เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 23
  พิมพ์  
อ่าน: 208372 คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 10 มี.ค. 08, 10:09

       หลายปีมานี้ไม่ค่อยได้ยินคำว่า คัทชู แล้ว

ป.ล. วันนี้นาฬิกาบันทึกเวลาของเรือนไทยเดินเร็วจัง

Court shoes

 
 


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 10 มี.ค. 08, 11:17

จากนิราศเดือน - เดือนสี่   

สงสารใจใจคิดจะชิดเชย                  สงสารตัวตัวเอ๋ยจะเอกา
สงสารมือมือหมายจะก่ายกอด            สงสารปากปากพลอดให้หนักหนา
สงสารอกอกโอ้อนิจจา                    ใครจะมาแอบอกให้อุ่นใจ
 
สงสารหลังหลังหมายจะให้จุด            สงสารสุดเวทนาน้ำตาไหล
สงสารตาตาพี่แต่นี้ไป                     จะดูใครต่างเจ้าจะเปล่าตา

พจนานุกรม :   จุดหลัง ก. เอาเล็บจิกหรือกดตุ่มหรือผื่นที่หลังเพื่อแก้คันเป็นต้น.
                 เคยอ่าน (น่าจะเป็น อ.เปลื้อง ณ นคร) ว่าหมายถึงจุดตุ่มสิวที่หลัง
           
บันทึกการเข้า
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 10 มี.ค. 08, 15:46

"สงสารหลังหลังหมายจะให้จุด"

"จุด" ในบทนี้ น่าจะหมายถึง "เกา" หรือเปล่าครับ  ฮืม

คือ สงสารหลังที่คันมาก จนอยากให้ช่วยด้วยการเกา

กริยา "จุด" นี้ ปัจจุบัน เห็นจะใช้ "จุดไฟ" หรือ เริ่มต้นความคิด "จุดประกาย (ความคิด) เพราะไปเปรียบเอาความคิด (ที่ฉลาด) ก็เหมือนการจุดแสงสว่างไปสู่ปัญญา
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 10 มี.ค. 08, 16:41

เปิดหนังสือเพชรพระอุมามาอ่านอีกครั้ง   เจอคำนี้  คนรุ่นติบอคงไม่เคยพูด
"ตะครั่นตะครอ รู้สึกตัวว่าจะเป็นไข้"

อีกคำค่ะ   ในนิยายเรื่องเดียวกัน

ดารินหัวเราะออกมาอย่างกะเง้ากะงอด
ดารินทำท่า พิพักพิพ่วน

คนไทยยุคก่อน เจ้าคารม ใช้คำยาวๆ  แต่เดี๋ยวนี้นิยมคำสั้นๆ  เหมาะกับพิมพ์ส่งข้อความในเน็ต

เอาสีข้างเข้าถู----> แถ
อันธพาล -----> เกรียน
บันทึกการเข้า
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 10 มี.ค. 08, 17:45

"ตะครั่นตะครอ" ผมก็ไม่ทันครับ อิอิ  ยิงฟันยิ้ม

เข้าใจว่ามีความหมายเหมือน "ครั่นเนื้อ ครั่นตัว"

==================

"กะเง้ากะงอด" ผมยังทันครับ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยได้ยินแล้ว

จริงๆ ก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าหมาย จะหมายถึง "อายๆ" หรือเปล่า .... (แว๊บไปเปิดดิก) ...

กระเง้ากระงอด ว. กะบึงกะบอน, โกรธอย่างแสนงอน, เง้างอด หรือ เง้า ๆ งอด ๆ ก็ว่า.

เรื่องพวกคำ "กะ" หรือ "กระ" นี้ ผมเข้าใจว่าคงไม่มีมาตรฐานแน่นอนครับ บางครั้ง ควรจะเป็น "กะ" เฉยๆ ราชบัณฑิตยฯ ท่านให้เป็น "กระ" ซะงั้น แต่บางคำควรเป็น "กระ" ท่า่นให้ได้เป็นสองอย่าง "กระ" ก็ได้ "กะ" ก็ได้  ลังเล

อ้าวไปกันใหญ่ มี กะบึงกะบอน ด้วย อิอิ  ยิงฟันยิ้ม

เง้างอด - เง้าๆ งอดๆ สองคำนี้ ผมไม่คุ้น แต่ผมจะคุ้นกับ "เง้างอน" มากกว่า

พิพักพิพ่วน อันนี้ ผมก็ไม่ทัน แต่พอจะเข้าใจว่าน่าจะตรงกับคำว่า "กระอักกระอ่วน"  (แว๊บไปเิปิดดิก)

พิพักพิพ่วน    ก. กังวล, อักอ่วน, รวนเร, นึกกลับไปกลับมา. ว. อาการที่รู้สึก
   ปั่นป่วนในท้อง, อาการที่รู้สึกกระอักกระอ่วนลังเลใจ.


