก็บภาษี
ฟิล์มเนกาถีฟ และ ภาษีกล้องรางวัล (เป็นจำนวนถึง ๕,๐๐๐ เหรียญ จากมูลค่ากล้อง ๑๕,๐๐๐ เหรียญ) ทำให้จำเป็นต้อง
เปลี่ยนจากกล้อง Mitchell BNC เป็นกล้อง Mitchell NC ซึ่งมีราคาถูกกว่าเพื่อนำเงินส่วนต่างนั้นมาชำระค่าภาษีที่เกิน

            อีกบทความกล่าวว่าคุณรัตน์ถูกตำหนิ และโดนปรับ ๑,๐๐๐ บาท ด้วยว่าหนังไทยเรื่องนี้ไม่ได้ผ่านการเซ็นเซ่อร์ของไทย 
(สาเหตุเพราะ คุณรัตน์ทำการตัดต่อหนังที่ญี่ปุ่น เนื่องจากในขณะนั้นยังไม่มีห้องแล็บสำหรับหนัง ๓๕ มม. ในไทย)
          จากจุดภาษีฟิล์มนี้เองที่ทำให้ฟิล์มหนังสำคัญเรื่องนี้ต้องกลายเป็นตำนานที่สูญหาย
บางรายงานกล่าวว่าคุณรัตน์ตัดสินใจส่งฟิล์มจากญี่ปุ่นไปเก็บรักษาที่อังกฤษ แล้วเกิดการสูญหายหรือได้รับความเสียหายขณะขนส่งทางเรือ
อีกรายงานบอกว่าพบฟิล์มไปอยู่ที่รัสเซียและจีน ในปี ๑๙๕๐ แต่ท้ายที่สุดแล้วดูเหมือนว่า หนังเรื่องสันติ วีณา คงจะสูญหายไปจากแผ่นดินไทย
แล้วชั่วฟ้าดินสลาย

สันติ วีณายังเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จทอดพระเนตรรอบปฐมทัศน์           


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 16 พ.ค. 08, 16:54

       ชั่วฟ้าดินสลาย (๑๙๕๕) หนังลำดับต่อมาเป็นอีกผลงานระดับ masterpiece กำกับโดยครูมารุต
คุณรัตน์กำกับภาพและอำนวยการสร้าง บทภาพยนตร์โดย ครูมารุต และ ครูคุณาวุฒิ และ เพลงอมตะจากหนัง
โดย ครูแมนรัตน์ ศรีกรานนท์ พี่ชายของนางเอก - คุณงามตา ศุภพงษ์ คู่กับคุณชนะ ศรีอุบล

         จากผลงานชิ้นเอกทั้งหลายของท่าน ผลงานที่โดดเด่นเป็นเอกน่าจะเป็น แพรดำ ที่ท่านผสมผสาน
สไตล์ avant-garde คลื่นลูกใหม่ของฝรั่งเศส กับหลักธรรมะทางพุทธศาสนาได้อย่างน่าประหลาดใจ
         แพรดำได้เข้าประกวดแต่ไม่ได้รับรางวัลจากเทศกาลหนังนานาชาติที่กรุงเบอร์ลิน ในปี ๑๙๖๑

         Wisit ผู้กำกับฟ้าทะลายโจร ถือว่าหนังเรื่องนี้คือ เพชรยอดมงกุฎของภาพยนตร์ไทย

         It shows that Khun Ratana was not simply a master storyteller, but that he knew
how to use colour, art direction and camera angles to create subtle nuances and
charge the movie with strong emotions.

        ในขณะที่เป็นเอกกล่าวว่า

          If I could choose, I would love to remake Prae Dum.
         It is so, so, so atmospheric and film noir. The shot when the camera pans from
the coffin to the pair of sandles on the floor still gives me a chill. That shot would have
made Hitchcock proud.


