เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2] 3
  พิมพ์  
อ่าน: 10912 พระราชวังแวร์ซายล์ กับ คณะฑูตไทยสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
นางในหมอก
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 05 ม.ค. 01, 05:08

ขออ่านอย่างเดียวเจ้าค่ะ
เอ สมัยก่อนโน้นกว่าจะเดินทาง
ไปถึงฝรั่งเศส พระยาโกษาปาน
คงเมาเรือน่าดู คิก คิก

รูปถ่ายสวยมากๆ ค่ะ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 05 ม.ค. 01, 08:09

เห็นด้วยกับคุณนกข.ครับ ผมว่าคนไทยอำคนไทยกันเองมากกว่า บันทึกในเรื่องนี้ของไทยกับฝรั่งเศสผิดกันลิบลับครับ ฝรั่งนั้นมีวัฒนธรรมการบันทึกที่ลงตัวแล้วในเวลานั้น ของแถบเราพงศาวดารมักเขียนย้อนหลัง พงศาวดารพม่าบางฉบับเล่าย้อนหลังกันเป็นพันปีก็มีครับ คงเอานิยายอะไรมากไม่ได้
สำหรับคุณนางในหมอก ในพงศาวดารไทยเล่าว่าการเดินทางนี้เรือของคณะทูตไปติดอยู่ในวังวนใหญ่กลางทะเลครับ(นึกภาพไม่ออกเหมือนกัน) เรือวนอยู่รอบวังวนอยู่ ๓ วัน ๓ คืนก็ยังไม่จมลงไปเสียที ราชทูตจึงบนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่าถ้าสยามกับฝรั่งเศสมีวาสนาจะได้เจริญสัมพันธไมตรีขอให้เรือพ้นจากวังวนนี้เถิด เรือจึงพ้นมาได้ พอไปถึงฝรั่งเศสพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสก็ทึ่งตามเคยครับว่าไทยรอดมาจากวังวนนั้นได้อย่างไร
อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ก็มีมูลความจริงอยู่บ้าง ผมเคยอ่านเจอผ่านๆว่าคณะทูตไทยเจอเอาพายุกลางทะเล รายละเอียดจำบ่ได้แล้ว ใครรู้ละเอียดรบกวนเล่าด้วยครับ
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 05 ม.ค. 01, 17:50

จากความจำซึ่งไม่ปะติดปะต่อและอาจไม่แม่นยำนะครับ

คณะทูตไทยไปเจริญสัมพันธไมตรีกับมหาอำนาจยุโรป มีไปหลายคราว และดูเหมือนมีคราวหนึ่ง (ไม่ใช่ครั้งโกษาปาน) ที่ทูตไทยไปเจอพายุเรือแตกเอาจริงๆ แต่ตัวทูตรอดมาขึ้นฝั่งได้ ดูเหมือนจะแถวๆ แอฟริกา แหลมกูดโฮปหรือไงนี่แหละ

ธรรมเนียมไทยโบราณเวลาส่งทูต จะมีไปเป็นคณะ 3 คน ไม่นับพนักงาน เจ้าหน้าที่ ทหาร เสมียน ล่าม ฯลฯ นะครับ ที่เป็นตัวทูตแท้นั้นมีราชทูต เป็นที่ 1 อุปทูตเป็นที่ 2 และตรีทูต เป็นที่ 3

คำว่าราชทูต เรายังใช้อยู่จนเดี๋ยวนี้ในคำ เอกอัครราชทูต อัครราชทูต และอัครราชทูคที่ปรึกษา ซึ่งเทียบแปลเป็นฝรั่งว่า Ambassador, Minister, และ Minister-Counsellor ตามลำดับ มีนักแปลบางท่าน มีมติว่า คำเหล่านี้ควรใช้แต่กับประเทศที่มีกษัตริย์ ถ้าเป็นทูตจากประเทศสาธารณรัฐ ผมเห็นบางทีก็แปลกันว่า เอกอัครรัฐทูต แต่ผมเอง มีความรู้สึกส่วนตัวว่าคำว่าเอกอัครราชทูต อัครราชทูต และอัครรราชทูตที่ปรึกษา เป็นคำทั่วไปไปแล้ว ไม่ต้องแปลว่าทูตเฉพาะของพระราชาก็ได้

