จากความเดิมในกระทู้ที่แล้ว Bookmark ได้ทิ้งประเด็นส่งท้าย

(ทำอย่างกับหนังภาคต่อเลยเน้อ) ไว้ว่า แม้จำเลยจะได้กลายเป็นคนวิกลจริตสมใจอยากเพื่อที่จะทำให้ตัวเองไม่ต้องติดคุกก็ตาม

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจำเลยจะสมหวังและคดีจะสิ้นสุดลงได้ง่ายๆ ปานนั้นหรอกเน้อ เพราะกฎหมายก็ยังมีวิธีจัดการโดยเฉพาะกับจำเลยที่เป็นคนวิกลจริตอยู่ดีนะคะ (อย่านึกนะว่าจะหนีรอดไปได้ง่ายๆ นะจ๊ะ หุหุ)
เรามาล้อมวง “เล่าสู่กันฟัง” ต่อกันดีกว่านะคะ

กระทู้นี้ Bookmark จะขออธิบายกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ได้ทิ้งท้ายไว้ในกระทู้ที่แล้ว ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องก็คือ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า
“มาตรา 14 ในระหว่างทำการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา ถ้ามีเหตุควรเชื่อว่า
ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ให้พนักงานสอบสวนหรือศาล แล้วแต่กรณี สั่งให้พนักงานแพทย์ตรวจผู้นั้นเสร็จแล้วให้เรียกพนักงานแพทย์ผู้นั้นมาให้ถ้อยคำหรือให้การว่าตรวจได้ผลประการใด
ในกรณีที่พนักงานสอบสวนหรือศาลเห็นว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ให้งดการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาไว้
จนกว่าผู้นั้นหายวิกลจริตหรือสามารถจะต่อสู้คดีได้ และให้มีอำนาจส่งตัวผู้นั้นไปยังโรงพยาบาลโรคจิตหรือมอบให้แก่ผู้อนุบาล ข้าหลวงประจำจังหวัดหรือผู้อื่นที่เต็มใจรับไปดูแลรักษาก็ได้ตามแต่จะเห็นสมควร
กรณีที่ศาลงดการไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาดังบัญญัติไว้ในวรรคก่อน ศาลจะสั่งจำหน่ายคดีเสียชั่วคราวก็ได้”
มาตรา 14 ที่ว่ามานี้ได้กำหนดวิธีดำเนินคดีอาญา ในชั้นสอบสวนของตำรวจ ชั้นไต่สวนมูลฟ้อง (ใช้สำหรับกรณีที่ราษฎรเป็นผู้ฟ้องคดีต่อศาล ถ้าพนักงานอัยการเป็นผู้ฟ้องคดีแล้ว โดยทั่วไป ศาลจะไม่ทำการไต่สวนมูลฟ้อง เพราะถือว่าพนักงานอัยการได้กรองสำนวนจากตำรวจมาชั้นหนึ่งแล้ว แต่ก็ไม่เสมอไป เพราะศาลมีอำนาจสั่งให้มีการไต่สวนมูลฟ้องในกรณีนี้ได้อีกเช่นกันค่ะ) และชั้นพิจารณาของศาล ว่า ถ้าระหว่างการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้วิกลจริต
และไม่สามารถต่อสู้คดีได้ แล้ว
ขอย้ำนะคะว่า
จำเลยต้องมีอาการครบทั้ง 2 ข้อที่กฎหมายกำหนดไว้คือ เป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ขาดข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้เด็ดขาดถ้าผู้ต้องหา/จำเลยมีอาการครบทั้ง 2 ข้อที่ว่านี้ พนักงานสอบสวน/ศาลต้องสั่งให้แพทย์ตรวจว่า ผู้ต้องหา/จำเลยผู้นั้นด้วยว่าวิกลจริตหรือไม่ แล้วรายงานผลการตรวจต่อพนักงานสอบสวน/ศาล
ซึ่งผลการตรวจ ก็จะมีเพียงว่า
1. ผลการตรวจสรุปได้ว่า ผู้ต้องหา/จำเลยปกติทุกอย่าง ไม่ได้วิกลจริตนะคร้าบ งานนี้ตำรวจ/ศาลก็ดำเนินการต่อไปได้ตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ ว่าง่ายๆ ก็คำนี้ค่ะ “ลุยโลด”
แต่ถ้า
2. ผลการตรวจสรุปได้ว่า ผู้ต้องหา/จำเลยวิกลจริตนะคร้าบ งานนี้ ตำรวจ/ศาลต้องงดการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาไว้จนกว่าเขาจะหายวิกลจริตหรือสามารถจะต่อสู้คดีได้นะคะ และในขณะที่งดการดำเนินการเหล่านี้ ตำรวจ/ศาลต้องสั่งให้ส่งตัวผู้ต้องหา/จำเลยไปควบคุมตัวไว้ที่โรงพยาบาลโรคจิต หรือไม่ก็ให้อยู่ในความดูแลของบุคคลอื่น เช่น ผู้อนุบาล คนที่เต็มใจรับตัวผู้ต้องหา/จำเลยไปดูแลรักษา ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นต้น (แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว มักจะส่งตัวไปให้โรงพยาบาลโรคจิตดูแลรักษามากกว่าที่จะส่งให้คนอื่นๆ ดูแลรักษานะคะ)
ส่วนที่ว่าต้องงดการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายนานมากน้อยเพียงใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าทันที่ที่ผู้ต้องหา/จำเลยได้หายวิกลจริตแล้ว
หรือสามารถต่อสู้คดีได้เมื่อไหร่ ตำรวจ/ศาล ก็สามารถดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไปได้เลยค่ะ
โปรดสังเกตนะคะว่า กฎหมายใช้คำว่า “หรือ” ซึ่งแปลได้ว่าไม่ใช่ต้องครบทั้ง 2 ข้อ เพียงเข้าข้อใดข้อหนึ่งก็สามารถดำเนินการต่อไปได้แล้ว
เพราะฉะนั้น ตัวผู้ต้องหา/จำเลยก็เลือกเอาแล้วกันว่า อยากอยู่ในโรงพยาบาลโรคจิตอย่างไม่มีกำหนดออก หรือจะถูกจำกัดเสรีภาพอยู่ในเรือนจำเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น หลังจากชดใช้ความผิดแล้วก็ออกมาสู่โลกกว้างได้ตามเดิม
เป็นไปตามที่ Bookmark ได้ทิ้งท้ายไว้ในกระทู้ที่แล้วไหมคะ? บอกแล้วไงว่า ถ้าอยากจะเป็นคนบ้าถึงขนาดนั้น ก็ปล่อยไปตามทางที่เขาต้องการเถิด อย่าไปขวางทางเค้าเลย เพราะยังมีโรงพยาบาลโรคจิตไว้รอต้อนรับเขาอยู่ดี (ถึงได้บอกแต่แรกไงคะว่า คิดเหรอว่าจะรอดไปได้ง่ายๆ เหอ เหอ เหอ

)
สำหรับคราวหน้า Bookmark จะขออธิบายหลักกฎหมายของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 นะคะ
