เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 7
  พิมพ์  
อ่าน: 23847 ตัวหนอนในสมุด
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 22 มี.ค. 08, 11:52

             จากนั้นต่อเนื่องด้วยเวทีงานเสวนา

      เริ่มต้นจาก ปริญญา อินทรปาลิต (หลานปู่) เล่าย้อนความถึงช่วงชีวิตวัยเด็ก ที่ได้ใกล้ชิดกับคุณปู่นักประพันธ์เอกว่า

      นักเขียนเลื่องชื่อได้ช่วยเลี้ยงเขามาตั้งแต่เกิด หากแต่เขาเริ่มมีบทบาทใกล้ชิดช่วยปู่ทำงานตอนอายุสิบขวบกว่าๆ
พร้อมทั้งเล่าถึงชีวิตของ ป.อินทรปาลิต ช่วงทำงานที่บ้านว่าเป็นเหมือนคนธรรมดาทั่วไป เพียงแต่เช้าไม่ต้องออกไปทำงาน
เย็นไม่ต้องกลับบ้าน เพราะปู่นั่งทำงานที่บ้านอยู่แล้ว

           "ช่วงแรกผมยังไม่ถึงขั้นเป็นมือดีพิมพ์ต้นฉบับ ทำแค่ช่วยตรวจปรู๊ฟบ้าง ช่วยส่งต้นฉบับบ้าง ชีวิตของปู่ก็เหมือนกับ
คนปุถุชนทั่วไป ท่านนั่งทำงานที่บ้าน ผมมีหน้าที่ลำเลียงอุปกรณ์จากห้องนอนท่านไปไว้ที่โต๊ะทำงาน จัดอะไรให้เรียบร้อย
แล้วก็นั่งดูท่านทำงานไป
           ส่วนอารมณ์ขัน ท่านก็เป็นของท่านตามปกติ ถ้าเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ความสนุกครึกครื้นแล้วก็ประมาณ 89 เปอร์เซ็นต์
อย่างอยู่บ้านดูโขนดูละคร ปู่ก็พากย์โขนตามเขามั่ง หรือถ้าไม่ได้ดูโทรทัศน์ นั่งพิมพ์งาน ท่านก็ลุกขึ้นร้องลิเกบ้าง ลำตัดบ้าง
ซึ่งบางทีท่านร้องๆ แล้วก็เอาไปใช้ในเนื้องาน แต่ถ้าถามว่ามีโกรธโมโหบ้างหรือไม่ อันนี้มีแน่ครับตราบใดที่คนเรายังมีรัก โลภ โกรธ หลงอยู่

          สำหรับที่คนสงสัยว่าสามเกลอมาจากไหน มันมีตัวตนจริงหรือไม่จริง โดยความรู้สึกของผมเองเมื่อโตแล้ว ผมรู้สึกว่า
         สามเกลอมันไม่ได้มาจากใครที่ไหนหรอก มันก็มาจากชีวิตของท่านเอง โดยเฉพาะความอารมณ์ขันที่ท่านให้ไปกับตัวละคร
พลกับกิมหงวนหรือใครก็ตาม มันก็ชีวิตจริงของท่านทั้งนั้น คือท่านเป็นคนที่มองเห็นอะไรแล้วก็เอามาแปลงเป็นอารมณ์ขันได้"
ปริญญา ทายาทนักเขียนคนดังกล่าว
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 22 มี.ค. 08, 11:55

           ต่อเนื่องด้วยการเล่าถึงการอ่านหัสนิยายพล นิกร กิมหงวนในวัยเยาว์ ซึ่งหนึ่งแรงบันดาลใจในการเป็นนักเขียน
ของ ณรงค์ จันทร์เรือง ว่า

            ครั้งหนึ่งมีโอกาสได้เขียนเรื่องตลก ด้วยความที่เคยอ่านหนังสือมาหลายเรื่อง รวมทั้งพล นิกร กิมหงวนด้วย
ก็น่าจะพอเขียนได้ แต่เมื่อเขียนแล้วกลับไม่ค่อยพอใจงานของตัวเองเท่าไร จึงคิดว่าผู้เขียนที่เขียนหนังสือให้เป็นเรื่องตลกได้
นับเป็นพรสวรรค์ เป็นคนอัจฉริยะ