อุปทูต ก็ยังเป็นคำที่ใช้อยู่ แต่ความหมายเปลี่ยนไปบ้าง อุปทูตเดิมเป็นตำแหน่งที่สองในคณะทูต เดี๋ยวนี้ ตำแหน่งที่สองในสถานทูตก็แล้วแต่ว่าจะเป็นสถานทูตเล็กหรือใหญ่ บางที่อาจจะเป็นอัครราชทูต บางที่อาจจะเป็นที่ปรึกษา สถานทูตบางแห่งของบางประเทศเล็กมากๆอาจจะมีแต่ตัวเอกอัครราชทูตกับเลขาเอกเท่านั้น เลขาเอกก็เป็นเบอร์สอง แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ตำแหน่งเบอร์สองอย่างนี้ ไม่เรียกว่าอุปทูต อุปทูต คือผู้รักษาการทำการแทนเอกอัครราชทูต เมื่อทูตไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ จึงจะเรียกเบอร์สอง หรือเบอร์รองๆ ลงไป (ถ้าหากเบอร์สองก็เผอิญไม่อยู่) ว่า อุปทูต คือเป็นตำแหน่งชั่วคราวไม่ใช่ตำแหน่งประจำ อุปทูตในความหมายปัจจุบันนี้ ตรงกับภาษาฝรั่งว่า Charge d' affaires

ในบางครั้งเมื่อสถานการณ์ไม่ปกติ หรือความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศไม่ปกติ อาจจะมีการเรียกทูตกลับหรือไม่มีการส่งตัวทูตไปประจำเมืองหลวงอีกฝ่าย ผู้แทนทางการทูตที่ทำหน้าที่อยู่ก็เป็นอุปทูต ที่เห็นได้ชัดที่สุดก็อุปทูตโคจาของซาอุดิอารเบียไงครับ การที่เขาไม่ยอมส่งเอกอัครราชทูตมาเมืองไทย ก็เพราะเขายังโกรธไทยอยู่

ที่ผมสนใจมากที่สุด คือ คำว่า ตรีทูต ซึ่งเป็นตำแหน่งทูตที่สามในคณะทูตไทยโบราณ เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว ผมยังไม่เข้าใจว่า ทำไมคำว่าตรีทูตในชั้นหลังนี่จึงกลายไปเป็นหมายความว่าโคม่า ใกล้จะตาย ไปได้ อย่างที่พูดว่า อาการเข้าขั้นตรีทูตแล้ว งงครับ
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 05 ม.ค. 01, 18:05

ถามเอง เดาเอง ว่า มาจากพุทธประวัติตอนเจ้าชายสิทธัตถะทรงเห็น "เทวทูต 4"  จำแลงมาสื่อ หรือมาเตือน ให้ทรงระลึกได้ถึงความจริงแห่งชีวิต (หลังจากถูกพระราชบิดาพยายามวาดภาพชีวิตให้มีแต่สิ่งน่ารื่นรมย์เป็นโลกียสุขอยู่นาน) และดำริจะออกบวช คือ
คนแก่ 1 คนเจ็บ 1 คนตาย 1 และสมณะ 1
คนตายที่เจ้าชายสิตธัตถะได้เห็นนั้น เป็นทูตหมายเลข 3 ... คือตรีทูต
เดาเอานะครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 05 ม.ค. 01, 18:18

เปิดพจนานุกรมของราชบัณฑิตยฯ  ให้ความหมาย"ตรีทูต" ว่า ผู้แทนคนที่ ๓ (นี่คงจะหมายถึงตำแหน่งทูต),  ลักษณะบอกอาการของคนเจ็บหนักใกล้จะตาย( คืออาการขั้นตรีทูต)
เคยได้ยินคุณแม่พูดว่า เข้าขั้นชักกระตุกตรีทูต  คงเป็นอาการขั้นที่ ๓ ของคนป่วยหนัก   แต่อาการขั้น ๑ และ ๒ เป็นยังไงไม่ทราบ

