เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7
  พิมพ์  
อ่าน: 23802 ตัวหนอนในสมุด
V
อสุรผัด
*
ตอบ: 6


ความคิดเห็นที่ 75  เมื่อ 28 มี.ค. 08, 22:00

WOW!!! Khun Tao Chom Poo.... I got a goose-pump. I also took Thai Literature with Ajarn Niran. He wrote the Thai grammar books and all for my school to use. I think until now... all the students are still using those books in class. He was one of the most genius teacher I've ever seen.

Regards,
-V-
บันทึกการเข้า
pum
แขกเรือน
อสุรผัด
*
ตอบ: 45


ความคิดเห็นที่ 76  เมื่อ 29 มี.ค. 08, 00:43

เมื่อวานนี้เจอพี่กุ้งแห้งค่ะ   เลยได้ทราบว่ามีกระทู้เกี่ยวกับคุณตา ป. อินทรปาลิต

เลยมาเล่าเรื่องราวของท่านจากที่ฟังมาจากคุณแม่ค่ะ  คุณแม่เป็นลูกสาวคุณตาค่ะ มีพี่ชาย ๑ คน เสียชีวิตไปด้วยโรคเบาหวานเหมือนคุณตาประมาณสิบกว่าปีแล้ว

เรื่องคุณตายากจนในบั้นปลาย   คุณแม่บอกว่าไม่จริงค่ะ  ท่านยังทำงานอยู่ตลอดแม้ไม่สบาย  แต่ผู้ที่เก็บเงินคือคุณยายปราณี ภรรยาคนที่สองของคุณตา

เวลาคุณตาป่วย คุณยายปราณีจะให้พี่ปริญญาโทร.บอกคุณแม่ คุณแม่จะให้คุณพ่อดิฉันซึ่งเป็นหมอ   เป็นอาจารย์ที่จุฬาฯ พาไปรักษาตัวค่ะ บางครั้งต้องนอนโรงพยาบาล   คุณแม่จะเป็นคนไปเฝ้าไข้ตลอด  ดิฉันและน้องสาวยังเล็กมาก อยู่ชั้นประถมที่ราชินีบน  กลับจากโรงเรียนต้องแวะไปหาคุณแม่ที่โรงพยาบาลก่อน
ทานข้าว  อาบน้ำที่โรงพยาบาล แล้วคุณพ่อก็พาเรากลับบ้านโดยคุณแม่นอนเฝ้าคุณตาค่ะ คุณตานอนโรงพยาบาลหลายครั้ง หลายตึก ตึกสุดท้ายที่ท่านรักษาตัวคือ ตึกจงกลนี วัฒนวงศ์ 

 ครั้งสุดท้ายที่ท่านออกจากโรงพยาบาล คุณยายปราณีชวนท่านให้ไปอยู่กันที่บ้านคุณชูชัย พระขรรค์ชัย ซึ่งยามนั้นไม่ได้เป็นนักมวยแล้ว  รายได้คุณตาต้องใช้เลี้ยงทั้งบ้านค่ะ

คุณแม่ไม่พอใจนัก   แต่ต้องยอมตามใจคุณตา วันที่คุณตาเสียชีวิต คุณแม่พาดิฉันและน้องสาวไปที่บ้านคุณชูชัย  คุณตานอนเอาขาไขว่ห้างอยู่เลยค่ะ กระทั่งจากไป  ยังทิ้งลายไขว่ห้างเอาไว้

แล้วหนังสือพิมพ์ไปลงว่า ป.อินทรปาลิต ตกยาก มีเงินเหลือแค่เศษเหรียญอยู่ใต้หมอน  คุณแม่ไม่พอใจ แต่ก็เงียบไว้  เงินช่วยจากงานศพคุณตามากมาย คุณแม่ไม่ได้เก็บ คุณยายปราณีเก็บเองหมด


เรื่องก็ผ่านไป   จนงานศพคุณตาเสร็จสิ้น   มีการคุยกันเรื่องลิขสิทธิ์   กว่าจะรู้เรื่องกันได้ก็ทะเลาะกันไปพอแรง คุณแม่มาสรุปให้ดิฉันฟังตอนหลังว่า ลิขสิทธิ์หนังสือของคุณตาจะมีสามเจ้าของค่ะ คือ

 ๑. ลิขสิทธิ์ที่ขายขาด อย่างที่เล่าๆกันมาข้างบนค่ะ 

 ๒. ลิขสิทธิ์ของคุณแม่กับคุณลุง (พี่ชายคุณแม่ผู้เป็นพ่อของพี่ปริญญา อินทรปาลิต) จะเป็นเรื่องที่เขียนช่วงยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับคุณยายปราณี คือคุณตาอยู่กับคุณยายปราณีแบบไม่ได้จดทะเบียน   มาจดเอาไม่นานก่อนเสียชีวิต