            "ช่วงนั้นนักเรียนเกือบทุกคนอ่านสามเกลอ ผมไปโรงเรียนนั่งรถรางบ้าง นั่งรถไฟบ้าง พออ่านถึงตอนตลก
ก็ปล่อยก๊ากออกมาลั่นรถ คนแน่นๆ ก็หันขวับกลับมามอง แต่พอทุกคนเห็นปกเป็นพล นิกร กิมหงวน ทุกคนก็หันกลับ
เพราะถือเป็นเรื่องที่เข้าใจกันดี หากทีแรกคนคงคิดว่าผมบ้า แต่พอพวกเขาเห็นปกแล้ว ก็คงนึกออกว่าเมื่อสมัยก่อนตัวเอง
ก็บ้าแบบนี้เหมือนกัน (หัวเราะ)

        ผมอ่านสามเกลอเจอผีก็เป็นอิทธิพลส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมมาเขียนเรื่องผี แต่นอกจากเรื่องสามเกลอแล้วผมก็ยังชอบ
เรื่อง 'เสือดำเสือใบ' ของท่าน และบังเอิญถือเป็นโชคดีของผมที่ในช่วงปี 2508 สำนักพิมพ์ที่พิมพ์สามเกลอมากที่สุด
คือสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นซึ่งอยู่ตรงเวิ้งนครเกษม แล้วก็จัดทำหนังสือชื่อ 'ขวัญจิตรายสัปดาห์' ผมไปเป็นพนักงาน
ตรวจปรู๊ฟหรือที่ต่อมาเรียกกันโก้ๆ ว่าพนักงานพิสูจน์อักษรบ้าง หรือผู้ช่วยบรรณาธิการบ้าง

          พอหนังสือขวัญจิตเลิก ผมก็ยังเทียวไปเทียวมาที่ประพันธ์สาส์น ช่วงนั้นนอกจากสามเกลอจะออกเป็นพอคเก็ตบุ๊ค
เล่มละสามบาทแล้ว ยังออก 'ศาลาโกหก' มาด้วย เป็นอะไรที่ขายดีมากๆ คุณป.อินทรปาลิตเขียนเก่งหมดทั้งเล่ม
จุดนี้จึงเป็นข้อสังเกตได้ว่าท่านเขียนหนังสือได้ทุกแนว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผี เรื่องบู๊ เรื่องตลก เรื่องภูตผีปีศาจ แต่เรื่องตลก
ที่จับอกจับใจคนอ่านมากก็คือเรื่องชุดพล นิกร กิมหงวน" ณรงค์ นักเขียนร่วมสมัย (รุ่นหลาน) เล่า
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 22 มี.ค. 08, 11:59

          จากนั้น เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ อธิบายย้อนความถึงการเปรียบเปรยถึง
                  ป.อินทรปาลิต เป็นผู้สร้างห้องสมุดในใจคนว่า

           ท่านเป็นผู้สร้างให้เกิดความรัก ที่ทำให้อยากจะอ่านหนังสือ เพราะนับจากเขาได้อ่านพล นิกร กิมหงวนก็เป็นเหตุ
ที่ทำให้รักการอ่านตั้งแต่บัดนั้น

           "จำได้ว่าตอนนั้นหลังสงครามโลก ผมอยู่ประมาณ ป.1 แม่ไปตลาดสด แล้วในตลาดก็จะมีแม่ค้าหาบกระจาดหนังสือ
มาขายด้วย แม่ก็จะซื้อนิทานแสนสนุกกับพล นิกร กิมหงวนกลับมา พอแม่กลับมาถึงผมก็คว้าหนังสือก่อนเลย
        ตอนนั้นที่บ้านผมเลี้ยงม้า ผมมีหน้าที่จูงม้าไปกินหญ้า ที่คอกม้าก็มีจะรางสำหรับใส่หญ้าให้ม้ากิน ตรงนั้นก็จะกลายเป็นที่
ให้ผมได้นอนอ่านหนังสือเอกเขนกอยู่ในรางหญ้าม้า หรือบางทีถ้าเอาม้าเข้าคอกแล้ว ผมก็จะไปนอนอ่านข้างๆ ยุ้งข้าว
ผมจำได้ว่าอ่านพล นิกร กิมหงวน จนเกือบตกระเบียงยุ้งข้าว ก็นับตั้งแต่นั่นแหละที่ผมบอกว่า ท่านเป็นคนที่สร้างห้องสมุดในใจเรา