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 16 พ.ค. 08, 16:59

             อีกเพชรเม็ดงามของหนังไทย หนังในดวงใจนักวิจารณ์ - โรงแรมนรก

        ภาพยนตร์ขาวดำ ผลงานเขียนบท อำนวยการสร้าง กำกับการแสดง และตัดต่อโดย รัตน์ เปสตันยี ฉายเมื่อ พ.ศ. 2500
ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 35 ม.ม. บันทึกเสียงในฟิล์ม ด้วยเสียงจริงของนักแสดง ในขณะที่ภาพยนตร์ไทยส่วนใหญ่ในขณะนั้น
นิยมถ่ายด้วยฟิล์ม 16 ม.ม. ใช้เสียงนักพากย์ในโรง
        ในปีที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉาย ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้รับความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากความล้ำสมัยของเนื้อหา และ
การนำเสนอตัวละครที่ฉีกแนว ตัวพระ-นาง มีความแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ไม่ซ้ำซากจำเจเหมือนเรื่องอื่น และบทภาพยนตร์
ที่เขียนขึ้นมาสำหรับภาพยนตร์โดยเฉพาะ ที่เรียกว่า original screenplay ไม่ได้นำเนื้อเรื่องมาจากนวนิยาย
ที่มีความนิยมอยู่ก่อนแล้ว

       บทหนังของ “โรงแรมนรก” มีคุณสมบัติดังกล่าวอย่างครบถ้วน และยังท้าทายขนบของการสร้างเรื่องและบทในตอนนั้น-
ด้วยการจำกัดสถานการณ์ให้อยู่แต่เฉพาะภายในโรงแรม ซึ่งว่าไปแล้ว ไม่ค่อยมีใครกล้าทำ(แม้ในปัจจุบัน)
      มองในแง่มุมหนึ่ง หนังอาจจะมีลักษณะใกล้เคียงกับละครเวทีที่ตัวแสดงผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้า-ออกในฉากเดียวกัน
แต่ ทักษะในทางภาพยนตร์ของรัตน์-ก็ทำให้ผู้ชมไม่เกิดความรู้สึกอย่างนั้น ดังจะเห็นว่าในหลายครั้งหลายครา หนังแทบจะไม่ได้
พึ่งพาบทสนทนา หรือการแสดงของนักแสดง และถ่ายทอดสิ่งที่ต้องการบอกเล่าด้วยภาษาด้านภาพล้วนๆ

       หลายฉากในภาพยนตร์ ยังแสดงถึงอารมณ์ขันของผู้สร้าง ที่มีการล้อเลียนภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวถึง
เรื่อง สุภาพบุรุษเสือไทย หรือแม้แต่ ชั่วฟ้าดินสลาย ของตัวผู้กำกับเอง และเสียดสีวิถีชีวิตของผู้คนในสมัยนั้น

อ่านบทความเรื่องโรงแรมนรก โดยประวิทย์ แต่งอักษรได้ที่

          http://www.thaifilm.com/thaiFilmDetail.asp?id=11

       และนับเป็นเรื่องใหญ่ที่น่ายินดีอย่างยิ่งสำหรับคนรักหนังไทย เมื่อหอภาพยนตร์แห่งชาติได้รับมอบภาพยนตร์ไทย
ขนาด 35 มิลลิเมตรที่สร้างในราวปี พ.ศ. 2500-2512 (ซึ่งเป็นช่วงที่ภาพยนตร์ไทยยังนิยมถ่ายทำด้วยฟิล์มขนาด 16 มิลลิเมตร)
จากห้องแล็บของบริษัทแรงค์ แลบอราทอรี่ส์ของอังกฤษประมาณยี่สิบเรื่องด้วยกัน ในราวปี พ.ศ. 2538 ซึ่งรวมถึงผลงานชิ้นเอก
เรื่อง โรงแรมนรก และแพรดำ ที่ทำให้เราได้มีโอกาสชื่นชมงานชิ้นเอกทั้งสองในวันนี้