แต่อ่านคำสันนิษฐานของคุณนกข.แล้ว  เข้าเค้ามากค่ะ  

ย้อนมาถึงตำแหน่งทูต    เคยมีขุนนางท่านหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๖  มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาอนุทูต   คิดว่าท่านคงเป็นอุปทูต

ขอถามเป็นความรู้  ในสถานทูตใหญ่ๆอย่างสหรัฐอเมริกาหรืออังกฤษ  ข้าราชการสถานทูตไทย มีตำแหน่งเรียงลำดับจากหนึ่งไปถึงสุดท้าย อะไรบ้างคะ
ดิฉันเคยเขียนจดหมายถึง "ที่ปรึกษาการศึกษา" ที่สหรัฐ  ตำแหน่งนี้อยู่ในลำดับไหนคะ และมีหน้าที่อะไร?
บันทึกการเข้า
นางในหมอก
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 05 ม.ค. 01, 19:57

มาอ่านต่อเจ้าค่ะ  
เรื่องการเดินทางในอดีตของไทย เป็นเรื่องราว
น่าสนใจมากทีเดียว
เคยอ่าน เรื่องตามเสด็จไกลบ้าน
อ่านแล้วอยากเดินทางไปตามหาเรื่องราวใน
อดีตอย่างนั้นบ้างจัง
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 05 ม.ค. 01, 21:26

ลำดับอาวุโสของตำแหน่งทางการทูตที่ใช้กันเป็นสากล และไทยก็รับมาด้วยนี้ เป็นดังนี้ครับ
เอกอัครราชทูต Ambassador
(ถ้าไม่อยู่ ผู้รักษาการแทน ทำการแทน ไม่ว่าจะมีตำแหน่งของตัวจริงๆ ระดับไหนอยู่ เรียกว่า อุปทูต) ระบบซีของเรา กพ. กำหนดให้เป็นระดับ ซี 10 เท่าอธิบดี รองปลัดกระทรวง ผู้ว่าราชการจังหวัด
อัครราชทูต Minister ในที่นี้ไม่ได้แปลว่ารัฐมนตรีครับ นอกจากนั้น  มินิสเตอร์แปลว่านักบวชในศาสนาคริสต์อย่างหนึ่งก็ได้อีกด้วย กพ. ให้เท่ากับซี 9 เท่ารองอธิบดี
อัครราชทูตที่ปรึกษา Minister-Counsellor เป็นข้าราชการชั้นซี 8 เท่ากับระดับผู้อำนวยการกอง
ที่ปรึกษา Counsellor เป็นซี 7
เลขานุการเอก First Secretary อย่างผม เป็นซี 6 เลขาโท Second Secretary เป็นซี 5 เลขาตรี Third Secretary เป็นซี 4 ภาษาลาวดูเหมือนจะเรียกเลขานุการที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม ไม่เรียกเอก โท ตรี
ตำแหน่ง First Secretary เป็นแค่ชื่อตำแหน่งเท่านั้นเอง ไม่ได้แปลว่าผมเป็นนักพิมพ์ดีดหมายเลขหนึ่งแต่อย่างใด
ซี 3 ปกติสมัยนี้เราไม่ส่งออกประจำการต่างประเทศครับ แต่ถ้ามี ก็จะเรียก Attache แอตตาเช่ ก่อนนี้เคยเห็นเรียกกันว่า นายเวร หรือผู้ช่วยเลขานุการ แต่เดี๋ยวนี้เลิกใช้คำนั้นแล้ว
นี่ว่ากันเฉพาะราชการฝ่ายกระทรวงต่างประเทศนะครับ สถานทูตแต่ละแห่งไม่จำเป็นต้องมีบุคลากรเต็มตามตำแหน่งทุกตำแหน่งเสมอไป บางที่ก็มีอยู่เพียง 3-4 คนเท่านั้นเองรวมตัวทูตแล้วด้วย