          สิ่งที่ผมประทับใจก็คือท่านได้จำลองแบบยุคสมัยของสังคมไทยในยุคสมัยที่เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทั้งช่วงสงครามและ
หลังสงครามโลกไว้ได้อย่างดียิ่ง และ แบบที่ ป.อินทรปาลิต จำลองนั้น ไม่ได้จำลองขึ้นแบบนักวิชาการ
         เสน่ห์ของ ป.อินทรปาลิต นั้น ท่านไม่ได้เขียนเพื่อที่จะเน้นให้ข้อมูลอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เวลาอ่านมันจะรู้สึกได้ว่าข้อมูล
มันหลั่งไหลออกมาเองจากชีวิตของท่าน จากอารมณ์ความรู้สึกของท่านที่มีอยู่ในขณะนั้น ตรงนี้มันคือเสน่ห์ เป็นเสน่ห์ที่
ทำให้ท่านต่างไปจากนักเขียนคนอื่นๆ มันทำให้งานเขียนของท่านครองยุค ครองสมัย ครองใจคนมาจนถึงทุกวันนี้
        เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมต้องยกไว้บนหิ้งบูชา ไว้สำหรับการอ่านหนังสือของผมครับ" กวีของแผ่นดิน กล่าว
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 22 มี.ค. 08, 12:04

            ก่อนปิดการเสวนาในภาคเช้า นัยซ่อนเร้นที่ใช้เรียกกันอย่างขำขัน เมื่อช่วงเปิดงานเสวนาว่า
           เหตุใดหัวข้อการสนทนาจึงเป็น  'ชีวิตขายฝันที่แสนขม' ก็ได้รับการเฉลยจากหลานผู้ประพันธ์หัสนิยายว่า

           เป็นเรื่องสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์ ของวรรณกรรมชื่อดังนับพันตอนเรื่องนี้ที่ ป.อินทรปาลิต ผู้เขียนได้เซ็นสัญญา
ซื้อขายไปให้กับทางสำนักพิมพ์แบบที่เรียกได้ว่าไม่ได้เหลือไว้ให้ลูกหลาน
       โดยที่สัญญาขายเป็นไปในลักษณะของการขายลิขสิทธิ์ไปตลอดกาลแบบยกเข่ง (ยกตัวอย่างเช่นงานเขียนตั้งแต่
ปี 2478-2480 มีงานเขียนของ ป.อินทรปาลิต ทั้งหมดกี่เล่ม กี่เรื่อง กี่ตอน สำนักพิมพ์ที่มาขอซื้อจะได้สิทธิตรงนี้ไปทั้งหมด)

      ทั้งนี้เป็นเพราะท่านผู้ประพันธ์มิได้คำนึงถึงประโยชน์ส่วนตนเลยแม้แต่น้อย เห็นเพียงว่ามาขอซื้อ จึงขายไป และ
ตัวท่านเองคิดว่า สามารถเขียนเรื่องใหม่ได้ทุกวัน ดังนั้นหากสำนักพิมพ์ที่ซื้อลิขสิทธิ์ไป ไม่จัดพิมพ์ขึ้นใหม่เพราะเกรงว่า
เนื้องานของวรรณกรรมชุดนี้จะไม่เข้ากับยุคสมัย จึงเป็นเหตุให้ทุกวันนี้หนังสือสามเกลอหรือเรื่องอื่นอีกหลายเล่ม หลายตอน
ของ ป.อินทรปาลิต นั้นหายไปจากวงการ