พิพักพิพ่วน นี้ ปัจจุบันน่าจะไม่ใช่กันแล้ว แต่จะใช้ "กระอักกระอ่วน" หรือ "กลืนไม่เข้าคายไม่ออก" แทน
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 10 มี.ค. 08, 18:10

       เพลงสากลเก่าเพลงหนึ่ง มีเนื้อร้องน่าเห็นใจว่า
        And now I even have to scratch my back myself

ค้นจากเน็ทพบข้ออธิบายของ อ.ล้อม เพ็งแก้ว ครับ  -
 
       การจุดหลังนี้เป็นเรื่องของการแสดงความรักความเอาใจใส่ของคนที่ห่วงอาทรซึ่งกันและกัน
อาจเป็นแม่กับลูกหรือหนุ่มกับสาวที่กำลังมีความรักต่อกัน อย่างเช่น เมื่อพลายแก้วจะไปศึก นางพิมจึงแสดงความเป็นห่วงว่า

       “จะคายคันตัวต้องละอองไพร ใครจะช่วยจุดหลังรำพึงพา”

       คนไทยแต่ก่อนไม่นิยมสวมเสื้อ เมื่อไปทำงานหรือออกนอกบ้าน ถูกแดดลมก็มักจะเกิดผดบางทีก็ขึ้นเป็นเม็ดใสๆ
แต่มีอาการคันแต่ไม่รุนแรงนัก ในการนี้ก็ต้องใช้เล็บสะกิดให้เม็ดใสๆ นั้นแตก (ซึ่งไม่ใช่การ จิก/กด/เกา)
      เม็ดผดที่เกิดบริเวณหลัง เจ้าตัวมองไม่เห็นจึงให้คนรักหรือคนสนิทสะกิดให้กัน เรียกว่าการจุดหลัง เป็นการสะท้อน
วัฒนธรรมไม่สวมเสื้อ อย่างที่พระยาอนุมานราชธนท่านว่า “นุ่งน้อยเป็นเจริญ”
       ปัจจุบันคนไทยตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่นิยมสวมเสื้อกันเป็นปกติวิสัย การจุดหลังจึงถึงกาลวิสัญญี ยังคงเหลืออยู่
กับคนรุ่นเก่าๆ หรือกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่าเป็น ชาวบ้านนอกคอกนา/คนชายขอบ (fringer) อันเป็นคนกลุ่มเดียวที่ยังคงวัฒนธรรม
ดั้งเดิมเอาไว้มากที่สุด
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 11 มี.ค. 08, 02:36

อ่านความคิดเห็นพี่กุ้งแห้งเรื่องจิ๊กโก๋ จิ๊กกี๋
แล้วพาให้ผมนึกถึงภาพเก่าๆในสมุดภาพของคุณพ่อคุณแม่ครับ

โดยเฉพาะภาพถ่ายเพื่อนสนิทของคุณแม่ท่านหนึ่ง
ที่ชอบม้วนขอบกระโปรงขึ้นมาสูงๆ แล้วเอาตะกร้าขยะมาคล้องคอ
ร้องตะโกนแซวเพื่อนๆว่า "ซิกกาแร๊ก ค่า...... ซิกกาแร๊ก" เหมือนสาวขายบุหรี่ในโรงหนัง




ส่วนคุณพ่อ นุ่งกางเกงขาม้า ตัดผมทรงสี่เต่าทอง
ใส่เสื้อตัวเล็ก ฟิตจนแทบจะเห็นสะดือ กับรองเท้าส้นตึกสูงตะเหลนเป๋น
หยิบมาดูทีไร คุณพ่อพูดทุกที "ว่าไอ้รุ่นกู นี่มันจิ๊กโก๋ แต่ทำไมรุ่นมึงมันกลายเป็น โฮโม ไปแล้ววะ" ??