          โดม สุขวงศ์แห่งหอภาพยนตร์ไทย กล่าวว่า

          ในช่วงเวลานั้นผลงานของท่านไม่ประสบความสำเร็จทางรายได้ ท่านสร้าง โรงแรมนรกเป็นหนังขาวดำในขณะที่
หนังไทยทุกเรื่องในขณะนั้นเป็นหนังสี นอกจากนี้ท่านยังใช้ระบบบันทึกเสียงแบบซาวนด์ ออน ฟิล์ม ในยามที่คนดูชอบหนังพากย์
โดยนักพากย์ชื่อดัง
           คุณรัตน์ได้ทำในสิ่งที่เป็นอุดมคติตามความเชื่อของท่าน   

สองนักแสดงนำที่คงยังจำกันได้ ใน โรงแรมนรก


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 16 พ.ค. 08, 17:02

         หลังจากเรื่อง "น้ำตาลไม่หวาน" แล้ว คุณรัตน์ได้ยุติการสร้างภาพยนตร์ด้วยเหตุผลทางด้านสุขภาพ และ
ความเบื่อหน่ายในการขอคิวดารา ทำให้หลังจากนี้ไม่มีผลงานภาพยนตร์ออกมาอีก นอกจากหนังเรื่องแล้ว คุณรัตน์ยังได้
ผลิตหนังสารคดีให้กับหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งผลิตหนังโฆษณาป้อนโรงหนังต่าง ๆ ด้วย
 
          คุณสันต์บุตรชายกล่าวถึงบิดาว่า   What I remember best about him is how he told us that
no matter what we wanted to do in life, just put our hearts into it and give it all we've got.

        Phannee Trangkhasombat  ลูกสาวและนางเอกหนังเรื่องแพรดำเล่าว่า

(จากบทความ The Man Who Died for his Art โดย Anchalee Chaiworaporn)
 
         “Even as a boy Dad was completely in love with his camera,”
           “I was told he used to dismantle and reassemble his camera so often that
grandfather decided to send him to London University to do engineering.”

           เมื่อท่านมาทำหน้าที่กำกับภาพใน พันท้ายนรสิงห์

             “Dad was almost killed during the shoot,”  เมื่อท่านพยายามจะเก็บภาพมุมกล้องที่สำคัญที่สุด
ในตอนไคลแมกซ์ของเรื่อง 
             “…he was nearly crushed by a ship – he always went after the perfect.
He managed to leap out of the way at the last moment, cradling his camera like a newborn baby.”


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 16 พ.ค. 08, 17:06

           สุดท้ายของศิลปินเพื่อศิลปะที่ท่านรัก -

          แม้ท่านไม่ได้สร้างหนังเรื่องแล้ว คุณรัตน์ เปสตันยี ยังคงเป็นแกนนำในการเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาสนใจปัญหา
ที่ผู้สร้างภาพยนตร์ไทยกำลังเผชิญอยู่ ขอให้สนับสนุนภาพยนตร์ไทยในฐานะที่เป็นอุตสาหกรรมอย่างหนึ่งด้วย และยังเป็น
ผู้มีส่วนร่วมในการก่อตั้งสมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์แห่งประเทศไทยด้วย
 
            เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ.2513 ณ ห้องเมธี โรงแรมมณเฑียร กรุงเทพฯ สมาคมผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ฯ
ได้เชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ และข้าราชการระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย
มาร่วมประชุม เพื่อหาข้อสรุปว่ารัฐบาลจะให้การช่วยเหลือภาพยนตร์ไทย
          ผู้เข้าร่วมประชุมหลายคนผลัดกันพูด คุณรัตน์ขออนุญาตลุกขึ้นพูดเป็นคนสุดท้าย
แต่ด้วยความอัดอั้นและคับข้องใจที่เผชิญมาตลอดเวลาที่ทำงาน เป็นเหตุให้เกิดอาการหัวใจวายล้มลงกลางที่ประชุม และ
เสียชีวิตเมื่อเวลา 22.18 น. ที่โรงพยาบาลจุฬา