ทีนี้ ราชการฝ่ายกระทรวงอื่นๆ ที่มาทำงานร่วมกับเราในสถานทูต
ทางทหาร ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบกเรืออากาศ (บางประเทศมีไม่ครบสามเหล่า) ต้องเป็นนายทหารยศพันเอกหรือเทียบเท่า รองผู้ช่วยทูตทหาร (บางแห่งไม่มี) ต้องเป็นพันโทหรือเทียบเท่า ที่เรียกว่า "ผู้ช่วย" ทูตฝ่ายทหาร นี้ เป็นตำแหน่งสูงสุดแล้วนะครับของฝ่ายทหารประจำสถานทูตนั้นๆ คือตรงกับที่แต่ก่อนเคยเรียกว่า "ทูตทหารๆ" นั่นเอง ชื่อตำแหน่งจริงๆ นั้นคือ ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร มีความหมายโดยนัยว่า ตัวท่านทูตจริงๆ นั้น คือเอกอัครราชทูต แล้วท่านผู้การทูตทหารเหล่านี้ก็เป็นผู้ช่วยของท่านทูต ในกิจการทางทหาร
นอกจากนั้น เรามีข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ เกษตร คลัง วิทยาศาสตร์ กพ. แรงงาน ... มีอะไรอีกก็ไม่แน่ใจ ไปประจำอยู่ในสถานทูตไทยบางแห่งด้วย แต่ละท่านเหล่านี้ก็รับผิดชอบความสัมพันธ์ไทยกับประเทศนั้นๆ ในด้านของท่าน
ข้าราชการเหล่านี้ตำแหน่งอาวุโสระดับไหนก็เป็นไปตามอัตรากำลังที่ กพ. และต้นสังกัดกำหนด เช่น ที่เราเรียกกันเล่นๆ ว่า "ท่านทูตพาณิชย์ๆ"  นั้น ในสถานทูตบางแห่งเป็นซี 7 ท่านก็จะเป็นที่ปรึกษาฝ่ายการพาณิชย์ บางที่เป็นซี 8 ก็เป็นอัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายพาณิชย์
อย่างที่วอชิงตันนั้น ที่ปรึกษาฝ่ายการศึกษา ไปจาก กพ. ครับ คือเราให้ กพ. ดูแลนักเรียนทุนรัฐบาลและข้าราชการที่ไปศึกษาที่นั่น รวมไปถึงนักเรียนทุน พก. ที่ฝากให้ กพ.ดูด้วย แล้วเราก็เรียกตำแหน่งท่านให้ฝรั่งเข้าใจได้ง่ายๆ ว่าเป็นที่ปรึกษาสถานทูตฝ่ายการศึกษา ทั้งๆ ที่ท่านไม่ได้มาจากกระทรวงศึกษา เพราะจะเรียกว่าเป็นที่ปรึกษาฝ่าย Civil Service ซึ่งดูแลนักเรียนทุนรัฐบาลและข้าราชการที่ลาศึกษา... ก็จะยาวและฝรั่งจะงงเสียเปล่าๆ
ดูจากชื่อ แปลว่าท่านเป็น Counsellor คือเป็น ซี 7 แต่ผมเข้าใจว่านี่เป็นตำแหน่งเก่า เข้าใจว่าเดี๋ยวนี้ตำแห่งนี้เป็นอัครราชทูตที่ปรึกษา คือ ซี 8 แล้ว
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 05 ม.ค. 01, 21:40

มีบางที่ที่ "ท่านทูตพาณิชย์" เป็นซี 9 เพราะเป็นสถานทูตที่มีความสำคัญทางการค้าสูง ก็เป็นอัครราชทูต (ฝ่ายพาณิชย์)
ตำแหน่งเดียวในต่างประเทศเวลานี้ที่ข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ดำรงตำแหน่งระดับ 10 (เอกอัครราชทูต) อยู่ คือ ตำแหน่งเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก ที่เจนีวา