         จากนั้น ชมัยภร แสงกระจ่าง ผู้ตั้งประเด็นหัวข้อในการสนทนาครั้งได้ชี้แจงว่า

         "ดิฉันได้ตั้งหัวข้อชีวิตที่ขายฝันของ ป.อินทรปาลิต ก็เพื่อให้ทุกท่านได้เห็นว่าไม่ใช่แค่เพียงผลงานที่ทำให้เรา
ได้ซาบซึ้ง ได้หัวเราะ ได้ร้องไห้ แต่ชีวิตของ ป.อินทรปาลิต ก็เป็นตัวอย่างชีวิตของผู้ที่เลือกเดินเส้นทางนี้ ซึ่งเป็นสายงาน
ที่บุคคลที่เกิดในสมัยเดียวกับท่าน เขาไม่เลือกกัน แต่ท่านก็ยังเลือกที่จะเป็นนักเขียน โดยที่ไม่ได้หวังผลประโยชน์อะไร
ในระยะที่อยู่บนเส้นทางของการประพันธ์ ป.อินทรปาลิต ทำงานเขียนอยู่ตลอดเวลา
         หากแม้ในวันนี้เราจะไม่พูดถึงเรื่องลิขสิทธิ์ เราก็ยังเห็นได้ว่าผลจากการสร้างสรรค์งานของท่านได้ปรากฏในใจ
ของคนรุ่นเรา ในใจของคนรุ่นใหม่ ที่เขาได้รับแรงบันดาลใจ ได้รับอิทธิพล ทำให้เห็นว่างานนั้นได้ให้ประโยชน์อย่างไรบ้าง
ย้อนกลับไปดูสังคมได้อย่างไรบ้าง มองเห็นชีวิตที่เป็นจริงอย่างไรบ้าง"

       ทั้งหมดเป็นที่ประจักษ์ว่า ถึงแม้ตัวผู้ประพันธ์จะจากไปแล้ว แต่ผลงานยังคงเป็นอมตะ และมีอิทธิพลทางความคิด
ต่อคนรุ่นหลังอย่างไม่เคยเสื่อมคลาย.
บันทึกการเข้า
กุ้งแห้งเยอรมัน
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1573



ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 22 มี.ค. 08, 21:09

ตัวเอกในดวงใจดิฉัน นิกร การุณวงศ์ค่ะ
ไม่ว่าจะพูด จะคิดอะไร มันช่างแหวก บ้าบิ่น และเต็มไปด้วยปฏิภาณไหวพริบ
ชวนให้ขำ และเอ็นดู
แต่ตัวนิกรเอง รสชาติชีวิตคงปร่า ถ้าขาดอาเสี่ยกิมหงวนซึ่งบ้าฉีกแบงก์ ใจถึงไม่ได้
เพราะนิกร เหนียวหนึบ..
.................................
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 22 มี.ค. 08, 22:04

ชอบเพลงลิเกของพ่อกระดิ่งทองนิกรค่ะ    ฉากโปรดคือนิกรลุกขึ้นรำป้อ ไม่ว่าในห้องอาหาร ห้องรับแขก ริมถนนหนทาง
กับฉากที่พี่แกตะกละสิ้นดี   จนนันทาพี่สาวเอ็ดตะโรเอา

ตอนแรกๆชอบพล ที่คุณป. ให้สมญาว่า ไอ้เสือรูปหล่อ     ขนาดตอนสามเกลอไปเที่ยวฮอลลีวู้ด  คุณป.บรรยายว่า พอลสวยเก๋ขนาดข่มไทโรน เพาเวอร์ให้ด้อยลงไปถนัดตา
เลยเอารูปไทโรนมาลงให้ดูกัน  หล่อขนาดนี้ยังสู้พล พัชราภรณ์ไม่ได้    พระเอกคุณป.หล่อถึงขนาดไหนก็ลองคิดดูเอง


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 22 มี.ค. 08, 22:09

เรื่องลิขสิทธิ์ของป.อินทรปาลิต ทราบว่าบางส่วนก็เป็นของท่าน ตกทอดไปถึงภรรยาคนที่สอง คือคุณปราณีซึ่งใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐอเมริกา  ไม่ได้ข่าวคราวมาหลายปี
และอีกส่วนหนึ่งตกทอดถึงหลานซึ่งเกิดจากบุตรสาวของภรรยาคนแรก