๓. ลิขสิทธิ์ของคุณยายปราณี ซึ่งมีไม่มาก และหลายเล่มขายขาดให้สำนักพิมพ์ไปแล้ว

ต่อมาคุณลุงเสียชีวิต  คุณยายปราณีย้ายไปอยู่สหรัฐอเมริกากับครอบครัวคุณชูชัย  และไม่ติดต่อมาอีกเลย

คุณแม่กับคุณยายปราณีผู้เป็นแม่เลี้ยงไม่ค่อยถูกกัน คุณแม่เล่าทางมุมของคุณแม่ว่า คุณตาเป็นคนดีมาก ท่านเลี้ยงน้องๆหลานๆมาหลายคนมากๆ  เงินทองหาได้เยอะมาก  คุณแม่ตอนเป็นสาวนั้นหรูมากทีเดียว ซื้อของแต่ห้างฝรั่ง  คุณตาเขียนหนังสือทุกวัน มีคนจากสำนักพิมพ์มานั่งรอต้นฉบับ  เรียกว่า เขียนอะไรก็ออกมาเป็นเงิน แค่คุณตาท่านไม่สะสม ท่านมีน้ำใจกว้างขวาง ให้อะไรใครได้ก็ให้หมด เพราะถือว่าพรุ่งนี้ท่านก็เขียนหนังสือได้อีก

คุณแม่ดิฉันเป็นมือพิมพ์ดีดให้คุณตา  ต่อมาคุณแม่แต่งงานกับคุณพ่อ  พี่ปริญญากลายมาเป็นมือพิมพ์แทน

ดิฉันกับน้องสาวจะชินกับภาพคุณตาสวมเสื้อผ้าป่านติดกระดุมผ่าหน้าตัวบางกับกางเกงแพร  นอนเอกเขนกบนเก้าอี้ผ้าใบที่ระเบียงบ้าน บอกบทให้พี่ปริญญาพิมพ์ค่ะ

หลานๆนั่งหัวเราะกระดิ่งทอง และนายแพทย์ดิเรกที่ชอบพูด ออไร๋ท์ๆ  กับพลที่ชอบแอบเจ้าชู้กับสาวๆในบ้าน  กิมหงวนฉีกแบ๊งก์ที หลานๆหัวเราะกันท้องแข็ง
คุณตานั่งมองหลานๆหัวเราะแล้วยิ้มชอบใจ

ตอนนี้ถ้าดิฉันว่างๆอยู่กับคุณแม่เมื่อไหร่ จะจดโน้ตความทรงจำเรื่องของคุณตาจากคุณแม่เอาไว้เผื่อได้เขียนสักวันหนึ่งข้างหน้า

ชีวิตท่านสนุกมากค่ะ

คุณพ่อของคุณตาหรือคุณปู่ของคุณแม่  เป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อย   ชื่อคุณพระพิสิฏพจนาการ

สมัยนั้นเด็กผู้ชายเข้าโรงเรียนนายร้อยตั้งแต่ชั้นประถม  คุณตาค่อนข้างเกค่ะ  ไม่กลัวใคร สุดท้ายคุณทวดต้องให้ท่านลาออกไปเพราะบังคับลูกไม่ได้

คุณตาไปขับเรือโยง  ขับแท็กซี่ ทำงานหาเงินด้วยอาชีพที่ไม่มีใครคิดว่าลูกชายคุณพระจะทำได้

คุณยายเป็นสาวสวยชาววังชื่อไข่มุกด์ (สะกดแบบนี้จริงๆค่ะ)   มีเชื้อสายมาจากเจ้าจำปาศักดิ์   คุณตาเห็นแล้วตามจีบด้วยเพลงยาวจนคุณยายยอมแต่งงานด้วย

ยอมออกจากวังมาลำบาก  แต่คุณตาก็ไม่ได้ให้คุณยายลำบากอะไรมากค่ะ  คุณตาทำงานหนัก แอบเขียนนิยายไว้เยอะ

คุณยายเห็นแล้วอ่านดูว่าสนุกดี บอกให้คุณตาไปส่งสำนักพิมพ์ แต่คุณตาไม่ไป คุณยายเลยเอาไปส่งเองเสียเลย