บทความ The Man Who Died for his Art โดย Anchalee Chaiworaporn
เล่าเหตุการณ์นี้ เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๑๓ โรงแรมมณเฑียร เวลาบ่ายสามโมง ท่านขึ้นพูดเป็นคนสุดท้ายว่า 

              “When I first started out in the movie business,” 
“Sadet Ong Chai Yai - Prince Bhanu Yugala had just hired me as a cameraman for
a film he wanted to shoot called Phanthaay Norasingh .
            I've spent every baht I ever earned on my productions and now I have to make adverts
just to survive. The foreign film distributors have been preying on Thai cinemas. ….”

              Rattana faltered. Then, in full view of the horrified audience, he crumpled to the floor,
unconscious. Unable to revive him, Rattana's friends rushed him to nearby Chulalongkorn Hospital .
He died three an hour later of a massive coronary.(โรคหลอดเลือดหัวใจ)

            But Rattana's martyrdom didn't help the cause that much. The Thai film community was
energetic for just a short while and the industry is in the same shambles it has always been.
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 16 พ.ค. 08, 17:09

ภาพยนตรานุกรม

2493  พันท้ายนรสิงห์ 16 มม. (ถ่ายภาพ)
2494  ตุ๊กตาจ๋า 16 มม. (อำนวยการสร้าง, กำกับการแสดง, เขียนบท, กำกับภาพ)
2497  สันติ-วีณา 35 มม. (อำนวยการสร้าง, กำกับภาพ)
2498  ชั่วฟ้า-ดินสลาย 35 มม. (อำนวยการสร้าง, กำกับภาพ)
2500  โรงแรมนรก 35 มม. (อำนวยการสร้าง, กำกับการแสดง, เขียนบท, ลำดับภาพ)
2501  สวรรค์มืด 35 มม. (กำกับการแสดง)
2504  แพรดำ 35 มม. (อำนวยการสร้าง, กำกับการแสดง, เขียนบท, กำกับภาพ, ลำดับภาพ)
2507  น้ำตาลไม่หวาน 35 มม. (อำนวยการสร้าง, กำกับการแสดง, เขียนบท, ถ่ายภาพ)

ภาพยนตร์สารคดี (ผลิตให้กับกรมศิลปากร)

2501 ธรรมจักร (ถ่ายภาพ)
2501 ไทยแลนด์ (ถ่ายภาพ)
2501 นิ้วเพชร (ถ่ายภาพ) โขนรามเกียรติ์ตอนนนทุกข์ มีข้อมูลว่าได้เข้าประกวดหนังสั้นที่กรุงเบอร์ลินด้วย

       นอกจากนี้ยังมี หนัง  50 YEARS OF DIETHELM บริษัทที่ท่านเคยทำงานเมื่อจบการศึกษาแล้วกลับมาเมืองไทย
และ   สุรา (BEVERAGES) หนังแสดงขบวนการผลิตสุราในโรงงาน ที่ท่านถ่ายทำให้บริษัทเอกชน

        มูลนิธิหนังไทย ได้ทำการจัดตั้งกองทุนรางวัลรัตน์ เปสตันยี ขึ้นเพื่อเป็นเครื่องรำลึกถึง "รัตน์ เปสตันยี" นักสร้างภาพยนตร์ไทย
ในฐานะผู้บุกเบิก ให้ภาพยนตร์ไทย ได้เป็นที่รู้จักของต่างประเทศ โดยจะมีการประกาศผลรางวัล ในวันที่ 17 สิงหาคมของทุกปี
ในฐานะที่เป็นวันคล้ายวันเสียชีวิตของรัตน์ เปสตันยี เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ.2513