และอีกเรื่องที่ยังสับสนอยู่ ถ้าหากว่าทำให้ระคายเคืองผู้ใดก็ขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย
คือหนังสือพิมพ์ลงเป็นทำนองว่า ในบั้นปลายชีวิต  คุณป.ค่อนข้างลำบาก 
ผลงานมากมายและตัวละครที่สร้างมา อย่างอาเสี่ยกิมหงวน ช่วยอะไรท่านไม่ได้เลย
ไม่ทราบว่าจริงเท็จสักกี่ %  เพราะดูเหมือนว่าคุณปริญญา ออกมาปฏิเสธเรื่องนี้ แต่จำรายละเอียดไม่ได้แล้ว

คุณศิลาจำได้ไหมคะ
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 23 มี.ค. 08, 12:08

          ถามกูเกิ้ลดูเรื่องราวชีวิตของท่านครับ
 
          ชีวประวัตินักเขียนสมัยก่อนมักจะจบบทสุดท้ายด้วยอายุขัยที่ไม่มาก มีโรคประจำตัวโดยเฉพาะ
โรคจากการดื่มสุรา และ มีความเป็นอยู่อย่างลำบากอย่างที่สมัยนั้นเรียกกันว่า ไส้แห้ง

         ประวัติท่าน ป. ของกรมศิลปากรบันทึกว่า - บั้นปลายชีวิตของเขาจบลงอย่างลำบากยากจน

          ในขณะที่คุณ KRIT (00330) เสนอข้อมูลจากการสนทนากับผู้ใหญ่ที่นับถือ และเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์เก่าแก่
ในเวิ้งนครเขษมว่า

            คุณป.อินทรปาลิตเป็นนักเขียนที่มีรายได้ดีที่สุดคนหนึ่ง ในบรรดานักเขียนไทย
ในยุคนั้น ท่านมีรายได้ทุกวัน เบิกเงินค่าเขียนล่วงหน้าได้ทุกเวลา อาจจะเป็นเพราะระบบการจัดจำหน่ายหนังสือ
และธุรกิจการพิมพ์ในสมัยนั้น ซึ่งแตกต่างกับการตลาดหนังสือในปัจจุบัน ทำให้นักเขียนอาชีพไม่สามารถสร้างฐานะ
ให้มั่นคงได้จากการเขียนหนังสือเพียงอย่างเดียว ขณะที่คุณป.มีชีวิตอยู่ ท่านก็มีความพอใจกับระบบตอบแทน
ค่าเขียนในสมัยนั้น ผมเองได้พยายามถามผู้ใหญ่ว่าคุณป.พอใจหรือไม่ ท่านผู้ให้ข้อมูลซึ่งทำงานร่วมกับคุณป.
ยืนยันว่าคุณป.พอใจ

           คุณเริงไชย พุทธาโร ผู้เขียนหนังสือชีวประวัติของ  ป.อินทรปาลิต กล่าวถึงลิขสิทธิ์ว่า 

           ลิขสิทธิ์ของเขากระจัดกระจาย ที่ผมเห็นก็ที่ผดุงศึกษาเป็นลิขสิทธิ์ขายขาด และของที่อ่านก็ขายขาดอยู่หลายแห่ง
อย่างบรรณาคาร ก็เหมือนกัน
        ..จริงๆ แล้ว เรื่องลิขสิทธิ์ของ ป.ไม่มีใครรู้เลยแม้กระทั่งหลาน รู้แต่ว่าขายขาด แต่ไม่รู้ว่าขาดอย่างไร ตอนนี้มี
ประพันธ์สาส์นและบรรลือสาส์น แต่ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำสัญญากันอย่างไร

         
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 23 มี.ค. 08, 12:15

                ส. บุญเสนอ เขียนเรื่องลิขสิทธิ์ว่า

      มีสำนักพิมพ์หลายแห่งได้กรรมสิทธิ์บทประพันธ์ของเขา และซื้อราคาแพงกว่าของคนอื่น
ด้วยมั่นใจว่าอย่างไรเสียคงได้พิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้ง จึงกล้าลงทุนล่วงหน้าเอาไว้

