เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 6
  พิมพ์  
อ่าน: 35355 ตามรอย หัวจักรรถสายปากน้ำ
ปากน้ำเจ้าพระยา
มัจฉานุ
**
ตอบ: 163


เว็บไซต์
 เมื่อ 26 เม.ย. 08, 08:29

รถไฟสายปากน้ำ ทางรถไฟสายแรกของประเทศไทย

             วันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ.  ๒๔๓๖ (ร.ศ. ๑๑๒)  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน  โดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี กลับจากการแปรพระราชฐาน ณ เกาะสีชัง ทอดเรือเพื่อทรงสักการบูชา องค์พระสมุทรเจดีย์ แล้วเสด็จทางเรือกรรเชียง เพื่อทรงประกอบพิธีเปิด บริการรถไฟสายปากน้ำ

“……..เรามีความหวังใจว่า ท่านทั้งปวงคง จะมีความยินดีเหมือนตัวเรา ในการที่ได้เห็นรถไฟปากน้ำ ตั้งขึ้นในครั้งนี้ เราขอให้ท่านทั้งปวง ดื่มเพื่อความเจริญ การค้าขาย และความตั้งมั่นของบริษัทรถไฟแห่งนี้………….”
 
   เมื่อทรงเจิมที่หัวจักรรถไฟ แล้วเสด็จขึ้นประทับบนขบวนรถไฟพระที่นั่ง พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ 

 “……พอเวลา ๕ โมงเช้า นายกล เปิดหวูดใช้รถจักร แล่นรถไฟจูงรถพระที่นั่ง ขึ้นมาตามทางรางเหล็ก จากสะเตชั่นปากน้ำ ถึงสะเตชั่นที่พักหัวลำโพง เวลาเช้า ๕ โมง ๔๕ นิมิต…”
 
นายกล ผู้ควบคุมขบวนรถไฟครั้งนั้น คือ นายกอร์ชเช ที เอ
รถจักร หัวรถจักรพลังไอน้ำ นำเข้าจากประเทศเยอรมัน
บันทึกการเข้า
ปากน้ำเจ้าพระยา
มัจฉานุ
**
ตอบ: 163


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 26 เม.ย. 08, 08:38

             กว่าสิบปี ผมได้พยายามค้นคว้าเกี่ยวกับหัวจักรรถไฟสายปากน้ำดั้งเดิม ที่ผมสงสัยมาตลอดว่า น่าจะยังคงมีซากหลงเหลืออยู่ หัวรถจักรไอน้ำเหล่านี้ ก็คือ ชิ้นส่วนสำคัญของรถไฟสายแรกของประเทศไทย ที่วิ่งให้บริการระหว่างกรุงเทพฯ ไปยังปากแม่น้ำเจ้าพระยา เมืองสมุทรปราการ บริหารงานโดยบริษัทเอกชน ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้การค้นหาซากรถไฟเก่า ทำได้ยากขึ้น ด้วยเพราะไม่มีประวัติอยู่ในการรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัทเอกชน เมื่อเลิกกิจการแล้ว ก็ขายทอดตลาดไปเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ เพื่อเปลี่ยนเป็นรถรางไฟฟ้า

             จากข้อมูลเบื้องต้นนั้น รถไฟสายปากน้ำ มีหัวจักรไอน้ำ ไว้ใช้งานทั้งหมด ๔ หัวจักร ทั้งหมดสร้างโดยบริษัท กร๊อส แอน คอมประนี จากเมืองมิวนิค ประเทศเยอรมัน หัวจักรที่หนึ่ง และสอง เป็นรุ่น 0-4-0Ts (ผลิตในปี พ.ศ. ๒๔๓๕) หัวจักรที่สามเป็นรุ่น 2-4-0T (ผลิตในปี พ.ศ. ๒๔๓๙) และหัวจักรที่สี่ เป็นรุ่น 2-4-0T (ผลิตในปี พ.ศ. ๒๔๕๑)

 


บันทึกการเข้า
ปากน้ำเจ้าพระยา
มัจฉานุ
**
ตอบ: 163


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 26 เม.ย. 08, 08:42

           จนในที่สุด ก็ได้รับข้อมูลสำคัญจาก มิสเตอร์ริชาร์ต บาร์โรว ฝรั่งที่อาศัยอยู่ในเมื่อไทย จนทำให้ผมได้ถ่ายภาพหัวจักรโบราณรูปนี้ หัวจักรที่ผมค้นพบนี้ เป็นหัวจักรเครื่องที่ ๔ มีชื่อทางการว่า “สำโรง” (แค่ชื่อ ก็ทำให้เราทราบที่มาแล้วนะครับ) ที่น่าตื่นเต้นก็คือ หัวจักรนี้ยังมีเครื่องยนต์ที่อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ทาสีใหม่จนสวย และคิดว่าน่าจะยังสามารถใช้งานได้