  เรื่องแรกของท่าน คือ "นักเรียนนายร้อย" เป็นนิยายรักโศก ดังมากค่ะ

เมื่อท่านแน่ใจแล้วว่าเป็นนักเขียนได้ จึงเขียนต่อๆมา ...อีกมากมาย

คุณแม่เล่ามาเยอะค่ะ  เล่าถึงตอนสงครามโลก    ตอนหนีภัยสงครามไปอยู่อ่างทอง   ตอนเดินข้ามสะพานพุทธด้วยกำลังขา ฯลฯ

สนุกมากๆค่ะ  ยิ้มกว้างๆ



บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 77  เมื่อ 29 มี.ค. 08, 09:03

ขอร้องให้เขียนต่อครับ
คุณแม่น่าจะเป็นคนสุดท้ายในโลกที่รู้จักยอดนักเขียนของไทยท่านนี้

ไม่บันทึกไว้

ทุกสิ่งก็สูญ
บันทึกการเข้า
tony_hui
อสุรผัด
*
ตอบ: 32

เป็นพนักงานบัญชีครับ


ความคิดเห็นที่ 78  เมื่อ 29 มี.ค. 08, 12:12

เอาปก   เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์  มาฝากสักสองปกครับ

บันทึกการเข้า
tony_hui
อสุรผัด
*
ตอบ: 32

เป็นพนักงานบัญชีครับ


ความคิดเห็นที่ 79  เมื่อ 29 มี.ค. 08, 12:20

แรกเริ่มเดิมที น่าจะเป็น เสนาศึกษา เฉยๆ ก่อนจะมีแผ่วิทยาศาสตร์ มาสร้อยภายหลัง
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 80  เมื่อ 29 มี.ค. 08, 15:41

โอ้โห.....หนอนหนังสือตัวจริงมาเอง

ขอบคุณครับ ที่แบ่งให้ชื่นชม
หนังสือชุดนี้ มีเรื่องน่าอ่านมาก แต่หายากมากเช่นกัน
นักปราชญ์ราชบัณฑิต ต่างส่งเรื่องมาลง

ขอเชิญเล่าต่อครับ
บันทึกการเข้า
Oam
แขกเรือน
ชมพูพาน
***
ตอบ: 168



ความคิดเห็นที่ 81  เมื่อ 29 มี.ค. 08, 18:55

คุณปริญญาเป็นหลานปู่ เคยเล่าเรื่องเกี่ยวกับคุณปู่ไว้บ้าง เห็นว่าจะเขียนเรื่องสามเกลอต่อจากคุณปู่
คุณปุ้มเป็นหลานตา ก็น่าจะมีมุมมองที่ต่างไปมาเล่าสู่กันฟัง น่าสนใจครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 82  เมื่อ 29 มี.ค. 08, 20:31

เคยอ่านบทสัมภาษณ์คุณปราณี เมื่อเธอกลับมาเยี่ยมประเทศไทย  นานหลายปีแล้วค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 83  เมื่อ 29 มี.ค. 08, 20:38

เมื่อเรียนป. ๑  เคยเอานิทานเรื่องสโนไว้ท์ที่แม่ซื้อให้    ไปร.ร. อวดเพื่อน
เลยถูกครูริบไป  ไม่คืน     
ในยุคนั้นเราไม่มีสิทธิ์อ่านอะไรนอกจากหนังสือเรียน ค่ะ

แม้แต่การเขียนอะไรเวียนกันอ่านกันเอง  ทำเป็นรูปเล่มสมุดอย่างสวยงาม
ในห้องเรียนตอนอยู่ม. ต้น     ถ้าครูจับได้ก็จะถูกริบเหมือนกัน
เพื่อนของดิฉัน คุณ"จินตกัญญา" นักเขียนผู้ล่วงลับไปแล้ว  เจอเข้ากับตัวเอง
เธอยังเล่าให้ฟังหลังจากนั้นอีกหลายสิบปี

บันทึกการเข้า
กุ้งแห้งเยอรมัน
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1573



ความคิดเห็นที่ 84  เมื่อ 29 มี.ค. 08, 23:02

แค่อ่านที่คุณปุ้มแวะมาโปรยก็สนุกแล้ว.. เหลือรับประทาน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 85  เมื่อ 31 มี.ค. 08, 22:38

