เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 10 11 [12] 13 14 ... 23
  พิมพ์  
อ่าน: 208448 คำไทยที่ไม่ค่อยจะรู้จักกันแล้ว
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 165  เมื่อ 03 เม.ย. 08, 21:34

ลองค้นดูในเน็ต บางเว็บบอกว่าชื่อภูเก็จพ้องกับมณิคาม ที่มีบันทึกของชาวทมิฬกล่าวถึงใน พ.ศ.๑๕๖๘

ข้อนี้ยังน่าสงสัย เพราะไม่รู้ว่าบันทึกที่ว่ามีเนื้อหาอย่างไร แล้วมณิคามจะเป็นภูเก็ตจริงๆหรือไม่

ที่แน่ๆ สมัย ร.๑ ยังใช้ชื่อถลางอยู่เลยครับ กลายเป็นภูเก็ตเมื่อไรไม่ทราบได้

ผมลองตรวจสอบกวีนิพนธ์เก่าๆดูคร่าวๆ ไม่พบว่าไม่มีการใช้คำว่า ภู ในสมัยอยุธยา มาจนถึงนิราศนรินทร์สมัย ร.๑ ก็ยังไม่มี

มาเจอเอาในงานของสุนทรภู่และนายมี ขอตีขลุมเอาดื้อๆว่าคำว่า ภู อพยพจากอีสานเข้าสู่กรุงเทพฯในราว ร.๒ ลงมานี้เอง

คำว่า ภู เองก็ยังมีข้อน่าสงสัยอยู่ว่าทางอีสานเอามาจากไหน ผมลองสอบฐานข้อมูลภาษา http://starling.rinet.ru/cgi-bin/main.cgi?root=config&morpho=0 พอจะสรุปมั่วๆแบบนักกระยาสารทได้ว่าภาษาในละแวกนี้เรียกภูเขาด้วยคำคล้ายๆ ดอย หรือ เขา กันหมด (นอกจากตระกูลไทยแล้วยังมี มอญ ขมุ ปะหล่อง ฯลฯ)

ดูเหมือนคำว่า ภู จะเป็นคำที่มีแต่คนไทยอีสานและ/หรือลาวนี่แหละที่ใช้อยู่พวกเดียว (โดยที่มีใช้คำว่า เขา ด้วย)

ที่น่าสงสัยเข้าไปใหญ่คือ ทำไมต้อง ภู ไม่ใช่ พู ทั้งๆที่ ภ เป็นอักษรที่ไม่จำเป็นต้องใช้ในการเขียนภาษาไทย เพราะเสียง ภ กับ พ ก็ไม่ต่างกัน ที่มี ภ ก็เพราะเราเอาไว้รักษารูปคำที่มาจากภาษาแขก

ผมสงสัยว่า ภู จะเป็นคำแขก ไม่ใช่คำไทยครับ

ภู ในภาษาบาลีและสันสกฤตแปลว่า โลก หรือ แผ่นดิน

คำนี้เอามารวมกับคำที่มีความหมายว่าผู้เป็นใหญ่ แปลว่าผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน หมายความว่าพระเจ้าแผ่นดินเช่น ภูวนาถ ภูเบศร์ ภูธร ฯลฯ

โดยเฉพาะคำว่า ภูธร นี่น่าสนใจ พจนานุกรมรอยอินในห้ความหมาย ภูธร ว่า ภูเขา ไว้ด้วย (ได้โปรดอย่าแปล ธร ว่า เขา เด็ดขาด  แลบลิ้น)

ที่ว่าน่าสนใจเพราะว่าภาษาอีสานมีคำที่มาจากภาษาบาลีอยู่มากที่เดียว และหลายคำมีการย่อแบบแปลกๆ อย่างคำว่า ภาชนะ ย่อเหลือแต่ ภา (หรือ พา)
ถ้าคนอีสานจะย่อ ภูธร หรือ ภูอะไรสักอย่างเหลือแค่ ภู ผมก็ไม่แปลกใจล่ะครับ

ถึงตรงนี้ ผมคิดเองเออเองว่า ภู เป็นคำแขกที่ชาวอีสานรับมาใช้ก่อน แล้วเข้ามายังราชสำนักสยามในช่วงรัตนโกสินทร์นี้เอง

แล้วก็เป็นราชสำนักสยามที่ตั้งชื่อภูเก็จขึ้นมา ก่อนจะเปลี่ยนเป็นภูเก็ตในภายหลัง

ส่วนจะหยิบคว้าคำ ภูเก็จ มาจากอวกาศ หรือ แผลงเอาจากบูกิต อันนี้สุดจะเดาครับผม  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 166  เมื่อ 03 เม.ย. 08, 23:10

ภาษาลาว เรียก "พู" เหมือนกันครับ แต่น่าเสียดายที่ภาษาลาวได้ปฏิวัติการเขียนเป็นแบบง่ายไปแล้ว เลยไม่รู้ว่า แต่เดิมเขียน "พู" หรือ "ภู" เหมือนภาษาไทย

แต่อย่างไรก็ตาม การเขียนคำไทยในสมัยโบราณไม่มีมาตรฐานตายตัวครับ ผมว่า บางครั้งผู้เขียนอาจชอบรูปอักษรแบบแขกๆ ก็ได้ ยิ่งมีีคำว่า "ภู" ที่แปลว่าแผ่นดินด้วย เลยทำให้การเขียน "พู" เป็น "ภู" ได้ไม่ยาก ทำเป็น palinization เสีย  ยิงฟันยิ้ม