           


บันทึกการเข้า
ปากน้ำเจ้าพระยา
มัจฉานุ
**
ตอบ: 163


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 26 เม.ย. 08, 09:07

            เพื่อความแน่ใจ ด้วยเพราะมีชาวปากน้ำที่ทราบข่าวแล้ว อยากได้หัวจักรหัวนี้กลับมาตั้งที่หน้าสถานีปากน้ำเดิม เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ชนรุ่นหลัง ผมมีรูปเพิ่ม ๑ รูป ที่ถ่ายได้จากภายในตัวหัวจักรที่ค้นพบ แต่เป็นภาษาที่ผมอ่านไม่ออก เรียนผู้ที่ทราบช่วยแปลให้ด้วยนะครับ เพราะปีที่เห็นนั้น ขัดกับปีที่ผลิต (ผลิตปี พ.ศ. ๒๔๕๑ หรือ ปี 1908) ส่วนปีที่เห็นตามภาพเป็น 1925 จึงอยากถามความหมายของภาพทั้งหมดครับ


บันทึกการเข้า
ปากน้ำเจ้าพระยา
มัจฉานุ
**
ตอบ: 163


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 28 เม.ย. 08, 12:27

           ๓ ปีที่ผ่านมา เคยติดต่อไปที่ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ในสังกัดศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา กรมการศึกษา นอกโรงเรียน เพราะมีผู้พบซากรถไฟ และหัวจักรรถไฟ รถไฟสายปากน้ำ ที่ตั้งอยู่ข้างกองขยะด้านหลังบริเวณศูนย์ฯ จึงต้องใช้เวลาตรวจสอบอยู่นาน ก็ได้ความว่า ซากหัวจักรรถไฟดังกล่าว เป็นหัวจักรใช้ในกิจการรถไฟกรุงเทพฯ - มหาชัย ไม่ใช่ของรถไฟสายปากน้ำ
           ที่ต้องติงอยู่เล็กน้อย ก็คือ ซากหัวจักรไอน้ำสายมหาชัยนั้น ไม่ได้รับการดูแลได้ดีเท่าที่ควร ทั้งยังกองเป็นซาก อยู่บริเวณที่ทิ้งขยะของท้องฟ้าจำลอง ดังภาพข้างล่าง



บันทึกการเข้า
ปากน้ำเจ้าพระยา
มัจฉานุ
**
ตอบ: 163


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 28 เม.ย. 08, 12:35

อีกภาพ เป็นซากขบวนโบกี้
โบกี้ด้านหลัง เป็นโบกี้ทำด้วยไม้ หลังคาโค้ง ที่เป็นของที่หายากมาก
แต่ตั้งอยู่ในที่ ไม่เหมาะสมเช่นกัน



บันทึกการเข้า
pakun2k1d
พาลี
****
ตอบ: 285


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 29 เม.ย. 08, 06:58

เข้ามาเป็นกำลังใจในการติดตามค่ะ
บันทึกการเข้า
ปากน้ำเจ้าพระยา
มัจฉานุ
**
ตอบ: 163


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 29 เม.ย. 08, 11:46

   นิราศรถไฟสายปากน้ำ

             ช่วงที่มีการเปิดทำการรถไฟได้เพียง ๘ วัน มีผู้แต่งนิราศรถไฟสายนี้ขึ้น โดยได้ขยายความรายละเอียดการเดินทางตลอดเส้นทาง ผู้แต่งนิราศเป็นพระภิกษุชื่อ แดง จำพรรษาอยู่วัดสระเกศ แต่งเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๖ พระแดงได้พรรณนาถึงการทำงานของหัวจักรขบวนรถไฟสายปากน้ำ ไว้ตอนหนึ่งว่า
    
   “…แต่ตัวรถกลไฟไม่ใหญ่นัก   มีเครื่องจักรเรี่ยวแรงดูแข็งขัน
อินทเนียเป็นฝรั่งชั่งน้ำมัน      เจ้าแขกนั้นที่รองอีกสองคน
แต่รถพ่วงกลไกวิลัยล้ำ         มีประจำหกหลังฟังนุสนธ์
เจ็ดทั้งรถฟืนน้ำตามยุคล         เขาพ่วงชนติดจรดกับรถไฟ….”