ผลงานของท่านที่สามารถหาชมได้จากดีวีดี ได้แก่

    โรงแรมนรก - หนังในดวงใจนักวิจารณ์ นักดูหนังหลายคน

    สวรรค์มืด - หนังเพลงจากบทละครของคุณสุวัฒน์ วรดิลก นำแสดงโดยคุณสุเทพ วงศ์กำแหง 

    ชั่วฟ้าดินสลาย

และมูลนิธิหนังไทย ยังมีโครงการออกดีวีดีเรื่อง แพรดำ และ น้ำตาลไม่หวาน รวมทั้งเรื่อง ตุ๊กตาจ๋า ซึ่งเป็นหนัง ๑๖ มม.
พร้อมเสียงพากย์
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 16 พ.ค. 08, 17:13

งานรำลึก ๑๐๐ ปี รัตน์ เปสตันยี

       ...รัตน์ เปสตันยี ถือเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ไทยที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติคนแรกของไทย และ
เป็นแรงบันดาลใจของผู้กำกับรุ่นใหม่ อย่าง วิศิษฎ์ ศาสนเที่ยง และเป็นเอก รัตนเรือง
         ในวาระสุดท้าย ท่านได้ต่อสู้เรียกร้องให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ นับว่ารัตน์ เปสตันยี
มีคุณูปการอย่างยิ่งต่อวงการภาพยนตร์ไทยมาโดยตลอด

         ...ดังนั้น ในโอกาสที่ ปี พ.ศ.2551 เป็นวาระครบ 100 ปี เกิดของ รัตน เปสตันยี (22 พฤษภาคม 2451)
หอภาพยนตร์แห่งชาติ และมูลนิธิหนังไทย ฯ จึงขอร่วมจัดโครงการ 100 ปี รัตน์ เปสตันยี ด้วยการจัดกิจกรรมรำลึก
ต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพื่อเป็นการเผยแพร่เกียรติคุณและผลงานของท่านสู่สาธารณชน

          ...ทางคณะผู้จัดงานจึงใคร่ขอเรียนเชิญท่านร่วมเป็นเกียรติในงาน 100 ปี รัตน์ เปสตันยี
ในวันพฤหัสบดี 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 เวลา 16.00 – 20.00 น. ณ หอภาพยนตร์แห่งชาติ ศาลายา
โดยมีกำหนดการงานดังนี้


16.00 น. - ลงทะเบียน และร่วมเข้าชมพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทยในส่วนที่เกี่ยวกับ รัตน์ เปสตันยี

17.00 น. - ร่วมเป็นเกียรติและสักขีพยาน ในการพิมพ์มือและพิมพ์เท้าของดาราในภาพยนตร์ของรัตน์ เปสตันยี

18.00 น. - แถลงข่าวรายละเอียด โครงการ 100 ปี รัตน์ เปสตันยี และร่วมชมภาพยนตร์สารคดีชีวประวัติรัตน์ เปสตันยี

19.30 น. - รับของชำร่วย และเดินทางกลับบ้านโดยสวัสดิภาพ


        ...ภายในงานท่านจะพบกับ ศิลปินแห่งชาติ อย่าง คุณแท้ ประกาศวุฒิสาร, คุณชาลี อินทรวิจิตร และคุณสุเทพ วงศ์กำแหง
ซึ่งเป็นนักแสดงนำในเรื่อง "สวรรค์มืด" ด้วย, รวมทั้งนักแสดงท่านอื่นอย่าง คุณอรสา อิศรางกูร ณ อยุธยา และ ผู้กำกับภาพยนตร์รุ่นใหม่
อย่าง วิศิษฎ์ ศาสนเที่ยง (ฟ้าทะลายโจร และ เป็นชู้กับผี) และครอบครัวของคุณรัตน์ เปสตันยี