เรื่อง palinization นี้ เห็นจะมีอยู่สมัยหนึ่ง จำไม่ได้แล้วว่าอ่านที่ไหนครับ เช่น ปากใต้ ก็แปลงเป็น ปักษ์ใต้ จะว่าไม่รู้ก็ไม่ใช่ แต่คงต้องการความเก๋ไก๋ทางภาษามากกว่า  เจ๋ง รู้สึกจะมีอยู่หลายคำครับ แต่ตอนนี้นึกไม่ออก  ยิงฟันยิ้ม

"พู" ก็อาจถูกแปลงเป็น "ภู" ด้วยเหตุนี้ก็ได้มั้งครับ

ส่วนคำว่า "ภูธร" นี้ ในความหมาย "ทางหนังสือพิมพ์" จะหมายถึงต่างจังหวัด ซึ่งผมก็สงสัยอยู่ว่าทำไมถึงเรียก ต่างจังหวัดว่า ภูธร ทั้งๆ ที่ไม่ได้ไปอยู่บนภูเขา  ขยิบตา

ภูธร (भूधर) นี้ ถ้าแยกศัพท์ ก็คือ "ภู" (แผ่นดิน) กับ "ธร" (ผู้ถือ, ผู้มี, ผู้รักษา) แปลโดยศัพท์ได้ว่า "ผู้ถือ (พยุง)ไว้ซึ่งแผ่นดิน" ก็เข้าทางตำนานแขกครับที่ว่า ทวีปทั้งสี่ (แผ่นดิน) มีเขาพระสุเมรุเป็นแก่น

บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 167  เมื่อ 03 เม.ย. 08, 23:51

คิดว่าจุดเริ่มต้นของการกลายความหมายของคำว่า ภูธร มาจากการที่ตำรวจแบ่งเรียกตำรวจเป็น นครบาล (ดูแลเมือง) กับ ภูธร (ดูแลท้องที่)

คนไม่เข้าใจก็คิดเอาเองว่าเมื่อภูธรอยู่ต่างจังหวัด ภูธรก็คงแปลว่าบ้านนอก

ความหมายจึงกลายไปด้วยเหตุนี้

ยังดีที่รอยอินยังไม่บรรจุลงพจนานุกรมนะครับ แต่ถ้าจะลงก็ไม่แปลกใจล่ะครับ ใช้กันจนเป็นที่ยอมรับไปแล้ว
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 168  เมื่อ 04 เม.ย. 08, 00:14

พูดถึงบันทึกทมิฬ ที่พูดถึงเมือง มณิคาม ตอนแรกเข้าใจว่า หมายถึงจารึกตันชอร์ (พ.ศ.๑๕๗๓) แต่พอค้นดูชื่อเมืองที่จารึกตันชอร์กล่าวถึงแล้วไม่พบครับ ปีก็คนละปีกัน

อันนี้เจอในเว็บครับ

จาก หลักฐานทางโบราณคดีในภาคใต้ของประเทศไทยที่เกี่ยวกับอาณาจักรศรีวิชัย, ปรีชา นุ่นสุข (2525)
ชื่อเมือง 13 เมืองที่ปรากฏในจารึกตันชอร์ (นอกจากศรีวิชัย แล้วมีเมืองอีกสิบสองเมืองดังนี้)

1. ปันนาย สันนิษฐานว่าได้แก่ เมืองปาไน บนฝั่งตะวันออกของเกาะสุมาตรา ฝั่งตรงข้ามกับเมืองมะละกา
2. มะไลยูร์ สันนิษฐานว่าได้แก่ เมืองจัมพิ กลางเกาะสุมาตรา
3. มายิรุฑิงคัม สันนิษฐานว่าได้แก่ เมืองชิโลทิงในบันทึกของจีน
4. อิลังคาโศคัม สันนิษฐานว่าได้แก่ เมืองลังกาสุกะ หรือปัตตานี
5. มาปปัปปาลัม สันนิษฐานว่าได้แก่ เมืองใกล้กรุงหงสาวดี
6. เมวิลิมบังคัม สันนิษฐานว่าได้แก่ ?
7. วไฬปปันทูร สันนิษฐานว่าได้แก่ เมืองในจัมปา (?)
8. ตาไลยตักโกลัม สันนิษฐานว่าได้แก่ เมืองตักโกละ ทางฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรมลายู
9. มาทมาลิงคัม สันนิษฐานว่าได้แก่ เมืองตามพรลิงค์ หรือนครศรีธรรมราช
10. อิลามุริเทศัม สันนิษฐานว่าได้แก่ เมืองลามุริหรือลัมบริ เหนือสุดของเกาะสุมาตรา
11. มาณักกวารัม สันนิษฐานว่าได้แก่ หมู่เกาะนิโคบาร์ (?)
12. กฑารัม สันนิษฐานว่าได้แก่ เมืองเคดาห์ หรือไทรบุรี


=================================================

ส่วนฉบับ wikipedia: http://en.wikipedia.org/wiki/Tamil_and_Sanskrit_inscriptions_in_Malaysia

In the ancient city of Tanjore in Tamil Nadu are inscriptions dating from 1030 A.D. which mentions the victory of Rajendra Chola I over the Southeastern countries. The following are the places of Rajendran conquered:

1. Sri Vijaya (Palembang)
2. Malaiyur (the Malayu of the 7th century, i.e. jami) (referring to the ancient Melayu Kingdom. Known as Jambi today.)
3. Mayuradingan (the Je-lo-ting of the Chinese on the Malay Peninsula)
4. Ilangosagam (Langkasuka)
5. Mappapalam, (Papphaal, placed by the Sinhalese chronicle Mahavamsa on the coast of Pegu in Burma)
6. Mevilimbangan (identified with Karmaranga or Kamalanka on the isthmus of Ligor in Southern Thailand)
7. Valaippanaduru (Pandurang, in Cahampa)
8. Talaittakkolam (Takkola of Ptolemy and the Milindapandha, On the isthmus of Kra)
9. Madalingam (Tambralingga, Chinese Tan-ma-ling, of which the center was at Ligor in Southern Thailand)
10. Ilamuridesam (Lamuri of the Arabs, Lambri of Marco Polo at northern Sumatra)
11. Kadaram (Kedah)


+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ไปวิกี้ เจอคำว่า  Manigramam : http://en.wikipedia.org/wiki/Manigramam

A manigramam is a large, influential guild of South Indian merchants. Tamil inscriptions record a tank construction by an important person and the tank is placed under the guard of the local Manigramam members.

ก็ไม่ได้บอกข้อมูลอะไรมากกว่านี้ ว่าเกี่ยวอะไรกับภูเก็ต พอดีเห็นคำว่า "tank" ผมก็นึกถึง การขุดสระ พาลนึกไปถึงจารึกทมิฬที่พบที่ อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ก็เลยไปดูข้อมูลจากเว็บไซด์ ฐานข้อมูลจารึกของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ( http://www4.sac.or.th/jaruk2008 ) ก็พบว่า ในจารึกนั้นมีชื่อ "มณิคาม" ครับ แต่ว่า พ.ศ. นี้ ไม่สามารถบอกได้ ดังนั้น จึงไม่ทราบว่า "เอกสารทมิฬ" ดังกล่าว เอาตัวเลขมาจากไหน ? หรือ อ้างจากเอกสารใด ?  เศร้า

จารึกเขาพระนารายณ์เมืองตะกั่วป่า:
สระชื่อศรีอวนินารณัม   ซึ่ง................รวรรมัน
คุณ..............ได้ขุดเอง   ใกล้(เมือง)  นงคูร 
อยู่ในการรักษาของสมาชิกแห่งมณิครามแลของกองทัพ
ระวังหน้ากับชาวไร่ชาวนา.........


คำในจารึกเห็นจะเป็น "มณิครามนฺ" ถอดเป็นคำไทยๆ คือ "มณีครามัน"


อย่างไรก็ตาม ถ้าดูดีๆ ก็เห็นอะไรแปลกๆ ครับ

จารึกตันชอร์ : 11. มาณักกวารัม

จารึกเขาพระนารายณ์เมืองตะกั่วป่า : มณิครามัน


ผมสงสัยว่า อาจเป็นเมืองเดียวกัน ?

======================================================

เรื่อง แก้วๆ มณีๆ ผลึกๆ นี้ น่าแปลกใจอยู่อีกเรื่องคือ "เมืองผลึก" ในวรรณคดีเรื่องพระอภัยมณี ก็ได้รับการตีความไว้ว่าอยู่แถวๆ ฝั่งอันดามัน ซึ่งอาจจะภูเก็ตก็ได้ด้วยเหมือนกันครับ




บันทึกการเข้า
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 169  เมื่อ 04 เม.ย. 08, 00:27

ภูธร    น. พระราชา; ภูเขา. (ส.).

ถ้าฝรั่งเพิ่งเรียนภาษาไทย แล้วเปิด รอยอิน คงแปลคำว่า "ตำรวจภูธร" เป็น "mountain police" หรือ "royal police"  ยิงฟันยิ้ม

แต่ก็น่าแปลกครับ ที่ราชบัณฑิตยฯ อธิบาย "นครบาล" ไว้ว่าเป็นตำรวจในกรุงเทพฯ แต่ไม่อธิบายว่า ภูธร ก็หมายถึงตำรวจในจังหวัดอื่นๆ

นครบาล น. ผู้มีหน้าที่ในการปกครองนครหลวง (เลิกใช้แล้ว)
         ; ชื่อทบวงการเมืองระดับกระทรวงในสมัยก่อน คือ กระทรวงนครบาล ซึ่งมีหน้าที่ปกครองเขตนครหลวง (เลิกใช้แล้ว)
         ; เรียกตำรวจที่มีหน้าที่ระวัง และระงับเหตุการณ์ ทางอาญาในกรุงเทพมหานครว่า ตำรวจนครบาล.


