เนื่องจากในกระทู้ "กฎหมายเรื่องจำเลยวิกลจริต" คุณหมูอ้วนได้ post เข้ามาอธิบายหลักกฎหมายของพระราชบัญญัติฉบับนี้ไว้ว่า
"
พรบ. คอมพิวเตอร์ ฉบับใหม่นี้ มุ่งเน้นในการระบุตัวผู้รับผิดชอบและร่วมรับผิดชอบในการกระทำความผิดให้ชัดเจนและรัดกุมยิ่งขึ้น"
(รายละเอียดกรุณาตามอ่านได้ที่กระทู้ดังกล่าวค่ะ)
Bookmark จึงขออธิบายต่อยอดจากคุณหมูอ้วนนะคะ ซึ่งถ้าขาดเหลือเพิ่มเติมยังไง รบกวนคุณหมูอ้วนช่วยอธิบายเสริมด้วยค่ะ
พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มีสาระสำคัญแบ่งได้เป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ
1. กำหนดความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
2. กำหนดตัวพนักงานหน้าที่ผู้มีอำนาจปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
ส่วนที่สำคัญก็คือเรื่องความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์นี่แหล่ะค่ะ Bookmark จะขออธิบายเฉพาะในส่วนนี้เท่านั้น เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับชีวิตประจำวันของเราๆ ท่านๆ กันเสียเป็นส่วนใหญ่
กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดลักษณะของการกระทำว่า การกระทำใดบ้างที่เป็นความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์อันจะต้องรับโทษตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งมีดังนี้นะคะ
1. การเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะโดยมาตรการป้องกันดังกล่าวนั้นมิได้มีไว้สำหรับผู้เข้าถึง
อันนี้ก็คือพวก Hacker ที่พยายามหาวิธีการหรือหาช่องโหว่ของระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อแอบลักลอบเข้าสู่ระบบ/ล้วงความลับ/แอบดูข้อมูลข่าวสาร โดยในบางครั้งมีการทำลายข้อมูลข่าวสารหรือทำความเสียหายให้กับองค์กรเจ้าของระบบคอมพิวเตอร์นี่แหล่ะค่ะ
(เครดิต
http://web.ku.ac.th/schoolnet/snet1/network/hager.htm)
บทบัญญัติที่ใช้ลงโทษพวก Hacker นี่ก็จะมีมาตรา 5 ที่กำหนดว่าการแฮกเข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันมิให้คนภายนอกเข้าถึงได้เป็นความผิด และมาตรา 7 ที่กำหนดว่าการแฮกเข้าไปถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการการป้องกันมิให้คนภายนอกเข้าถึงได้ เป็นความผิดค่ะ
2. การใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ดักข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นที่อยู่ในระหว่างการส่งระบบคอมพิวเตอร์ โดยข้อมูลดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะหรือเป็นข้อมูลให้บุคคลทั่วไปใช้ประโยชน์ตามมาตรา 8 (ภาษากฎหมายค่ะ อ่านแล้วอาจจะทำให้งงๆ อยู่บ้าง)
สรุปก็คือ ไปดักข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับสาธารณะประโยชน์ หรือเป็นข้อมูลสาธารณะนั่นแหล่ะค่ะ
3. การทำลายข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นให้เสียหาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ (มาตรา 9)
ตัวอย่างที่ยกขึ้นเพื่อใช้อธิบายการกระทำความผิดในลักษณะนี้ เชื่อว่าเพื่อนๆ สมาชิกเวบเรือนไทยคงรู้เห็นด้วยตาตัวเองมาพอควรแล้วนะคะว่าเป็นยังไง

Bookmark ก็ได้อธิบายไว้ในกระทู้ที่แล้วด้วย ดังนั้น จะไม่อธิบายเพิ่มเติมเน้อ

(เพราะไม่ใช่ลักษณะการกระทำความผิดที่ท่านอาจารย์ได้ประสบกับตนเอง)
4. การทำให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวนจนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ (มาตรา10)
5. การส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือ Email ให้กับคนอื่นโดยปกปิด/ปลอมแปลงแหล่งที่มาของการส่งข้อมูลดังกล่าว ซึ่งเป็นการรบกวนการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นตามปกติ (มาตรา 11)
6. การนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ (มาตรา 14)
7. การนำข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นภาพของผู้อื่น ซึ่งเป็นภาพที่เกิดจากการสร้าง ตัดต่อ เติม/ดัดแปลง
และภาพนั้นอาจทำให้คนในภาพเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง (มาตรา 16)
อันนี้ก็พวก "คลิป" เด็ดๆ ทั้งหลายที่แพร่กันอยู่ทั่วไปนั่นแหล่ะค่ะ ดังนั้น เวลาที่ได้รับ Forward mail อะไรที่แนบ "คลิปเด็ด" พวกนี้มาด้วย Bookmark แนะนำว่าอย่าส่งต่อเลย delete ทิ้งจะปลอดภัยที่สุด เพราะแค่ปลายนิ้วคุณคลิ๊กไปครั้งเดียว คุณก็ได้ทำความผิดตามมาตรานี้โดยสมบูรณ์แล้วนะคะ
ใช่ค่ะ Bookmark ขอย้ำอีกครั้งว่า พระราชบัญญัติฉบับนี้ไม่สามารถนำมาใช้พิจารณากับคดีของอาจารย์ท่านได้ เป็นดังที่คุณหมูอ้วนท้วงติงไว้
แต่ Bookmark คิดว่า เป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวเรา ดังนั้น รู้ไว้ไม่เสียหายค่ะ

สำหรับคนที่สนใจอยากอ่านกฎหมายฉบับนี้ทั้งฉบับ Bookmark ขอแนะนำให้ไปสืบค้นได้ที่เวบไซต์ราชกิจจานุเบกษาตาม link ข้างล่างนี้ค่ะ
www.ratchakitcha.soc.go.th