เรื่องตำแหน่งต่างๆ ในต่างประเทศนี้ เมื่อเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 40 รัฐบาลก็ประหยัด โดยปรับลดอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ในต่างประเทศลง ปิดสำนักงานของบางกระทรวงในบางประเทศลงไปบ้างก็มีครับ แล้วก็ลดเงินที่ให้พวกผมที่นี่ลงไปด้วย ค่าเช่าบ้านในต่างประเทศถูกปรับลดลง 30 % ทั่วโลก ก็ทำให้เราต้องย้ายบ้านกันบ้าง หรือคนมาใหม่ก็หาบ้านยากขึ้นหรือได้บ้านเล็กลง แต่เราก็เข้าใจ เพราะประเทศของเรากำลังแย่ ต้องช่วยๆ กัน
บันทึกการเข้า
อยากรู้
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 06 ม.ค. 01, 01:12

ขอแจมหน่อยค่ะ แล้วอย่างคุณศุพชัย พาณิชภักดิ์ ถ้าสะกดนามสกุล
ผิดก็ขออภัยด้วย จะไปเป็น ผอ องค์การค้าโลก จริงๆ มันก็น่าจะเกี่ยว
กับเศรษฐศาสตร์มากกว่า ไม่ทราบว่าเป็นซีอะไรคะ เห็นคุนนกข เอ่ย
ไปเรื่องตำแหน่งเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก ที่เจนีวา
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 08 ม.ค. 01, 18:26

ประเด็นหลุดจากเรื่องราชทูตสมัยโกษาปานไปเป็นเรื่องสมัยปัจจุบันไปแล้ว ขออภัยเจ้าของกระทู้ด้วยครับ

ท่านอดีตรองนายกฯ ศุภชัย ไม่ได้เป็นซีอะไรทั้งสิ้นครับ เพราะตำแหน่งที่ท่านกำลังจะได้มาเป็นนั้น ไม่ใช่ตำแหน่งในระบบราชการไทย ท่านกำลังจะมาเป็น ผอ.ใหญ่องค์การการค้าโลก ซึ่งเป็นตำแหน่งขององค์การระหว่างประเทศ ถือว่าเมื่อท่านมารับตำแหน่งนี้ท่านก็จะกลายเป็นคนของโลก ไม่ใช่คนของประเทศไทยประเทศเดียว
ผมเห็นด้วยว่าตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ WTO ควรรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์ แต่ท่านศุภชัยก็มีพื้นความรู้ด้านนี้มาด้วยไม่ใช่หรือครับ

เมื่อท่านศุภชัยมาเป็น ผอ. WTO แล้ว ตำแหน่งเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรของไทยประจำองค์การ WTO ก็ยังคงมีอยู่ เพราะเป็นคนละส่วนกัน ท่านทูตไทยประจำ WTO เป็น ซี 10 ทำหน้าที่ให้รัฐบาลไทย ทำงานคนละด้าน (แต่เกี่ยวเนื่องกัน) กับท่าน ผอ.ศุภชัย ซึ่งทำงานให้องค์การ หรือให้รัฐสมาชิกทั้งหมด
บันทึกการเข้า
คนถาม
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 09 ม.ค. 01, 00:59

ใช่ใช่ รู้ว่าคุณศุพชัยอดีตเคยเป็นเด็กทุนแบงค์ชาติ เป็นคนเก่ง นิสัยดี เรื่องนิสัย
ไม่รู้นะคะ พอดีคนรู้จักเค้ารู้จักคุณศุพชัยก็เลยทราบว่าตัวจริงแกค่อนข้าง
nice มาก ข่าวคือถ้าปชปได้เสียงข้างมาก คุณศุพชัยจะเป็นที่ปรึกษาให้
แต่ก็ ทรท ชนะ แต่ก็มีข่าวลืออีกว่า ทรท ขอเชิญตัวคุณศุพชัยไปเป็นที่ปรึกษา
แต่เค้าไม่ตอบว่าอะไร เพราะบอกว่าตำแหน่งที่เค้าจะไปทำในอีก สองปีข้างหน้านี้
ก็ทำเพื่อประเทศด้วยนอกจากทำเพื่อตัวเค้าเอง