อ่า.... ว่าแล้วก็เรียนถามสมาชิกท่านอื่นอีกครับ ว่า "ผมทรงซิงเกิ้ล" นี่ทรงไหนอ่ะครับ แหะๆ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 11 มี.ค. 08, 04:55

ขากางเกงของจิ๊กโกแคบมาก  ขอบขาสูงแสดงถุงเท้าลาย
ตำรวจไทยสมัยนั้นตรวจสอบความเป็นจิ๊กโก็โดยใช้ขวดโคคาโคล่าสอดที่ชายกางเกงค่ะ
ถ้าไม่เข้าก็เชิญไปโรงพัก

เสื้อโดยมากต้องลายหมากรุก  แขนสั้น  พับแขนเล็กน้อย

ทรงผมตั้งสง่าด้วยน้ำมันปอมเมด  มีปอยผมตกมากระจุกหนึ่ง 
ปอยผมนี้เอาไว้สบัดระหว่างสนทนา

จิ๊กโก๋นิยมสร้อยคอเส้นเล็กๆห้อยพระใบมะขาม
จิ๊กกี๋ห้อยคอรูปเจมส์ ดีนค่ะ  เห็นได้ในย่านวังบูรพา



ทรงผมบีตเติลนั้นมายุคค.ศ.  1962 - 1963  หลังจิ๊กโก๋หลายปีอยู่


ผมทรงชิงเกิ้ล ซอยด้านหลังไล่ระดับค่ะ   หน้าปกนวนิยายไทยรุ่นปี ๖๕ - ๘๒  แสดงภาพหญิงไทยไว้ผมทรงนี้ค่ะ
ต่อมาในราวก่อนปี ๒๕๐๐  ผมทรงเดียวกันนี้  แต่สั้นกว่า เรียกกันว่าทรง ออเดรย์ค่ะ
เป๋ ๆ   ยุ่ง ๆเหมือนยุงตีกัน

บันทึกการเข้า
Oam
แขกเรือน
ชมพูพาน
***
ตอบ: 168



ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 11 มี.ค. 08, 08:01

เคยมีเพลง "โก๋พกหวี กี๋พกแป้ง เป็นสาวแก้มแดงก็ต้องแต่งทรงฮาร์ด"
ตอนนั้นก็จะมีคำว่าเด็กฮาร์ดด้วย
แบบว่า อ่ะ เด็กฮาร์ด อ่ะ มีอะไรม่ะเพ่
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 11 มี.ค. 08, 08:14

อย่างที่คุณป้ากุน *อธิบายค่ะ ชิงเกิ้ล(ไม่ใช่ซิงเกิ้ล) หรือ shingle คือผมซอยสั้นถึงต้นคอ   เป็นการปฏิวัติทรงผมหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑   ก่อนหน้านั้นสาววิคตอเรียนมีทรงเดียวคือผมยาว ตอนเด็กๆ ถักเปียยาวเฟื้อย  พอรุ่นสาวก็เกล้าเป็นมวยด้านหลังศีรษะ
พอปฏิวัติทรงผม  ปล่อยเส้นผมเป็นอิสระ ก็หั่นเสียกุด มาพร้อมกับกระโปรงสั้นเห็นขา   ซึ่งสมัยวิคตอเรียน ถือว่าขาเป็นส่วนต้องปกปิดที่สุด  แม้จะเอ่ยคำว่า"ขา" ก็ถือว่าหยาบโลน

*ขอโทษคุณ wandee  อย่างยิ่งค่ะ  ที่ตาลายเห็นชื่อ wandee เป็นคุณป้ากุนไปได้  ทั้งๆ ไม่มีตัวอักษรเหมือนกันเลย
จะพยายามไม่ตาลายอีก   ถ้าเจออีกขอสมาชิกท้วงทันควันนะคะ


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12 มี.ค. 08, 10:50 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 11 มี.ค. 08, 10:06

คุณวันดีครับ มิใช่คุณป้ากุน...55555

เคยอ่านเจอว่า สงครามทำให้เปลี่ยนแฟชั่น เพราะยามศึก สาวๆ ต้องเข้าโรงงาน
คนไม่ค่อยตระหนักนะครับ ว่าเครื่องบินเอย รถถังเอย ปืนเอย
ฝีมือแรงงานหญฺงทั้งนั้น