      วิธีการซื้อขายลิขสิทธิ์บทประพันธ์ที่กระทำกันค่อนข้างจะแปลกสักหน่อย
มิใช่เลือกซื้อกันเป็นเรื่องๆ ต้องเหมาหมดเป็นปีๆ หมายความว่าคุณปรีชาเขียนอะไรไว้บ้างตลอดพ.ศ.นี้
ไม่ว่าจะเป็น เรื่องสั้น, เรื่องเป็นเล่ม หรือเรื่องที่ลงพิมพ์ในหนังสือรายอะไรก็ตาม ผู้ซื้อได้ลิขสิทธิ์ทั้งหมด
..เท่ากับได้ลิขสิทธิ์แถมพก ตัวเงินตัวทองอยู่ที่หนังสือเล่ม
       สำหรับบทประพันธ์ดังกล่าวในพ.ศ.ต่อๆ มาก็ซื้อขายในลักษณะเดียวกัน แต่อาจเป็นคนละสำนักพิมพ์
ใครมือไวและยาวกว่า ก็สาวได้ เฉพาะเรื่องยาวเช่น "เสือใบ" หรือ "เสือดำ" แยกขายต่างหากเป็นเรื่องๆ ไป

         มีข้อแม้ในการซื้อขายอย่างหนึ่งคือต้นฉบับทั้งหมดผู้ซื้อต้องขวนขวายหาหนังสือเอาเอง
ผู้ขายไม่มีให้เพราะนักเขียนส่วนมากไม่ค่อยได้เก็บหนังสือเรื่องของตนเอาไว้ครบชุด จะหาต้นฉบับได้
อย่างไรจากที่ไหนจึงเป็นปัญหา จะไปขอคัดลอกจากหอสมุดฯ ก็ยุ่งยากมิใช่น้อย แต่ทางออกพอยังมี
สำหรับหนังสือที่พิมพ์เป็นเล่ม คือเที่ยวเสาะหาเอาตามร้านให้เช่าหนังสือที่มีอยู่ทั่วกรุงเทพฯ  โดยวิธีการ
"ทุกรูปแบบ" อันเป็นคำใหม่ที่นิยมใช้เกร่อกันทุกวันนี้
       มีนักเขียนไม่กี่คนใช้ระบบซื้อลิขสิทธิ์เป็นปีๆ ดังที่เล่านี้ นอกนั้นเจาะจงซื้อขายกันเป็นเรื่องๆ

        หลานปู่ ปริญญา อินทรปาลิต เล่าชีวิตช่วงสุดท้ายของท่าน ป.ว่า

        2506 - ทำหนังสือ "ศาลาโกหก"(เรื่องเบาสมอง), "ศาลาดาวร้าย"(เรื่องบู๊) , "ศาลาระทม"(เรื่องชีวิตรักโศก),
"ศาลาปีศาจ"(เรื่องผี) และ "นิทานคุณหนู" ประชันกันเดือนละเล่ม โดยเขียนคนเดียวทั้งหมด และยังเขียนสามเกลอ
พ็อคเก้ตบุ๊คอีก ในที่สุดคงเหลือแต่ "ศาลาโกหก" คู่กับสามเกลอเล่มเล็ก ตลอดจนเรื่องประเภทอื่นอีกจำนวนหนึ่งเท่านั้น

        2510 - ช่วงปลายปีเข้าโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สาเหตุจากเบาหวานโรคประจำตัวตั้งแต่ปี 2498 รักษาตัวประมาณ 2 เดือน
จึงกลับบ้านเขียนหนังสือต่อไป
(อยู่โรงพยาบาลตั้งสองเดือน อาการคงไม่น้อย)

       2511 - ปลายเดือนมีนาคม เข้าโรงพยาบาลจุฬาฯ ครั้งที่สอง คราวนี้อยู่นานเกือบ 3 เดือน จนสุขภาพดีขึ้นในขั้นน่าพอใจ

        ท่านป.จากไปวันที่ 25 กันยายน  2511 เมื่อเวลา 18 นาฬิกา 15 นาที   
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 23 มี.ค. 08, 16:56