เข้ามาต่อกระทู้ ไม่ให้หยุดนิ่ง

นอกจากหนังสือปกอ่อนเล่มเล็กๆอย่างที่เล่ามาแล้ว  นิยายในสมัยก่อนเกือบร้อยละร้อยเป็นหนังสือปกแข็ง   ขนาดเล่ม สั้นกว่าพ็อคเก็ตบุ๊คยุคนี้   
ปกส่วนที่เป็นปกแข็ง เป็นสีเรียบๆ เช่นแดงแก่ น้ำเงินแก่ มีชื่อเรื่องพิมพ์อยู่บนปก  แต่มีปกกระดาษอาบมัน หุ้มทับอยู่อีกที   วาดปกเป็นรูปพระเอกนางเอก ด้วยสีสันสดสวย
ปกกระดาษนั้นก็หุ้มแบบหละหลวมเสียเหลือเกิน  คือยาวพอหุ้มแค่ด้านข้างเท่านั้น   ไม่มีอะไรยึดไว้กับเล่ม   
พอเปิดหนังสืออ่าน ปกก็เลื่อนหลุดลงไปกับพื้น ยับเยินเสียหายง่ายมาก    มักจะเหลือก็แต่เพียงปกแข็ง

แหล่งหนังสือปกแข็ง ก็คือร้านเก่าแก่ที่วังบูรพา มีหลายร้านด้วยกัน

เมื่อวังบูรพาของสมเด็จวังบูรพาฯ ถูกรื้อไปแล้ว  (รื้อเมื่อไรไม่รู้ จำความไม่ได้ค่ะ) ตรงนั้นก็กลายเป็นที่ตั้งของโรงหนัง ๓ โรงด้วยกัน
คือโรงหนังคิงก์  คู่กับโรงหนังแกรนด์  ฉายแต่หนังฝรั่งฮอลลีวู้ด
ถนนอ้อมได้รอบ  คั่นระหว่างโรงหนังด้านหน้ากับโรงหนังด้านหลัง ชื่อโรงหนังควีน
ร้านหนังสือเรียงรายอยู่ด้านข้างและหลัง  ส่วนใหญ่เป็นห้องเดียว ที่ดูทันสมัย

หนังสือที่ขาย เป็นหนังสือไทยเสียเป็นส่วนใหญ่  นอกนั้นก็มีนิทานประกอบภาพ สีสันสดใสของฝรั่ง  ส่งมาจากเมืองนอก
ตุ๊กตากระดาษ ทำเป็นเล่มๆจากเมืองนอกเหมือนกัน ก็มาขายที่นี่
เคยไปเจอในเว็บไซต์แฟชั่นค่ะ  เป็นของสะสมไปแล้ว
บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 86  เมื่อ 31 มี.ค. 08, 23:57

เล่าจากความจำครับ อ่านไว้นานนน...เหลือแสน
วันหนึ่ง ครูเหลี่ยมไปนั่งที่โรงพิมพ์ เจ้าของโรงพิมพ์ก็บอกว่า แต่งเรื่องความไม่พยาบาทถี
ครูเหลี่ยมก็ร้องฮึ
เจ้าของโรงพิมพ์โยนกระดาษขาวให้ปึกหนึ่ง
ครูเหลี่ยมก็เริ่มแต่งความไม่พยาบาท...ง่ายๆ อย่างนั้นเอง

ดูเหมือนว่า ในยุคนั้น นักเขียนเป็นเหมือนจักรกลประเภทหนึ่ง เจ้าของโรงพิมพ์เข้ามาหยอดเหรียญ
เครื่องจักรก็ผลิตงานออกมา

เจ้าคุณอนุมานก็คล้ายกัน เจ้าของโรงพิมพ์ เอาหนังสือมาโยนให้ บอกว่าแปลหน่อย
บางทีเจ้าคุณก็บอกว่า อยากแปลเล่มนั้น เล่มนั้น
เจ้าของโรงพิมพ์ก็สั่งเข้ามาให้

คิดดูก็มองเห็นสัจจะประการหนึ่ง
ผมเข้าใจว่า แม้แต่กระดาษเปล่า ในพ.ศ. นั้น คงเป็นของแพงเอามากๆ
ผมเองก็พอนึกได้เลาๆ ว่าทั้งบ้าน เมื่อยังเด็ก มีกระดาษเปล่า ก็สมุดมีเส้นของเด็กนักเรียน
ครั้งแรกที่เห็นกระดาษฟูลสแก๊ป รู้สึกว่าช่างหรูหราเสียนี่กระไร

ถ้าอยากระบายสี ยิ่งยาก ดูเหมือนจะแพงจนเกินไขว่คว้า แถมดินสอสีก็แพงอีก
เฮ้อ....เป็นศิลปิน ไม่ว่าสาขาใหน ดูจะหนีไม่พ้นความขัดสน
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 87  เมื่อ 03 เม.ย. 08, 06:58