อันที่จริง น่า่จะเก็บ "ตำรวจภูธร" ไว้ด้วยนะครับ เพราะ "พรรคกลิน" ยังเก็บเลย  ยิงฟันยิ้ม

ภูธร แปลว่า ภูเขา ผมกำลังสงสัยว่า คนที่บัญญัติคำว่า "ตำรวจภูธร" ขึ้นมาใช้นั้น แปล แยกศัพท์ ว่า "แผ่นดิน" + "ผู้รักษา, ผู้ถือครอง" หรือเปล่า ? ไม่ได้แปลตามความหมายดั่งเดิมที่แปลว่า "ภูเขา" (หรือ พระราชา) จึงกลายเป็น ความหมายแบบไทยๆ ว่า ผู้รักษาแผ่นดิน หรือ ผู้รักษาท้องถิ่น
บันทึกการเข้า
Bana
องคต
*****
ตอบ: 439



ความคิดเห็นที่ 170  เมื่อ 04 เม.ย. 08, 01:15

เห็นด้วยครับกับที่ว่าภาษาอิสานหรือลาวหลายคำมีที่มาจากภาษาสันสกฤษ  และอีกส่วนก็ได้รับอิทธิพลมาจากขอม  เห็นได้จากจารึกปากแม่น้ำมูล  เป็นศิลาสี่เหลี่ยมเก่าแก่มาก(ตอนนี้อยู่ในพิพิธภัณฑ์อุบล)  ซึ่งจารึกในสมัยประมาณพุทธศตวรรษที่ 12  เป็นภาษาปัลลวะ ภาษาสันสกฤษ  สมัยเจนละ  ซึ่งเหมือนกับจารึกที่ถ้ำหมาไนโขงเจียม
และจารึกที่พบตามวัดต่างๆ  ประมาณพุทธศตวรรษที่ 21  จะเป็นดัวธรรม(อักษรธรรม)  หรือตัวอักษรขอม  เช่นจารึกวัดมหาวนาราม(ป่าใหญ่)

คำว่า  "พา"  แปลว่าสำรับข้าว  หรือถาดที่ใส่ของ  เช่น  พาแลง (สำรับข้าวเย็น)  พาข้าว(สำรับข้าว)  พาขวัญ  สำรับใส่เครื่องสู่ขวัญ  เชื่อว่ามาจากคำว่า ภาชนะ

ส่วนคำว่า พู หรือ ภู  ปรากฏในวรรณกรรมโบราณมากมายแม้แต่วรรณกรรมเก่าแก่ของลาวและอิสาน  ปรากฏในใบลาน  ในหนังสือบั้ง(ไม้ไผ่ซี่เล็กๆร้อยติดกันแล้วสลักอักษรม้วนกลมๆใส่บ้องไม้ไผ่ไว้)  อย่างต่ำๆก็พุทธศตวรรษที่ 15 แล้วล่ะครับ  จึงไม่ทราบว่าเข้ามาเมื่อใดตามที่ท่าน CH สงสัย  แต่ของภาษาเดิมภาคอื่นไม่เคยเห็นใช้คำว่า "ภู" เรียก ภูเขาครับ  และอีกคำที่ใช้คือ ผา  แต่จะเรียกภูเขาที่มีลักษณะเป็นหน้าผามากกว่า เช่น ผาได  ผาด่าง  ผาม่าน  และทางเหนือแถบน่านเชียงแสน ก็มีบ้างครับคำว่า ภู  เช่น ภูคา  ภูขี้เถ้า(ฝั่งลาว)

คำว่า ภูเก็ต  มาจาก ภู+เก็จ   ภูเขา+แก้ว  ผมไม่เคยเห็นด้วยเลยครับ  เพราะนอกจากภูเก็ตแล้ว  ไม่เห็นมีปรากฏคำว่า ภู จากที่อื่นในแถบนั้นเลยครับ

ส่วนคำว่า Selang เซลัง  แปลว่าน้ำ  คนน้ำ  ชาวเล  แผลงมาเป็น  สลาง  ถลาง  อันนี้น่าเชื่อครับ  แล้วจะเป็น  อะยังเซลัง  จังซีลอน  อะไรก็น่าเป็นไปได้หมดครับ  แต่มีอีกคำที่มีคำว่าภู  คือ Pulo แปลว่าเกาะ ในภาษามลายู เช่น Pulo Penang  เกาะปีนัง  อันนี้น่าสนใจ

ส่วนคำว่าภูธร  ที่แปลว่า พระราชา  หรือ ภูเขา  แต่เรานำมาใช้เรียกคนบ้านนอก ต่างจังหวัด  เป็นไอ้หนุ่มภูธร  นักสู้ภูธร  ที่มาผมเห็นด้วย 100 เปอร์เซ็นต์กับท่าน CH ครับ  แล้วใช้จนเป็นที่นิยมจนเข้าใจได้ทั่วกันโดยไม่ต้องไปวิเคราะห์ศัพท์ให้งงไปเปล่าๆ  เหมือนคำว่ากะหรี่  ที่มาจาก เคอรี่ แท้ๆ  เรายังเข้าใจจนเป็นที่นิยมทั่วกันเลยครับว่า แปลว่าหญิงบริการอย่างว่า  ถ้าไปยึดศัพท์ปวดเฮดแน่ๆ  แต่ถ้าอยากรู้ที่มาคงต้องพึ่งท่านพี่ติบอแล้วล่ะครับ  คงชำนาญ...อิอิ     ยิ้มเท่ห์
บันทึกการเข้า
ติบอ
นิลพัท
*******
ตอบ: 1906


Smile though your heart is aching.