      ฟ้าทะลายโจร  ภาพยนตร์ไทยย้อนยุค สีสดจัดจ้าน ที่ไปคว้ารางวัล และได้รับคำชื่นชมในเมืองนอก
แต่ประสบความล้มเหลวในบ้าน
       ผู้สร้างได้แรงบันดาลใจจาก - หนังไทยยุคเก่า เพลงสมัยก่อน และ นิยายของ ป. อินทรปาลิต ครับ

หนึ่งในหลายฉากที่ติดตาคนดู - การดวลปืน ระหว่างเสือดำ - พระเอกกับเสือมเหศวร   


บันทึกการเข้า
elvisbhu
แขกเรือน
พาลี
****
ตอบ: 215

เป็นคนเขียนรูป


ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 23 มี.ค. 08, 17:06

เลือนรางมากเลยครับ เรื่องเสือทั้งสาม ผมอ่านแต่ที่เป็นการ์ตูน ส่วนหนังฟ้าทะลายโจร เพื่อนผมไปดูมาแล้วเธอบอกว่า มันไม่ใช่หนังฮ่ะ มันคือการจัดวางองค์ประกอบของภาพนิ่ง แล้วมาต่อๆกัน คุณเข้าใจมั้ยยย์
คนโฆษณาเขาเรียกว่า หนังพวกอาร์ต ไดเร็คเตอร์
ตั้งแต่เรื่องนางนากมาเลย ..คนเขียนบท เขียนบทหนังไม่ได้เป็นบทหนังเลย...
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 23 มี.ค. 08, 17:25

       หนังนานหลายปีแล้ว ที่ยังจำได้ชัดเป็นเรื่องงานสร้าง - ภาพสวย เพลงไพเราะ เรื่องราวแบบตั้งใจ
ให้เป็นแบบหนังไทยยุคก่อนที่บางคนเหยียดกัน ครับ
       เรื่องของบท เข้าใจว่าเขียนเป็นสตอรี่ บอร์ด แล้วจงใจประดิษฐ์จัดสร้างให้แต่ละภาพออกมา
เป็นแบบงานศิลป์สวยสุด จนติดตาคนดู อย่างนี้กระมังทำให้ดูแล้วกลายเป็นภาพงามนำมาเรียงเป็นเรื่อง
       แต่ก็ไม่มีปัญหาในการสื่อเล่าเรื่อง เพราะพาแม่ไปดู ก็ดูได้สนุกเพลิดเพลิน ไม่บ่นว่า
หนังอะไรไม่รู้ ดูไม่รู้เรื่อง
       
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 23 มี.ค. 08, 22:09

ผมเคยกินฟ้าทลายโจรเวลาเป็นหวัด...... เอ๊ย


เคยดูมาหนนึงครับ จำได้ว่าโทรทัศน์ช่องไหนซักช่องนำมาฉาย
(น่าจะเป็นรอบดึก หลังละครหลังข่าวไปแล้วนะครับ)
ดูแล้วรู้สึกว่าภาพสวย เพลงใช้ได้ แต่ที่ประทับใจที่สุดคือ ฉากครับ
ฉากสวยมาก เครื่องแต่งกายของตัวละครดูทุ่มทุนสร้างอย่างตั้งใจทำ
แต่ทำไมดูๆไปความรู้สึกเหมือนว่าเนื้อของหนังมันน้อยกว่าที่คิดไปหน่อย....
แอบยืดเหมือนละครหลังข่าว แต่ก็สั้นแค่สองชั่วโมง จบซะแล้ว
เหมือนนั่งอ่านการ์ตูนโดนัลดั๊กในวารสารการ์ตูนซักตอนเท่านั้นแหละ

ผมเดาเอาว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับผมแบบนี้หรือเปล่าครับ
ที่คุณภูพูดถึงว่าเหมือนนำภาพสวยๆมาเรียงต่อกันมากกว่าเป็นบทหนัง ??
ถ้าผมเข้าใจอะไรผิดไป ต้องรบกวนขอความอนุเคราะห์จากคุณภูด้วยนะครับ
บันทึกการเข้า
elvisbhu
แขกเรือน
พาลี
****
ตอบ: 215

เป็นคนเขียนรูป


ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 24 มี.ค. 08, 12:04

ต้องย้อนกลับไปถามผู้กินกับ!! เอ๊ย...ผุู้กำกับครับคุณติบอ ว่าเขากำลังให้อะไรกับคนดู ..เค้าก็จะตะโกนบอกกลับมาว่าให้ไปหมดแล้วดูเอาเองจากในหนังนั่นแหละ !!!