   พอสรุปได้ว่ารถไฟสายปากน้ำนี้ มีขบวนทั้งหมด ๗ หลัง เป็นโบกี้ผู้โดยสาร ๖ โบกี้ ที่เหลือเป็นส่วนหัวจักรไอน้ำที่พ่วงลากอยู่ด้านหน้า ใช้พนักงานที่เป็นฝรั่งซึ่งเป็นวิศวกร ชื่อ นายกอร์ชเช ที เอ และพวกแขกขนฟืนใส่หัวจักรสองคน 

             ค่าโดยสารคิดระยะสถานีละ ๑ เฟื้อง จากสถานีหัวลำโพง รถจะหยุดรับส่งผู้โดยสารที่ศาลาแดง บ้านกล้วย (กล้วยน้ำไท ในปัจจุบัน) พระโขนง บางนา สำโรง ศีรษะจระเข้ (หัวตะเข้) บางนางเกรง มหาวงษ์ แล้วก็ไปสิ้นสุดปลายทางที่สถานีปากน้ำ 
บันทึกการเข้า
ปากน้ำเจ้าพระยา
มัจฉานุ
**
ตอบ: 163


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 29 เม.ย. 08, 11:59

           สถานีต้นทาง มีชื่อเรียก สถานีหัวลำโพง ถ้าฟังผ่านๆ ก็น่าจะเป็นสถานีใหญ่โค้งที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่งทำให้ผมต้องเป๋ไปเป๋มาอยู่นาน หาหลักฐานไม่ได้ เจ้าหน้าที่สถานีก็ยืนยันว่า ไม่เคยมีรถไฟสายปากน้ำอยู่ที่นั่น สุดท้ายเมื่อมองไปที่ป้ายจริงๆ ชื่อสถานีที่เราเรียกว่าหัวลำโพงในปัจจุบัน กลับใช้ชื่อว่า "สถานีรถไฟกรุงเทพฯ"

           สถานีหัวลำโพงแท้จริง ที่เป็นต้นทางรถไฟสายปากน้ำนั้น อยู่ฝั่งตรงกันข้าม เป็นสถานีเอกชน ที่ตั้งอยู่ริมคลองหัวลำโพง ข้างถนนที่ชื่อ ถนนตรง ปัจจุบัน ทั้งตัวสถานี และคลองหัวลำโพง ถูกถมเพื่อขยายถนนตรงให้กว้างขึ้น เปลี่ยนชื่อเป็น ถนนพระราม ๔



บันทึกการเข้า
ปากน้ำเจ้าพระยา
มัจฉานุ
**
ตอบ: 163


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 29 เม.ย. 08, 12:14

           จากสถานีหัวลำโพง หัวจักรต้องลากผ่าน ๑๐ สถานี เลียบถนนตรง เลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อไปออกบางนา ปัจจุบัน เรียก ถนนทางรถไฟสายเก่า จากบางนาเข้าสำโรง เรียกถนนรถรางสายปากน้ำ เข้าถนนสุขุมวิท เข้าตลาดเมืองสมุทรปราการ ในนิราศของพระแดง เขียนไว้ว่า

“…ถึงโรงใหญ่สังกะสีเป็นที่พัก                ฝ่ายรถจักรจอดพลันนึกหรรษา
หยุดตรงป้อมหน้าเมืองเรืองศักดา      ที่พลับพลาริมน้ำหมดความทาง…”

ป้อมหน้าเมือง   คือ  ป้อมประโคนชัย ป้อมที่ปากน้ำ
หน้าเมือง         คือ  หน้าศาลาว่าการเมืองสมุทรปราการ
พลับพลาริมน้ำ  คือ  พลับพลารับเสด็จ ยามเสด็จรถไฟสายปากน้ำ

ภาพ ครั้งเมื่อเปลี่ยนจากหัวจักรไอน้ำ กลายเป็นรถไฟฟ้าแล้ว






บันทึกการเข้า
ปากน้ำเจ้าพระยา
มัจฉานุ
**
ตอบ: 163


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 29 เม.ย. 08, 13:20

เป็นเวลานับร้อยปีมาแล้ว ที่เรามีรถไฟฟ้าวิ่งมาถึงปากน้ำ แต่มีการหยุดกิจการเมื่อห้าสิบปีก่อน