ความคิดเห็นที่ 171  เมื่อ 04 เม.ย. 08, 12:22

ไหงผมโดนลากมาชำนาญกะเรื่องนางบังเงาไปแล้วล่ะเนี่ยะ อ้ายกล้วย  รูดซิบปาก
นายติบอบ่ใจ้แมลงที่ชอบเกาะหลังตัวเมียเน่อ..... งุงิ ลังเล ลังเล ลังเล
บันทึกการเข้า
กุ้งแห้งเยอรมัน
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1573



ความคิดเห็นที่ 172  เมื่อ 04 เม.ย. 08, 15:13

ถลาง จริงสินะ เมืองเก่าแก่บนเกาะใหญ่ของไทยคือเมืองถลาง ที่ท้าวเทพกระษัตรีย์ ท้าวศรีสุนทร วีรสตรีในใจดิฉันได้ร่วมกันรักษาไว้ จำได้ค่ะว่าตอนเรียนประถม เป็นช่วงที่จินตนาการดิฉันกว้างไกลฝันไปได้เรื่อยๆไม่จำกัด มีการเลือกข้างด้วย ระหว่างวีรสตรีภาคอีสาน กับวีรสตรีภาคใต้ ว่าใครจะสวยกว่า เก่งกว่า เด็กๆผู้ชายเขาคงไม่เป็นกันกระมัง ดิฉันชอบท้าวศรีสุนทรค่ะ
เมื่อได้ไปภูเก็ตครั้งหลังสุด ก็ไม่ได้แค่ผ่านอนุสาวรีย์เท่านั้น คราวนี้ได้ลงไปกลางวงเวียน ไหว้ด้วย และถ่ายรูป เสียงถามมาว่า เอ ใครปั้น คุณรู้ไหม บังเอิญดิฉันคลับคล้ายคลับคลาว่าเป็นอาจารย์ศิลป แต่ไม่แน่ใจว่ารึเป็นอาจารย์เขียน ปั้นหน้าคนไทยได้งามแบบไทยจริงๆ
ถามสาวน้อยในกรุงที่มาจากภูเก็ตว่า คุณเป็นคนภูเก็ตหรือคะ
เธอตอบว่า ไม่ใช่ค่ะ หนูเป็นคนถลาง
อ้อ เขามีแบ่งแยกกันด้วยนะคะ ว่าถลาง กับภูเก็ตไม่เหมือนกัน คนภูเก็ตก็ต้องหมายถึงคนในเมืองที่รถราขวักไขว่ สายไฟระเกะระกะ ที่ไม่เหลือต้นไม้ใหญ่งามๆแล้ว รถราเต็มไปหมด
ส่วนคนถลาง ก็บ้านอยู่ถลาง ต้นไม้ยังงาม น่าอยู่


บันทึกการเข้า
กุ้งแห้งเยอรมัน
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1573



ความคิดเห็นที่ 173  เมื่อ 04 เม.ย. 08, 20:24

...พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้ ท่านผู้หญิงจันเป็นท้าวเทพกระษัตรี และคุณมุกเป็นท้าวศรีสุนทร ที่ได้ประกอบความดี ความชอบในศึกเมืองถลาง ๒๓๒๘ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของศึก ๙ ทัพ จนได้รับชัยชนะเมื่อ ๑๓ มีนาคม ๒๓๒๘ อันเป็นวันถลางชนะศึกสืบมาจนวันนี้
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยศ เป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จเปิดถนน ที่ได้พระราชทานนามว่า ถนนเทพกระษัตรี เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๔๕๒ เมื่อเสด็จถึง บริเวณค่ายเมืองถลางบ้านเคียน พระองค์ทรงบันทึกไว้ว่า "ก็ต้องนึกชมว่าท้าวเทพกระษัตรีนี้เป็นผู้หญิงเก่งคนหนึ่ง ผู้หญิงที่จะได้มีชื่อเสียงปรากฏอยู่ในตำนานของชาติเรา มีน้อยนัก ... เพราะฉะนั้นเป็นการสมควรแล้วที่จะมีอนุสาวรีย์ไว้ให้คนระลึกถึงและจำได้ ต่อไปชั่วกาลนาน การที่พระราชทานนามถนนสายถลางนั้นตามท้าวเทพกระษัตรีจึงเป็น การควรอย่างยิ่ง"
จากการเสด็จครั้งนี้ ขุนนรภัยพิจารณ์(ไวย ณ ถลาง) ได้เขียนประวัติท้าว เทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร จากคำบอกเล่าของวงศาคณาญาติ ซึ่งคณะกรรมการจัดสร้าง อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร นำมาจัดพิมพ์เผยแพร่ในปี พ.ศ.๒๕๑๐

นายอ้วน สุระกุล เมื่อครั้งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้เดินทางไปประเทศ อังกฤษ เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๕ ได้นำสำเนาจดหมายเหตุเมืองถลางกลับมาเผยแพร่ ๖ ฉบับ เป็น จดหมายของท้าวเทพกระษัตรี ๓ ฉบับ
จดหมายเหตุเมืองถลาง ๖ ฉบับ เป็นหลักฐานสำคัญเสริมและสนองพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงดำเนินการสร้างอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร ในปี พ.ศ.๒๕๐๙
ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทรขนาดเท่าคนครึ่ง นุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อแขนยาว รัดผ้าสไบตะแบงมาน ทรงผมดอกกระทุ่ม ต่างหูรูปดอกไม้ มือขวาถือดาบปลายมน มือซ้ายของท้าวเทพกระษัตรียื่นจับข้อมือขวาท้าวศรีสุนทร ท่านท้าวทั้งสองยืนบนแท่นสูง ๕ เมตร ประดิษฐานอยู่ที่บ้านท่าเรือ ตำบลศรีสุนทร
จากความหลากหลายนามของท้าวเทพกระษัตรี เช่น ท้าวเทพกระษัตรี ท้าว เทพกษัตรี ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวเทพสตรี ทำให้คณะกรรมการผู้รับผิดชอบการจารึกชื่อ เสนอขอความเห็นการใช้ชื่อ กรมศิลปากรได้ยืนยันให้จังหวัดภูเก็ตใช้ชื่อตามหลักฐาน ความเห็นของพระยาอนุมานราชธน นายกราชบัณฑิตยสถาน ว่า ท้าวเทพกระษัตรี การบันทึกข้อความที่แท่นฐานทิศเหนือ ด้านหน้าอนุสาวรีย์ มีดังนี้

ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร
(จัน) (มุก)
ได้กระทำการป้องกันรักษาเมืองถลางไว้เป็นสามารถ
เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ.๒๓๒๘
มิให้ข้าศึกตีหักเอาเมืองได้
เป็นวีรกรรมอันควรแก่ชนชาวเมืองถลาง
ตลอดจนชาวไทยทั่วกันยกย่องสรรเสริญ
จึงสร้างอนุสาวรีย์ให้ไว้เป็นอนุสรณ์
เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๙

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้า สิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จ ฯ เปิด อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๑๐ นับเป็นพระมหากรุณาอนันตคุณแก่ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร อย่างหาที่สุดมิได้
อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร จึงเป็นเสมือนหนึ่งเครื่องเตือนใจให้ อนุชนระลึกถึงคุณความดีของบรรพชน จังหวัดภูเก็ตจึงจัดงานท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร ในวันถลางชนะศึก ที่ ๑๓ มีนาคม ของทุกปี เพื่อวางพวงมาลาและสดุดีวีรชนเมืองถลาง

http://www.kathutin.com

เมื่อกล่าวถึงประวัติศาสตร์เมืองภูเก็ต เขาใช้ภูเก็จ จริงๆค่ะ

บันทึกการเข้า
Bana
องคต
*****
ตอบ: 439



ความคิดเห็นที่ 174  เมื่อ 05 เม.ย. 08, 00:58

ขออำภัยท่านพี่ครับ  เห็นเงียบๆเลยอยากเห็นท่านพี่ออกมาแสดงวาทะบ้างอ่ะครับ  เจ๋ง  เจ๋ง  เจ๋ง

ภูเก็จ   ถ้าสันนิษฐานจากการเรียกขานของชาวทมิฬว่า  มณีคราม-มณีคาม  แปลว่า บ้านแก้ว  เมืองแก้ว
ภู  คำนี้ก็ไม่ได้แปลว่าภูเขาแน่นอนครับ  น่าจะแปลว่าแผ่นดิน  เพราะแถบโน้น ทางพวกทมิฬ  หรือ พวกฮินดี  ภูจะแปลว่า  แผ่นดินครับ..... ลังเล
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 175  เมื่อ 07 เม.ย. 08, 06:50

เรื่องชื่อเมืองภูเก็จ-ภูเก็ต ครับ

http://news.sanook.com/education/education_213359.php
บันทึกการเข้า
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 176  เมื่อ 07 เม.ย. 08, 09:06

ขอบคุณคุณ UP ครับ

ไปอ่านมาแล้วครับ จึงขอแก้ไขเพื่อความรู้ที่ถูกต้องครับ

"ประวัติศาสตร์โลก ภูเก็ตเป็นที่รู้จักของนักเดินเรือที่ใช้เส้นทางระหว่างจีนกับอินเดีย โดยผ่านแหลมมลายู หลักฐานเก่าแก่ที่สุดคือหนังสือภูมิศาสตร์และแผนที่เดินเรือของชาวกรีก คลอดิอุส ปโตเลมี เมื่อประมาณ พ.ศ.700 กล่าวถึงการเดินทางจากแหลมสุวรรณภูมิลงมาจนถึงแหลมมลายู ซึ่งต้องผ่านแหลม จังซีลอน หรือเกาะภูเก็ตนั่นเอง นอกจากนี้ มีหลักฐานการเรียกขานของชาวทมิฬ พ.ศ.1568 ว่า มณิคาม หมายถึงเมืองแก้ว พ้องกับชื่อ ภูเก็จ ที่หมายถึงภูเขาแก้ว"

ผมศึกษาหนังสือเล่มนี้อยู่พอดี และก็ไม่พบว่า ปโตเลมีจะพูดถึง แหลมจังซีลอน เลย ชื่อจังซีลอนนี้ ผมคิดว่าเกิดขึ้นหลัง คริสตศตรรษที่ ๑๖ ครับ เป็นคำที่ฝรั่งรับเอามาจากภาษามาเลย์ เคยอ่านพบว่ามาจาก "Jong Selan" หรือ "Ajong Selan" และท่านอธิบายว่า Jong หรือ Ajong แปลว่า เรือ ส่วน Selan นั้นหมายถึง "สิงหล" (Simhala) แต่โดยส่วนตัวผมแล้ว ยังต้องค้นอีกครับ เพราะเรียกชื่อเกาะว่า "เกาะสำเภาสิงหล" มันก็แปลกอยู่  ขยิบตา แต่ถ้า มาจาก Jong Selang (เกาะจอดสำเภา) ก็พอเข้าเค้า ...  ยิ้ม

แผนที่ของปโตเลมี ไม่ใช่แผนที่เดินเรือครับ แต่เป็น "แผนที่โลก" มีหมดครับ เมืองในแผ่นดิน ไปจนถึงเมืองท่า

