เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5]
  พิมพ์  
อ่าน: 18608 ขอถามบ้างครับ จีบพลูเป็นอย่างไรครับ
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 11 ม.ค. 01, 16:53

ของอาถรรพณ์ ถือว่าอาถรรพณ์อยู่ที่ของ ไม่ใช่อยู่ที่ผู้รับ  ถ้าใครรับแทนคนนั้นก็น่าจะโดนแทนนะคะ
เหมือนส่งระเบิดไปให้ทางไปรษณีย์ ใครเปิดพัสดุแทนก็โดนระเบิด   ไม่รอจนเจ้าของตามจ่าหน้าซองมาเปิดเองหรอก

เคยมีความเชื่อเก่าๆทางภาคกลาง ว่าในยามค่ำคืน จะมีคนปล่อย"ของ" มาตามลม   ใครโดนเข้าเรียกว่าลมเพลมพัด  มีอาการไปต่างๆนานา
ถึงห้ามกันว่า  ค่ำๆมืดๆถ้าได้ยินใครเรียกชื่อลอยๆ แว่วมาตามลม อย่าขานรับ ของจะเข้าตัว

คุณอ้อยขวั้น  ที่ว่าปากต่อปากไม่พะอืดพะอม  เป็นเพราะไม่เห็นชัดๆเท่าคายลงมาในมือหรือไงคะ  
สำหรับดิฉัน    ไม่ว่าปากต่อปากหรือคายใส่มือก่อน  พะอืดพะอมพอกันเลยค่ะ
บันทึกการเข้า
สอบวา
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 11 ม.ค. 01, 18:52

พูดถึงเรื่อง "ของ"  ที่เกี่ยวกับหมากนั้น คนสมัยก่อนต้องระวังกันมากเลยครับ
โดยเฉพาะสาวๆ ล้านนานั้นระวังมากที่สุด คงคล้ายๆ กับเรื่องของพระลอครับ เพราะเป็นเรื่องอาคม ขนาดที่ว่าสาวๆ ต้องทำขันหมากของตัวเองแยกต่างหากจากของบ้านเลยครับ-

-------------หมากกับคนล้านนา---------------
การกินหมากของล้านนานั้นเป็นวัฒนธรรมที่มีมานานและเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนล้านนามาก
ขันหมากของล้านนานั้น ผมขอขยายความเพิ่มเติมไว้ดังนี้แล้วกันครับ
ขันหมากของล้านนานั้นแบ่งใหญ่ๆ ออกเป็นสามประเภทด้วยกันคืออย่างแรกจะเป็นขันหมากไม้ อย่างนี้จะเป็นของเก่าแท้ๆ ที่กลึงจากไม้ให้กลวงด้านในเพื่อใส่เครื่องเชี่ยนเครื่องหมาก  แล้วกลึงฝาไม้ปิดด้านบนอีกที อย่างที่สองจะเป็นขันหมากเงิน หน้าตาคล้ายกับขันหมากไม้แต่ว่าจะใช้เงินล้วนในการตีเป็นขันแล้วทำเป็นลวดลายต่างๆ จะใช้สำหรับคนที่มีฐานะดี
ส่วนอย่างที่สามจะเป็นขันหมากสาน ซึ่งเป็นใบที่สำคัญที่สุดของผู้หญิงล้านนา  เป็นเครื่องเขินสีส้มอมแดงหรืออมน้ำตาลแบบที่เค้าสะสมกันเยอะๆ หรือแบบที่เราเห็นเค้ากลับมาทำ re-production กันใหม่  ขันหมากสานนี้จะนิยมทำกันเป็นชั้นๆ เพื่อแยกเก็บเครื่องหมากและของจุกจิก
คนล้านนานั้นแต่เดิมนิยมกินหมากแทบทุกบ้าน  ขันหมากเป็นเครื่องต้อนรับแขกและแสดงไมตรีจิตเหมือนกับของไทยทุกภาค  ขันหมากที่คนในบ้านใช้กับที่ใช้ต้อนรับแขกนั้นจะเป็นชุดเดียวกัน  ซี่งส่วนใหญ่จะเป็นขันหมากไม้เท่านั้น
บันทึกการเข้า
สอบวา
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 11 ม.ค. 01, 18:52

