ขอบคุณสำหรับความรู้เพิ่มเติมครับ คุณ Bana

แต่อ้างนิดครับ
"เจ้าผู้มาตั้งเมืองอโยธยาใหม่ คือเจ้าที่มาจากเมืองอู่ทอง เรียกเจ้าอู่ทอง ครับ และท่านอาจมีชื่อเป็นนามของท่านด้วย และเป็นวัฒนธรรมการเรียกที่ต่างจากฝ่ายเหนือ"อันที่จริงไม่ใช่วัฒนธรรมการเรียกชื่อหรอกครับ อิอิ แต่ว่า หลักฐานที่มีมันพอจำแนกได้แบบนั้นครับ คือ ตำนานทางเมืองเหนือมีความละเอียดในการบันทึกชื่อ และปีครองราชย์ แต่ว่าตำนานทางภาษากลางไม่มีการบันทึกแบบนั้น มักจะเล่าต่อๆ กันมาปากต่อปาก ดังนั้น การเรียกชื่อราชาโดยอ้างอิงจากชื่อเมือง จึงจดจำง่ายกว่า ดังเช่น พระเจ้ากรุงจีน พระเจ้ากรุงกัมพูชา พระยาไตรตรึงษ์ เป็นต้น
ที่สำคัญคือ ทั้งชื่อพระร่วง และ ท้าวอู่ทอง ต่างก็ "ถูกบันทึกเป็นตัวอักษร" โดยคนเมืองใต้ครับ (อยุธยา-ต้นรัตนโกสินทร์) อย่างไรก็ตามในตำนานสิบห้าราชวงศ์ ในตอนที่เล่าเกี่ยวกับ "สามสหายกษัตรา" ผมจำไม่แน่ชัดว่า ใช้ชื่อ "พระร่วง" ด้วยหรือเปล่า จำได้เลาๆ ว่าเรียกว่าพระร่วงเหมือนกันครับ
อย่างไรก็ตาม ในศิลาจารึกมีพบชื่อ พญาร่วง ด้วยครับ
จารึกฐานพระอิศวรเมืองกำแพงเพชร
พุทธศักราช ๒๐๕๓
วรรคที่ ๓
อนึ่งท่อปู่พระยาร่วงทำเอาน้ำไปเถิงบางพานนั้น
ก็ถมหายสิ้น และเขาย่อมทำนาทางฟ้า
และหาท่อนั้นพบ กระทำท่อเอาน้ำเข้าไปเลี้ยงนา
ให้เป็นนาเหมืองนาฝาย มิได้เป็นทางฟ้า
อันทำทั้งนี้ ถวายพระราชกุศลแด่สมเด็จบพิตรพระเจ้าอยู่หัว ทั้งสองพระองค์ฯ
"ปู่พญาร่วง" ในที่นี่น่าจะหมายถึง "ราชาแห่งสุโขทัย" ซึ่งไม่ได้ระบุว่าองค์ไหน แต่ทราบว่าหมายถึงราชาสุโขทัยก็คือคำว่า "ร่วง" นี่แหละครับ
กลับมาที่ "คำไทยที่ไม่ (ค่อย) ใช้กันแล้ว"

เถิง - ถึง
ถมหายสิ้น - ถูก (ดิน) กลบไปหมดแล้ว
ทำนาทางฟ้า - ทำนาโดยอาศัยฟ้า (ฝน), ทำนาโดยพึ่งฟ้า
นาเหมืองนาฝาย - นาชลประทาน
มิได้เป็นทางฟ้า - ไม่ต้องอาศัยฝน
อันทำทั้งนี้ - ที่กระทำทั้งหมดนี้
==================================
จารึกมหาสังฆราชาศรีตรีปิฎก
ไม่ทราบศักราช อักษรฝักขาม พบที่จังหวัดเชียงราย
... ชาวเจ้าทั้งหลายเป็นสักขี มีต้นว่า มหาสังฆราชาศรีปิฎกอุตมมญาณเทพาเจ้าป่ารวกนี้
มหาเถรสุวรรณเจ้าป่าสงัด มหาเถรธรรมโรจิเจ้าจอมทอง มหาสามีนันทประหญาเจ้าวัดหมื่นไร
มหาสามีจันทรังสีป่าญะสุมงคล มหาสามีเจ้าวัดพญาร่วง มหาเถรอินทรประหญาเจ้า วัดศรีชุม ...==================================
จารึกวัดเก้ายอด
พุทธศักราช ๑๙๕๕ พบที่จังหวัดพะเยา
ด้านที่ ๑
... คำจารึกว่า แต่แดนวิหาร วัดเก้ายอด
เมือวันตกเอาคือเวียงเป็นแดน
มาวันออกอาบ้านพญาร่วง บ้านหมอช้างเป็นแดน
เมือเหนือเอาหินฝังไว้เป็นแท่น ...==================================
จารึกเจ้าสี่หมื่นพยาวฝังเสมาวัดลี
พุทธศักราช ๒๐๓๘ ไม่ทราบที่มา
ด้านที่ ๑
... แลครูพระเป็นเจ้าให้อาราธนาชาวเจ้า มาชุมนุมสงฆ์
มีต้นว่า มหาสามีญาณเทพเจ้าอยู่วัดมหาพล มาเป็นอาทิกัมม์
มหาสามีนนประหญาวัดใหม่
มหาสังฆราชาพุธาทินนอยู่วัดหลวง
มหาเถรสุวันเจ้า มหาสามีนนวัดพระยาร่วง เจ้าเถรญาณมงคลวัด . . . . .==================================
เหล่านี้เป็นร่องรอยของชื่อ "พญาร่วง" ในศิลาจารึกครับ จะสังเกตได้ว่า เป็นจารึกรุ่นพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑ ซึ่งที่พบในเมืองเหนือนั้น ล้วนเป็นชื่อวัด ชื่อหมู่บ้าน ส่วนที่กำแพงเพชรก็เป็นชื่อท่อ ซึ่งหมายถึง ท่อน้ำชลประทานที่สร้างขึ้นในสมัยพญาร่วง คำว่า "พ่อปู่" ในที่นี้ก็คงหมายถึง "บูรพกษัตริย์"