ขอบคุณ คุณนกข อีกครั้งค่ะ แล้วก็ขอโทษเจ้าของกระทู้ด้วย พอดีอยากอ่าน
ประวัติคุณศุภชัยเหมือนกัน แต่หาอ่านไม่ได้
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 09 ม.ค. 01, 07:46

ขออภัยเจ้าของกระทู้อีกทีครับ
ประวัติคุณศุภชัย กระทรวงพาณิชย์น่าจะมีครับ
ลืมเรียนข้อเท็จจริงที่น่าสนใจไปว่า ท่านทูตไทยประจำ WTO ท่านปัจจุบัน เป็นสุภาพสตรีครับ

...............
กลับไปสมัยพระนารายณ์นะครับ เจ้าของกระทู้คงเซ็งแย่แล้วที่ผมลากกระทู้ท่านไปไกลขนาดนี้

เรื่องพายุพัดเรือราชทูตไทย ไม่มีใครมีเรื่องรายละเอียดต่อเลยหรือครับ ผมอยากทราบ
ครั้งโกษาปานไปฝรั่งเศสนั้น บันทึกว่าเจอลมพายุเข้าบ้างเหมือนกัน แต่รอดมาได้ เรือไม่ล่ม (ตามที่ว่ามีการบนบาลศาลกล่าวตั้งสัตยาธิษฐานกันด้วย)
แต่ครั้งที่เรือแตกจริงๆ นั้น ไม่แน่ใจว่าครั้งไหน แต่ไม่ใช่ครั้งที่โกษาปานไปแน่ คลับคล้ายคลับคลานะครับว่า เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ คอนสแตนติน ฟอลคอน ที่ร่วมสมัยกับโกษาปานนั้น เคยได้มีส่วนช่วยขุนนางไทยที่ออกไปราชการแล้วเรือแตก จะเป็นทูตหรือไม่ ไม่แน่ใจ ขุนนางไทยที่ฟอลคอนช่วยไว้นั้นมีส่วนชักนำให้ฟอลคอนเข้ามาสู่ราชสำนักสยามด้วย
............