พระยาอนุมานราชธนเล่าให้ สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ฟังว่า ขุนโสภิตอักษรการ(แห โรงพิมพ์ไท) เจ้าของโรงพิมพ์ไท
ทำงานละเอียด  ลงมือทำงานเอง
หล่อตัวพิมพ์เอง  ตรวจตัวพิมพ์เอง
ใช้หมึกกระป๋องใหม่เสมอ  ที่เหลือติดกระป๋องไม่ใช้ ยอมทิ้งไป เพื่อให้การพิมพ์สม่ำเสมอ
เป็นคนรักหนังสือ

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเกรงว่าหนังสือพระลอและนิราศต่างๆจะสูญ  ได้ประทานต้นฉบับมาให้
เป็นโรงพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือดี
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 88  เมื่อ 03 เม.ย. 08, 07:27

อ่านมาจาก ส. ศิวลักษณ์  สัมภาษณ์  เสฐียรโกเศศ 
หนังสือชื่อ  ประวัติพระยาอนุมานราชธน  สัมภาษณ์เสถียรโกเศศ และ พระยาอนุมานราชธนที่ข้าพเจ้ารู้จัก
๒๕๑๒


เจ้าคุณอนุมานฯ เล่าต่อไปว่า
ท่านไปซื้อ โนเวล ที่ร้านเคียมฮั่วเส็ง ตั้งแต่เป็นเรือนไม้
ร้านนี้ขาย six penny novel

ท่านไปซื้อ A Study in Scarlet ก็อ่านออกโดยไม่รู้ตัว  ทั้งๆที่แต่ก่อนอ่านไม่ออก
ต่อมาท่านก็อ่านเชอร์ลอคโฮม

ท่านว่าท่านอ่านใหญ่เลย

ต่อไปท่านก็อ่านวิลเลียม ละคอร์ กับ ชาร์ลส์ กาวิส
หาอ่านที่ไหนไม่ได้ก็ไปสั่งที่ ฟอยล์ แอนด์กัมปานี
สั่งมาทีละ ๒๐ - ๓๐ เล่ม

หลวงสารานุประพันธ์(นวล ปาจิณพยัคฆ์)มาขอไปหมด

เจ้าคุณเล่าต่อไปอีกว่า  ท่านอ่านโนเวลราว สามสี่ร้อยเล่ม  สั่ง second hand มาอ่าน
อ่านหมดแล้วก็เบื่อ


ขอบพระคุณ คุณสุลักษณ์  ศิวลักษณ์จริง ๆ  ที่ช่างคุยช่างถามเรื่องเก่าๆที่สนุกและเป็นความรู้อย่างยิ่ง
บันทึกการเข้า
กุ้งแห้งเยอรมัน
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1573



ความคิดเห็นที่ 89  เมื่อ 03 เม.ย. 08, 08:49

หนอนอย่างดิฉัน ชอบหนังสือเพลงเป็นที่หนึ่งในช่วงเซเวนตี้ส์ รวมทั้งสตาร์พิคส์ที่ขาดไม่ได้ เพียงแต่ไม่ต้องซื้อเอง
พี่สาวจะเก็บสะสมตั้งแต่ยุคซิกซ์ตี้ส์ เพราะเธอใช้เรียนภาษาอังกฤษด้วยตัวเอง คำร้องในเพลงโบราณจะไพเราะ คล้องจองเช่นเพลง Eternally
Till ที่เด็กๆอย่างดิฉันไม่ต้องเปิดดิคมาก แต่เพลงอย่างTill there was youของบีทเติ้ลส์ ต้องรอตอนแก่ๆจึงจะเข้าใจปรุโปร่งทั้งที่เป็นเนื้อร้องแสนง่าย
ที่บ้านพี่สาวมีหนังสือเพลงเป็นตั้งๆ เมื่อเธอย้ายบ้านเพราะแต่งงาน ดิฉันจึงได้รับมรดกเหมามาทั้งหมด
แม้แต่เพลงไทย เธอก็สะสมเนื้อร้องไว้มากมาย รวมถึงให้ดิฉันแต่งกลอนประกอบเพลงไว้ด้วย
ป่านนี้ไม่ทราบยังอยู่หรือเปล่า เจอหนอนเพลงด้วยกัน รู้สึกว่าคุยกันแล้วจะมีความมัน ดิฉันหมายถึงหนอนเนื้อเพลงมากกว่าหนอนดนตรีนะคะ
บางคนไม่ได้จำแค่เนื้อ ทั้งร้อง ทั้งเล่นดนตรี และจำเรื่องราวชีวิตของศิลปินแต่ละคนได้ลึกๆ
คุยด้วยแล้วทึ่ง
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.044 วินาที กับ 19 คำสั่ง