พวกเธอต้องตัดสั้น รวบเก็บ แล้วงานหนัก ผมยาวจะเหม็นอีกด้วย
จบสงคราม สาวๆ ก็เลยสวยเท่ด้วยผมสั้น
ใครไว้ยาว แปลว่าไม่มีส่วนร่วมกับชัยชนะ
บันทึกการเข้า
Wandee
หนุมาน
********
ตอบ: 4006


ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 11 มี.ค. 08, 11:21

ผู้หญิงสวยสมัยโน้นเดินผ่านมา กระตุ้นคำชมจากเพศตรงกันข้่ามว่า   แจ่ม  แจ๋วแหว๋ว  และไฉไลเป็นบ้า

ผู้หญิงที่ฐานะดี สกุลดี  จะโดนขนานนามว่า ดอกฟ้า   ชายหนุ่มที่หมายปองก็จะเป็น หมาวัด

ความรักอันลือลั่นของสาวสกุลสูงกับนักร้องหนุ่ม  กลายมาเป็นเพลง ทาสเทวี
ที่จริงสาวท่านนั้นมีคู่ปองอยู่แล้ว  เล่ากันมาว่า เธอฟังเพลงทาสเทวีเข้าก็เลยเลือกนักร้องหนุ่มเสียงดีผู้นั้น
คำว่า ทาสเทวี  ก็เป็นศัพท์ใช้กันเกร่อไป
ผู้หญิงที่รับรักของชายที่ฐานะด้อยกว่า  ก็เรียกกันว่า ดอกฟ้าโน้มกิ่ง

เคยเห็นทั้งดอกฟ้า  อ่า..หมาวัด  และคู่ปอง

คู่ปองของดอกฟ้าคงความร่ำรวยจากบุญเก่าและบุญใหม่ที่โหมกระทำโดยใจพิสุทธ์สว่าง มิอ้างเอ่ยใดๆทั้งสิ้น
ไม่ปฎิเสธ  ไม่ถ่อมตัว  มิยินดียินร้าย
บันทึกการเข้า
กุ้งแห้งเยอรมัน
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1573



ความคิดเห็นที่ 72  เมื่อ 11 มี.ค. 08, 11:37

ขำอาจารย์ .. คุณวันดี หรือคุณแวนดี้กลายเป็นคุณป้ากุนไป ...
...
ดิฉันชอบดูแฟชั่นยุคซิกซ์ตี้ส์ค่ะ ผู้หญิงใส่กระโปรงบานแฉ่ง ใส่สุ่มอีกต่างหาก ปัตติโค้ท หรือ คำฝรั่งแท้ๆว่าเพ็ตติโค้ท สาวสมัยนี้ไม่รู้จัก แต่ยุคดิฉันเป็นนักเรียนคอนแวนต์แก่นกระโหลก ต้องใส่ไปโรงเรียน เวลากลิ้งหกคะเมนตีลังกาจะได้ไม่โป๊ มีชายเป็นลูกไม้ใส่เป็นกระโปรงชั้นใน เรียบร้อยหน่อยก็ใส่แบบกระโปรง ซนก็ใส่แบบกางเกง และเวลาเจอเพื่อนบ้าๆเล่นเปิดกระโปรง ก็ไม่หวั่น
เข้ากับชุดกลางวัน หรือกลางคืน รองเท้านิยมสีขาว ห้อยสร้อยสีขาวเป็นชั้นกลางวันเป็นลูกปัดพลาสติค ผมทรงเปียแบบพจมานบ้าง ทรงออเดรย์บ้าง และเวลาออกงานเต้นรำ หรืองานแต่งงานก็เกล้าตลบเก็บด้านหลัง เรียกทรงกล้วยหอมหรือเปล่าไม่แน่ใจ