ในแผนที่ของปโตเลมี พูดถึงบริเวณที่เชื่อว่าอยู่ใกล้ๆ ภูเก็ตคือ Tacola (หรือ Takola) หลายท่านบอกว่าน่าจะเป็น "ตะกั่วป่า" แต่ถ้าอิงตามหลังฐานทางโบราณคดีแล้ว คือบริเวณคลองท่อมครับ

และบันทึกฉบับนี้ ไม่ได้กล่าวถึงเส้นทางการเดินทางแต่อย่างใด แต่เป็นการระบุตำแหน่งเมืองต่างๆ เพื่อทำแผนที่เท่านั้น ถ้าจะอธิบายเส้นทางก็จะเป็นเรื่องการกำหนดระยะทาง กับจำนวนวันเดินทางมากกว่าที่จะเล่าว่าผ่านเมืองอะไรบ้าง

ส่วนหลักฐานของชาวทมิฬนี้ ผมเข้าใจว่าคือ "จารึกเขาพระนารายณ์เมืองตะกั่วป่า" นี่แหละครับ แต่จารึกไม่ได้สร้างในปีที่บทความอ้างถึง แต่เก่าไปถึงราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ตรงนี้ ผมสงสัยว่า ผู้ทำข้อมูล "ยำ" ข้อมูลระหว่าง "จารึกเขาพระนารายณ์ฯ" กับ "จารึกเมืองตันชอร์" หรือเปล่า ?

ถ้าเป็นจารึกที่พูดถึง "มณิคราม" ที่พบในเมืองไทยก็มีอยู่หลักเดียวครับ คือ "จารึกเขาพระนารายณ์ฯ"

จึงเรียนมาเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องครับ
บันทึกการเข้า
UP
แขกเรือน
องคต
*****
ตอบ: 516


ความคิดเห็นที่ 177  เมื่อ 07 เม.ย. 08, 12:23

ขอบคุณคุณ Ho ครับ

มีข้อสังเกตเรื่องชื่อเมืองภูเก็ตเพิ่มเติมเล็กน้อย

เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๒ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ยังทรงเขียนชื่อเมืองภูเก็ตในพระราชนิพนธ์ว่า "ภูเก็จ" แปลว่าในรัชกาลที่ ๕ คงใช้ว่า "ภูเก็จ" มาโดยตลอด ครั้นลองค้นดูในทะเบียฬนามสกุลพระราชทาน ลำดับที่ ๒๓๒๗ พบว่ามีนามสกุล "รัตนดิลก ณ ภูเก็ต" Ratanatilaka na Bhuket รองอำมาตย์โท หลวงวรเทพภักดี (เดช)  กรมการพิเศษเมืองภูเก็ต  บิดาชื่อพระภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ (แก้ว)  ปู่ชื่อเจิม ๒๗ มิถุนายน ๒๔๕๘ โปรดเกล้าฯ ให้เติม "ณ ภูเก็ต" และ "na Bhuket"  เมื่อ  ๒๔  มิถุนายน  ๒๔๕๙ แสดงให้เห็นว่า พ.ศ.๒๔๕๙ ทรงใช้ "ภูเก็ต" แล้ว แต่จะเริ่มใช้เมื่อใดผมไม่ทราบแน่ เพราะไม่มีหลักฐานอ้างอิง จำได้ว่าเคยอ่านพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ เป็นบทความสั้นๆ ยาวสักครึ่งหน้า มีพระบรมราชวินิจฉัยไว้ว่าควรใช้ "ภูเก็ต" ซึ่งทรงพระราชดำริว่ามาจากคำว่าบูกิต
บันทึกการเข้า
กุ้งแห้งเยอรมัน
แขกเรือน
สุครีพ
******
ตอบ: 1573



ความคิดเห็นที่ 178  เมื่อ 07 เม.ย. 08, 16:06

ขอบคุณสำหรับความเห็นของทุกท่าน เพิ่งกลับจากภูเก็ต ขอส่งภาพสัญลักษณ์เมืองถลางมาให้ดูกันค่ะ


บันทึกการเข้า
Hotacunus
องคต
*****
ตอบ: 613


AD FRANCIAM


ความคิดเห็นที่ 179  เมื่อ 07 เม.ย. 08, 16:42

ขอบคุณครับคุณ UP และคุณกุ้งแห้งเยอรมัน  ยิงฟันยิ้ม

"พระภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์" น่าจะแปลได้ว่า ผู้ดูแลเหมืองแร่ของภูเก็ต นั่นแสดงว่าเมื่อก่อนนี้ ภูเก็ตโด่งดังมากเรื่องเหมืองแร่

ถ้าคำว่า "ภูเก็จ" มาจาก "Bukit" จริง ก็อาจอธิบายได้ว่าเป็นการลากเสียงแขกมาเลย์เข้าคำไทยที่มีความหมายครับ เช่น คำเปอร์เซียว่า کمر  (ขะมะรฺ) ที่แปลว่า เอว ก็ถูกแปลงเป็น "ขาวม้า" (ผ้าสำหรับคาดเอว) คำนี้ ตอนเด็กๆ ผมสงสัยเหลือเกินว่ามันเกี่ยวอะไรกับม้า  ยิงฟันยิ้ม พอๆ กับที่คุณน้องติบอ สงสัยเรื่อง "ดินสอพอง" ว่า "ดินสอ" มัน "พอง" ได้อย่างไร  ยิงฟันยิ้ม เพียงแต่ผมไม่ได้ทำการทดลองเท่านั้น  ยิงฟันยิ้ม