ส่วนขันหมากสานนั้น  ส่วนใหญ่จะใช้เมื่อมีงานพิธีในบ้าน  เมื่อแม่หญิงล้านนาอายุได้สิบห้าปีขึ้นไป  จะต้องหาหรือทำขันหมากสานที่เป็นขันหมากประจำตัวของตัวเอง  นอกจากจะใส่เครื่องหมากแล้ว  ในชั้นล่างสุดจะเป็นที่เก็บของเล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นของส่วนตัวของหญิงสาวนั้นๆ เช่นเครื่องประดับ ผ้าเช็ดหน้าเช็ดปาก  เมื่อรู้ตัวว่ากำลังเป็นสาวแล้วผู้หญิงล้านนาจะระวังตัวในการเคี้ยวและกินหมาก(แบบคำปริศนาด้านบน)
ถ้าไม่จำเป็นหญิงสาวจะไม่เคี้ยวหมากจากขันหมากรวมในบ้านอีกต่อไป  เพราะกลัวว่าจะถูกใส่ของด้วยอาคมจากผู้ชาย  เมื่อ”อยู่นอก” คือการอยู่ที่ชานเรือนคอยเลือกคู่อู้บ่าวนั้น เมื่อมีชายมาแอ่วก็จะเคี้ยวขันหมากรวม  สาวล้านนาจะไม่ยอมให้ชายเคี้ยวหมากจากขันหมากสานส่วนตัวเป็นอันขาด  นอกจากชายที่เป็นคู่หมายที่เรียกว่าตัวพ่อเท่านั้น จึงจะมีสิทธิ์เคี้ยวหมากจากขันหมากส่วนตัวของนางได้
และเมื่อผู้สาวแต่งงานออกเรือน ขันหมากสานใบนี้ก็จะออกเรือนไปพร้อมกับผู้หญิงด้วย  เพื่อไว้ใช้ในงานบุญของบ้านที่ไปอยู่ด้วย  ในวันแต่งออกนั้นในชันหมากสานชุดนี้จะต้องประกอบด้วยหมากสวยๆ ๘ ลูก และต้องติดเป็นแง่เดียวกันไม่แยกออกจากกัน  แต่ในกรณีที่หาไม่ได้ต้องแยกออกเป็นคู่ๆ และมีใบพลู ๔ แหลบ ๆ ละ ๘ ใบ(แบบที่ภาคกลางเรียกกันว่าเรียง)
บันทึกการเข้า
สอบวา
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 11 ม.ค. 01, 18:54

เวลาที่สาวเจ้าอยู่นอกนั้น  ก็จะนั่งรอหนุ่มอยู่ทิ่เติ๋น ถ้าเทียบเป็นไทยภาคกลางก็ประมาณชานบ้านชานเรือนนั้นเห็นจะได้ ต่อจากนั้นก็จะเป็นการอู้บ่าวสาวล้านนา  หนุ่มไหนที่ขี้อายหน่อยก็จะแก้ขวยด้วยการขอเคี้ยวหมาก
“ขันหมากรูปนก ชันพลูรูปสิงห์ ถ้าเป็นของญิง พี่กินบ่ย่าน”
(ขันหมากรูปนกขันพลูรูปสิงห์ ถ้าเป็นของน้องพี่ก็เคี้ยวด้วยความสะดวกใจ)
แต่ถ้าสาวเจ้านั้นรูปสวยมีหนุ่มหลายมาติดพัน หนุ่มที่หาญกล้าจะชิงความเป็นต่อด้วยการขอเคี้ยวหมากเหมือนกัน
“เอื้อยสาว เดิ้กมาปันอี้ ขอเทขันจา ปู่เพิ่นมา ค่อยดาแถมใหม่ อดบ่ได้ จะเคี้ยวเหียก่อน”
(พี่สาวดึกขนาดนี้แล้ว ขอรื้อขันแห่งคำพูด ถ้าคนรักของสาวมาค่อยจัดให้ใหม่นะ อดไม่ได้แล้วจะขอเคี้ยวหมากเสียก่อน)

สาวเจ้าที่มีมารยาทงามก็จะต้อนรับให้ผู้บ่าวเคี้ยวหมาก  ในคำเชิญนี้จะอ่อนน้อมถ่อมตนมาก
“เคี้ยวเทอะ เคี้ยวเทอะ  พลูข้าบ่หอม บ่มีไผตอม เค้ามันบ่อ้วน
ขออดใจกัน พลูดินยอดด้วน บ่เหมือนพลูคำบ้านพี่ไท้ พี่พากันมา
หอเรือนน้องไท้ มีใจใคร่ได้หยังชา”
(เคี้ยวเถิด พลูน้องมันไม่หอม ต้นไม่อ้วนไม่มีใครอยากได้หรอก ขอให้ทนกินพลูดินยอดด้วน ไม่เหมือนพลูทองบ้านพี่  ที่พี่พากันมาถึงเรือนของน้องนี้ มีใจอยากได้อันใดหนอ
พลูทอง – พลูจีนใบใหญ่อ้วน ส่วนพลูดินหมายถึงพลูป่า ใบเล็กแคบ กระด้างปาก)
บันทึกการเข้า
สอบวา
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 11 ม.ค. 01, 18:56