เรื่องแก้วดวงใหญ่เหลือเชื่อที่ทำให้องค์พระเจ้าหลุยส์แดงไปทั้งองค์ ทั้งห้องด้วยนี่ คุณจ้อไปเห็นแวร์ซายล์มาแล้ว (ผมยังไม่ได้เห็น) เป็นไปได้ไหมครับว่าคนไทยที่เขียนบันทึกสมัยหลังสับสนกับ "ห้องเขียว" / "ห้องแดง" / "ห้องฟ้า" ฯลฯ ที่วังฝรั่งมักจะมี ที่สถาปนิกกำหนดให้ใช้สีนั้นๆ แต่งห้องทั้งห้อง โดยไม่เกี่ยวกับเพชรพลอยที่พระเจ้าหลุยส์ทรงแต่อย่างใด แวร์ซายล์มีห้องแบบนี้ไหมครับ
.............
เครื่องแบบราชทูต อุปทูต ตรีทูต สมัยนั้น ผมคงไม่มีวาสนาจะได้ใส่ในสมัยนี้แล้ว เพราะทูตสมัยนี้ก็แต่งตัวชุดสากลธรรมดา (หรือในบางโอกาสอย่างที่จะแปลกบ้างก็อาจจะตอนแต่งชุดขาวข้าราชการ) แต่ดูในรูปเขียน ทูตสมัยโกษาปานใส่ชุดคล้ายๆ พระยาแรกนาสมัยนี้ สวมครุย สวมลอมพอกหรืออะไรคล้ายๆ ชฎาด้วย
เมื่อไม่เกินร้อยปีมานี้เอง ข้าราชการฝ่ายการทูตของไทยมีเครื่องแบบแปลกประหลาดพิเศษไปกว่าขุนนาง เอ๊ยข้าราชการไทยอื่นนะครับ ผมหมายถึงสมัยราวๆ ร.5/ ร. 6 ครั้งนั้นเป็นสมัยล่าอาณานิคม มีความจำเป็นที่เราต้องทำตัวให้ฝรั่งเขาไม่ดูถูกแล้วก็หาเรื่องยึดเราเป็นเมืองขึ้น วิธีการที่จะไม่ให้ฝรั่งดูถูกก็คือ จำเป็นต้องทำอะไรที่เหมือนๆ ฝรั่ง เพราะฝรั่งสมัยนั้นหลายคนใจแคบ อะไรที่แปลกประหลาดไปจากของเขา เขาเห็นเป็นป่าเถื่อน ดังนั้น ราชทูตสยามจะแต่งตัวมีเอกลักษณ์ไทยแบบสมัยโกษาปานไม่ได้แล้ว เขาจะหาว่าป่าเถื่อนเอา ดังนั้นเครื่องแบบทูตสยามก็ลอกเครื่องลิเกฝรั่งมาเลย คือเครื่องแบบขุนนางชั้นสูงในราชสำนักฝรั่ง มีแม้แต่หมวกพู่ ทรงที่ไทยแต่ก่อนท่านเรียกว่า หมวกอุศเรนด้วย
นึกดูผมก็ออกจะดีใจทีไม่จำเป็นต้องแต่งเครื่องแบบนั้นแล้วในสมัยนี้... แต่ก็ยังแต่งตัวลอกฝรั่งมาอยู่ดี เพียงแต่วิลิศมาหราน้อยลง แต่เดี๋ยวนี้เขาไม่เรียกว่าเครื่องฝรั่ง เขาเรียก เครื่องชุด "สากลนิยม" แทน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 09 ม.ค. 01, 09:08

ชุดที่โกษาปานแต่งเป็นเครื่องแบบเต็มยศของข้าราชการสมัยอยุธยาค่ะ  ส่วนที่สวมบนศีรษะเรียกว่าลอมพอก
ข้าราชการรัตนโกสินทร์ยังคงรับสืบทอดมา ตรงเสื้อผ้าโปร่งสวมทับ ที่เราเรียกว่าเสื้อครุย  แต่ไม่สวมลอมพอกแล้ว
เสื้อครุยข้าราชการนี่เองก็กลายมาเป็นชุดรับปริญญาของบัณฑิตจุฬาฯ ซึ่งก่อกำเนิดขึ้นมาตอนแรกเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือน   ส่วนเสื้อครุยธรรมศาสตร์ ได้แบบมาจากบัณฑิตฝรั่ง  
เสื้อครุยบัณฑิตฝรั่งก็ไปได้แบบมาจากเสื้อคลุมพระบาทหลวงอีกทีหนึ่ง เพราะตั้งแต่ยุคกลาง ผู้เล่าเรียนเขียนอ่านเป็นบัณฑิตได้ก็มีแต่พวกพระบาทหลวง
ย้อนกลับมาอีกที  
ตอนราชทูตไทยไปอังกฤษสมัยร. ๔ ก็ยังแต่งครุยชุดโกษาปานนี่แหละ แต่ไม่มีลอมพอก สวมหมวกแทน  ราชทูตสวมหมวกปีกกว้างแบบพระมาลาของร. ๑ ตามพระบรมราชานุสาวีรย์เชิงสะพานพุทธ   ส่วนทูตและผู้ติดตามรองลงมาสวมหมวกหูกระต่ายเหมือนพวกที่แต่งชุดไทยตามเสด็จเวลาเสด็จพระราชดำเนิน  คือไม่มีปีก แต่มีแผ่นห้อยลงมาปิดหูสองข้าง
ชุดเสื้อครุย ทับเสื้อคอปิดกับผ้าม่วง เคยเห็นม.ร.ว. คึกฤทธิ์แต่งถ่ายรูปเอาไว้ พร้อมเครื่องยศแบบเจ้าพระยา  ถือดาบฝักคร่ำทอง  มีเชี่ยนหมาก กระโถน พานทอง  วางอยู่บนโต๊ะข้าง   อลังการดีค่ะ
อีก ๓๐ ปี ถ้าเพื่อนฝูงเรือนไทยคนไหนได้เป็นข้าราชการตำแหน่งใหญ่ระดับพระยาเจ้าพระยา  จะลองแต่งชุดขุนนางโบราณถ่ายรูปโชว์ก็คงโก้ไม่เบา  
 ถ้าหากว่าดิฉันยังเล่นเน็ตอยู่จนถึงเวลานั้นจะไปขอประทานกราบเรียน เชิญภาพถ่ายมาลงให้ดูทั่วกันไงคะ
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 28  เมื่อ 09 ม.ค. 01, 12:31