คำเปอร์เซียว่า کیمخاب (คีมฺขาบฺ) ก็ถูกแปลงเป็น "เข้มขาบ" เป็นต้น

ส่วนแนวคิด "เขาแก้ว" หรือ "แดนแก้ว" ที่มีนัยว่า เป็นดินแดนที่มีรัตนชาติอยู่นั้น ยังมีข้อสงสัยอยู่คือที่ภูเก็ตไม่พบว่าเป็นดินแดนที่เป็นแหล่งเพชรพลอย มีแต่มีชื่อเรื่องเป็นแหล่งแร่ คำว่า "แดนแก้ว" หรือ "เขาแก้ว" ถ้าเป็นคำแขกมักจะผูกเป็น "รัตนภูมิ" หรือ "รัตนคิรี" มากกว่าที่จะผูกคำลูกผสมเป็น "ภูเก็จ" อีกประการหนึ่ง คำว่า "ภู" ที่แปลว่า "ภูเขา" นั้น ไม่ใช่คำที่นิยมใช้ทางภาคใต้ เพราะทางภาคใต้นิยมใช้คำว่า "เขา" และประการสำคัญคือจารึกทมิฬที่มีคำว่า "มณิคราม" ไม่ได้พบที่ภูเก็ต แต่พบที่ตะกั่วป่า

ผมไม่แน่ใจว่าข้อมูลที่คุณ UP ลิงค์มานี้ เค้าเอามาจากไหน คาดว่าน่าจะเอามาจากเอกสารอะไรซักที่ ถ้าใช่ก็อันตรายเรื่องความถูกต้องของข้อมูลมากครับ  ลังเล โดยเฉพาะในเรื่องที่เก่ากว่าพุทธศตวรรษที่ ๑๙

อันนี้เป็นข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยครับ
http://thai.tourismthailand.org

ไข่มุกอันดามัน สวรรค์เมืองใต้
หาดทรายสีทอง สองวีรสตรี บารมีหลวงพ่อแช่ม


     คำว่า “ภูเก็ต” นั้นเชื่อว่าเพี้ยนมาจากภาษามลายูคือ “บูกิ๊ต” ซึ่งแปลว่าภูเขา ภูเก็ตเป็นเมืองที่มีมานานตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย โดยตัวเมืองอยู่ที่ถลางซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ เมืองถลางเดิมมีขุนนางไทยคอยดูแลรักษาผลประโยชน์เพราะฝรั่งชาติฮอลันดามารับซื้อสินค้าจำพวกแร่ ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๑ พระเจ้ากรุงอังวะยกกองทัพเข้ามารุกรานหัวเมืองฝ่ายตะวันตกแถบชายทะเลของไทยในปี พ.ศ.๒๓๒๘ โดยแบ่งกองทัพยกไปตีเมืองกระ ระนอง ชุมพร ไชยา ตลอดลงไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช ขณะนั้นกองทัพกรุงเทพฯ ยังติดพันการศึกที่กาญจนบุรียกมาช่วยไม่ทัน พม่าส่งแม่ทัพชื่อยี่หวุ่น ยกทัพเรือมาตีได้ตะกั่วทุ่ง ตะกั่วป่า แล้วเลยไปตั้งค่ายล้อมเมืองถลางไว้ ขณะนั้นพระยาถลางถึงแก่กรรมยังไม่ได้ตั้งเจ้าเมืองใหม่ ภริยาเจ้าเมืองถลางชื่อจัน กับน้องสาวชื่อมุก จึงคิดอ่านกับกรรมการทั้งปวงตั้งค่ายใหญ่ขึ้น ๒ ค่าย ป้องกันรักษาเมืองเป็นสามารถ พม่าล้อมเมืองอยู่เดือนเศษเมื่อหมดเสบียงก็เลิกทัพกลับไป

     ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องยศให้วีรสตรีทั้งสองเป็นท้าวเทพกษัตรีและท้าวศรีสุนทร เป็นที่น่าภาคภูมิใจแก่ชาวเมืองตลอดมา เกาะถลางหรือเมืองถลางได้เปลี่ยนชื่อเป็นเกาะภูเก็ต หรือเมืองภูเก็ตในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

     ภูเก็ต ได้ชื่อว่าเป็นไข่มุกแห่งอันดามัน เมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ในด้านความสวยงามของทิวทัศน์ และหาดทราย น้ำทะเลสีฟ้าใส พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกทางการท่องเที่ยวครบครัน เป็นเกาะใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคใต้ ตั้งอยู่ทางชายฝั่งทะเลตะวันตกของประเทศไทยในน่านน้ำทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย มีพื้นที่ประมาณ 543 ตารางกิโลเมตร ความยาวสุดของเกาะภูเก็ตวัดจากทิศเหนือถึงทิศใต้ประมาณ 48.7 กิโลเมตร และส่วนกว้างที่สุดวัดจากทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตกประมาณ 21.3 กิโลเมตร ภูเก็ตแบ่งออกเป็น 3 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอถลาง และอำเภอกะทู้
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 10 11 [12] 13 14 ... 23
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.063 วินาที กับ 19 คำสั่ง