เรื่องหมากพลูในล้านนานอกจากจะเกี่ยวข้องกับเรื่องวิถีชีวิตแล้ว ยังค่อนข้างจะแน่นแฟ้นกับเรื่องการเมืองการปกครองในล้านนาค่อนข้างมาก  ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อมีการปฏิรูปการปกครองเป็นระบบมณฑลนั้น
ล้านนาซึ่งกำลังถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยามในยามนั้น  ถูกผลกระทบมากกว่าภาคอื่นๆ ส่วนหนึ่งมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการเก็บอากร  โดยให้เจ้านายที่อยู่ในเขตล้านนาซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานหรือค้าขายเป็นผู้จ่ายอากร  อากรพืชที่ถูกเก็บเป็นจำนวนเงินที่สูงกว่า  ส่วนหนึ่งเป็นอากรหมากและพลู  ทำให้ชาวบ้านและเจ้านายที่เป็นเจ้าของสัมปทานไม่พอใจ  และได้ก่อให้เกิดการแข็งข้ออยู่เนืองๆ  กบฏสำคัญที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ข้าวยากหมากแพงนั้น  คือกบฏพญาผาบ หรือพญาปราบ (พญาเป็นตำแหน่งด้านทหารของล้านนา
คล้ายกับออกญาของภาคกลาง)  ซึ่งมีชาวบ้านเข้าร่วมด้วยส่วนหนึ่ง  และส่วนกลางต้องส่งกำลังขึ้นไปปราบ

------------ ผมว่าเราเคี้ยวหมากกันเมื่อยปาก เมื่อยตากันแล้ว ไปหาอย่างอื่นเคี้ยวกันมั่งดีไหมครับ ?-------------------
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 11 ม.ค. 01, 19:24

ขอบคุณค่ะคุณสอบวา
อ่านด้วยความทึ่งในความรู้ของคุณ เกี่ยวกับวัฒนธรรมทางเหนือ จริงๆ
ละเอียดลออมาก จนน่าจะเอาไปลงเป็นบทความนะคะ
เป็นประโยชน์แก่เยาวขน จะได้อ่านได้ง่ายๆ ค้นหาง่ายๆค่ะ
เชิญทางซ้ายมือของเว็บบอร์ดได้ ตามสบาย
ถ้าไม่ทราบจะส่งอย่างไร เมล์มาที่ดิฉันก็ได้ค่ะ
บันทึกการเข้า
นกข.
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 11 ม.ค. 01, 21:23

อยากเชิญคุณสอบวา ลงไปที่กระทู้คุณมัญชรี ที่ถามว่า กาแลเรือนไทยภาคเหนือมีไว้ทำอะไรด้วยครับ กระทู้ 244
บันทึกการเข้า
อ้อยขวั้น
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 12 ม.ค. 01, 14:31

เก็บมาฝากค่ะ

*เคี้ยวหมากแบบไทยรักษาโรคจิตวัยรุ่น*

นักวิทยาศาสตร์พบสรรพคุณของหมากที่คนเอเชียเคยกินเป็นของขบเคี้ยวกันมานานว่า  ช่วยรักษาโรคจิตเสื่อมวัยรุ่นได้

นักวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยโอ๊กแลนด์ของนิวซีแลนด์  เป็นผู้พบสรรพคุณของหมาก  ในการทดลองรักษาคนไข้จำนวนหนึ่งได้พบด้วยความประลาดใจว่า  คนไข้ที่ให้เคี้ยวหมากวันละไม่ต่ำกว่า 10 คำ  พากันมีอาการทุเลาขึ้น  นักวิทยาศาสตร์สาขาการแพทย์เชื่อว่า  อาจเป็นเพราะฤทธิด่างในหมากมีสรรพคุณควบคุมการขับฮอร์โมนโดพามีนในร่างกาย  ฮอร์โมนโดพามีนเป็นสารสื่อประสาทชนิดหนึ่ง  ถ้าสมองส่วนหนึ่งส่วนใดไม่ผลิดสารนี้  จะเป็นต้นเหตุของโรคพาร์กินสัน  หรืออาการกระตุกเนื่องจากสมองพิการ

จากหน้า 7 ไทยรัฐฉบับวันที่ 12 มกราคม 2544
บันทึกการเข้า
สอบวา
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 12 ม.ค. 01, 20:49

คร้าบบผม
ไว้ว่างๆ จะส่งบทความไปให้คุณเทาชมพูนะครับ
อ่านข่าวที่คุณอ้อยขวั้นเขียนมาติดให้นั้น เลยเข้าใจเลยครับว่าทำไมไต้หวันถึงได้กว้านซื้อหมากอ่อนของเราไปให้คนของเค้าเคี้ยวกัน
บันทึกการเข้า
พวงร้อย
สุครีพ
******
ตอบ: 904


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 13 ม.ค. 01, 01:01

โฮ้ย ดีใจมากเลยค่ะ  คุณสอบวาหาเวลาได้อยากให้ช่วยรวบรวมเรื่องหมากให้เห็นบทความด้วยนะคะ  และก็อีกหลายๆเรื่อง (แฮ่ๆ งกค่ะ)  เสียดายไม่อยากให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนไทยสูญหายไปกับสังคมสายเดี่ยวนะ่ค่ะ  ไม่ได้ว่านะคะ  โลกมันก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป  แต่เราควรจดบันทึกเก็บไว้ไม่ให้สูญน่ะค่ะ  เวลาไปค้นประวัติของตัวเอง  จะได้เข้าใจ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.043 วินาที กับ 19 คำสั่ง