คนปากน้ำ ที่กำลังเฝ้ารอรถไฟฟ้า ค่อยๆขยับที่ละคืบทีละซอย
จนมาสุดอยู่หน้าซอยแบริ่ง (สุขุมวิท 107) จะมาถึงปากน้ำอีกที
เมื่อไหร่ก็ไม่กล้าคำนวน (การเมืองมันยุ่งเหลือเกิน)


บันทึกการเข้า
ปากน้ำเจ้าพระยา
มัจฉานุ
**
ตอบ: 163


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 30 เม.ย. 08, 23:02

ผมลืมขอบคุณ คุณ pakun2k1d ที่เป็นกำลังใจให้นะครับ


ชีวิตการใช้งานในช่วงร้อยปี             

           การก่อสร้างทางรถไฟสายปากน้ำ ในช่วงแรกนั้นเกิดปัญหาทั้งทางการเงิน และการเวนคืนที่ดิน ทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างล่าช้า จนกระทั่งเมื่อเกิดเหตุวิกฤติ ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส (ร.ศ. ๑๑๒) รุนแรงขึ้น รัชกาลที่ ๕ จึงต้องทรงเร่งรัด และทรงช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยพระองค์เอง ด้วยทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า จะต้องตระเตรียมรถไฟไว้สำหรับการขนส่งกำลังพล และยุทธปัจจัย ไปตั้งมั่นที่ปากน้ำเจ้าพระยา

              และแล้วเหตุการณ์ก็เป็นไปดังที่พระองค์ท่าน ทรงคาดการณ์ไว้ หลังจากที่มีการเปิดบริการรถไฟสายปากน้ำได้ ๓ เดือน ฝรั่งเศสก็ส่งเรือรบบุกเข้ามา จนเกิดการสู้รบกันที่ปากน้ำเจ้าพระยา (๑๓ ก.ค. ๒๔๓๖) การรบที่ปากน้ำเป็นไปอย่างดุเดือด จนเมื่อเรือรบฝรั่งเศสเลยเข้ามาถึงหน้าเมืองสมุทรปราการ ก็เกิดการยิงต่อสู่กัน ระหว่างป้อมผีสื้อสมุทรซึ่งอยู่ตรงข้ามสถานีปากน้ำ กับเรือรบฝรั่งเศส ปรากฏว่าหัวจักรรถไฟขบวนสุดท้ายในคืนนั้น ถูกลูกหลง จากปืนไม่ทราบว่าของฝ่ายไทยหรือฝ่ายฝรั่งเศส มีผู้โดยสารเสียชีวิตหนึ่งราย บาดเจ็บหนึ่งราย และมีแม่เฒ่าหัวใจวาย เสียชีวิตไปอีกหนึ่งราย
               
               บริษัทรถไฟปากน้ำ ได้รับสัมปทานรถไฟสายปากน้ำ เป็นเวลา ๕๐ ปี โดยสิ้นสุดการดำเนินการในปี ๒๔๗๙ ช่วงระยะเวลา ๕๐ ปี มีรายงานการล้ม (ตกราง) เท่าที่มีหลักฐานจากหนังสือจดหมายเหตุอย่างต่ำ ๓ ครั้ง 

             




 
บันทึกการเข้า
ปากน้ำเจ้าพระยา
มัจฉานุ
**
ตอบ: 163


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 30 เม.ย. 08, 23:15

             จากหนังสือ “The Railways of Thailand” เขียนโดย R. Ramer จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ White Lotus ผู้เขียน (R. Ramer) เคยเข้ามาทำงานในเมืองไทยในช่วงปี ๒๕๐๐ ให้ข้อมูลเรื่องหัวจักรรถไฟสายปากน้ำ ไว้ว่า หัวจักรรถไฟปากน้ำนั้น มีทั้งหมด ๔ เครื่อง แต่ทราบเพียงว่าหัวจักรเครื่องที่ ๓ ชื่อ บางจาก ส่วนหัวจักรเครื่องที่ ๔ ชื่อ สำโรง

                ที่สามารถติดตามได้ ก็เห็นจะเป็นเจ้า "สำโรง" ครับ เพราะจากข้อมูลคุณ Ramer มีอยู่ว่า