เราได้อะไรจากหนัง นั่นคือความรู้สึกโต้ตอบทันทีที่เราเพิ่งดูจบ.....หลับ..ครอก ..!! สนุก รู้สีกอิ่มเอิบ ซาบซึ้ง รันทด ตลก  ห่วย ไม่ดูก็ได้ เสียดายตังค์ คุ้มค่า เสียเวลาลุกออกกลางโรงเลย ตื่นเต้นเหลือเกิน!!!!! ยิ่งใหญ่อล้งการ..ฉีกรูปแบบแปลกไม่เคยมีหนังเรื่องใหนทำมาก่อน  แง่คิดมุมมองใหม่ที่ทำให้เราหูตาสว่างขึ้น เทคนิคใหม่ที่ตรึงเราไว้กับที่นั่งตั้งแต่เริ่มดูจนหนังจบแล้วเรายังอินอยู่  ความกลัวสยดสยองที่ติดตามาจนลืมไม่ลงเก็บไปฝันร้ายอยู่ 3 วัน ความซาบซึ้งจนน้ำตาที่ไหลพรากในโรง(ไม่กล้าปาดกลัวคนข้างๆ ค้อนผู้ชายอะไร้..ใจปลาซิว) เรื่องนี้ต้องมาดูซ้ำเพื่อเก็บรายละเอีบดบางซีน  หรือมีบางวลีเป็นpoemที่ประทับใจมาก ฟังไม่ทัน (สมัยยังไม่มี DVD) นั่นคือผล

ผมเชื่อว่าทุกคนมีการจัดอันดับหนังที่อยู่ในใจไม่ต้องรอให้นักวิจารณ์หนังมาให้ดาวจึงเอออวย


บันทึกการเข้า
กุ้งแห้งเยอรมัน
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1573



ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 24 มี.ค. 08, 16:28

ดิฉันเป็นอีกคนค่ะ ที่ต่อมน้ำตาทำงานไวมาก เวลาดูหนัง หรืออ่านเจอคำพูดที่สะเทือนใจจริงๆ มันจะไหลพรากๆกลืนกับความมืด
ต่อมหัวเราะสิคะ ทำงานช้ากว่า แต่บทจะขำก็ไม่กิ๊กหรอก ฮาเลย ขึ้นอยู่กับดีกรีความสนุก
โดยเฉพาะเรื่องเปิ่นๆของนิกร กับกิมหงวน
อาจารย์อุตส่าห์หารูปไทโรน พาวเวอร์มาลง โอ้โฮ้... หล่อแบบน่ากราบค่ะ โบร้าณโบราณ เป็นประมาณคุณชายผู้สูงส่ง ไม่กล้าหลงรัก
นายพล พัชราภรณ์ยังหล่อกว่าไทโรนเชียว ดิฉันว่า เกรเกอรี่ เป็คน่ะ ก็ในฝันแล้วนะ
ถ้านึกถึงชายไทย น่าจะหล่อประมาณคุณชนะ ศรีอุบล หรือคุณไชยา สุริยันได้ไหมคะ
แต่คุณป. ไม่เคยพรรณาพล พัชราภรณ์ แล้วทำให้ดิฉันนึกภาพคุณมิตร ชัยบัญชา
มีละครชุดสามเกลอที่ดิฉันเซ็งมาก เอาดาวตลกมาเล่นเป็นนิกร คือคุณสมพงษ์ พงษ์มิตร ถึงจะเล่นดีแค่ไหนก็เถอะ มี"นิกร"อยู่ข้างใน แต่ก็ไม่ใช่นิกร การุณวงศ์ที่คิดไว้
เหมือนรพินทร์ ไพรวัลย์ ที่กลายเป็นคุณอะไร ที่ลงทุนสร้างหนัง และเล่นเป็นพระเอกมันเสียเลย.. ฮึ่ม
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.049 วินาที กับ 19 คำสั่ง