วาสนากระผมจะถึงชั้นนั้นหรือเปล่าก็มิรู้ได้ขอรับกระผม
แต่ว่า สุภาพสตรีที่ได้รับพระราชทานตราตั้งเป็นคุณหญิงนี่ สมัยก่อนก็พระราชทานหีบหมากเป็นเครื่องยศด้วยรึไงนี่แหละครับ สมัยก่อนนี้ ก่อนที่จะมีคุณหญิงอย่างสมัยนี้ (ไม่นับคุณหญิงที่อยู่ดีๆ ก็ได้เป็น เพียงเพราะเป็นเอกภริยาของเจ้าคุณ) สตรีที่จะได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์โดยที่เป็นผลมาจากการปฏิบัติหน้าที่ภารกิจของผู้นั้นเอง ไม่ใช่อาศัยสามี  นั้น ส่วนมากเป็นคุณท้าว เช่น คุณท้าวที่รับราชการฝ่ายใน หรือคุณท้าวเทพสตรี คุณท้าวศรีสุนทร คุณท้าวสุรนารี
สมัยนี้คุณหญิงที่เป็นคุณหญิงตามสามี คงหาไม่ได้เท่าไหร่แล้ว เพราะผู้หญิงมีความสามารถและได้โอกาสแสดงความสามารถกันเองได้มากขึ้น คุณหญิงประเภทนี้แต่ก่อนคงใกล้เคียงกับคุณท้าวมากกว่า
คุณเทาฯ พอจะหารูปถ่ายคุณท้าวสมัยใหม่พร้อมกาน้ำหีบหมากเครื่องยศพระราชทานมาลงแทนไปก่อนได้ไหมล่ะครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 29  เมื่อ 09 ม.ค. 01, 13:28

เอางั้นเชียวหรือคะ?
เคยเห็นเหมือนกันค่ะคุณท้าวยุคใหม่ที่ว่ามา  แม้ว่าท่านจะไม่เอากาน้ำหีบหมากมาโชว์ แต่ก็มีชุดไทยยกทอง   เครื่องราชฯเหรียญตราสายสะพาย พร้อมเครื่องเพชรประจำตระกูล  อลังการไม่แพ้เจ้าคุณ
เสียแต่ท่านเหล่านั้นไม่เล่นเน็ต เลยไม่มีภาพจะมา scan ประดับเรือนไทย
มีแต่คนมีเท้าเฉยๆ เอาไว้วิ่งหาข้อมูล   ไร้อลังการ
นอกจากกินไม่ได้แล้วยังไม่เท่อีกตะหาก
เลยไม่เอามาโชว์ให้รกเรือนไทยเปล่าๆคะ  นอกจากเอาไว้เป็นทวารบาลกันคนเข้าเรือนไทยละก็อาจจะเป็นไปได้
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2] 3
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.053 วินาที กับ 20 คำสั่ง