        ...หากท่านสนใจเข้าร่วมในงานดังกล่าว กรุณาแจ้งความจำนงหรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ มูลนิธิหนังไทยฯ โทร 02-800-2716
 
http://www.popcornmag.com/bbs/index.php?showtopic=4579&mode=threaded&pid=33200   


บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 16 พ.ค. 08, 19:41

ขอบคุณครับ
หนังสือพระราชทานเพลิงศพของท่าน เป็นรายงานสภาวะภาพยนตร์ไทย ที่เสนอกระทรวงเศรษฐการ(สมัยนั้นดูแลเรื่องการค้า)
เป็นเอกสารที่ท่านเอาชีวิตแลกมา
และท่านก็ตายเปล่า

คุณรัตน์ เป็นช่างภาพฝีมือดีอีกด้วย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 17 พ.ค. 08, 04:47

คุณรัตน์ เป็นคนเก่งที่เกิดเร็วไป   ถ้าหากว่าเกิดในยุคนี้ อาจจะพบทางออกตามที่มุ่งหมายได้  แต่คุณรัตน์ก็ทำสำเร็จอย่างหนึ่ง
คือสร้างตำนานให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ และภูมิใจที่มีคนอย่างท่านในวงการหนังไทย
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 19 พ.ค. 08, 16:42

         เพิ่มเติมเรื่องราวที่ได้จากเน็ท ครับ

         ใน wikipedia กล่าวถึงประวัติคุณรัตน์ว่า  สืบเชื้อสายชาว 'parsi' ซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ในอินเดีย
         โดยที่ชาว parsi นี้สืบสายมาจาก Persian Zoroastrians ซึ่งได้อพยพเข้ามาอยู่ในอินเดีย
เมื่อกว่า ๑,๐๐๐ ปีมาแล้ว

          หอภาพยนตร์แห่งชาติ ที่ศาลายา ได้เลือกอาคารโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุง ของพี่น้องตระกูลวสุวัต
ผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมภาพยนตร์สำคัญของประเทศ เป็นต้นแบบในการสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์
 
        เพราะเป็นโรงถ่ายภาพยนตร์เสียงมาตรฐานแห่งแรกของประเทศ และยังเป็นอาคารที่มีความงดงามสมบูรณ์
ทางสถาปัตยกรรมออกแบบโดย โปรเฟสเซอร์ อี มันเฟรดี สถาปนิกชาวอิตาลี
        โรงถ่ายนี้ก่อสร้างสำเร็จและเปิดใช้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๘ อยู่กลางทุ่งบางกะปิ ริมถนนกรุงเทพ-สมุทรปราการ
ซึ่งต่อมาคือบริเวณปากซอยอโศก ถนนสุขุมวิท 

รูปจาก khonshop.com       


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 19 พ.ค. 08, 16:45

          หอภาพยนตร์นี้ มีหุ่นขี้ผึ้งคุณรัตน์และกล้องถ่ายภาพยนตร์มิทเชลล์ที่ได้รางวัลตัวนั้น

รูปจากwww.mis.nu.ac.th


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 19 พ.ค. 08, 16:48

         ฉากจำลองจากภาพยนตร์เรื่องโรงแรมนรก

รูปจาก  mayneemore.spaces.live.com


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 19 พ.ค. 08, 16:51

       คำบรรยายว่าเป็น หอเกียรติยศ, ดูแล้วเห็นเป็นภาพถ่ายฮิทช์ค็อคกับคุณรัตน์
เมื่อครั้งรับรางวัลหนังสั้นที่อังกฤษ  อยู่ด้านหลัง


บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 19 พ.ค. 08, 19:54

โปรเฟสเซอร์ อี มันเฟรดี
ต่อมาได้เปลี่ยนมาใช้นามสกุลไทยว่า
หมั่นเฟ้นดี

ดูเหมือนลูกท่านก็เป็นสถาปนิกด้วย
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.059 วินาที กับ 19 คำสั่ง