พฤติกรรมหลักของสาวเดิ้นคือเล่นสกีน้ำ บ้านดิฉันอยู่ริมเจ้าพระยา เห็นเรือบื๋อ หางสั้น มีสาวๆใส่ชุดว่ายน้ำ เล่นสกีผ่าน วิ่งตื๋อออกมาดูที่ท่าน้ำหน้าบ้าน อยากจะกรี๊ด.. โอ๊ย ตื่นเต้นมาก จำได้ว่าที่บ้านมีฝรั่งมาที เด็กๆวิ่งตามดูกันใหญ่ ร้องฝรั่งๆๆ วิ่งจากท่าน้ำไปจรดสวนเป็นขนัดๆ จนไปชนริมคลอง ไม่รู้จะตื่นเต้นอะไรกันนักหนา
พอเราไปเมืองจีน ห้อยป้ายงานแฟร์ไปไหนๆ คนก็บอก โอ้..ไท้กั๋วๆๆๆ ฮ่า มันแปลกตรงไหนเนี่ย ก็ผมดำตาดำเหมือนกันนะยะ

น้ำมะเน็ด นี่ก็อีกอย่างที่หายไปเลย แม้จะกลับมาในสภาพน้ำสี หรือน้ำใส ก็ไม่ถูกใจเท่าขวดที่มันมีลูกแก้วกลมๆอยู่ด้านในให้เราตามประสาเด็กๆเฝ้ามองอย่างทึ่ง




 


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 73  เมื่อ 11 มี.ค. 08, 12:07

      เข้าไคล  นึกว่ามาจาก ภาษาอังกฤษ - เข้าไคลแมกซ์

จากพจนานุกรมว่า -

     เข้าไคล  ก. ลักษณะมะม่วงที่แก่มีนวล มีเมล็ดแข็ง, โดยปริยายหมายความว่า จวนจะรู้ผล, ใกล้จะสำเร็จ.

ขวดน้ำมะเน็ด จากโค้กไทยดอทคอม ครับ



บันทึกการเข้า
pipat
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1802


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 74  เมื่อ 11 มี.ค. 08, 12:27

ไปอ่านความเห็นคุณหนูหมุดมาในกระทู้สุสาน (2) คิดดู กิจการก้าวหน้าขนาดแยกสาขา....5555
เธอพูดถึงหม้อเขียว บอกว่าความจริงสีน้ำเงิน แต่คนยุคโน้นเรียกไม่ตรง

ขอเอามาคุยต่อในกระทู้ศัพท์ตายว่า คนเก่าแก่ท่านเรียกถูกต้องแล้วครับ
สีนั้นมิใช่น้ำเงิน
สีน้ำเงินเป็นอย่างไร ก็ต้องไปบ้านช่างเงินช่างทอง ดูสีเวลาที่เขาทำเงินให้ร้อนจนเป็นน้ำ
จะเห็นว่า เป็นสีเหลือบๆ ....ซึ่งไม่ตรงกับสีหม้อเขียว

คำว่าเขียวนี่แปลกครับ
ลองสังเกตคำนี้..."เสียงเขียว"
เออ ทำไมโบราณท่านจับเสียงมาใส่สีได้แฮะ แล้วทำไมไม่มีเสียงน้ำตาล เสียงดำ เสียงเหลืองอมม่วงแซมแดง
หึหึหึหึ.....

ผมเคยลองสืบคำนี้มาพักหนึ่ง จับหลักได้ที่คำว่า ขอบฟ้าเขาเขียว
เขียวในที่นี้ มิน่าจะใช่สีสรร น่าจะหมายความว่าไกล ...สุดหล้าฟ้าเขียว
สรุปว่า เขียวอาจจะมิใช่สี แต่เป็นคำขยายมากกว่า

ชาวบ้านนอกรุ่นผม เขายังตั้งชื่อหมากันว่า ไอ้ หรืออีเขียว
หมาสีเขียวไม่มีนาท่าน เว้นแต่แกะจากหยก ฮิฮิ
ชาวสลัมรุ่นผม เวลาทำวาดเขียน เราจะเรียกชื่อสีว่า เขียวใบไม้
หรือเขียวน้ำทะเล

เพราะสองสีนี้ ไม่เหมือนกัน
ส่วนสีน้ำเงินเข้ม(เห็นมะ ต้องกำกับคำว่าเข้มให้) เราเรียกสีกรมท่า

ชักแม่น้ำหลายสายแล้ว ขอฟันธงว่า คำโบราณที่เรามิค่อยใช้กันแล้วนั้น
ท่านใช้เขียว แปลว่า เข้ม แปลว่าสุด
คิดเห็นดั่งนี้ครับท่านผู้ฟัง
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 23
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.056 วินาที กับ 19 คำสั่ง