                หลังจากการหมดสัญญา บริษัทรถไฟปากน้ำได้ขายหัวจักรไอน้ำ "สำโรง" ให้กับ บริษัทฮิปเส็ง (Heip Seng) ซึ่งเป็นเจ้าของโรงเลื่อย ไว้ขนส่งไม้จากภาคเหนือ  หัวจักร "สำโรง" ถูกใช่งานอย่างหนัก จากที่เคยขนส่งผู้โดยสารวันละ ๖ เที่ยว ต้องมาขนส่งท่อนซุง และไม้ต่างๆ จากภาคเหนือตลอดทั้งวันทั้งคืน จนหมดป่า จนกิจการลากซุง และขนซุงถูกยกเลิกไป สำโรงจึงถูกโละขายต่อไปให้กับโรงงานน้ำตาล ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ (น้ำตาล ........ ตอนนี้กำลังขึ้นราคา) สำโรงถูกใช้งานอย่างหนักอีกครั้ง คราวนี้สำโรงถูกโรงงานน้ำตาล ใช้นำไปลากอ้อย ซึ่งแต่ละโบกี้ มีอ้อยเรียงกันสูง และหนัก กว่าพวกรถสิบล้อขนอ้อย ในปัจจุบันอีกครับ

                สำโรง ถูกนำไปทำงานในโรงงานน้ำตาลอยู่เกือบ ๓๐ ปี จนได้รับการปลดระวาง
 


บันทึกการเข้า
ปากน้ำเจ้าพระยา
มัจฉานุ
**
ตอบ: 163


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 30 เม.ย. 08, 23:32

           จากข้อมูลในหนังเล่มเดียวกัน แจ้งว่า ปัจจุบัน หัวจักรสำโรง ตั้งอยู่ภายในโรงงานน้ำตาลแห่งหนึ่งในตำบลวังกะพี้ อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ คิดกันอยู่นาน จนต้องตัดสินใจขับรถตรงจากปากน้ำ สมุทรปราการ มุ่งสู่จังหวัดอุตรดิตถ์ ใช้เวลาการเดินทาง ๗ ชั่งโมง เพียงเพื่อให้ได้เห็นหัวจักรรถไฟสายปากน้ำเครื่องนี้

              ถึงตัวจังหวัด ค้างแรม ๑ คืน ก่อนที่จะขับรถต่อเข้าไปตามเส้นทางตำบลวังกะพี้ ทั้งที่ไม่ทราบข้อมูล และไม่รู้จักโรงงานน้ำตาลแห่งนี้ด้วยซ้ำ คิดเพียงว่าจะขับไปเรื่อยๆ แล้วก็เป็นโชคดี ที่ไม่ได้มาผิดเส้นทาง ค่อยๆ มองเห็นรถบรรทุกอ้อยตลอดเส้นทาง จนกระทั่งมองเห็นปล่องควันสูงโผล่ขึ้นจากโรงงาน ขับรถเข้าไปให้ใกล้ขึ้น จนเห็นหัวจักรรถไฟตั้งอยู่ภายในรั้วโรงงาน ดีใจมากครับ และดีใจมากขึ้นไปอีก ที่เห็นสำโรงยังคงสภาพดี

              จากนั้นก็พยายามที่จะขออนุญาตเข้าไปถ่ายรูปใกล้ๆ แต่ทางเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ได้ขอให้เข้าไปขออนุญาตกับผู้จัดการโรงงานเสียก่อน พยายามขอร้องหลายครั้ง แต่ทางผู้จัดการโรงงานก็ไม่เข้าใจ และตั้งข้อสงสัยอยู่ตลอดเวลา จนต้องเล่าประวัติความเป็นมาของรถไฟสายปากน้ำ และความสำคัญในการเป็น ทางรถไฟสายแรกของประเทศไทย จึงได้รับอนุญาตให้เข้าไปถ่ายภาพได้ ที่น่าแปลกใจ ก็คือ พนักงานในโรงงาน ให้ความสนใจกับข้อมูลที่ให้เป็นอย่างมาก แต่ดูเหมือนจะไม่มีใครทราบที่มาของหัวจักรรถไฟเก่าแก่ หัวจักรไอน้ำที่เคยวิ่งรับส่งผู้โดยสาร ระหว่างกรุงเทพฯ ไปเมืองปากน้ำ เมื่อกว่าร้อยที่ผ่านมา ที่ตั้งอยู่หน้าโรงงานน้ำตาลของตัวเองเลย
บันทึกการเข้า
pakun2k1d
พาลี
****
ตอบ: 285


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 01 พ.ค. 08, 03:55

อย่างนี้ต้องทำเป็นสารคดีค่ะ  รอตอนต่อไปอย่างใจจดใจจอนะคะ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 6
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.053 วินาที กับ 19 คำสั่ง